ดังนั้นการให้สร้างรูปเคารพขึ้นมา มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูปนั้น จึงมีนัยเป็นปริศนาธรรม หมายถึง ความเป็น “พุทธะ” ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รื่นเริงอยู่ในธรรม และไม่มีการหวนกลับย้อนคืนมาสู่ความเป็นปุถุชนอีก กล่าวได้ว่ามี “ใจเป็นพระ” หมดสิ้นแล้วทั้ง ๙ ท่าน...จึงเป็นอริยบุคคลผู้ควรแก่การกราบไหว้บูชา
ทำไมถึงว่าเป็น อริยบุคคล ผู้ควรแก่การกราบไหว้บูชา ?
ก็เพราะว่า อริยบุคคลทั้ง ๙ ท่านนี้ ได้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนามากมาย เช่น ท่าน อนาถบิณฑิกะเศรษฐี หรือ ท่านสุทัตตะ แห่งเมืองสาวัตถี ผู้มีใจมั่นคงในพระศาสนา ได้ตั้งโรงทาน ๔ มุมเมือง เลี้ยงคนอดอยากยากจน อย่างไม่กลัวทรัพย์หมด จนได้ชื่อว่า อนาถบิณฑิกะ ซึ่งหมายถึง ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา แม้เมื่อจะสร้างวัดถวายองค์พระศาสดา ก็สู้อุตส่าห์ใช้เงินกหาปนะปู จนเต็มพื้นที่ของสวนเจ้าชายเชตราชกุมาร เพื่อขอซื้อต่อ นำมาใช้สร้างวัด กระทั่งสำเร็จเป็น วัดเชตวันมหาวิหาร
ด้วยคุณสมบัติอัศจรรย์ของท่านทั้ง ๙ เหล่านี้ จึงเป็นเหตุให้ผู้รู้ ดังเช่น พระอริยบุคคลผู้เป็นปฐมดำริให้สร้าง พระนวโกฏิเศรษฐี มีคำแนะนำให้สถาปนาขึ้น เพื่อกระทำสักการบูชา หวังอานิสงส์ให้กำราบทุกข์เข็ญ ความอดอยาก แห้งแล้ง และโรคภัยนานาประการ ที่กำลังเป็นอยู่
ซึ่งเมื่อเจ้าเมืองล้านช้างในยุคโบราณนั้น ได้เพียรสร้าง พระนวโกฏิเศรษฐี ขึ้นแล้ว กระทำการบูชาดังที่พระภิกษุรูปนั้นแนะนำ ไม่ช้าไม่นาน อาเพศภัยร้ายทุกข์เข็ญ ความอดอยากขาดแคลน และโรคระบาดทั้งหลาย ก็ค่อยๆ หมดไปอย่างน่าอัศจรรย์
ดังนั้น พิธีกรรมการสร้างพระนวโกฏิเศรษฐี จึงถูกบันทึกขึ้นอย่างเป็นทางการ และถูกเก็บงำอยู่ในนครล้านช้างนั้นมานับร้อยปี
กระทั่ง ท่านเจ้าประคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ได้ตำรามาเมื่อครั้งธุดงค์ไปดินแดนล้านช้าง และได้จัดสร้างขึ้นอย่างถูกต้อง ตามตำรับเดิมเป็นครั้งแรกจำนวน ๙ องค์ เพื่อเป็นมหามงคลแก่แผ่นดินสยาม ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕