Baan Jompra
ชื่อกระทู้: จุฬามณีเจดีย์บนเทวโลก - ทุสสเจดีย์บนพรหมโลก [สั่งพิมพ์]
โดย: Sornpraram เวลา: 2016-9-29 05:02
ชื่อกระทู้: จุฬามณีเจดีย์บนเทวโลก - ทุสสเจดีย์บนพรหมโลก
จุฬามณีเจดีย์บนเทวโลก - ทุสสเจดีย์บนพรหมโลก
|
พระเจดีย์จุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ |
พระเจดีย์จุฬามณี หรือจุฬามณีเจดีย์สถาน ตั้งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กล่าวกันว่า เป็นที่บรรจุ "จุฬา" คือ "จุกหรือส่วนของพระเกศาบนกระหม่อมแห่งศีรษะ” พร้อมกับ "โมลี" คือ "มุ่นหรือมวยผมทั้งหมด” และ "มณี" คือ "ปิ่นมณี" หรือ "ปิ่นแก้วสำหรับปักมวยผม" กับ "เวฐนะ" คือ "ผ้าพันโพกพระเศียร หรือเครื่องรัดมวยผม" ของพระโพธิสัตว์ (พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้) สันนิษฐานว่า ขัตติยะในชมพูทวีปสมัยพุทธกาล น่าจะไว้พระเกศยาวมุ่นเป็นโมลี มีปิ่นเสียบที่จุฬา และมีเครื่องรัดเกล้า
|
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี
พระผู้ทรงอภิญญา ได้ขี้นไปกราบนมัสการพระเจดีย์จุฬามณีอยู่เนือง ๆ |
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี ได้บรรยายสภาพของพระเจดีย์จุฬามณีว่า
“...บันไดที่จะขึ้นจุฬามณีเจดีย์สถาน เป็นบันไดทอง ประดับด้วยแก้วแพรวพราย พื้นที่เหยียบอยู่ และกำแพงทุกด้านของพระจุฬามณีเป็นทองคำ องค์พระเจดีย์มีสัณฐานกลมสูงตระการตา เป็นแก้ว 7 ประการ เมื่อถึงวันพระ บรรดาเทวดาและพรหมทั้งหลายพากันเข้ามานมัสการกันอย่างคับคั่ง ท่านที่ได้อภิญญาหรือมโนมยิทธิ สำหรับมนุษย์ที่ได้ฌาน ก็พากันมาถวายนมัสการพระจุฬามณีเจดีย์สถาน เมื่อเข้าไปที่นั่นแล้ว ถ้ามีฌานพิเศษดี จะเห็นว่ามีพระอยู่องค์หนึ่ง สวยสดงดงามมาก มีรัศมีพวยพุ่งออกจากพระวรกาย แสดงธรรมเป็นประจำ แต่ทว่า ถ้าตาไม่ดี สมาธิไม่ดี ก็เห็นเป็นพระพุทธรูปไป บางคนเห็นเป็นพระทอง บางคนเห็นเป็นพระทำด้วยอิฐทาสีขาว แล้วก็พระจุฬามณีก็เหมือนกัน บางคนก็เห็นเป็นปูนบ้าง เห็นเป็นสีทองบ้าง อันนี้ เรียกว่าสมาธิดีไม่พอ ถ้าสมาธิดี จิตสะอาดดี จะเห็นเป็นแก้ว 7 ประการทั้งองค์..."
|
พระโพธิสัตว์ เสด็จประทับบนหลังม้ากัณฐกะ เหาะไปในอากาศ เป็นอภินิหาร
มีความหมายถึงการข้ามพ้นวัฏสงสาร มีพระอินทร์กางฉัตรกั้น ท้าวฆฏิการมหาพรหมถือเครื่องอัฐบริขาร
มีพระยามารคอยขัดขวาง บอกว่าอีกเจ็ดวันจะได้เสวยสมบัติบรมจักรเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ไม่ทรงฟัง |
มีเล่าไว้ใน อวิทูเรนิทาน ในอรรถกถาชาดกว่า เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (การเสด็จออกบรรพชาของพระพุทธเจ้า) ทรงม้ากัณฐกะ เสด็จข้ามแม่น้ำอโนมา เสด็จลงจากหลังม้า ประทับยืนบนลานทราย ทรงเปลื้องอาภรณ์ประทานแก่นายฉันนะ และประทานม้ากัณฐกะแก่เขา
|
พระโพธิสัตว์ทรงตัดพระเกศากับพระโมลี ด้วยพระขรรค์แสงดาบ
ทรงเปลื้องพระภูษาทรงออก แล้วทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ที่ฆฏิการมหาพรหมนำมาถวายพร้อมด้วยเครื่องบริขารอื่น
ทรงอธิษฐานเพศเป็นนักบวช ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา |
ทรงดำริว่า ผมทั้งหลายของเรานี้ ไม่สมควรแก่สมณะ ทรงดำริต่อไปว่า ผู้อื่นที่สมควรจะตัดผมของพระโพธิสัตว์ ย่อมไม่มี เพราะเหตุนี้ เราจักตัดด้วยตนเอง จึงทรงจับพระขรรค์แสงดาบด้วยพระหัตถ์ขวา จับพระจุฬากับพระโมลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงตัดด้วยพระขรรค์แสงดาบ พระเกศายังเหลือแนบพระเศียรประมาณสององคุลี ม้วนกลับมาทางเบื้องขวาเป็นทักขิณาวัฏ คงอยู่ขนาดนั้นตลอดพระชนมชีพ พระมัสสุ (หนวด) ก็มีสมควรกันแก่พระเกศา ไม่ต้องปลงพระเกศาและพระมัสสุอีก ชื่อว่ากิจด้วยการปลงผมและหนวดมิได้มีอีกต่อไป
พระโพธิสัตว์จับพระจุฬาพร้อมด้วยพระโมลี ทรงอธิษฐานว่า ถ้าเราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าไซร้ พระโมลีจงตั้งอยู่ในอากาศ ถ้าจักไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า จงตกลงบนภาคพื้น แล้วทรงโยนขึ้นไปในอากาศ ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ทอดพระเนตรเห็นด้วยทิพยจักษุ ทรงนำผอบรัตนะอันประเสริฐทูนพระเศียรรับไว้ แล้วทรงนำขึ้นไปประดิษฐานไว้ในเทวสถูปชื่อ “จุฬามณีเจดีย์” ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมกับอีกสองสิ่ง คือ ปิ่นมณีและผ้าพันโพกพระเศียรดังกล่าวแล้ว รวมเป็นสี่สิ่ง
นอกจากนี้ พระเจดีย์จุฬามณียังเป็นที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วองค์บนขวาของพระพุทธเจ้า ในคราวแบ่งพระบรมสารีริกธาตุหลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ดังมีเล่าไว้ในพระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีความว่า
|
พระพุทธองค์ เสด็จดับขันธปรินิพพาน ในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
ท่ามกลางหมู่สงฆ์และทวยเทพ ดอกไม้ทิพย์ทั้งปวงร่วงโปรยลงมาเป็นพุทธบูชา |
เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ทำการบูชาพระพุทธสรีระด้วยเครื่องสักการะอย่างมโหฬารเป็นเวลา 6 ทิวาราตรี มหาชนจากทิศานุทิศเดินทางมาเพื่อบูชาพระพุทธสรีระ บริเวณอุทยานสาลวันปานประหนึ่งคลุมด้วยผ้าขาว ทั้งนี้เพราะชาวชมพูทวีปไว้ทุกข์ด้วยชุดขาวล้วน ครั้นถึงวันที่เจ็ด พระพุทธสรีระก็ถูกนำออกจากพระนครทางประตูทิศบูรพา ไปสู่มกุฏพันธนเจดีย์ อันเป็นที่ตั้งพระจิตกาธานที่ทำด้วยไม้หอมประดับตกแต่งอย่างวิจิตรสวยงาม เตรียมการจะถวายพระเพลิงตามแบบอย่างพระบรมศพพระเจ้าจักรพรรดิราช มัลลกษัตริย์สี่พระองค์ ชำระพระกายให้บริสุทธิ์แล้ว ทรงผ้าใหม่ นำเพลิงเข้าไปจุดที่พระจิตกาธานทั้งสี่ทิศ แต่ไม่สามารถจุดให้ติดได้ มัลลกษัตริย์ทั้งหลายเฉลียวพระทัยสงสัยว่าจะเป็นอิทธานุภาพเทวดา จึงตรัสถาม พระอนุรุทเถระเจ้าแสดงว่า เทพยดาทั้งหลายประสงค์จะให้หยุดยั้ง ให้พระมหากัสสปเถระบังคมพระบาทพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าก่อน จึงจะถวายพระเพลิงได้
โดย: Sornpraram เวลา: 2016-9-29 05:03
|
เหล่าพระภิกษุสงฆ์ เทพยดา มัลลกษัตริย์ ได้ถวายสักการะพระพุทธสรีระ
พระมหากัสสปเถระ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ อธิษฐานจิตแล้ว บังเกิดความอัศจรรย์
พระยุคลบาทโผล่พ้นปลายหีบพระศพ เพื่อประทานให้นมัสการเป็นพิเศษแก่พระมหากัสสปเถระ |
เมื่อพระมหากัสสปเถระพาพระภิกษุสงฆ์บริวาร เดินทางมาถึงมกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงแล้ว ก็ดำเนินเข้าไปใกล้พระจิตกาธาน ยกอัญชลีกระพุ่มหัตถ์ประณมนมัสการ ทำประทักษิณเวียนขวาซึ่งพระจิตกาธานสามรอบ แล้วถวายบังคมพระบาทยุคลแห่งพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าแห่งตน พระมหาเถระพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวาร ได้อภิวาทกราบนมัสการโดยทั่วกัน เพลิงทิพย์ก็เกิดขึ้นเองที่พระจิตกาธานด้วยอานุภาพของเทพยดา
เพลิงได้ลุกพวยพุ่งเผาพระพุทธสรีระจนหมดสิ้น ยังเหลือสิ่งที่พระเพลิงมิได้เผาไหม้ด้วยพุทธานุภาพที่ทรงอธิษฐานไว้คือ พระอัฐิ (กระดูก) พระเกศา (ผม) พระโลมา (ขน) พระนขา (เล็บ) พระทนต์ (ฟัน) ทั้งปวง กับผ้าที่ห่อพระพุทธสรีระสองชั้นในสุด เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุได้อย่างสมบูรณ์มิให้กระจัดกระจาย
พระบรมสารีริกธาตุที่ยังคงรูปร่างเดิมอยู่เป็นปรกติ ไม่แตก ไม่กระจัดกระจาย มี 7 พระองค์ คือ พระเขี้ยวแก้วทั้ง 4 (เขี้ยวของพระพุทธเจ้า) พระรากขวัญทั้ง 2 (กระดูกไหปลาร้า) และพระอุณหิส (พระอัฐิส่วนหน้าผาก)
ส่วนพระบรมสารีริกธาตุนอกจากนั้น มิได้คงรูปร่างเดิม ได้แตกย่อยออก ที่ปรากฏ มีอยู่ 4 สัณฐานหลัก ๆ คือ สัณฐานดุจเมล็ดถั่วและถั่วแตก (ถั่วผ่าซีก) สัณฐานดุจเมล็ดข้าวสารและข้าวสารหักกึ่งหนึ่ง สัณฐานดุจเมล็ดงาและงาแตก สัณฐานดุจเมล็ดพันธุ์ผักกาดเป็นไปตามพุทธประสงค์ เพื่อให้ปวงพุทธบริษัทได้นำไปบรรจุในสถูปสำหรับกราบไหว้บูชา อันจะมีผลนำไปสู่สุคติภพ
เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จ มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดใส่ในพระหีบทอง ประดิษฐานไว้ในศาลากลางพระนครกุสินารา จัดให้มีมหรสพสมโภชตลอด 7 วัน
ฝ่ายกษัตริย์จากแคว้นต่าง ๆ เมื่อทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธองค์ ต่างก็ส่งราชทูตนำสาส์นมาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุพร้อมทั้งยกกองทัพติดตามมาด้วย รวม 6 นคร และมีพราหมณ์อีก 1 นคร ได้แก่
1. พระเจ้าอชาตศัตรู นครราชคฤห์
2. กษัตริย์ศากยะ นครกบิลพัสดุ์
3. กษัตริย์ลิจฉวี นครเวสาลี
4. กษัตริย์ถูลี นครอัลกัปปะ
5. กษัตริย์โกลิยะ นครรามคาม
6. กษัตริย์มัลละ นครปาวา
7. มหาพราหมณ์ นครเวฏฐทีปกะ
มัลลกษัตริย์ผู้ครองนครกุสินาราตรัสปฏิเสธทูตานุทูตทั้ง 7 พระนคร ไม่ยินยอมที่จะแบ่งส่วนพระบรมสารีริกธาตุถวายแก่เจ้าองค์ใดเลย ฝ่ายทูตานุทูตทั้ง 7 พระนครนั้นก็มิได้ย่อท้อ เกิดเหตุโต้เถียงกันขึ้น จวนจะเกิดวิวาทเป็นสงครามใหญ่
|
โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่พราหมณ์และกษัตริย์ 7 พระนคร
แล้วแอบหยิบเอาพระเขี้ยวแก้วใส่มวยผม
พระอินทร์จึงอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วไปประดิษฐานในพระเจดีย์จุฬามณี ในดาวดึงส์เทวโลก |
ขณะนั้น มีพราหมณ์ผู้หนึ่งนามว่า “โทณะ” ซึ่งเป็นอาจารย์ของกษัตริย์เหล่านั้น ได้ยินการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงขึ้น จึงออกไประงับข้อพิพาทดังกล่าวและประกาศว่าจะแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่า ๆ กัน จะได้อัญเชิญไปบรรจุในสถูปทุก ๆ พระนครเพื่อเป็นที่กราบไหว้บูชาของมหาชน กษัตริย์และพราหมณ์ทั้ง 8 พระนครได้ฟังดังนั้น ก็ทรงเห็นชอบพร้อมกับมอบธุระให้โทณพราหมณ์แบ่งส่วนพระบรมสารีริกธาตุ
บรรดากษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุ ต่างก็ร่ำไห้รำพันต่าง ๆ นา ๆฝ่ายโทณพราหมณ์เห็นบรรดากษัตริย์ทั้งหลายกำลังเศร้าโศกเสียใจอยู่ ได้ฉวยโอกาสแอบหยิบเอาพระทาฐธาตุ คือพระเขี้ยวแก้วองค์บนเบื้องขวา ขึ้นซ่อนไว้ ณ ภายใต้ผ้าโพกศีรษะ แล้วดำเนินการแบ่งพระบรมสาริกธาตุโดยใช้ตุมพะทะนานทอง ตวงพระบรมสารีริกธาตุได้ 8 ส่วนเท่า ๆ กัน ถวายแก่กษัตริย์และมหาพรหมณ์ทั้ง 8 นคร
พระอินทร์ทอดพระเนตรเห็นด้วยทิพยจักษุ ทรงดำริว่า โทณพราหมณ์ไม่อาจทำสักการะให้สมควรแก่พระทาฐธาตุ ควรจะนำมาบูชาไว้ในเทวโลก จึงทรงอัญเชิญพระทาฐธาตุนั้นจากผ้าโพกของโทณพราหมณ์ ประดิษฐานในสุวรรณโกศ ทรงนำขึ้นไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์จุฬามณี ในดาวดึงสเทวโลก พร้อมกับพระรากขวัญเบื้องขวา ฉะนั้น ในพระเจดีย์นี้ จึงมีสิ่งบรรจุหลายอย่าง แต่ก็คงเรียกว่า จุฬามณีเจดีย์
โดย: Sornpraram เวลา: 2016-9-29 05:03
ฝ่ายโทณพราหมณ์เมื่อคลำหาพระเขี้ยวแก้วไม่พบ จึงได้ขอตุมพะทะนานทองที่ใช้สำหรับตวงพระบรมสารีริกธาตุไปก่อสถูปบรรจุไว้สักการะ มีนามว่า “ตุมพสถูป”ต่อมากษัตริย์โมริยะเมืองปิปผลิวัน ได้สดับข่าวพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว จึงส่งราชทูตมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุบ้าง แต่เมื่อทราบว่าพระบรมสารีริกธาตุได้ถูกแบ่งไปยังนครต่าง ๆ หมดแล้ว จึงได้นำพระอังคาร (เถ้า) กลับสู่พระนคร สร้างสถูปบรรจุเป็นสถานที่สักการะบูชา มีนามว่า "พระอังคารสถูป"เมื่อต้นปฐมกาล จึงมีพระสถูปเจดีย์สถานเป็น 10 ตำบลด้วยกัน ด้วยประการฉะนี้
เกี่ยวกับพระเขี้ยวแก้วทั้ง 4 ของพระพุทธเจ้า ตำนานกล่าวว่า
องค์บนเบื้องขวา ประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์จุฬามณีบนดาวดึงสเทวโลก
องค์ล่างเบื้องขวา ไปอยู่ ณ แคว้นกาลิงคะ แล้วต่อไปยังลังกาทวีป (เชื่อกันว่า เป็นพระเขี้ยวแก้วองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีดาลาดามาลิกาวา [Sri Dalada Maligawa, Temple of the Tooth Relic] เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน)
องค์บนเบื้องซ้าย ไปอยู่ ณ แคว้นคันธาระ
องค์ล่างเบื้องซ้าย ไปอยู่ในพิภพของพญานาค
พระทนต์ พระเกศา พระโลมาทั่วพระวรกาย และพระนขา เทพยดาในหมื่นจักรวาลนำไปบูชาจักรวาลละองค์
กล่าวถึง “ทุสสเจดีย์” บนพรหมโลก ในไตรภูมิพระร่วง และในปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวไว้ตรงกันว่า เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกทรงผนวช “ฆฏิการมหาพรหม”ผู้เป็นสหายกับพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นโชติปาลมาณพ ในศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า นำบริขาร 8 จากพรหมโลกมาถวายพระโพธิสัตว์ และรับพระภูษาคฤหัสถ์ทั้งคู่ขึ้นไปบรรจุไว้ใน “ทุสสเจดีย์”
พรหมโลก อยู่สูงขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นที่ 6 อีกมาก มีอยู่มากชั้นซ้อน ๆ กันขึ้นไป แบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ รูปพรหม และ อรูปพรหม คำว่า พรหม ท่านแปลว่า เจริญ รุ่งเรือง หมายความว่า เจริญรุ่งเรืองด้วยคุณวิเศษ มีฌาน เป็นต้น
ตามคติทางพระพุทธศาสนาอธิบายว่า ผู้ที่ทำสมาธิจนบรรลุถึงรูปฌานคือ ฌานที่มีรูปนิมิตเป็นอารมณ์ รูปฌานนั้นย่อมมีวิบากให้ไปเกิดเป็นรูปพรหม ส่วนผู้ที่ทำสมาธิสูงขึ้นไปกว่ารูปฌานคือ ทิ้งรูปนิมิต กำหนดอรูปนิมิตคือนิมิตที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ จนได้บรรลุอรูปฌานคือฌานที่มีอรูปนิมิตเป็นอารมณ์ ฌานนั้นก็มีวิบากให้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม
ทุสสเจดีย์ประดิษฐานอยู่บนพรหมโลกชั้นอกนิฏฐา ซึ่งเป็นภูมิสุทธาวาสชั้นห้า เป็นนิวาสภูมิของท่านผู้บริสุทธิ์คือพระอนาคามีและพระอรหันต์พระอริยบุคคลชั้นอนาคามีในโลกนี้สิ้นชีวิตแล้ว ท่านว่าไปเกิดอยู่ในชั้นสุทธาวาส และจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ นิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น ไม่มีกลับลงมาอีก
คำว่า ทุสสเจดีย์ แปลว่า เจดีย์ผ้า คงหมายถึงเป็นที่บรรจุผ้าคือพระภูษาของพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งทรงผนวชดังกล่าวมาข้างต้น
|
กษัตริย์ เทพยดา และพรหม ในโลกทั้งสาม
ได้อัญเชิญสิ่งอันเป็นสัญญลักษณ์แทนความเป็นพระพุทธเจ้า
ไปประดิษฐานในภพของตน เพื่อถวายความเคารพสักการบูชาสูงสุด |
ต่อมาในคราวปรินิพพานก็ได้มีเรื่องเกี่ยวกับ “ทุสสเจดีย์” อีก ในปฐมสมโพธิกถากล่าวว่า พระเขี้ยวแก้วองค์บนเบื้องขวากับพระรากขวัญเบื้องขวาขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในจุฬามณีเจดีย์ ส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้ายกับพระอุณหิส ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์
แล้วเรื่องทั้งหลายก็มาจบลงด้วยสัจจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงพร่ำสอนอยู่เสมอว่า
"... สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นเพราะมีเหตุ สิ่งนั้นย่อมดับไปเมื่อเหตุดับ
สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด..."
บัดนี้ พระพุทธองค์ดับแล้ว ดับอย่างหมดเชื้อ ทิ้งวิบากขันธ์และกิเลสานุสัยทั้งปวง
ประดุจกองไฟดับลงแล้ว เพราะหมดเชื้อฉะนั้น ฯ
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) |
Powered by Discuz! X3.2 |