Baan Jompra
ชื่อกระทู้:
เส้นทางม้าสีหมอกของขุนแผน และพระอภัยมณี, ศรีสุวรรณ(สุจิตต์ วงษ์เทศ)
[สั่งพิมพ์]
โดย:
รามเทพ
เวลา:
2016-9-19 07:22
ชื่อกระทู้:
เส้นทางม้าสีหมอกของขุนแผน และพระอภัยมณี, ศรีสุวรรณ(สุจิตต์ วงษ์เทศ)
สุจิตต์ วงษ์เทศ : สามร้อยยอด-ช่องสิงขร-ทะเลอันดามัน เส้นทางม้าสีหมอกของขุนแผน และพระอภัยมณี, ศรีสุวรรณ
เขาสามร้อยยอดในรูปเขียนนี้ มีอักษรเขียนกำกับว่า “เขาเกาะ 300 ยอด” (ด้านมุมบนขวาสุด) อยู่อ่าวไทยทางด้านใต้กรุงศรีอยุธยา (เป็นเกาะกลางแม่น้ำอยู่ตรงกลางรูป) มีชื่อเมืองปราณ, เมืองกุย ฯลฯ รูปเขียนนี้ได้จากสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา (เลขที่ 6) กรมศิลปากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542
วันที่: 18 ก.ย. 59 เวลา: 20:27 น.
by
moddum
สามร้อยยอด มีดินแดนต่อเนื่องที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความรู้ด้านต่างๆ อีกมาก ซึ่งควรเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน จะได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติกับวัฒนธรรม หรือเรียกรวมๆ ว่า “วัฒนธรรมชาติ” เช่น
เส้นทางม้าสีหมอกของขุนแผน ซึ่งเป็นม้าเทศอินเดีย (ได้จากอาหรับ) ขึ้นบกเมืองมะริด
เส้นทางพระอภัยมณีกับศรีสุววณถูกเนรเทศ (จากกรุงรัตนา) ผ่านช่องสิงขรออกชายฝั่งทะเลอันดามัน
ช่องสิงขร ในแผนที่แสดงเส้นทางระหว่างอ่าวเบงกอล เมืองมะริด (Mergui) ผ่านช่องสิงขร ถึงอ่าวไทย เมืองประจวบคีรีขันธ์ มีเส้นทางรถไฟแล้ว (จาก Siamese White โดย Maurice Collis, 1935 (2478) พิมพ์ซ้ำในหนังสือ ชิงบัลลังก์พระนารายณ์ ของ นายพลเดส์ฟาร์จ แปลโดย ปรีดี พิศภูมิวิถี สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2552 หน้า 11)
สามร้อยยอด
สามร้อยยอด หมายถึง ทิวเขาต่อกันเป็นพืดยืดยาว มียอดเขาเรียงรายราว 300 ยอด ได้ชื่อจากนิทานท้องถิ่นอ่าวไทยเรื่องท้าวม่องไล่ หรือ ตาม่องไล่
ชื่อ “สามร้อยยอด” ได้จากนิทานท้องถิ่นอ่าวไทย เรื่อง ท้าวม่องไล่ หรือ ตาม่องไล่ เรียกทิวเขา ที่ อ. สามร้อยยอด จ. ประจวบคีรีขันธ์ มีเจตนาเรียกขานเพื่อจะบอกจำนวนและขนาดว่า “มาก” กว่าที่อื่นๆ เท่านั้น และเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าไม่ต้องการจะให้นับได้จำนวนเท่านั้นจริงๆ แม้ในท้องถิ่นอื่นๆ ก็มีอย่างนี้
เช่น บ่อพันขัน (ในจังหวัดร้อยเอ็ด) เป็นบ่อน้ำจืดมีปริมาณมากจากใต้ดินธรรมชาติ ตักถึงพันขันไม่แห้ง (บ่อน้ำอยู่ในท่ามกลางน้ำเค็มจากใต้ดินที่เป็นแหล่งทำเกลือ)
ช่องสิงขร แคบสุดในไทย
ช่องสิงขร หมายถึง ช่องระหว่างขุนเขาตะนาวศรีที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมไปมาได้ ระหว่างเขตแดนไทยกับพม่า
เขตไทย เป็น จ.ประจวบคีรีขันธ์ ริมฝั่งอ่าวไทย ทะเลจีน มหาสมุทรแปซิฟิค
เขตพม่า เป็นเมืองมะริด (Mergui) อ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย
บรรพชน “คนไทย” ใช้ช่องสิงขร เป็นเส้นทางคมนาคมจากอ่าวไทยไปอ่าวเบงกอล อย่างน้อยราว 2,000 ปีมาแล้ว มีพยานหลักฐานโบราณคดียืนยันกระจัดกระจายอยู่บริเวณตั้งแต่หัวหิน, ปราณบุรี, สามร้อยยอด, กุยบุรี ฯลฯ
พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณ
ช่องสิงขร เป็นเส้นทางพระอภัยมณีเดินดง แล้วพบนางผีเสื้อ(สมุทร) ที่ชายทะเล กับเป็นเส้นทางม้าสีหมอกของขุนแผน
สุนทรภู่แต่งให้พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณ ถูกท้าวสุทัศน์ (พระอินทร์) ขับไล่ออกจากกรุงรัตนา (กรุงรัตนโกสินทร์) ก็พากันเดินดงได้เดือนเศษ ผ่านป่าดงพงไพร (สิงขร) ถึงชายทะเล (อันดามัน) แห่งหนึ่ง มีกลอนว่า
แต่เดินทางกลางเถื่อนได้เดือนเศษ ออกพ้นเขตเขาไม้ไพรสิงขร
ถึงเนินทรายชายทะเลชโลทร ในสาครคลื่นลั่นสนั่นดัง
ม้าสีหมอกของขุนแผน
กลอนเสภาเรื่องขุนข้างขุนแผน แต่งให้ม้าสีหมอกเป็นม้าเทศ (อาหรับ) ลงเรือจากเมืองเทศมาขึ้นฝั่งที่เมือมะริด แล้วต้อนฝูงม้าเทศผ่านช่องสิงขรไปกุย, ปราณ, ชะอำ เลี้ยงไว้ที่เมืองเพชรบุรี มีกลอนเสภาว่า
มาถึงสิงขรผ่อนพักหยุด ปล่อยม้าอุตลุตให้กินหญ้า
กรมการกุยปราณส่งเนื่องมา ผ่านชะอำถึงท่าเพชรบุรี
โดย:
รามเทพ
เวลา:
2016-9-19 07:23
แคบสุดในไทย
ช่องสิงขรอยู่ในทิวเขาตะนาวศรีที่พาดผ่านจากทางทิศเหนือ ลงไปทางทิศใต้ ถึงพื้นที่ทิศตะวันตกของ จ. ประจวบคีรีขันธ์ ตรงที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยด้านตะวันออกของ จ.ประจวบฯ เว้าลึกเข้ามา
ทำให้แผ่นดินระหว่างชายฝั่งอ่าวไทยกับทิวเขาตะนาวศรีช่วงตรงนั้นคับแคบคอดกิ่ว หรือเป็น “คอคอด” จนได้ชื่อว่าเป็นบริเวณแคบที่สุดของประเทศไทย กว้างเพียง 10.96 กม. (อยู่ ต. ห้วยทราย อ. เมืองฯ จ. ประจวบฯ)
เขาสามร้อยยอดในรูปเขียนนี้ มีอักษรเขียนกำกับว่า “เขาเกาะ 300 ยอด” แสดงว่าเป็นเกาะสืบเนื่องมาถึงยุคกรุงธนบุรี อยู่อ่าวไทยระดับเดียวกับเกาะสีชัง และใกล้ฝั่งเมืองปราณ, เมืองกุย, ฯลฯ เป็น landmark หลักหมายของสำเภานาวานานาชาติจะแล่นเข้าปากน้ำต่างๆ ที่อยู่ต่อเนื่องถึงปากน้ำเจ้าพระยา รูปเขียนนี้ได้จากสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี (เลขที่ 10/ก) กรมศิลปากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542
เขาสามร้อยยอดในรูปเขียนนี้ มีอักษรเขียนกำกับว่า “เขาเกาะ 300 ยอด” (ด้านมุมบนขวาสุด) อยู่อ่าวไทยทางด้านใต้กรุงศรีอยุธยา (เป็นเกาะกลางแม่น้ำอยู่ตรงกลางรูป) มีชื่อเมืองปราณ, เมืองกุย ฯลฯ รูปเขียนนี้ได้จากสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา (เลขที่ 6) กรมศิลปากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542
เขาสามร้อยยอดในรูปเขียนนี้มีอักษรเขียนกำกับตามสำเนียงพูดคนยุคนั้นว่า “เข้า 300 ยอด” แสดงว่าเขาสามร้อยยอด สมัยอยุธยายังเป็นเกาะ อยู่ใกล้ขอบฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันตก มีชื่อเมืองปราณ, เมืองกุย, ฯลฯ รูปเขียนนี้ได้จากสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา (เลขที่ 6) กรมศิลปากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542
เขาสามร้อยยอด ในรูปเขียนนี้เป็นโขดหินลอยเหนือคลื่นทะเลสมุทร มีอักษรเขียนกำกับว่า “เขา 300 ยอด” อยู่ใกล้ขอบฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันตก แสดงว่าเขาสามร้อยยอดสมัยอยุธยายังเป็นเกาะ มีชื่อเมืองปราณ, เมืองกุย, ฯลฯ รูปเขียนนี้ได้จากสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา (เลขที่ 8) กรมศิลปากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542
โดย:
รามเทพ
เวลา:
2016-9-19 07:23
ปราณบุรี
ปราณบุรี ชื่อในเอกสารเก่าสะกดด้วย น. หนู ว่าเมืองปรานบุรี หมายถึงเมืองที่มีไม้แดง หรือเมืองไม้แดง (ปราน เป็นคำมอญ แปลว่า ไม้แดง) เป็นไม้เนื้อแข็งมีราคา
ชื่อ “ปรานบุรี” มีแล้วตั้งแต่ระหว่าง พ.ศ. 1919-1921 ยุคต้นอยุธยา ในแผ่นดิน ขุนหลวงพะงั่ว (สมเด็จพระบรมราชาธิราช)
ในเอกสารเก่าเรื่องพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง ระบุว่า ชื่อ “เมืองปรานบุรี”ได้จากราชทินนามเจ้าเมืองว่า “พระปรานบุรีศรีสงคราม”
เมื่อ พ.ศ. 2230-2231 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) คณะราชทูตฝรั่งเศส เดินทางกลับฝรั่งเศส ผ่านเมืองปราณไปเมืองมะริด แล้วมีบันทึกว่าเมืองปราณเป็นเมืองใหญ่
“บ้านเรือนวัดวาอารามทำด้วยไม้ไผ่ทั้งสิ้น รูปเมืองนี้สี่เหลี่ยมยาว มีรั้วทำด้วยเสาไม้ ปักลงดิน ที่สี่มุมมีป้อมสี่เหลี่ยม ก่ออิฐพบนป้อมมีหอรบและใบเสมา แต่ไม่มีชานป้อมพในรั้วนั้นปลูกกอไผ่ชิด ๆ กัน ซึ่งเป็นรั้วอยู่ในตัว”
เมื่อ พ.ศ. 2205 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ มีคณะบาทหลวงจากปารีส เดินทางผ่านเมืองปราณบุรี แล้วมีบันทึกถึงแม่น้ำปราณบุรีว่า
“เมืองนี้มีการสัญจรไปมาบ้าง เนื่องจากมีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่านและอยู่ไม่ไกลจากทะเล………….”
แม่น้ำปราณบุรี ยาว 162 กม.
ต้นน้ำปราณบุรีเกิดจากเขาพะเนินทุ่ง อ. แก่งกระจาน จ. เพชรบุรี
ไหลเข้า อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ แล้วเป็นเส้นแบ่งเขต อ. หัวหิน กับ อ. ปราณบุรี
ไหลผ่านที่ตั้งเขื่อนปราณบุรี เข้าเขต อ. ปราณบุรี แล้วออกทะเลที่ ต. ปากน้ำปราณบุรี
กุยบุรี
กุยบุรี หมายถึง เมืองที่มีเขากวาง หรือนอแรด (กุย เป็นคำเขมร แปลว่า เขา, นอ) ใช้เป็นส่วนผสมยาโบราณ ส่งขายมีราคา
ชื่อกุยบุรีมีแล้วตั้งแต่ราว พ.ศ. 1900 นามเดิมว่า เมืองกุย เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์และราชทินนามในพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองว่า “ออกพระพิชัยภักดีศรีวิสุทธิสงคราม”
เมื่อ พ.ศ. 2205 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) มีคณะบาทหลวงจากปารีส เดินทางผ่านเมืองกุยบุรี แล้วมีบันทึกว่าเป็นเมืองรูปร่างสี่เหลี่ยมเล็กๆ
“กำแพงเมืองทำด้วยไม้ มีบ้านอยู่ประมาณ 200 หลังคาเรือน”
ต่อมา พ.ศ. 2230-2231 คณะราชทูตฝรั่งเศสมีบันทึกถึงเมืองกุยว่า
“คล้ายกับเมืองปราณ ตั้งอยู่บนเนิน และมีแม่น้ำเล็ก ๆ ไหลอยู่เชิงเนิน แม่น้ำนี้ไหลไปตกทะเลประมาณ 1 ไมล์ครึ่ง เรือเดินขึ้นล่องได้อย่างสะดวกไปจนถึงช่องทะเลประมาณ 3 ไมล์………..”
คลองกุย ยาว 60 กม.
ต้นน้ำคลองกุยเกิดจากลำห้วยหลายสายทางทิศตะวันตกในทิวเขาตะนาวศรี เขต อ. กุยบุรี จ. ประจวบฯ
ไหลไปทางทิศตะวันออก เข้าเขต อ. กุยบุรี แล้วออกสู่ทะเลที่ ต. กุยเหนือ
ประจวบคีรีขันธ์
ประจวบคีรีขันธ์ หมายถึง เมืองอันเป็นที่สบเหมาะของหมู่ขุนเขา เป็นชื่อใหม่แรกมีในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2398
ประจวบ แปลว่า สบ, พบ, จำเพาะ, ฯลฯ คีรี แปลว่า ภูเขา (เป็นคำบาลี-สันสกฤต) ขันธ์ แปลว่า หมู่, กอง, พวก (เป็นคำบาลี-สันสกฤต)
เมืองอันเป็นที่สบเหมาะของหมู่ขุนเขาคือประจวบคีรีขันธ์นี้ ผูกนามขึ้นใหม่จากสภาพภูมิประเทศจริงๆ ที่มีทิวเขาตะนาวศรีพาดผ่านทอดยาวไปตามแนวเส้นเขตแดนไทย-พม่า ตั้งแต่กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี ลงไปถึงประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่เขตหัวหิน, ปราณบุรี, สามร้อยยอด, กุยบุรี, เมือง, ฯลฯ ต่อไปเรื่อยๆ
หัวหิน
หัวหิน หมายถึง โขดหินเรียงรายทั่วไป เป็นชื่อใหม่เพิ่งมีเมื่อราว พ.ศ. 2445 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5
ชื่อเดิมของหัวหินเปลี่ยนไปหลายอย่าง แรกทีเดียว ชาวบ้านเรียกบริเวณหัวหินว่าสมอเรียง หรือถมอเรียง หมายถึงโขดหินเรียงรายทั่วไป (สมอ หรือถมอ เป็นคำเขมร แปลว่า หิน)
ต่อมาเรียกให้สะดวกปากว่าบ้านหินเรียง, บ้านแหลมหิน นานไปกลายเป็นหัวหิน
http://www.matichon.co.th/news/289877
โดย:
Nujeab
เวลา:
2016-9-19 10:31
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/)
Powered by Discuz! X3.2