ปราสาทจอมพระ บ้านจอมพระ อำเภอจอมพระ เป็นอโรคยาศาลอีกแห่งหนึ่งที่พบในเมืองสุรินทร์ สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรขอมโบราณ (พ.ศ.๑๗๒๔–๑๗๖๓) พบเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระวัชชระสัตว์ สุรินทร์ หัวเมืองเขมรป่าดง ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สุวัฒน์ แก้วสุข ผมตั้งหัวเรื่องของบทความนี้ค่อนข้างแรงและตรงไปตรงมา ด้วยเหตุเพราะว่าในสมัยหนึ่ง ชัยภูมิที่เป็นเมืองสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ดังที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้เคยถูกเรียกว่า “หัวเมืองเขมรป่าดง” เรียกกันอย่างนี้มานาน มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่า พระองค์เคยรับสั่งให้ “เจ้าพระยาบดินเดชาสิงหเสนีย์” (สิงห์ สิงหเสนีย์) ผู้เป็นแม่ทัพสำคัญของไทยในขณะนั้นออกเดินทางมายังบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อจัดทำบัญชีพลหัวเมืองฝ่ายตะวันออกให้ชัดเจนเป็นหลักฐานเก็บรักษาไว้ ซึ่งก็รวมถึงหัวเมืองเขมรป่าดงเหล่านี้ด้วย การเรียกชื่ออย่างนี้ แม้ว่าจะเป็นการใช้ภาษาเก่าดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ในแง่หนึ่งได้สื่อความหมายในลักษณะเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน และไร้อารยธรรมความเจริญอยู่พอสมควร ตรงนี้สรุปว่าเป็นความเข้าใจหรือรู้สึกดูถูกดูแคลนของผู้คนทางเมือง กรุงเทพฯ อันเป็นเมืองหลวงที่ห่างไกลออกไปก็คงไม่ใช่อย่างนั้นเสียทั้งหมด แม้จะมีคนคิดในทำนองนั้นอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องไปโกรธเคืองด้วยเรื่องอย่างนี้ เพราะถ้าเราอ่านประวัติความเป็นมาของเมืองสุรินทร์ ซึ่งเคยเขียนไว้เพียงสั้นๆ ก็อาจรู้สึกคล้อยตามได้ง่ายเหมือนกัน เนื่องจากจะพบข้อมูลแค่ว่าต้นตระกูลของชาวสุรินทร์เป็นพวก “ส่วย” ที่อพยพมาตั้งบ้านเมืองชื่อ “คูปะทายสมันต์” หรือ “ผไทสมันต์” ต่อมาหัวหน้าหมู่บ้านมีความดีความชอบจากการตามจับช้างเผือกหลวงที่พลัดหลงมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก จึงได้รับพระราชทานยศบรรดาศักดิ์ “สุรินทร์ภักดี” ให้เป็นเจ้าเมืองปกครองสืบทอดลูกหลานกันตั้งแต่นั้นมา ถ้าเรานับช่วงเวลาตั้งแต่แรกก่อตั้งเมืองสุรินทร์จากเหตุการณ์ตามไล่จับช้างเผือกเป็นต้นมา ก็พอจะรวมเวลาได้สองร้อยปีเศษ เรื่องราวก่อนหน้านี้ไม่มีใครรู้ และแทบจะหาหลักฐานอะไรไม่ได้เลย ทำให้เกิดความรู้สึกว่าบ้านเมืองแถวนี้คงรกร้างกลายสภาพเป็นป่าดงดิบมานานหลายร้อยปี ตั้งแต่เมื่ออาณาจักรเขมรโบราณหรือขอมเสื่อมอำนาจไป ไม่ต่างจากนาฬิกาที่จู่ๆ ก็หยุดเดินเอาเสียดื้อๆ แม้แต่ในแวดวงวิชาการก็แทบไม่มีผู้ใดศึกษาถึงเรื่องในอดีตของเมืองสุรินทร์ ซึ่งเป็นเมืองเอกของหัวเมืองเขมรป่าดงเหล่านี้กันอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เมืองสุรินทร์มีชัยภูมิอยู่บริเวณอีสานใต้ ทางตอนล่างของลำน้ำมูลอันเป็นแหล่งอารยธรรม มีทั้งซากกำแพงเมืองเก่า และโบราณสถานกระจัดกระจายไปทั่วจังหวัด ซึ่งล้วนแต่เป็นบ้านเมืองที่เกิดขึ้นก่อนยุคสุโขทัยและอยุธยาทั้งสิ้น ความเข้าใจที่ว่ามีชาวส่วยจากที่ไหนไม่รู้มาตั้งหลักปักฐานจนกลายเป็นเมืองสุรินทร์มาจนทุกวันนี้ ดูจะเป็นข้อสรุปที่ง่ายเกินไปในทางวิชาการและบั่นทอนความภาคภูมิใจในท้องถิ่นลงอย่างมาก ในฐานะที่ผมเป็นชาวเมืองสุรินทร์โดยกำเนิด ทั้งบิดามารดาถือกำเนิดจากที่นี่ พูดเขมรกันทั้งบ้าน และทุกวันนี้ก็ยังถือตนเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาว สุรินทร์อย่างไม่เสื่อมคลาย ตรงนี้จึงต้องถือเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะกระตุ้นสำนึกแห่งการรู้จักตนเองให้มากขึ้น รวมทั้งเปิดประตูความคิดให้กว้างเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นบนพื้นฐานความจริงทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างรอบด้านให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ปราสาทภูมิโปน ศาสนสถานศิลปะขอมโบราณสมัยไพรเกมง พบจารึก ๑ หลัก จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๓ ปรางค์ก่ออิฐองค์ใหญ่ก่อด้วยอิฐไม่สอปูนแบบศิลปะขอมรุ่นเก่า แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสไม่ย่อมุม ฐานเตี้ย เรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยม มีประตูทางเข้า-ออก ด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ส่วนยอดก่อเป็นชั้นหลังคาซ้อนหลั่นกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ใต้หน้าบันของประตูทางเข้า-ออก มีลวดลายจำหลักเป็นรูปใบไม้ม้วนแบบศิลปะอินเดีย สมัยหลังคุปตะ (จากลักษณะของปรางค์องค์นี้เทียบได้กับกลุ่มปราสาทขอมสมัยก่อนเมืองพระนครที่ใช้อิฐในการก่อสร้างทั้งหลัง) ถ้าเมืองสุรินทร์เคยเป็นบ้านเมืองที่มั่นคงมาตั้งแต่สมัยนครวัดนครธมหรือก่อนหน้านั้นขึ้นไปอีกละก็ ความสำคัญของท้องถิ่นย่อมมีอยู่บ้างไม่มากก็น้อย อย่าลืมว่าปราสาทภูมิโปนที่ยังมีซากเหลืออยู่ให้เห็นที่อำเภอสังขะนั้นมีอายุเก่าแก่กว่านครวัดของเขมรหลายร้อยปี คือตั้งแต่ระยะพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ เป็นสถาปัตยกรรมเขมรที่โบราณที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยก็ว่าได้ แม้กระทั่งปราสาทบ้านพลวง ก็ยังมีอายุเก่าแก่กว่าปราสาทนครวัดร่วม ๑ ศตวรรษ |
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) | Powered by Discuz! X3.2 |