Baan Jompra

ชื่อกระทู้: ภาพปริศนาธรรม [สั่งพิมพ์]

โดย: AUD    เวลา: 2016-8-29 20:03
ชื่อกระทู้: ภาพปริศนาธรรม




[attach]13788[/attach]




๐..หนึ่งพยัคฆ์ คำราม ตามตะปบ

หนึ่งคนหลบ เกาะไม้เลื้อย ริมผาหิน

ที่ด้านล่าง พญางู รอกลืนกิน

ลมหายใจ ก็โรยริน ไร้เรี่ยวแรง

เถาไม้เลื้อย ที่รับร่าง กลางภัยร้าย

หนูกระหาย ร่าง ขาว-ดำ ช่างกำแหง

ลงฟันแทะ เถาไม้เลื้อย กันเต็มแรง

คนก็แกว่ง อยู่กลางภัย พยัคฆ์-งู

ด้วยไม่รู้ ทางใดใด จะให้รอด

ได้แต่กอด เถาวัลย์ไว้ ให้อดสู

พลันได้เห็น รวงผึ้งอ่อน  เอื้อมชิมดู

จึงได้รู้ รสแสนหวาน อันโอชา..ฯ


ปริศนาธรรม  แปลความได้ว่า...



๐..พยัคฆ์คือ อดีตกรรม ตามไล่ล่า

เถาวัลย์คือ กายา สังขารขันธ์

พญางู คือสุดทาง แห่งชีวัน

หนู ขาว-ดำ สองตัวนั้น คือ วัน-คืน

จิตของคน คือชายหนุ่ม ผู้นั้นเล่า

ชีพคนเรา ภัยล้อมรอบ ไร้ใครฝืน

เปรียบน้ำผึ้ง คือพระธรรม ที่ยั่งยืน

ใครได้ลิ้ม ชิมกลืน จักชื่นบาน..ฯ




โดย: AUD    เวลา: 2016-9-1 11:14
[attach]13792[/attach]


1.อุปมา ของธาตุทั้งหก
ภาพนี้ แสดงธาตุทั้ง ๖ มีคน ๔ คน คุกเข่าพนมมือไหว้ท้าวพระยา ซึ่งอยู่บนแท่น, ทั้งหมดอยู่ในที่ว่าง
ถ้าถามว่า นี่เป็นภาพอะไร? ตอบว่า:-ส่วนประกอบของคนๆหนึ่งซึ่งประกอบด้วยธาตุทั้ง ๖, คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม, เป็นคน ๔ คนคุกเข่าพนมมืออยู่ ๒ ข้าง. แล้วก็วิญญาณธาตุ คือธาตุใจที่เป็นตัวท้าวพระยาอยู่ตรงกลาง. ที่ว่างทั่วๆไปนั้นเป็นอากาศธาตุ อันเป็นธาตุว่าง (Space) รวมเป็น ๖ ธาตุ อย่างในบาลีมัชฌิมนิกาย พระพุทธภาษิตว่า "ฉ ธาตุโย อยํ ปุริโส." บุรุษนี้ประกอบด้วยธาตุ ๖. ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นรูปธาตุคือร่างกาย, และวิญญาณธาตุเป็นอรูปธาตุ หรือนามธาตุ, ส่วนอากาศธาตุ-ธาตุว่าง ควรจัดเป็นนิโรธธาตุ ไม่ใช่รูป, ไม่ใช่นาม แต่เป็นที่ดับของรูปและนาม ถ้าเราไม่ทราบความประสงค์ของเขาแล้ว ก็ไม่รู้ว่า นี่คือภาพอะไร. ที่แท้เป็นภาพของคนๆหนึ่ง ประกอบด้วยธาตุ ๖ หรืออุปมาของรูป กับ นาม.
ที่นี้จงสังเกตุดูว่า ความคิดของบรรพบุรุษในการเขียนภาพธาตุหกนี้ ฉลาดแสดงความหมายต่อไปในทางธรรมะว่า:-
ทำไมจึงต้องให้คน ๔ คนไหว้ท้าวพระยา? นี่ก็เพราะว่าธาตุ ๔ คือ ร่างกายนี้อยู่ใต้อำนาจของจิต, เชื่อฟังคำสั่งของจิต, จิตมีอำนาจเหนือกาย ควบคุมกาย หรือกล่าวว่า นามธรรมเป็นฝ่ายนำรูปธรรม, ฉะนั้น ดิน น้ำ ลม ไฟ คือ รูปธรรม ๔ จึงต้องพนมมือไหว้นามธรรม คือวิญญาณธาตุที่แสดงเป็นท้าวพระยานั่งบนแท่น.
ที่เขาเขียนบัลลังก์เป็นสิงโตเตี้ยๆนั้น เขาเขียนไปตามแบบสมัยนั้นซึ่งนิยมเขียนเช่นนั้น และแสดงว่าผู้นั่งเป็นผู้มีอำนาจ.




โดย: AUD    เวลา: 2016-9-1 11:16
[attach]13793[/attach]


2.อุปมาความแตกต่างระหว่างกายกับจิต
ภาพนี้ มีลิงอยู่ที่พื้นดินและบนต้นไม้, มีคนพยายามจะแทงและยิงลิง. อีกส่วนหนึ่งมีคนหาบหม้อดิน. ภาพนี้หมายถึงกายกับใจคือเป็นคนคนหนึ่ง แต่เพื่อจะแสดงว่า:- ธาตุใจคนเรานั้นหลุกหลิกแวบไหวรวดเร็วอย่างยิ่ง (dynamic) จึงอุปมาเหมือนลิง ซึ่งลุกลนกระสับกระส่ายไม่อยู่นิ่ง, ยากที่จะแทงหรือยิงให้ถูกที่หมาย ยากที่จะปรับปรุงควบคุมให้อยู่คงที่ เพราะมันไม่แน่นอน กลับกลอกเบาหวิว หวิวไว เหมือนลิงจริงๆ, ดังนั้นต้องมีอุบายที่ฉลาดจัดการกับจิตให้ถูกต้อง อย่าทำเล่นกับมัน อีกประการหนึ่ง กายเปรียบด้วยหม้อน้ำ ธาตุภายในหม้อน้ำหรือกายคนเรานี้ กระด้าง ทื่อ (static) หนักอึ้ง เหมือนกับหม้อดินใส่น้ำ ซึ่งกระดุกกระดิกไม่ได้ แตกง่าย และแตกแน่นอนไม่กำหนดกาล, แตกเมื่อไรก็ได้, เป็นภาระอันหนักแก่บุคคลผู้ถือว่านี้เป็นกายของเรา, หรือกายนี้เป็นตัวเรา เมื่อยึดถือเป็นเจ้าของ จึงต้องแบกของหนักด้วยความระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาถ้าถามว่า นี่ภาพอะไร? ตอบว่า - ภาพอุปมาความแตกต่างของกายและใจ หรือนามและรูป ที่สมมุติเป็นคนคนหนึ่ง. นามก็คือ ใจ หรือ ลิง. รูปก็คือกาย หรือ หม้อน้ำนี่ เพื่อเปรียบเทียบให้เกิดความรู้ทางธรรมะว่า:- จิตแยกออกจากกายได้เป็นคนละส่วน และมีธรรมชาติแตกต่างกันมาก ดังมีอุปมา - เหมือนหม้อน้ำแตกต่างจากลิง ฉะนั้น.




โดย: AUD    เวลา: 2016-9-1 11:17
[attach]13794[/attach]


3.อุปมา วิธีฝึกจิต ๒ วิธี
ภาพนี้ อุปมากายเป็นต้นไม้มีโพลง มีงู คือจิต อาศัยโพรงละตัว ต้นหนึ่งมีคนถือแก้วชูอยู่ข้างหน้างู, อีกต้นหนึ่งมีคนถือขวานจ่ออยู่ต่อหน้างู. ตัวเรื่องมีคติอยู่ว่า จิตนี้เปรียบเหมือนงูพิษ อาศัยอยู่ในร่างกาย ซึ่งเปรียบได้กับโพรงไม้. คนเรามีหน้าที่จะต้องจัดการฝักฝนบังคับควบคุมจิต จะต้องใช้ธรรมะเป็นอุบาย ทั้งนิคคหะและปัคคหะตามโอกาสซึ่งบางคราวก็ต้อง ข่ม อย่างเข้มแข็ง ด้วยการใช้อาวุธเหมือนกับถือขวานเข้าไปจ่อที่หน้างู เพื่อทำลายงูพิษ อันได้แก่. "ตัวตน-ของตน" ในอุบายของนิคคหะ. บางคราวก็ใช้ยกย่อง ประคอง ปลอบโยน ประเล้าประโลม เพื่อบรรเทาพิษร้ายของ "ตัวตน-ของตน" ให้เบาบางลง เหมือนกับถือแก้วเข้าไป, ในอุบายปัคคหะ. จึงแสดงอุบายไว้ ๒ แบบ คือต้องใช้อุบายทั้งปลอบประโลม, และข่มขี่ บีบบังคับ สับโขก ให้เหมาะสมแก่โอกาสจึงจะได้ผล. พระ ๓ รูปข้างบนนั้น เป็นภาพของพระโยคาวจร ผู้นั้งสมาธิฝึกฝนจิต. บางทีเขียนเป็นรูปฤาษีก็มี แต่ไม่ต้องนึกถึงนัก รวมความว่าเป็นผู้นั่งเพ่งเห็นความจริงในสิ่งเหล่านี้, คือรู้ความจริงอย่างยิ่ง ของใจก็แล้วกัน. มี อสุภ ๒ ตัว นอนอยู่ แสดงว่าเป็นเครื่องมือฝึกฝนจิต คือ อสุภกัมมัฏฐาน เพื่อใช้พิจารณาให้เห็นความจริงของร่างกายที่ไม่มีสาระแก่นสาร ถ้าถามว่า นี้ภาพอะไร? ตอบว่า ภาพอุปมาวิธีฝึกฝนจิต โดยเปรียบเทียบจิตเป็นพิษงู แสดงการบังคับควบคุมจิต ถ้าฝึกดีก็จะสำเร็จประโยชน์ ถ้าฝึกไม่ดี ผู้ฝึกจะต้องตายเอง หมายความว่าถูกงูกัด คือมีจิตฟุ้งซ่าน ถึงวิกลจริตวิการไป ถ้าทำถูกก็สำเร็จประโยชน์ตามประสงค์. อุบายที่จะฝึกมี ๒ แบบ คือข่มขี่แบบหนึ่ง, ยกย่องปลอบโยนเล้าโลมแบบหนึ่ง. ภาพแสดงซ้ำๆเช่นนี้ เพื่อให้ผู้ที่ได้รู้ได้เห็นภาพจำติดตา เก็บไปเป็นความรู้ทางธรรมะ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของตนเอง หรือสอนธรรมะด้วยภาพ เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นต่อไป.




โดย: AUD    เวลา: 2016-9-1 11:18
[attach]13795[/attach]


4.อุปมา ค่าของสิ่งปฎิกูล คือกาย
ภาพคนถือดอกบัวท่าต่างๆ ศพเน่าขึ้นพองอืดลอยน้ำ และคนยืนอยู่ที่ฝั่งน้ำนั้น เรื่องมีอยู่ว่า นายคนนี้ถูกโจร ๕ คนไล่ฆ่า. เขาหนีโจรมาถึงริมตลิ่ง บังเอิญมีศพเน่าพองอืดลอยมา เขานึกได้ก็กระโจนขึ้นขี่ศพ ใช้มือ เท้า พุ้ยน้ำ ดันศพลอยข้ามฟาก พ้นจากเงื้อมมือโจร หรือพ้นจากวัฎฎสงสารไปสู่นิพพาน.โจร ๕ คน ได้แก่ นก ๕ ตัว บินไล่หลังตามกันอยู่ไนวงกลม, แสดงว่า เป็นตัวทุกข์ คืออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เพราะหลงยึดถือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ รวมเป็นกลุ่มขันธ์ทั้ง ๕ ที่ประกอบด้วยอุปาทานยึดครอง บินไล่ตามกันอยู่ ไม่ออกจากวงกลม จึงเป็นความทุกข์เสมอ. ความทุกข์ที่แท้ท่านแสดงด้วยปัญจุปาทานขันธ์ จึงเป็นการลึกซึ้งและถูกต้อง. ไม่แสดงเพียงว่าให้ชัดต้องว่า "สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา" - ที่แท้ เบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานเป็นตัวทุกข์.เรื่องนี้มุ่งแสดงว่า ร่างกายเปรียบด้วยศพเน่า, ใช้เป็นพาหนะข้ามฟากจากวัฏฏสงสารไปสู่นิพพาน. ตามหลักธรรมะถือว่าร่างกายนี้เป็นของเน่า เป็นปฏิกูลอยู่โดยธรรมชาติ จนต้องอาบ ต้องล้าง ต้องลูบไล้, เพราะฉะนั้นจึงถูกเปรียบเทียบด้วยซากศพ. ในที่นี้ต้องการให้ทราบว่า ซากศพนั้นมิใช่ไม่มีค่า. ถ้าอาศัยซากศพเน่าเหม็น อืด นี้ ให้ถูกต้องแล้วก็เอาตังรอด หนีพ้นโจรคืออุปาทานไปสู่นิพพานได้. ความสำคัญมุ่งจะสอนก็คือ อย่าไปหลงรักร่างกายนัก เช่นไปบำรุงบำเรอมันมาก จนเป็นกามสุขัลลิกานุโยค, นิยมวัตถุจนเป็นทาสร่างกายมากเกินไปก็ผิด. หรืออีกทางหนึ่งก็เป็น อัตตกิลมถานุโยค, ทรมานมันมากเกินไปจนเสื่อมสมรรถภาพ ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน ต้องปฏิบัติให้พอดีพอเหมาะกับที่มันเป็นปฏิกูล รีบใช้อาศัยเป็นเครื่องมือข้ามฟากหนีพ้นจากความทุกข์ บรรลุนิพพานให้ได้. ภาพคนถือดอกบัวในท่าต่างๆ หมายความว่า คนเหล่านี้มีปัญญา ดอกบัวเป็นเครื่องหมายของปัญญา หรือที่เรียกว่า พระโยคาวจรผู้มีปัญญา บางทีเขียนเป็นรูปฤาษี เป็นคนชาวบ้านก็มี หรือภิกษุนั่งมีดอกบัวข้างๆ แม้แต่เด็กเล็กๆก็ยังถือดอกบัว. ผู้ถือดอกบัวในมือแสดงว่าเขามีปัญญา ถ้าทำให้ถูกวิธีแล้วก็บรรลุมรรคผลได้ สรุปเป็นธรรมะชั้นสูงก็คือ อาศัยร่างกายเป็นที่ดำรงชีวิตอยู่แล้วรีบศึกษาปฏิบัติธรรมเพิ่มเติม จนเกิดปัญญาบรรลุมรรคผลนิพพานไปเลย.




โดย: Sornpraram    เวลา: 2016-9-1 11:18

โดย: AUD    เวลา: 2016-9-1 11:19
[attach]13796[/attach]


5.อุปมา สิ่งที่เป็นแดนเกิดของปัญญา
ภาพดอกบัวใหญ่ บุรุษผู้เข้มแข็งถือพระขรรค์และจักรข้างละมืออยู่กลางดอกบัว นี้แสดงคุณค่าของร่างกายไม่เกี่ยวกับใจ แสดงว่า :- ปัญญาเกิดจากกายอันเป็นของปฏิกูล, เปรียบเหมือนโคลนที่เน่าเหม็นเป็นที่เกิดของดอกบัว
ที่เขาเขียนปลา เต่า ไว้นั้น แสดงว่าเป็นน้ำ, ให้เข้าใจว่าดอกบัวนี่เกิดจากโคลนสกปรกใต้น้ำ แม้โคลนจะเน่าเหม็น แต่เป็นที่เกิดของดอกบัวอันหอมหวนงดงามได้. เหมือนร่างกายอันเน่าเหม็น นี้เป็นที่เกิดของปัญญา อันเปรียบกับจักรและพระขรรค์ ซึ่งใช้ตัดกิเลสตัณหา ดังนั้นต้องรู้จักทำให้ปัญญาเกิดขึ้นเบิกบานเต็มที่ จึงมีกำลังพร้อมที่จะตัดกิเลสได้.
ภาพเด็กเล็กๆ ที่ลอยเข้ามาหาผู้ถืออาวุธนั้น หมายถึงความโง่ ความหลง ความมืดบอด ซึ่งเรียกว่า "อันธการ", อันธการนี้จะต้องตัดเสียด้วยปัญญา. ในที่นี้แสดงให้เห็นว่า การจะทำลายกิเลสความโง่หลงนั้น จำเป็นต้องมองให้เห็นว่ากิเลสมันเป็นต้นเหตุของความทุกข์เสียก่อน มิฉะนั้นก็ไม่ทราบว่า จะตัดตรงไหนจึงจะเกิดผลตามประสงค์ ดังนั้น จำเป็นต้องสอดส่องมองให้เห็นตัว "อันธการ" คือ ความโง่หลง ความผิดพลาดของตนเอง ซึ่งมาจากเล่ห์เหลี่ยม "ตัวกู-ของกู" ที่มีการเกิดขึ้นแล้วก็มีความทุกข์ตามมา มองเห็นให้ถูกต้อง จึงมีปัญญาสามารถทำลายอันธการนั้นได้, ทุกข์จึงจะดับไป.
ถ้าถามว่า ภาพนี้คืออะไร? ตอบว่า - ภาพอุปมากายเน่าเป็นแดนเกิดของปัญญา. ดอกบัวที่หอมเกิดขึ้นจากโคลนที่เหม็นฉันใด ปัญญาที่จะตัดกิเลสก็เกิดได้จากกายเน่าฉันนั้น ดังนั้นทุกคนต้องทำให้ดี บริหารให้ถูกทาง ให้ปัญญาเกิดขึ้น เบิกบานเจริญขึ้นเต็มที่ จนมีกำลังตัดกิเลสได้. อย่าเป็นทาสของร่างกาย อย่าประพฤติผิดต่อร่างกายอันเป็นที่เกิดของปัญญา ปัญญาจึงจะมีความแหลมคมถึงที่สุด. รู้คุณค่าของกายเน่า ใช้กายเน่าให้เกิดประโยชน์ถึงนิพพาน.




โดย: AUD    เวลา: 2016-9-1 11:19
[attach]13797[/attach]


6.อุปมา อารมณ์แห่งตัณหาทั้งสาม
ภาพที่แล้วมาทั้งหมด เป็นเรื่องของกายกับใจ, กายเป็นที่เกิดของปัญญา ปัญญาเป็นเครื่องมือสำหรับตัดกิเลส.
ทีนี้ เริ่มเรื่องของกิเลส ด้วยการเปรียบอารมณ์ของจิตเป็นสระน้ำใหญ่ ๓ สระ, เพราะบรรดาอารมณ์ทั้งหมดที่จิตของคนต้องการนั้นจะกี่ร้อยกี่พันอย่างก็ตาม ท่านแบ่งได้เป็น ๓ พวก ดังนี้ :-
อารมณ์ที่ กามตัณหา ต้องการ, คือความสุขที่เกิดความหลงใหลในสิ่งที่ตนชอบ, และในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสระหว่างเพศตรงข้าม.
อารมณ์ที่ ภวตัณหา ต้องการ, คือความสุขที่เกิดจากรูปบริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวกับกาม, เช่น ความสุขที่เกิดจากรูปฌาณ, หรือกล่าวโดยทั่วไปเป็นรูปบริสุทธิ์ล้วนๆ เช่น คนเล่นของเล่น มีบอนโกศล เครื่องลายคราม ก็เป็นที่หลงใหลได้มาก.
อารมณ์ที่ วิภวตัณหา ต้องการ, คือความสุขที่เกิดจากอรูปบริสุทธิ์ เช่น อรูปฌาณ, สิ่งที่ไม่มีรูปก็เป็นที่ลุ่มหลงได้มาก, หรือแม้หลงใหลในเกียรติยศ ต้องการชื่อเสียงจนแสดงความกล้าตาย อย่างนี้ก็ได้.
ถ้าจะพูดให้สั้นในขั้นต้นก็พูดว่า หลงใหลความสุขในเรื่องกามคุณเป็นสระหนึ่ง, หลงใหลอยากในความเป็น มีชีวิตอยู่ด้วยความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ นี้ก็สระหนึ่ง, หรือความอยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ จนกระทั่งไม่อยากเป็นอยู่หรืออยากตายเสียเลย ก็สระหนึ่ง.
ถ้าพูดให้สั่นที่สุดก็คือ :-
๑. อยากเอา อยากได้ สิ่งที่ตนชอบ.
๒. อยากเป็น ตามที่ตนชอบ
๓. อยากไม่ให้เป็น ตามที่ตนไม่ชอบ.
ความอยากของคนเราในโลกนี้มีอยู่ ๓ อยากนี้เท่านั้น เมื่อความอยากมี ๓ อย่าง เหยื่อของความอยากก็ต้องมี ๓ อย่าง ;
ภาพช้างนั้น เล็งถึงสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง แสวงหาทางที่จะไปดื่มไปกินน้ำทั้ง ๓ สระนี้เท่านั้น, เช่นบางทีก็อยากไปในทางกามคุณ, ประเดี๋ยวก็อยากไปในทางเฉยๆ, ประเดี๋ยวก็อยากไปในทางไม่ให้มี ไม่ให้เป็น หรืออยากตายไปเสียเลยก็มี. วันหนึ่ง คืนหนึ่ง ชีวิตคนเราก็หลงอยู่ใน ๓ อยากนี้, จึงว่าช้างตัวหนึ่งกินน้ำ ๓ สระ เป็นคำเปรียบของกิเลสที่ว่า กินจุ กินมาก เหมือนช้าง. ส่วนอาการที่กิเลสจะปรุงแต่งกันต่อไปอย่างไรนั้น จะรู้ได้จากภาพถัดไป.




โดย: AUD    เวลา: 2016-9-1 11:22
Sornpraram ตอบกลับเมื่อ 2016-9-1 11:18

ไว้ค่อยมาต่อครับ
โดย: oustayutt    เวลา: 2016-9-2 06:45
ขอบคุณคนับ
โดย: AUD    เวลา: 2016-9-4 20:44
[attach]13804[/attach]

7.ดอกไม้จัดคน

คนนั่งจัดบุปผชาติก็คาดคิด
ว่าพิชิตมันได้ตามใจหวัง
ความคิดนี้ถูกดีแล้วหรือยัง
มันจัดใครเข้าให้มั่งหยั่งคิดดู

คิดดูเถิดพวกถนัดจัดมาลัย
ลิงโลดใจว่าจัดได้สวยหรู
ใครจัดใครแย่ไปให้นึกดู
อย่าหลงรู้แต่ว่าตนจัดมาลัย

ดูให้ดีพวกคนหลงดอกไม้
มันมัดท่านใจไข้อยู่ไหวไหว
ในทันทีที่คนจัดดอกไม้ไป
มันรวบใจคนมัดในบัดดล

ดอกไม้จัดคนบ้างอย่างภาพนี้
คือพวกที่หลงมันทุกแห่งหน
เด็กผู้ใหญ่ไพร่ผู้ดีมีหรือจน
ไม่เคยพ้นบุปผชาติคาดมัดเอย ฯ

คนมีกิเลสหมายมั่นว่าเราเป็นผู้จัดการ, เราเป็นผู้บงการทุกสิ่ง, เราเป็นผู้กระทำให้ได้

ตามใจเรา แต่ที่แท้คนกำลังถูกบงการจากกิเลสนั่นเอง จึงถูกกิเลสรัดรึงอยู่รอบด้าน.

ส่วนผู้รู้ใช้ปัญญาเข้าจัดการกับทุกเรื่อง จึงเป็น "อิสระ".




โดย: AUD    เวลา: 2016-9-4 20:46
[attach]13805[/attach]
8.ไหว้พระพุทธรูป

อาจารย์ขาก้อนศิลาบ้านข้าเจ้า
ลุกขึ้นเต้นเร่าเร่าน่าเลื่อมใส
ทำพุทธรูปกันเถิดหนาเลิศกว่าใคร
"เออ, ทำได้ " แน่หนาท่านอาจารย์

"ถ้าอย่างนั้นไม่ได้แล้วไม่ได้แน่
เหตุว่าแกสงสัยไม่ฉาดฉาน
ขืนทำไปไม่มั่นมันป่วยการ
พุทธรูปตายด้านเพราะลังเล

ถ้าในใจเชื่อมั่นมันก็ได้
ถ้าในใจสงสัยมันก็เขว
เป็นพุทธจริงตรงที่ใจไม่เกเร
มันไหลเทออกจากใจข้างในเรา

พุทธะจริงข้างในมีดีอยู่แล้ว
พุทธรูปหินหรือแก้วมักพาเขลา
มีพุทธจริงแล้วจะวิ่งเที่ยวหาเอา
อะไรเล่ามาหมอบไหว้ให้ยุ่งเอย ฯ

ถ้าเชื่อ ก้อนดินก็เป็นพระพุทธรูปได้ ! แต่พระพุทธรูปชนิดนี้ยังเป็นของภายนอกเกินไป.

ส่วนพระพุทธเจ้าแท้จริง อยู่ที่ใจที่หมดสงสัยลังเลต่อชีวิตแล้ว พระพุทธรูปภายนอกนั้น

พาให้ลังเล. ถ้าพบ "พระ" ในใจแล้ว "พระ" นั้นคุ้มครองในทุกแห่งหน.



โดย: AUD    เวลา: 2016-9-4 20:47
[attach]13806[/attach]

9.อยู่ให้เหมือนลิ้นงูในปากงู

"นั่นลูกตามองเห็นไม่เป็นหมัน
เขาใช้มันเล็งแลแก้ปัญหา
อยู่ในโลกอย่างไรไม่ทรมาน์
พิจารณาตรองไปให้จงดี.

อยู่ให้เหมือนลิ้นงูในปากงู
ไม่เคยถูกเขี้ยวงูอยู่สุขศรี
อยู่ในโลกไม่เคยถูกเขี้ยวโลกีย์
เป็นเช่นนี้อุปมาอย่าฟั่นเฟือน

คิดดูบ้างนั่งได้ในปากงู
ไม่เคยถูกเขี้ยวงูอยู่เสมือน
นั่งในห้องแสนสบายภายในเรือน
มีเค้าเงื่อนเหมือนพระภควันต์

อยู่ในโลกไม่กระทบโลกธรรม
อยู่เหนือกรรมเหนือทุกข์เป็นสุขสันต์
ใครมีตารีบเคารพนอบนบพลัน
รีบพากันทำตามยามนี้เอย ฯ

เขี้ยวของโลกที่ขบขย้ำคนอยู่ คือ โลกธรรม ๘ ประการ กลุ่มแรก คือ ลาภ, ยศ,

สรรเสริญ, สุข. กลุ่มหลัง คือ เสื่อมลาภ, เสื่อมยศ, นินทา, ทุกข์.

นั่นคือการได้และการเสีย, หรือบวกกับลบ นั่นเอง, ซึ่งเป็นเพียง "มายา" ปรากฏการณ์

ชั่วคราว ตามเหตุและปัจจัยปรุงแต่งขึ้น.

เห็นความ "เกิด-ดับ" ของมายานี้แล้ว "ไม่ถือมั่น" ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม จึงอยู่ในโลก

ไม่ต้องหนีไปไหน แต่ก็ไม่ถูกเขี้ยวของโลก; เหมือนลิ้นของงูอยู่ในปากงู ชิดเขี้ยวอันเต็มไป

ด้วยน้ำพิษ แต่ไม่เคยถูกพิษนั้นเลย. สำหรับโลกนอกตัวเราสมัยนี้ ก็นับว่าเต็มไปด้วยพิษงู

เราจะอยู่อย่างฉลาดโดยไม่ถูกเข้ากับพิษเหล่านั้น มีผลเท่ากับอยู่กันคนละโลกทีเดียว.




โดย: AUD    เวลา: 2016-9-4 20:48
[attach]13807[/attach]
10.เต่าหินตาบอด

"โอ้เต่าเอ๋ยขอถามความสักอย่าง
ดูท่าทางของเต่าเรานึกขำ
ตัวเป็นหินตาก็บอดยอดเวรกรรม
มีพระธรรมอยู่บนหลังยังไม่รู้"

"มนุษย์เอ๋ย! เราจะบอกกรอกหูเจ้า
ตัวเราเองแหละคือธรรมตำตาอยู่
ธรรมของเจ้าคือตำราบ้าพอดู
ธรรมของตูคือตัวตูอยู่ที่ธรรม

ที่เป็นหินหมายถึงเย็นอย่างนิพพาน
เพราะประหารอวิชชาไยว่าขำ
ความหนวกบอดยอดสงบลบล้างกรรม
เป็นความว่างมีประจำอยู่ร่ำไป

อันตำรานั้นมิใช่พระธรรมเลย
คิดดูเถิดคนเอ๋ยอย่าไถล
จะมีธรรมกันบ้างช่างกระไร
คว้าเอาไว้แต่คัมภีร์ดีนักเอย ฯ"

มนุษย์ : เต่านี้ช่างโง่เสียจริง มีคัมภีร์อยู่บนหลังแล้ว เหตุไฉนจึงไม่รู้ธรรมะ

เต่า : บนหลังฉันนั้นยังไม่ใช่ธรรมะแท้จริง. ความหนวกบอด

คือความไม่ยินดียินร้ายในอารมณ์ที่มากระทบ; ความเย็นและสงบที่เนื้อตัวของ

ฉันตากห่าง เป็นธรรมะที่แท้จริง จะหาธรรมะที่แท้จริงที่ไหนอื่นเล่ามนุษย์เอ๋ย



โดย: AUD    เวลา: 2016-9-4 20:49
[attach]13808[/attach]
11.ยิ่งคัดลอกยิ่งเลอะเทอะ

พระคัมภีร์ยังมิใช่องค์พระธรรม
มีไว้เพียงอ่านจำเมื่อศึกษา
ครั้นนานเข้าคัดลอกกันสืบมา
เพียงแต่เขียนอักขราให้คล้ายกัน

คัดพลางฉงนพลางช่างอึดอัด
ตัวไม่ชัดเดาไปคล้ายในฝัน
ยิ่งเป็นปราชญ์ยิ่งแก้ไปได้ไกลครัน
ยิ่งแก้มันก็ยิ่งเลอะไม่เจอะจริง.

ส่วนพระธรรมล้ำเลิศประเสริฐแท้
ไม่มีใครอาจแก้ให้ยุ่งขิง
ธรรมของใครใครเห็นตามเป็นจริง
มิใช่สิ่งคัดลอกหรือบอกกัน

ทั้งมิอาจถ่ายทอดวิธีใด
มีแต่การจัดใจให้สบสันติ์
ไม่มีทางซื้อขายหรือให้ปัน
หรือลอกกันให้เลอะไปไม่หยุดเอย ฯ

คัมภีร์ คือบันทึกที่ถูกคัดลอก และถูกนักปราชญ์แก้ไขเพิ่มเติมเรื่อยมา ผู้แก้ยิ่ง

เป็นปราชญ์เท่าใด ก็ยิ่งแก้ไขมากเท่านั้น จึงยิ่งมีทางที่จะผิดไปไกลมากเท่านั้น.

ส่วนธรรมะแท้นั้น คัดลอกไม่ได้, ผิดไม่ได้, ถูกไม่ได้, ถ่ายทอดไม่ได้, สอนไม่ได้,

จึงเลอะเทอะไม่ได้; รู้ได้เฉพาะตัว.

คัมภีร์แท้เล่มเดียว คือ ความล้ำลึกที่ชีวิตต้องหยั่งลงในชีวิต ด้วยชีวิตเอง.



โดย: AUD    เวลา: 2016-9-4 20:49
[attach]13809[/attach]

12.ผู้ดับไม่เหลือ

อย่าเข้าใจไปว่าต้องเรียนมา
ต้องปฏิบัติลำบากจึงพ้นได้
ถ้ารู้จริงสิ่งเดียวก็ง่ายดาย
รู้ดับให้ไม่มีเหลือเชื่อก็ลอง

เมื่อเจ็บไข้ความตายจะมาถึง
อย่าพรั่นพรึงหวาดไหวให้หม่นหมอง
ระวังให้ดีดีนาทีทอง
คอยจดจ้องให้ตรงจุดหลุดได้ทัน

ถึงนาทีสุดท้ายอย่าให้พลาด
ตั้งสติไม่ประมาทเพื่อดับขันธ์
ด้วยจิตว่างปล่อยวางทุกสิ่งอัน
สารพันไม่ยึดครองเป็นของเรา

ตกกระไดพลอยกระโจนให้ดีดี
จะถึงที่มุ่งหมายได้ง่ายเข้า
สมัครใจดับไม่เหลือเมื่อไม่เอา
ก็ดับเราดับตนดลนิพพาน ฯ

ความรู้ทุกชนิดที่โลกรู้ยิ่งเพิ่มความพลุ่งขึ้นของโลก, เป็นไปเพื่อ "ความเกิด"

ของ "ตัวตน" อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ คือ การเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น.

ส่วนความรู้เพียงประการเดียวที่เป็นไปเพื่ออิสระและผาสุข คือการรู้เพื่อดับ "ตัวตน"

อันเป็นการดับทุกข์ในทุกแง่ .

ความรู้นั้น คือรู้ชัดว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเรา ว่าของเรา"

อยู่ตราบลมหายใจสุดท้ายของชีวิต.




โดย: Sornpraram    เวลา: 2016-9-9 05:49

โดย: AUD    เวลา: 2016-9-10 06:44
[attach]13821[/attach]

13.จิตว่างได้ยินหญ้าพูด

พระพุทธะตรัสรู้จิตอยู่ว่าง
ได้ยินสิ่งทุกอย่างแถลงไข
เหมือนมันฟ้องตัวเองเซ็งแซ่ไป
ว่าไม่มีสิ่งไหนน่ายึดเอา

มาเพื่อเป็นตัวกูและของกู
อย่าหลงตู่มันเข้าเพราะความเขลา
เอาของเป็นอนัตตามาเป็นเรา
จะต้องเศร้าโศกระบบตรมใจแรง

แม้กรวดดินหินไม้และใบหญ้า
ล้วนแต่ส่งเสียงจ้าทุกหัวระแหง
คนจิตวุ่นไม่เข้าใจไม่ระแวง
ว่าทุกสิ่งร้องแสดงบทพระธรรม

ครั้นจิตว่างจะได้ยินแม้ใบหญ้า
มันปรึกษาข้อความที่งามขำ
ว่า "ทำไฉนสัตว์ทั้งหลายจะร่ายรำ
ด้วยจิตว่างเพราะวางธรรมทั้งปวงเอย"

จิต "วุ่น" ได้ยินแต่เสียง "โลก" พูด คือเรื่องได้, เรื่องเสีย, เรื่องมี, เรื่องเป็น,

อยู่ก้องโกลาหล กลบเสียงใบไม้ใบหญ้าที่กระซิบความจริงของชีวิตเสียสิ้น.

ครั้นจิต "ว่าง" จากอารมณ์ "โลก ๆ" แล้ว ย่อมซึมซาบความจริงนั้นว่า เกิดมานี้

เพื่อปล่อยวาง, อิสระ และร่าเริง.




โดย: AUD    เวลา: 2016-9-10 06:45
[attach]13822[/attach]
14.ฝนอิฐเป็นกระจกเงา

ศิษย์วอนถามอาจารย์ฐานร้อนใจ
"ทำอย่างไรไปนิพพานอาจารย์ขา?"
"อ๋อ มันง่ายนี่กระไรบอกให้นา
คือคำว่าฝนอิฐเป็นกระจกเงา"

"อาจารย์ครับเขาคงว่าเราบ้าใหญ่
แม้ฝนไปฝนไปก็ตายเปล่า"
"นั่นแหล่ะเน้อมันสอนให้แล้วไม่เบา
ว่าให้เราหยุดหาหยุดบ้าไป

ไม่มีใครฝนอิฐเป็นกระจก
ไม่ต้องยกมากล่าวเข้าใจไหม
นิพพานนั้นถึงได้เพราะไม่ไป
หมดตนไซร้ว่างเห็นเป็นนิพพาน

ถ้าฝนอิฐก็ฝนให้ไม่มีเหลือ
ไม่มีเชื้อเวียนไปในสงสาร
ฝนความวุ่นเป็นความว่างอย่างเปรียบปาน
ฝนอิฐด้านให้เป็นเงาเราบ้าเอง" ฯ

ยิ่งวิ่งไล่ยิ่งยืดไกลออกไป นี่คือตัณหาล่ะให้เหนื่อยหอบ. ยิ่งอยาก "ยิ่ง" ไม่ได้หยุด

แม้อยากเป็นพระอรหันต์; เพราะพระอรหันต์ คือ ผู้ "หมดอยาก" และเป็นผู้หยุดสนิทแล้ว.

เอาธาตุอยาก วิ่งไล่ธาตุหยุดอยาก ฉันใด, ฝนอิฐเป็นกระจกก็เหนื่อยเปล่าฉันนั้น.

ถ้าจะฝนต้องฝนให้หมดไม่มีเหลือ ไม่เป็นอิฐ ไม่เป็นกระจกอีกเลย.



โดย: AUD    เวลา: 2016-9-10 06:45
[attach]13823[/attach]
15.อริยมรรคมีองค์แปด

เว้นที่ว่าง คำบรรยาย มิได้เขียน
ผู้ใดเรียน รู้ซึ้ง ถึงความหมาย
จะได้ "สิ่งประเสริฐ" ไม่เกิดตาย
ไม่ต้องว่าย ในสงสาร นี้นานเกิน ฯ



โดย: AUD    เวลา: 2016-9-10 06:46
[attach]13824[/attach]

16.แม่น้ำคด น้ำไม่คด

แม่น้ำคด ส่วนน้ำนั้นไม่คด
ไม่แกล้งปดดูให้ดีมีเหตุผล
กายกับใจไม่ลามกไม่วกวน
แต่กิเลสแสนกลนั้นเหลือคด

จิตล้วนล้วนนั้นเป็นประภัสสร
กิเลสจรครอบงำทำยุ่งหมด
กิเลสเปรียบลำน้ำที่เลี้ยวลด
จิตเปรียบน้ำตามกฎไม่คดงอ

อันจิตว่างมีได้ในกายวุ่น
ในน้ำขุ่นมีน้ำใสไม่หลอกหนอ
ในสงสารมีนิพพานอยู่มากพอ
แต่ละข้องวยงงชวนสงกา

พระตรัสให้ตัดป่าอย่าตัดไม้
ไม่เข้าใจตัดได้อย่างไรหนา
รู้แยกน้ำจากแม่น้ำตามว่ามา
จึงนับว่าผู้ฉลาดสามารถเอย ฯ

จิตเดิมนั้นประภัสสรอยู่ปรกติเป็นกลาง ๆ มิได้คด มิได้มีกิเลส "กิเลสต่างหากคด"

และคนเข้าใจผิดคิดว่า "จิตคด"

เหมือนน้ำซึ่งไม่คด แต่แม่น้ำหรือคลองต่างหากคด. ข้อนี้หมายถึง ต้องกำจัดกิเลสท

จู่เข้ามาเป็นครั้งคราว ไม่ใช่ไปทรมานจิตเดิมแท้ที่ประภัสสรอยู่เองแล้ว.




โดย: AUD    เวลา: 2016-9-10 06:47
[attach]13825[/attach]

17.สาหร่ายเขียนพระไตรปิฎก

เส้นสาหร่ายก่านกันหนาหนั่นนัก
เป็นลวดลายย้ายยักหลายหมื่นท่า
ประสานสอดทอดไปไม่ลดลา
จนทั่ววารีใสในบึงบัว

คือมันเขียนคัมภีร์ที่ครบครัน
ทั้งวินัยสุตตันต์ภิธรรมทั่ว
สภาพธรรมสัจจธรรมประจำตัว
ธรรมชาติพันพัวทั่วถึงกัน

เป็นหลักชี้ชีวิตไม่ผิดพลาด
แสดงชึ้งถึงขนาดประสิทธิ์สันติ์
อยู่ในเส้นสาหร่ายที่ก่ายกัน
สาระพันสัญลักษณ์หลักพระธรรม

ตาผู้ใดไม่บอดสอดส่องดู
ก็จะรู้ความหมายได้ยังค่ำ
ดั่งศึกษาปิฎกไตรได้ประจำ
เป็นเครื่องนำสัตว์รอดตลอดเอย ฯ

พระไตรปิฎก, พระพุทธวจนะทั้งหมดนั้น ถูกบันทึกไว้ คือความแปรเปลี่ยนเรื่อย, ไม่มีอะไรต้าน,

ว่างจากตัวตนถาวร เป็นประไตรปิฎกที่ตัวหนังสือ.

ส่วนสาหร่ายเขียน "สัจจะ" นี้อย่างลึกซึ้ง และชัดเจนด้วยตัวของมันเอง

ไม่ต้องผ่านทางสัญลักษณ์อักษรแต่อย่างใด. แต่ลวดลายแห่งสาหร่ายนั้นแสดงเพื่อให้คนเรา

"รู้ทั่วกฎของธรรมชาติ" ข้อเดียวนี้ คือ "แจ้งจบไตรปิฎก".




โดย: AUD    เวลา: 2016-9-10 06:47
[attach]13826[/attach]

18.พ้นแล้วโว้ย!

บัดนี้เมฆลอยพ้นยอดเจดีย์
ทั้งโรงโบสถ์มากมีและวิหาร
เมฆรวมตัวเป็นภาพพิสดาร
บอกอาการพ้นแล้วโว้ย! โปรยยิ้มมา
ตะโกนร้องบอกสหายสิ้นทั้งผอง
ว่าไม่ต้องเสียเที่ยวเที่ยวค้นหา
อนันตสุขในโลกนี้ที่หวังมา
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเปล่าแล

สุขแท้จริงไม่วิ่งไปตามโลก
อยู่เหนือความทุกข์โศกทุกกระแส
มือเท้าเหนียวเหนี่ยวขึ้นไปคล้ายตุ๊กแก
ไม่อยู่แค่พื้นโบสถ์โปรดคิดดู
ลอยเหนือยอดโบสถ์ไปในเวหา
ลอยพ้นไปเหนือฟ้าที่เทพอยู่
ถึงความว่างห่างพ้นจากตัวกู
ไม่มีอยู่ไม่มีตายสบายเอย ฯ

คนรักสุข ขยะแขยงทุกข์ จึงแสวงหาสุขยิ่งขึ้นไป จึงยึดติดสุขทุกระดับ

โดยเฉพาะผู้เมาสุขในสวรรค์ที่ฝันเอาเอง.

ส่วนธรรมะแท้นั้นเป็นเรื่อง "ปล่อยวาง" ทั้งสุขและทุกข์

เพื่อเข้าสู่ความดับทุกข์อันมีเหตุใหญ่อยู่ที่ความยึดมั่นในความสุข.

ในที่สุดเมื่อค้นพบว่า ที่แท้ "สุข" เป็นเพียงลม ๆ แล้ง ๆ เป็นเพียงมายาที่ไม่มีอยู่จริง

จึงพบความหรรษา ร่าเริง เหมือนเมฆ ที่ลอยพ้นโบสถ์เจดีย์ , ตลอดถึงสวรรค์ ; พ้นสวรรค์

พุ่งขึ้นสู่ความว่าง อันปราศจากขอบเขตของขนาดและเวลา.




โดย: Nujeab    เวลา: 2016-9-10 10:07

โดย: Sornpraram    เวลา: 2016-9-13 05:33

โดย: Sornpraram    เวลา: 2016-9-25 06:02

โดย: ธี    เวลา: 2016-9-25 15:14





ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2