Baan Jompra

ชื่อกระทู้: เรื่องของ “วาสนา” [สั่งพิมพ์]

โดย: oustayutt    เวลา: 2016-8-19 18:12
ชื่อกระทู้: เรื่องของ “วาสนา”





คำว่าวาสนาในภาษาไทยหมายถึง   บุญบารมีที่สั่งสมมานาน  ทำให้คน ๆ นั้นมีความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ทุกด้าน   ดังคำกล่าวถึงบุคคลที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ว่า  “เขามีวาสนา”   หรือ   “เป็นวาสนาของเขา”




แต่ในความหมายทางธรรม  “วาสนา”   หมายถึง นิสัยสันดานที่ฝังลึกอยู่ในจิตจนถอนไม่ขึ้น  ว่ากันว่า  ถึงจะบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังละ  “วาสนา”  ไม่ได้  ยกเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น






--->   มีตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายเรื่อง




เรื่องที่หนึ่งเกี่ยวกับพระสารีบุตร  อัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า  ท่านผู้นี้เป็นนักปรัชญาเก่า  สังกัดสำนักปรัชญาเมธีชื่อสัญชัย   เวลัฏฐบุตร  เจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในเมืองราชคฤห์  ต่อมาได้ลาอาจารย์พร้อมกับสหายรักชื่อโกลิกะ  (ต่อมาคือ  พระมหาโมคคัลลานะ) มาบวชในพระพุทธศาสนาเป็นสาวกของพระพุทธองค์




เมื่อบวชแล้วก็ได้รับแต่งตั้งจากพระองค์ให้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา  ผู้เป็นเลิศในทางปัญญามาก  ท่านให้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนภิกษุสงฆ์แทนพระพุทธเจ้าในบางครั้ง   และเป็นกำลังในการช่วยพระพุทธองค์เผยแพร่พระพุทธศาสนา




พระสารีบุตรท่านมี  “วาสนา”  ที่ละไม่ได้อยู่อย่างหนึ่ง  คือเวลาท่านพบแม่น้ำลำธารที่มีสายน้ำไหลเย็น ท่ามกลางบรรยากาศอันสงบร่มรื่นท่านจะละอาการสงบเสงี่ยมชั่วขณะ   กระโดดหยอย ๆ  ด้วยความดีใจ  ดังหนึ่งเด็กน้อยได้ของเล่นใจอย่างนั้นแหละ




พระสงฆ์อื่นเห็นอาการไม่สำรวมของพระอัครสาวกต่างก็พากันซุบซิบว่า  พระเถระผู้ใหญ่อย่างท่าน  ไม่น่าทำอย่างนี้เลย




เรื่องทราบถึงพระกรรณของพระพุทธเจ้า  พระองค์ตรัสแก่พระสงฆ์ทั้งหลายว่า  อย่าได้ตำหนิสารีบุตรเลย   กิริยาอาการอย่างนั้นเป็น “วาสนา”  ที่สั่งสมมานานของสารีบุตร  แม้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ละไม่ได้เพราะว่าในชาติปางก่อนโน้น  สารีบุตรเคยเกิดเป็นลิงติดต่อกันหลายร้อยหลายพันชาติ   จึงติดนิสัยกระโดดโลดเต้นของลิงมา




ข้อความข้างต้นนี้ไม่มีพระไตรปิฎกดอกครับ   แต่มีในหนังสือรุ่นหลังพระไตรปิฎก  (คือ  อรรถกถา  - หนังสืออธิบายพระไตรปิฎก)  จะเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด  ก็แล้วแต่จะพิจารณาเกิด








อีกเรื่องหนึ่ง  อ่านแล้วตื่นเต้นดี  คือมีพระเถระรูปหนึ่งเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา  นามว่าพระปิลินทวัจจะ  ท่านชอบพูดคำว่า   “วสลิ” (แปลเป็นไทยว่า “ไอ้ถ่อย”  )  จนติดปาก  พบใครไม่ว่าจะระดับใด  ท่านจะทักด้วยคำว่า  “สบายดีหรือ  ไอ้ถ่อย”




ประชาชนทั่วไปรู้ว่าท่านพูดไม่เพราะเช่นนั้นเอง  แต่จิตใจท่านเต็มไปด้วยเมตตา  จึงไม่ได้ถือสาท่าน  ตรงกันข้าม  ถ้าใครได้รับคำทักทายจากท่านด้วยถ้อยคำไพเราะ  เขาผู้นั้นจะเดือดร้อนมากกว่า  ทำไมหลวงพ่อไม่พูดกับเขาเหมือนเดิม  เป็นยังงั้นไป




วันหนึ่งพ่อค้าขายดีปลีคนหนึ่ง  บรรทุกดีปรีเต็มเกวียน  เดินทางเข้าเมืองที่เพื่อค้าขาย  ระหว่างทางพบท่านปิลินทวัจฉะ  ท่านถามว่า “บรรทุกอะไรมา  ไอ้ถ่อย” ได้ยินพระพูดไม่ไพเราะอย่างนั้น  พ่อค้าแกก็ฉุนตงิด  ๆ  ตะโกนตอบเสียงดังว่า




“บรรทุกขี้หนูโว้ย   ไอ้ถ่อย”




ทันใดนั้นดีปลีเต็มลำเกวียนได้กลายเป็นขี้หนูทันทีแต่เจ้าตัวยังไม่รู้พอเข้าเมืองจอดเกวียนเพื่อขนดีปลีออกมาขาย  เขาก็แทบลมจับ  เพราะมีแต่ขี้หนูเต็มเกวียน  ช่างมหัศจรรย์พันลึกอะไรเช่นนั้น




เขาได้วิ่งแจ้นตามไปกราบขอขมาท่านพระปิลินทวัจฉะ  เขาได้ผิดไปแล้วที่พูดคำหยาบกับพระคุณเจ้า  ได้โปรดยกโทษให้ด้วย




“ไม่เป็นไร  ไอ้ถ่อย ข้ายกโทษให้” ท่านตอบด้วยจิตเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม  เรื่องนี้ได้ล่วงรู้ไปถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์ตรัสว่า  เป็น “วาสนา”  ของปิลินทวัจฉะเอง  แก้ไม่ได้  แต่เธอไม่มีเจตนาจะพูดคำหยาบ






อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี   ผมจำสมณศักดิ์ท่านไม่ได้แล้วท่านชอบพูดคำว่า  “ดีเนาะ  หลวง”  ติดปาก   ไม่ว่าพูดกับใคร ไม่ว่าเรื่องดี หรือเรื่องร้าย ท่านจะบอกว่า  “ดีเนาะ ๆ” อยู่เรื่อย วันหนึ่งสีกานางหนึ่งร้องไห้ฟูมฟายไปหาท่าน   เรียนท่านว่า  ลูกชายซึ่งเพิ่งเรียนจบนายร้อย  จปร.  ใหม่ ๆ  ประสบอุบัติเหตุตายเสียแล้ว   หลวงพ่อท่านก็ตอบว่า  “ดีเนาะ”




ว่ากันว่าสีกานางนั้นโกรธหลวงพ่อแทบเป็นแทบตาย  แต่ต่อมาพอรู้ว่าเป็นคำพูดติดปากท่านเท่านั้นเอง  จึงไม่ถือโกรธท่าน








เมื่อคราวโรงแรมใหญ่ที่โคราชถล่มทับคนตายเป็นจำนวนมาก  มีตึกอีกหลังหนึ่งติดกับโรงแรม    โย้เย้ทำท่าจะพังลงมาอีก มีคนนิมนต์หลวงพ่อคูณไปดู  หลวงพ่อคูณท่านคงเห็นด้วยตาในของท่าน  จึงบอกว่าตึกนี้ไม่พังแน่นอน




หนังสือพิมพ์เอาภาพและคำพูดของท่านมาลงว่า  “หลวงพ่อคูณ เกจิอาจารย์ดังบอกว่า  “กูว่าไม่พัง”




บางท่านถามด้วยความหงุดหงิดใจว่าพระสงฆ์องค์เจ้าพูดกู  ๆ มรึง ๆ ได้หรือ




นี่แสดงว่าท่านผู้ถามนี้ไม่รู้ว่า  “วาสนา”   นั้นละกันไม่ได้   หลวงพ่อคูณท่านพูดคำนี้ติดปาก   ไม่ว่าพูดกับใคร  คำพูดฟังดูอาจหยาบ  แต่ จริง ๆ  แล้ว  กู ๆ มรึง ๆ   เป็นภาษาไทยแท้  ไม่คิดว่าหยาบมันก็ไม่หยาบ ที่สำคัญท่านพูดด้วยจิตเมตตา




เล่าว่าท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง  พอท่านพูดคำว่า  กู  มรึง  ก็รู้สึกโกรธไหว้แล้วลงกุฏิกลับไปเลย  สตาร์ทรถอย่างไร ๆ   ก็ไม่ติด  จนกระทั่งมีผู้เข้าไปกระซิบว่า  ให้ไปขอขมาหลวงพ่อก่อน  พอเขาไปกราบขอขมา  หลวงพ่อพูดว่า  “เออมรึงกลับได้”




เท่านั้นแหละครับ  คราวนี้สตาร์ทชึ่งเดียวติดวิ่งฉิวไปเลย




นี่แหละครับที่ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า  “วาสนา”  หรือสิ่งที่ติดแน่นอยู่ในส่วนลึกแห่งจิตสันดาน  แม้พระอรหันต์ก็แก้ไม่ได้




ไม่จำต้องพูดถึงปุถุชน ดอกครับ







ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2