อัตโนประวัติของหลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร
หลวงพ่อชุ่ม กำเนิดที่ราชบุรี เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๔๑ อันตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๒ ที่ตำบลคุ้งน้ำวน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นบุตรคนโตในจำนวนทั้งหมด ๙ คนของนายทุ้ม กลิ่นเทพเกษร และนางลำใย กลิ่นเทพเกษร ในครั้งที่ท่านมีอายุได้ ๙ ปี บิดาได้นำไปฝากเรียนหนังสือขอมและไทยกับหลวงพ่อโต๊ะ วัดราชคาม ครั้งมีอายุได้ ๑๖ ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณร จากนั้นได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดท่าสุวรรณ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๖๐ โดยมีพระอธิการพู่ วัดราชคาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “พุทธสโร”
จากนั้นจึงจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชคาม ได้ศึกษาเล่าเรียนวิปัสสนากรรมฐานจากพระอธิการพู่ และพระอธิการอินทร์ (หลวงพ่อดำ วัดตาลบำรุงกิจ) พระ อนุสาวนาจารย์ และพระกรรมวาจารย์ของท่าน ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เมื่อพระอธิการพู่ เจ้าอาวาสวัดราชคาม มรณภาพลง หลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร ก็ได้รับการนิมนต์จากญาติโยมให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสืบแทน ซึ่งเมื่อท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแล้ว ได้ทำนุบำรุงวัดสุดความสามารถ ได้ดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์ทั้งในด้านวัตถุ ตลอดจนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร ได้จัดสร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ รอยพระพุทธบาทจำลอง พระประธานประจำพระอุโบสถ ศาลาท่าน้ำ หอระฆัง ฌาปนกิจสถาน และที่สำคัญยิ่งคือ ได้จัดสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับเป็นสถานที่ศึกษาทางธรรม ซึ่งก็คือการเรียนพระไตรปิฏกนอกจากนั้นยังได้ดำเนินการจัดสร้างโรงเรียน เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาของลูกหลานชาวบ้านในละแวกวัด ซึ่งมีชื่อว่า “โรงเรียนประชาบาลชุ่มประชานุกูล”
นอก จากนั้น ยังได้ช่วยเหลือวัดใหม่ต้นกระทุ่ม จังหวัดราชบุรีในการดำเนินการสร้างพระอุโบสถ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าคณะตำบลคุ้งน้ำวน ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้รับสมณศักดิ์เป้นพระครูชั้นประทวน
หลวง พ่อชุ่ม พุทธสโร สมัยหนุ่ม ๆ เคยเดินธุดงค์ข้ามเทือกเขาตะนาวศรีเข้าไปปักกลดบำเพ็ญเพียรภาวนากับพระ อาจารย์ลึกลับในถ้ำมะละแหม่งในเขตพม่ากับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ (พระไพโรจน์วุฒาจารย์) และฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เรียนวิชาอาคมต่าง ๆ มาด้วยกัน กรมหลวงชุมพรฯ เคยเสด็จมาเยี่ยมถึงที่วัดราชคาม เพราะเป็นศิษย์พระอาจารย์เดียวกัน