Baan Jompra

ชื่อกระทู้: อโรคยาศาล [สั่งพิมพ์]

โดย: Sornpraram    เวลา: 2016-7-10 09:31
ชื่อกระทู้: อโรคยาศาล
อโรคยาศาล

คำตอบนำมาจากบทความเรื่อง "โรงพยาบาลในจารึกพระเจ้าชัย วรมันที่ 7" โดย นวพรรณ ภัทรมูล นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ว่า "เมื่อประชาชนมีโรคถึงความหายนะ ตามภาวะแห่งกรรมด้วยการสิ้นไปแห่งอายุเพราะบุญ พระองค์ผู้เป็นราชา ได้กระทำโคที่สมบูรณ์ทั้งสาม เพื่อประกาศยุคอันประเสริฐ" ข้อความนี้เป็นส่วนหนึ่งของจารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 บอกถึงความมุ่งหมายในการสร้างสถานพยาบาล หรือ "อโรคยาศาล" (คำๆ นี้ปรากฏอยู่ในจารึกบรรทัดที่ 7 ด้านที่ 2 ของจารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปแบบและภารกิจของอโรคยาศาล ที่ได้ระบุไว้ในจารึกนั้น ก็เทียบได้กับ "โรงพยาบาล" ในปัจจุบันนั่นเอง

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์มหิธร ปุระโดยทางพระราชบิดา (พระเจ้าธรณินธรวรมันที่ 2) ส่วนพระราชมารดาเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 พระองค์ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.1724 ทรงมีพระเมตตาต่ออาณาประชาราษฎร์ยิ่ง ทรงโปรดให้สร้างสิ่งอันเป็นสาธารณประโยชน์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาล จำนวนมากถึง 102 แห่ง ทั่วราชอาณาจักร ทั้งยังพระราชทานข้าวของเครื่องใช้ตลอดจนยารักษาโรค

อโรคยาศาลประกอบด้วยปรางค์ประธาน มีอาคารที่เรียกว่า บรรณาลัย สร้างด้วยศิลาแลง หันหน้าสู่ปราสาทประธาน ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ตำแหน่งของบรรณาลัยมักจะอยู่ค่อนไปที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เสมอ มีซุ้มประตูทางเข้าเรียกว่า โคปุระ ทางด้านหน้าเพียงแห่งเดียว ตั้งอยู่ใกล้ๆ จุดกึ่งกลางของกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก
บริเวณด้านนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรียกว่า บาราย หรือ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ กรุด้วยศิลาแลง เป็นสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นตามรายทางของอาณาจักรขอมสมัยพระนคร จะเชื่อมกับปราสาทนครธม และปราสาทหินอื่นๆ ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แผ่พระราชอำนาจไปถึงและสร้างปราสาทหินเอาไว้

เหตุที่ทราบว่าเป็นโรงพยาบาลเพราะมีหลักฐานจารึกไว้ ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลคำอ่าน-คำแปลของจารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 รวม 6 หลัก ได้แก่ จารึกพบที่ จ.สุรินทร์ 3 หลัก คือ จารึกปราสาท (สร.4), จารึกตาเมียนโตจ (สร.1), จารึกสุรินทร์ 2 (สร.6) จารึกพบที่ จ.นครราชสีมา 1 หลัก คือ จารึกเมืองพิมาย (นม.17) จารึกพบที่ จ.บุรีรัมย์ 1 หลัก คือ จารึกด่านประคำ (บร.2) และจารึกพบที่ จ.ชัยภูมิ 1 หลัก คือ จารึกวัดกู่บ้านหนองบัว (ชย.6)

เมื่อได้พิจารณาและเปรียบเทียบในส่วนของเนื้อหาแล้วพบว่า ทุกหลักมีเนื้อหาและการเรียงลำดับข้อมูลเหมือนกัน กล่าวคือ

จารึกด้านที่ 1 จะขึ้นต้นด้วยการกล่าวนมัสการเทพประจำโรงพยาบาล ตามด้วยสรรเสริญพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพระเทวี พร้อมกล่าวถึงมูลเหตุที่สร้างโรงพยาบาล
จารึกด้านที่ 2 กล่าวถึงจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาล ตลอดจนหน้าที่ของแต่ละคน
จารึกด้านที่ 3 กล่าวถึงจำนวนสิ่งของเครื่องใช้ที่พระเจ้าชัย วรมันที่ 7 ได้อุทิศไว้เพื่อใช้ในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง และจารึกด้านที่ 4 กล่าวสรรเสริญและอำนวยพรแด่พระราชาผู้ได้กระทำกุศล อีกทั้งประกาศข้อห้ามต่างๆ ในโรงพยาบาล

เทพประจำโรงพยาบาลมี 3 องค์ คือ พระไภษัชครุไวทูรย์ (พระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคต) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระชินะ ถือเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่งผู้ประสาทความไม่มีโรค อีก 2 องค์เป็นพระชิโนรส คือ พระศรีสูรยไวโรจนจันทโรจิ และพระศรีจันทรไวโรจนโรหินีศะ ผู้ขจัดโรค

ส่วนเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลมีหลายตำแหน่ง แต่ละตำแหน่งมีจำนวนบุคคลไม่เท่ากันในแต่ละโรงพยาบาล จำนวนคร่าวๆ ได้แก่ แพทย์ 2 คน เจ้าหน้าที่ดูแลทรัพย์สิน ธุรการ หาข้าวเปลือก หาฟืน จ่ายยา ทำบัตร สถิติ จ่ายสลากยา พลีทาน หาฟืนต้มยา เจ้าหน้าที่หุงต้ม ดูแลรักษาและจ่ายน้ำ หาดอกไม้และหญ้าบูชายัญ เจ้าหน้าที่โม่ยา ตำข้าว เจ้าหน้าที่ประกอบพิธีบูชายัญ เจ้าหน้าที่ดูแลทั่วไป และทำความสะอาดเทวสถาน

เจ้าหน้าที่ที่มีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มคือผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาโรงพยาบาลและส่งยาให้แก่แพทย์ จำนวน 14 คน และเจ้าหน้าที่ที่มีความสำคัญอีกคนหนึ่งคือโหราจารย์ ทั้งนี้ จากจารึกปราสาทและจารึกสุรินทร์ 2 ระบุไว้ว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดในโรงพยาบาลมีถึง 98 คน

สำหรับสิ่งของเครื่องใช้ประกอบการรักษาพยาบาล ได้แก่ เครื่องพลีทาน ข้าวสาร เครื่องแต่งตัวยาวเก้าคืบ เสื้อผ้ายาว สิบคืบ เครื่องนุ่งห่มที่มีชายสีแดง เครื่องนุ่งห่มสีขาว ผ้าสีขาว กฤษณา เทียนขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง น้ำมัน เนยใส จันเทศ เกลือ ผลกระวาน ใหญ่เล็ก กำยาน มหาหิงคุ์ น้ำตาลกรวด ไม้จันทน์ เทียนไข อาหารโค ฯลฯ


คอลัมน์ ‪#‎รู้ไปโม้ด‬ ข่าวสดออนไลน์
น้าชาติประชาชื่น nachart@yahoo.com












ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2