5 พิธี “ก๊วบ” ของไทโซ่ : ก๊วบเป็นภาษาโซ่ แปลว่า “ครอบ” พิธีครอบของไทโซ่ที่บ้านพังแดง(รวมถึงบ้านอื่นๆด้วย) นั้นถูกอธิบายว่าเป็นพิธีที่ชาวบ้านแสดงต่อ “เจ้าที่” ให้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในหมู่บ้าน เช่น มีคนเข้ามาอาศัยในหมู่บ้านเป็นระยะเวลานาน หากมาพักเพียง 2-3 วันก็ไม่ต้องทำพิธีได้ หรือมีสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ เช่น โครงการ คฟป.สร้างระบบชลประทานสูบน้ำด้วยไฟฟ้า พิธีเริ่มจากผู้ที่จะต้องการทำต้องแจ้งต่อผู้นำชุมชน ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน ผู้เฒ่าผู้แก่ชุมชน(ขาดไม่ได้) และชาวบ้านทั่วไป(ไม่บอก ไม่เชิญใครจะมาร่วมพิธีก็ยินดี) โดยเฉพาะ ผู้ทำพิธีคือ “เจ้าจ้ำ” จะต้องบอกกล่าวและปรึกษาหารือรายละเอียดของการจัดงาน เจ้าจ้ำจะสอบถามว่าเนื่องในเหตุอะไร แล้วเจ้าจ้ำจะไตร่ตรองแล้วเสนอสิ่งที่จะต้องประกอบพิธี ซึ่งมักจะหมายถึงหมูที่จะต้องหามาเซ่น ไหว้ เจ้าที่ ขนาดของหมูใหญ่เล็กขึ้นกับขนาดของพิธี หรือความสำคัญของสิ่งที่ต้องการทำพิธี เช่นเจ้าหน้าที่เข้ามาพักอาศัยในหมู่บ้านคนเดียวก็เอาหมูขนาดราคา 800-1000 บาท แต่ในการทำพิธีระบบชลประทานงานสูบน้ำห้วยบางทรายนั้นใช้หมูขนาดใหญ่ราคา 3000 บาท เมื่อกำหนด “วันดี” ได้แล้วผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้นำชุมชนต่างก็มาร่วมพิธีกันพร้อมหน้า(โดยเฉพาะเจ้าโคตรของทุกสายเครือญาติในชุมชน)ที่ “ดงเมียง” หรือสถานที่อยู่ของเจ้าที่ ของบ้านพังแดงก็มีสถานที่เฉพาะอยู่ทางทิศเหนือของชุมชน ชาวบ้านที่เป็นมือฆ่าหมูก็จะเอาหมูไปทำการชำแหละ เจ้าจ้ำจะจัดขันธ์ห้าคอยทำพิธี เมื่อทุกคนพร้อมเจ้าจ้ำจะประกอบพิธีแรกคือการบอกกล่าวสาระวันนี้ที่มาชุมนุมกันที่นี่ด้วยเหตุใด ขอให้ “เจ้าที่” รับรู้ เมื่อการเตรียมอาหารจากหมูเสร็จก็นำชิ้นส่วนไปเซ่นไหว้ พร้อมเหล้าขาว เจ้าจ้ำจะบอกกล่าวให้เจ้าที่กินอาหารที่มาให้อิ่มหนำสำราญ ระหว่างที่เจ้าจ้ำบอกกล่าวนั้น ผู้เฒ่า ผู้นำชุมชนต่างก็พูดเซ็งแซ่กันทุกคนถึงวันนี้วันดี มีเจ้าหน้าที่เข้ามาอาศัยในหมู่บ้าน จะมาทำงานพัฒนาบ้านเราให้เจริญงอกงาม อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้เจ้าที่รับทราบและช่วยปกปักรักษาผู้ที่มาอยู่ใหม่ให้อยู่รอดปลอดภัย อยู่เย็นเป็นสุข เสมือนผู้นั้นเป็นคนในหมู่บ้านนี้ เป็นลูกหลานคนบ้านนี้ เป็น “เชื้อคำฮด” เหมือนคนบ้านนี้ เสร็จแล้วผู้มาร่วมงานทุกคนก็กินข้าวกินอาหารที่ประกอบจากหมูตัวนั้นกันอิ่มหนำสำราญเป็นเสร็จพิธี
6 ทำพิธีคารวะเจ้าที่ หรือ พิธีก๊วบ ทุกครั้งที่มีเจ้าหน้าที่ใหม่เข้าประจำพื้นที่ : เราทำชุดใหญ่ไปแล้ว และเมื่อมีเจ้าหน้าที่ใหม่เข้ามาเราก็ทำเช่นกัน โดย ทุกครั้ง จะให้เจ้าหน้าที่ใหม่นั้นรับทราบถึงวัตถุประสงค์ของพิธีนี้และการปฏิบัติตัวของเขาต่อชุมชน ซึ่งน้องใหม่ก็เข้าใจและไม่รังเกียจที่จะปฏิบัติตัวต่อพิธีกรรมดังกล่าว
7. เรื่องเล่าขานจากบ้านพังแดง : บ้านพังแดงมีโรงเรียนระดับมัธยมระดับตำบลอยู่ ครูทุกคนที่ย้ายเข้ามาและออกไปจากพื้นที่ต้องทำพิธี “ก๊วบ” ทุกคน มีครูคนหนึ่งถูกย้ายออกไปประจำพื้นที่อื่น แล้วไม่ได้ทำการ “ร่ำลา” ต่อเจ้าที่ ก็มีอันเป็นไปให้เจ็บไข้ได้ป่วยจนรักษาอย่างไรก็ไม่หาย นึกขึ้นได้ว่าไม่ได้ทำพิธี จึงกลับมาทำพิธีนี้ แล้วอาการเจ็บป่วยต่างๆก็หายไป ??? และมีอาจารย์ใหญ่โรงเรียนแห่งนี้เช่นกันขับรถชนกันตายบนเส้นทางเข้าเมืองมุกดาหาร เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2547 ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับพิธีก๊วบนี้หรือไม่ นอกจากนี้ใครๆก็เล่าขานกันว่าเรื่องไสยศาสตร์ในพื้นที่ดงหลวงนี้มีอยู่ โดยเฉพาะพี่น้องโซ่ รวมทั้งผีปอบ ผีโพง ต่างๆ แม้วันนี้ก็มีคนป่วยและกล่าวกันว่าเป็นปอบ