Baan Jompra

ชื่อกระทู้: คุณมีสิทธิที่จะไม่พูด เพราะสิ่งที่คุณพูดเราจะใช้ปรักปรำคุณในศาลได้ [สั่งพิมพ์]

โดย: โพไซดอน    เวลา: 2016-5-27 21:07
ชื่อกระทู้: คุณมีสิทธิที่จะไม่พูด เพราะสิ่งที่คุณพูดเราจะใช้ปรักปรำคุณในศาลได้
คุณมีสิทธิที่จะไม่พูด
เพราะสิ่งที่คุณพูดเราจะใช้ปรักปรำคุณในศาลได้


[size=-3]
[size=-3]


คนร้ายถูกตำรวจจับกุมตัวพร้อม หลักฐานกระทำความผิด เขาเขียนคำรับสารภาพโดยละเอียดพร้อมกับลงลายมือชื่อ แต่เมื่อคดีถึงชั้นศาล ผู้พิพากษากลับสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาเพราะตำรวจไม่ได้อ่านสิทธิให้ผู้ต้องหาได้ทราบก่อนจะมีการสอบปากคำ

          คนที่เคยชมภาพยนตร์ฝรั่งคงเคยได้เห็นว่าเวลาที่จับกุมตัวผู้ต้องสงสัย ตำรวจจะอ่านสิทธิให้เขารับทราบ "คุณมีสิทธิที่จะไม่พูด หากคุณสละสิทธินี้ สิ่งใดที่คุณพูดอาจถูกนำไปใช้ปรักปรำเพื่อเอาผิดคุณในศาล คุณมีสิทธิที่จะปรึกษาทนายและให้ทนายอยู่กับคุณระหว่างการสอบปากคำ ถ้าคุณไม่สามารถจัดหาทนายได้ รัฐบาลจะจัดหาทนายให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย"

          ที่ลืมเสียไม่ได้คือหลังจากอ่านสิทธิให้ฟังแล้วจะต้องถาม ผู้ต้องหาว่า "คุณเข้าใจไหม" และจะต้องรอให้ผู้ต้องหาตอบ ว่า "เข้าใจ" เสียก่อนจึงจะนำตัวไปสอบปากคำได้ หาไม่เช่นนั้นแล้วคำให้การต่างๆจะไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในศาลได้

          สิทธิดังกล่าวเรียกว่า "สิทธิมิแรนด้า" (Miranda Rights) หรือ "คำเตือนมิแรนด้า" (Miran da Warning) บ้านเราก็รู้สึกจะมีกฎหมายลักษณะคล้ายๆกันนี้อยู่เหมือนกันแต่ขอไม่กล่าวถึงเพราะไม่ใช่คอลัมน์กฎหมายและจุดประสงค์หลักเพียงต้องการเล่าถึงประวัติที่มาของกฎหมายข้อนี้ คดีแรกในประวัติศาสตร์

         หญิงสาวนิรนามซึ่งคนส่วน ใหญ่เชื่อว่าเธอชื่อ ลูอิส แอน เจมสัน (Lois Ann Jameson) แต่จะใช่ชื่อจริงของเธอหรือไม่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน เพราะแม้แต่ในบันทึกอาชญากรรมของรัฐบาลอเมริกาเองก็ยังใช้ชื่อว่า เจน โด (Jane Doe) หรือ "สาวนิรนาม" เอาเป็นว่าเราเรียกเธอว่าลูอิส ตามความเชื่อของคนส่วนใหญ่ก็แล้วกัน

         ที่ต้องปกปิดชื่อเสียงเรียงนามก็เพราะเธอเป็นสาวบริสุทธิ์วัย 18 ปี ที่ถูกชายกักขฬะใช้กำลังบังคับขืนใจ สร้างตราบาปติดตัวเธอไปจนตลอดชีวิต เหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 2 มีนาคม 1963 ลูอิสเป็นพนักงานโรงภาพยนตร์พาราเม้าท์ ในเมืองฟินิกซ์ รัฐแอริโซนา หลังจากที่ภาพยนตร์รอบสุด ท้ายจบลงในเวลา 23.00 น. เธอก็ขึ้นรถโดยสารประจำทางกลับบ้าน

          ลูอิสลงจากรถราวเวลา 24.10 น. เธอยังต้องเดินจากป้ายรถประจำทางไปยังบ้านพักที่อยู่ห่างไปไม่ไกลนัก ทันใดนั้นเองรถเก๋งคันหนึ่งขับมาจอดเทียบ แล้วคนขับรถก็เปิดประตูลงมาจับตัวลูอิส ใช้เชือกมัดมือไขว้หลังแล้วดันให้เธอนอนลงกับพื้นด้านหลังรถ

          คนร้ายพาลูอิสไปยังสถานที่เปลี่ยวแล้วทำการข่มขืนเธอ จากนั้นก็ข่มขู่ให้ส่งทรัพย์สิน มีค่ามาให้ ซึ่งลูอิสมีเงินติดตัวอยู่เพียง 4 ดอลลาร์ เธอยื่น เงินทั้งหมดให้กับคนร้าย 20 นาทีต่อมา คนร้ายนำตัวลูอิส มาปล่อยไว้บนถนนสายเดิม ปล่อยให้เดินซมซานกลับบ้านตามลำพัง จับได้โดยละม่อม

         เช้าวันรุ่งขึ้น พี่สาวลูอิสพาเธอไปแจ้งความยังสถานีตำรวจ ลูอิสยังอยู่ในภาวะตื่นตระหนกประกอบกับเธอเป็นคนเก็บตัว ทำให้คำให้การของเธอค่อนข้างสับสน อย่างไรก็ตาม เธอจำได้ว่าที่หลังเบาะหน้ามีเชือกเส้นหนึ่งพันอยู่ เพราะเธอใช้มือโหนมันตอนลงจากรถ

         หลังจากเกิดเหตุการณ์ พี่เขยลูอิสขับรถมารับหลังเลิกงานทุกวัน เขาสังเกตเห็นรถยี่ห้อ Packard เก่าๆสีเขียวชอบมาจอดซุ่มโป่งอยู่ริมถนนอย่างผิดสังเกต เขาจึงจดหมายเลขทะเบียน DFL-312 แล้วส่งให้ตำรวจตรวจสอบ

         ทะเบียนรถ DFL-312 เป็นของรถ Oldsmobile และมันก็ไม่ได้อยู่ในเมืองฟินิกซ์ในคืนเกิดเหตุ แต่เมื่อตำรวจลองสุ่มตรวจดูอีกครั้งก็พบว่ามีรถ ยนต์ Packard สีเขียวหมาย เลขทะเบียน DFL-317 จดทะเบียนในนามของทวิล่า ฮอฟแมน (Twila Hoffman) อย่างไรก็ตาม เจ้าของรถคันดังกล่าวได้ย้ายบ้านไปแล้วเมื่อ 2 วันก่อน

         

โดย: โพไซดอน    เวลา: 2016-5-27 21:08
เจ้าหน้าที่ตำรวจคาร์โรล คูเลย์ (Carroll Cooley) และ วิลเฟรด ยัง (Wilfred Young) ทำการสืบสวนจนพบแหล่งที่อยู่ใหม่ พบรถยนต์ Packard สีเขียวหมายเลขทะเบียน DFL-317 จอดอยู่ข้างบ้าน จึงขอสอบปากคำทวิล่าและแฟนหนุ่ม บัญชีหางว่าว

         เออร์เนส มิแรนด้า (Ernest Miranda) เกิดในปี 1941 เขาเป็นเด็กเกเร ก่อคดีอาชญา กรรมลักเล็กขโมยน้อยตั้งแต่สมัยเรียนอยู่เกรด 8 เขาถูกส่งตัวไปยังโรงเรียนดัดสันดานเป็นเวลา 1 ปี หลังจากกลับมาสู่โลก ภายนอกเพียงเดือนเดียวเขาก็ถูกจับอีกครั้งในข้อหาถ้ำมองและบุกรุก โดยเขาเห็นหญิงสาวนอนหลับอยู่ในบ้านจึงแอบย่องเข้าไปพยายามข่มขืนแต่ไม่สำเร็จ เพราะสามีของหญิงคนนั้นกลับมาบ้านเสียก่อน

          เออร์เนสถูกส่งตัวกลับไปยังโรงเรียนดัดสันดานอีกครั้ง หลังจากได้รับการปล่อยตัวเขาเดินทางไปเสี่ยงโชคที่ลอสแอนเจลิส แต่สันดานโจรยังไม่จางหาย เขาถูกจับในคดีปล้นและทำอนาจารอีกหลายครั้ง เออร์เนสถูกเนรเทศให้กลับมาแอริโซนา

          เรียนไม่จบ ความรู้น้อย มีแต่งานใช้แรงงานค่าจ้างต่ำๆให้ทำ เออร์เนสตัดสินใจสมัครเป็นทหาร แต่สันดานเดิมก็ยังไม่เปลี่ยน เขาไม่เข้ารายงานตัวเป็นประจำโดยไม่ได้ลาและถูกกล่าวหาว่าถ้ำมองสาวๆ เออร์เนสถูกจำคุกในค่ายทหารและถูกปลดหลังจากพ้นโทษ

          เออร์เนสถูกจับข้อหาคนจรจัดในรัฐเทกซัส จากนั้นก็ถูกจับข้อหาขโมยรถยนต์ในรัฐเทนเนสซี แต่ในที่สุดเขาก็ได้งานสุจริตเป็นคนขนถ่ายสินค้าในท่าเรือ เมืองฟินิกซ์ และพบรักกับแม่ม่ายลูกสองวัย 29 ปี  ทวิล่า ฮอฟแมน อยู่กินจนมีลูกด้วยกันอีก 1 คน สารภาพหมดเปลือก

         เมื่อคืนเออร์เนสทำงานกะดึก เขาเพิ่งจะกลับถึงบ้านก่อนหน้าที่ตำรวจมาเพียงชั่วโมงเดียว เออร์เนสมีรูปพรรณสัณฐานใกล้เคียงกับที่ลูอิสระบุลักษณะคนร้าย รถยนต์สีเขียวที่จอดข้างบ้านตรงกับที่เจ้าทุกข์แจ้ง อีกทั้งหลังเบาะหน้าก็มีเชือกพันเอาไว้

         ตำรวจเชิญเออร์เนสไปสอบปากคำที่สถานีตำรวจ จากประสบการณ์เข้าออกคุกเป็นว่าเล่นทำให้เขาไม่รู้สึกสะทกสะ ท้าน เขาไม่ยอมตอบคำถามใดๆ เพราะรู้ว่าไม่ว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธก็ไม่มีประโยชน์อะไร ทุกอย่างขึ้นอยู่กับหลักฐานที่ตำรวจมี

          ลูอิสถูกเชิญมาชี้ตัวคนร้าย เออร์เนสยืนปะปนกับคนอื่นอีก 3 คน เขาเป็นเพียงคนเดียวที่สวมเสื้อแขนสั้น มองเห็นรอยสักบนแขน ลูอิสชี้ตัวเออร์เนส แต่เธอไม่มั่นใจ ลูลิสขอฟังสำเนียงเสียงพูดของเออร์เนสเพื่อความแน่ใจ  

         ตำรวจเริ่มมีปัญหา เออร์เนสไม่ยอมให้ปากคำ ลูอิสก็ดันไม่แน่ใจ แต่ตำรวจมั่นใจว่าเป็นเออร์เนสแน่ๆ ประวัติอาชญา กรรมยาวเหยียดขนาดนั้น แถมรถยนต์ที่ก่อเหตุก็ถูกต้องตรงเผงกับที่ลูอิสอธิบาย เขาต้อง หาวิธีให้คนร้ายรับสารภาพให้ได้

          คาร์โรลนำเออร์เนสมา ยังห้องสอบสวนพร้อมกับบอกเป็นนัยๆว่าแกซวยแล้ว เจ้าทุกข์ชี้ตัวได้ถูกต้อง ถ้าแกรับสารภาพในข้อหาข่มขืน ฉันจะไม่ส่งฟ้องแกในข้อหาปล้นทรัพย์

          เออร์เนสเชื่อสนิทใจ อย่างน้อยโดนข้อหาเดียวก็ยังดีกว่าโดน 2 ข้อหา ถึงแม้จะเป็นเงินแค่ 4 ดอลลาร์แต่มันก็คือการปล้นทรัพย์อยู่ดี ตำรวจอีกคนนำลูอิสเดินเข้ามาในห้องสอบสวน คาร์โรลถามเออร์เนสว่าผู้หญิงคนนี้ใช่ไหมที่แกข่มขืน เออร์เนส ตอบว่า "ใช่ เธอคนนี้แหละ"

          "ถ้าอย่างนั้นก็ดีแล้ว เขีย คำสารภาพและลงชื่อในกระ ดาษแผ่นนี้" มันคือกระดาษสำหรับให้ผู้ต้องหาเขียนคำให้ การเป็นลายลักษณ์อักษร หัวกระดาษมีข้อความพิมพ์ว่า "ผู้ถูกกล่าวหาให้การด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกขู่เข็ญหรือมีสัญญาต่อรองและเข้าใจถึงสิทธิตามกฎหมายทุกประการ โดยเข้าใจดีว่าคำให้การนี้อาจถูกนำไปใช้ปรักปรำเอาผิดผู้ถูกกล่าวหาในชั้นศาลได้" ช่องว่างกฎหมาย

         อัลวิน มัวร์ (Alvin Moore) เสือเฒ่าเขี้ยวลากดินวัย 73 ปี ถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่ทนายจำเลย หลังจากศึกษาความเป็นมาของคดี เขาถึงกับออกปากว่าไม่อยากทำคดีนี้ ปัญหาก็คือเขารู้ว่าเออร์เนสกระทำความผิดจริง แต่วิญญาณทนายหัวเห็ดจำเป็นต้องหาทางว่าความให้ชนะคดี และคดีนี้ก็มีช่องโหว่มากมาย

          เออร์เนสถูกสอบปากคำในสภาพที่ไม่พร้อม เขาไม่ได้นอนมาทั้งคืน ไม่อยู่ในสภาพที่จะให้การตำรวจได้ แต่ที่เด็ดกว่า นั้นคือเออร์เนสไม่รู้ว่าสิทธิตามกฎหมายคืออะไร อัลวินจึงถามว่าตำรวจได้อธิบายสิทธิให้ฟังก่อนสอบปากคำหรือเปล่า เออร์ เนสตอบว่าตำรวจไม่ได้บอก

         จุดนี้เองที่อัลวินนำมาใช้โต้แย้ง ตำรวจไม่ได้อ่านสิทธิให้ผู้ต้องหาฟังก่อนสอบปากคำ สิทธิที่พูดถึงคือสิทธิที่จะไม่ตอบคำถามและสิทธิที่จะปรึกษาทนายระหว่างการสอบสวน ดังนั้น คำให้การทั้งหมดไม่สามารถ นำมาใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีได้

         เอายังไงดีล่ะนี่ ผู้ต้องหาก็รับสารภาพแล้ว แต่วิธีการได้คำสารภาพมันไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นไม่สนใจตัดสินคดีให้จำเลยมีความผิด ทนายจำเลยอุทธรณ์และยืดเยื้อมาถึงฎีกา จนในปี 1965 ทนายจำเลยแก่เกินจะทำงานต้องเปลี่ยนทนายคนใหม่ ผลสุดท้ายศาลฎีกามีมติ 5-4 ตัด สินให้ยกฟ้อง เพราะหลักฐานคำให้การของจำเลยได้มาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

          กรรมติดจรวด     เออร์เนสได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในปี 1966 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมากรมตำรวจออกคำสั่งให้ตำรวจทุกคนอ่านสิทธิให้ผู้ต้องหาได้ทราบทุกครั้งเมื่อมีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัย และเพื่อไม่ให้มีข้อผิดพลาดอีก ตำรวจทุกคนได้รับแจกแผ่นพิมพ์ข้อความสิทธิผู้ถูกกล่าวหาที่เรียกกันว่า "สิทธิมิแรนด้า" ตามนามสกุลของเออร์เนส  มิแรนด้า

          ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน? เออร์เนสกระทำความผิดจริงแต่ไม่ต้องรับโทษเพราะเรื่องงี่เง่าแค่นี้เองหรือ? สวรรค์ยังมีตา ต่อมาไม่นานเออร์เนสมีปากเสียงกับทวิล่า ทั้งคู่แยกทางกันแต่ตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะได้สิทธิเลี้ยงลูก ทวิล่าใช้ไม้ตายให้ปากคำปรักปรำเออร์เนสในคดีข่มขืนลูอิส ส่งผลให้เออร์เนสถูกนำตัวขึ้นศาลอีกครั้งและถูกตัดสินว่ามีความผิดโดยไม่ต้องการคำสารภาพของเขา

          เออร์เนสกลับไปรับโทษที่เหลือ หลังจากได้รับการอภัยโทษเขาถูกปล่อยตัวเป็นอิสระในปี 1972 เออร์เนสหาเลี้ยงชีพด้วยการขาย "บัตรสิทธิมิแรนด้า" พร้อมลายเซ็นในราคาใบละ 1.50 ดอลลาร์ และตระเวนเล่นการพนันในบ่อนเล็กๆในร้านเหล้าตามที่ต่างๆ

          เดือนมกราคม 1976 เออร์เนสมีปากเสียงกับขาไพ่รายหนึ่ง จนเกิดการตะลุมบอน เออร์เนสถูกเอสอีซเควล โมริโน (Eseziquiel Moreno) กระหน่ำแทงจนเสียชีวิต ตำรวจ รวบตัวคนร้ายได้แต่เขาไม่ยอมให้การใดๆตามสิทธิมิแรนด้า

          หลังจากควบคุมตัวตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เอสอีซเควลได้รับการปล่อยตัว เขาฉวยโอกาสนี้หลบหนีออกนอกประเทศ คดีฆาตกรรมเออร์เนส มิแรนด้า จึงไม่ถูกสะสาง เขาตายฟรีๆเพราะช่องโหว่กฎหมายตามสิทธิมิแรนด้าที่เขาเป็นคนทำให้เกิดขึ้นมา

--นสพ. โลกวันนี้วันสุข --




ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2