Baan Jompra

ชื่อกระทู้: หลวงพ่อตาด จันทโชติ วัดบางวันทอง สมุทรสงคราม [สั่งพิมพ์]

โดย: Sornpraram    เวลา: 2016-4-19 18:48
ชื่อกระทู้: หลวงพ่อตาด จันทโชติ วัดบางวันทอง สมุทรสงคราม

ถ้าพูดถึงหลวงพ่อตาด จันทโชติ วัดบางวันทอง ยอดพระเกจิอาจารย์ยุคเก่า แห่งเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม ในปัจจุบัน นอกจากนักพระเล่นเครื่องทางแม่กลองแล้ว น้อยคนที่จะรู้จักพระเครื่องและเครื่องรางที่ท่านได้สร้างแจกแก่ลูกศิษย์ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จึงขออนุญาตินำข้อมูลต่างๆของท่านมาลงเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติประวัติของท่านครับ


ข้อมูลประวัติ
    หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง พระคณาจารย์ผู้เข้มขลังเรื่องเวทย์พุทธาคมแห่งลุ่มน้ำแม่กลองในอดีต ร่วมยุคสมัยกับ หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย หลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย เป็นครูบาอาจารย์ทางพุทธาคมไสยเวทย์ของ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม และเป็นอุปัชฌาย์ อาจารย์ของ หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง พระคณาจาย์ดังเมืองเพชรบุรี

พื้นเพของท่านเป็นชาว บ้านเบิกไพร อ.บ้านโป่ง จ. ราชบุรี บรรพาชาอุปสมบทเมื่ออายุครบ ภายหลังการอุปสมบท กาลเวลาผ่านไปนานเท่าใดไม่อาจระบุได้ ท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ผ่านป่าเขาลำเนาไพร กระทั่ง ครั้งหนึ่งมุ่งหน้ามาทาง คลองแควอ้อม กระทั่งถึง วัดบางวันทอง ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองแควอ้อม เห็นว่าเป็นสถานที่สงบวิเวก เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม จึงพำนักจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ กระทั่งได้เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 3 ของวัดบางวันทอง ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดจนเจริญรุ่งเรือง ซึ่งต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ สามารถให้การอุปสมบทกุลบุตรได้ ในหลายพื้นที่ เช่น เพชรบุรี , ราชบุรี ,สมุทรสงคราม , กาญจนบุรี
หลวงพ่อตาด ท่านเป็นพระคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสรรพศาสตร์ และพุทธาคมหลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิชา นะปัดตลอด ซึ่งจะหาพระคณาจารย์ที่สำเร็จวิชานี้ได้ยากเป็นวิชาที่ว่าด้วย การกระทำสิ่งใดทางพุทธาคมไสยเวทย์ ทำเพียงครั้งเดียวย่อมสำเร็จครบถ้วนทุกอย่างเช่น การลงผ้ายันต์ , การลงอักขระบนแผ่นโลหะ จะลงเพียงแผ่นหรือผืนเดียวด้านบน จะสำเร็จเสร็จสิ้นทะลุถึงแผ่นสุดท้าย


ตลอดจนการลงกระหม่อม หากลงให้กับผู้เป็นพ่อ หากได้บุตรคนแรกหรือคนหัวปีเป็นชาย อักขระเลขยันต์ที่ลงให้ผู้เป็นพ่อ จะติดมาถึงบุตรชาย เหล่านี้เป็นต้น

สำหรับหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ตามประวัติกล่าวว่า ได้มาขอศึกษาด้านระเบิดเทียน , เมตตามหานิยม, วิชานะปัดตลอด ,วิชาแพทย์แผนโบราณ และได้ศึกษาวิชาเกี่ยวกับการลงกระหม่อม(ลงด้วยขมิ้นชัน)นี้จาก สมเด็จพุทธโฆษาจารย์(ฤทธิ์) วัดอรุณราชวราราม หรือ วัดแจ้ง

ด้านหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง ซึ่งถือว่าเป็นศิษย์สายตรงรูปหนึ่ง เพราะหลวงพ่อตาด เป็นพระอุปัชฌาย์ผู้ให้การอุปสมบทแก่ท่านและตัวท่านเองก็มีชื่อเสียงเลื่องลือด้านการลงกระหม่อมมากสุดในยุคต่อมา แม้ พ.อ. พระยาพหลพยุหเสนา และ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ยังเดินทางมาขอให้ท่านลงกระหม่อมให้

นอกจากนี้แล้ว หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ยังเชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนโบราณ และยาสมุนไพร ซึ่งท่านได้อนุเคราะห์ญาติโยม และ ศิษยานุศิษย์ ด้วยความเมตตา ด้วยความเสมอภาค

เมื่อหลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อตาดท่านก็จะออกธุดงค์อยู่เสมอ ท่านได้ไปเจอสมุนไพรต่างๆ มากมาย ท่านก็นำกลับมาไว้ที่วัด เพื่อทำเป็นยาแผนโบราณ ช่วยรักษาโรคให้แก่ชาวบ้านและประชาชนโดยทั่วไป ที่มาให้ท่านรักษาโรคให้ ใครมีเรื่องทุกข์ร้อนต่างๆ มาหาท่านท่านก็ยินดีช่วยเหลือปัดเป่าให้คลายทุกข์ร้อนไปได้เสมอ ท่านจึงเป็นที่รักเคารพนับถือของชาวบ้านและประชาชนทั่วไป ท่านได้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้แก่ชาวบ้านมากมาย แม้ในจังหวัดใกล้เคียงก็ยังพาบุตรหลานมาบวชกับท่านมาก

หลวงพ่อตาดท่านมรณภาพในปี พ.ศ. 2459 ด้วยโรคชรา คณะศิษย์และประชาชนจึงได้ปรึกษากันว่าจะตั้งศพของท่านไว้ที่กุฏิเพื่อบำเพ็ญกุศลถวายจนครบ 1 ปีแล้วจะได้ถวายเพลิงศพของท่าน ศิษย์ผู้หนึ่งชื่อ นายพุก เทียนชัย ได้ร่วมปรึกษากับศิษย์คนอื่นๆ พร้อมใจกันสร้างเหรียญรูปท่านเพื่อไว้เป็นที่ระลึก ในงานถวายเพลิงศพของท่าน โดยมีนายพุกเป็นผู้แกะแม่พิมพ์ และบุตรช่วยกันสร้างมีทั้งหมดลักษณะเป็นเหรียญหล่อรูปไข่หูในตัว จำนวนสร้างประมาณ 1200 เหรียญ โดยมากที่พบเห็นเล่นหาสะสมเป็นเหรียญหล่อ เนื้อขันลงหิน หรือ เนื้อทองแดงผสมทองเหลือง นอกจากนั้นยังมี เนื้อทองคำ , เนื้อเงิน แต่จำนวนการสร้างมีน้อย จึงไม่ค่อยพบเห็น

ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหน้าตรงครึ่งองค์ โดยรอบมีอักขระขอม อ่านว่า สังวิชา ปุกะยะปะ อะสังวิสุโล ปุสะพุภะ

ด้านหลัง ปรากฏอักขระขอมจำนวนสี่แถว พร้อมระบุ พ.ศ. ๒๔๕๙ ซึ่งลักษณะทางด้านหลังเหรียญ สามารถแยกได้ 2 ลักษณะคือ

พิมพ์แรก ปรากฏคำว่า พ.ศ.๒๔๕๙ โดยมากเลข ๔ และ ๕ มักหล่อติดลางเลือนและมีเนื้อเกิน จึงได้แต่งแม่พิมพ์ใหม่ โดยลบข้อความดังกล่าวออก และแกะพิมพ์ใหม่ ฉะนั้นพิมพ์ที่ 2 จึงปรากฏเฉพาะคำว่า ๒๔๕๙ โดยไม่มี พ.ศ. เมื่อสร้างเสร็จได้ให้พระเกจิอาจารย์ปลุกเสกได้แก่ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม หลวงพ่อคง วัดศรัทธาราษฎร์ หลวงพ่อคง วัดแก้วเจริญ หลวงพ่อปลั่ง วัดเพลง หลวงพ่อตุย วัดปราโมทย์ เป็นต้น ปัจจุบันนับว่าเหรียญของท่านหาดูได้ยาก

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม

เหรียญรุ่นแรกของท่านสร้างเมื่อปี พ.ศ.2459  แจกในงานฌาปนกิจ ส่วนวัตถุมงคลอื่น ๆ ได้แก่ ผ้ายันต์  และตะกรุด

พุทธคุณที่เล่าสืบทอดกันมา

พุทธคุณในวัตถุมงคลของท่านเด่นทาง  เมตตามหานิยม



โดย: Sornpraram    เวลา: 2016-4-19 18:51
หลวง พ่อตาด วัดบางวันทอง ท่านเป็นหนึ่งในอาจารย์ของหลวงพ่อคงครับ อีกทั้งยังเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวงอีกด้วยครับ ท่าน เป็นคนพื้นเพจังหวัดราชบุรี หลังจาดท่านอุปสมบท ได้ออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ กระทั่งได้มาพำนักจำพรรษา ณ วัดบางวนทอง ได้เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สามของวัด และได้เป็นพระอุปัชฌาย์ วัตถุมงคลที่เลื่องชื่อของหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง เห็นจะไม่พ้นตะกรุดคงคาวดี เวลาที่หลวงพ่อตาดทำตะกรุดนี้จะนำแผ่นตะกั่วใส่อังสะแล้วจุดเทียนระเบิดน้ำ ลงไปในแม่น้ำ ลงอักขระใต้น้ำจนเสร็จแล้วจึงขึ้นมา เมื่อม้วนแล้วท่านยังเดินถือตะกรุดไปยังบริเวณที่ปูชายเลนอยู่ ปูจะพากันกรูออกมาจากรู หลวงพ่อตาดจะใช้เท้ากดทับบริเวณปากรูปูไว้แล้วเสกตะกรุด เล่ากันมา ว่า ยามที่ท่านเสกนั้น บรรดาปูทั้งหลายต่างสงบนิ่ง จนเมื่อท่านเสกเสร็จเรียบร้อยแล้วนั่นแหละ จึงวิ่งกรูกันไป ตะกรุดของหลวงพ่อตาดมีสรรพคุณด้านมหาอุดเป็นสุดยอดทีเดียว ยังเรื่อง เล่าบางเรื่องเกี่ยวกับหลวงพ่อตาด อย่างเรื่องนี้ที่เล่าขานสืบกันมาว่า


  ครั้งหนึ่ง เสือหรั่ง ขุนโจรชื่อดังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไล่ล่าอย่างกระชั้นกระชิด และเจ้าตัวเองก็คิดจะเลิกจากการเป็นโจรปล้นเสียที ตกกลางคืนได้เข้าไปกราบหลวงพ่อตาดสารภาพผิด และขอให้หลวงพ่อตาดช่วยเหลือ หลวงพ่อตาดได้ให้จุดธูปเทียนสาบานต่อหน้าพระว่าจะเลิกเป็นโจร จะบวชเรียนจนมรณภาพคาผ้าเหลือง เมื่อเสือหรั่งสาบานแล้วก็ได้รับตะกรุดจากหลวงพ่อตาด พร้อมกับสายสิญจน์คล้องคอแล้วไปหลบอยู่กุฏิพระอีกหลังหนึ่ง ครั้นเจ้า หน้าที่มาค้นหาที่วัดบางวันทอง ขึ้นไปบนกุฏิที่เสือหรั่งหลบซ่อนอยู่ ก็พบเห็นเพียงพระภิกษุแก่ๆ รูปหนึ่งนั่งตัวสั่นงกๆ เงิ่นๆ อยู่ จึงได้กราบนมัสการลาไปค้นยังที่อื่น ต่อมาเสือหรั่งได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุตราบจนมรณภาพ อัตโนประวัติของ หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง กล่าวแต่เพียงว่า เป็นคนบ้านเพิกไพร อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ได้อุปสมบทมาตั้งแต่อายุ 20 ปี แต่จะเป็นที่ใด ใครเป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ กระทั่งพระอนุสาวนาจารย์ หามีหลักฐานอ้างถึงไม่ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางวันทอง รูปที่ 3 นับแต่สร้างวัดมา เมื่อใดก็ไม่มีบันทึกถึง หากมรณภาพและฌาปนกิจศพท่านเมื่อปี พ.ศ. 2459   


   ก่อนหน้าที่หลวงพ่อตาด จะมรณภาพ หลวงพ่อตาดได้ลงไปสรงน้ำในแม่น้ำหน้าวัด ฝูงปลาใหญ่น้อยมาห้อมล้อมหลวงพ่อตาดอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง หลวงพ่อตาดลูบคลำเหล่าปลานั้นอย่างเมตตา ครั้นสรงน้ำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้เรียกกรรมการวัดมาประชุมบอกว่า ท่านจะไปแล้ว กรรมการวัดล้วนต่างคิดว่า ท่านชราภาพมาแล้วคงกล่าวเล่นๆ ไม่มีใครคิดสงสัย กระทั่งตกค่ำท่านก็ เรียกกรรมการวัดมาประชุมอีก แล้วบอกกรรมการวัดว่า ถึงเวลาจะลาลับ พูดจบก็มีลมพัดกระโชกมาทำให้ตะเกียงที่จุดไว้ดับสนิท พอจุดตะเกียงขึ้นใหม่พบว่า หลวงพ่อตาดนั่งสมาธิคอเอียงไปด้านข้างหมดลมหายใจไปแล้ว


เมื่อครั้งจัดงานฌาปนกิจศพหลวงพ่อตาด ลูกศิษย์หลวงพ่อตาด คือ คุณพุก เทียนไชย ได้จัดสร้างเหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อตาดเป็นที่ระลึกขึ้น เป็นเหรียญหล่อรูปขนาดกลาง มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดตามแนวยืนได้ 3 เซนติเมตร จำนวนที่สร้างประมาณ 1,500 เหรียญ ด้าน หน้า มีรูปหลวงพ่อตาดครึ่งรูป อยู่ภายในวงล้อมของเส้นวงรี นอกกรอบวงรีที่ล้อมรูปเหมือนหลวงพ่อตาด มีอักขระขอมจารึกโดยรอบขนานไปกับขอบเหรียญ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ช่อง ถ้าหากอ่านจากขวาเวียนไปซ้ายมือของเรา โดยเริ่มต้นที่อักขระขอมตัว "สัง" เหนือศีรษะจะอ่านได้ความดังนี้ "สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ" อันได้แก่หัวใจพระธรรม 7 คัมภีร์ และหัวใจนวหรคุณ (หัวใจอิติปิโส) ด้านหลัง มีอักขระขอมจารึกอยู่ 4 แถว พร้อมด้วยปี พ.ศ. ที่ออกเหรียญ คือ "มะ อุณาโลม อะ ทุ สะ มะ มิ จะ อะ ปะ ตะ พะ รา จนฺทโชติ พ.ศ. ๒๔๕๙" โลหะที่นำมาสร้าง มีทั้งเนื้อทองคำ เงิน และเนื้อสัมฤทธิ์ขันลงหิน///////// เหรียญรุ่นแรกของท่านสร้างเมื่อปี พ.ศ.2459






http://www.zoonphra.com/amulet/catalog.php?storeno=s032&idp=7524





ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2