“สุอาคะโต ปัญจะปทุมมังทิสวา นะโมพุทธายะวันทะนังฯ”
“ทั้งขอมไทยได้สิ้นก็ยินดี เรียนคัมภีร์พุทธเพทพระเวทมนตร์”
การทำผงนั้นเป็นการหัดทำสมาธิขั้นแรกอย่างเอกอุ กระทำพร้อมกันทั้งองค์ ๓ คือทางกาย ใช้มือขีดเขียนตัวอักขระลงไป พร้อมกับทางวาจา ซึ่งบริกรรมท่องบ่นสูตรและคาถาที่ทำต่าง ๆ ไปพร้อมกับอาการกิริยาที่เขียน ทางใจก็ต้องสำรวมควบคุมเพ่งเล็งตัวอักษรมิให้เขียนผิดพลาด...นับว่าเป็นเครื่องล่อในการหัดทำสมาธิเป็นอย่างดี เพราะมิใช่แต่จะเขียนอย่างเดียว พอเขียนเสร็จบังเกิดขึ้นแล้ว ก็ลบเสียบังเกิดเป็นขึ้นใหม่ต่อไปอีก เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปฉะนี้สลับกันไป จนท้ายที่สุดถึงองค์พระและลบเข้าสู่สูญนิพพาน..." ผงปถมังนี้เมื่อทำตัวนะปถมังสำเร็จแล้ว ต่อมาคือฝึกหัดเพ่งจนเกิดเป็นนิมิตในลักษณะอย่างอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต เพราะโดยแก่นแท้แล้วหลักการทำผงของไทยโบราณก็คือการฝึกสมาธิที่ประยุกต์ขึ้นตามแนวทางของสมถกรรมฐาน ซึ่งหากพิจารณาให้ถ่องแท้จึงจะเห็นถึงหลักไตรลักษณ์ ในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ดังเช่นผงที่กำเนิดขึ้นและลบดับสู่นิพพานไปบนกระดานชนวนนั่นเองตามตำรากล่าวว่า อานุภาพของผงปถมังหนักไปทางด้านอิทธิฤทธิ์ อยู่ยงคงกระพันชาตรี จังงังกำราบศัตรูหมู่ปัญจามิตร สะกดทั้งมนุษย์และสัตว์ให้ตกอยู่ในอำนาจ และเป็นกำบังล่องหนหายตัว ถึงทางเมตตามหานิยมก็ใช้ได้เหมือนกัน ใช้ผสมทำเครื่องรางมหาเสน่ห์ เมื่อพกพาติดตัวทำให้อยู่ยงคงกระพัน หรือนำผงทาตัวเป็นล่องหนกำบังหายตัวได้ โบราณาจารย์ได้กล่าวอุปเท่ห์สืบต่อกันมาว่า อันผงปถมังที่ทำถึงเพียงองการมหาราพน้อยใหญ่นั้น ถ้าเอาผงนั้นไปโรยใส่เข้าที่ไหน เช่น โรยใส่ใต้ถุนบ้านเรือน มิช้านานบ้านเรือนนั้นจะยุบหายกลายเป็นป่าไป ถึงบ่อน้ำที่มีน้ำเต็มเมื่อเอาผงปถมังโรยเข้ามิช้าน้ำก็จะถึงกับแห้งเหือดหายไป ถ้านำไปทาที่เสาเรือนใครอาจทำให้คนบนเรือนถึงกับเป็นบ้าได้ เมื่อทำผงสำเร็จถึงสูญนิพพานแล้วตำราให้นำเครื่องยามาผสมปั้นแท่ง มีกฤษณา กะลำพัก ขอนดอก จันทน์ทั้งสอง ชะมด พิมเสน เป็นอาทิ โบราณนิยมนำผงปถมังมาผสมทำพระเครื่องราง พระเครื่องที่มีชื่อเสียงหลายสำนักก็สร้างขึ้นโดยมีส่วนผสมของผงชนิดนี้ หรือนำผงไปผสมหมึกสำหรับสักยันต์ที่กระหม่อมตามความเชื่อว่าจะทำให้อยู่ยงคงกระพัน
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) | Powered by Discuz! X3.2 |