Baan Jompra
ชื่อกระทู้:
ความเคยชิน โดย วีรพงษ์ รามางกูร
[สั่งพิมพ์]
โดย:
รามเทพ
เวลา:
2016-2-26 10:05
ชื่อกระทู้:
ความเคยชิน โดย วีรพงษ์ รามางกูร
ความเคยชิน โดย วีรพงษ์ รามางกูร
[url=line://msg/text/ความเคยชิน%20โดย%20วีรพงษ์%20รามางกูร%20http%3A%2F%2Fwww.matichon.co.th%2Fnews%2F49517][/url]
ผู้เขียน
วีรพงษ์ รามางกูร
ที่มา
มติชนรายวัน
คนไทยหรือสังคมไทยเป็นสังคมที่เคยชินกับข่าวลือ เมื่อมีข่าวลือเกิดขึ้นก็ไม่มีใครสนใจจะค้นหาความจริง ปล่อยให้ลือกันไปจนเกิดความเคยชิน จะจริงหรือไม่จริงไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครคิดถึงว่าข่าวดังกล่าวที่ร่ำลือกันนั้นถ้าเป็นจริงแล้วจะเป็นจริงได้ยังไง ผิดหรือถูก จะขัดหรือไม่ขัดกับกฎหมายหรือประเพณีวัฒนธรรมหรือเปล่า การปล่อยข่าวให้ลือไปกลายเป็นธรรมชาติของคนไทย
ตามปกติในการบริหารราชการบ้านเมือง เป็นของธรรมดาที่รัฐบาลหรือผู้ปกครองบ้านเมืองมักจะต้องมีเรื่องที่เปิดเผยไม่ได้ทั้งหมด หรือเปิดเผยไม่ได้บางส่วน อาจเป็นเรื่องที่จะเสียหายต่อประเทศชาติหรือสังคมโดยส่วนร่วมก็ได้ หากข่าวเช่นว่านั้นถูกเปิดเผย
ยิ่งเป็นเรื่องที่จะต้องติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ การเจรจาระหว่างประเทศ หากข่าวรั่วหรือเปิดเผยไปเสียก่อนการดำเนินการหรือการเจรจา การปฏิบัติการอาจจะเป็นไปไม่ได้ โดยเมื่อทางการจะต้องเก็บไว้เป็นความลับข่าวลือก็จะเกิดขึ้น และเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำจนเกิดความเคยชิน ไม่มีใครสนใจจนกว่าจะเกิดข่าวลือขึ้นมากลบหรือทำให้ข่าวลือเช่นว่านั้นกลายเป็นข่าวที่เคยชินกันไป
หนังสือราชการที่ติดต่อกันระหว่างหน่วยราชการก็มักจะประทับ ลับ ลับมาก และลับที่สุด ทั้งๆ ที่เรื่องที่ติดต่อถึงกันนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรจะเป็นเรื่องลึกลับนักหนาอะไร เช่นเดียวกับการประทับบนหัวจดหมายราชการว่าด่วน ด่วนมาก และด่วนที่สุด ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องธรรมดาปกติ ไม่ใช่เรื่องด่วน ด่วนมาก หรือด่วนที่สุด และเนื่องจากการประทับลับ ลับมาก ลับที่สุด และด่วน ด่วนมาก ด่วนที่สุด ทั้งผู้ส่งหนังสือเช่นว่าไปก็ไม่ได้คิดว่าต้องเป็นเช่นนั้นจริงๆ ในที่สุดทั้งผู้ส่งและผู้รับก็รู้สึกเคยชิน ที่จะต้องประทับหัวจดหมายหรือหนังสืออย่างนั้น ผู้รับเองก็รู้สึกเคยชินกับการที่ได้รับจดหมายหรือหนังสือที่มีการประทับดังกล่าว ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่จะต้องปฏิบัติเป็นพิเศษตามระเบียบของราชการแต่ประการใด
เมื่อต้องฟังคำพูดที่ไม่สุภาพ หยาบคาย เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวหรือเป็นเท็จ ฟังทีแรกก็ขัดหูต้องปิดโทรทัศน์ หรือปิดวิทยุในระหว่างขับรถอยู่บนถนน แต่เมื่อฟังไปนานๆ ก็เกิดความเคยชิน แม้ว่าคำพูดจะเป็นคำพูดที่ขัดหูและไม่เคยชินมาก่อน แต่เมื่อต้องฟังไปนานๆ ก็รู้สึกเฉยๆ เคยชินไปเอง กลายเป็นคำธรรมดา ไม่หยาบคาย หรือที่สมัยนี้เรียกกันว่า “new normal”
เวลาฟังการวิเคราะห์เศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจของโลกหรือเศรษฐกิจไทย รวมทั้งการคาดการณ์ไปข้างหน้า เนื่องจากผู้วิเคราะห์หรือผู้พยากรณ์มีข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ จึงพูดจากันผิดๆ เสมอ ที่สำคัญก็คือการใช้ศัพท์วิชาการแบบผิดๆ แม้ว่าตอนแรกจะรู้สึกขัดหู แต่เมื่อฟังไปนานๆ ก็เกิดความเคยชิน และบางทีเพื่อความเข้าใจของคนฟัง ต่างก็ร่วมกันใช้ศัพท์ที่ผิดๆ เหล่านั้นไปด้วยอย่างไม่เคอะเขิน กลายเป็นความเคยชินไป
โดย:
รามเทพ
เวลา:
2016-2-26 10:06
การที่ประเทศมีการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นสังคมที่ประชาชนมีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย ซึ่งตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่ามนุษย์โดยพื้นฐานเป็นคนดี มีความสามารถที่จะปกครองตนเอง ซึ่งผู้คนในสังคมนั้นก็จะมีความเคยชินกับการมีคุณค่าแบบประชาธิปไตยหรือ democratic value เคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น เคารพต่อความเห็นที่แตกต่างของบุคคลอื่น เป็นปกติด้วยความเคยชิน
ตรงกันข้ามกับสังคมที่เป็นสังคมที่มีการปกครองโดยเผด็จการทหาร ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าประชาชนนั้นยังโง่เขลา ไม่สามารถปกครองกันเองได้ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่จำเป็นต้องให้เกียรติ พูดดีด้วยไม่ได้ ต้องใช้วิธีกำราบด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยกิริยา วาจา หรือวิธีการข่มขู่ด้วยกำลังหรืออาวุธ จนเป็นเรื่องปกติด้วยความเคยชิน
ในสังคมจะมีกลุ่มคนอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนน้อยและคิดว่าตนที่เป็นคนดี มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมืองและประชาชน สามารถสร้างความสุขคืนให้กับประชาชนได้ มองคนส่วนใหญ่นั้นโง่เขลาเบาปัญญา คิดเองไม่ได้ ถ้าปล่อยให้เป็นอิสระมีเสรีภาพก็จะเกิดความแตกแยก ไร้ความสามัคคีและชอบมีความเห็นที่ไม่อยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น การทำการโฆษณาชวนเชื่อในเรื่องคุณค่าของสังคมเพื่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีก็ทำไม่ได้ จนกลายเป็นความเคยชินที่ไม่มีใครตั้งข้อสงสัยว่าจริงหรือไม่จริง
เมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารใหม่ๆ ผู้คนจะยังไม่เคยชิน ในระยะนั้นต้องใช้อำนาจ ต้องใช้กำลังเข้าข่มขู่ ต้องเรียกไปปรับทัศนคติ แต่เมื่อผู้คนเกิดความเคยชินกับการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ชินกับการถูกลดระดับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังข่มขู่ปราบปรามก็จะลดลงไป เหลือเพียงการระวังไม่ให้ใครออกมาเป็นหัวหน้าในการสร้างกระแสความคิดทางการเมือง ความคิดต่อต้านระบอบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจการปกครองแผ่นดิน หรืออำนาจในการแก้ไขปัญหาของตนเองที่ไม่ได้มาจากประชาชน นานๆ เข้าประชาชนก็จะรู้สึกเคยชินกับวาทกรรมประเภทนี้ เคยชินกับการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเอง ในสังคมที่ไม่ใช่สังคมประชาธิปไตย ผู้คนในสังคมก็จะเคยชินกับการที่ไม่ต้อง “คิด” เป็นสังคมที่ผู้นำและผู้ปกครองเป็นคนคิดให้เสร็จ ความคิดและการกระทำของผู้ปกครองเป็นความคิดที่ถูกต้องเสมอ ไม่ต้องโต้เถียง
นโยบายและการกระทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โปร่งใส ไม่มีการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องถูกตรวจสอบ ไม่จำเป็นต้องชี้แจง ระบบและกลไกการตรวจสอบผู้ปกครองในการบริหารกิจการบ้านเมืองจึงไม่จำเป็น
มีภาษิตทางรัฐศาสตร์ที่ว่า..
“ผู้ปกครองที่เป็นคนดีแต่ตรวจสอบไม่ได้นั้น เป็นอันตรายยิ่งกว่าผู้ปกครองที่ไม่ใช่คนดีแต่ถูกตรวจสอบได้”
ระบอบประชาธิปไตยไม่เคยคิดว่าจะต้องได้คนดีสะอาดบริสุทธิ์มาเป็นผู้ปกครอง ตรงกันข้ามระบอบประชาธิปไตยนั้นสันนิษฐานเสมอว่า นักการเมืองนั้นไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ แต่เป็นระบบที่เราตรวจสอบผู้ที่ไม่บริสุทธิ์เช่นว่านี้ได้ ในระยะแรกๆ อาจจะตรวจสอบไม่ได้
แต่ด้วยประสบการณ์ที่ซ้ำๆและพัฒนาการของการมีส่วนร่วม ในที่สุดสังคมก็จะสร้างระบบที่จะตรวจสอบ
ระบบที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามให้ผู้ปกครองตอบและชี้แจง
ประเทศไทยเรายังไม่เคยมีระบอบประชาธิปไตยที่ยาวนานพอจนประชาชนเกิดความเคยชิน แต่มีระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร หรือระบอบการปกครองที่แบ่งอำนาจกันระหว่างกองทัพกับประชาชนจนประชาชนเกิดความเคยชิน เมื่อเปิดให้มีประชาธิปไตย ก็จะเป็นประชาธิปไตยแบบสุดโต่ง ไม่มีวินัย ไม่มีระเบียบ ประชาชนก็ไม่เคยชินกับการไม่มีวินัย ไม่เคยชินกับการมีความคิดที่แตกต่าง จึงยินดีที่จะเรียกร้องให้มีการทำปฏิวัติรัฐประหารเพราะเป็นระบอบที่ตนมีความเคยชิน
กองทัพก็ไม่เคยชินกับการอยู่ใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลที่ไม่ใช่รัฐบาลทหาร เคยชินกับการมีผู้บังคับบัญชาหรืออดีตผู้บังคับบัญชาของตนเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ความไม่เคยชินของกองทัพที่จะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลพลเรือน ทำให้มีการแก้ไขกฎหมายให้กองทัพค่อนข้างจะเป็นอิสระจากรัฐบาล แต่กองทัพจะมีความเคยชินที่จะอยู่ใต้การบังคับบัญชาของทหารด้วยกัน
ความไม่เคยชินของกองทัพที่จะอยู่ใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลพลเรือน ความไม่เคยชินกับการจะมีผู้บังคับบัญชาเป็นนักการเมือง จะทำให้เกิดความอึดอัดและความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ในที่สุดก็กลายเป็นความไม่เคยชินกับระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ความเคยชินจึงมีความสำคัญต่อเสถียรภาพของระบอบการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการพัฒนาประชาธิปไตย คนไทยเคยชินกับระบอบเผด็จการ เคยชินกับการมีสิทธิเสรีภาพที่จำกัด เคยชินกับระบอบอำนาจนิยมที่ไม่ต้องการคำอธิบาย แต่ระบอบดังกล่าวก็ไม่มีเสถียรภาพ อยู่นานก็ไม่ได้เพราะขัดกับกระแสโลกาภิวัตน์ของโลก
คนไทยจึงอยู่ในภาวะที่ “งงๆ” ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรดี ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการทหาร
วงจรอุบาทว์ทางการเมืองหรือ “political vicious circle” จึงเกิดซ้ำรอยขึ้นอยู่เสมอ
ไม่สามารถที่จะออกจากวงจรอุบาทว์นี้ได้
นอกจากมีเหตุการณ์ที่รุนแรงไม่คาดฝันเกิดขึ้นจริงๆ เท่านั้น
ความเคยชินจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของทุกประเทศ
http://www.matichon.co.th/news/49517
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/)
Powered by Discuz! X3.2