ในคติความเชื่อเดิม หากต้องการปฏิบัติกิจทางศาสนา คนมอญจะต้องเดินทางไปที่วัดเท่านั้น คนมอญจะไม่นำพาเอาศาสนามาข้องเกี่ยวกับกิจที่บ้านอันเป็นวิถีแห่งโลกียะ มีความไม่สะอาดเป็นมลทิน ดั้งเดิมนั้น งานแต่งงาน งานศพ จะไม่มีพระภิกษุมาร่วมประกอบพิธีใดๆ ที่บ้านเลย
แต่ต่อมา คนมอญเริ่มมีความนิยมประดิษฐานพระพุทธรูปไว้กราบไหว้บูชาในบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ก็ยังติดอยู่ที่มีความรังเกียจว่าจะเป็นการเอา "วัด" มาปะปนกับ "บ้าน" จึงเจาะช่องข้างฝาบ้าน ทำเป็นซุ้มยื่นออกไปนอกตัวบ้าน แล้วประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ในนั้น ตั้งกระถางธูป เชิงเทียน ดอกไม้ สำรับข้าวพระพุทธ ไว้พร้อมสรรพ ทำนองว่านี่คือวิหารเล็กๆ อุทิศให้รูปเคารพตัวแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่หาได้อยู่ใต้ชายคาเดียวกับฆราวาสไม่ มีผนังและชายคาแยกต่างหากเป็นสัดส่วนออกไป ทำให้สะดวกใจที่จะอัญเชิญพระพุทธรูปที่แต่ละบ้านเคารพมาไว้เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธคุณประจำใจ
บ้านพระแบบนี้พบได้ในรัฐมอญ ประเทศเมียนมาร์ ส่วนในประเทศไทยยังพอพบเห็นได้บ้าง เช่นที่ อ. สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ส่วนจังหวัดอื่นนั้นพอมีหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตัวบ้านเป็นแบบใหม่ไปตามสมัยนิยมแล้ว
แอดมิน 7
(ภาพประกอบ : บ้านชาวมอญในเมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ ประเทศเมียนมาร์)