Baan Jompra
ชื่อกระทู้: "โอ้....ละหนอ....ดวงเดือนเอย" [สั่งพิมพ์]
โดย: oustayutt เวลา: 2016-2-2 16:28
ชื่อกระทู้: "โอ้....ละหนอ....ดวงเดือนเอย"
ตำนานความรักที่ไม่สมหวังในเพลงลาวดวงเดือน
ในปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสมัยที่ดนตรีไทย โดยเฉพาะปี่พาทย์ได้รับความนิยมแพร่หลาย ตามบ้านท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ และวัดวาอารามต่างก็มีวงปี่พาทย์เป็นประจำกันมากมาย เจ้านายหลายพระองค์ก็มีวงปี่พาท์ประจำวัง มีครูบาอาจารย์ไว้ฝึกสอนปรับปรุงคิดประกวดประขันกันอย่างเอาจริงเอาจัง เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ก็มี "วงวังบูรพา" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็มี "วงวังบางขุนพรหม"ทางด้านพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระยศมกุฎราชกุมาร) ก็มีวงปี่พาทย์ชื่อว่า"วงสมเด็จพระบรม" พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดมก็มีวงปี่พาทย์วงหนึ่งของพระองค์เรียกว่า"วงพระองค์เพ็ญ" ซึ่งแต่ละวงล้วนแต่มีนักดนตรีที่มีฝีไม้ลายมือยอดเยี่ยมทัดเทียมกัน
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม (พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์) เป็นพระโอรสในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ และเจ้าจอมมารดามงกุฎ พระองค์เจ้าชายเพ็ญ ได้เสด็จไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ เมื่อเสด็จกลับมาแล้วทรงเข้ารับราชการในตำแหน่ง ผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม
ใน พ.ศ. ๒๔๔๖ พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์ เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษมาใหม่ ได้ทรงเสด็จขึ้นไปเที่ยวนครเชียงใหม่ อันเป็นนครแห่งศูนย์กลางวัฒนธรรมล้านนาสมัยนั้น พระยานริศราชกิจซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ประจำมลฑลพายัพ ได้จัดการรับเสด็จต้อนรับพระองค์อย่างสมพระเกียรติ โดยเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยะวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้จัดการรับเสด้จอย่างประเพณีชาวเหนือโดยแท้ โดยให้ประทับในคุ้มหลวงและเสวยพระกระยาหารแบบขันโตก มีการแสดงละครและดนตรีในคุ้มนี้ด้วย ในงานต้อนรับเสด็จครั้งนี้ เจ้าอินทวโรรสและเจ้าแม่ทิพยเนตรได้ชวนเชิญพระญาติวงศ์มาร่วมรับเสด็จโดยพร้อมเพียงกัน ในบรรดาพระญาติวงศ์เจ้านายเชียงใหม่ ปรากฎว่ามีเจ้าราชสัมพันธวงศ์และเจ้าหญิงคำย่น พร้อมด้วยธิดาองค์โต นามว่า เจ้าหญิงชมชื่น อายุเพิ่งย่างเข้า ๑๖ ปี มาร่วมในงานนี้ด้วย เล่ากันว่าเจ้าหญิงชมชื่นมีผิวพรรณผุดผ่องเป็นนวลใย ใบหน้าอิ่มเอิบเปล่งปลั่งดุจพระจันทร์วันเพ็ญ มีเลือดฝาดขึ้นบนใบหน้า จนแก้มเป็นสีชมพู เพราะผิวขาวประดุจงาช้างอยู่แล้ว อีกทั้งเจ้าหญิงชมชื่นเป็นกุลสตรีที่เรียบร้อยอ่อนหวานน่ารัก เจรจาด้วยกระแสเสียงอันไพเราะ ด้วยความงามอันน่าพิศวงประกอบกับความน่ารักนุ่มนวลละมุนละไมจึงเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว
และแล้วพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เจ้าชายหนุ่มอายุ ๒๑ ปี ก็บังเกิดความสนพระทัยในดรุณีแน่งน้อยอายุ๑๖ปีนี้มาก กล่าวกันว่า เมื่อพระองค์ได้เห็นเจ้าหญิงชมชื่นก็ถึงกับทรงตะลึงในความงามอันน่าพิศวงจนเกิดความพิสมัยขึ้นในพระทัย เหมือนกับชายหนุ่มพบคนรักครั้งแรก
ในวันต่อมา พระยานิรศราชกิจ ข้าหลวงมลฑลพายัพ เป็นผู้นำพระองค์ไปเยี่ยมเจ้าราชสัมพันธวงศ์ถึงคุ้มหน้าวัดบ้านปิง หลังจากนั้นเจ้าหญิงชมชื่นจึงได้มีโอกาสต้อนรับเจ้าชายหนุ่มนักเรียนนอกผู้สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษพระองค์นี้หลายครั้งหลายหน นานวันเข้าพระองค์เจ้าชายเพ็ญก็ยิ่งเกิดความปฏิพัทธ์หลงใหลในเจ้าหญิงชมชื่นเป็ยนิ่งนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเป็นเฒ่าแก่เจรจาสู่ขอเจ้าหญิงชมชื่น ให้เป็นหม่อมของพระองค์
แต่การเจรจาสู่ขอกลับได้รับการทัดทานจากเจ้าราชสัมพันธวงศ์ โดยขอผัดผ่อนให้ เจ้าหญิงชมชื่นอายุครบ ๑๘ ปี เสียก่อน และตามขนบธรรมเนีมประเพณีของราชสกุลนั้น พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใดจะทำการอภิเษกสมรส จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์เสียก่อน เพื่อจะได้รับเป็นสะใภ้หลวงได้รับยศและตำแหน่งตามฐานะ (หากถวายเจ้าหญิงชมชื่นให้ในตอนนั้นเจ้าหญิงก็จะตกอยู่ในฐานะภรรยาน้อยหรือนางบำเรอเท่านั้น) สาเหตูที่เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ปฏิเสธในครั้งนี้ เนื่องเพราะเคยเกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๓๓ มาแล้ว คือ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต พระราชโอรสในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ (พระน้องยาเธอใน พระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๕ ) ได้เสด็จมาปราบปรามพวกยางแดงแถวแม่น้ำสาละวิน จนได้พบรักกับเจ้าหญิงข่ายแก้ว และทรงสู่ขอจากเจ้าทักษิณนิเกตน์(มหายศ)บิดาของเจ้าหญิง แต่ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตในการเสกสมรส ครั้นพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตเสด็จกลับกรุงเทพ ก็ไม่ได้พาเจ้าหญิง (ในฐานะภรรยาคนนึง) ลงมาด้วยเพราะมีหม่อมเอมอยู่แล้ว ทำให้เจ้าหญิงข่ายแก้ว กลายเป็น “แม่ร้าง” ที่จะไปร้องเรียนกับใครก็ไม่ได้ เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์จึงไม่ปรารถนาให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจึงได้ทัดทานไว้
เฒ่าแก่ข้าหลวงใหญ่ยอมจำนนต่อเหตุผลของเจ้าสัมพันธวงศ์ นำความผิดหวังกลับมาทูลให้พระองค์ชายทราบ ฝ่ายพระองค์เจ้าชายฯเองก็มีคู่หมั้นคู่หมายอยู่แล้วโดยผู้ใหญ่จัดหาให้ การปฏิเสธดังกล่าวจากฝ่ายหญิงก็เลยทำให้ความรักของทั้งคู่กลายเป็นหมัน ไม่มีการติดต่อใดๆกันอีกเลย เพราะเหตุนั้น พระองค์ชายก็ได้รับความผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เพราะเมื่อจะมีรักครั้งแรกทั้งทีก็มีกรรมบันดาลขัดขวางไม่ให้รักสมหวังไม่ได้เชยชมสมใจ ความทุกข์โศกใดจะเทียมเทียบเปรียบปานจึงเสด็จกลับกรุงเทพด้วยความร้าวรานพระทัย ปล่อยให้เชียงใหม่เป็นนครแห่งความรักและความหลังของพระองค์
ครั้นถึงกรุงเทพ เรื่องการสู่ขอเจ้าหญิงเมืองเหนือได้แพร่สะพัดไปในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด เจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ทรงทัดทานอย่างหนักหน่วง โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา แน่นอนว่าสาเหตุที่ผู้ใหญ่ทางพระองค์ชายนั้นไม่ยอมให้มีการเสกสมรสกับเจ้าหญิงเมืองเหนือเป็นเพราะเรื่องทางการเมือง ในสมัยนั้นหัวเมืองทางเหนือมีสัมพันธ์กับทั้งสยามและพม่า เป็นความสัมพันธ์ที่สยามมองว่ามีเหตุผลเคลือบแคลงและไม่วางใจ ดังนั้นจึงเกิดโศกนาฎกรรมความรักลักษณะอีกหลายครั้งในสมัยนั้น เหตุก็เป็นเพราะการเมืองนั่นเอง จึงเป็นอันว่าความรักของพระองค์ประสบความผิดหวังอย่างสิ้นเชิงทุกประการ จากนั้นพระองค์จึงทรงเสกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิลัย(กฤดากร) พระธิดาในกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ มีพระธิดา ๑ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าหญิงพรรณเพ็ญแข เพ็ญพัฒน์ ส่วนทางด้านเจ้าหญิง ชมชื่นเองก็สมรสกับเจ้าน้อยสิงห์คำ มีทายาทคือ เจ้าวุฒิ ณ ลำพูน ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดเป็นไปตามความเห็นชอบของผู้ใหญ่ของทั้งสองหากแต่ในใจลึกๆแล้ว ทั้งสองพระองค์ยังคงระลึกถึงกันไม่คลาย
โดย: oustayutt เวลา: 2016-2-2 16:30
พระองค์จึงทรงระบายความรักความอาลัยของพระองค์ ลงในพระนิพนธ์บทร้อง "ลาวดวงเดือน" เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเจ้าหญิงผู้เป็นเจ้าหัวใจของพระองค์ เพื่อใช้เป็นเครื่องผ่อนคลายอารมณ์เศร้าของพระองค์ และเป็นอนุสรณ์เตือนจิตให้สะท้อนรัญจวนหวนคำนึงรำลึกถึงโฉมงามของเจ้าหญิง-ความรัก-ความหลัง เมื่อใดที่พระองค์ทรงรำลึกถึงเจ้าหญิงชมชื่น พระองค์ก็ทรงใช้ดนตรีเป็นเครื่องปลอบหฤทัยให้คลายเศร้า ถ้าไม่ทรงดนตรีเองก็ให้มหาดเล็กข้าหลวงเล่นให้ฟังด้วย และลาวดวงเดือนก็เป็นเพลงที่จะขาดไม่ได้จนตลอดชีวิตของพระองค์ท่าน
กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม ทรงมีพระชนมายุน้อยมาก เนื่องจากทรงมีอารมณ์อ่อนไหวละเอียดอ่อน และประกอบกับพระวรกายไม่ค่อยมบูรณ์แข็งแรงเท่าไรนัก อีกทั้งทรงหมกมุ่นกับหน้าที่การงานเพื่อจะให้ลืมความหลังอันแสนเศร้าของพระองค์ที่ฝังใจอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระชนมชีพของพระองค์สั้นจนเกินไป พระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ด้วยพระชันษา ๒๘ ปีเท่านั้น
และเมื่อข่าวการสิ้นชีพของเจ้าชายไปถึงภาคเหนือ เจ้าหญิงชมชื่นก็เกิดอาการซึมเศร้าและตรอมใจ นั่นเป็นเพราะความรักของเจ้าหญิงที่มีต่อพระองค์ชายเอง ก็ไม่เคยจางไปจากหัวใจดวงน้อยๆของเจ้าหญิงเช่นกัน หนึ่งปีต่อมา เจ้าหญิงชมชื่นก็สิ้นชีพลงเช่นกัน ด้วยชันษา ๒๓ ปีเท่านั้น
เพลงลาวดวงเดือนนี้ เป็นหลักฐานปรากฏผลงานการแต่งเพลงของพระองค์เพียงเพลงเดียวเท่านั้น ลาวดวงเดือน จึงเป็นเพลงที่พระองค์ทรงประพันธ์ด้วยชีวิต จิตใจ วิญญาณ ความรัก และความหลังของพระองค์ เพลงลาวดวงเดือน จึงเปรียบประดุจอนุสรณ์ ให้เราได้ระลึกถึงความรักที่บริสุทธิ์และเป็นอมตะระหว่างพระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์ เจ้าชายหนุ่มผู้สูงศักดิ์จากสยามกับเจ้าหญิงชมชื่น หญิงสาวผู้เลอโฉมจากเมืองเหนือ แม้ความรักของทั้งสองพระองค์จะไม่สมหวัง แต่เพลงนี้ จะเป็นเพลงรักหวานซาบซึ้งตรึงใจ อยู่ในห้วงหัวใจคนไทยต่อไปอีกนานเท่านาน...
".. พี่นี้รักแสนรักดังดวงใจ
โอ้เป็นกรรมต้องจำจากไป
อกพี่อาลัยเจ้าดวงเดือนเอย
เห็นเดือนแรมเริศร้างเวหา
เฝ้าแต่เบิ่งดูฟ้า(ละหนอ)เห็นมืดมน
พี่ทนทุกข์ทุกข์ทนโอ้เจ้าดวงเดือนเอย
พี่ทนทุกข์ทุกข์ทนโอ้เจ้าดวงเดือนเอย
เสียงไก่ขันขานเสียงหวานเจื้อยแจ้ว
หวานสุดแล้วหวานแจ้วเจื้อยเอย
ถึงจะหวานเสนาะหวานเพราะกระไรเลย
บ่แม้นทรามเชยเราละเหนอ ..."
--------------------------------------------------------------//
ที่มา
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) |
Powered by Discuz! X3.2 |