Baan Jompra

ชื่อกระทู้: ธรรมะลึกซึ้งเข้าใจง่าย [สั่งพิมพ์]

โดย: Sornpraram    เวลา: 2015-12-2 06:25
ชื่อกระทู้: ธรรมะลึกซึ้งเข้าใจง่าย
ธรรมะลึกซึ้งเข้าใจง่าย
หลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปัญโญ
ให้รู้จักบุญ

การทำบุญทำกุศลนั้น โปรดอย่านึกว่าจะต้องหอบข้าวหอบของไปใส่บาตรที่วัดทุกวัน หรือบุญจะเกิดได้ก็ต้องทอดกฐินสร้างโบสถ์ สร้างศาลา และอื่นๆ อย่างที่เขาโฆษณาขายบุญกันทั้งทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ และใบเรี่ยไรกันเกลื่อนกลาด จนรู้สึกว่าจะต้องเป็นภาระที่จะต้องบริจาคเมื่อไปวัดหรือสำนักนั้นๆ เป็นประจำ

บทสวดมนต์ชื่อ พระพุทธชัยมงคลคาถา ที่ขึ้นต้นด้วยพาหุงมีอยู่ท่อนหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงชนะมารคือกิเลสว่า

“ทานาทิธัมมวิธินา ชิตวา มุนินโท” แปลว่า

พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์ ทรงชนะมารคือกิเลส ด้วยวิธีบำเพ็ญบารมีธรรม คือความดี มีการบริจาคทานเป็นต้น

พระพุทธเจ้าทรงสอนการทำบุญทำกุศล ด้วยการให้ทาน รักษาศีล และสวดมนต์เจริญสมาธิภาวนา ให้ทานทุกครั้ง ให้ทำลายความโลภ คือกิเลสทุกครั้ง รักษาศีล เจริญภาวนาเพื่อทำลายความโกรธ ความเห็นแก่ตัว ให้ใจสะอาด ใจไม่เศร้าหมอง มองเห็นบาปคุณโทษได้ทุกครั้ง ทำได้ดังนี้จึงชื่อว่า ทำตามพระพุทธเจ้า

๒. จบของทำบุญ-อธิษฐานรับพร

ก่อนที่ท่านผู้มีศรัทธาทั้งหลายจะถวายของแก่พระภิกษุสงฆ์ มักจะมีการอธิษฐานหรือที่เรียกว่า จบของ บางคนจบนาน บางคนจบช้า หลวงปู่ท่านให้ข้อคิดว่า

“ก่อนที่เราจะถวายให้จบมาเสียก่อนจากบ้าน เนื่องจากพอมาถึงวัดมักจะจบไม่ได้เรื่อง คนมากมายเดินไปเดินมา จะหาสมาธิมาจากไหน เราจะทำอะไรก็ตามอธิษฐานไว้เลย เวลาถวายจะได้ไม่ช้าเสียเวลาคนอื่นเขาอีกด้วย บางคนก็ขอไม่รู้จบ ให้ตัวเองไม่พอ ให้ลูกให้หลาน จิตเลยส่ายหาบุญไม่ได้”

การที่หลวงปู่ให้จบก่อนนั้น มีความประสงค์ให้ตั้งเจตนาให้ดี บุญที่ได้รับจะมีผลมาก ญาติโยมจึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า

“ควรอธิษฐานอย่างไร”

หลวงปู่ตอบว่า

“อธิษฐานให้พ้นทุกข์หรือขอให้พบแต่ความดีตลอดไปจนพ้นทุกข์ ถ้าเป็นบาลีก็ว่า สุทินนังวะตะเม ทานัง อาสวะขะยาวะหัง นิพพานะ ปัจจะโยโหตุ คนเราจะพ้นทุกข์ได้ต้องพบกับความดีมีความสุขใช่ไหม ไม่ต้องอธิษฐานให้ยืดยาวหรอก”

เมื่อทำบุญแล้วมักจะมีการรับพรจากพระ มีการกรวดน้ำ บางทีไม่ได้เตรียมไว้ต้องวิ่งหากันให้วุ่นวาย หลวงปู่บอกว่า

“ใช้น้ำจิตน้ำใจของเรากรวดก็ได้ เขาเรียกกรวดแห้ง ไม่ต้องกรวดเปียก เรื่องการกรวดเปียกเขาเริ่มมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อถวายของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านกรวดน้ำให้เปรตญาติพี่น้องที่มาร้องขอบุญจากท่าน ตอนแรกท่านไม่รู้เลยทูลถามพระพุทธเจ้า ที่เขาเรียกว่า ทุ สะ นะ โส คือหัวใจเปรตนั่นแหละ”

หลวงปู่ท่านตอบเพื่อให้คลายกังวลสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลากรวดน้ำเช่น คนที่รีบใส่บาตรก่อนจะไปทำงาน เป็นต้น ส่วนการอธิษฐานรับพรนั้นท่านแนะนำว่า

“ข้าพเจ้าขอรับพรที่ได้นี้ ขอให้ติดตัวข้าพเจ้าตลอดไปในชาตินี้และชาติหน้า แล้วก็อธิษฐานเรียกพระเข้าตัวเวลามีพิธีอะไร อย่างเช่น เวลาเขาปลุกเสกพระ เราก็สามารถรับพรจากพระองค์ไหนๆ ก็ได้ทั้งนั้น”

การสำรวมกาย วาจา ใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญเมื่อมีพิธีกรรมทางสงฆ์ เพราะบ่อยครั้งที่ขณะพระให้ศีลหรือให้พร ญาติโยมบางคนก็เริ่มคุยแข่งกับพระ เสียงโยมเมื่อรวมกันดังกว่าเสียงพระเสียอีก ตนเองไม่ได้บุญยังไม่พอ แต่กลับไปสร้างความรำคาญให้ผู้อื่น เรียกว่าการขัดบุญที่ผู้อื่นพึงได้รับ หลวงปู่เคยพูดว่า

“ระวังให้ดี เดี๋ยวจะเกิดเป็นตะเข้ขวางคลอง”

อยู่ที่ใจ

การจุดธูปเทียนเพื่อบูชาพระในพิธีกรรมต่างๆ มักจะไม่เหมือนกัน บางท่านต้องการไหว้พระแต่ยังตกลงใจไม่ได้ว่าจะใช้ธูปกี่ดอกถึงจะเหมาะสม หลวงปู่เคยตอบคำถามเรื่องนี้กับผู้ที่สงสัยว่า

หลวงปู่ “จุดกี่ดอกก็ได้ ส่วนใหญ่มักใช้ ๓ ดอก บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กี่ดอกก็มีความหมายทั้งนั้น”

ผู้ถาม “อย่างนั้นถ้าจุดดอกเดียว ไม่ถือว่าไหว้ผีหรือไหว้ศพหรือครับ”

หลวงปู่ “จุด ๑ ดอก หมายถึง จิตหนึ่ง

จุด ๒ ดอก หมายถึง กายกับจิต หรือ โลกกับธรรม

จุด ๓ ดอก หมายถึง พระรัตนตรัย หรือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

จุด ๔ ดอก หมายถึง อริยสัจ ๔

จุด ๕ ดอก หมายถึง พระเจ้าห้าพระองค์ นะโมพุทธายะ

จุด ๖ ดอก หมายถึง สิริ ๖ ประการ ที่แกกราบพระ ๖ ครั้ง

จุด ๗ ดอก หมายถึง โพชฌงค์ ๗

จุด ๘ ดอก หมายถึง มรรคแปด

จุด ๙ ดอก หมายถึง นวโลกุตรธรรม

จุด ๑๐ ดอก หมายถึง บารมี ๑๐ ประการ

อยู่ที่เราจะคิดให้ดี เอาอะไรก็ได้”

ผู้ถาม “ถ้า ๑๑ ดอก หมายถึง.......”

หลวงปู่ “ก็บารมี ๑๐ ประการกับจิตหนึ่ง ว่าไปได้เรื่อยๆ แหม แกถามซะข้าเกือบไม่จน”

ผู้ถาม “ถ้าไม่มีธูปเทียน”

หลวงปู่ “ก็ใช้ชีวิตจิตใจบูชา ไม่เห็นต้องมีอะไร

พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ชีวิตัง ปูเชมิ”

หลวงปู่หัวเราะมองหน้าผู้ถาม ที่รู้สึกทึ่งในปฏิภาณของหลวงปู่


โดย: Sornpraram    เวลา: 2015-12-2 06:29
อยากได้บุญมาก

พระสงฆ์ถือว่าเป็นเนื้อนาบุญของโลก ผู้ที่ถวายทานท่าน จึงได้ชื่อว่าปลูกบุญนิธิไว้ในศาสนา แต่จะได้ผลมากน้อยนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างได้แก่
พระ - ซึ่งเป็นตัวเนื้อนาบุญ หากเป็นพระดี ก็เปรียบดังที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ


วัตถุ - หรือวัตถุทานนี้ หากได้มาโดยความบริสุทธิ์ ไม่ได้ไปลักชิงของใครเขามา ก็ย่อมเป็นวัตถุทานที่บริสุทธิ์ เหมาะแก่การบริโภคใช้สอย

เจตนา - ความตั้งใจและความศรัทธามากน้อยเพียงใด บุญก็ย่อมมากน้อยไปตามเพียงนั้น


องค์ประกอบทั้ง ๓ นี้ เป็นสื่อผูกพันเพื่อให้เกิดบุญสมความปรารถนา มีศรัทธาญาติโยมบางท่านเกิดความไม่แน่ใจในตัวพระสงฆ์
จึงได้มาเรียนถามหลวงปู่เพื่อให้หายข้องใจ ซึ่งหลวงปู่ก็ได้เมตตาตอบดังนี้

“อธิษฐานก่อนถวายทาน ทำจิตใจของเราให้ไปถวายกับพระพุทธเจ้าเลย จะได้บุญสูง พระที่รับเป็นเพียงผู้อุปโลกน์ ถ้าท่านไม่ดีจริง ท่านก็ไปนรก”
พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตั้งศาสนา มีพระหฤทัยที่บริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยธรรมปัญญา พระสงฆ์เปรียบเสมือนเสนาบดีของพระพุทธองค์ การถวายทาน จึงได้ชื่อว่า ได้ดำเนินรอยตามพระยุคลบาทของพระศาสดา ผู้เป็นใหญ่แห่งสามโลกพระองค์นั้น


ผีลองดี
ครั้งหนึ่งหลวงปู่ดู่เดินทางไปเรียนวิชาทำธง ที่วัดตะเขง จังหวัดสระบุรี เพราะหลวงปู่แด่เป็นผู้สั่งให้ไปเรียน เมื่อไปถึงหลวงปู่ที่วัดท่านบอกว่า
หลวงปู่ “ผมแก่แล้วตาไม่ค่อยดี นิมนต์กลับไปเรียนกับอาจารย์แด่ท่านเถิด เออ คุณผ่านมาตรงช่องเขามีใครเขาหยอกคุณหรือเปล่า”
หลวงปู่ดู่ “มีครับแต่ไม่เป็นไร”
หลวงปู่ “ขากลับไปเถอะ ไม่มีอะไร”
หลวงปู่ดู่เล่าให้ฟังว่า
“เดินไประหว่างช่องเขา มีคนปาก้อนหินลงมาก้อนเบ้อเร่อ ถูกข้าคงตาย แต่ข้าไม่กลัว มีคนเขาเดินผ่านมาทางนี้ ผีพวกนี้มักปาแกล้งลงมา ขากลับก็ไม่มีอะไรจริงๆ ตกลงไม่ได้เรียน ต้องกลับมาหาอาจารย์แด่”

โมทนาบุญ

ผู้ที่มาทำบุญที่วัดบางครั้งมาคนเดียว มาหลายคน หรือมากับครอบครัว บางท่านมีศรัทธามากทำบุญอย่างสม่ำเสมอ แต่เกิดอุปสรรคจากสามีหรือภรรยา หรือพ่อแม่ไม่เห็นดีด้วย บางคนถึงกับออกปากว่า
“พระมีเฉพาะที่วัดสะแกหรือไง เจ้าอาวาสยังหนุ่มใช่ไหม”
ร้อยสรรพันเรื่องที่หยิบยกขึ้นมา ผู้ที่ต้องการบุญจึงเกิดความไม่สบายใจ เพราะต้องการให้เขาเหล่านั้นได้รับกุศลไปด้วย จึงมาเรียนถามความเห็นของหลวงปู่ ซึ่งท่านตอบว่า
“คนที่เข้าใจก็เห็นด้วย คนที่ไม่เข้าใจก็ไม่เห็นด้วย เอาอย่างนี้ พอทำบุญหลายๆ ครั้งรวมเป็นครั้งเดียวไปบอกให้เขาโมทนาซะ ว่าฉันไปทำบุญมา ขอให้โมทนาด้วย”
ผู้ถามถามต่ออีกว่า ถ้าต้องการให้ผู้ที่ไม่สนใจมาทางเดียวกัน ควรจะทำอย่างไร หลวงปู่ตอบว่า
“พอเวลาทำบุญก็ให้บุญกับเขา เรียกกายทิพย์เขามารับบุญ เขาเรียกว่าให้บุญใน หรือให้ทางใน นานไปเขาก็เปลี่ยนไปเอง หรือเราจะให้กับคนที่เขาโกรธเรา อาฆาตพยาบาทตัวเราก็ได้”
หลวงปู่ยังได้โยงไปถึงการให้บุญกับผู้อื่นอีก
“บุญเป็นของดี เราให้ใครก็ได้ ไม่ว่าเจ้านาย ลูกน้อง หรือคนที่เราจะไปติดต่อขอความช่วยเหลือ ได้ทั้งนั้น
บุญคือความสบายใจ การสร้างบุญโดยการให้ด้วยจิตใจที่เมตตา คือเป็นคนกล่อมเกลาจิตใจไปในตัว และเป็นการปฏิบัติธรรมอีกอย่างหนึ่งด้วย”

ไม่ต้องลอง
บ่อยครั้งที่มีผู้ต้องการปฏิบัติไปกราบนมัสการและแจ้งความประสงค์ขอปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลวงปู่ยินดีมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งมีผู้มาขอปฏิบัติกับท่านโดยพูดว่า
“ผมอยากมาลองปฏิบัติดู เขาว่าทำแล้วดี”
หลวงปู่ท่านรีบตอบว่า
“ไม่ต้องลอง ทำเลย ขืนลองก็ไม่เจอของดีสักที ธรรมะไม่ใช่ของลอง เป็นของให้ทำจึงจะเห็นผล”
ผู้เขียน “หลวงปู่มีวิธีการ หรือหลักการอย่างไร ในการเผยแพร่กับหมู่คณะที่มาปฏิบัติ”
หลวงปู่ “เราไม่ใช่อาจารย์ เราแอบทำเพราะเราไม่สามารถประกาศได้มากกว่านี้ เพียงแต่ข้าตั้งจิตอธิษฐานว่าคนใดก็ตามที่เคยทำบุญร่วมกันมา ขอให้ได้มาพบกันแล้วมาปฏิบัติธรรมเพื่อให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ได้ชาตินี้ ก็ให้ได้ชาติต่อๆ ไป บางคนเขามาแล้วก็เลยไปยังไม่ทันได้ชิม บางคนชิมแล้วยังไม่ทานก็ไป แสดงว่าเขาไม่ได้ทำบุญร่วมกับเรามาก็แค่นั้น”
ผู้เขียน “บางครั้งพระที่ดี คนในท้องถิ่นมักจะไม่ได้ของดีอย่างเช่น หลวงปู่ปาน”
หลวงปู่ “แล้วแต่บุญของเขา อย่างพระของข้า ข้าก็แจกๆ กันไป คนไกลเขาก็ได้กัน คนใกล้ไม่ค่อยได้”
ผู้เขียน “อย่างนี้เขาเรียกว่า ใกล้เกลือกินด่างใช่ไหมครับ”
หลวงปู่ “ ใกล้เกลือตีนด่าง เพราะมันเหยียบเลย ข้าโดนมาโชกแล้ว แต่ข้าไม่สนใจ ดีชั่วอยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้อยู่ที่คนอื่น เรื่องของบุญใครทำใครได้ ทำให้กันไม่ได้ เหมือนกับใครหิวข้าวก็ต้องกินเอง ใครกินใครอิ่ม บางคนต้องจ้างให้มาวัด แต่ก็มาไม่ถึงวัด เพราะแวะกินเหล้าข้างทาง บางทีให้ปฏิบัติแต่จะหวังรางวัลที่หนึ่ง หรือถูกหวย นั่นเละแล้ว ไม่ได้เรื่องแล้ว”
หลวงปู่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติที่แท้จริง ไม่ใช่ปฏิบัติเพียงหลอกๆ จึงจะเจอของจริงได้ เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นความสำคัญของการปฏิบัติเหมือนกับการกินข้าว เหมือนกับลมหายใจ แสดงว่าเรามีที่พึ่งสำหรับตนเองแน่นอน


http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_doo/lp-doo-05.htm





ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2