พระครูประพันธ์ศีลคุณ หรือหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน ๑ ในพระเกจิอาจารย์ ๑๐๘ รูป ในพิธีจักรพรรดิมหาพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ ๑๙-๒๐ มกราคม ๒๕๑๕ ณ พระวิหารพระพุทธชินราช พิษณุโลก
หลวงพ่อพันธ์ เกิดเมื่อเดือนกันยายน ๒๔๓๖ ที่บ้านโพนหนอง ต.นาหอ อ.ด่านซ้าย จ.เลย ภายหลังครอบครัวได้อพยพมาอยู่ที่ จ.พิษณุโลก ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดน้อย ชอบศึกษาคาถาอาคมและสมุนไพรว่านยามาตั้งแต่เด็ก พออายุได้ ๑๘ ปี ได้เข้ารับราชการเป็นพลตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอนครไทย เมื่อ พ.ศ. ๔๕๔ ซึ่งขณะนั้นมีหลวงปู่หุย วัดหัวร้อง นครไทย และหลวงพ่อเรือง วัดบ้านดง ชาติตระการ เป็นผู้เรืองอาคม เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไปยิ่งนัก ท่านชอบเข้าป่าหาว่านยาและแร่ธาตุต่างๆ กับศึกษาอาคม เพื่อป้องกันตัว และไข้ป่า
เนื่องจากอำเภอนครไทย หรือเมืองบางยาง ของพ่อขุนบางกลางท่าว หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นป่าดงดิบ มีสัตว์ร้ายชุกชุม ในสมัยนั้นหากข้าราชการผู้ใดถูกย้ายไปนครไทยก็เท่ากับเขาใช้ให้ไปตาย จนอายุครบ ๒๑ ปี จึงลาออกจากราชการตำรวจ อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดราชบูรณะ มีพระครูอนุโยคศาสนกิจ (รอด) วัดนางพญา (เจ้าคณะแขวง และเจ้าของเหรียญพระเกจิอาจารย์เหรียญของเมืองพิษณุโลก พ.ศ.๒๔๖๐) เป็นพระอุปัชฌาย์ ใน พ.ศ.๒๔๕๗ ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน และพุทธาคม เพิ่มเติมจากพระอุปัชฌาย์ และตำราโบราณ จนเชี่ยวชาญแตกฉาน
ภายหลังได้ลาสิกขาเพื่อดูแลบิดามารดาที่ป่วย มิได้มีผู้ดูแลอยู่สักพักหนึ่ง ท่านรู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตฆราวาส หาความสงบได้ยากยิ่ง จึงขออนุญาตบิดามารดาอุปสมบทใหม่ ที่พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยมีพระวรญาณมุนี (พร้อม พุทธสโร) เจ้าคณะมณฑลพิษณุโลก เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า "สุสิโม" แปลว่า ผู้มีความเชี่ยวชาญในพระเวทย์ จนได้ ๕ พรรษา ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลดอนทอง และใน พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูประพันธ์ศีลคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะอำเภอวังทอง (เจ้าคณะแขวงนครป่าหมาก เดิม) จึงย้ายมาจำพรรษาที่วัดตลาดชุม หรือวัดวังทองวราราม ในปัจจุบัน
หลวงพ่อพันธ์ เริ่มนำว่านยา แร่ธาตุต่างๆ มาผสมบดรวมกับชานหมาก และมหาอุด ทำจากไม้ไผ่รวกยอดด้วน ชี้ไปทางทิศตะวันขึ้น บรรจุเศษไม้สากแม่ม่าย ชานหมาก อุดด้วยดินขี้สูตดินราบ บวชพระ ๑ ครั้ง ทำได้ไม่เกิน ๒-๓ ดอก เมื่อพระสวดถึงมิ ก็ภาวนาอุด แล้วเอามีดปาดทันที นำลงอักขระเสกกำกับที่กุฏิ ๓ คืน ตลอดจนชายจีวรที่ท่านนำไปห่มต้นโพธิ์ และมีเด็กมาเลี้ยงวัวในวัดเอานำจีวรที่ต้นโพธิ์ไปทำหางว่าว แล้วเกิดทะเลากับเพื่อน จึงถูกเพื่อนฟันด้วยมีด แต่ไม่เข้าไม่ระคายผิว จึงลือลั่นไปทั่ว และมีเกียรติศัพท์ด้านอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดปลอดภัย ในสงครามอินโดจีน จึงมีผู้คนไปขอชานหมากและชายจีวร ตะกรุด ปลอกลูกปืน ลงอักขระ รูปอัดกระจก จนท่านเคี้ยวและเสกแจกให้เกือบไม่ทัน
ในยุคแรก ทหารพิษณุโลกที่ไปราชการสงคราม มาขอของดีจากท่าน อาทิ พลทหารบุญเลิศ มีศิลป์ อาสาสมัครไปรบสมรภูมิเวียดนามและลาว ถูกยิงหลายครั้ง แต่กระสุนปืนไม่ระคายผิวหนังแต่ประการใด
หลวงพ่อต้องรับธุระพระพุทธศาสนา ในฐานะเจ้าคณะปกครอง ปฏิบัติศาสนกิจมาหลายปี ไม่มีเวลาที่จะแสวงหาความสงบได้ โดยปกติหลังออกพรรษาท่านจะเดินเท้าเข้าป่า เขตวังทอง นครไทย ชาติตระการ ด่านซ้าย เลย และเพชรบูรณ์ แสวงหาว่านยา แร่ธาตุ และเจริญวิปัสสนากรรมฐาน บางครั้งท่านหายไปเป็นสิบๆ วัน ชาวบ้านคิดว่าท่านคงถูกเสือหรือสัตว์ป่าทำร้าย หรือเป็นไข้ป่าเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อท่านกลับออกมาอย่างปลอดภัยพร้อมว่านยา เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก
ด้วยความสมถะสันโดษ ในลาภยศ ท่านจึงลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอวังทอง แล้วย้ายมาอยู่ที่วัดบางสะพาน คณะศิษย์ได้ทำแม่พิมพ์พระเครื่อง พิมพ์ต่างๆ หลายแบบ มาถวายให้ท่านนำชานหมากและว่านยามากดพระพิมพ์ด้วยมือของท่าน ซึ่งท่านก็มีเมตตาแจกอย่างทั่วถึง และยังไม่เคยปรากฏพบว่าบุคคลที่รับของจากท่านไปแล้วนำติดตัวไปจะตายโหง หรือถูกอาวุธตายสักรายเดียว
คณะศิษย์ได้จัดสร้างเหรียญรูปเหมือนมาถวายให้ท่านปลุกเสก ประกอบด้วย เหรียญรุ่นแรก รูปพัดยศ ฉลองพัดยศ เจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ในราว พ.ศ.๒๔๙๐ นิยมเรียกว่า เหรียญจักร, เหรียญรุ่น ๒ เหรียญสองหน้า พ.ศ.๒๕๑๒
เหรียญรุ่น ๓ ฉลองอายุ ๘๐ ปี พ.ศ.๒๕๑๖ นิยมเรียกว่า เหรียญขวาน เนื่องจากมีประสบการณ์คล้องเหรียญรุ่นนี้ไปเที่ยวงานเขาสมอแคลงแล้วถูกฟันด้วยขวานไม่เข้า ไม่ระคายผิว หรือไม่มีเลือดตกยางออกแต่ประการใด และเหรียญรูปเหมือนรูปไข่ พ.ศ.๒๕๑๗ เนื้อทองคำ เท่าอายุ ๘๑ เหรียญ พิมพ์หลังยันต์ครู (๒๕ เหรียญ) และพิมพ์หลังพระพุทธชินราช (๕๖ เหรียญ) และเนื้อเงินและทองแดง ตลอดจนรูปหล่อโบราณหลวงพ่อพันธ์ รุ่นแรก, พระพิมพ์พระพุทธชินราช และพระนางพญาเนื้อโลหะหล่อโบราณ เทดินไทย โดยฝีมือ จ.ส.อ.ดร.ทวี บูรณะเขตต์ เป็นช่างหล่อ ปลุกเสกหารายได้สร้างบันไดวัดเขาสมอแคลง ใน พ.ศ.๒๕๑๐ เป็นต้น
พระเครื่องวัตถุมงคลชนิดต่างๆ ของหลวงพ่อพันธ์ มีพุทธคุณสูงส่ง จนเป็นที่ประจักษ์ในด้านแคล้วคลาดปลอดภัยเป็นเอกอุ จึงเป็นพระเครื่องพระเกจิอาจารย์ยอดนิยมเมืองพิษณุโลก เป็นที่นิยมแสวงหาหวงแหนกันมากเป็นยิ่งนักในปัจจุบัน
หลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน ได้ละสังขารเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๑๘ สิริอายุได้ ๘๒ ปี ปัจจุบันสังขารของหลวงพ่อพันธ์ที่มรณภาพมากว่า ๓๖ ปี ยังไม่เน่าสลายไปตามหลักธรรมชาติ เป็นรูปแรกของเมืองพิษณุโลกด้วยบุญฤทธิ์ จิตตานุภาพที่หลวงพ่อได้บำเพ็ญเพียรมาตลอดระยะเวลาในสมณเพศ สมดังฉายาที่ว่า "สุสิโม" ผู้มีความเชี่ยวชาญในพระเวทย์อย่างแท้จริง
Cradit : เรื่องเล่าขานตำนานพระเกจิฆราวาสจอมขมังเวทย์
แก้ไขข้อมูล :
ข้อมูล พระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อพันธ์ ในการอุปสมบท ครั้งแรก เดิมยังสืบค้นไม่ได้ละเอียดดีนัก ผมจึงเขียนว่า คือ พระครูอนุโยคศาสนกิจ ( รอด ) หลังจากค้น ละเอียดดี มีหลักฐาน จึงแก้ไข ให้ คือ พระครูอนุโยคศาสนกิจ ( ตุ้ม ) วัดราชบูรณะ ซึ่งมรณภาพ พ.ศ
2469 ( พบหลักฐาน จารึกที่ สถูปบรรจุอัฐิ ) แล้ว จึงเป็น พระครูอนุโยค ( รอด ) วัดนางพญา ซึ่งแก้ไขใหม่ ว่า เหรียญรุ่นแรก น่าจะในราว หลัง ปี 2470 ครับ ( คนรุ่นเก่า เล่า ว่า เหรียญ 2460 )
นี้คือ ข้อมูลที่ผมปรับแก้ไขใหม่ จากการค้นหลักฐาน จนพบ ครับ เขียนลงในลานโพธิ์ แล้วครับผม
เครดิตข้อมูล : อ.ขวัญทอง สอนศิริ (อ.โจ้ พิษณุโลก)
ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ