Baan Jompra

ชื่อกระทู้: พระคาถาเยธัมมา - หัวใจพระพุทธศาสนา [สั่งพิมพ์]

โดย: Marine    เวลา: 2015-11-2 23:02
ชื่อกระทู้: พระคาถาเยธัมมา - หัวใจพระพุทธศาสนา

[attach]12283[/attach]

คาถา เย ธมฺมาฯ ที่พบที่นครปฐม
คาถา เย ธมฺมาฯ จากภาพเป็นการจารึกที่ผนังโบสถ์ด้านนอก องค์พระปฐมเจดีย์

เย ธมฺมา เหตุ ปัพฺพวา
เตสํ เหตุงฺ ตถาคโต
เตสญฺจะ โย นิโรโธ จะ
เอวํ วาที มหาสมฺโณ


"ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปกติ ทรงสั่งสอนอย่างนี้"


คาถา เย ธมฺมาฯ นี้ นับว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นคาถาคัดมาจากพระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ ตอนพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา

โดยมีเรื่องย่อว่า “สมัยนั้น สัญชัยปริพาชก (ปริพาชก คือ นักบวชที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา) อาศัยอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยบริษัทปริพาชกหมู่ใหญ่ จำนวน ๒๕๐ คน และสมัยนั้น สารีบุตรและโมคคัลลานะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสัญชัยปริพาชก ต่างทำกติกากันว่า ใครได้บรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง

สารีบุตรปริพาชกได้เห็นพระอัสสชิเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต มีความเลื่อมใสในความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยของท่าน จึงรอจนได้โอกาสก็เข้าไปถามถึงหลักธรรมในศาสนาที่ท่านบวช ท่านกล่าวหลักธรรมเพียงย่อๆ ให้ฟังว่า

"ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น"

สารีบุตรได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วนำมาเล่าให้โมคคัลลานะฟัง โมคคัลลานะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงพากันไปลาปริพาชก ๒๕๐ คน เพื่อจะไปบวชในสำนักพระบรมศาสดา แต่ปริพาชกเหล่านั้นขอไปด้วย จึงพร้อมกันไปลาสัญชัยผู้เป็นอาจารย์ สัญชัยขอให้อยู่กันบริหารหมู่คณะถึง ๓ ครั้ง แต่สาริบุตรกับโมคคัลลานะไม่ยอม คงลาไป พร้อมทั้งปริพาชก อีก ๒๕๐ คน สัญชัยเสียใจ ถึงอาเจียนเป็นโลหิต

เมื่อปริพาชกทั้งหลาย ได้ไปเฝ้าทูลขอบวชในพระพุทธศาสนาต่อพระผู้มีพระภาคก็ได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระไตรปิฎกฉบับประชาชน ภาค ๔ ความย่อแห่งพระไตรปิฎก เล่ม ๔, ๒๕๓๙, หน้า ๒๑๗)”


โดย: Marine    เวลา: 2015-11-2 23:03
ไม่มีคำว่า "บังเอิญ" ในทางพระพุทธศาสนา

เย ธัมมา เหตุปปะภะวา.......ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ.....

อดีตแห่งพระสารีบุตร ถาม-"ใครเป็นศาสดาของท่าน ศาสดาของท่าน สอนไว้ว่าอย่างไร?

พระอัสสชิ ตอบ-"อาตมาเป็นพระใหม่ ไม่อาจตอบสาระธรรมที่ลึกซึ้งได้" แม้พระอัสสชิเป็นพระนวกะ ยังไม่รู้ธรรมลึกซึ้ง แต่ได้แสดงธรรมสำคัญ อันเป็นหัวใจพระศาสนา โดยย่อว่า "เย ธัมมา เหตุปปะภะวา เตสัง เหตุ ตะถาคะโต เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ เอวัง วาที มะหาสะมะโณ"....

ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสบอกถึงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น พร้อมทั้งความดับแห่งเหตุของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณเจ้ามีปกติตรัสสอนอย่างนี้.....พระสารีบุตร ซึ่งกำลังแสวงหาโมกขธรรม ได้ยินคำตอบเช่นนี้ ก็เกิดความรู้แจ้ง ได้บรรลุธรรม มีดวงตาเห็นธรรม

มีเรื่องเล่ามาว่า ที่ใกล้กรุงราชคฤห์ มีหมู่บ้านพราหมณ์อยู่ 2 หมู่บ้าน หัวหน้าหมู่บ้านทั้งสองได้เป็นมิตรสหายสนิทสนมกันมาช้านานและต่างก็มีบุตรชาย หัวหน้าพราหมณ์ หมู่บ้านหนึ่ง มีบุตรชายชื่อ อุปติสสะ อีกหมู่บ้านหนึ่งหัวหน้าพราหมณ์ก็มีบุตรชายเหมือนกัน ชื่อ โกลิตะ อุปติสสะ และ โกลิตะ ได้คบหากันเป็นเพื่อนสนิท
เล่าเรียนวิชาทางลัทธิพราหมณ์มาด้วยกัน แต่ก็มีความรู้สึกว่าแนวทางสั่งสอนของสำนักพราหมณ์ต่างๆ นั้น หาใช่ทางแห่งความหลุดพ้นอย่างแท้จริงไม่

ทั้งสองคนจึงต่างออกแสวงหาศาสดา ที่สอนโมกขธรรมคือธรรมที่เป็น เครื่องหลุดพ้น โดยให้คำมั่นสัญญากันว่า เมื่อฝ่ายใดสามารถได้พบศาสดาที่สอนธรรมเช่นนั้นได้ก่อน ก็ต้องกลับมาบอกอีกฝ่ายหนึ่งให้ทราบด้วย จะได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์พร้อมกัน

วันหนึ่ง อุปติสสะมาณพ ได้ไปพบ พระอัสสชิ ซึ่งเป็นภิกษุองค์หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นปฐมสาวกของพระพุทธองค์ ขณะนั้นพระอัสสชิกำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ อุปติสสะเห็นกิริยาสำรวมและสงบของพระอัสสชิ ก็เกิดความสนใจและเลื่อมใส อุปติสสะจึงเดินตาม พระอัสสชิ จนท่านบิณฑบาตเสร็จ กลับไปฉันเรียบร้อยแล้ว จึงได้ช่อง เข้าไปถามว่า ท่านบวชกับใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน

พระอัสสชิตอบว่า พระศาสดาของท่านคือพระสมณโคดม ซึ่งอยู่ในวงศ์ศากยะได้เสด็จทรงผนวชจนตรัสรู้โดยพระองค์เอง

อุปติสสะ จึงถามต่อไปว่า พระสมณโคดม ศาสดาของท่าน สอนธรรมอะไรเป็นสำคัญ ขอให้แสดงธรรมะนั้นให้ฟัง
พระอัสสชิกล่าวถ่อมตนว่า ท่านเพิ่งเข้ามาบวช ยังไม่อาจแสดงหลักธรรมได้กว้างขวางมากนัก ได้แต่กล่าวอย่างย่อๆ อุปติสสะก็บอกว่าไม่ต้องแสดงหลักธรรมให้ยืดยาวเยิ่นเย้อหรอก เอาแต่แค่ใจความก็พอแล้ว!

พระอัสสชิ จึงกล่าวเป็นคาถาสั้นๆ รวมสี่บาท ความว่า :

เยธัมมา เหตุปัปภวา ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ
เตสัง เหตุ ตถาคโต พระตถาคตเจ้า ตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้น
เตสัญจะโย นิโร โธจะ และความดับของธรรมเหล่านั้น
เอวังวาที มหาสมโณติ พระมหาสมณะ มีวาทะตรัสไว้ดังนี้


พระอัสสชิถ่อมตนว่าบวชใหม่ รู้น้อย แต่สามารถสรุปหัวใจของอริยสัจได้ในคาถาเพียงสี่บาทเท่านั้น แสดงว่าพระปัญจวัคคีย์รูปนี้เป็นผู้รู้จริง รู้ลึกถึงแก่นของหลักอริยสัจทีเดียว ฝ่ายอุปติสสะ ได้ฟังคาถาที่พระอัสสชิกล่าวแล้ว ก็เกิดดวงตาเห็นธรรม (บรรลุเป็นพระอริยะโสดาบัน)

มองเห็นว่า สรรพสิ่งทั้งหลายมีความเกิดเป็นธรรมดา แต่สรรพสิ่งเหล่านี้ล้วนมีความดับสูญเป็นธรรมดาเช่นกัน

(คัดมาจาก http://onknow.blogspot.com/2009/08/blog-post_5399.html?m=1)

โดย: Marine    เวลา: 2015-11-2 23:03
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นสารีบุตรโมคคัลลานะมาแต่ไกลเทียว ครั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สหายสองคนนั้น คือโกลิตะ และอุปติสสะกำลังมานั่น จักเป็นคู่สาวกของเรา จักเป็นคู่อันเจริญชั้นเยี่ยมของเรา

ก็สหายสองคนนั้นพ้นวิเศษแล้ว ในธรรมอันเป็น ที่สิ้นอุปธิ อันยอดเยี่ยม มีญาณวิสัยอันลึกซึ้ง ยังมาไม่ทันถึงพระวิหารเวฬุวัน พระศาสดา
ทรงพยากรณ์ ว่าดังนี้ สหายสองคนนี้คือ โกลิตะและอุปติสสะกำลังมานั่น จักเป็นคู่สาวกของเรา จักเป็นคู่อันเจริญชั้นเยี่ยมของเรา.

จาก พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑

ที่พระพุทธองค์พยากรณ์อย่างนั้น ก็มิใช่ด้วย “พยากรณ์จาก ดวงชะตา หรือโหงวเฮ้ง” แต่เป็นพระพระพุทธองค์ รู้ถึงอดีต ที่ทั้ง โกลิตะ และอุปติสสะ ได้กระทำเหตุ “สั่งสม” มา และได้ “อธิษฐาน” เพื่อมาเป็น “พระอัครสาวก” มาแต่ในอดีต จนบารมีเต็มเปี่ยม ถึงพร้อม แล้วในปัจจุบันขณะนั้น จึงได้ พยากรณ์ อย่างนั้น

อุปติสสะจึงกลับไปหาเพื่อนที่ชื่อ โกลิตะ ตามที่สัญญากันไว้ บอกเพื่อนว่าได้พบศาสดาผู้ล่วงรู้อมตธรรมแล้ว มาณพทั้งสองจึงพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แถมยังพาบริวารของตนมีจำนวน 250 คนไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วย ทั้งหมดได้ทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าก็ประทานให้อุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ อุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธองค์

มาณพทั้งสอง รวมทั้งบริวาร เมื่อได้อุปสมบทแล้ว และได้บำเพ็ญเพียร ไม่ช้านักก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

ส่วนคาถา เย ธมฺมา ซึ่งพระอัสสชิ กล่าวแก่ อุปติสสะมาณพนั้น เป็นการกล่าวสรุปในหลักธรรมสำคัญที่สุดของพุทธศาสนา คือ อริยสัจ อริยสัจมีสี่ประการ

ประการแรก ได้แก่ ทุกข์ ซึ่งเป็น ผล
ประการที่สอง ได้แก่ สมุทัย ได้แก่ เหตุให้เกิดทุกข์ จึงเป็น เหตุ ที่ทำให้เกิด ผล คือ ทุกข์ ในประการแรก
ประการที่สาม คือ นิโรธ คือความดับทุกข์ ซึ่งเป็น ผล ทำให้ทุกข์นั้นดับสิ้นไป
และประการที่สี่ซึ่งเป็นประการสุดท้าย คือ มรรค เป็นข้อปฏิบัติให้เกิดความดับทุกข์ นับว่าเป็น เหตุ อีกเหมือนกัน

เมื่อนำหลักอริยสัจสี่ประการนี้ เข้ามาพิจารณาตัวคาถา เย ธมฺมา จะเป็นดังนี้

คาถาบาทที่หนึ่ง เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา มีความว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ ก็หมายถึง ทุกข์ ซึ่งป็น ผล อันเกิดจาก เหตุ ดังกล่าว

คาถาบาทที่สอง เตสํ เหตุ ตถาคโต มีความว่า พระตถาคตตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้น นี่ก็คือเรื่อง สมุทัย ซึ่ง เหตุ เป็นอริยสัจข้อที่สอง

คาถาบาทสาม เตสญฺจ โย นิโรโธ จ มีความว่า และความดับของธรรมเหล่านั้น ก็คือพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเรื่อง นิโรธ และ มรรค ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติอันเป็น ผล นำไปสู่ให้ถึงความดับทุกข์ในที่สุด

ส่วนคาถาบาทสุดท้าย เอวํ วาที มหาสมโณติ ความว่า พระมหาสมณะมีวาทะไว้อย่างนี้ ก็คือ พระพุทธองค์ได้ ตรัสสั่งสอนไว้เช่นนี้

อันที่จริง คาถา เย ธมฺมา ซึ่งพระอัสสชิกล่าวนี้ มิได้หมายเฉพาะแต่เรื่องอริยสัจสี่เท่านั้น แต่ยังหมายถึงหลักธรรมทั่วไปของพระพุทธศาสนาอีกด้วย

หลักธรรมของพระพุทธศาสนาโดยทั่วไป ได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เหตุ กับผล ผล ที่ดีต่างๆ ล้วนเกิดจาก เหตุ ที่ดีทั้งนั้น ซึ่งจะเรียกว่า บุญ หรือกุศลกรรมก็ได้ ส่วน ผล ที่ไม่ดีต่างๆ ก็ล้วนเกิดจาก เหตุที่ไม่ดี คือบาป หรืออกุศลกรรมนั่นเอง

พระพุทธองค์จึงได้ทรงชี้ให้เห็นว่า เหตุ ที่ดี คือ บุญหรือกุศลกรรมย่อมมีผล ในทางที่ดี ส่วน เหตุ ที่ไม่ดี คือ บาปหรืออกุศลกรรม ก็ย่อมมี ผลในทางตรงข้าม

นอกจากนั้นยังตรัสชี้ เหตุคือทำความดี คือทำบุญหรือกุศลกรรม เพื่อให้เกิดผลที่ดีแก่ตัวผู้ปฏิบัติเอง ในทำนองเดียวกัน เหตุคือทำความไม่ดี คือทำบาปหรืออกุศลกรรม ก็ย่อมนำผลร้ายมาสู่ชีวิตของผู้ปฏิบัติเองเช่นกัน

พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ไม่ได้สอนให้คนหวังความช่วยเหลือเอื้ออำนวยจากพลังภายนอก หรือพลังเหนือ ธรรมชาติในรูปใดๆ ก็ตาม

แต่สอนให้เชื่อมั่นในหลัก "กรรม" คือการกระทำของตนเอง ถ้าทำดีก็ย่อมได้ผลที่ดี ตรงกันข้าม ถ้าทำชั่วทำเลว ก็ย่อมได้รับผลร้ายหรือผลไม่ดีเอง!

คาถา เย ธมฺมา ซึ่ง พระอัสสชิ กล่าวนั้น จึงเป็นการกล่าวคาถาสรุป

รวมยอดของพุทธธรรมเดียว (หัวใจพระพุทธศาสนา)

ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงโปรดให้สลักแท่งศิลาจารึกคาถาบทนี้ไว้มากมาย

(คัดมาจาก http://onknow.blogspot.com/2009/08/blog-post_5399.html?m=1)

แต่ไม่พบใน "อินเดียปัจจุบัน" แต่พบทั่วไปในแผ่นดินไทย

โดย: Marine    เวลา: 2015-11-2 23:06
[attach]12284[/attach]


กำเนิดพระพิมพ์ พระพิมพ์ทวาราวดี พระพิมพ์ซุ้มพุทธคยา พระพิมพ์ปางมหาปาฏิหาริย์ สมัยทวาราวดี นิยมสร้างพระพิมพ์ด้วยดินเผา คติในการสร้างพระพิมพ์แต่เดิมนั้น กำเนิดพระพิมพ์คงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นของที่ระลึก พระพิมพ์ปางมหาปาฏิหาริย์ เป็นพระเครื่องเนื้อดินพบที่ ราชบุรี มีจารึกคาถา เย ธัมมา อยู่ด้านหลัง (ในภาพ) หากได้พบพระพิมพ์และจารึกย่อๆ คาถา เย ธัมมา (ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา) แล้วก็ยังจะรู้ได้ว่า มีพระ พุทธศาสนาซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเกิดขึ้นแล้ว


พระพิมพ์ปางมหาปาฏิหาริย์ พบที่ราชบุรี มีจารึกคาถา เย ธัมมา อยู่ด้านหลัง

          ส่วนหนึ่งของกิจกรรม เนื่องในเทศกาลวัฒนธรรมฝรั่งเศส-ไทย ครั้งที่ 6 ประจำ ปี พ.ศ.2552 คือ นิทรรศการ เรื่อง "ศิลปะทวาราวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย" ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑ์สถาน แห่งชาติเปิดให้ประชาชนเขาชมตั้งแต่ วันที่ 14 ส.ค.ไปจนถึงวันที่ 9 ต.ค.นี้ ตอนหนึ่งจากหนังสือ ศิลปะทวาราวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย (มีจำหน่ายในงาน) ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เขียนเรื่องพระพิมพ์...ว่า

          กำเนิดพระพิมพ์ สมัยทวาราวดี นิยมสร้างพระพิมพ์ด้วยดินเผา คติในการสร้างพระพิมพ์แต่เดิมนั้นคงมี วัตถุประสงค์เพื่อเป็นของที่ระลึก แสดงถึงการที่พุทธศาสนิกชนได้ไปบูชาสังเวชนียสถานทางพระพุทธศาสนาในประเทศ อินเดีย 4 แห่ง คือสถานที่ประสูติ (สวนลุมพินี) สถานที่ ตรัสรู้ (ตำบลพุทธคยา) สถานที่ประทานปฐมเทศนา (ตำบลสารนาถ) และสถานที่ปรินิพพาน (เมืองกุสินารา) หรือสร้างขึ้นเพื่อสืบอายุพระพุทธ ศาสนา ให้พระพุทธรูปและพระธรรมอันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาปรากฏอยู่ แม้จนกระทั่งเมื่อปัญจอันตรธานมาถึง

          โดยเชื่อตามคัมภีร์ของลังกาว่า เมื่อ พ.ศ.5000 มาถึง พระพุทธศาสนาจะเสื่อมทราม ไม่มีพระสงฆ์และไม่มีใครสามารถรู้พระธรรมวินัยแล้ว หากได้พบพระพิมพ์และจารึกย่อๆ คาถา เย ธัมมา (ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา) แล้ว ก็ยังจะรู้ได้ว่า มีพระพุทธศาสนาซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเกิดขึ้นแล้ว

ด้วยเหตุนี้ จึงนิยมสร้างพระพิมพ์จำนวนมากบรรจุไว้ตามเจติยสถาน เพื่อเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนา

พระพิมพ์ที่สร้างขึ้นสมัยทวาราวดี มีหลายรูปแบบ...ดังนี้

          พระพิมพ์ปางมหาปาฏิหาริย์ พบที่ราชบุรี มีจารึกคาถา เย ธัมมา อยู่ด้านหลัง (ในภาพ) พระพิมพ์นี้ ได้มีการตีความออกเป็น 2 แนวความคิด

          แนวคิดแรกชื่อว่าเป็นพระพุทธประวัติตอนแสดงมหาปาฏิหาริย์ ที่เมืองสาวัตถี

          แนวคิดที่สอง เป็นเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมบนยอดเขาคิชฌกูฏ ตามคัมภีร์สัทธรรมบุณฑริกสูตรของมหายาน ที่ใช้ภาษาสันสกฤต ผสมภาษาปรากฤต

          คัมภีร์นี้กล่าวถึงการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าเป็น 4 ขั้น เพื่อสั่งสอนให้สัตว์ทั้งหลายได้พ้นทุกข์ โดยแสดงธรรมขั้นต่ำแก่ฝ่ายหินยานก่อน แล้วจึงแสดงธรรมชั้นสูงต่อฝ่ายมหายาน โดยแสดงต่อพระโพธิสัตว์ เพื่อให้ถึงความเป็นพระพุทธเจ้า (ตรัสรู้) เท่านั้น

          พระพิมพ์ซุ้มพุทธคยา มีทั้งพิมพ์เล็กพิมพ์ใหญ่ เป็นแบบที่สืบทอดมาจากต้นแบบพระพิมพ์พุทธคยาในประเทศอินเดีย พบมาก ที่นครปฐม เมืองอู่ทอง ราชบุรี กาญจนบุรี กรุวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ และพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          การค้นพบพระพิมพ์พุทธคยา นับเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้ถึงเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ที่สุด สิ่งหนึ่ง เพราะพบทั้งในประเทศอินเดีย พม่า และไทย

          บทความพระเครื่องเรื่องพระพิมพ์ที่ประกอบด้วยสถูป หรือธรรมจักรด้านข้าง เป็นพระพิมพ์ดินเผาอีกรูปแบบหนึ่งที่แพร่หลายในวัฒนธรรมทวาราวดี ประกอบด้วยพระพุทธรูปประทับอยู่ตรงกลาง ประดับด้วยสถูปและธรรมจักร หรืออาจเป็นสถูปทั้งสองด้าน องค์พระโดยทั่วไปมี ปางสมาธิ ปางมารวิชัย และปางประทับนั่งด้วยพระบาท แสดงปางประทานธรรม. คำ ว่าพระเครื่อง พระพิมพ์

O บาราย O
ที่มาหนังสือไทยรัฐ ออนไลน์ http://www.thairath.co.th/content/pol/29533



โดย: Sornpraram    เวลา: 2015-12-3 07:21

"ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น"
โดย: lnw    เวลา: 2016-1-5 07:06
เย ธมฺมา เหตุ ปัพฺพวา
เตสํ เหตุงฺ ตถาคโต
เตสญฺจะ โย นิโรโธ จะ
เอวํ วาที มหาสมฺโณ

"ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปกติ ทรงสั่งสอนอย่างนี้"




โดย: Nujeab    เวลา: 2016-1-27 11:17
สาธุ สาธุ สาธุ
โดย: ธี    เวลา: 2016-1-27 13:43

โดย: Sornpraram    เวลา: 2016-4-1 06:07

โดย: Sornpraram    เวลา: 2016-4-11 06:50
เย ธมฺมา เหตุ ปัพฺพวา
เตสํ เหตุงฺ ตถาคโต
เตสญฺจะ โย นิโรโธ จะ
เอวํ วาที มหาสมฺโณ

"ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปกติ ทรงสั่งสอนอย่างนี้"



โดย: Sornpraram    เวลา: 2016-6-10 06:34

โดย: Metha    เวลา: 2016-7-1 10:52
ธรรมเกิดจากเหตุ...เหตุ เป็นที่มาแห่ง "ธรรม"
โดย: Sornpraram    เวลา: 2019-11-22 06:44






ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2