Baan Jompra

ชื่อกระทู้: คนไทยมาจากไหน? : โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ [สั่งพิมพ์]

โดย: รามเทพ    เวลา: 2015-9-16 06:54
ชื่อกระทู้: คนไทยมาจากไหน? : โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



ไทยมีบรรพชนร่วมกับคนสุวรรณภูมิอุษาคเนย์

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ทั้งของผู้คนและดินแดนเป็นส่วนหนึ่งอย่างแยกจากกันไม่ได้ของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์

เป็นประวัติศาสตร์ของผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ที่ไม่กีดกันคนอื่นและดินแดนที่ไม่มีเส้นกั้นอาณาเขต

แต่ราว50ปีมาแล้ว คนทั่วไปยังข้องใจ บรรพบุรุษของไทยเป็นใคร จึงมีหัวข้อสัมมนาทางประวัติศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2507 ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ท้องพระโรง วังท่าพระ (เพิ่งเปิดใช้งานสาธารณะครั้งแรก  หลังถ่ายโอนวังท่าพระให้เป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร)

ในท้องพระโรงมีผู้สนใจจากที่ต่างๆนั่งฟังเต็มจนล้น  อาจารย์จึงเกณฑ์นักศึกษาใหม่ของคณะฯไปนั่งฟังรวมๆกันอยู่ใต้สุมทุมพุ่มไม้ในสวนแก้ว (นอกท้องพระโรงด้านข้าง)

ในจำนวนนั้น มีผมรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง เพิ่งเป็นนักเรียนน้อยปีแรก  ยังจับต้นชนปลายไม่ได้ เท่ากับ "เข้าหูซ้าย ทะลุหูขวา" เพราะพื้นฐานมีไม่พอทางความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่ผู้เชี่ยวชาญพูดกัน

หลังจากนั้น ราวปลายปี  พ.ศ. 2522 ผมเริ่มทำขายนิตยสารรายเดือนชื่อ ศิลปวัฒนธรรม

ประเด็น"บรรพบุรุษของไทยเป็นใคร" ที่เข้าหูซ้าย ทะลุหูขวา เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ผุดขึ้นมาในความทรงจำ เพราะยังไม่มีคำอธิบาย (จนทุกวันนี้) จึงยกเป็น"จุดขาย" โดยปรับใหม่ให้คำและความกระชับตามโจทย์ของสังคมไทยว่า  คนไทยมาจากไหน?

เหตุที่มีคำถามอย่างนั้น เพราะประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยไม่น่าเชื่อ  โดยเลือกให้ความสำคัญคนกลุ่มเดียวที่เรียกชนชาติไทย แล้วกีดกันคนกลุ่มอื่นออกไป

ทั้งๆในความเป็นจริงที่มีหลักฐานรองรับคับคั่งทางประวัติศาสตร์โบราณคดี  ชนชาติไทยหรือคนไทยล้วนมีที่มาจากการประสมประสานของคนกลุ่มอื่นๆหลากหลาย "ร้อยพ่อพันแม่" แล้วมีบรรพชนร่วมกันบนสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์



http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441248418


โดย: รามเทพ    เวลา: 2015-9-16 06:57


รายงานพิเศษ: สืบจากศพ 3พันปี! ที่บ้านเก่า เมืองกาญจน์ คนไทยคือใคร? มาจากไหน?


โครงกระดูกมนุษย์ 3,000 ปีมาแล้ว 2 โครงแรก ขุดพบเมื่อ พ.ศ. 2504 ที่บ้านเก่า ต. จรเข้เผือก อ. เมือง จ. กาญจนบุรี (ภาพจาก Archaeological excavation in Thailand.  Copenhagen : Munksgaard, 1967-1969)


บรรพบุรุษของไทยเป็นใคร  คือคำถามก้าวหน้าที่สุดทางวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีเมื่อ 50 ปีที่แล้ว โดยอาจารย์กลุ่มเล็กๆ  ของคณะโบราณคดี [ก่อตั้ง พ.ศ. 2498 ครบ 60 ปี พ.ศ. 2558] มหาวิทยาลัยศิลปากร

มีต้นเหตุจากนักโบราณคดีไทย-เดนมาร์ก ครั้งนั้นอธิบายไม่ได้ว่าเป็นคนพวกไหน? เมื่อขุดพบโครงกระดูกมนุษย์มีอายุเก่าแก่หลายพันปีมาแล้ว บริเวณแควน้อยลุ่มน้ำแม่กลอง เมืองกาญจน์


คำถามก้าวหน้าว่าบรรพบุรุษของไทยเป็นใคร? มีพลังอย่างลึกๆ แล้วค่อยๆ  แผ่ออกไปทีละน้อยอย่างเงียบๆ

กระทั่งนานไปก็เกิดคำถามดังๆ  ในสำนึกของคนหลายเผ่าพันธุ์ในประเทศไทย ว่าคนไทยคือใคร? มาจากไหน?

แล  ประวัติศาสตร์ไทยที่ใกล้เคียงความถูกต้องควรเป็นอย่างไร? ฯลฯ

ก่อนหน้านี้ไม่มีที่สงสัย  เพราะรู้จากตำราประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยสอนนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ  ว่าคนไทยมีแหล่งกำเนิดอยู่ทางเหนือๆ ขึ้นไป แล้วถูกรุกราน

แต่ไทยรักสงบ  จึงอพยพหนีลงมา

อัลไต, น่านเจ้า, สุโขทัย


(ซ้าย) คนงานท้องถิ่น และนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร  กำลังปฏิบัติงานในหลุมขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า ต. จรเข้เผือก อ. เมือง จ. กาญจนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2504

(ขวา) อ. ชิน อยู่ดี (คนยืนตรงกลาง หันด้านข้าง) หัวหน้าคณะสำรวจฝ่ายไทย (ซึ่งเป็นหัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร และเป็นอาจารย์พิเศษคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) สำรวจพบขวานหิน และโครงกระดูกมนุษย์ 3,000 ปีมาแล้ว โครงแรกในประเทศไทย  หลังจากนั้นยังขุดพบโครงกระดูกพร้อมสิ่งของต่างๆ อีกจำนวนมาก เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2504

(ภาพจาก ชิน อยู่ดี บิดาแห่งวิชาก่อนประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเณศ. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี 16 ต.ค. 2529.)



ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยอันมีพิรุธมาก แล้วครอบงำสังคมมาก่อนหน้านั้น (จนทุกวันนี้) บอกชัดเจน ว่า

คนไทยมีแหล่งกำเนิดอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไต ทางเหนือๆ จีนขึ้นไป  แล้วอพยพหนีการรุกรานลงทางทิศใต้ ไปตั้งอาณาจักรน่านเจ้า

ต่อมากองทัพจีนโจมตีน่านเจ้าแตก  คนไทยต้องอพยพถอนรากถอนโคนลงมาทางทิศใต้อีก จนถึงดินแดนที่เป็นประเทศไทย  ยอมอยู่ในอำนาจมอญและขอมที่อยู่มาก่อน

ครั้นราว พ.ศ. 1800 ก็ปลดแอกจากอำนาจขอม  แล้วสร้างกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก

เมื่อกรุงสุโขทัยล่มสลาย  จึงมีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี


ศพ 3,000 ปี ที่บ้านเก่า เมืองกาญจน์

โครงกระดูกมนุษย์ 3,000 ปีมาแล้ว ขุดพบเป็นครั้งแรกในไทย ที่บ้านเก่า เมืองกาญจน์ โดยนักโบราณคดีไทย-เดนมาร์ก ใน  โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศเดนมาร์ก พ.ศ. 2503-2505

[ขณะนั้นเป็นยุคเผด็จการทหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี (2502-2506)]

จึงเกิดข้อสงสัยทั่วกันในสังคมไทย ว่าโครงกระดูกที่พบเป็นใคร? เป็นคนไทยหรือไม่? ถ้าไม่ใช่คนไทย แล้วทำไมมาตายแล้วฝังศพที่นั่น? ฯลฯ


(บน) เครื่องเซ่นและเครื่องมือเครื่องใช้ ที่ฝังร่วมกับศพ 3,000 ปีมาแล้ว ที่บ้านเก่า ต. จรเข้เผือก อ. เมือง จ. กาญจนบุรี (ภาพจาก Archaeological excavation in  Thailand. Copenhagen : Munksgaard, 1967-1969)


ถ้าเป็นโครงกระดูกคนไทย  ก็แสดงว่ามีคนไทยในดินแดนประเทศไทยตั้งแต่ 3,000 ปีมาแล้ว  ไม่ตรงกับประวัติศาสตร์ไทยของทางการ

การขุดค้นครั้งแรกนี้  นับเป็นก้าวแรกที่ประเทศไทยเริ่มต้นสำรวจและขุดค้นตามหลักสากลของกระบวนการศึกษาวิชาโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์

โดยมีอาจารย์และนักศึกษาคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมขุดค้นเพื่อหาความรู้และประสบการณ์ทางโบราณคดีสากล

[ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในไทยตกลงกันว่าราวก่อนพ.ศ.1000เพราะยังไม่มีลายลักษณ์อักษรครั้นหลัง พ.ศ. 1000 เป็นยุคประวัติศาสตร์ เมื่อมีจารึกอักษรจากอินเดีย พบที่ จ. จันทบุรี]


(ล่าง) แควน้อย ลุ่มน้ำแม่กลอง  ใกล้แหล่งที่นักโบราณคดีไทย-เดนมาร์ก ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ 3,000 ปีมาแล้ว ที่บ้านเก่า ต. จรเข้เผือก  อ. เมือง จ. กาญจนบุรี (ภาพโดย ประภัสสร์ ชูวิเชียร  คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร)


บรรพบุรุษของไทยเป็นใคร

การขุดค้นที่บ้านเก่า  เมืองกาญจน์ ของนักโบราณคดีไทย-เดนมาร์ก  ส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ให้สังคมไทยเริ่มตั้งคำถามความเป็นมาของตนเอง

บรรพบุรุษของไทยเป็นใคร  คือหัวข้อของอาจารย์กลุ่มหนึ่งในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร  ร่วมกันจัดสัมมนาทางประวัติศาสตร์โบราณคดีขึ้นครั้งแรก ใน ท้องพระโรง วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร  เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2507

ครั้งนั้นมีผู้คนสนใจเข้าฟังคับคั่งจนล้นห้องท้องพระโรง วังท่าพระ  เพราะไม่เคยมีกิจกรรมอย่างนี้มาก่อน

แม้ยังไม่มีคำตอบชัดเจน  แต่สังคมไทยเริ่มรับรู้อย่างจริงจังว่าประวัติศาสตร์ไทย มีข้อพิรุธ ต้องศึกษาค้นคว้าใหม่ เช่น

เรื่องแหล่งกำเนิดคนไทยบริเวณเทือกเขาอัลไต  จะเชื่อถือเป็นยุติโดยไม่มีที่สงสัยต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ฯลฯ และเรื่องอื่นๆ  อีกมาก

แต่ยังไม่มีคำอธิบายจากทางการ และจากสถาบันการศึกษาที่น่าเชื่อถือ  แม้จนทุกวันนี้

สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ  ควรร่วมมือกันศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่องเรื่องเหล่านี้

โดยเฉพาะคณะโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร ควรสานต่อเพื่อตอบโจทย์ บรรพบุรุษของไทยเป็นใคร เมื่อ 50 ปีที่แล้ว

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441248127


โดย: lnw    เวลา: 2015-9-16 18:56
อัลไต  
โดย: Nujeab    เวลา: 2015-9-17 12:45
ขอบคุณครับ




ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2