Baan Jompra
ชื่อกระทู้:
ชูชก-ยอดเครื่องรางแห่งการขอ
[สั่งพิมพ์]
โดย:
Sornpraram
เวลา:
2015-7-27 05:07
ชื่อกระทู้:
ชูชก-ยอดเครื่องรางแห่งการขอ
พันธุ์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์
"ชูชกมีอานุภาพทางด้านเสริมดวงในทางด้านขอโชคขอลาภ กู้หนี้ยืมสิน ขอลาภเงินทอง เจรจาขอผัดผ่อนหนี้สิน ขอเลื่อนและขอลาภจากผู้ใหญ่ และด้านการขอทุกชนิด จึงเป็นที่มาของการบูชา"
พราหมณ์เฒ่าขอทานนามว่า "ชูชก" ผู้มีเรื่องราวกล่าวถึงในตำนานพุทธประวัติและพระไตรปิฎก มากมาย ในฐานะเป็นผู้ที่เกิดมาเพื่อเป็นคู่บารมีของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ทั้งเป็น ผู้รับและผู้ให้
นอกจากนี้ยังเป็นคนที่เก็บหอมรอมริบ มัธยัสถ์จนถึงขั้นมั่งมีเงินทอง มีภรรยาสวยงดงาม และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถหลุดพ้นด่านต่างๆ จนไปถึงเขาวงกตขอชาลี-กัณหาจากพระเวสสันดรจนสำเร็จ
ดังนั้น บรรดาพระเกจิคณาจารย์และผู้ที่มีความรอบรู้ในเรื่องของไสยเวท จึงมีความเชื่อว่า "ชูชก" เป็นเจ้าแห่งโภคทรัพย์ เจ้าแห่งสติปัญญา เจ้าแห่งการขอที่ยิ่งใหญ่
และได้นำรูปลักษณ์ของชูชกมาสร้างเป็นเครื่องรางของขลัง โดยใช้มวลสารมงคลต่างๆ เช่น เป็นเนื้อดินผสมผงโลหธาตุที่เป็นมงคลและมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว ผสมกับด้าย แผ่นยันต์ แผ่นจาร เครื่องใช้สำริด ทองโบราณ เงินโบราณ แร่ธาตุกายสิทธิ์ที่มีคุณวิเศษเหมือนเหล็กไหล
สร้างเป็น "เฒ่าชูชก" ซึ่งมีความเชื่อว่าขอได้ทุกอย่างเหมือนดั่ง "ชูชก" ในพุทธประวัติ
ในบรรดาเครื่องรางของขลังที่มีนามว่า "ชูชก" ที่มีอานุภาพทางด้านเสริมดวงในทางด้านขอโชคขอลาภ กู้หนี้ยืมสิน ขอลาภเงินทอง เจรจาขอผัดผ่อนหนี้สิน ขอเลื่อนและขอลาภจากผู้ใหญ่และด้านการขอทุกชนิดนั้น
มีการสร้างด้วยกันหลายสำนักสืบต่อมาถึงปัจจุบัน ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดเห็นจะเป็นของ หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน จ.สมุทรสาคร ซึ่งหายาก มากๆ และสนนราคาสูงมาก
ต่อมาก็เป็น หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง หลวงพ่อแล วัดพระทรง จ.เพชรบุรี หลวงพ่อไสว วัดปรีดาราม จ.นครปฐม หลวงพ่อสาคร วัดหนองกรับ จ.ระยอง และ หลวงพ่อมี วัดมารวิชัย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
กล่าวถึง หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน จ.สมุทรสาคร พระเกจิชื่อดังแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง ที่มีเรื่องราวอิทธิปาฏิหาริย์เป็นที่กล่าวขวัญกันมากมาย
ท่านเป็นชาวปทุมธานี เชื้อสายรามัญ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2406 ในวัยเด็กท่านมีร่างกายอ่อนแอขี้โรค บิดามารดาจึงนำไปถวายเป็นบุตรบุญธรรมหลวงพ่อแค วัดบางน้ำวน พระเถระเชื้อสายรามัญ ที่เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวรามัญในสมัยนั้น
หลังจากนั้นปรากฏว่าท่านกลายเป็นเด็กเลี้ยงง่ายห่างหายจากโรคภัยไข้เจ็บ หลวงพ่อแคจึงตั้งชื่อให้ท่านว่า "รอด" ตั้งแต่บัดนั้นมา พออายุได้ 12 ปี ก็บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาเล่าเรียนกับหลวงพ่อแค จนอายุครบบวชจึงได้อุปสมบทที่วัดบางน้ำวน โดยมี หลวงพ่อแค เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา "พุทธสัณโฑ"
หลวงปู่รอดอยู่ปรนนิบัติรับใช้ หลวงพ่อแค พระอุปัชฌาย์ และศึกษาวิทยาคมต่างๆ ทั้งเมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี วิชาทำธงไม่ให้ฝนตก และป้องกันฟ้าผ่า วิชาปลุกเสกของหนักให้เบาดั่งปุยนุ่น ฯลฯ รวมทั้งศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐาน จนเป็นที่ไว้ใจของพระอุปัชฌาย์
หลังจากหลวงพ่อแคมรณภาพ ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ท่านรับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน และด้วยความเลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่รอดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงมาช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามจนเจริญรุ่งเรืองจวบจนทุกวันนี้
นอกจากจะพัฒนาวัดบางน้ำวนแล้ว หลวงปู่รอดยังให้ความช่วยเหลือวัดอื่นๆ ตลอดถึงเรื่องการศึกษาท่านก็ได้จัดให้มีการสอนพระปริยัติธรรม และสร้างโรงเรียนประชาบาล ชื่อ "โรงเรียนรอดพิทยาคม" ให้กุลบุตรกุลธิดาในแถบนั้นได้ศึกษาเล่าเรียนด้วย ท่านมีตำแหน่งทางด้านการปกครองสงฆ์เรื่อยมา จนสมณศักดิ์สุดท้ายเป็น พระครูชั้นประทวน และเป็นกรรมการศึกษา ท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2488 สิริอายุ 82 ปี พรรษา 62
หลวงปู่รอด เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เก่งกล้าทางด้านวิทยาคมมาก ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง ซึ่งล้วนเป็นที่นิยมและแสวงหาอย่างสูง มีอาทิ ตะกรุดโทน, เหรียญหล่อ เหรียญปั๊มรุ่นแซยิด, เหรียญหล่อพิมพ์พนมมือ และเหรียญปั๊มพิมพ์เสมาอัลปาก้า เป็นต้น
ส่วนด้านเครื่องรางของขลังที่โดดเด่นและหายากก็มี สิงห์ ไม้ขนุนแกะ และ "ชูชกทำจากไม้ขนุน และงาช้างแกะ" ซึ่งถือว่าเป็นต้นตำรับของเครื่องรางของขลังที่นำ "ไม้ที่เป็นมงคล" มาแกะ เช่น ไม้ขนุน และ "งาช้างแกะ"
โดยท่านจะนำเอางากำจัด งากำจาย งากระเด็น ตามความเชื่อว่าเป็นของคงทนสิทธิ์ มีดีอยู่ในตัวไม่มีอะไรมาทำให้เสื่อมสลายได้ ผู้ที่ได้รับมาจากท่าน แล้วนำเอาไปบูชาพกพาอาราธนาติดตัวนั้น
ว่ากันว่า นอกจากอานุภาพแห่ง "เฒ่าชูชก" แล้ว ยังปรากฏพุทธคุณทุกด้านแบบครอบจักรวาลทีเดียวครับผม
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1437928962
โดย:
Sornpraram
เวลา:
2015-8-10 07:26
โดย:
oustayutt
เวลา:
2015-8-10 20:25
เป็นเครื่องรางที่ยังไม่เคยบูชาแบบจิงจัง
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/)
Powered by Discuz! X3.2