ถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นสถานที่ก่อเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยในอดีตมาจวบจนปัจจุบัน ภาพจำนวนมหาชน(นิสิต นักศึกษาและประชาชน) ล้นหลามเต็มท้องถนนราชดำเนินและภาพเหตุการณ์นองเลือด ในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ บนถนนสายนี้ถูกถ่ายบันบึกไว้ทั้งเป็นภาพยนต์และภาพนิ่งเผยแพร่ไปทั่วโลก หลังจากเหตุการณ์เดือนตุลาคม ๒๕๑๖ผ่านไป มีเหตุการณ์ชุมชุมทางการเมืองบนถนนสายนี้เกิดขึ้นตามมาอีกหลายครั้ง จนถึงวันนี้ เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาของถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันนี้ ผมจึงขอนำประวัติการก่อสร้างสถานที่ทั้งสองมาเสนอ โดยอ้างอิงจาก หนังสือเรื่อง เล่าเรื่องบางกอก ฉบับสมบูรณ์ ของ ส.พลายน้อย ส.พลายน้อย ได้เขียนเล่าไว้ ในหนังสือของท่าน ว่า “พูดกันถึงภูมิประเทศก่อนที่จะมาเป็นถนนราชดำเนินนั้น บางแห่งก็เป็นสวน บางแห่งก็เป็นที่ลุ่มน้ำนอง ลักษณะเช่นนี้มีอยู่มากแห่งหรือเกือบจะทั่วไป แม้ในกำแพงพระนครแต่ก่อนนี้ก็เป็นเช่นนั้น ม.ล.ยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือ ประวัติเจ้าคุณพ่อ ถึงพระมหานครเมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้ว มีข้อความตอนหนึ่งว่า ว่ากันทำไมมี กรุงเทพพระมหานครเวลานั้น ก็คือป่าเตี้ยปนละเมาะเราดีๆ นี่เอง มีทุ่งหญ้าแทรกแซงอยู่บ้างเป็นตอนๆ พึ่งมีมนุษย์มาหักล้างถางที่ปลูกเคหสถานอยู่กันเป็นหย่อมๆรอบพระนคร ริมกำแพงเมืองด้านในมีราษฎรซึ่งส่วนมากเป็นพวกทาสพวกเลขอาศัยปลูกเพิงสุนัขแหงนมุงจากอยู่กันเป็นระยะๆ ใช้กำแพงเมืองเป็นผนังด้านหลัง อีกสามด้านกันด้วยขัดแตะ บ้างก็เปิดด้านหน้าออกขายกล้วยแขกบ้าง ข้าวโพดคั่วอ้อยควั่นบ้างตามแต่ฤดูกาลจะอำนวยพืชผล อะไรให้มีขายก็ขายกันไปตามเพลง บนกำแพงเมืองก็ยังเป็นที่ๆราษฎรอาศัยเลี้ยงวัวได้ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ จึงนานๆ ก็มีวัวก้าวพลาดพลัดกำแพงมาบนหลังคาเพิงของชาวบ้าน ทำให้โกลาหลอลหม่านกันเสียทีหนึ่งพอแก้เหงา ที่ใหนเป็นที่ลุ่มไม่มีใครปลูกบ้านเรือนอยู่ก็เป็นป่าโสนมืดทึบ น้ำขังแค่บั้นเอว เช่นแถวบางลำพู คอกวัว ไปจนกระทั่งวัดศิริเหล่านี้ เมื่อก่อนเป็นดงโสนน้ำเฉอะไปทั้งนั้น ทั่งพระเมรุก็ยังเป็นป่าหญ้ารก หน้าน้ำน้ำเซาะเข้าขังเจิ่งเป็นที่ตกกบตกปลากินกัน ถึงหน้าแล้งก็ใช้สร้างเมรุกันเสียที พึ่งจะมาใช้ทำนาเอาข้าวใส่บาตรในตอนหลังนี่เอง แม้ที่ว่าการกลาโหมและยุติธรรมซึ่งอยู่หน้าพระราชวังก็ยังเป็นโรงจากพื้นดินทุบราด กวาดเตียน พอหมอบกราบกันได้เท่านั้นเอง ถนนครั้งนั้นก็คือช่องป่าที่กรุยใหม่ พึ่งฟันต้นไม้ใหญ่ลงพอหายเกะกะเท่านั้น ทางที่ใช้สัญจรกันจริงๆ ก็เพียงแนวที่เตียนราบด้วยเท้าย่ำกว้างพอตะแคงหลีกกันได้ครือๆ นอกนั้นก็รกรุงรังไปด้วยหญ้าพงแขม ผักโขมและขี้ครอกทั้งสองข้างทาง คนเดินห่างกันไม่ถึงเส้นจะมองเห็นกันก็ทั้งยาก” ส.พลายน้อย ได้เขียนเล่า ว่า “ถนนราชดำเนินนั้น กว่าจะสร้างเสร็จก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงกันหลายครั้ง แรกเริ่มเดิมทีนั้นกะจะตัดทางตั้งแต่ถนนพระสุเมรุ ข้ามคลองบางลำพูที่ตำบลบ้านพานถม ตรงไปตำบลป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปบรรจบถนนเบญมาศ แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรเห็นแผนที่ ซึ่งเจ้าพนักงานตรวจทางนำขึ้นทูลเกล้าถวาย ก็ได้ความว่า ถ้าตัดถนนไปตำบลบ้านพานถมจะไม่เป็นถนนที่ได้แนวตรงตลอดถนนเบญมาศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จะให้สร้างถนนยูรยาตรขึ้นใหม่อีกสายหนึ่ง ซึ่งจะได้ผ่านไปในตำบลบ้านพานถมให้ต้องตามกระแสพระราชดำริเดิม แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายตำบลที่จะสร้างถนนเสียใหม่ กำหนดตัดที่สร้างถนนราชดำเนิน ตั้งแต่ถนนพฤฒิบาศผ่านตำบลบ้านหล่อ ไปตำบลป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปบรรจบถนนเบญมาศ |
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) | Powered by Discuz! X3.2 |