ด้วยความสอดคล้องต้องประสงค์ที่พอจะกล่าวได้ว่า เสมือนสวรรค์เป็นใจ หรือฟ้าลิขิต หรืออะไรประมาณนั้น ก็คือ ครั้นสูงอายุแล้ว ตาแสงได้ถึงแก่กรรมตามอายุขัย ในวันเสาร์ แล้วญาติทำการเผาศพในวันอังคาร อันเป็นปรากฎการณ์ที่สอดคล้องกับคุณลักษณะของมวลสารสำคัญในตำราการสร้างผงหนุมานของหลวงปู่สุวัฒน์ที่แสวงหามาเนิ่นนาน ท่านจึงให้คนไปติดต่อกับญาติของตาแสงเพื่อขออัฐิและเถ้าอังคารทั้งหมดของตาแสง สำหรับใช้เป็นมวลสารสร้างผงหนุมาน เพื่อเป็นการสนองความประสงค์ของทางวัดที่จะได้มีของขลังไว้แจกจ่าย กับเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้าของอัฐิเถ้าอังคาร ทางญาติจึงมิขัดข้องที่จะยินยอมให้หลวงปู่สุวัฒน์ใช้อัฐิเถ้าอังคารของตาแสงในการสร้างของขลังตามตำรากฤติยาคมของท่าน หลังจากเผาศพเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่สุวัฒน์ ได้ชวน คุณวีระ สุโข ไปเก็บอัฐิเถ้าอังคารของตาแสงในก้นเชิงตะกอนแบบโบราณที่ด้านหลังวัดใหม่ โดยเมื่อหลวงปู่สุวัฒน์ทำพิธีตามตำราพระเวทย์เสร็จแล้ว คุณวีระ สุโข เป็นผู้โกยผงอัฐิเถ้าอังคารทั้งหมดรวมทั้งถ่านไปอีกส่วนหนึ่งใส่ภาชนะที่เตรียมไป ครั้นได้มวลสารหลัก อันต้องใช้เวลาแสวงหาอยู่ราวสองทศวรรษ คือ ชันโรงใต้ดิน และผงอัฐิเถ้าอังคารของคนเกิดปีขาล วันอังคาร เดือนห้า ซึ่งตายวันเสาร์เผาวันอังคาร แล้วท่านก็จัดการสร้างพระผงหนุมานขึ้นมา เมื่อต้นทศวรรษ 2500 โดยมอบให้คุณวีระ สุโข ผู้มีชื่อและนามสกุลเป็นมงคล ต้องโฉลก และมีอุปนิสัยสัตย์ซื่อ ถือสัจจะ เป็นที่ไว้วางไว้ได้ ไม่แสวงหาอามิสจากวัตถุมงคลที่จัดสร้าง เป็นผู้รับภาระในการจัดสร้าง ก่อนการจัดสร้าง (ดำผง-กดพิมพ์) หลวงปู่ได้ทำพิธีครอบครูและบอกอุปเท่ห์เคล็ดลับ กับคาถาที่ใช้บริกรรมในครั้งแรกที่เริ่มกดพิมพ์และครั้งสุดท้ายเมื่อหยุดหรือกดพิมพ์ในแต่ละครั้งให้แก่คุณวีระ สุโข มวลสารหลักอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ในการสร้างพระผงหนุมาน ก็คือ “ผงยันต์บัวคู่” อันเป็นผงที่ได้จากการเขียนยันต์ เรียกสูตรชักยันต์บัวคู่ แล้วลบผงเก็บไว้ ผงยันต์บัวคู่นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ผงหนุมาน” ในการสร้างพระหนุมานนั้นต้องใช้ผงยันต์บัวคู่ลงถมกับชันโรงใต้ดินและมวลสาร อีกบางประการที่ขอสงวนไว้ (เพื่อป้องกันการปลอมแปลง) แล้วเอาอัฐิเถ้าอังคารถ่านไฟผีตายวันเสาร์เผาวันอังคารผสมลงไป นอกจากนั้น หลวงปู่ยังได้มอบผงปถมังอันลือชาของท่าน พร้อมทั้งเส้นเกศา หนวด ขนคิ้วของท่านให้ใส่ผสมลงในผงอาถรรพ์ ทั้งมวลดังกล่าวแล้วแต่ต้นอีกด้วย พระหนุมานที่จัดสร้าง ลักษณะสัณฐานเป็นทรงกลม ด้านหน้า เป็นรูปหนุมาน หาวเป็นเดือนเป็นดาว ด้านหลังเป็นยันต์อุราโลมขัดสมาธิ ตัวนูน ขนาดสั้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.6 – 2.7 ซม. (แต่อาจไม่เท่าเสมอเหมือนกันไปทั้งหมด เพระไม่ได้สร้างวันเดียวเสร็จ ไม่ใช่พระแบบเนื้อโรงงาน ในการสร้างแต่ละคราว แต่ละครั้ง อาจมีการใส่ส่วนผสมที่ทำให้เกิดการหดแห้งแข็งตัวไม่เท่าเทียมกัน ขนาดขององค์พระจึงอาจแตกต่างกันได้ บางองค์มีขนาดแตกต่างกันถึง 0.3 – 0.4 ซม. ก็มี) |
หนุมานหลวงปู่สุวัฒน์ ทีแบ่งธาตุแบ่งภาคเป็น..... "พญาสวาซอ" |
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) | Powered by Discuz! X3.2 |