Baan Jompra
ชื่อกระทู้: อัฏฐพญานาคราช พระธาตุแช่แห่ง [สั่งพิมพ์]
โดย: Metha เวลา: 2015-6-3 11:18
ชื่อกระทู้: อัฏฐพญานาคราช พระธาตุแช่แห่ง
ประวัติพระธาตุแช่แห้ง
จากประวัติเก่าแก่ของเมืองน่าน เป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๖๐๐ ปี ที่เมืองน่านดำรงอยู่ในฐานะนครที่มีเจ้าผู้ครองนคร แม้บางครั้งเมืองน่านจะตกอยู่ใต้อำนาจของกรุงสุโขทัย และกรุงรัตนโกสินทร์ก็ตาม แต่ด้วยชัยภูมิที่ตั้งของเมืองน่าน เป็นเมืองค่อนข้างเร้นลับ ยากแก่การเดินทางไปถึงของผู้คน และวัฒนธรรม ศิลปกรรมภายนอก เมืองน่านจึงสร้างสมมรดกทางศิลปกรรม และวัฒนธรรม ด้วยเอกลักษณ์ของตนเอง
สำหรับองค์พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่สร้างไว้แต่เดิมนั้น แม้บางยุคบางสมัยจะถูกละทิ้งให้รกร้างไปบ้าง แต่ต่อมาได้มีเจ้าผู้ครองนครองค์อื่นๆ บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ให้สูงใหญ่ยิ่งๆขึ้น ปัจจุบันสูงประมาณ ๒ เส้นเศษ
จึงนับว่าพระธาตุแช่แห้งนี้ เป็นปูชนียสถานสำคัญ และศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่โบราณของจังหวัดน่าน ซึ่งมีอายุกว่า ๖๐๐ ปีมาแล้ว (นับถึง พ.ศ. ๒๕๔๐) โดยปกติจะมีงานเทศกาลนมัสการเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันขึ้น ๑๑ ค่ำ – ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ (เดือน ๖ เหนือ) จะอยู่ในราวๆเดือนมีนาคม
เรื่องราวประวัติความเป็นมาของพระธาตุแช่แห้ง ตามที่ประมวลมาให้เป็นที่รู้จักกันนี้คงเป็นเพียงสังเขปปะติดปะต่อกันกับประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน หากจะเจาะลึกให้ละเอียดลงไปอีก คงต้องขออ้างข้อความตามพงศาวดารเมืองน่านบางตอน ปรากฏข้อความ ดังนี้
เจ้าพระยาการเมือง ท่านอยู่เสวยราชสมบัติ แลอยู่บ่นานเท่าใด พระยาตน ๑ ชื่อว่า โสปัตตกันทิ อยู่เสวยเมืองสุโขทัย ได้มาอาราธนาเชิญเอา พระยาการเมือง เมือ (ไป) ช่วยพิจารณาสร้างวัดหลวงอุทัย กับด้วยเชิญพระยาสุโขทัยหั้น (นั้น) และเมื่อนั้นพระยาการเมืองก็ลงไปช่วยค้ำชูพระยาโสปัตตกันทิ หั้นแล ครั้งสร้างปริวรณ์ (บริบูรณ์) แล้ว พระยาโสปัตตกันทิก็มีความยินดีเซิ่ง (ซึ่ง) พระยาการเมือง แล้วก็เอา พระธาตุเจ้า ๗ องค์ พระพิมพ์คำ (ทองคำ) ๒๐ องค์ พระพิมพ์เงิน ๒๐ องค์ ดังวรรณพระธาตุนั้นต่างกันคือ ๒ องค์ มีวรรณดังคำ (ทองคำ) เท่าเมล็ดงาดำ หั้นแล พระยาการเมือง ครั้นว่า ได้ของดีวิเศษขึ้นมาแล้ว ก็มีความยินดีมากนัก หั้นแล เมื่อนั้นพระยาการเมืองก็เอาพระธาตุเจ้าและพระพิมพ์คำ ไปสำแดงแก่มหาเถรเจ้าธรรมบาลที่เมืองปัว หั้นแล ก็ไหว้สามหาเถรเจ้าว่า จะควรประจุพระธาตุนี้ไว้ที่ใด ขอมหาเถรเจ้าจุ่ง (จง) พิจารณาดูแดเถือะ (ดูเถอะ) ว่าอั้นแล้ว เมื่อนั้นพระมหาเถรเจ้าก็พิจารณาดูที่ควรประจุพระธาตุนั้นก็รู้แจ้ง แล้วก็เจิงจา (จึงกล่าว) กับด้วยพระยาว่า ควรมหาราชเจ้าเอาไปประจุไว้ที่ดอกยภูเพียงแช่แห้ง ตั๊ดที่ (ตรงที่) หว่างกลางแม่น้ำเตี๋ยน และแม่สิง (ชื่อแม่น้ำเหมือนกัน) พันควรซแด (คงเป็นที่สมควรพระเจ้าค่ะ) เมื่อนั้นพระยาการเมืองได้ยินมหาเถรเจ้าสันนั้น (อย่างนั้น) ก็มีความชื่นชมยินดียิ่ง แล้วพระยากาปกป่าว (ป่าวร้อง ประกาศ) พลนิกายทั้งหลาย แลเสนาอำมาตย์ทั้งมวล แล้วก็นิมนต์ มหาเถรเจ้า ลงไปด้วยตน ก็แห่นำเอาพระธาตุเจ้า มาแต่เมืองปัว ก็หื้อ (ให้) ส่งเสบด้วยดนตรีห้าจำพวก (เข้าใจว่าคงจะมี ปี่ ฆ้อง กลองยาว ฉาบ และพิณ) แห่นำเอา พระธาตุเจ้าลงไปที่ภูเพียงแช่แห้ง หั้นแล้ว ก็ตั้งทัพจอด (หยุด) อยู่ที่นั้นวันหนึ่ง ก็ด้วยอานุภาพพระหากทำนายมเหสักข์ ก็หากนำมาด้วยแล เมื่อนั้นพระยาก็หื้อช่างหล่อต้นปูนสำริด (เต้าปูนสำริด) ต้น ๑ ใหญ่แล้ว พระยาก็พร้อมด้วยมหาเถรเจ้า แลเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย เอาพระธาตุเจ้า และพระพิมพ์เงิน พระพิมพ์คำ ลงใส่ในต้นปูนแล้ว ก็เอาฝาหับ (ปิด) หื้อทับแทบ (ให้สนิทแน่น) ดีแล้ว ก็วาด (พอก) ด้วยสะตายจีน (ปูนขาวผสมยางไม้ และทรายละเอียด) เกลี้ยงกลมดีเป็นดังก้อนผา (หิน) นั้นแล้ว พระมหาเถรเจ้า และพระยาก็พิจารณาดูที่เป็นสำคัญ หั้นแล เมื่อนั้น เทวบุตร เทวดา มเหสักข์ทั้งมวล (ใช้คนแต่งสมมติ) ก็นำเอาพระมหาเถรเจ้า และพระยาไปสู่ที่ประจุ หั้นแล เมื่อนั้น พระยาก็หื้อขุดลงที่นั้นเลิ้ก (ลึก) วา ๑ แล้วก็นิมนต์ยังพระธาตุเจ้าลงสถิต แล้วก่ออิฐกาถม แล้วก่อเจดีย์ขึ้นสูงเหนือแผ่นดิน ๑ วา หั้นแล ครั้นว่าปริวรณ์ (บริบูรณ์) แล้วก็นิมนต์พระภิกษุสังฆะเจ้า มากระทำการมงคลอบรม (สมโภช) แล้ว พระยาก็ทำสักการบูชา ทำบุญให้ทานตามใจมัก (ปรารถนา) แห่งตนแล้ว ครั้นปริวรณ์ ก็เอารี้พลแห่งตนคืนเมือ (คืนกลับไป) ยังเมืองปัวโพ้น (โน่น) หั้นแล ครั้นอยู่มาบ่นานเท่าใดพระยาก็คิดใจใคร่เถิง (คิดระลึกถึง) ยังพระธาตุเจ้ามัก (ประสงค์) ใคร่ปฏิบัติไหว้สา (กราบไหว้) ซู่ยาม (ทุกคราวที่ต้องการ) หั้นแล พระยาก็ปกป่าว (ประกาศ) เสนาอำมาตย์ทั้งหลาย แลรี้พลโยธาทั้งมวล แล้วก็เสด็จลงมาสร้างตั้งเวียงกุมพระธาตุเจ้า (ตั้งเมืองใกล้พระธาตุเจ้า) ขุดคูเวียงแวดวงใส่พนักนังดิน (กำแพงดิน) แล้วหื้อแต่งแปง (ทำ) ประตูงามสะอาดแล้ว
ที่มา http://phimeanakas.blogspot.com/2012/05/blog-post_24.html
โดย: Metha เวลา: 2015-6-3 11:18
เถิง (ถึง หรือ ลุ) จุลศักราชได้ ๗๒๑ ตัว (พ.ศ. ๑๙๐๒) ปีเมิงเล้า (ปีระกา) ชาวกวาว (ครั้นนั้นชาวน่านเรียกตัวเองว่า ชาวกวาว) ทั้งหลายก็เรียกกันมาแปง (ทำ) โรง (ที่อยู่) พระยาการเมือง หั้นแล พระยาการเมืองได้อยู่เสวยราชสมบัติในเมืองปัวได้ ๖ ปี อยู่เวียงแช่แห้งได้ ๕ ปี ครั้นเถิงปีลวงเป้า (ปีฉลู) จุลศักราช ๗๒๕ ตัว (พ.ศ. ๑๙๐๕) ขุนอินตา เมืองใต้ ใช้เอาผ้าดีมาถวายหื้อเป็นบรรณาการเมืองใหญ่ ฮวยมนต์ใส่แถมพิศม์ (พิษ) ท้าวก็ใส่ใจ (เข้าใจ) ว่าบ่มีพิศม์ (พิษ) ก็เอามือหลูบยุบ (ลูบหยิบ) เอาผ้าลวด (เลย) ถูกพิศม์เจ็บเสียบตน (เจ็บเสียด) ตายท่าว (ล้ม) ทั้งยืน หั้นแล พระยาการเมืองตายเมื่อปีลวงเป้า (ปีฉลู) จุลศักราช ๗๒๕ ตัว (พ.ศ. ๑๙๐๖) ก็เสี้ยง (หมด) กรรมไปในเวียงแช่แห้งวันนั้นแลได้ ๕ เช่น (องค์ที่ ๕) วงศาแล เสนาอำมาตย์ทั้งหลายพร้อมกันอุสาราชาภิเษก เจ้าผากอง ตนเป็นลูกเจ้าการเมืองนั้น เสวยเมืองแทนหั้นแล
กาลเวลาผ่านมาอีก ๑๑๓ ปี
ในปีกาบซง้า (ปีมะเมีย) จุลศักราชได้ ๘๓๘ (พ.ศ. ๒๐๑๙) ท้าวขาก่าน จากเมืองฝาง เชียงใหม่ มาครองเมืองน่าน (ในสมัยนั้นเมืองน่านขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ ยุคพระเจ้าติโลกราช มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับพระธาตุแช่แห้งอีก ดังข้อความตามพงศาวดารของเมืองน่าน)
“......แต่นั้นท้าวจึงใช้ หมื่นในคำ ไปบำเริญ (ส่งส่วย) ท้าวติโลกราช เชียงใหม่จิง (จึง) พระมหาเถรเจ้าตนชื่อ วชิรโพธิ มาหื้อท้าวขาก่าน (เป็นตำนานหรือเรื่องราวของพระธาตุเจดีย์ดอยภูเพียงแช่แห้ง) ท้าวขาก่าน จึงพร้อมด้วยสังฆเจ้าทั้งหลาย และบ้านเมืองทั้งมวลก่อสร้างแปง ยังพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง พระมหาธาตุเจ้าเวบานั้นเท่าเป็นป่าไม้ไผ่ แลคลุมเครือวัลย์ทั้งมวล ในขบวนที่พระธาตุอยู่นั้นก็พอเป็นนาว (แนว) จอมปลวกอยู่เท่านั้นแล ท้าวก็พาเอาคนทั้งหลายแผ้วถางสร้างแปง ท้าวก็สักการบูชาด้วยช่อธุง (ธง) เทียน ปกกางด้วยเครื่องพร้อมสู่อั้นแล้ว (ไปที่นั่นแล้ว) ก็เรินผ่อกอย (เที่ยวดูเห็น) พระธาตุเจ้าอยู่ หั้นแล ตราบเสี้ยง (สิ้น) ราตรีกลางคืนแล้ว พระธาตุก็เปล่งปาฏิหาริย์รุ่งเรืองนัก ท้าวได้รู้หัน (รู้เห็น) แล้วก็พากันขุดคูในจอมปลวกเลิ้ก (ลึก) ลงวา ๑ แล้วก็ได้เอาก้อนผาลูก ๑ แล้วใหญ่กลมเกลี้ยง ท้าวกระทำให้แตกเถิง (ตึง) ในแล้วได้หัน (เห็น) ต้นปูนใส่ทองเทศใหญ่ มีฝาหับทับแทบ (ปิดสนิท) ดีนัก จึงหื้อ (ให้) ปะขาวเชียงโคม อยู่วัดใต้นั้นไปดู ก็เห็นพระธาตุเจ้า ๗ องค์ กับพระพิมพ์เงิน ๒๐ องค์ พระพิมพ์คำ ๒๐ องค์ อันพระยาการเมืองเอามาแต่พระยาสุโขทัย เมืองใต้มาประจุไว้นั้น อันพระยาอโศก ประจุไว้นั้น เลิ้ก ๑๐ วา (ควรจะเป็น ๑ วา) บ่ถ่องเท่ารู้ในตำนานเท่านั้นแล ท้าวก็เอาเมือ (ไป) ไว้ในหอปิฎกริมข่วงหลวง (หอพระไตรปิฎกริมสนามหลวง) นานได้เดือนหนึ่ง ท้าวจึงใช้ไปเรียนท้าวติโลก เมื่อนั้นท้าวติโลกจึงกรุณาว่า ได้ที่ใดให้ประจุไว้ที่นั้น ควงแล เมื่อนั้นท้าวขาก่านได้รู้เหตุการณ์ท้าวติโลกแล้ว ท้าวก็เอาไปประจุไว้ในดอยภูเพียงที่เก่า หั้นแล ก็ก่อเจดีย์สูง ๖ วา หั้นแล ท้าวขาก่านสร้างเจดีย์เจ้าแล”
ครั้นเถิง จุลศักราชได้ ๘๔๒ ตัว (พ.ศ. ๒๐๒๓) ปีเบิกเสร็จ (ปีจอ) แกว (ญวน) เอารี้พลมาตกเมืองน่าน พระยาติโลกมีอาญาหื้อ ท้าวขาก่านคุมเอารี้พลศึก ๔ หมื่น ออกต้อนรับแกว ท้าวขาก่านมีชัยชนะได้ฆ่าแกวตายมากนักหั้นแล ได้ช้างม้าครอบครัวมาถวายพระยาติโลก มากนักหั้นแล เมื่อนั้นพระยาติโลกกล่าวว่า แกวก๋านพ่ายแพ้ก็ดีแล้ว ดังฤาพอย (ทำไม) ไล่ฆ่าแกว เอาครอบครัวแกวมาเป็นอันมากสันนี้ (อย่างนี้) เวรศึกเวรเสือนี้บ่ดีซแด บ่ควรหื้อมันอยู่เมืองน่านที่นี้แล้ว ว่าอั้น (ดังนั้น) แล้วก็หื้อท้าวขาก่านไปอยู่เชียงราย หั้นแล ได้ ๒๒ เช่นท้าวแล (ครองเมืองน่านลำดับ องค์ที่ ๒๒)
พระเป็นเจ้า (พระเจ้าติโลกราช) จึงหื้อ (ให้) ท้าวอ้ายยวม มากินเมืองในปีถัดไก๊ (ปีกุน) จุลศักราช ๘๔๓ ตัว (พ.ศ. ๒๐๒๔) กินได้ ๔ ปี ก็ตายในปีเต่ายี (ปีขาล) จุลศักราชได้ ๘๔๗ (พ.ศ. ๒๐๒๗) หั้นแล ท้าวอ้ายยวมท่านได้กินเมืองแล้วนั้นท่านก็พร้อมเพรียงชักชวนพระธรรมและพระสงฆ์เจ้า แลชาวบ้านชาวเมืองสร้างยังพระธาตุเจ้ากวม (ครอบ) เจดีย์ท้าวขาก่านนั้นขึ้นหื้อ (ให้) ใหญ่สูงเหลือ (กว่า) เก่า กว้าง ๑๐ วา สูง ๑๗ วา ได้ ๔ ปี จึงปริวรณ์ (บริบูรณ์) ครั้นปริวรณ์แล้วก็ฉลองหื้อทาน แล้วท้าวอ้ายยวมท่านก็เสี้ยง (หมด) กรรมในปีเต่ายี (ปีขาล) จุลศักราช ๘๔๗ ตัว (พ.ศ. ๒๐๒๗) หั้นแล ได้ ๒๓ เช่นท้าวแล (ครองเมืองน่านอันดับที่ ๒๓)
พระเป็นเจ้า (พระเจ้าติโลกราช) ก็หื้อ พระยาคำยอดฟ้า มาเสวยเมืองน่านถ้วนที่ ๒ (ครั้งที่ ๒) ก็ในปีวายไจ๊ (ปีชวด) จุลศักราชได้ ๘๘๑ ตัว (พ.ศ. ๒๐๖๒) ท่านเสวยเมืองน่านได้ ๔ ปี ครั้นเถิงปีกัดเหม้า (ปีเถาะ) จุลศักราชได้ ๘๘๔ (พ.ศ. ๒๐๖๕ ) นั้น ท่านก็พร้อมด้วยพระสงฆ์เจ้าทั้งหลายและท้าวขุนบ้านเมืองทั้งปวงพากันสร้าง พระเจ้าล้านทอง (พระประธานในวิหารหลวงข้างองค์พระธาตุ) และสร้างกำแพงมุงแวดมหาธาตุเจ้าไว้หั้นก่อนแลในปีเบิกเสร็จ (ปีจอ) อาชญาหาตัวเจ้านายมาเสวยเมืองเชียงใหม่ กลับไปครองเมืองเชียงใหม่ได้ ๓๕ เช่น ท้าวแล (ครองเมืองน่าน อันดับ ๓๕)
โดย: Metha เวลา: 2015-6-3 11:18
พระยาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม ได้เป็นเจ้าพระยาเสวยเมืองน่าน แท้ปีกดสันเล้า (ปีวอก) จุลศักราช ๙๒๒ (พ.ศ. ๒๑๐๓)
อนึ่ง ด้วยเจดีย์หลวง ท้าวอ้ายยวมสร้างนั้น สูง ๑๗ วา กว้าง ๑๐ วา นั้นเป็นที่หลุพัง (ชำรุดผุพัง) ต้นด้านเหนือ คือ บัลลังก์ด้านเหนือนั้นแล พระยาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม ได้เป็นเจ้าเสวยเมืองน่านแล้วท่านก็พร้อมด้วยพระสังฆเจ้าทั้งหลาย หมายมี มหาสวามีเจ้ากัลยาโณ วัดศรีบุญเรือง เป็นเค้า (ประธาน) แลชาวบ้านทั้งมวล ท่านพากันริร่าง สร้างซ่อม ก่อบัลลังก์หื้อดีงามดังเก่า บ่เท่าแต่นั้น (ไม่ใช่แต่เท่านั้น) ก็สร้างแปงทางลีลอดกำแพงมหาธาตุเจ้า ยาว ๑,๓๐๐ วา (คงหมายถึง รวมทั้งสี่ด้าน) กว้าง ๖๐ วา แล้วสร้างศาลาเข้าพระธาตุ วิหารน้อย และอุโบสถาคาร ปริวรณ์แล
ครั้นจุลศักราช ๙๔๒ (พ.ศ. ๒๑๒๓) เดือน ๖ แรมค่ำ เจ้าฟ้าสารวดี พระยาเชียงใหม่ไปเมืองลานช้าง มาพักที่แช่แห้ง บังเกิดศรัทธา จึงให้พระยาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม ทำให้ดีงามสมควรแก่ตำนาน ต่อมาไม่นาน พระยาหน่อคำฯ มอบภาระในวัดแช่แห้งทั้งมวลให้แก่สังฆะศรีบุญเรือง ให้ชาววัดแลกเอาไม้ห้วยตาว ได้ไม้ ๖๖ เล่ม ชาวบ้านบุญเรือง ๑๗ คน บ้านแช่แห้ง ๙ คน สร้างบ่อน้ำ โรงอาบน้ำ เว็จ และกุฏิ ให้ สมเด็จพระสังฆราช เจ้าเมืองพ้อ มาเป็นประธาน ช่างไม้ทั้งหลาย ชาวบ้านบุญเรือง ชาวแช่แห้ง ไปเอาไม้นาราก ได้ไม้ ๘๖ ต้น แล้วริด (รื้อ) วิหารเก่า เมื่อพระยาหน่อคำเสถียรไชยสงครามถึงอสัญกรรม เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ครองเมืองแทนและได้แต่งตั้งอภิเษก พระเถรเจ้าแช่แห้ง ให้เป็นสังฆราชา ต่อมาเมื่อเจ้าศรีสองเมือง ผู้เป็นน้องเจ้าเจตบุตรฯ ครองเมืองน่าน ก็ได้สร้างซ่อมเจดีย์ที่ท้าวอ้ายยวมสร้าง ด้านซ้ายงพังให้ดีขึ้น พร้อมกับริด (รื้อ) มหาเจดีย์หลวง แต่รื้อลงมาไม่ถึงที่เจดีย์ท้าวขาก่านสร้าง โดยยังอยู่หน่อยหนึ่ง และต่อมา เจ้าอุ่นเมือง ผู้เป็นน้องเจ้าศรีสองเมือง ได้ครองเมืองน่านแทน พระเจ้าศรีสองเมืองไปเป็นพระเจ้าครองเมืองเชียงใหม่ เจ้าอุ่นเมืองก็ได้สร้างมหาธาตุเจ้าแช่แห้งสิ้นทรัพย์นับไม่ถ้วน เป็นค่าปูน ค่าน้ำอ้อย และจ่ายเลี้ยงสังฆะที่มาช่วยก่อสร้าง แล้วปิดทองจังโก๋ (ทองมาล่อ) ปิดทองคำเปลว ตั้งแต่บานข้าวลงมาถึงตระปอนคว่ำ และธรณีทั้งห้า ตีนบันไดหลวง อันตั้งแท่นทั้งสองนั้น
ครั้งถึงปีจุลศักราช ๙๘๗ (พ.ศ. ๒๑๖๘) พรหมิปาลฤกษ์ พระยาหลวงเมืองนครลำปาง ยกเอากำลังศึกเข้าโจมตีเมืองน่าน ทางประตูท่าช้าง และครองเมืองน่านได้ ก็มาเล็งเห็นว่า มหาชินธาตุเจ้าแช่แห้ง ด้านซ้ายพังเกลื่อนลง จึงพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ ชาวบ้านชาวเมืองภายในนครมี สมเด็จเจ้าทีปังกร เป็นประธานแก่สังฆเจ้าทั้งหลาย พากันสร้างปฏิสังขรณ์ใส่จังโก๋ (ทองแผ่น) แท่นบัลลังก์ถ้วนสองทั้งมวล และแท่นหลวงทั้งมวล มาถึงแผ่นดิน เงินพระยานันทมิตร ราคาถึง ๑,๔๐๐ เป็นราคาคำแผ่น (ทองคำเปลว) ได้ใส่แท่นบัลลังก์ทั้งสี่ด้าน อนึ่ง ด้วยบริเวณและระเบียงพระมหาธาตุเจ้า อันพระยาคำยอดฟ้าสร้างนั้น ตั้งแต่ประตูน้อยท้ายพระวิหารหลวงด้านใต้มี ๑๑ ห้อง ก็เกือบพังเสียหายอยู่แล้ว ก็ได้ชักชวนกันสร้างตั้งแต่ จุลศักราช ๙๙๑ (พ.ศ. ๒๑๗๒) พร้อมทั้งทารัก ทาชาด ติดทองคำเปลวทั้งมวล โดยให้พระหลวงวัดกู่คำเป็นผู้ใสศรัทธาร้อยเพี้ยใส่แท่นบัลลังก์ถ้วนสอง (ครั้งที่ ๒) มาถึงแผ่นดิน เป็นวัตถุ พระหลวงวัดกู่คำ พันเงิน (จำนวนเงินพัน) เป็นค่าคำแผ่นใส่นอก เป็นวัตถุอุปการะแห่งพระมหาธาตุเจ้ามากนัก พระธาตุเจ้าวัดแช่แห้งแตกรั่วซึมที่ใด พระหลวงวัดกู่คำ และศรัทธาร้อยเพี้ย ซ่อมปิดทาชาด ปิดทองคำเปลวแท่นบัลลังก์ทั้งสี่ แผ่นธรณีปทักษิณทั้งมวล ท่านได้ทำการซ่อมแซมบูรณะให้ดีขึ้นตลอดมานานถึง ๑๔ ปี
อนึ่ง พุทธศาสนิกชนควรทราบไว้ด้วยว่า เมื่อจุลศักราช ๑๐๖๕ (พ.ศ. ๒๒๔๖) สมัยเจ้าพระเมืองราชา เป็นผู้ครองเมืองน่าน กองทัพม่าน (พม่า) เข้าตีเมืองน่าน ชาวบ้าน ชาวเมือง พระสงฆ์องค์เจ้า พ่านหนีลี้หน้าซ่อนอยู่ตามป่าไม้ ถ้ำ ห้วย ดอย ผู้ครองเมืองก็หนีไปเมืองล้านช้าง แล้วไปเมืองใต้ ทหารม่านก็ทำอันตรายบ้านเมือง รั้ว เวียง จุดเผาบ้าง เพะเจาะ (ขุดเจาะ) ลอกพระพุทธรูปเจ้าวัดภูมินทร์ องค์ตะวันตก (พระประธานในอุโบสถวัดภูมินทร์ อยู่ตรงกลางอุโบสถ โดยหันพระปฤษฎางค์ ชนกันทั้งสี่ทิศ หลังคาพระอุโบสถ เป็นจัตุรมุข เช่นกัน และยอดมหาเจดีย์ทิพย์ธาตุเจ้าแช่แห้ง และเจดีย์หลวงกลางเวียง และทิพย์เจดีย์เจ้า ก็บ้างเพะ (พัง) วัดวาอาราม ศาสนา ธรรมพระพุทธเจ้า ก็จุดเผาสิ้น จะเหลือก็แต่เพียงแผ่นดินเท่านั้น ทั้งชาวบ้าน ชาวเมืองทั้งหลายก็ตายเป็นจำนวนมาก ในจุลศักราช ๑๐๗๖ (พ.ศ. ๒๒๕๗) เจ้าเมืองอังวะให้ เจ้าฟ้าเมียวซา มาครองเมืองน่าน และได้สร้างทำแกนธาตุและทังเกิ้ง (ฉัตร) ขึ้นใส่ ๗ ชั้น ต่อมาเมื่อถึงจุลศักราช ๑๑๔๑ (พ.ศ. ๒๓๒๒) เจ้ามโนยกครอบครัวหนีจากเมืองงั่ว มาตั้งอยู่เชิงดอยภูเพียงแช่แห้ง ทางทิศตะวันตก และได้แผ้วถางวัดแช่แห้งเรียบร้อยดีงามแล้ว จึงให้สร้างสืบโรงอุโบสถให้กว้างขวางออกไปอีกช่วงหนึ่ง และรื้อประตูโขง กำแพงพระธาตุ ทางทิศตะวันตกเสีย ว่าจะก่อสร้างใหม่ แต่ไม่ทันได้สร้าง ทัพพม่า และพญายองก็เข้ามาตีเมืองน่าน เจ้ามโนก็หนี พาครอบครัวขึ้นไปอยู่เมืองเชียงแสน
โดย: Metha เวลา: 2015-6-3 11:19
ลุ จุลศักราช ๑๑๕๐ (พ.ศ. ๒๓๓๑) เจ้าหลวงอัตถวรปัญโญ ได้ครองเมืองน่าน โดยพระบรมราชโองการพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย แต่งตั้งเป็นเจ้าผู้ครองนคร ขณะนี้เมืองน่านเปล่าว้าง ห่างสิ้นซึ่งพลเมืองและบ้านช่องสาบสูญ โจรผู้ร้ายก็มาหักยอดพระเจดีย์แช่แห้ง เอาเกิ้ง (ฉัตร) ลงเสีย ศาสนาก็ดูมัวหมองเสื่อมไป จุลศักราช ๑๑๕๑ (พ.ศ. ๒๓๓๒) เจ้าหลวงอัตถวรปัญโญ ก็พาเจ้านายท้าวขุน รัฐบาล บ่าวไพร่ ทั้งหลาย ไปแผ้วถางวัดหลวงแช่แห้งบริเวณลานมหาธาตุเจ้าแล้ว เริ่มต้นได้ก่อสร้างประตูโขงขึ้นก่อน และตั้งนั่งร้านมหาธาตุเจ้าแล้ว เอาแกนเหล็กอันเก่าลงมาทำใหม่ ต่อแกนเหล็กยาวขึ้นอีก ๑ ศอก เพิ่มเกิ้ง (ฉัตร) อีก ๒ ชั้น ซึ่งของเก่ามี ๗ ชั้น เป็น ๙ ชั้น แล้วสร้างรูปหงส์ตัวหนึ่งงามนักให้คาบเกิ้ง (ชังเกิ้งขึ้น) และนิมนต์พระสงฆ์ ๗๓ รูป เณร ๑๑๔ รูป มาฉัน และแสดงธรรมเทศนา มีการใส่บาตร ทำบุญ ให้ทาน ในวันเดือน ๓ เพ็ญ (เหนือ) เป็นวันพุธเที่ยงวัน จึงชักรูปหงส์คาบเกิ้งขึ้นยอดธาตุเจ้าและได้ทำพิธีพุทธาภิเษก อบรม (ฉลอง) พระบรมธาตุเจ้า ตามตำนานเก่าเล่าว่า ขณะเมื่อเกิ้ง (ฉัตร) ขึ้นยอดมหาธาตุเจ้า มีอัศจรรย์ ๗ ประการ ปรากฏให้เห็น พระยาแร้ง ๔ ตัว เข้ามาแอบร่อนอยู่ที่มหาธาตุเจ้า ผู้คนทั้งหลายได้รู้ได้เห็นทุกคน และได้ยินเสียงเหมือนนกยูงบินมาแต่ทิศใต้ แต่มองก็ไม่เห็นตัว และยังปรากฏให้เห็นงูตัวหนึ่งเข้าไปบริเวณพระมหาธาตุเจ้า แล้วกลับหายไปในขณะชักรูปหงส์คาบเกิ้งขึ้น อีกทั้งเมฆท้องฟ้าก็หายไปสิ้น อากาศใสสว่างบริสุทธิ์มากนัก ดาวยังฟ้าก็ยังปรากฏให้เห็นแก่คนทั้งหลายในเที่ยงวันนั้น ทั้งปรากฏการณ์เป็นฝนตกลงมาเห็นเม็ดอยู่เก้าๆ (ชัด) เหมือนจักถูกตัวตน และจับขยุ้มถือเอาได้ แต่ก็ไม่ต้องถูกตัวคนทั้งหลาย และจับเม็ดฝนก็ไม่ได้สักคน การณ์อัศจรรย์เช่นนี้ ปรากฏนาน ๒ วันจึงหาย เมื่อได้ทำพิธีเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว ก็ได้อาราธนาพระอริยวงศ์ ผู้เป็นครูบาวัดลองหาด อยู่ปฏิบัติพระธาตุแช่แห้งสืบมา
ในจุลศักราช ๑๑๕๖ (พ.ศ. ๒๓๓๗) เจ้าหลวงอัตถวรปัญโญ ยกจากเวียงพ้อ ขึ้นมาอยู่ภูเพียงแช่แห้ง และพร้อมด้วยสังฆทั้งหลาย มีครูบาวัดแช่แห้ง เป็นประธานปฏิสังขรณ์สร้างมหาชินธาตุเจ้า เพราะไม้จำโฮงหักโค่นลงทับเสียหายให้คงเดิม และซ่อมสร้างวิหารพระเจ้าทันใจที่ผุพังให้ดีขึ้น และได้กระทำพุทธาภิเษกเบิกบายฉลองพุทธเจ้า ทั้งกระทำบุญให้ทานในปีถัดต่อมานั้นอีก เจ้าหลวงอัตถวรปัญโญได้เบิกฉลองพุทธาภิเษกพระพุทธรูปเจ้าหลวงแช่แห้งอีกครั้งหนึ่ง (ในปีนี้ได้บังเกิดเหตุการณ์เทพสังหรณ์จำแลงเพศเป็นเปรต นัยว่าเป็นรุกขเทวดารักษาพระธาตุแช่แห้งให้บูรณะซ่อมแซมสร้างพระธาตุแช่แห้งให้เจริญรุ่งเรือง) เจ้าพระยามงคลวรยศ จึงแจ้งไปยัง เจ้าหลวงอัตถวรปัญโญ ตามเหตุการณ์ที่เมืองพ้อ เจ้าหลวงอัตถวรปัญโญจึงมอบหมายให้เจ้าพระยามงคลวรยศ และนายอริยะกับพระสังฆเจ้า บูรณะซ่อมแซมพระธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง และได้พากันขึ้นไปบูรณปฏิสังขรณ์นาน ๕ เดือน ก็แล้วเสร็จ เมื่อเสร็จแล้วเจ้าหลวงอัตถวรปัญโญก็ได้เป็นประธานใส่ฉัตรพระเจดีย์แช่แห้ง และกระทำพิธีพุทธาภิเษกเบิกบายฉลองทำบุญให้ทาน (เทพสังหรณ์ก็อันตรธานหายไป)
ในจุลศักราช ๑๑๖๓ (พ.ศ. ๒๓๔๔) เดือนยี่ (เหนือ) ขึ้น ๑๐ ค่ำ ยามมืดตื้อ แผ่นดินครวญสนั่นหวั่นไหวมากนัก (แผ่นดินไหวใหญ่) แก้ว (อัญมณี) ที่ใส่ยอดพระธาตุแช่แห้งกระเด็นหลุดตกลง แม้แต่ยอดพระธาตุสุเทพเจ้าเชียงใหม่ ยอดพระธาตุเจ้าลำพูน ยอดพระธาตุลำปางหลวง ยอดพระธาตุช่อแฮเมืองแพร่ ขื่อวิหารหลวงเมืองพะเยา ที่พระเจ้าตนหลวงอยู่ (วัดศรีโคมคำวรวิหาร จังหวัดพะเยา) ก็กระเด็นตกลงมาพร้อมเดียวกัน ต่อมาแรม ๑๔ ค่ำ แผ่นดินก็ไหวอีกครั้งหนึ่ง ครั้งถึงเดือน ๓ (เหนือ) เจ้าหลวงอัตถวรปัญโญจากเวียงสา ก็นิมนต์พระสงฆ์คาดคชา (เข้าใจว่า นั่งร้าน หรือ ร้านช้าง) เอาแก้ว (อัญมณี) ขึ้นใส่ยอดฉัตร องค์เจดีย์ที่แตกระแหงก็ได้ซ่อมปฏิสังขรณ์ดีดังเดิม
ครั้นถึงจุลศักราช ๑๑๖๗ (พ.ศ. ๒๓๔๘) เจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ (ภายหลังที่ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า....แล้ว) พร้อมด้วยเจ้านาย ท้าวขุน ไพร่ นาย และพระสงฆ์ ขุดขยายกำแพงพระธาตุเจ้าด้านใต้ออกอีก ๔ วา และต่อประตูโขง ด้านตะวันออก ด้านใต้ และประตูโขงบังเวียนแห่งพระธาตุ ๒ ประตู และก่อขันตั้งคร่อมมุมซ่อมดอกบัวทองคำข้างเหนือแล้ว ใส่ฉัตร ๗ ใบ และก่อตั้งรูปเทวบุตร ๔ องค์ ไว้ ๔ มุม
ในจุลศักราช ๑๑๖๘ (พ.ศ. ๒๓๔๙) ได้เกณฑ์กำลังคน ๕๐๐ คน ก่อสร้างปั้นรูปมหานาคยาวใหญ่ ๒ ตัว โดยยาว ๖๘ วา ตัวใหญ่นับแต่แผ่นดินสูง ๔ ศอก ยกหัวแผ่พังพานขึ้นสูง ๑๐ ศอก ตั้งไว้สองข้างทางขึ้นไปที่ลานพระธาตุแช่แห้ง และได้ก่อสร้างศาลาบาตรล้อมรอบกำแพงภายในลานองค์พระเจดีย์และได้ก่อรูปเป็นรูปท้าวจัตตุโลกบาลทั้ง ๔ ด้านกับบริวาร และสอง อยู่รักษาพระธาตุทั้ง ๔ มุม ถึงเดือน ๖ (เหนือ) เพ็ญ ก็ทำบุญให้ทาน
ในสมัย เจ้าหลวงสุมนเทวราช ผู้เป็นน้าของ เจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ คือ จุลศักราช ๑๑๘๒ (พ.ศ. ๒๓๖๓) ได้ปฏิสังขรณ์วิหารหลวงแช่แห้ง ซึ่งผุพัง ตอนบนมีแป และแหนบ ก่อฝาผนัง และซ่อมพระพุทธรูปองค์ใหญ่ (พระเจ้าล้านทอง) ทารักปิดทองคำเปลงใหม่ และสร้างฉัตรใหญ่ ๔ ใบ ทำด้วยไม้แก่นมุงด้วยกระดาน หุ้มด้วยแผ่นทองแดงหนัก ๑๒๐,๐๐๐ สลักด้วยลายดอก ประดับด้วยแก้ว (กระจก) ทารัก และชาด ปิดทองคำเปลวอย่างสุก ติดข่ายใบไร และหล่อระฆังใหญ่ ๒ ใบ สิ้นทอง ๑๗๐,๐๐๐ อีกลูกหนึ่ง สิ้นทองหนัก ๑๓๐,๐๐๐ และปลูกหอระฆังไว้ ๒ หลัง เสร็จสรรพได้ทำบุญ ให้ทาน และทำพิธีพุทธาภิเษก ฉลองเป็นพุทธบูชามหาธาตุแช่แห้ง และนอกจากนี้ยังได้ก่อรูปคนสามคนแม่ลูก ชายสองหญิงหนึ่ง ไว้กับพระธาตุแช่แห้งด้วย ถึงเดือน ๖ (เหนือ) แรม ๖ ค่ำเม็ง วันศุกร์ พ.ศ. เดียวกันนี้ แผ่นดินไหว ยอดฉัตรมหาธาตุภูเพียงแช่แห้งก็หักห้อยลง (ต่อไปไม่ปรากฏว่าใครบูรณะ) และใน จุลศักราช ๑๑๘๗ (พ.ศ. ๒๓๖๘) ใกล้จะตกปีใหม่ (สงกรานต์) บังเกิดลมใหญ่จากทิศตะวันตก พัดมาน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก ทำให้ต้นไม้ บ้านเรือนราษฎรพังพินาศ ยอดพระธาตุแช่แห้ง คดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
จุลศักราช ๑๑๙๘ (พ.ศ. ๒๓๗๙) เจ้าอชิตวงษา บุตรเจ้าหลวงสุมนเทวราช ขึ้นครองเมืองน่าน ในเดือน ๗ (เหนือ) แรม ๑๒ ค่ำ ได้กระทำการต่อแกนยอดเจดีย์แช่แห้งให้ยาวกว่าเดิมอีก ๔ ศอก รวมเป็น ๑๖ ศอก ฉัตรและเกิ้งเดิมมี ๙ ใบ ได้สร้างเพิ่มเป็น ๑๑ ใบ และทำพิธีพุทธาภิเษกเบิกบายทำบุญให้ทาน และต่อมาเจ้าหลวงมหาวงศ์ได้สร้างซ่อมวิหารพระธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง
โดย: Metha เวลา: 2015-6-3 11:19
จุลศักราช ๑๒๐๘ (พ.ศ. ๒๓๘๙) เดือน ๙ (เหนือ) แรม ๑๑ ค่ำ เจ้าหลวงมหาวงศืได้พร้อมขัตติยวงศาเสนาอำมาตย์ ก่อสร้างจุลพระเจดีย์ ๔ องค์ (องค์เล็ก) เหนือปากขันหลวงเจดีย์ภูเพียงแช่แห้ง ๔ ด้าน และซ่อมแซมวิหารหลวง ศาลาบาตร ลานพระเจดีย์ และประตูกับศาลานางป้อง ทั้งได้เอาแกนเหล็กขึ้นใส่ต่อ ก่อลูกหมาก และบานเข้า เอาฉัตรและเกิ้งขึ้นใส่อีก ๒ ใบ ดอกบัวเงิน ๖ ดอก ดอกบัวคำ ๖ ดอก สร้างระฆังเล็กแขวน ๑๐ ใบ และสร้างพระพุทธรูป ๓ องค์ เสร็จสิ้นก็ได้ทำบุญให้ทานเป็นมหาพอย (ปอยหลวงหรืองานฉลองใหญ่) ทำพิธีพุทธาภิเษกเบิกบายเป็นการใหญ่
เจ้าผู้ครองนครน่านผ่านมาหลายองค์ ไม่ปรากฏในตำนานนั้นว่าได้ปฏิสังขรณ์หรือบูรณะพระธาตุแช่แห้งแต่อย่างใด จะเป็นเพราะได้สร้างเหมือนกัน แต่ไม่บันทึกไว้ก็ได้ เท่าที่ปรากฏจนถึงสมัยพระเจ้าผู้ครองนครน่านมีพระนามว่า พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐ์มหันตไชยนันท์ บุรมหาราชวงศาธิบดี สุจริตจารีราชานุภาวรักษ์ วิบูลย์ศักดิ์กิติไพศาล ภูบาลบพิตร สถิตนันทราชวงษ์ พระเจ้านครน่าน (สุพรรณบัฏ) เป็นผู้ทรงศัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงศีล ๕ ศีล ๘ บริจาคทรัพย์ก่อสร้างสิ่งถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา และจารึกในศิลาไว้ ณ วัดแช่แห้ง
ตำนานพระธาตุแช่แห้ง ปรากฎในธรรมพระเจ้าเลียบโลกทรงพระพุทธทำนาย
ปรากฏในอดีตกาลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วเสด็จประทับ ณ พระเชตะวันมหาวิหารถึงพรรษาที่ ๒๕ พรรษา วันหนึ่งเวลาใกล้รุ่งพระองค์ทรงเล็งเห็นด้วยพระญาณว่า เราตถาคตเมื่อตรัสรู้แล้ว บัดนี้อายุเราได้ ๖๐ ปี เมื่ออายุแห่งเราได้ ๘๐ ปีเราก็จะดับขันธ์ปรินิพพาน ยังเหลือเวลาอีก ๒๐ ปีที่เราตถาคตจะดำเนินไปโปรดเทศนาสั่งสอนเทวดา มนุษย์และเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อพระองค์ทรงเล็งเห็นดังนั้นแล้ว พระพุทธเจ้าตนมีพระมหากรุณาจะเสด็จจึงเรียกเอาพระอรหันต์สาวกมีพระอานนท์เป็นผู้ถือบาตร พระรัตนเถร พระโสภณเถร พญาเมืองกุสินารามีพระนามพญาอโศกถือรองเท้าและไม้เท้าเสด็จตามพระพุทธเจ้าตามอุปฏฐาก ส่วนพญาอินทร์ก็ลงมาถือฉัตรกันแดดกันฝนให้พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ได้โปรดเทศนาชาวเมืองกุสินาราเป็นปฐมฤกษ์ พระก็เสด็จออกจากเชตวนอาราม ในวันเดือนเกี๋ยง แรม ๑ ค่ำ ไปยังเมืองคูลวา เมืองแกว เมืองลังกา เมืองสวนตาล เมืองจีน เมืองฮ่อ เมืองลื้อ เมืองเขิน เมืองพระยาก เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย ดอยนภยาว ไปจอมแว ดอยคระชาว เมืองลำปาง เมืองแพร่แล้วเสด็จมาถึงยังเมืองนันทบุรีเสด็จประทับอยู่ที่ริมน้ำห้วยไคร้
เมื่อนั้นเมืองนันทบุรีมีเจ้าผู้ครองนครพระนามว่าพญามลราชมีพระมเหสีชื่อเทวีสัณฐมิต ชาวเมืองทั้งหลายเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ทั่ริมแม่น้ำก็ได้ไปทูลให้พญามลราชทราบ พญามลราชทราบดังนั้นก็พิจารณาว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาโดยแท้จึงมีจิศรัทธาเลื่อมใสรีบเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ และพระพุทธองค์ทรงตรัสกับพญามลราชว่าพระองค์อยากมีใจใคร่อาบน้ำ ณ สถานที่นี้ พญามลราชทราบดังนั้นก็ได้ถวายผ้าอาบน้ำแก่พระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงรับเอาผ้าอาบน้ำแล้วลงสรงน้ำ เมื่อพระพุทธองค์ทรงสรงน้ำเสร็จ ผ้าอาบผืนนั้นก็กลายเป็นแผ่นทองคำ แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเอาผ้าผืนนั้นคืนให้แก่พญามลราช พญามลราชเห็นผ้าอาบน้ำกลายเป็นทองคำก็ทรงชื่นชมโสมนัส และได้กล่าวกับพระมเหสีให้เตรียมสาด เสื่อ ที่นอน หมอน ฉัตร พร้อมปูอาสนริมฝั่งน้ำด้านทิศตะวันตกเสร็จแล้วก็ได้อาราธนาพระพุทธองค์ทรงขึ้นประทับ และถวายเป็นข้าวบิณฑบาตและปัจจัยอันควรฉันท์แด่พระพุทธองค์
ครั้นพระพุทธองค์ทรงฉันภัตตาหารเสร็จ ได้เล็งญาณเห็นไปในภายภาคหน้าจึงตรัสแก่พญามลราชว่า “ดูรามหาราชเราได้ดำเนินโปรดเทศนา ได้มาอาบน้ำ และได้เสวยภัตตหารที่ท่าน และพระมเหสีได้ถวายให้แก่เรา ณ ที่นี้และสถานที่แห่งนี้ในภายภาคหน้าจะได้ชื่อว่า “ เมืองนาน” ” พญาอโศก พญาอินทร์ และพระอานนท์ ได้ยินคำทำนาย ดังนั้นแล้วพระอานนท์จึงกราบทูลขอพระเกศาธาตุต่อพระพุทธเจ้า เพื่อไว้เป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลายตราบเท่า ๕,๐๐๐ พระวรรษา พระองค์จึงเอาพระหัตถ์ลูบศีรษะก็ได้พระเกศาเส้นหนึ่ง มอบให้แก่พระอานนท์ พระอานนท์ก็รับเอาพระเกศามอบให้แก่พญามลราช พญามลราชก็ปิติโสมนัสยิ่งได้สั่งให้สร้างโกศแก้วมณีมีวรรณเขียวใสเหมือนปีกแมงทับ แล้วเอาใส่น้ำต้นฅนฑีปิดฝา คาดด้วยไหมทอง แล้วพญามลราช พญาอินทร์ พญาอโศก และพระอรหันต์ทั้ง ๓ พระองค์มีพระรัตนเถร พระโสภณเถร พระอานนท์ พร้อมด้วยชาวเมืองทั้งหลายก็นำเอาพระเกศาธาตุ ไปยังดอยภูเพียงแช่แห้ง ขุดหลุมลึกลง ๓๐ วา กว้างยาวเท่ากัน และพญามลราชก็ได้บรรจุพระเกศาลงไปในหลุมพร้อมเงินอีก ๓๐๐,๐๐๐ บูชา ส่วนพระมเหสีเทวีสัณฐมิต ก็บรรจุเงินอีก ๓๐๐,๐๐๐ บูชา ส่วนชาวเมืองทั้งหลายก็มีจิตศรัทธาเหลื่อมใสบรรจุเงินเป็นจำนวนมากจนนับไม่ได้ เพื่อเป็นเครื่องบูชาพระเกศาธาตุเจ้า และเพื่อปัจจัยให้ถึงพระนิพพานไปในภายภาคหน้า ส่วนท้าวพระยาทั้งหลายมีพญาอินทร์เป็นประธานได้แต่งยนต์จักรไว้ภายในเพื่อรักษาพระเกศาธาตุเจ้าไว้ตราบเท่า ๕,๐๐๐ พระวรรษา พญามลราชก็ได้ก่ออิฐตั้งเป็นเจดีย์ในหลุมสูง ๓ ศอก แล้วก็ถมดินดังเดิม
โดย: Metha เวลา: 2015-6-3 11:19
เมื่อนั้นพระพุทธองค์ก็ทำนายไว้อีกว่า “เมื่อเราตถาคตนิพพานไปแล้วจงได้เอาธาตุกระดูกข้อมือด้านซ้ายไว้กับพระเกศาในที่นี้เถิด” พระพุทธองค์ตรัสไว้เท่านี้ก็เสด็จไปยังเมืองแพร่ เมืองสาย เมืองสร้อยทรายขาว เมืองลี้ ดอยเกิ้ง ไปเมืองฮอด เมืองลำพูน เชียงใหม่ เมืองตืน เมืองยวมข้ามแม่น้ำสะโตง ท่าฮอนนครกุสินาราแล้วสด็จกลับเมืองสาวัตถีและประทับอยู่ ณ พระเชตวนอาราม พระพุทธองค์เสด็จออกโปรดเทศนาแก่มวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นเนืองนิตย์ จนพระชนมายุได้กว่า ๗๐ พรรษาพระพุทธองค์และพระอานนท์ได้เสด็จผ่านมายังนครนันทบุรีอีกครั้งหนึ่งและเสด็จประทับ ณ บนดอยภูเพียงใต้ร่มไม้สำโรง เมื่อนั้นยังมีพราหมณ์ผู้หนึ่งมาจากห้วยไคร้ผ่านมายังที่พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ พราหมณ์ผู้นั้นได้ใช้ให้ข้าทาสชายกลับไปเอาลูกสมอที่แช่น้ำไว้เพื่อมาถวายแด่พระพุทธองค์ ข้าทาสชายได้ไปนานนัก เมื่อกลับมาท่านพราหมณ์ได้ถามว่า “ทำไมเจ้าถึงได้ไปนานนัก” ข้าทาสชายได้ตอบว่า “ลูกสมอที่แช่น้ำไว้แห้งเสียแล้ว” ว่าแล้วท่านพราหมรณ์ก็ได้นำลูกสมอถวายแด่พระพุทธองค์ ขณะนั้นมีแมงม่าเต้าตัวหนึ่งมาอยู่แทบเบื้องพระบาทพระองค์ พระพุทธองค์ก็ทรงแย้มพระสรวลขึ้น เมื่อนั้นพระอานนท์ได้ตรัสถามพระพุทธองค์ว่า “พระพุทธองค์ทรงพระสรวลด้วยเหตุใด” พระพุทธองค์จึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า “ดูก่อนท่าอานนท์เมื่อเราตถาคตเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วจงเอาธาตุกระดูกข้อมือซ้ายของเรามาสถิตย์อยู่ ณ ที่นี้เถิด ตราบเท่า ๕,๐๐๐ พระวรรษา บ้านห้วยไคร้จะได้ชื่อว่า เมืองนาน สถานที่บนดอยแห่งนี้จะได้ชื่อว่า แช่แห้ง แมงม่าเต้าตัวนี้จะเกิดเป็นเจ้าผู้ครองนครแห่งนี้ชื่อว่า ท้าวขาก่าน ท่านพราหมณ์ผู้นี้จะเกิดเป็นอุบาสกผู้หนึ่ง เพื่อช่วยท้าวขาก่านทำนุบำรุงพระศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป ” พระพุทธองค์ได้ตรัสทำนายเพียงเท่านี้และได้เทศนาโปรดท่านพราหมณ์ และสรรพสัตว์บริเวณนั้นเสร็จแล้วก็ได้เสด็จไปยังเมืองต่างๆอีกหลายเมืองและได้เสด็จกลับเมืองกุสินาราเมื่อพระชนมายุเกือบครบ ๘๐ พรรษา ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานพระพุทธองค์ได้เสด็จประทับอยู่ใต้ต้นรังและได้เสด็จดับขันธ์ในปีมะเส็ง ขึ้น ๑๕ ค่า เดือน ๘ พระจันทร์เสวยฤกษ์ดวงชื่อ วิสาขา พระชนมายุเต็ม ๘๐ พรรษา
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายได้นำเอาพระธาตุเจ้าไปสถิตย์ไว้ตามที่ต่างๆตามที่พระพุทธองค์ทรงทำนายไว้ และ ณ สถานบนดอยภูเพียงนี้ก็เช่นกันพระอรหันต์เจ้าพร้อมกับชาวเมืองทั้งหลายก็ได้นำพระธาตุมาประดิษฐานโดยได้ขุดหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมลึก ๒๐ วา กว้าง ๕ วา แล้วก่อกู่แก้วสูง ๓ วา คร่อมพระธาตุไว้และได้สร้างยนต์จักรเพื่อรักษาองค์พระธาตุและถมดินปิดหลุมให้เรียบดังเดิม
หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ๒๑๘ ปี พญาอโศกราชกษัตริย์เมืองปาตาริบุตร แห่งชมพูทวีป มีใจใคร่สร้างพระธาตุเจดีย์ จำนวน ๘๔,๐๐๐ หลังไว้ทุกเมืองตราบจนมาถึงเมืองนันทบุรีก็พร้อมชาวเมืองทั้งหลาย ขุดหลุมเป็นรูป ๔ เหลี่ยม ลึก ๑๐ วา กว้าง ๕ วา แล้วนำพระธาตุที่พระเจ้าอโศกราชบรรจุในผอูปทองคำฝังไว้ ทั้งยังได้หล่อทองคำเป็นรูปสิงห์ไว้กลางหลุม และสร้างยนต์จักรล้อมพระธาตุไว้แล้วก็ได้ถมดินให้เสมอดังเดิมและก่อเจดีย์สูง ๓ วาคร่อมไว้
ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ปรากฏว่ามีกษัตริย์พระองค์ใดสืบทอดพระศาสนาปล่อยให้ป่าไม้ปกคลุม เจดีย์ก็ชำรุดทรุดโทรมพังทลายเสียหายหมด จวบจนเวลาผ่านไป ๑,๙๐๐ ปี
ตำนานประวัติพระธาตุแช่แห้งตอนพระพุทธทำนายก็มีเพียงเท่านี้แล
คำนมัสการพระธาตุแช่แห้ง
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (3 จบ)
ยา ธาตุภูตาอะตุลานุภาวา จิรังปะติฏฐิตานันทะกัปปะเก ปุเรเทเวนะ คุตตาวะระพุทธะธาตุง จิรัง
วันทามิหันตังชินะธาตุโย โสตะถาคะตัง
อะหัง วันทามิสัพพะทา อะหัง วันทามิ ทูระโต
โดย: Metha เวลา: 2015-6-3 11:20
อัฏฐพญานาคราช
พญานาคราช ถือเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่คู่พระพุทธศาสนานับมาแต่โบราณกาล ถือเป็นเทพองค์เดียวที่มีบุญบารมี ได้บวชในพระพุทธศาสนา และได้ปกปักษ์รักษาคุ้มครองพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พ้นจากพญามารทั้งหลาย ที่มาขัดขวางการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธองค์ไม่ให้บรรลุพระสัมมาโพธิญาณ
อัฏฐพญานาคราช หมายถึง พญานาคราช 8 ตัว แบ่งเป็น 4 คู่ คู่ที่ 1 2 3 ใช้ส่วนหางเกี้ยวกวัดรัดกันเป็นบ่วง คู่ละ 3 บ่วง ส่วนคู่ที่ 4 เกี้ยวกวัดรัดกันเป็นบ่วง 4 บ่วง รวมแล้ว 4 ชั้น
พญานาคราช ที่เกี้ยวกวัดรัดกันทั้ง 8 ตัวนั้น เมื่อเพ่งพินิจให้ดี จะปรากฏเป็นรูปเจดีย์และรูปองค์พระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิ และมีช่อดอกบัวตูม 7 ดอก โผล่พุ่งขึ้นมาด้านข้าง ซึ่งมีนัยที่แฝงด้วยพุทธปรัชญา คือ
พญานาคราช 8 ตัว แทนพระธรรมคัมภีร์ อริยมรรแปด เป็นเส้นทาง 8 เส้นทางที่พระตถาคตทรงใช้สอนพุทธศาสนิกชนให้เดินสู่ความหลุดพ้น
ส่วนหางพญานาคราชคู่ที่ 1 2 3 เกี้ยวกวัดรัดกันเป็นบ่วงสามบ่วง สามชั้นนั้นแทนองค์สาม ในพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไตรลักษณ์ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่คู่ที่ 4 อยู่ด้านบนสุดนั้นเกี้ยวกวัดรัดกันเป็นสี่บ่วง แทนอริยสัจสี่ คือ ความจริงที่พระอริยเจ้าตรัสไว้ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จำนวนชั้นทั้งสี่ชั้น หมายถึง สูญญตา
ดอกบัว 7 ดอก แทนอภิธรรมา 7 คัมภีร์ หรือหลักธรรม สัปปุริสัทธรรม 7 ประการ โภชชงค์ 7 ดังนั้น อัฏฐพญานาคราช ที่เกี้ยวกวัดรัดกันที่ปรากฏดังในรูปนี้ ก็หมายถึง พระธรรมคัมภีร์ 84,000 พระธรรมขันธ์ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง
โดย: Metha เวลา: 2015-6-3 11:21
อ่าน: พระนามองค์นาคราช และรายละเอียดเฉพาะองค์ ได้ที่
http://phimeanakas.blogspot.com/2012/05/blog-post_21.html
ตำนานพระเจ้าเลียบโลก
กล่าวว่า...สมเด็จผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปสู่เมืองน่าน ทรงบรรลุถึงแม่น้ำแม่หนึ่ง ทรง ปรารภเพื่อจะเสด็จลงไปสรงน้ำยังมีพระยาม่านองค์หนึ่ง มีพระนางเทวีชื่อว่า “สัณฐมิตตาเทวี” พระยาเสวยเมืองแห่งนั้น เมื่อ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมตตา ก็ทรงมีพระทัยยินดีเป็นอันมาก จึงตรัสแก่พระเทวีว่า “นางจงกลับไปเอา อาสนากับโภชนาหารมาโดยรีบเถิด เราจะอาราธนาพระพุทธเจ้าประทับเสวยอาหาร” นางเทวีก็กลับไปตามพระดำรัสของพระราชา แต่ไปอยู่ในเรือนเนิ่นนานสักเล็กน้อย พระยาก็ร้อนพระทัยจึงทรงติเตียนว่า “นางนี้เป็นอันช้านานมาแท้หนอ”
พระยาจึงลุกขึ้นทรงวิ่งกลับไปตามโดยรีบด่วน นำอาสนาและโภชนาหารมาพลันนัก และถวายแก่พระพุทธองค์ทรงประทับนั่งอยู่ที่ ข้างแม่น้ำฝั่งตะวันตก ทรงเสวยพระกระยาหารแล้ว ก็ทรงพยากรณ์ว่า “เมื่อตถาคตมาที่นี้ พระยาใช้ให้นางสัญฐามิตตาเทวี กลับไปเอาวัตถุมาทำบุญแต่นางไปแล้วเนิ่นนานเช่นนั้น ต่อไปภายหน้าเมืองนี้จะได้ชื่อว่า “เมืองนาน” ภายหลังจะแปรว่า “เมืองน่าน” เมืองนี้ก็ควรตั้งศาสนา” พระอรหันต์และพระเจ้าอโศกราช ก็กราบทูลขอพระเกศาธาตุ พระพุทธเจ้าก็ทรงเอาพระ หัตถ์ลูบพระเศียรได้พระเกศาธาตุมาหนึ่งองค์จึงทรงมอบให้แก่พระอรหันต์และพระเจ้าอโศกราช แล้วมอบต่อแก่พระยา พระยา ม่านก็เอาบรรจุในผอบทองคำซ้อนผอบแก้ว แล้วเอาใส่ในคนโทนทองคำใหญ่ ๗ กำมือ แล้วใส่ในหลุมที่ขุดลึก ๑๐๐ วา เอาพระ เกศาธาตุตั้งไว้ในท่ามกลาง พระยาม่านใส่ทองคำเป็นเครื่องบูชาหนึ่งล้านเจ็ดแสน พระอินทร์ทรงเนรมิตยนตร์จักรผันป้องกันไว้ แล้วก็ถมขึ้นมาจนเต็ม ก่อพระเจดีย์ทับข้างบนสูง ๓ ศอก แล้วพระพุทธเจ้าตรัสสั่งว่า “เมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว ท่านจงนำเอา ธาตุข้อมือข้างซ้าย มาบรรจุไว้ที่นี้เถิด” (พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน)
ประวัติการสร้างวัดพระธาตุแช่แห้ง คือในสมัยที่พระญาการเมือง เจ้าผู้ครองนครปัว (ปัจจุบันคืออำเภอปัว จังหวัดน่าน) ลำดับที่ ๕ จ.ศ. ๗๑๕ – ๗๒๕ ตรงกับ พ.ศ. ๑๘๙๖ – ๑๙๐๖ ทรงมีสัมพันธไมตรีอยู่กับกรุงสุโขทัย อีกทั้งทรงเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา และเห็นว่าพระพุทธศาสนาในสุโขทัยมีความรุ่งเรือง พระองค์จึงอัญเชิญพระธาตุเจ้าพระพิมพ์ทองคำและพระพิมพ์เงินจากเจ้าเมืองสุโขทัยมาอย่างละ ๒๐ องค์ เพื่อนำมาประดิษฐานไว้ที่เจดีย์บนดอยภูเพียงแช่แห้ง (วัดพระธาตุ แช่แห้งในปัจจุบัน) เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๖ แต่ในปีต่อมามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในเมือง พระญาการเมืองจึงย้ายมาตั้งเมืองใหม่อยู่ที่ดอย ภูเพียงแช่แห้ง จนสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๑๙๐๒ จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๑๙ ท้าวขาก่าน (ท้าวขากาน) ได้รับการแต่งตั้งจากพระ เจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งล้านนา ให้เป็นผู้ครองเมืองน่านจนถึง พ.ศ. ๒๐๒๑ ตลอดระยะเวลาที่ได้ครองเมืองอยู่นั้น ท้าวขาก่าน ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุแช่แห้งอยู่อย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งมีกองทัพแกวยกมาตีเมืองหลวงพระบางแล้วเลยมาถึงเมืองน่าน ท้าวขาก่านไม่สามารถเอาชนะข้าศึกได้ พระเจ้าติโลกราชจึงต้องยกกองทัพมาช่วยและขับไล่พวกแกวไปได้
โดย: Metha เวลา: 2015-6-3 11:21
ยอดพระธาตุองค์เดิม
วิหารหลวงข้างพระธาตุ
จากนั้นพระเจ้าติโลกราชทรงพิจารณาแต่งตั้งให้ท้าวขาพับเป็นผู้ครองเมืองน่านแทนท้าวขาก่าน แล้วให้ท้าวขาก่านไปครอง เมืองเชียงราย ตลอดเวลาที่ครองเมืองอยู่นั้น ท้าวขาพับก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุแช่แห้งที่ทำค้างอยู่โดยเสริมองค์เจดีย์ซึ่ง เดิมสูงเพียง ๑๘ วาให้เป็น ๒๗ วา และขยายฐานเดิมที่กว้างเพียง ๗ วา เป็น ๑๐ วา บุองค์พระเจดีย์ด้วยทองเหลืองอร่ามทั้งองค์ รวมทั้งก่อสร้างวิหารและพระอุโบสถล้อมรอบจนเสร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๒๒ นับแต่นั้นเป็นต้นมาพระธาตุแช่แห้งก็ ได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้าผู้ครองเมืองน่านมาโดยตลอด นับจากสมัยท้าวอ้ายยวม สมัยเจ้าศรีสองเมือง มาจนถึงสมัยพระเจ้า สุริยพงษ์ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้มีการนำเอาแผ่นทองเหลืองมาหุ้มองค์พระเจดีย์หมดทั้งองค์แล้วปิดด้วยทองคำเปลว จากนั้น ได้สร้างพระวิหารคู่กับพระธาตุอีก ๑ หลัง อีกทั้งได้สร้างกำแพงพร้อมด้วยระเบียงล้อมรอบพระธาตุทั้ง ๔ ด้าน ( ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้บางตำนานกล่าวว่าท้าวขาพับเป็นผู้ปฏิสังขรณ์เจดีย์และก่อสร้างวิหาร ตลอดจนอุโบสถล้อมรอบเจดีย์นั้นจนสำเร็จสมบูรณ์ในปี พ . ศ . ๒๐๒๒ ) ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๘๖ แผ่นทองเหลืองที่หุ้มองค์เจดีย์ถูกแกะออกไปขายแล้วโบกปูนแทน จนกระทั่ง พ.ศ.๒๕๐๓ ทางวัดจึงได้หาแผ่นทองเหลืองมาหุ้มใหม่และทำการบูรณะพระธาตุแช่แห้งเรื่อยมา ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
อนึ่ง มีข้อความในบางตำราได้กล่าวถึงที่มาของชื่อ “พระธาตุแช่แห้ง” แตกต่างออกไปว่า พระธาตุแช่แห้งตั้งอยู่ในเวียงภู เพียงแช่แห้ง อันเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองน่าน และเมืองแห่งนี้เป็นเมืองที่แห้งแล้งมากแม้แต่การสร้าง โรงหลวงให้พระญาครานเมือง ยังต้องนำไม้มาแช่น้ำแม่เตียนและแม่ลิงเอาไว้ก่อน เวียงภูเพียงจึงได้สร้อยต่อท้ายตามสภาพ ที่กันดารน้ำว่าแช่แห้ง ดัง ตำนานพื้นเมืองน่าน กล่าวไว้ว่า “… น้ำลวดแห้งเสีย ฝนบ่ตก ได้ชื่อว่าแช่แห้ง …” ภายหลังเมื่อมีการสร้างพระธาตุขึ้น จึงตั้งชื่อองค์พระธาตุตามชื่อของเมืองดังกล่าว (“ แช่ ” แปลว่าเมือง ) ปัจจุบันนี้ องค์พระ ธาตุแช่แห้งได้รับการปฏิสังขรณ์ให้เป็นสถูปรูปเจดีย์พื้นเมือง ทรงระฆังคว่ำ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อเก็จแบบศิลปะล้านนา (เชียงแสน) สูงประมาณ ๕๕.๕ เมตร ฐานกว้างด้านละ ๒๒.๕ เมตร ภายนอกขององค์พระธาตุหุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ลงรักปิดทอง มีสถูปจำลอง (จุลเจดีย์) ทั้ง ๔ มุมของฐาน ถัดลงมาที่พื้นมีฉัตรแบบพม่า ประดับทั้ง ๔ มุม องค์พระธาตุมีกำ แพงล้อมรอบอยู่ชั้นในและมีระเบียงล้อมรอบ ชั้นนอกกว้าง ๕๗ เมตร ยาว ๘๐ เมตร องค์พระธาตุมีประตูทางเข้า ๔ ทาง
อาคารเสนาสนะของวัดพระธาตุแช่แห้ง ประกอบด้วยอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฎิสงฆ์ โบราณสถานและปูชนียสถานของ วัดพระธาตุแช่แห้งที่สำคัญ ๆ นอกจากองค์พระธาตุที่ได้กล่าวถึงแล้วข้างต้นยังมีพระวิหารขนาดใหญ่ ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ เหนือประตูทางเข้าจะมีลวดลายปูนปั้นเป็นรูปนาคไขว้ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของศิลปกรรมเมืองน่าน ที่นิยมนำเส้นลายของรูปลำตัวนาคมาใช้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในทางรูปแบบศิลปกรรม หลังคาประดับด้วยตัวนาคยาวจากด้านหน้าจดด้านหลัง ภาย ในประดิษฐานพระพุทธรูปทันใจและหลวงพ่อสังกัจจายน์ รวมถึงพระอุโบสถซึ่งก่อสร้างด้วยอิฐสอปูนและมีโครงสร้างของหลัง คาเป็นไม้ทั้งหมด อีกทั้งวิหารพระนอน (วิหารพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่) ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ตลอดจนศาล ของเจ้าพ่อขาก่าน ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน (ผู้สร้างพระธาตุแช่แห้ง) และเสื้อพระธาตุของวัดพระธาตุแช่แห้งที่อยู่ตามทิศต่างๆ ลักษณะรูปทรงเป็นงานสมัยหลัง คาดว่าเป็นการสืบต่อความเชื่อเรื่องทิศ สิ่งสำคัญของวัดพระธาตุแช่แห้งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนคือ องค์พระธาตุแช่แห้ง วิหารหลวง วิหารพระนอนและบันไดนาคโดย ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๑ ตอนที่ ๖๕ ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ และได้รับการประ กาศกำหนดขอบเขตในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๗ ตอนที่ ๑๕๙ ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓
วิหารหลวง อยู่ทางทิศใต้ขององค์พระธาตุ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะของวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผู้า มีประตูทางเข้าสี่ด้าน ที่ประตูทางเข้าด้านหน้ามีปูนปั้นรูปสิงห์สองตัวตามแบบศิลปะพม่า เหนือกรอบประตูด้านหน้าและหลังประดับลายปูนปั้น เป็นรูปนาคเกี่ยวกระหวัดกันแปดตัว หลังคาทรงจั่วซ้อนลดหลั่นกันสามชั้นตามแบบล้านนา ที่น่าสนใจคือตรงกลางสันหลังคาทำ เป็นส่วนหางของนาคสองตัวเกี่ยวกระหวัดกันขึ้นไปเป็นสามชั้น เป็นศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากล้านช้างที่งดงามและหาดูได้ ยากในปัจจุบัน
โดย: Metha เวลา: 2015-6-3 11:22
เดินไปกันต่อที่บ่อน้ำทิพย์
รูร่องน้ำข้างกำแพงที่พญานาคห้ามปิด
โปรยพลอยแผ่นทองและน้ำหอมถวายลงบ่อน้ำทิพย์
ภายในบ่อน้ำทิพย์
ขอขอบคุณที่มา: http://www.danpranipparn.com/web/pratttas/pratta25mini12.html
โดย: sritoy เวลา: 2015-6-3 11:38
สาธุครับ
โดย: Metha เวลา: 2015-6-3 11:39
โดย: majoy เวลา: 2015-6-12 02:01
น่าไปไหว้พระธาตุนี้ซักครั้งจัง
โดย: Metha เวลา: 2015-6-12 10:49
ไปด้วย
โดย: majoy เวลา: 2015-6-13 00:12
เห็นว่าพระธาตุแต่ละแห่งจะเสริมศิริมงคลให้คนเกิดแต่ละปีได้ด้วยนะ
โดย: Metha เวลา: 2015-6-13 07:28
ดีจริง
โดย: oustayutt เวลา: 2016-1-15 21:51
ดีเลยครับ
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) |
Powered by Discuz! X3.2 |