Baan Jompra

ชื่อกระทู้: ประวัติโรตีสายไหม(History of Rotisaimai) [สั่งพิมพ์]

โดย: kit007    เวลา: 2015-5-3 20:56
ชื่อกระทู้: ประวัติโรตีสายไหม(History of Rotisaimai)
ประวัติโรตีสายไหม(History of Rotisaimai)
      


         โรตีสายไหมเป็นขนมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  และเป็นขนมของชาวไทยมุสลิมที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษคือ นายบังเปีย  แสงอรุณ  เป็นผู้นำเข้ามาในจังหวัดอยุธยา  นายบังเปียเกิดในครอบครัวที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร  คือทำนา  มีพี่น้อง  10  คน  ชื่อจริงคือ                                นายซาเล็ม  แสงอรุณ                              เกิดวันพุธ  เดือน  12 ปี   พ.ศ. 2489  ณ  บ้านวงแหวน  บางปะอิน  คลอง  1  อำเภอวังน้อย  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ด้วยฐานะที่ยากจน  เด็กชายซาเล็มจึงตัดสินใจออกจากบ้าน  เมื่ออายุได้ 11 ขวบ  ไปรับจ้างทั่วไปตามต่างจังหวัด  จนกระทั่งไปอาศัยอยู่กับอาที่อำเภอ  สัตหีบ  จังหวัดชลบุรี  ช่วยทำขนมหวาน  เช่น  โรตีกรอบ  โรตีใส่นม  แล้วนำไปขายที่บริเวณวัดหลวงพ่ออี๋   ในแต่ละวันเมื่อขายขนมเสร็จแล้ว  จะต้องกลับไปเคี่ยวน้ำตาล  เพื่อนำไปหยอดที่แป้งกรอบ              มีบางครั้งเคี่ยวน้ำตาลนานไปน้ำตาลจะแข็ง  บังเปียจึงทดลองดึงน้ำตาลให้ยืดขึ้น  เพื่อให้น้ำตาลอ่อนตัว  หยอดที่โรตีกรอบได้  นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำโรตีสายไหม  และฝึกหัดดึงน้ำตาลเคี่ยวให้เป็นเส้นไหมอยู่หลายปี  จนมีความชำนาญ




     ในปี พ.ศ. 2506  อายุได้ 17 ปี ได้เดินทางกลับไปที่บ้านวงแหวน ฯ แล้วย้ายไปเช่าบ้านอยู่ที่ข้างสุเหร่าวัฒนา อำเภอพระนครศรีอยุธยา ทำโรตีสายไหมใส่กล่องไม้สะพาย ถีบจักรยานคู่ใจ     เร่ขายไปทั่ว ในสมัยนั้นคนซื้อจะนำเหรียญสลึงมาหย่อนลงในช่องที่เจาะไว้ เข็มที่หน้าปัดซึ่งมีตัวเลขเขียนไว้จะหมุนไป เมื่อเข็มหยุดที่เลขใดก็จะได้จำนวนชิ้นเท่านั้น เป็นที่สนุกสนานของคนซื้อ บังเปียขายอยู่หลายปี กระทั่งในปี พ.ศ. 2520  ได้แต่งงานกับนางมั่น เป็นชาวโคราช มีบุตรชาย 3คน และผู้หญิง 2 คน จึงคิดที่จะสร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่นกว่าที่เป็นอยู่ ต่อมาได้ย้ายไป       เช่าบ้านอยู่ในตัวเมืองอยุธยา ริมถนนอู่ทอง เส้นทางไปโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ช่วยกันทำโรตีสายไหมขายเป็นอาชีพของครอบครัว ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับ ไม่ยากแค้นเช่นในวัยเด็ก
     บังเปียไม่หยุดนิ่งในฝีมือ หมั่นปรับปรุงรสชาติแป้งโรตีอยู่เสมอให้ถูกใจผู้บริโภค เช่น จากสูตรดั้งเดิม ตัวแป้งมีส่วนประกอบ แป้งสาลี น้ำ เกลือ ก็เพิ่มรสชาติด้วยการใส่นม กะทิ งา และธัญพืช กิจการขยายตัวขึ้นเป็นที่รู้จักของชาวอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง ขายได้ 200-300 กิโลกรัม ต่อวัน จึงชักชวนพี่น้อง จำนวน 6 คน ให้มายึดอาชีพทำโรตีสายไหมขาย                ทำให้ตระกูลแสงอรุณขยายกิจการกระจายไปทั่วถนนอู่ทอง และขยายวงกว้างไปตามเส้นทางสายเอเชีย  ถนนมิตรภาพ ผ่านไปมาจะเห็นร่มกางสีสวยข้างทางพร้อมป้ายปักโรตีสายไหมอยุธยา สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ญาติ ไม่หวงวิชาถ่ายทอดด้วยความเต็มใจ จึงมีลูกศิษย์แยกตัวไปประกอบอาชีพนี้มากมาย
     ปัจจุบันได้รับเชิญไปสอนการทำโรตีสายไหมให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เช่นฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัด ตามห้างสรรพสินค้าที่มีการจัดงานต่าง ๆ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปเปิดงานขนมไทย ณ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง บังเปีย แสงอรุณ ได้แสดงฝีมือการดึงเส้นสายไหม ถวายพระองค์หญิงทอดพระเนตรการทำอย่างใกล้ชิด พระองค์สนพระทัยอย่างมาก ทรงประทานรางวัลเกียรติคุณแก่ บังเปีย แสงอรุณ ยังความปลาบปลื้มและความภาคภูมิใจในอาชีพนี้ ด้วยวัยย่างเข้า ปีที่ 61 ใบหน้าที่ยิ้มละมัย อารมณ์ดี ไม่ท้อชีวิตมีความสุข ทุกครั้งที่เล่าชีวิตหนหลังให้กับทุกคนได้รับรู้ด้วยความภาคภูมิใจที่ก้าวมายืน ณ จุดนี้ได้ด้วยความมานะบากบั่นของตนเองและให้กำลังใจกับคนที่ท้อแท้ในชีวิตให้ลุกขึ้นสู้ชีวิตต่อไป ในช่วง 40 ปี ที่ผ่านมา

     ต่อมาได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่มาสักการะพระพุทธรูป และมาเที่ยวชมโบราณสถาน  บวกกับมีการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน ข้าราชการประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และให้มีการนำสินค้าขึ้นทะเบียน OTOP จึงทำให้มีการตั้งขายอยู่กับที่เปิดเป็นร้านถาวร มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น สายไหมจากเดิมมีสีเดียว รสชาติเดียว เปลี่ยนเป็นหลายสี หลายรสชาติ   มีทั้งรสส้ม รสใบเตย รสโกโก้ ส่วนแผ่นแป้งก็มีหลากหลายรสชาติเหมือนกัน เช่น รสใบเตยใส่งา            ใส่เม็ดมะม่วงหิมพานต์ป่น รสเผือก เป็นต้น



ที่มาของภาพ www.vcharkarn.com

https://sites.google.com/site/ro ... story-of-rotisaimai



โดย: majoy    เวลา: 2015-5-4 01:30
อยุธยา สมแล้วที่เป็นแหล่งกำเนิด
ร้านโรตีที่ซื้อประจำชื่อ อาบิดีน อร่อย คนต่อคิวซื้อทีเดียว




ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2