[attach]10603[/attach][attach]10604[/attach]
โศลกดาบ ความเชื่อ
ดาบกับวิถีชีวิตป้อจายล้านนา
ดาบเป็นอาวุธโบราณชนิดหนึ่ง ดาบล้านนาหรือที่เรียกว่าดาบเมืองนั้นมีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากดาบไทย ดาบญี่ปุ่น หรือดาบของชนชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของใบดาบก็ดี ลักษณะของฝักดาบก็ดี ลักษณะของเหล็กที่ใช้ตีเป็นใบดาบก็ดี ทั้งหมดนั้นจะส่งผลต่อการใช้งาน ซึ่งหากได้ศึกษา ให้ละเอียดลึกซึ้งแล้ว เราอาจจะได้องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์จากการศึกษาดาบก็เป็นได้
เนื่องจากในอดีตกาล ผู้คนในดินแดนล้านนาตลอดจนดินแดนที่อยู่เหนือขึ้นไปเช่น เชียงตุง สิบสองปันนา ล้วนแต่มีการไปมาติดต่อกันเป็นประจำ แต่ละพื้นที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์และธรณีวิทยาที่แตกต่างกันไป จึงทำให้มีของดีของงามไม่เหมือนกัน เหมือนกับวัสดุที่ใช้ทำดาบก็เช่นกัน ดังมีคำกล่าวว่า “เหล็กดี เหล็กเมืองหนอง” หมายถึง เหล็กที่ดีมีคุณภาพสำหรับตีเป็นใบดาบ ต้องเป็นเหล็กจากเมืองหนองหรือหนองอินเล ประเทศพม่า ซึ่งก็คือพื้นที่ของกลุ่มชาวไทใหญ่หรือรัฐฉานในปัจจุบันนั่นเอง
มีองค์ความรู้หลายด้านเกี่ยวกับดาบล้านนา ดังต่อไปนี้
ผศ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง นักวิชาการผู้ซึ่งศึกษาวัฒนธรรมล้านนาหลากหลายแขนง โดยเฉพาะในด้านอาวุธโบราณและวัตถุมงคลล้านนา ได้อธิบายเกี่ยวกับโฉลกดาบหรือโศลกดาบไว้ในหนังสือดาบเมืองว่าคือคำร่ำเกี่ยวกับสูตรดาบ เพื่อให้ต้องโฉลกกับบุคคล นักเลงดาบ คนชอบดาบ หรือผู้ที่ต้องการ มีดาบไว้ประจำตัวเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลกับตัว โดยมีวิธีการ วัดโฉลกดาบหลายอย่าง เช่น ใช้นิ้ววัด ใช้แขนวัด ใช้ไม้วัด เป็นต้น
พิจารณาโดยละเอียดในแต่ละส่วน ดังนี้
๑. ใบดาบ ในอดีต กรรมวิธีการตีใบดาบนั้นยุ่งยาก ใบดาบจะทำจากเหล็กโบราณ ได้มาโดยวิธีการนวดเหล็ก คือเผาไฟจนเหล็กอ่อนแล้วตีให้แผ่ออกไปแล้วพับทบซ้อนกันไปมาจนเหล็กมีความหนึบจึงนำไปขึ้นรูปแล้วชุบแข็งเป็นใบดาบ
ในปัจจุบัน การตีใบดาบมีความสะดวกกว่ามาก สามารถใช้เหล็กที่สำเร็จรูปอยู่แล้ว เช่นเหล็กลาน เหล็กแหนบนำไปเผาไฟแล้วตีเป็นใบดาบได้เลย ไม่ต้องผ่านกระบวนการนวดเหล็กอีก
ใบดาบล้านนาตามทัศนะของครูธนชัยนั้น แบ่งออกตามลักษณะปลายดาบได้ ๓ ลักษณะ ดังนี้
- ปลายเหลี้ยม(ปลายแหลม) ปลายว้าย (ปลายแหลมแต่ไม่แหลมมากเท่าดาบปลายเหลี้ยม) มีเหลี้ยมหางไก่ เหลี้ยมใบคา ว้ายปีกเป็ด เป็นต้น
- ปลายบัว หรือปลายมน
- ปลายเปียงหรือปลายตัด
๒. ด้ามดาบ ทำจากไม้ไผ่รวกปล้องยาว รัดด้วยหวายที่ถักเป็นปลอกแล้วทารักเคลือบด้ามดาบบางเล่มอาจจะใช้ไม้แข็งก็ได้ แต่ไม่นิยมเพราะหนักเกินไป หากเป็นดาบหลูบเงิน ก็จะใช้แผ่นเงินหุ้มทั้งด้ามดาบและฝักดาบ
๓. ฝักดาบ ทำจากไม้สองชิ้นประกบกันแล้วเซาะร่องเป็นรูปใบดาบเพื่อให้สอดใบดาบเข้าไปได้ การสู้รบในอดีตสามารถใช้ฝักดาบในการต่อสู้ด้วย คือใช้รับคมดาบของคู่ต่อสู้เป็นการป้องกันตัว ดังนั้น ดาบที่ผ่านศึกสงคราม ฝักดาบจึงมีร่องรอยของคมดาบอยู่เต็มไปหมด
๔. เชือกดาบ มีไว้สำหรับสะพายพาดบ่าหรือสะพายหลังเพื่อความสะดวกในการพกพาและการใช้งาน ทำมาจากผ้าฝ้าย หรือผ้าไหมนำมาสานหุ้มผ้าที่ฉีกเป็นเส้นหรืออาจจะใช้วิธีการเย็บเป็นปลอกแล้วถักหัวท้าย
การสะพายดาบของชายล้านนาในอดีตนั้นมีหลายแบบแล้วแต่จุดประสงค์ของการใช้งาน ถ้าเป็นการสะพายดาบติดตัวไปในชีวิตประจำวันหรือไปงานต่างๆ ก็มักจะสะพายง่ายๆ แล้วแต่ความสะดวก แต่หากว่าต้องเดินทางไกลหรือต้องขี่ม้าก็จะสะพายดาบให้กระชับมากขึ้น
สำหรับทัศนะของครูพรชัย ตุ้ยดง ที่ปรึกษาชมรมคนรักดาบนั้น ได้เพิ่มรายละเอียดของส่วนประกอบส่วนต่างๆ ของดาบเป็น ๘ ส่วน ด้วยกัน คือ
๑.ใบดาบ
๒.กั่นดาบ เป็นส่วนของเหล็กที่มีลักษณะแหลม เรียวลงไป นำไปสอดไว้ในด้ามดาบแล้วยึดด้วยครั่ง
๓.ด้ามดาบ
๔.ฝักดาบ
๕.ตะหวา คือส่วนของโคนด้ามดาบที่กั่นดาบสอด ลงไป
๖.สายดาบหรือเชือกดาบ
๗.ปลอกดาบ มีหลากหลายประเภทด้วยกัน เช่น ปลอกหวาย ปลอกเงิน เป็นต้น
๘.ส้นดาบ บางครั้งพบว่ามีการนำยันต์หรือเส้นผม ใส่ลงไปในส้นดาบตามความเชื่อทางไสยศาสตร์ด้วยก็มี
การวัดดาบโดยใช้นิ้วมือนั้นจะใช้หัวแม่มือกับนิ้วชี้จับที่โคนดาบให้ปลายดาบชี้ขึ้นแล้วจับสลับซ้ายขวา นับขึ้นไปจนถึงปลายดาบหนึ่งช่วงหัวแม่มือที่จับดาบ ในขณะเดียวกันก็ท่องโฉลกดาบเรื่อยไปตามลำดับ เมื่อนับจนถึงปลายดาบ สิ้นสุดกับคำร่ำในข้อใด ก็ให้ถือคำทำนายตามนั้น ซึ่งคำร่ำนั้นจะมีทั้งดีและไม่ดี หากสิ้นสุดที่คำไม่เป็นมงคลก็ถือว่า ดาบเล่มนั้นไม่ต้องโฉลกกับตัว ต้องหาดาบเล่มใหม่ต่อไป หากตกโฉลกที่ดีก็ถือว่าเป็นดาบที่ดี ซึ่งโฉลกดาบนั้นมีหลายสำนวน แตกต่างกัน ดาบหนึ่งเล่มเมื่อใช้โฉลกสำนวนหนึ่งอาจจะตกโฉลกไม่ดี แต่หากใช้สำนวนอื่นอาจจะตกโฉลกดีก็ได้
โฉลกดาบต่อไปนี้ ชมรมคนรักดาบซึ่งครูพรชัย ตุ้ยดงเป็นที่ปรึกษาของชมรม ได้มาจากท่านพระครูอดุลสีลกิตต์ เจ้าอาวาสวัดธาตุคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีใจความดังนี้
๑. ดาบแก๊ะแงะ ไม่ดี
๒. ดาบแก้แหง้ ไม่ดี
๓. มัดศอกแป้ปายหลัง ไม่ดี
๔. เปิ้นฮอมจังเสี้ยงตึงบ้าน ไม่ดี
๕. ขี้คร้านบ่มีของ ไม่ดี
๖. ตกจองหัวหวาก ไม่ดี
๗. เข้าป่าหมากตายทรง ไม่ดี
๘. สะพายถุงเหลืองแอ่วค้า ดี
๙. ขี่ม้าเตียวเมือง ดี
๑๐. คำเหลืองเต็มไต้ ดี
๑๑. ไถ่ชู้แก้วมานอน ดี
๑๒. ซื้อม้าปอนมาขี่ ดี
๑๓. แทนที่ขุนแสน ดี
๑๔.ขึ้นนั่งแทนแขวงปราสาท ดี
๑๕. นั่งอาสน์หอคำ ดีมาก
นอกจากการวัดโฉลกดาบแล้ว ชาวล้านนายังมีความเชื่อเรื่องชะตาดาบกับปีเกิดทั้ง ๑๒ ราศีว่าผู้ที่เกิดปีไหนควรจะใช้ดาบประเภทไหน ความยาวเท่าไหร่ และสายดาบสีอะไร จึงจะเหมาะสม มีรายละเอียดจากชมรมคนรักดาบอธิบายไว้ดังนี้
๑.คนเกิดปีไจ้หรือปีชวด ให้ใช้ดาบปลายตัดหรือ ปลายแหลม สายดาบสีแดงหรือน้ำเงิน
๒.คนเกิดปีเป้าหรือปีฉลู ให้ใช้ดาบปลายบัว สายดาบสีเขียว หรือสีดำ
๓.คนเกิดปียีหรือปีขาล ให้ใช้ดาบปลายตัด สาย ดาบสีเขียวหรือสีน้ำตาล
๔.คนเกิดปีเหม้าหรือปีเถาะ ให้ใช้ดาบปลายแหลม สายดาบสีหม่น(เทา) หรือสีขาว
๕.คนเกิดปีสีหรือปีมะโรง ให้ใช้ดาบปลายแหลม สายดาบสีดำ สีเหลืองหรือสีแดง
๖.คนเกิดปีใส้หรือปีมะเส็ง ให้ใช้ดาบปลายเปียง สายดาบสีเหลือง
๗.คนเกิดปีสะง้าหรือปีมะเมีย ให้ใช้ดาบปลายแหลม สายดาบสีแดง
๘.คนเกิดปีเม็ดหรือปีมะแม ให้ใช้ดาบปลายแหลม หรือปลายตัด สายดาบสีขาว
๙.คนเกิดปีสันหรือปีวอก ให้ใช้ดาบปลายแหลม สายดาบสีเขียวหรือสีคราม
๑๐.คนเกิดปีเล้าหรือปีระกา ให้ใช้ดาบปลายตัด สาย ดาบสีแดงหรือสีเหลือง
๑๑.คนเกิดปีเส็ดหรือปีจอ ให้ใช้ดาบปลายตัด สายดาบสีเขียวหรือสีน้ำเงิน
๑๒.คนเกิดปีไก๊หรือปีกุน แต่ในล้านนาจะหมายถึงช้าง ให้ใช้ดาบปลายแหลม สายดาบสีแดง
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) | Powered by Discuz! X3.2 |