Baan Jompra

ชื่อกระทู้: “กงเต็ก” พิธีกรรมเชื่อมความตายและคนเป็น [สั่งพิมพ์]

โดย: oustayutt    เวลา: 2015-2-4 13:42
ชื่อกระทู้: “กงเต็ก” พิธีกรรมเชื่อมความตายและคนเป็น
เรื่อง : อาศิรา พนาราม        

      
      
กงเต็ก พิธีกรรมอันเป็นวัฒนธรรมจีนที่สืบทอดกันมากว่าพันปี ติดตามชาวจีนไปทุกแห่งหน เป็นสะพานความเชื่อที่เชื่อมโยง “ชีวิตหลังความตาย” เข้ากับ “วิถีชีวิตของคนเป็น” ซึ่งไม่ใช่แต่แค่เฉพาะลูกหลาน แต่หมายรวมถึงหลากอาชีพที่เกี่ยวพันกับพิธีกรรมนี้ด้วย เรามาทำความรู้จักกับ “พิธีกงเต็ก” และสิ่งที่งอกเงยจากความเชื่อนี้กันเถอะ

กงเต็ก ส่งวิญญาณด้วยความกตัญญู        
กง แปลว่า การกระทำ เต็ก แปลว่า คุณธรรม รวมแล้วคือ การกระทำที่มีคุณธรรม ซึ่งหมายถึง การแสดงความกตัญญูของลูกหลานออกมาเป็นพิธีอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ และการกระทำสะสมความดีของคนผู้นั้นเอง พิธีการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ในชีวิตของลูกหลานจีนคนหนึ่งอาจเคยเห็นเต็มที่แค่ครั้งหรือสองครั้ง เพราะผู้ที่จะรับกงเต็กได้นั้นต้องเป็นผู้ที่เสียชีวิตหลังจากอายุ 50 ปีขึ้นไป และได้แต่งงานมีบุตรหลานแล้วเท่านั้น (ถ้าอายุต่ำกว่า 50 จะไม่จัดพิธีให้ เพราะถือว่าเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร) กงเต็กถือเป็นพิธีการอุทิศส่วนกุศลและส่งดวงวิญญาณให้เดินทางไปยังสวรรค์ ซึ่งจะทำกันในวันที่ 6 หลังจากการสวดอภิธรรมศพตามพิธีของชาวพุทธทั่วไป งานกงเต็กใหญ่จะเริ่มตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงกลางคืน ส่วนงานธรรมดาเริ่มตั้งแต่บ่าย 3 โมงถึงกลางคืน


พิธีกงเต็กมีรากฐานมาจาก 3 ความเชื่อ อันประกอบไปด้วย 2 ศาสนา และ 1 ลัทธิ นั่นคือ ศาสนาพุทธ ศาสนาเต๋า และลัทธิขงจื๊อ ศาสนาพุทธ (มหายานนิกายสุขาวดี) คือ บทสวดพระธรรมต่างๆ เป็นคำสอนที่ไม่มีพิธีกรรม ศาสนาเต๋า คือ ความสมดุลและพิธีกรรมเพื่อสื่อความหมาย ลัทธิขงจื๊อ คือ ของไหว้ และการปฏิบัติตัวของลูกหลานเพื่อแสดงถึงความกตัญญู กงเต็กมีพิธีกรรมที่ละเอียดอ่อนมาก ซ่อนความหมายไปแทบทุกอณู อีกทั้งรายละเอียดก็แตกต่างกันไปตามประเพณีของแต่ละมณฑล ที่เรามาศึกษากันวันนี้เป็นพิธีของชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งประกอบพิธีโดยคณะบุคลากรของพุทธแสงธรรมสมาคม โดยเราจะขอลำดับพิธีกรรมหลักๆ เพื่อให้เข้าใจความหมายโดยรวมดังนี้
1. สวดอัญเชิญพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มาเป็นองค์ประธาน ณ พุทธสภา ที่แทนด้วยฉากผ้าปักสีแดง      
2. ส่งสารไปยมโลกด้วยม้าและนก (กระดาษ) เพื่อแจ้งข่าวการเสียชีวิตไปยังสวรรค์และปรโลก เป็นการบอกกล่าวขอเปิดทางให้ดวงวิญญาณได้เดินทางโดยสะดวก      
3. เชิญวิญญาณมาสถิตที่โคมไฟวิญญาณ (ถ่งฮ้วง - เชิญวิญญาณ) ซึ่งแขวนเสื้อของผู้เสียชีวิตไว้ แล้วเชิญให้อาบน้ำชำระดวงจิตที่ห้องน้ำ (หมกหยกเต๊ง – ศาลาแห่งความสะอาดบริสุทธิ์) เพื่อให้ดวงวิญญาณพร้อมสำหรับการฟังธรรม และรับของที่ลูกหลานเตรียมไว้ให้ ณ ปะรำพิธีซึ่งเป็นฉากผ้าปักสีน้ำเงิน      
4. แจ้งบรรพบุรุษให้รับรู้ว่าลูกหลานท่านเสียแล้ว ด้วยการจัดข้าวปลาอาหารเตรียมรอรับ ให้บรรพบุรุษมาเป็นพี่เลี้ยงในการเดินทาง ขั้นตอนนี้เป็นสัญลักษณ์สอนให้ลูกหลานรู้คุณต่อบรรพบุรุษ และทำตามสืบทอดกันต่อไป      
5. สวดอภิธรรมและสวดขอพรให้ดวงวิญญาณ      
6. พิธีวิ่งธง เป็นการรำลึกถึงต้นกำเนิดของพิธีกงเต็กอันมีมาตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์ซ่ง โดยจะวิ่งเป็นรูปยันต์ซึ่งพระอรหันต์จี้กงเขียนขึ้นเพื่อเรียกวิญญาณของพระนางฮีสีในยุคนั้น      
7. การเดินสะพาน เป็นสัญลักษณ์แทนการเดินทางไปสู่อีกภพหนึ่ง เพื่อไปขอเตี๊ยบ (หนังสือเดินทาง) จากพระพุทธองค์      
8. สวดส่งเทพ ส่งวิญญาณ และถวายเครื่องกระดาษ (ซึ่งจะเผาในวันรุ่งขึ้นพร้อมกับพิธีฌาปนกิจหรือพิธีฝัง ตามแต่ประเพณีของครอบครัวนั้น) ถึงตรงนี้ก็เป็นอันจบพิธีกงเต็ก


พิธีส่งวิญญาณช่วยสร้างงานเลี้ยงชีพ
รูปแบบของพิธีกงเต็กนั้นถูกสืบทอดมายาวนานบนขนบดั้งเดิม จะมีเปลี่ยนแปลงบ้างก็ในเรื่องของดนตรีและจังหวะการสวดที่เร็วขึ้น (เพื่อย่นระยะเวลา) ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในพิธีก็ยังเหมือนเดิม มีเพิ่มเติมที่ฉากวิจิตรงดงามขึ้น และวงดนตรีก็มีเครื่องเสียงที่ดีขึ้นตามยุคตามสมัย
พิธีกงเต็กหนึ่งๆ จะใช้บุคลากรประมาณ 12-15 คน (พิธีใหญ่ใช้ถึง 19 คน) บุคลากรเหล่านี้แต่ก่อนล้วนเป็นลูกหลานชาวจีน แต่ปัจจุบันนี้เปิดกว้างขึ้นให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาฝากตัวเป็นศิษย์ได้ มีไม่น้อยที่พ่อแม่ฝาก “เด็กเกเร” ที่ไม่มีงานทำให้มาอบรมบ่มนิสัย (และได้มีงานทำกับคณะ) ซึ่งแม้ผู้ประกอบพิธีกงเต็กจะไม่ยอมเรียกขานงานนี้ว่าเป็น “อาชีพ” เพราะเป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้และความศรัทธาสูง แต่การประกอบพิธีนี้ก็สามารถเลี้ยงผู้คนในสมาคมได้เช่นเดียวกับงานทั่วไป นอกจากนั้น พิธีกงเต็กยังเชื่อมโยงอาชีพต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันมากมาย ตั้งแต่ร้านโรงศพ หมอ ร้านผ้า ร้านขายหมูเห็ดเป็ดไก่ ร้านขายธูปเทียนและเครื่องกระดาษ ร้านขายซาลาเปา ร้านดอกไม้ ร้านรับทำฉาก ฯลฯ ซึ่งส่วนมากก็ยังเป็นสินค้าที่คงรูปแบบเดิมๆ มีเพียงเครื่องกระดาษเท่านั้นที่มีการปรับดีไซน์ไปตามยุคสมัยอย่างชัดเจน

“เครื่องกระดาษ” ในวันนี้
เครื่องกระดาษที่ “จำเป็น” ในพิธีกงเต็กมีอยู่เพียง 6 อย่าง ได้แก่ กระดาษเงินกระดาษทอง โคมไฟวิญญาณ ห้องน้ำ ม้า นก และหีบเสื้อผ้า ส่วนบ้านและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เป็น “สิ่งรอง” ที่จัดทำขึ้นเพื่อความสบายใจของลูกหลาน (ที่ได้แสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่และแสดงฐานะของตน)
ถนนพลับพลาไชย (ข้างสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย) เป็นแหล่งรวมร้านค้าธูปเทียนและเครื่องกระดาษแหล่งใหญ่ของกรุงเทพฯ เราเดินทางไปที่ร้านจิวฮงเซ้ง ซึ่งขายเครื่องกระดาษสำหรับพิธีกงเต็กมาตั้งแต่รุ่นบิดา (เปิดมายาวนาน 80 กว่าปีแล้ว) โดยเจ้าของร้านเล่าให้เราฟังว่า “ดีไซน์ของเครื่องกงเต็กที่จำเป็นนั้นคงเดิมมาตลอด มีเพียงขนาดที่ทำให้ใหญ่โตขึ้นตามฐานะ ส่วนเครื่องกระดาษประเภทบ้านและเฟอร์นิเจอร์นั้นได้เปลี่ยนแปลงดีไซน์ จากบ้านธรรมดาหลังเล็กๆ ก็กลายเป็นบ้านหลังใหญ่ ดีไซน์ทันสมัยสวยงามขึ้น เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เองก็ปรับตัวตามไม่ให้น้อยหน้า และมีขนาด ดีไซน์ รวมถึงแบรนด์ที่ใกล้เคียงกับของจริงมากยิ่งขึ้น”

การเผาเครื่องกระดาษในพิธีกงเต็กนั้น นิยมเผาเฉพาะบ้าน เฟอร์นิเจอร์ หีบเสื้อผ้า และคนรับใช้ ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพในปรโลกเท่านั้น ส่วนของกระจุกกระจิกต่างๆ อย่างเครื่องประดับ เสื้อผ้า ไพ่นกกระจอก เครื่องเสียง รถยนต์ ฯลฯ จะเผาไปให้เพิ่มเติมในพิธี “เชงเม้ง” ประจำปี เหมือนกับการซื้อของขวัญไปฝากผู้ใหญ่ ซึ่งในระยะหลังข้าวของเหล่านี้ก็มีหลากประเภทหลายรูปโฉมมากขึ้น เราจึงได้เห็นรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มอเตอร์ไซค์ ทีวีจอแบน คอมพิวเตอร์โน้ตบุุ๊ค เสื้อผ้าสวยๆ รองเท้าแบรนด์เนม บัตรเครดิต ชุดดูแลผิวพรรณ หูฉลาม-รังนก ฯลฯ เพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งสินค้ากระจุกกระจิกเหล่านี้ล้วนมาจากเมืองจีน ด้วยขนาดเล็ก ขนส่งสะดวก และราคาถูก ส่วนเครื่องกระดาษชิ้นใหญ่ๆ อย่างบ้านและเฟอร์นิเจอร์ก็ผลิตในประเทศไทยนี่เอง
พิธีกรรม : อดีต ปัจจุบัน อนาคต     
   การทำพิธีกงเต็กลดน้อยลงตามยุคสมัย เพราะลูกหลานรุ่นใหม่เห็นว่า “ควรดูแลคนที่ยังอยู่มากกว่า” แต่สมัยก่อนนั้น กงเต็กเป็นเรื่องที่ทุกครอบครัวต้องทำ เพราะถือว่าเป็นการแทนคุณพ่อแม่ (ชาวจีนเลี้ยงดูลูกหลานก็หวังอยู่ 2 อย่าง คือ ยามไม่สบายให้เจ้ามาดูแล และยามเดินทาง (เสียชีวิต) ให้เจ้ามาส่งหน่อย เท่านั้น) อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกมานับพันปี ทุกวันนี้ต่อให้มีการจัดพิธีกันน้อยลง แต่ก็มิถึงกับสูญหาย ขนาดในประเทศจีนช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมาเจ๋อตุง มีการออกกฎห้ามทำพิธีกรรมโดยเด็ดขาด (แม้แต่ไหว้เจ้ายังต้องแอบซ่อน) แต่เมื่อสิ้นสุดยุคนั้นลง พิธีกรรมต่างๆ ก็กลับคืนมาหมด มีการรื้อฟื้นกันเอิกเกริก

ท้ายสุดเราถามความเชื่อส่วนตัวของคุณอมรว่า “พิธีกรรมหรือข้าวของที่ลูกหลานได้อุทิศให้กับผู้วายชนม์นั้น พวกเขาจะได้รับและได้ใช้ของเหล่านี้จริงหรือไม่” คุณอมรได้แต่ยิ้มและว่า “บางสิ่งที่เขาได้รู้ได้เห็นแล้ว หากเขาพูดออกไปก็จะไม่เห็นอีก ถ้าอยากรู้ ขอเชิญท่านฝึกสมาธิเอาเอง อาจจะรู้ได้สักวัน”
ประเด็นน่าคิด                  
เป็นที่สังเกตว่าการที่สินค้าประกอบพิธีกงเต็กมีดีไซน์ที่สวยทันสมัยขึ้น ก็ช่วยกระตุ้นยอดขายให้ลูกหลานอยากซื้อไปฝากอากงอาม่าบนสวรรค์มากขึ้น นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ได้ต่อยอดผลิตสินค้าใหม่ๆ สำหรับ “บรรพบุรุษยุคไฮเทค” ในอนาคตาไปต่อยอดออกแบบและผลิตสินค้าใหม่าสูงมีไม่น้อยที่พ่อแม่ฝากเด็กที่เกเร ไม่มีงานทำให้มาอบรมบ่มนิสัย

ขอขอบคุณ         
คุณอมร (อาจารย์สี่) พุฒิพันธ์พงศ์ / พุทธแสงธรรมสมาคม โทร.02 813 5020        
คุณหงส์ทอง (อาจารย์กุ่ย) / หงส์ทองภาพยนตร์ โทร. 02 871 5488        
พิธีกงเต็กของคุณสุทธิศักดิ์ สุทธิเวชวรกุล        
     ร้านจิวฮงเซ้ง โทร. 02 221 9653        
และร้านค้าธูปเทียน, เครื่องกระดาษ ย่านสน.พลับพลาไชย


http://www.tcdcconnect.com/content/Know-What/481

โดย: ธี    เวลา: 2015-2-4 14:53
ขอบคุณครับ
โดย: Nujeab    เวลา: 2015-2-4 15:35
ขอบคุณครับ




ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2