Baan Jompra

ชื่อกระทู้: ~ เจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ วัดเทพศิรินทร์ ~ [สั่งพิมพ์]

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:12
ชื่อกระทู้: ~ เจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ วัดเทพศิรินทร์ ~
[attach]3293[/attach]
เจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ
โดย นิโรธ เกสรศิริ
รวบรวมจากหนังสือ ภาพพระเครื่อง และประวัติท่านธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ ซึ่งเขียนโดย คุณการุณย์ เหมวนิช และคุณเสทื้อน ศุภโสภณ


คึกฤทธิ์สดุดี

ผมเพิ่งได้ทราบข่าวเดี๋ยวนี้เองว่า พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต ได้มรณภาพเสียแล้วที่ วัดเทพศิรินทร์ เมื่อวันที่ 8 ม.ค 14 เมื่อเวลาหลังเพลแล้วเล็กน้อย

นามฉายาของท่านคือ ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ ความจริงพระภิกษุมรณภาพเพียงรูปเดียวเมื่ออายุท่านได้ 74 ปี ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นอะไรนัก แต่บังเอิญชีวิตของท่าน และการปฏิบัติธรรมของท่านในภิกขุภาวะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเป็นเครื่องชี้ให้เห็นธรรมอันดีที่ควรส่งเสริมบางอย่าง ผมจึงเขียนถึงท่านไว้ในที่นี้ ผมเคยรู้จักเจ้าคุณนรรัตนฯ เมื่อผมยังเป็นเด็กเล็กคิดดูเดี๋ยวนี้ก็เห็นจะห้าสิบกว่าปีมาแล้ว

ตอนนั้นท่านอายุ 20 กว่า เป็นพระยาและได้สายสะพายแล้วด้วย

ท่านรับราชการมหาดเล็กหลวง และมีตำแหน่งเป็นต้นห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

หน้าที่ของท่านคืออยู่รับใช้ ใกล้ชิดพระองค์ในที่รโหฐาน และเป็นผู้บังคับบัญชามหาดเล็กห้องพระบรรทมคนอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่หลายคน

เจ้าคุณนรรัตนฯ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนที่หอวัง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเรียนสำเร็จแล้วก็ต้องไปรับราชการในกรมมหาดเล็กเพื่อศึกษาราชการตามระเบียบ ก่อนที่จะไปรับราชการกรมกองอื่น ๆ

แต่เจ้าคุณนรรัตนฯ ติดอยู่ที่กรมมหาดเล็กและอยู่ที่ห้องพระบรรทมอยู่จนตลอดรัชกาล

ความจำของเด็ก ๆ ซึ่งบัดนี้แก่แล้วจะต้องกระจัดกระจาย เป็นธรรมดา ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ผมนึกออกเกี่ยวกับเจ้าคุณนรรัตน ฯ

ครั้งหนึ่งเห็นท่านกำลังติดพระตรากับฉลองพระองค์ ซึ่งสวมไว้กับหุ่นช่างตัดเสื้อ ท่านติดจนเสร็จแล้วท่านก็ถอยออกมา นั่งดูอยู่นาน ไม่พูดจากับใคร

อีกครั้งหนึ่งเห็นท่านนั่งชุนกางเกงจีนเก่า ๆ ของใครอยู่  เสือกเข้าไปถามท่านตามวิสัยของเด็กทะลึ่งว่า ท่านชุนกางเกงของท่านเองหรือ

ท่านบอกให้ผมลงกราบกางเกงที่ท่านกำลังชุนอยู่นั่น แล้ว บอกว่าเป็นพระสนับเพลาจีนของพระเจ้าอยู่หัว

แล้วท่านก็บ่นอุบอิบอยู่ในคอว่า

“เป็นถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน แต่ก็ชอบนุ่งกางเกงขาด ๆ เก่า ๆ  หาใหม่ให้ก็ไม่เอา ครั้นจะปล่อยให้นุ่งกางเกงขาด ก็ขายหน้าเขา”

จำได้ว่าเวลาท่านพูดกับเด็ก อย่างผมแล้วท่านใช้วาจาหยาบคายสิ้นดี พูดมึงกูไม่เว้นแต่ละคำ

แต่ท่านมีทอฟฟี่แจก เด็กก็เมียงเข้าไปบ่อย ๆ

เด็กที่วิ่งอยู่ๆ อยู่ในวังสมัยนั้นมีมาก และบางคน (อย่างผม) ก็เป็นเด็กที่ซุกซนขนาดเหลือขอจริง ๆ ทีเดียว

บางครั้งเข้าไปซุกซนใกล้ที่ประทับจนถูกกริ้วต้องพระราชอาญา มีรับสั่งให้เจ้าคุณนรรัตนฯ เอาไปตีเสียให้เข็ด


โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:12
เจ้าคุณนรรัตนฯ ก็ลากตัวเข้าไปในห้องซึ่งอยู่ใกล้ที่ประทับ แล้วเอาไม้เรียวซึ่งเตรียมไว้ มาหวดซ้ายป่ายขวาลงไปกับเก้าอี้บ้าง กระดานบ้างให้มีเสียงดัง

เด็กที่ไม่รู้เคล็ดก็อ้าปากค้าง นั่งดูเฉย ท่านก็ชี้หน้าบอกว่า

“ร้องไห้ดัง ๆ นะมึง ไม่ร้อง พ่อตีตายจริง ๆ ด้วยเอ้า”

เด็กก็ร้องจ้าขึ้นมา

และก็จะได้ยินพระสุรเสียงดังมาจากที่ประทับทันที

“พอที ข้าสั่งให้ตีสั่งสอนมันเพียงหลาบจำ เอ็งตีลูกเขาอย่างกับตีวัวตีควาย ลูกเขาตายไปข้าจะเอาที่ไหนไปใช้เขา”

เจ้าคุณนรรัตนฯ ก็กระซิบบอกเด็กว่า

“ไหมล่ะ!”

เด็กก็พ้นพระราชอาญาเพียงแค่นี้ และความรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาก็จะติดอยู่ในตัวในใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่มีวันที่จะลืมเลือนได้

ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าคุณนรรัตนฯ ได้อุปสมบทหน้าพระเพลิง อย่างที่สามัญชนเรียกว่า บวชหน้าไฟ

และท่านได้ครองสมณเพศ ตลอดมาจนถึงมรณภาพ

เป็นเวลา 46 ปีเต็ม

สี่สิบหกปีแห่งความกตัญญู อันมั่นคงหาที่เปรียบได้ยาก

ความจริงเมื่อเสด็จสวรรคตนั้น เจ้าคุณนรรัตนฯ มีทั้งฐานะ ทั้งทรัพย์ และโอกาสที่จะหาความเจริญในโลกต่อไปอย่างพร้อมมูล

ในทางชีวิตครอบครัวท่านก็มีคู่หมั้นอยู่แล้ว

แต่ท่านก็ได้สละสิ่งเหล่านี้ ทั้งหมดออกอุปสมบท และอยู่ในสมณเพศตลอดชีวิตเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งมีพระคุณแก่ท่าน

นับวาเป็นตัวอย่างแห่งความกตัญญูซึ่งควรจะจารึกไว้

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:12
เมื่ออยู่ในสมณเพศนั้น เจ้าคุณนรรัตนฯ ฉันอาหารวันละหนเท่านั้น

อาหารที่ท่านฉัน มีข้าวสุก มะพร้าว กล้วย เกลือ มะนาว และ ใบฝรั่ง

ท่านลงไปโบสถ์ทำวัตรเช้าและเย็น วันละสองครั้ง ไม่เคยขาด จนมรณภาพ

ดูเหมือนจะขาดอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณวรเถระ ขณะที่ท่านยังมีชีวิตและเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์อยู่สั่งให้อยู่ที่กฏิ เพราะท่านอาพาธ

ท่านเป็นพระที่สงบสงัดจากโลกแล้ว ไม่เคยโด่งดัง

แม้แต่ธรรมที่ท่านได้แสดงไว้ เมื่อพิมพ์แล้ว ได้เป็นสมุดเล่มเล็ก ๆ มีความเพียง 22 หน้ากระดาษ และแบ่งออกเป็นเรื่องรู้น ๆ ได้เพียง 8 บท

บทที่ 7 นั้นมีเพียงเท่านี้ แต่ก็ขอให้ท่านอ่านเอาเองเถิดว่า เป็นความจริงเพียงไร และน่าประทับใจเพียงไร

อานุภาพไตรสิกขา

คือ

ศีล สมาธิ ปัญญา

ด้วยอานุภาพของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้แล จึงชนะข้าศึก คือ กิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง และ อย่างละเอียด

ชนะความหยาบคาย ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหยาบที่ล่วงทางกาย วาจาได้ด้วยศีล

ชนะความยินดียินร้ายและ หลงรัก หลงชังเป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดในใจได้ด้วยสมาธิ

ชนะความเข้าใจ รู้ผิด เห็น ผิดจากความเป็นจริงของสังขาร ซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียดได้ด้วยปัญญา

ผู้ใดศึกษาและปฏิบัติตาม ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้โดยพร้อมมูล บริบูรณ์สมบูรณ์ แล้ว ผู้นำจึงเป็นผู้พ้นจากทุกข์ ทั้งปวงได้เป็นแน่นอน ไม่ต้องสงสัยเลย!

เพราะฉะนั้น จึงควรสนใจ เอาใจใส่ ตั้งใจศึกษา และปฏิบัติตามไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญานี้ ทุกเมื่อเทอญ


ครั้งหนึ่งผู้คนเขาไปลือว่า ท่านสำเร็จพระอรหันต์แล้ว

ผมพบท่านโดยบังเอิญที่วัดเทพศิรินทร์ก็เข้าไปกราบท่าน แล้วกราบเรียนถามท่านว่า

เขาลือกันว่าได้เท้าสำเร็จ เป็นพระอรหันต์แล้วจริงหรือครับ

ท่านดึงหูผมเข้าไปใกล้ ๆ แล้ว กระซิบว่า

“ไอ้บ้า”

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:12
อริยสงฆ์

ทุกวันนี้เมื่อเอ่ยถึง “เจ้าคุณนรรัตน์” หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “เจ้าคุณนรฯ” ซึ่งมีนามฉายา ว่า “ธมฺมวิตกฺโก” แล้ว

วงการพุทธศาสนิกชนในเมืองไทยยอมรับกันว่าท่านเป็น ”สงฆ์” อย่างแท้จริง “อริยสงฆ์” ด้วย มิใช่เป็นแต่เพียง “สมมติสงฆ์” อย่างที่เห็นกันอยู่ ดาษดื่นทั่วไปในยุคนี้

จนถึงกับมีบุคคลมากมาย เชื่อกันอย่างสนิทใจว่าท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์

ปฏิปทาและการปฏิบัติของท่านนั้น มั่นคงและเด็ดเดี่ยวเป็นยิ่งนัก ท่านเป็น “สมณะ” ที่เคร่งครัดต่อศีลาจารวัตรเป็นอย่างยิ่ง

เป็นผู้สะอาด บริสุทธิ์ปราศจากมลทินด่างพร้อยด้วยประการทั้งปวง ทั้งกายและใจ ทั้งภายในและภายนอก

เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง และปฏิบัติชอบ เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นผู้ควรแก่การเคารพนบไหว้อย่างแท้จริงของสาธุชนทั้งหลาย

เป็นการยากที่จะหาพระ ภิกษุรูปใด ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน ไม่ว่าในอาณาจักรสงฆ์ไทยเรา หรือในวงการสงฆ์นานาประเทศ

ที่จะปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ครบถ้วนตามวินัยบัญญัติอย่างเคร่งครัด เด็ดเดี่ยวเสมอต้นเสมอปลายอย่างท่านได้

วัตรปฏิบัติ ทั้งหลายทั้งปวงของท่านนั้น ล้วนเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจาก “โลกียะ" มุ่งตรงต่อ “โลกุตตระ” อย่างแท้จริง

ซึ่งแตกต่างห่างไกลจากการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ทั่วไปในยุคนี้โดยสิ้นเชิง นับว่าท่านเป็นบุคคลที่หาได้ยากยิ่งในโลก

ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งเคยบวชอยู่ในวัดเทพศิรินทราวาส และเคยอยู่ใกล้ชิดกับเจ้าคุณนรรัตน์มาพอสมควร ถึงกับกล่าวว่า

ถ้าหากพระพุทธองค์ยังทรงดำรงพระชนม์อยู่มาจนถึงบัดนี้ ก็คงจะต้องประทานประกาศนียบัตรในการประพฤติปฏิบัติเป็นเอก ให้แก่ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ เป็นแน่แท้

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ เป็นอัจฉริยบุคคล ผู้ทรงไว้ซึ่งความเป็นอัจฉริยภาพอย่างแท้จริง นอกเหนือไปจากการประพฤติปฏิบัติที่มั่นคงเด็ดเดี่ยวสม่ำเสมอ และมีความทรงจำที่แม่นยำอย่างน่ามหัศจรรย์แล้ว ยังมีดวงจิตที่ ทรงพลังอย่างมหาศาลอีกด้วย

ดังจะเห็นได้จากท่านใช้อำนาจจิตต่อสู้ผจญกับอสรพิษ และโรคร้าย โดยมิต้องใช้หยูกยาใด ๆ ดังเช่นคนทั้งหลาย จนปรากฏผลเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง

ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านเจ้าคุณนรรัตน์ จักเป็นที่กึกก้องขจรไกล เป็นที่กล่าวขวัญสรรเสริญติดปากชาวพุทธในเมืองไทยอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน

ตราบใดที่พระพุทธศาสนายังสถิตสถาพรดำรงคงอยู่คู่ไทย ตราบนั้นนาม “เจ้าคุณนรรัตน์ฯ” อันเป็นมหามงคลนาม

ก็จักยังคงความศักดิ์สิทธิ์ ติดตรึงอยู่ในดวงใจของชาวพุทธในเมืองไทย ตราบชั่วนิรันดร์กาล

ไม่แพ้พระเถระผู้ทรงวิทยาคมและทรงคุณธรรมเป็นพิเศษรูปใด ๆ ในอดีต เป็นต้นว่าสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หลวงพ่อสุข วัดมะขามเฒ่า ฯลฯ

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:13
มงคลสูตร

พระเถระผู้ทรงคุณธรรมเป็นพิเศษในอดีตส่วนใหญ่ เมื่อจะถือกำหนดในครรภ์โยมมารดานั้น มักจะสำแดงนิมิตให้ปรากฏแก่โยมบิดาและโยมมารดาต่าง ๆ กัน

เป็นต้นว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ) อดีต เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส องค์สำคัญยิ่ง ซึ่งเป็นสมเด็จอุปัชฌาย์ของท่านธมฺมวิตกฺโก และเชื่อกันว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลรูปหนึ่งนั้น เมื่อปีที่ท่านจะเกิด โยมบิดาก็ฝันไปว่ามีผู้นำช้างเผือกมาให้

หรือเมื่อตอนที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แต่ครั้งยังเป็นสามเณร จะย้ายเข้าไปอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น

ก็เล่ากันว่าพระอาจารย์ของท่านฝันในคืนวันที่ท่านจะไปถึง ว่ามีช้างเผือกเชือกหนึ่งเข้าไปกินคัมภีร์พระไตรปิฎกในดู้จนหมด ฯลฯ

โดยเหตุที่เคยมีเรื่องราวเล่ากันมาดังกล่าวนี้ จึงทำให้ผู้เขียนสนใจสืบถามนิมิตเมื่อตอนที่ท่านธมมฺวิตกฺโกจะถือกำเนิดอยู่เหมือนกัน เพื่อจะได้ “เกร็ด” ประวัติตอนสำคัญของท่านมาเผยแพร่ แต่ก็มิได้ความกระจ่างแต่อย่างใด

เคยมีผู้สนใจซักถามโยมบิดาของท่าน (พระนรราชภักดี ตรอง จินตยานนท์) ว่าประพฤติตนเช่นไร สวดมนต์อย่างไร ท่องคาถาบทไหน ฯลฯ จึงได้มีบุตรที่ดี (หมายถึงท่านธมฺมวิตกฺโก) เช่นนี้ โยมบิดาของท่านก็ได้ตอบไปว่า เห็นจะเป็นด้วยเหตุที่ท่านได้ใส่ใจภาวนา สวดพระคาถามงคลสูตรอยู่เสมอนั่นเอง

อันพระคาถามงคลสูตรนี้ ตัวท่านธมฺมวิตกฺโกเอง ก็นิยมท่องบ่นเจริญภาวนาอยู่เสมอเช่นกัน ตลอดทั้งได้แนะนำผู้ใกล้ชิดบางคน เช่น คู่หมั้นของท่าน ให้หมั่นสวดภาวนาทุกวัน ทั้งเวลาเช้าตื่นนอน และเวลาค่ำก่อนเข้านอน

โดยท่านได้ให้อรรถาธิบายว่า

“มงคลคาถานี้ เป็นพระสูตรที่คัดมาจากพระไตรปิฎก ผู้ใด เล่าบ่นหรือสวดและปฏิบัติตาม ย่อมเป็นสิริมงคลอันประเสริฐ จึงเรียกว่า คาถามงคลสูตร”

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:13
กำเนิด

ท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ หรือ พระยานรรัตนราชมานิต มีนาม เดิมว่า ตรึก จินตยานนท์

ท่านเกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2440 ตรงกับวันเสาร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีระกา

ซึ่งวันนั้นเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา คือ เป็นวันมาฆบูชา ท่านเกิดเมื่อเวลา 07.40 น.

ท่านเล่าว่า เมื่อก่อนที่ท่านจะเกิด โยมแม่ของท่านได้ออกมาตักบาตรตามปกติ

พอตักบาตรพระองค์สุดท้ายเสร็จ ก็เริ่มเจ็บท้องจึงกลับขึ้นบ้าน สักครู่ก็คลอด และเป็นการคลอดง่ายมากทั้งที่ท่านเป็นบุตรคนแรกของโยมแม่

ท่านบอกอย่างขำ ๆ ว่า “อาตมาไม่ได้ทำให้โยมแม่เจ็บนาน” ท่านเกิดที่บ้านใกล้วัดโสมนัส

ท่านเป็นบุตรคนแรกของ พระนรราชภักดี (ตรอง จินตยานนท์) และนางนรราชภักดี (พุก จินตยานนท์)

ท่านมีน้องเป็นชาย 2 คน และหญิง 2 คน น้องของท่านถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์สองคน เป็น 1 และหญิง 1

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:13
วัยศึกษา

เมื่อโตขึ้นก็ได้เข้าเรียนชั้นประถมที่วัดโสมนัส และมาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร เมื่อตอนจะจบชั้นมัธยม ท่านสอบได้ที่ 1 ของสนามสอบ

การสอบในสนามสอบนี้เป็นการสอบรวมกันหลายโรงเรียน โดยข้อสอบเดียวกัน

ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่าท่านสอบได้เป็นที่ 1 ของประเทศไทยในสมัยของท่าน

เมื่อท่านจบจากโรงเรียนมัธยมแล้ว ท่านตั้งใจจะเรียนวิชาแพทย์ต่อเพราะท่านสนใจวิชานี้มาก เห็นว่าเป็นประโยชน์ที่จะเกื้อกูลต่อผู้ที่ต้องทุกขเวทนา เกี่ยวกับการป่วยเจ็บ

แต่โยมพ่อเป็นนักปกครอง อยากจะให้ท่านได้เป็นนักปกครองตาม จึงให้ท่านเรียนวิชาการปกครองเพื่อจะสืบตระกูล ต่อไป

เมื่อโยมพ่อปรารถนาเช่นนั้นท่านก็ตามใจโดยไปเข้าเรียน โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ในสมัยนั้น โรงเรียนนี้ท่านเล่าว่า อยู่ในวังหลวง

ท่านได้เรียนวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เมื่อท่านเรียนอยู่ปีสุดท้าย โรงเรียนนี้ย้ายมาอยู่ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปัจจุบัน

และท่านก็จบในปีนั้น นับเป็นบัณฑิตจุฬารุ่นแรก และดูเหมือนท่านจะสอบได้ที่ 1 อีกด้วย

ท่านนิยมความเป็นหนึ่ง ท่านบอกว่าในชีวิตของคนเรา ถ้าทำอะไรให้เป็นหนึ่งแล้วมักจะดีเสมอ

เมื่อจะทำการงาน หรือทำสิ่งใดก็ต้องทำใจให้เป็นหนึ่งมุ่งอยู่ในงานนั้นจนสำเร็จ

แม้การทำสมาธิ ก็คือการทำจิตให้เป็นหนึ่ง คือเอกัคตา

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:14
สู่ราชสำนัก

[attach]3294[/attach]
ถ่ายกับล้นเกล้า รัชกาลที่ 6 ในชุดร่วมฝึกเสือป่า
พระยานรรัตนราชมานิต (คนที่ 4 จากขวา)


เมื่อท่านจบการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ได้รับประกาศนียบัตรในวิชารัฐประศาสนศาสตร์ในสมัยนั้นแล้ว

ได้มีการซ้อมรบเสือป่าที่ค่ายหลวงอำเภอบ้านโป่ง จังหวัด ราชบุรี (ท่านบอกว่าเมื่อสมัยนั้นเป็นเขตจังหวัดกาญจนบุรี)

ท่านในฐานะเสือป่าได้เข้าร่วมซ้อมรบครั้งนี้ด้วย ท่านได้รับหน้าที่ให้เป็นคนส่งข่าว โดยมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ

และการซ้อมรบครั้งนี้เอง ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านอย่างมากมาย จากความตั้งใจที่จะเป็นข้าราชการฝ่ายปกครอง มาเป็นข้าราชสำนัก โดยที่ท่านไม่เคยนึกฝันมาก่อน

เนื่องจากขณะนั้นท่านมีรูปร่างแบบบาง ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จึงได้รับสั่งถามว่า ตัวเล็ก ๆ อย่างนี้ถ้านำข่าวไปแล้วถูกข้าศึกดักทำร้ายจะสู้ไหวหรือ ซึ่งท่านก็กราบบังคมทูลว่า ต้องลองสู้กันดูก่อน ส่วนจะสู้ไหวหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

จากคำกราบบังคมทูลนี้ ปรากฏว่าล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทรงพอพระราชหฤทัยมาก

เมื่อซ้อมรบเสร็จได้มีการเลี้ยงเนื่องในการซ้อมรบครั้งนี้ และล้นเกล้าฯ ได้โปรดให้รับใช้ใกล้เคียง และได้รับสั่งชวนให้ไปรับราชการในวังก่อน เมื่ออายุมากกว่านี้ จะออกมารับราชการฝ่ายปกครองก็จะโปรดให้เป็นเทศาฯ เสียทีเดียว

เมื่อท่านเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้โอกาสเช่นนี้แล้ว จึงกราบบังคมทูลว่า แล้วแต่จะทรงโปรด ฉะนั้น เมื่อเสร็จการซ้อมรบท่านก็ตามเสด็จเข้าไปอยู่ในวังเลย

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:14
อภัยทาน

ท่านเล่าว่าชีวิตของท่าน ระยะแรกที่เข้าไปอยู่ในวังนั้น ท่านถูกตั้งข้อรังเกียจจากชาววังสมัยนั้น

ใคร ๆ ก็ว่า พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเด็กเลี้ยงควาย ถึงกับให้มารับใช้อย่างใกล้ชิด เป็นเหตุให้ถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา

เช่น เมื่อเข้าเวรก็มีคนเอาน้ำมาราดที่นอนของท่าน เมื่อกลับมาท่านก็นอนไม่ได้เพราะที่นอนชุ่มน้ำหมด

ท่านก็อดทนไม่ปริปากบ่น หรือบอกกับใครถึงการที่ถูกกลั่นแกล้งนี้ แต่การกลั่นแกล้งเช่นนี้ก็ไม่หยุด ท่านจึงหาวิธีแก้ไข โดยไม่นอนบนที่นอน รื้อที่นอนทิ้ง แล้วนอนบนเหล็กแทน

ที่ว่านอนบนเหล็กนี้ เพราะเตียงที่ใช้นอนทำด้วยเหล็กและที่ พื้นเตียงก็เป็นเหล็กเส้นพาดไปมา ส่วนหมอนก็ไม่ใช้ เมื่อท่านทำเช่นนี้ก็ไม่มีใครมาแกล้งได้

ท่านบอกว่าท่านรู้ว่าใครมาแกล้ง แต่ท่านก็ไม่ว่ากระไร แม้เมื่อท่านขึ้นมาเป็นเจ้ากรมห้องพระบรรทม กลุ่มที่แกล้งท่านกลับมาอยู่ใต้บังคับบัญชา

ท่านก็ไม่เคยคิดจะแก้แค้นแต่อย่างใด ท่านให้อภัยทุกคน การให้อภัยทานนี้ ทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นการทำทานอย่างสูงสุด

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:15
แตกฉาน

เมื่อท่านธมฺมวิตกฺโก ได้เข้ารับราชการแล้ว ท่านก็ขวนขวายหาวิชาความรู้เพิ่มเติม เพื่อจะได้รับราชการสนองคุณได้อย่างไม่มีข้อบกพร่อง

ท่านได้จ้างครูสอนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส จนสามารถใช้ภาษาทั้งสองนี้ได้ดี

ท่านได้เรียนวิชามวยไทย ฟันดาบ และยูโด โดยท่านจ้างครูที่ชำนาญในวิชานี้มาสอนแต่ละวิชาเลยทีเดียว และท่านได้ศึกษาวิชาต่อสู้นี้จนแคล่วคล่อง ในกระบวนการต่อสู้ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา

นอกจากนี้ท่านยังสนใจวิชาโหราศาสตร์ โดยเฉพาะการดูลายมือ การดูลักษณะ ซึ่งปรากฏว่าท่านสามารถทายลายมือได้แม่นยำมาก

ด้วยความสนใจในวิชานี้ ท่านเคยขอเจ้าคุณพัสดีฯ เข้าไปดูลายมือนักโทษที่จะถูกประหารชีวิต เพื่อเป็นการศึกษาและยืนยันความมีอยู่จริงของวิชานี้

ยังมีอีกวิชาหนึ่งที่ท่านสนใจเป็นพิเศษเช่นกัน คือวิชาโยคศาสตร์ และด้วยวิชานี้สามารถเปลี่ยนแปลงร่างกายท่านจากแบบบางมาเป็นล่ำสันแข็งแรง

เนื่องจากท่านสนใจวิชาแพทย์มาแต่เด็ก เมื่อมารับราชการท่านก็มิได้ละทิ้งความสนใจนี้ ท่านเล่าว่าท่านได้ขอท่านเจ้าคุณแพทย์พงศาฯ ผ่าศพดูด้วยตนเองเพื่อการศึกษา จนกระทั่งเจ้าคุณแพทย์พงศาฯ มอบกุญแจห้องเก็บศพให้

จากการผ่าศพนี้ ทำให้ท่านมีความรู้ทางกายวิภาคอย่างแตกฉาน และด้วยความรู้นี้ท่านสามารถบรรเทาอาการทุกขเวทนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้

ท่านได้เล่าให้ฟังว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประ ชวรและได้รับการผ่าตัดพระอันตะ (ลำไส้) และหลังจากการผ่าตัดนั้นแล้ว เมื่อเสร็จจากการเสวยพระกระยาหารเกือบทุกครั้งจะปรากฏว่า พระกระยาหารที่เสวยนั้นจะไปติดพระอันตะตรงที่ผ่าตัดนั้น ทำให้ประชวรทรมานมาก

ท่านต้องช่วยด้วยการเอามือนวดไปตามพระอันตะ และค่อย ๆ ดันให้พระกระยาหารที่ติดอยู่ตรงช่วงนั้นเลื่อนเลยไปก็จะหายประชวร ซึ่งไม่มีใครทำถวายได้เลย นอกจากท่านเพียงคนเดียว

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:27
คนเป็นคนตาย

ท่านธมฺมวิตกฺโก มีปกตินิสัยชอบความสงบ ท่านชอบคนตาย ท่านบอกว่าคนตายให้แต่ความดีงาม ทำใจให้สงบ เพราะเมื่อเห็นแล้วก็เป็นเครื่องเตือนสติว่า ตัวเราก็ต้องตายเช่นนั้นไม่ช้าก็เร็ว

นอกจากนี้คนตายยังให้ความรู้เป็นอาจารย์ทางแพทย์ได้อีกด้วย ไม่เหมือนคนเป็น ซึ่งอาจมีคุณและโทษ ถ้าพบคนเลวก็มีแต่โทษ มีแต่ความลำบากใจไม่รู้จักหยุด

ฉะนั้นด้วยวิสัยนี้ ถ้าตามเสด็จไปบางปะอินครั้งใด ท่านจะ ต้องไปนั่งในป่าช้าเสมอ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ต้องการตัว ท่านจะรับสั่งให้คนไปตามที่ป่าช้า

ท่านไม่นิยมความสนุกสนาน แต่กระนั้นท่านก็บอกว่า ท่านสามารถเล่นโขนและละครได้ ท่านเคยแสดงเป็นทั้งตัวพระและตัวนางหน้าพระที่นั่ง และแสดงได้ดีจนได้รับการยกย่องในสมัยนั้น

จงรักและภักดี

ความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับ ท่านธมฺมวิตกฺโก แต่ครั้งยังรับราชการ เป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทม ในนามบรรดาศักดิ์พระยานรรัตนราชมานิตนั้น เป็นไปอย่างใกล้ชิดสนิทแน่นยิ่ง

ตำแหน่งเจ้ากรมห้องที่พระบรรทมหรือมหาดเล็กต้นห้อง พระบรรทม ตลอดกระทั่งการได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นถึงพระยาพานทอง ตั้งแต่อายุเพียง 25 ปี

และราชทินนามที่ว่า “นรรัตนราชมานิต” อันแปลอย่างง่าย ๆ ได้ว่า “คนดีที่มีพระเจ้าแผ่นดินทรงยกย่อง” นั้น ย่อมเป็นพยานยืนยันอย่างดี ถึงความไว้วางพระราชหฤทัย และความยกย่องให้เกียรติเพียงใด ขององค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อพระยานรรัตนราชมานิต ตั้งแต่ยังเยาว์วัย

แต่พระยานรรัตนราชมานิต ได้มีความวิริยะอุตสาหะ ตั้งใจ ปฏิบัติหน้าที่สนองพระเดชพระคุณอย่างดีที่สุด ที่มนุษย์ในโลกนี้จักพึงกระทำได้ต่อผู้มีพระคุณแก่ตนตลอดทั้งความจงรักภักดี และ ความกตัญญูกตเวทีก็มีอยู่อย่างล้นพ้น จนสุดที่จะประมาณได้

ตลอดเวลาที่รับราชการประจำอยู่แต่ในเขตพระราชฐาน เป็นเวลานานเกือบ 10 ปีบริบูรณ์นั้น ท่านได้ตั้งหน้าอุตสาหะปฏิบัติหน้าที่ราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างเต็มสติกำลัง และโดยสม่ำเสมอ ไม่รู้จักย่นย่อท้อถอย

หน้าที่อันใดที่บ่าวจักพึงปฏิบัติต่อนาย เป็นต้นว่าตื่นก่อน นอนทีหลัง ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่การงานใหญ่ขึ้น นำพระคุณของนายไปสรรเสริญ ฯลฯ เหล่านี้ ท่านสามารถปฏิบัติได้โดยครบถ้วนบริบูรณ์ไม่มีขาดตกบกพร่องใด ๆ

เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตื่นพระบรรทมลืมพระเนตรขึ้นมาคราวใด เป็นต้องได้ทอดพระ เนตรเห็นท่านหมอบเฝ้าคอยถวายอยู่งานแทบทุกครั้งไป

ไม่ว่างานหนักงานเบา งานจุกจิกหยุมหยิมอย่างใด ท่านก็ ยินดีและเต็มใจปฏิบัติสนองพระเดชพระคุณ จนเป็นที่พึงพอพระราชหฤทัยแทบทุกกรณีไป

กล่าวกันว่าตลอดเวลา 10 ปี ที่รับราชการสนองพระเดชพระ คุณอยู่อย่างใกล้ชิดนั้น ท่านไม่เคยถูกกริ้วเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ทั้ง ๆ ที่โดยปกตินั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอารมณ์ออกจะรุนแรง กริ้วง่ายและกริ้วอยู่เสมอ สำหรับบุคคลอื่น ๆ แต่สำหรับตัวท่านแล้ว กลับตรงกันข้าม จึงเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจ ให้แก่ผู้ที่ได้ทราบเรื่องนี้อยู่เสมอ

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:28
โดยปกติมหาดเล็กห้องพระบรรทมจะมีหน้าที่อยู่เวรถวายอยู่งานวันหนึ่ง แล้วว่างเว้นวันหนึ่ง สลับกันไป เพื่อจะได้มีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง สำหรับจะได้พักผ่อนหรือทำธุรกิจส่วนตัว

แต่สำหรับท่านแล้ว เล่ากันว่าแม้จะเป็นวันว่างเวร ท่านก็มักจะไม่ไปไหน คงประจำอยู่แต่ในห้องพระบรรทมแทบทุกวัน ไม่ว่าวันเข้าเวรหรือออกเวร หากมีธุระส่วนตัวจะต้องออกมาข้างนอกเมื่อใด ก็จะใช้เวลาตอนเสด็จออกจากห้องพระบรรทมแล้ว หรือเวลาเข้าที่พระบรรทมแล้ว เท่านั้น

อันงานในหน้าที่ของมหาดเล็กห้องพระบรรทมนั้น นับว่าจุกจิกหยุมหยิมมากมายพอดูทีเดียว เริ่มแต่พอเสด็จเข้าที่พระบรรทม ก็จะต้องถวายอยู่งานนวด อยู่งานพัดเรื่อยไป จนกว่าจะทรงบรรทม หลับ

เวลาจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ใด ๆ ก็จะต้องทำหน้าที่แต่งพระองค์หรือควบคุมการแต่งพระองค์อย่างใกล้ชิด ร่วมกับพนักงานภูษามาลา คอยติดตามฉลองพระองค์ ฯลฯ บางครั้งท่านยังต้องชุนพระสนับเพลาจีนด้วยตนเองอีกด้วย

นอกจากนี้ ก็ยังต้องคอยควบคุมดูแลเกี่ยวกับการเสวยพระกระยาหารเช้า และพระเครื่องว่างในเวลาที่ต้องพระราชประสงค์

รวมความว่า งานรับใช้ทุกอย่างภายในห้องพระบรรทมนั้น อยู่ในหน้าที่ดูแลของท่านโดยตลอด

โดยปกติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จ เข้าที่พระบรรทมซึ่งส่วนใหญ่จะประทับประจำอยู่ ณ พระที่นั่งบรมพิมานเป็นเวลาราว 01.00 น. หรือบางทีก็จน 02.30 น. ล่วงแล้ว และจะไปตื่นพระบรรทมเอา ราว 11.00-11.30 น.

แล้วก็จะเสวยเครื่องเช้า ลำพังพระองค์ที่เฉลียงข้างห้องพระบรรทม จากนั้นจึงจะเสด็จเข้าห้องทรงพระอักษร ทรงปฏิบัติงานราชการแผ่นดิน และทรงปฏิบัติพระราชกิจต่าง ๆ

ในระหว่างเวลาต่อจากนี้ไปแล้ว จึงจะมีเวลาพักผ่อนเอาแรง หรือทำธุรกิจส่วนตัวได้ รวมทั้งตระเตรียมวางงานการบางอย่างไว้ด้วย

ตลอดเวลาที่ท่านรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ในวัง เป็นเวลาช้านานถึง 10 ปี นั้นท่านไม่เคยได้กลับมานอนที่บ้านเลย จะออกมาเยี่ยมเยียนบ้านได้บ้าง ก็เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น

และไม่เคยมีโอกาสได้ไปเที่ยวเตร่ที่ไหน ๆ เลย ไม่เคยได้ตามเสด็จไปในที่ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะภาระงานในหน้าที่ของท่านนั้นบีบรัดอยู่ตลอดเวลา

พอจะเสด็จไปคราวใด ท่าน ก็จะทำหน้าที่แต่งพระองค์โดยตลอด พอเสด็จกลับมาถึง ก็จะต้องรับหน้าที่คอยถอดฉลองพระองค์อีก ซึ่งจะต้องกระทำกันอย่างเร่งรีบรวดเร็วและเรียบร้อยด้วย หลายคนต้องช่วยกันชุลมุนวุ่นวาย

เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงมีพระวรกายอวบอ้วน (ทรงพ่วงพี) จึงทรงเป็นบุคคลชนิดที่เรียกกันว่า ขี้ร้อนเอาการอยู่ทีเดียว กล่าวกันว่าพอเสด็จกลับมาถึงเมื่อใด ก็จะต้องเปิดพัดลมถวายคราวละ 4-5 เครื่องพร้อม ๆ กัน แล้วก็ ช่วยกันระดมถอดกระดุมฉลองพระองค์ ถอดถุงพระบาท ฉลองพระบาทให้ทันพระราชหฤทัย

ก็เมื่องานในหน้าที่รัดตรึงอยู่อย่างหนักหน่วงเช่นนี้ โอกาสที่ท่านจะตามเสด็จไปในที่ต่าง ๆ เยี่ยงข้าราชบริพารและขุนนางคนอื่น ๆ นั้นจึงหาได้ยากยิ่ง

ท่านเคยเล่าว่า ในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมในที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากในบ้านในเมือง เนื่องในวาระซ้อมรบเสือป่าทุกคราวนั้น

แม้ทางการจะได้จัดการวางเวรยามรักษาการณ์ถวายอารักขาไว้อย่างเข้มงวดกวดขันเพียงใดแล้วก็ตาม แต่ท่านก็อดมิได้ที่จะต้องเอาเป็นธุระกังวล หมั่นออกตรวจตราตรากตรำ ดูแลกำกับอยู่เสมอทุกครั้งไปโดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ความง่วงเหงาหาวนอน ตามความต้องการพักผ่อนของร่างกายแต่อย่างใด

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:28
ด้วยความไม่ไว้วางใจ เกรงว่าเวรยามเหล่านั้น อาจจะเผลองีบหลับไปบ้างด้วยความง่วงจัด ในยามดึกสงัด ก็จะเป็นโอกาสของทรชนผู้คอยจ้องหมายปองจะประทุษร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้

อันความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ท่านเคยกล่าวอยู่ เสมอ ๆ ว่า

“ต้องตายแทนได้!”

ถ้าหากว่าตัวท่านกระทำผิดคิดร้ายใด ๆ ต่อพระองค์ท่าน หรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบังเกิดความไม่เชื่อถือ ไม่ไว้วางพระราชหฤทัยในตัวท่านเมื่อใดแล้ว

ท่านก็พร้อมเสมอที่จะน้อมรับพระบรมราชโองการให้เอาตัวไปประหารชีวิต ตัดศีรษะเสีย ตามแบบฉบับของการประหาร ในสมัยนั้นได้ ท่านกล่าวอย่างหนักแน่นในเรื่องนี้ว่า

“เอาหัวเป็นประกันได้เลย!”

แปลว่าท่านมีความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างสุดชีวิตเลยทีเดียว

ส่วนองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นั้น ก็ทรงมีความเข้าพระราชหฤทัย และทรงรู้ใจในตัว พระยานรรัตนราชมานิตเป็นอย่างดีเช่นกัน

เป็นต้นว่าในยามที่เสด็จ แปรพระราชฐานไปประทับที่ พระราชวังบางปะอินนั้น คราวใดที่พระองค์มีพระประสงค์จะทรงดนตรีร่วมกับข้าราชบริพาร อันไม่ต้องอัธยาศัยของพระยานรรัตนราชมานิต

ท่านก็จะถือโอกาสกราบบังคมทูลปลีกตัวออกไปนั่งสงบอยู่ในป่าช้าแต่โดยลำพัง แต่ก็มิใช่ไปอย่างขาดลอยสบายตัวเลย เพราะเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะทรงเรียกใช้สอย หรือ ทรงต้องการตัวเมื่อใด ก็จะต้องกราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงแหล่งที่จะไปตามพบตัวได้ทุกเมื่อ

กล่าวคือเป็นที่รู้กันระหว่าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระยานรรัตนราชมานิต

ก็โดยเหตุที่ท่านได้อุตสาหะ ตั้งใจรับราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างสุดกำลัง ไม่ว่าทั้งด้านกายใจ ได้ทุ่มเทอุทิศถวายให้ทั้งหมด แม้กระทั่งชีวิตและความสุขของตนเอง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คงจะซาบซึ้ง ตระหนักชัดในความจงรักภักดี ของมนตรีของพระองค์ผู้นี้เป็นอย่างดีเช่นกัน ถึงกับคราวหนึ่ง เมื่ออยู่ลำพังสองต่อสอง ได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับท่านว่า

“ตรึก นี่เราเป็นเพื่อนกันนะ แต่เวลาออกงานออกการแล้ว เราจึงจะเป็นเจ้าเป็นข้ากัน”

พระราชดำรัสทั้งนี้ เป็นที่จับใจพระยานรรัตรราชมานิตเป็นอย่างยิ่ง

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:29
ยอดกตัญญู

[attach]3295[/attach]
พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต
ผู้บวชถวายราชกุศล ร.6 ถ่ายภาพร่วมกับ
พระภิกษุพระยาสีหราชฤทธิไกร ผู้บวช
ถวายพระราชกุศล ร.5 ณ วัดราชบพิตร
เมื่อพ.ศ.2469


โดยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ จึงเป็นเหตุให้ท่านตัดสินใจบวชหน้าไฟ อุทิศถวายเป็นพระราชกุศล ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ แล้วก็กลายเป็นบวชจนชั่วชีวิต ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ตลอดเวลาที่ท่านบวชอยู่เป็นเวลาช้านานถึง 46 พรรษา คิดเป็นวันก็ได้กว่า 16,000 วันนั้น ไม่มีวันใดเลยที่ท่านจะว่างเว้นจากการกรวดน้ำอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล แด่องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นยอดกตัญญูอย่างที่จะหาบุคคลใดมาเทียบได้ยากยิ่ง

ยิ่งกว่านั้น ทุกวันที่ 25 พฤศจิกายน อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 นั้น ท่านก็จะงดเว้นการฉันอาหาร 1 วัน

และนั่งกระทำสมาธิตั้งแต่หัวค่ำไปจนยันสว่างเพื่อน้อมจิตอุทิศถวายกุศลผลบุญ ที่ได้ปฏิบัติบำเพ็ญมาโดยตลอด แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น

ท่านได้เฝ้าปฏิบัติอยู่เช่นนี้ เป็นประจำทุกปีมิได้เคยมีขาด หรือเว้นเลย

นอกจากนี้ยังได้บำเพ็ญกุศลด้วยประการต่าง ๆ เพื่อน้อมอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลอีกเป็นอเนกประการ

อันความจงรักภักดีของท่านธมฺมวิตกฺโก ที่มีต่อองค์พระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งใหญ่หลวงจริง ๆ

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:29
คราวหนึ่ง ในขณะที่มีการประกวดนางงามกันในงานวชิราวุธานุสรณ์ และนางงามผู้ชนะเลิศยังเรียกกันว่า “นางงามวชิราวุธ” ต่อมาได้เปลี่ยนเรียกเป็น “นางสาวไทย” นั้น ได้การพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีนี้กันต่อหน้าท่านธมฺมวิตกฺโกในพระอุโบสถ

ทันใดนั้น ท่านธมฺมวิตกฺโก ก็กล่าวขึ้นว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยในการที่เอาพระปรมาภิไธยของพระองค์ไปใช้เรียกชื่อนางงามที่นุ่งน้อยห่มน้อย เป็นเชิงประกวดขาอ่อนกันเช่นนั้น

ทุกคนที่ได้ฟัง พากันตะลึง และงงงัน

ทันใดนั้น คนหนึ่ง ด้วยความสงสัยเต็มประดา ก็โพล่งถามท่านไปว่า

“พระเดชพระคุณได้ติดต่อกับพระองค์อยู่เสมอหรืออย่างไร จึงได้ทราบว่าไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย”

“โธ่” ท่านพยักหน้าตอบ

คำตอบของท่าน เป็นคำตอบอย่างจนมุม สุดที่จะเลี่ยงตอบให้เป็นอย่างอื่นได้ เพราะตามปกตินั้น ท่านก็มักจะไม่พูดถึงเรื่องเร้นลับใด ๆ ให้เป็นการแสดงอวดรู้อวดวิเศษกับบุคคลใด นอกจากเป็นการโดยบังเอิญ ดังเช่นกรณีนี้เท่านั้น

เมื่อท่านพูดสิ่งใดออกไปแล้ว ทุกคนก็ต้องเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น และไม่มีใครกล้าซักถามกันอีกต่อไป ด้วยความกลัวเกรงท่าน แล้วเรื่องก็ยุติลงแต่เพียงแค่นั้น

บวชอุทิศ

ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต รับราชการจนกระทั่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 สวรรคต ท่านจึงได้บวชอุทิศถวายพระราชกุศล เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2468 ที่วัดเทพศิรินทราวาส

โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุดมศีลคุณ และพระพุทธวิริยากร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และอนุสาวนาจารย์

ท่านได้บอกว่าตำแหน่งของท่านนี้ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต ก็จะบวชถวายพระราชกุศล มีตัวอย่างมาเสมอ

แต่ไม่มีใครบวชถวายตลอดชีวิตเช่นกัน

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:30
[attach]3296[/attach]
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ)

เหตุที่ท่านธมฺมวิตกฺโกเลือกเอาวัดเทพศิรินทราวาส เป็นสำนักเพื่อการอุปสมบท ทั้ง ๆ ที่บ้านท่านก็อยู่ใกล้กับวัดโสมนัส เมื่อแรกเขียนหนังสือก็เรียนอยู่ในวัดโสมนัสฯ ท่านและโยมบิดา-มารดาเคยมีความสัมพันธ์กับวัดโสมนัสเป็นอันดีตลอดมา

ตลอดทั้งการที่ท่านได้เลือกเอาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในการตัดสินใจ “บวชหน้าพระเพลิง” เพื่ออุทิศกุศลถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2468 (ถ้านับอย่างปัจจุบันก็จะเป็นปี พ.ศ. 2469 แล้ว) นั้น

นอกจากจะแอบสังเกตดูลายมือของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ใน สมัยนั้น เวลาที่ท่านเข้าประเคนของถวายหรือขอดูโดยตรงจากพระเถระบางองค์ตามที่โอกาสจะอำนวย จนกระทั่งมาพบลายมือท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และได้ดูลักษณะทุกอย่าง จึงได้ตกลงใจเลือกเอาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ในการบวชดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว

ยังได้ทราบจากคำบอกเล่าของญาติผู้ใกล้ชิดของท่านมาอีกทางหนึ่ง เป็นข้อเท็จจริงที่แปลกออกไปจากเรื่องที่ทราบกันมาแล้ว แต่เป็นเรื่องที่น่ารับฟังไว้ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังไว้ ณ ที่นี้บ้าง

ระหว่างที่มีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 นั้น ได้มีการทำบุญถวายสลากภัตเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลเป็นประจำทุก 7 วัน ในพระบรมมหาราชวัง

โดยได้กำหนดให้ข้าราชบริพารชั้นพระยาพานทองสายสะพายรับเป็นเจ้าภาพ จัดเครื่องไทยธรรมถวายพระที่ไปในโอกาสนั้นด้วยการจับสลาก


โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:30
ท่านธมฺมวิตกฺโกหรือเจ้าคุณนรรัตนฯ ในเวลานั้นบังเอิญจับสลากได้พระดี คือได้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งขณะนี้ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระสาสนโสภณ เจ้าคณะรองคณะธรรมยุติกนิกาย

ก็เลยเกิดศรัทธาในรูปโฉมของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่ละม้ายคล้ายพระสิริโฉมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ซึ่งท่านมีความเคารพและภักดียิ่งชีวิต

กล่าวอย่างธรรมดาสามัญก็คือ เจ้าประคุณสมเด็จฯ มีรูปร่างอ้วน ขาว และศีรษะล้าน ละม้ายกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก

จากรูปโฉมนี้เอง เป็นจุดแรกที่โน้มเหนี่ยวให้เกิดศรัทธา กอปรกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ องค์นั้นมีบุคลิกและอัธยาศัยที่สุภาพ สุขุม นุ่มนวลละมุนละไม เป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น และได้มีโอกาสสนทนาวิสาสะด้วย

เป็นสมณะที่สงบและเคร่งครัดต่อการประพฤติปฏิบัติเป็นอย่างยิ่งรูปหนึ่ง และเป็นพระเถระที่มีเมตตาเป็นอย่างสูงแก่ทุก ๆ คนไม่เลือกหน้าว่าจะมั่งมี หรือยากจน จะเป็นคนชั้นสูงหรือชั้นต่ำ ฯลฯ

จากรูปโฉมและบุคลิกปฏิปทาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ดังกล่าวได้ทำให้เจ้าคุณนรรัตนฯ บังเกิดศรัทธาและเคารพเลื่อมใสในองค์ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นยิ่งนัก

ดังนั้นพอเสร็จกิจพิธีถวายสลากภัต เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลในวันนั้นแล้ว ท่านก็ตามไปส่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จนถึงวัดเทพศิรินทราวาสเลยทีเดียว

และก็คงจะได้ไปมาหาสู่เป็นประจำวันแต่นั้นมา พร้อมกับได้ตัดสินใจเลือกท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ ด้วยเชื่อมั่นว่าได้เลือก “พ่อ” ในเพศใหม่คือเพศบรรพชิต ที่เพียบพร้อมเหมาะสมถูกใจเป็นอย่างยิ่งจริง ๆ แล้ว

พอถึงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 24 มีนาคม 2468 ท่านก็เข้ารับการบรรพชาอุปสมบทจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ภายในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส

เพื่อน้อมเกล้าฯ อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น เป็นการบวชอย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “บวชหน้าไฟ”

พอบวชเสร็จแล้ว ค่ำวันนั้น ท่านได้ไปร่วมในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง พร้อมกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ พระอุปัชฌาย์

http://www.dharma-gateway.com/mo ... -nor-hist-08-01.htm

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:31
ทุกข์ซ้อนทุกข์

[attach]3297[/attach]
ธมฺวิตกฺโกภิกขุเมื่อบวชปีแรก

ท่านบอกว่าตามโครงการของท่านนั้น ท่านได้วางไว้ว่าจะ บวชถวายพระราชกุศลเพียงหนึ่งพรรษา แล้วหลังจากนั้นท่านจะแต่งงานแล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกา แล้วจะกลับมารับใช้ชาติต่อไป

เมื่อบวชครบพรรษาแล้ว ท่านกลับไม่คิดลาสิกขา ท่านบอกว่า ท่านได้กัลยาณมิตรในทางธรรมแล้ว คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระอุปัชฌาย์ของท่านเอง

สมเด็จฯ ได้สอนเรื่อง อริยสัจสี่ แก่ท่าน จนท่านเห็นความทุกข์ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุข

จนกล่าวได้ว่า ไม่มีความสุขใดในชีวิตฆราวาสที่จะไม่มีความทุกข์ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุขนั้น

และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตของท่านที่ผ่านมา ท่านก็เห็นได้ชัดเจนว่า ชีวิตเป็นทุกข์แท้จริง และอยากจะใฝ่หาทางพ้นทุกข์

อย่างไรก็ดี ท่านก็บอกว่า ท่านยังไม่ตัดสินใจจะบวชตลอด ชีวิตอยู่นั่นเอง แต่จะบวชไปก่อน การบวชไปก่อนของท่าน นั้นท่านไม่ได้บวชอย่างขอไปที หรือบวชอย่างที่คนตัดสินใจไม่ได้ ว่าจะลาสิกขาหรือไม่

ซึ่งการบวชดังกล่าวมานี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บวชแต่อย่างใด นอกจากจะอยู่ไปวัน หนึ่ง ๆ

แต่สำหรับท่านธมฺมวิตกฺโก ท่านไม่ได้ปล่อยให้เวลาล่วงไป วันหนึ่ง ๆ อย่างเปล่าประโยชน์

ท่านบวชและเจริญสมาธิอย่างเข้มงวด ในช่วงระยะเวลานี้ เพียงแต่ยังไม่ได้ตั้งใจจะบวชจนตลอดชีวิตเท่านั้น

และจากการปฏิบัติของท่านนี้ ก็เกิดผลให้ท่านสมดังใจทำให้ ท่านตัดสินใจได้ภายหลัง

ท่านบอกว่า ท่านตัดสินใจหลังจากบวชแล้วประมาณ 6 ปี ขณะนั้นท่านเกิดเบื่อหน่ายทุกสิ่งทุกอย่าง มีความบันเทิงแต่ในทางธรรมเพียงอย่างเดียว และเห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมือง

จนเล็งเห็นว่าแม้ท่านจะลาสิกขาออกไป ท่านก็ไม่อาจจะไป ใช้ชีวิตดังเดิมได้ ในเมื่อจิตใจของท่านเบื่อหน่ายต่อชีวิตการครองเรือน มองเห็นแต่ความทุกข์ หากลาสิกขาบทไปก็เท่ากับไปใช้ชีวิตอย่างเดิม อีก

ในเมื่อท่านได้ก้าวออกมาจากชีวิตนั้นแล้ว เป็นอิสระแล้ว จะย้อนกลับไปใช้ชีวิตเช่นนั้นอีกทำไม่เล่า เหมือนก้าวขึ้นมาจากโคลนตมแล้วกลับกระโดดลงไปอีกฉะนั้น

ส่วนที่ท่านบอกว่า เห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมืองจน คิดเบื่อหน่ายนั้นก็คือ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงตั้งสมาคมเจ้า และท่านปรีดีพนมยงค์ตั้งสมาคมราษฎร์ขึ้นมา

ท่านจึงพิจารณาเห็นว่าท่านไม่อาจไปใช้ชีวิตฆราวาสได้อีกอย่างแน่นอน

เพราะชีวิตฆราวาสเป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้ โดยไม่รู้ว่า ต่อสู้ไปทำไม เพื่ออะไร ในเมื่อชีวิตนี้เป็นทุกข์ ควรจะต่อสู้เพื่อให้พ้นทุกข์มิดีกว่าหรือ

การที่ท่านตัดสินใจอย่างนี้ คิดว่าคงจะเป็นผลจากการเจริญสมาธิของท่านนั่นเอง

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:32
บ้าดี

เรื่องบวชแล้วไม่สึกของท่านธมฺมวิตกฺโกนี้ ท่านบอกว่า คนอื่นเขาหาว่าท่านบ้า

ท่านเล่าว่าพระบวชใหม่องค์หนึ่งมาบวชที่วัดเทพศิรินทร์ ขณะที่มาบวชนี้มีคู่หมั้นอยู่แล้ว เมื่อบวชแล้วได้รู้จักกับท่าน ได้เล่าให้ท่านฟังว่า

ก่อนบวชคู่หมั้นได้สั่งไว้ว่า ไม่ให้มาหามาคุยกับท่านธมฺมวิตกฺโก โดยบอกว่าท่านธมฺมวิตกฺโกบ้า บวชแล้วไม่สึก คู่หมั้นของพระรูปนั้นเกรงว่า ถ้าได้รู้จักกับท่านธมฺมวิตกฺโกแล้วจะไม่สึกตามไปด้วย จึงได้ห้ามไว้เช่นนั้น

เรื่องนี้ท่านธมฺมวิตกฺโกบอกว่า คนที่ทำอะไรไม่เหมือนที่โลกนิยม ก็จะมีคนว่าบ้า โดยคนที่พูดไม่ได้เข้าใจโดยถ่องแท้ว่า อย่างไรจึงบ้า อย่างไรจึงดี

ท่านบอกว่าคนเราที่เกิดมานี้มีหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งที่พึงกระทำ คือการทำให้พ้นทุกข์ ถ้าไม่ทำก็เท่ากับว่าไร้ประโยชน์ในการเกิดมา เพราะจะต้องเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่นั่นเอง

และคนที่มีความประสงค์จะพ้นทุกข์ และพยายามกระทำเพื่อให้พ้นทุกข์ คนที่ไม่เข้าใจก็ว่าบ้า เหมือนอย่างที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) บอกว่า “เมื่อขรัวโตบ้า ก็ว่าขรัวโตดี เมื่อขรัวโตดีก็ว่า ขรัวโตบ้า”

อสุภะ

[attach]3298[/attach]

ในกุฏิของท่านธมฺมวิตกฺโก นอกจากจะมีหีบศพแล้ว ยังมีโครงกระดูกแขวนอยู่ เป็นโครงกระดูกเต็มตัว ร้อยไว้อย่างดี ท่านเคยชี้ให้ดูและบอกว่าเป็นโครงกระดูกผู้หญิง ท่านว่าเป็นคุณหญิงของท่าน

ท่านชมว่าดีแท้ ๆ ตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาไม่เคยทะเลาะกันเลย ไม่เคยบ่น ไม่เคยทำให้กลุ้มใจ มีแต่ให้ประโยชน์ให้สติ ให้รู้ว่า จะต้องตายเช่นนั้น วันหนึ่งก็จะเหลือแต่โครงกระดูกเช่นนี้ ได้พิจารณาทุกวัน

แล้วท่านก็บอกว่าเมื่อมีเนื้อหนังหุ้มโครงกระดูก ก็นิยมกันว่า สวย รักกันอยู่ด้วยกันด้วยความหลงแท้ ๆ หลงว่าจะเป็นอย่างที่เห็นอยู่ตลอด ไปไม่ได้มองลึกลงไป

ไม่ได้เห็นแก่นแท้ว่ามีแต่กระดูก ไม่น่าอภิรมย์แต่อย่างใด ทำไม่จึงยังหลงมัวเมากันอยู่ได้ แล้วท่านก็จะสรุปว่า “บ่อน้อย เท่ารอยโค หรือจะโผข้ามพ้น เป็นมหาบาเรียนยังเวียนไปหากัน”

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:33
กรรมดี

ใครก็ตามที่เคยพบท่านจะต้องเคยได้ยินท่านให้พรว่า “จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ นะ” ซึ่งก็มีที่มาจากอุทานธรรมเช่นกันโดย มีบทเต็มว่า

รักษาตัวกลัวกรรมอย่าทำชั่ว

จะหมองมัวหม่นไหม้ไปเมืองผี

จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีดี

จะได้มีความสุขพ้นทุกข์ภัย

คำให้พรของท่านที่ว่า จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีนั้น แต่บางคนเกิดมาไม่มีโอกาสจะทำกรรมดีเลย เพราะไปเกิดในประเทศที่ไม่สมควร ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไร

ท่านบอกว่าถ้าเป็นอย่างนั้น ก็สุดแต่บุพกรรม แต่โดยปกติแล้ว คนใจแข็งต้องเว้นจากกรรมชั่ว เลือกทำแต่กรรมดีได้

และท่านได้กรุณาบอกถึงลักษณะของคนใจแข็งว่า จะต้องประกอบด้วย

1. ไม่บ่น

2. ไม่ร้องทุกข์

3. ไม่อยากรู้ความลับของใคร

4. ไม่บอกความลับของตนแก่ใคร

5. ไม่สนใจว่าใครจะเห็นเป็นอย่างไร

6. ไม่กลัวความทุกข์ยาก

7. รู้จักเอาความทุกข์ยากมาเป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในชีวิต

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:33
ดอกมะลิ

ดอกมะลิ เป็นดอกไม้ที่ถูกรับรองแล้วว่าเป็นดอกไม้ที่หอมเย็นชื่นใจที่สุด และขาวบริสุทธิ์ที่สุดในบรรดาดอกไม้ทั้งหลาย

ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ก็เช่นเดียวกับการเล่นละคร ขอให้เป็นตัวเอกที่มีชื่อเสียงที่สุด เช่นเดียวหรือลักษณะเดียวกับดอกมะลิ อย่าเป็นตัวผู้ร้ายที่เลวที่สุด และให้เห็นว่าดอกมะลินี้จะบานเต็มที่เพียง 2-3 วัน ก็จะเหี่ยวเฉา

ฉะนั้นขอให้ทำตัวให้ดีที่สุด เมื่อยังชีวิตอยู่ ให้หอมที่สุด เหมือนดอกมะลิที่เริ่มแย้มบานฉะนั้น

“จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีๆ”

ทำดี ดีกว่าขอพร

“จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ นะ”

เตือนให้เตรียมตัวไว้ดำเนินชีวิตต่อไป เป็นคำแทนคำอวยพรอย่างสูงสุด ประกอบด้วยเหตุผล

เมื่อทำกรรมดีแล้ว ไม่ให้พรก็ต้องดี เมื่อทำชั่วแล้วจะมาเสกสรรปั้นแต่งอวยพรอย่างไรก็ดีไม่ได้

ทำชั่วเหมือนโยนหินลงน้ำ หินจะต้องจมทันที ไม่มีผู้วิเศษใด ๆ จะมาเสกจะมาเสกเป่า อวยพร อ้อนวอนขอร้องให้หินลอยขึ้นมาได้ ทำกรรมชั่วจะต้องล่มจม ป่นปี้ เสียราศี เกียรติคุณชื่อเสียงเหมือนก้อนหินหนักจมลงไปอยู่กับโคลนใต้น้ำ

ทำดีเหมือนน้ำมันเบา เมื่อ เทลงน้ำย่อมลอยเป็นประกายมัน ปลาบอยู่เหนือน้ำ

ทำกรรมดีย่อมมีสง่าราศี มีเกียรติดุณชื่อเสียงมีแต่คนเคารพนับถือยกย่องบูชาเฟื่องฟุ้ง ฟูลอย เหมือนน้ำมันลอย

ถึงจะมีศัตรูหมู่ร้ายจงใจ เกลียดชังมุ่งร้าย อิจฉาริษยาแช่ง ด่าให้จมก็ไม่สามารถจะเป็นไปได้ กลับจะแพ้เป็นภัยแก่ตัวเอง

ขอให้จงตั้งใจกล้าหาญพยายามทำแต่กรรมดี ๆ โดยไม่มีความเกรงกลัวหวั่นไหวต่ออุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้น

ผู้ที่มีความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย ผู้ที่มีโชคดี ผู้ที่มีความสุข และผู้ที่มีความเจริญ ประสงค์ใดสำเร็จสมประสงค์ ก็คือผู้ที่ประกอบกรรม ทำแต่ความดีอย่างเดียวนั่นเอง

ในวันวิสาขบชาวันหนึ่ง หลังจากเวียนเทียนเสร็จ ได้มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งเข้าไปกราบท่านธมฺมวิตกฺโก ขณะที่ท่านเดินอยู่

ท่านได้หยุดและถามว่า มีเรื่องอะไรหรือ หนุ่มสาวคู่นั้นได้เรียนท่านว่า มาขอพรขอให้เกิดมาพบกันอีก

ท่านได้ตอบว่า “มีแต่เขาไม่อยากจะมาเกิด นี่ทำไม่อยากมา เกิดอีก อย่างอาตมาถ้าใครแช่ง ให้ไม่รู้จักผุดจักเกิด อาตมาก็จะขอบใจ เอาละเมื่อมาขอพรก็จะ ให้ แต่จะบอกว่า คนเราไม่ได้อะไรง่าย ๆ ด้วยการร้องขอ อยากได้อะไรต้องทำถึงจะได้”

เรื่องการขอพรนี้ มีคนไปขอพรท่านมาก ใครอยากได้อะไร ก็ไปขอ จนท่านได้เขียนโอวาท เป็นข้อสุดท้าย ลงในหนังสือ สันติวรบทของท่านว่า ทำดี ดีกว่าขอพร ท่านบอกว่าพรเป็นเพียงกำลังใจให้คนประพฤติปฏิบัติเท่านั้น

และพระพุทธศาสนา ก็ไม่ใช่ศาสนาของการสวดอ้อนวอนร้องขออะไร พระบรมศาสดาสอนให้เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรมนั้น ฉะนั้นท่านจึงบอกว่า “ทำดี ดีกว่าขอพร”

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:34
สบายใจ

คำว่า “ไม่สบายใจ” อย่าใช้ และอย่าให้มีขึ้นในใจต่อไป ก่อน มันจะเกิดต้องปล่อยให้มันผ่านไป อย่ารับเอาความไม่สบายใจไว้

ถ้าเผลอไปมันแอบเข้ามาอยู่ในใจได้ พอมีสติรู้สึกตัวว่าความ ไม่สบายใจเข้ามาแอบอยู่ในใจ ต้องขับมันออกไปทันที อย่าเลี้ยงเอาความไม่สบายใจไว้ไนใจ มันจะเคยตัว ทีหลังจะเป็นคนอ่อนแอ ออดแอด ทำอะไรผิดพลาดนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่สบายใจเคยตัว

เพราะความไม่สบายใจนี้ แหละเป็นศัตรู เป็นมาร ทำให้ใจ ไม่สงบ ประสาทสมองไม่ปกติ เป็นเหตุให้ร่างกายผิดปกติ พลอย ไม่สงบไม่สบายไปด้วย ทำให้สมองทึบ ไม่ปลอดโปร่ง

เป็นความเคยชินที่ไม่ดี เป็น อุปสรรคกีดกันขัดขวางสติปัญญา ไม่ให้ปลอดโปร่งแจ่มใส ต้องฝึกหัดแก้ไขปรับปรุงจิตใจเสียใหม่ ทั้งก่อนที่จะทำอะไร หรือกำลังกระทำอยู่

และเมื่อเวลากระทำเสร็จแล้ว ต้องหัดให้จิตใจแช่มชื่นรื่นเริง เกิดปีติปราโมทย์เป็นสุขสบายอยู่เสมอ สมองจึงจะเบิกบาน จะศึกษาเล่าเรียนก็เข้าใจ จำได้ง่ายเหมือนดอกไม้ที่แย้ม เบิกบานต้องรับหยาดน้ำค้างและอากาศบริสุทธิ์ฉะนั้น

[attach]3299[/attach]
พระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาส

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:35
ตายไม่กลัว

[attach]3301[/attach]
ตึกแม้นนฤมิตก่อนถูกระเบิด

เมื่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนในกรุงเทพฯ ได้อพยพออกไปอยู่บ้านนอกกันเป็นส่วนมาก ไม่ยกเว้นแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า พระในวัดเทพศิรินทร์ก็อพยพ

แต่ท่านธมฺมวิตกฺโกไม่ได้ไปไหนเลย ท่านที่อยู่กุฏิของท่านตลอดระยะเวลาสงครามครั้งนี้

ท่านได้เล่าเหตุการณ์ว่า ทางด้านหลังวัด ซึ่งปัจจุบันเป็นบริเวณสุสานหลวง ได้มีทหารญี่ปุ่นมาพักเต็มไปหมด และอาบน้ำใน สระของวัดซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นสระเต่า ที่หน้ากุฏิของท่านเดิมเป็นศาลาใหญ่ ปัจจุบันได้รื้อออกแล้ว สร้างเป็นโรงเรียนปริยัติธรรม

ที่ศาลานี้ในระหว่างสงครามได้มีญี่ปุ่นเอาเครื่องรับวิทยุมาตั้ง โดยเห็นว่าเป็นวัด ไม่เป็นที่สงสัย และมีเจ้าหน้าที่มาคอยควบคุมเครื่องส่งวิทยุนี้

วันหนึ่งมีผู้มาบอกท่านว่า จะมีเครื่องบินเอาระเบิดมาทิ้งเครื่องวิทยุที่ตั้งอยู่ที่ศาลา ให้ท่านหลบไปเสีย ท่านเล่าว่า ท่านไม่ยอมหลบ แต่กลับนั่งรอคอยอย่างสงบ

เวลาประมาณหลังเที่ยงวัน มีเสียงเครื่องบินผ่านมา ท่านก็เปิดหน้าต่างออกมาดู เห็นเครื่องบินวนอยู่หลายรอบและที่สุดก็ทิ้งระเบิดลงมา

ปรากฏว่าลูกระเบิดได้ผ่านศาลาและกุฏิท่านไป ลูกแรกไปตกข้างโบสถ์ ถัดจากนั้นก็ไปตกถูกตึกโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และตึกที่ทำการของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ผลปรากฏว่าโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ คือ ตึกแม้นนฤมิต และตึกของการรถไฟพังพินาศ ส่วนลูกที่ตกข้างโบสถ์นั้นไม่ระเบิด ภายหลังได้ติดต่อเจ้าหน้าที่มาขุดเอาไป

ท่านบอกว่า พระเชียงแสน และพระประธานในโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าลูกระเบิดที่ตกนั่นระเบิดขึ้นมา โบสถ์ก็คงพังเสียหายมาก ท่านผู้อ่านที่นับถืออาจจะคิดว่าที่ลูกระเบิดด้านไปเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของท่านธมฺมวิตกฺโก

สำหรับท่านเอง ท่านไม่กลัวความตาย จึงไม่อพยพหนีไปไหน ท่านบอกว่า ความตายคือมิตรที่ดีที่สุดนำความสงบมาให้ และเป็นมิตรที่ซื่อตรง จะมาถึงทุกคนอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมั่งมี ยากจน ดีหรือชั่ว จะต่างกันก็แต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น นอกจากนี้ การระลึกถึงความตายเป็นอนุสติอีกด้วย

ท่านธมฺมวิตกฺโกอยู่ในวัดเทพศิรินทร์ตลอดระยะสงครามโดยปลอดภัย เวลากลางคืนท่านก็ลงจำวัดในหีบศพที่โยมพ่อต่อเอามาให้ แล้วใช้จีวรคลุมหีบศพต่างมุ้ง

ท่านบอกว่าหากพลาดพลั้งระเบิดตกลงมา เวลาคนมาเก็บศพ ก็ไม่ลำบาก

[attach]3300[/attach]
สภาพตึกแม้นนฤมิตหลังถูกระเบิด

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:35
เพ่งวงกลม

ท่านเล่าว่าการทำสมาธิ ท่านได้ฝึกทำมาแต่ครั้งยังเป็น ฆราวาส เมื่อท่านบวชท่านได้ฝึกต่อไป

โดยตัดกระดาษเป็นรูปวงกลมติดไว้ข้างฝาห้องแล้วนั่งเพ่ง จนกระทั่งท่านเห็นภาพนี้ชัด ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา เป็นภาพที่ติดอยู่ในจิต เป็นภาพนิมิต

และต่อมาท่านได้ขยายภาพนิมิตนี้ในจิต ให้ใหญ่ให้เล็กได้ตามความประสงค์ หรือจะทำให้ภาพวงกลมนี้ มีมากมายหลายภาพจนนับไม่ถ้วนก็ได้

การที่ท่านเลือกรูปวงกลมมาเป็นภาพสำหรับกำหนดจิต แทนที่จะเป็นพระพุทธรูปหรืออย่างอื่น ก็เพราะว่าท่านเห็นรูปวงกลมนี้เหมือนกับสังสารวัฏที่หมุนเวียนอยู่เสมอ

ต่อมาเมื่อท่านเห็นว่า ท่านมีกำลังจิตแรงกล้าพอแล้ว ท่านได้ ทดลองอำนาจกำลังจิตของท่าน โดยเอากะโหลกผีมาตั้งเรียงไว้ 4 หัว ข้างที่นอนของท่าน

เมื่อเตรียมการเสร็จแล้ว ก็รวบรวมอำนาจจิตนั่งสมาธิ อยู่หน้าหัวกะโหลกผีเหล่านั้น โดยเอาหัวกะโหลกผีเป็นจุดกรรมฐาน

เมื่อนั่งใหม่ ๆ ภาพที่เกิดในนิมิต ปรากฏอย่างแปลกประหลาดพิสดาร โดยหัวกะโหลกเหล่านั้นได้หลอกหลอนท่าน ลอยเข้ามาหาบ้าง ห่างไปบ้าง ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง

แต่ภายหลังเมื่อท่านได้กำหนดอารมณ์ให้ภาพเหล่านี้ผ่านเลยไป แล้วท่านได้เห็นหัวกะโหลกเหล่านั้นในสภาพที่เป็นจริง ไม่มาหลอกหลอนท่านอีกต่อไป ยังความปลาบปลื้มยินดีให้แก่ท่านมากขึ้น

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:35
หน่ายกาม

เช่นเดียวกับท่านมหากัสสปเถระในสมัยพุทธกาล ธรรมเทศนาของท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ อยู่ข้างจะหายาก เพราะท่านถนัดในการเทศน์ให้ดู มากกว่าเทศน์ให้ฟัง

ตลอดชีวิตแห่งการเป็นภิกษุของท่าน จึงอุทิศให้กับการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ มากกว่าที่จะสนใจในการเป็นพระธรรมกถึก

อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ใคร่จะทราบถึงคำสอนของท่านบ้างพอสมควร จะขอนำโอวาทบางตอนของท่านมาลงไว้พอเป็นตัวอย่างบ้าง

โอวาทเหล่านี้จะเห็นได้ว่า สำนวนฟังง่าย ๆ ประโยคสั้น ๆ แต่มีข้อความลึกซึ้ง เพราะท่านได้จากประสบการณ์

อย่างที่เรียกว่า “สันทิฎฐิ โก” คือเห็นและรู้ด้วยตนเอง อย่างแท้จริง ไม่ได้ลอกมาจากตำรา เหมือนนกแก้ว

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างโอวาท ในเรื่องการหน่ายกาม

กามฉันทะหรือกามตัณหา เกิดจากความไม่ฉลาด หลงคิด เห็นอารมณ์ต่าง ๆ เป็นที่ถูกใจ และน่ายินดี กามฉันทะนั้น ผู้ปฏิบัติสามารถข่มไว้ได้ด้วยวิธี ทั้ง 6 ดังต่อไปนี้

1. เพ่งใจให้เห็นอสุภารมณ์ คืออารมณ์ที่ปฏิกูลน่าเกลียดไม่ งามของสังขารร่างกาย จนทำให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายความใคร่ หายความกำหนัดยินดี

2. เพ่งพินิจพิจารณาความปฏิกูลของร่างกาย แยกออกเป็น อาการ 32 ที่เรียกว่า กายคตาสติภาวนา มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น

3. ใช้สติสำรวมอินทรีย์ เฝ้าระวังทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อได้ประ สบพบเห็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ อย่าให้ความรักใคร่กำหนัดยินดียินร้าย เกิดขึ้นภายในจิตใจ

4. ให้รู้จักประมาณการบริโภคอาหาร อย่าให้อิ่มจนเกินไป จนเป็นเหตุให้เกิดความกำหนัดทางกาย และลุกลามเข้าไปถึงจิตใจ ให้เกิดความเศร้าหมองด้วยฉันทราคะ

5. ทำการวิสาสะ คบหาสมาคม สนทนาปราศรัย สนิทสนมคุ้นเคย กับกัลยาณมิตร เพื่อนผู้ดีงาม ที่จะชักชวนให้สนทนาไปในทางที่จะให้เสื่อมคลายความรักใคร่กำหนัดยินดี และยินร้าย ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์

6. ฝึกฝนตนปฏิบิตในทางที่ถูกต้อง ตรงตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ฯลฯ

กามฉันทะหรือกามตัณหานี้ สลัดกำจัดตัดได้อย่างเด็ดขาด ต่อเมื่อเข้าถึงกระแสพระอนาคามีมรรค บรรลุถึงพระอนาคามีผล

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:36
เมืองเป็นป่า

“พระเดชพระคุณครับ พระอริยบุคคลในปัจจุบันนี้ยังพอมีอยู่ บ้างไหม?” นายแพทย์สุพจน์ ศิริรัตน์เอ่ยถามท่านขึ้นมาในตอนค่ำวันหนึ่งในพระอุโบสถหลังจากท่านทำวัตรเย็นตามปกติแล้ว

“มี แต่ท่านไม่ค่อยเข้ามาอยู่ในเมือง” ท่านตอบ “ชอบอยู่ตาม ป่าตามเขากัน เพราะท่านเหล่านั้นไม่ชอบความวุ่นวาย”

จากคำตอบของท่านดัง กล่าวเป็นการยืนยันว่า แม้ในยุค ปัจจุบันนี้ที่โลกของเราเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายร้อยแปดพันประการ พระอรหันต์ พระอนาคตมี พระสกิทาคามี พระโสดาบัน

ซึ่งทางพระพุทธศาสนาถือ ว่าเป็นพระอริยบุคคลบรรลุธรรมชั้นสูงแล้วนั้น ก็ยังมีอยู่คู่พระศาสนา ซึ่งการได้เป็นดังนี้ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย สมดังที่สมเด็จพระบรมศาสดาเคยตรัส ไว้ว่า

“บุคคลใดปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปดอยู่โดยชอบแล้ว โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์” แต่ท่านเหล่านั้นจะบำเพ็ญเพียรจนสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงดังกล่าวได้ เกือบทั้งหมดจะต้องทิ้งบ้านทิ้งเมือง หนีจากชุมนุมชน อันเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เข้าอาศัยป่าอันเป็นที่สงบวิเวก เพื่อการบำเพ็ญหรือปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น

ปัญหาที่น่าคิดจึงเกิดขึ้นว่า สำหรับท่านธมฺมวิตกฺโกหรือ ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ นั้น ทั้ง ๆ ที่ท่านพำนักอยู่ ณ สำนักวัดเทพศิรินทราวาสใจกลางกรุง อยู่ใกล้กับโรงภาพยนตร์ใหญ่หลายโรง แวดล้อมไปด้วยความอึกทึกวุ่นวายนานัปการ แต่ทำไม่ท่านจึงสามารถบำเพ็ญจนสำเร็จธรรมขั้นสูงได้

คำตอบที่ได้มาก็คือ ท่านทำ “เมือง” ให้เป็น “ป่า” สำหรับตัว ท่านนั่นเอง

โดยการ “ตัดโลก” ท่านออกมาจากสังคม ไม่ยอมยุ่งเกี่ยวกับสังคมภายนอกอย่างเด็ดขาด ถึงขนาดโยมบิดามารดาถึงแก่กรรม ก็ยังไม่ไปเผา ได้แต่สั่งการให้น้องรับไปดำเนินการ ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นผู้ที่มีความเคารพและกตัญญูในผู้มีพระคุณอย่างยอด

ท่านไม่ยอมออกจากวัดไปไหนเลย เป็นเวลานานติดต่อกัน ร่วม 40 ปีเต็ม ๆ ท่านไม่เคยไปกุฏิใคร และโดยปกติก็ไม่เคยให้ใครเข้าไปในกุฏิท่าน หากจะออกจากกุฏิก็ตรงมาโบสถ์เลยทีเดียว เพื่อทำวัตรเช้าเย็นวันละสองเวลาเท่านั้น เสร็จธุระแล้วก็กลับ

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:36
แม้ในสมัยที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ) พระอุปัชฌาย์ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่เคยไปที่กุฏิสมเด็จเลย สมเด็จฯ จะพบท่านได้ก็เฉพาะแต่ที่พระอุโบสถเท่านั้น เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ๆ ท่านอยู่ของท่านแต่ลำพังโดยโดดเดี่ยวเอกา

ไฟฟ้าเครื่องให้แสงสว่าง และอุปกรณ์ของใช้ต่าง ๆ อย่างที่ เขานิยมใช้กันอยู่ทั่ว ๆ ไปนั้น ท่านก็ไม่มีใช้กับเขาเลย แปลว่า ท่านอยู่ของท่านอย่างเหมือนกับอยู่ในป่าดงตามลำพังจริง ๆ

ใครมีธุระไปพบท่านก็ไป พบได้แต่เวลาที่ท่านลงโบสถ์ ภายในโบสถ์เท่านั้น ไม่ว่าคน สามัญหรือเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ท่านเคยกล่าวว่า

“คนทั้งหลายที่มาพบนี่ เมื่ออาตมากลับกุฏิแล้ว อาตมาทิ้งหมด ไม่ได้นึกถึงเลย ผีทั้งนั้น”

โดยปฏิปทาของท่านดังนี้เอง จึงทำให้ท่านสามารถทำเพ็ญ เพียรจนบรรลุธรรมขั้นสูงได้

ในระยะแรก ๆ นั้น ท่าน เกือบจะไม่รับแขกเลย ทั้งนี้สันนิษฐานว่าท่านกำลังเพ่งเพียร ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่อย่างขะมักเขม้น จึงไม่ยอมรับแขกมาก แม้เฉพาะแต่ในพระอุโบสถ ดังได้กล่าวมาแล้วก็ตาม

ต่อมาในระยะหลัง ๆ ก่อน ท่านสิ้นไม่กี่ปีจึงได้ยอมให้แขก เข้าพบได้มากขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นด้วยท่านได้ความรู้มาก ผ่านประสบการณ์มาก สำเร็จธรรมขั้นสูง มีความมั่นใจได้แล้ว จึงได้ให้โอกาสเพื่อโปรดสัตว์โลกบ้างตามสมควร

[attach]3302[/attach]
กุฏิเก่าเจ้าคุณนรฯ รื้อไปแล้ว
กุฏิใหม่สร้างในที่เดิม


โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:37
เจโตปริยญาณ

เมื่อพูดถึง “เจโตปริยญาณ” คือการหยั่งรู้วาระจิตของบุคคล อื่น การทางใจบุคคลอื่นก็ได้ รู้ถึงความปรารถนาและอัธยาศัยของบุคคลอื่น ซึ่งบางท่านกล่าว ว่าเป็นความหยั่งรู้เบื้องต้นของการได้ทิพจักษุในขั้นต่อไปนั้น

ผู้ที่เคยเข้าพบปะสนทนากับ ท่านธมฺมวิตกฺโกเป็นอันมาก ทั้ง ฆราวาสและบรรพชิตยอมรับกันว่า ท่านมีเจโตปริยญาณเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง

นายแพทย์สุพจน์ ศิริรัตน์ เล่าว่าได้ทดสอบในเรื่องนี้มาแล้ว กว่า 10 ครั้ง อยากรู้เรื่องอะไร อยากให้ท่านสอนในเรื่องอะไร ท่านก็สอนตามนั้นหมดโดยไม่พัก ต้องเอ่ยปากถาม มีความทุกข์ร้อนขัดข้องสิ่งใดอยู่ในใจท่านรู้หมด พูดออกมาตรงกับที่เรากำลังครุ่นคิดอยู่ได้ถูกต้องอย่างน่าแปลกประหลาด

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น คราวหนึ่งนายแพทย์สุพจน์ กำลังนั่งนึกครุ่นคิดอยู่ในใจต่อหน้าท่านในพระอุโบสถว่า ท่านอยู่ของท่านได้อย่างไรหนอ วัน หนึ่ง ๆ เอาแต่ปิดประตูเงียบอยู่แต่ลำพังรูปเดียวในกุฏิ ทันใดนั้นเอง ท่านก็พูดออกมาว่า

“อาตมานี้ กิจวัตรประจำวัน ก็คือเดินจงกรมและนั่งสมาธิสลับกันไป”

พ.อ.จิตต์ ธนะโชติ อดีตรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ระหว่างที่กำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งในปอด ได้หาโอกาสเข้าพบท่านธมฺมวิตกฺโก เพื่อให้ท่านช่วยรักษาให้เมื่อปลายปี 2513 ได้บันทึกเรื่องราวไว้น่าฟังหลายตอน เช่น ตอนหนึ่งมีว่า

“ข้าพเจ้าได้พบท่านเจ้าคุณนรฯ หลังจากนั้นรวม 4 ครั้ง แล้ว ท่านก็ได้กรุณากรอกน้ำมนต์ให้ทุกครั้ง และก็คุยกันถึงเรื่องต่างๆ

ซึ่งในบางครั้งเมื่อเก็บมาคิดแล้ว ข้าพเจ้าอดสะดุ้งใจไม่ได้ว่า ท่านทำไม่จึงล่วงรู้จิตใจและเรื่องต่าง ๆ ทั้งของข้าพเจ้าและเรื่องในพุทธกาลได้ดีเช่นนั้น

และเป็นเรื่องที่ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อมั่นอย่างสนิทใจว่าท่านหาใช่เป็นพระภิกษุธรรมดาไม่ ท่านต้องเป็นอริยสงฆ์และถึงขั้นอรหันต์ทีเดียว

จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าท่านธมฺมวิตกฺโกนั้นมีเจโตปริยญาณ สามารถหยั่งรู้วาระจิตของบุคคลอื่นได้เป็นอย่างดียิ่ง

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:37
ผิดหน้าที่

ในเรื่องอริยสัจสี่นั้น ทุกข์ เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ สมุทัย เป็นธรรมที่ควรละ นิโรธ เป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง และ มรรค เป็นธรรมที่ควรทำให้มาก

ฉะนั้นในเรื่องการปฏิบัติ ธรรมในอริยสัจสี่นั้น จึงไม่เหมือนกันดังหน้าที่แต่ละอย่างดัง กล่าว มา

เมื่อปี 2510 มีภิกษุบวชใหม่ที่วัดเทพศิรินทร์ในพรรษานั้นเกิดเรื่องกลุ้มใจด้วยเหตุบางประการ แม้จะฝึกมากแล้ว ก็จำวัดไม่ได้จึงเดินไปตามบริเวณวัด จนกระทั่งผ่านกุฏิท่านธมฺมวิตกฺโก ขณะนั้นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่พอดี

เมื่อท่านธมฺมวิตกฺโกเห็นเข้า จึงถามว่า “คุณจะไปไหนยังไม่ นอนอีกหรือ” พระภิกษุรูปนั้นได้ตอบว่า“ ผมกลุ้มใจครับ นอนไม่หลับ” ท่านได้ถามต่อไปว่า แล้วตอนนี้ทำอะไรอยู่ พระภิกษุรูปนั้นตอบว่า ยังคิดเรื่องที่กลุ้มใจอยู่

ท่านธมฺมวิตกฺโกได้พูดขึ้นว่า “คุณปฏิบัติธรรมผิดหน้าที่ คุณทำไม่ถูก” พระภิกษุรูปนั้นนิ่งคิดสักครู่ แล้วตอบว่า “ขอบคุณครับ” แล้วเดินกลับกุฏิมานอน หลับทันที

จากคำพูดของท่านธมฺมวิตกฺโกที่พูดว่า “คุณปฏิบัติธรรมผิดหน้าที่” นี้จะเห็นได้ว่า ท่านเป็นอัจฉริยะอย่างยิ่งในการสอนผู้อื่น

โดยคำพูดเพียงประโยค เดียวที่แทงทะลุไปในจิตใจของผู้ฟัง และผู้ฟังก็เข้าใจแจ่มแจ้งรู้สึกตัวทันที

ในเมื่อสมุทัย คือเหตุแห่ง ทุกข์เป็นธรรมที่ควรละ แต่พระ ภิกษุรูปนั้นกลับครุ่นคิดถึงความทุกข์นั้น ไม่ยอมละจากความคิดนั้น เท่ากับเป็นการทำให้มาก ความทุกข์จะหมดสิ้นไปได้อย่างไร

การปฏิบัติให้มากควรจะ เป็นมรรคหรือทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทา ไม่ใช่ทุกขสมุทัย

นับว่าท่านธมฺมวิตกฺโก สั่งสอนธรรมะโดยรู้อุปนิสัยและความคิดของแต่ละบุคคล นับเป็นอัศจรรย์ เป็นปาฏิหาริย์ทางเทศนาโดยแท้

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 17:38
กระแสจิต

คราวหนึ่งนายประวิทย์ รุ่งวิทยาธิวัฒน์ ซึ่งเรียนจบคณะรัฐศาสตร์มาแล้ว และขณะกำลังทำปริญญาโทอยู่ ได้ฟังข่าวเล่าลือต่าง ๆ นานา ในการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ของท่านธมฺมวิตกฺโก

ก็อยากจะทราบว่าท่านมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร อาศัยที่เคยฝึกหัดนั่งสมาธิบ้าง จึงลองนั่งดูโดย “ทางใน” เมื่อเห็นแล้ว ทราบแล้ว ก็บังเกิดความปรารถนาจะได้พบท่าน

ราวบ่าย 2 โมง (14 นาฬิกา) ของวันหนึ่ง เขาจึงตรงไปยังวัดเทพศิรินทร์ตามหากุฏิท่านธมฺมวิตกฺโก แล้วก็ไปยืนเตร่ เมียง ๆ มอง ๆ อยู่แถวบริเวณ ข้าง ๆ กุฏิท่านนั้น เป็นเวลานานพอดู

พระที่อยู่บริเวณกุฏิใกล้เคียงกันนั้น อดสงสัยไม่ได้ จึงถามเขาไปว่า

“คุณจะมาหาใครไม่ทราบ

“ผมจะมาหาท่านเจ้าคุณนรฯ ครับ” เขาตอบ

“คุณมาตอนท่านลงโบสถ์ซิ” พระรูปนั้นท่านชี้แจง “ตอนนี้ ท่านไม่รับแขก”

แต่เขาก็ยังไม่ยอมกลับอยู่นั่นเอง คงเฝ้ายืนอยู่ตรงนั้นต่อไป

แล้วเขาก็ถือโอกาสไปนั่งตรงบริเวณฮวงซุ้ยที่อยู่ข้างกุฏิท่าน แล้วก็ทำสมาธิส่งกระแสจิตระลึกถึงท่าน

พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าหากพระอรหันต์ในโลกปัจจุบันยังมีอยู่จริงแล้วไซร้ ก็ขอให้ท่านได้หยั่งรู้จิตใจของเขา และ อนุญาตให้เขาเข้าพบท่านได้

สักครู่ผ่านไป โดยไม่คาดฝัน ท่านก็โผล่หน้าต่างออกมายิ้ม แล้วท่านก็ถามเขาว่า

“คุณมาหาใคร”

“มากราบพระเดชพระคุณ” เขาตอบ

“มีเรื่องอะไรรึ?” ท่านถาม

“ไม่มีเรื่องอะไรหรอกครับ ตั้งใจจะมากราบเท่านั้น”

พอเขาตอบท่านเสร็จ ท่านก็ลงมาที่กฏิชั้นล่าง เปิดประตูหลัง แล้วเรียกให้เข้าไปนั่งคุยกับท่านในกุฏิ ซึ่งไม่เห็นมีอะไรนอกจากโครงกระดูกแขวนต่องแต่ง และโลงตั้งอยู่

เมื่อเข้าไปแล้ว เขาได้เอาภาพถ่ายอธิษฐานขนาดเล็กของท่าน ที่ได้มาจากพระครูปัญญาภรณโสภณ (พระมหาอำพัน บุญ-หลง) ถวายให้ท่านดู พอท่านดูเสร็จแล้ว ท่านก็ส่งคืนพร้อมกับกล่าวว่า

“เอาเก็บไว้เถอะ”

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:07
การที่ท่านกล่าวดังนี้ เป็นการอนุญาตให้เก็บไว้ใช้ติดตัว เพื่อความเป็นสิริมงคล คุ้มครองป้องกันอันตรายได้

“กระแสจิตของคนเรานี่มันถึงกันได้นะ”

อีกครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ได้ลงข่าวว่า ท่านธมฺมวิตกฺโก ได้ส่งกระแสจิตไปรักษาฝรั่งคนหนึ่งที่ต่างประเทศ จนฝรั่งคนนั้นหายจากโรคปวดหัว แล้วจึงเดินทางมาตามท่านจนพบ

ผมได้เรียนถามถึงเรื่องนี้ว่า จริงเพียงไร ท่านบอกว่าฝรั่งคน นั้นได้มาหาท่านจริง ส่วนเรื่องที่ท่านจะรักษาเขาจริงหรือไม่ ท่านไม่ทราบ แต่เขามาเล่าอย่างนั้น

ท่านได้บอกว่ากระแสจิตที่ส่งไปเหมือนเครื่องส่งวิทยุ เมื่อ เครื่องส่งได้ส่งออกไปแล้ว เครื่องส่งก็ไม่ทราบว่ามีเครื่องรับอยู่ที่ใดบ้าง

ส่วนท่านธมฺมวิตกฺโกนั้น ท่านนั่งแผ่เมตตาอยู่ทกคืนเป็น ประจำ และเท่าที่ท่านได้สอบถาม ปรากฏว่าฝรั่งคนนั้นเป็นฝรั่งที่สนใจเรื่องอำนาจจิต และได้ฝึกฝนตนมาทางนี้นานแล้ว

เรื่องทำนองนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับบุคคลอื่น ๆ มาเป็นอันมากแล้ว เป็นต้นว่า พ.ต.อ.ชลอ อุทกภาชน์ ซึ่งเคยเฝ้าเพียรพยายามที่จะพบท่านอยู่หลายครั้ง

ทันทีที่ได้พบท่านครั้งแรก เมื่อท่านโผล่หน้าต่างกุฏิชั้นบนออกมานั้น ท่านก็ร้องทักเรียกชื่อได้ถูกต้อง รวมทั้งท่านทราบด้วยว่าเป็นผู้แต่งหนังสือชื่อ “แว่นส่องจักรวาล” ท่านยังได้ให้คำแนะนำชี้แจงเกี่ยวกับความผิดพลาดในหนังสือนั้นอีกด้วย

ทำให้ พ.ต.อ.ชลอถึงกับพิศวงงงวย และบังเกิดความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าท่านธมฺมวิตกฺโกนี้จะต้องสำเร็จเป็นอรหันต์แน่ ๆ ท่านจึงหยั่งรู้เรื่องราวต่างๆ ได้ทั่วไปหมด

เคยมีคนไปเล่าให้ท่านฟัง ว่ามีคนเจ็บในโรงพยาบาล ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ นี้เอง เห็นท่านไปเยี่ยมเขาจนถึงเตียงคนไข้ ท่านฟังแล้วก็ยิ้ม ๆ พร้อมกับกล่าวว่า

ก“ระแสจิตนี้เปรียบเหมือนคลื่นวิทยุ ใครรับได้ก็อาจเห็นอาตมาได้

ท่านเคยพูดอยู่เสมอ ๆ ว่า ท่านได้แผ่เมตตาส่งกระแสจิต ออกไปอยู่เป็นประจำ ใครที่สามารถมี “เครื่องรับ” ตรงกัน ก็อาจเห็นท่านได้

เห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง จึงมีผู้เคยพบเห็นท่านถึงในสหรัฐอเมริกา ในสมรภูมิเวียดนาม เป็นที่โจษขานกันอยู่ทั่วไป

กับพระอาจารย์ทองเจือ ธมฺมธีโร วัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านก็เคยกล่าวว่าพระสงฆ์ที่ท่าน “สำเร็จ” แล้วนั้น กระแสจิตเหมือนกับคลื่นวิทยุหรือโทรทัศน์ อาจจะ “ส่ง” ไปยังที่ใด ๆ ก็ย่อมได้ทั้งสิ้น

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:08
ระเบิด 3 ลูก

คราวหนึ่งมีนักเรียนแพทย์ที่จบจากศิริราช จะออกไปเป็นแพทย์ฝึกหัดตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้มาขอโอวาทจากท่าน ขอให้ท่านกรุณาให้โอวาทด้วย เพราะจะออกไปปฏิบัติหน้าที่แล้ว

ท่านธมฺมวิตกฺโกได้ให้โอวาทว่า ถ้าจะมาขอโอวาทก็จะเตือนให้ระวังระเบิดสามลูก มีชื่อ ราคะ โทสะ และโมหะ ระเบิดสามลูกนี้ร้ายกาจมาก เป็นรากเง่าของความชั่วร้าย

เรื่องโทสะเห็นจะไม่มีใครชอบเพราะเป็นของร้อน และเห็น ได้ง่ายว่าเป็นทุกข์ แต่ราคะ และโมหะ ให้ระวังให้มาก เพราะมาในรูปของไฟเย็น ให้ความสุขได้ มองไม่ค่อยเห็นความทุกข์ และ ราคะนั้น เมื่อมีโมหะเข้าช่วยจะไปกันใหญ่ เพราะจะพากันหลงรัก หลงชัง

เมื่อท่านให้โอวาทจบได้ถามแพทย์ผู้หนึ่งว่าจะไปอยู่ไหน นายแพทย์ผู้นั้นตอบว่าไปอยู่โรงพยาบาลเชียงใหม่ ท่านธมฺมวิตกฺโก บอกว่าคุณต้องระวังให้มากนะ เพราะจะเดือดร้อนจากระเบิดสามลูกนี้โดยเฉพาะลูกที่มีชื่อ ราคะ

ภายหลังปรากฏว่า นายแพทย์ผู้นั้นเดือดร้อนสาหัสเหมือนที่ท่านธมฺมวิตกฺโกบอกไว้จริง ๆ และเดือดร้อนจากลูกที่มีชื่อราคะเสียด้วย

ปาฏิหาริย์

ท่านธมฺมวิตกฺโกไม่ได้สอนให้พุทธศาสนิกชนเชื่อถืออิทธิปาฏิหาริย์ แต่บุคคลส่วนมากก็เชื่อว่าท่านมีอิทธิปาฏิหาริย์มิใช่น้อย

เช่นเดียวกับ พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาของชาวพุทธทั้งหลาย พระองค์ไม่ทรงส่งเสริมให้สาวกแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ แต่พระองค์ก็ไม่ทรงปฏิเสธว่า การแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ตามโอกาสอันจำเป็น เป็นสิ่งไม่สมควรเสียเลย

ผู้ที่ศึกพาพระพุทธศาสนาอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว จะเห็น ได้ว่า พระศาสนานี้เผยแพร่อย่างกว้างขวางและยืนยงคงอยู่มาได้ ก็เพราะอิทธิปาฏิหาริย์ที่พระบรมศาสดาและสาวกของพระองค์แสดงตามโอกาส มีส่วนช่วยน้อมโน้มจิตใจของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาให้มาเลื่อมใส

การช่วยประชาชนให้ปลอดภัย บำรุงชาติให้พัฒนา และเผย แพร่พระศาสนา

ตัวอย่างเช่น ประชาชนมีกำลังใจเข้มแข็ง ต่อสู้ภยันตรายในการดำเนินชีวิต และในการผจญอริราชศัตรู

โรงเรียนขนาดใหญ่ได้อุบัติขึ้นมาช่วยเยาวชนเป็นอันมาก ให้พรั่งพร้อมไปด้วยวิชาภรณ์ อุโบสถสูงเด่นเป็นสง่า สัมฤทธิ์ขึ้นมาช่วยให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรมโดยสะดวก

และ ถาวรวัตถุอื่น ๆ อัน อำนวยประโยชน์แก่สาธารณชน ก็กำลังสำเร็จเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง นี้เพราะบารมีและอิทธานุภาพแห่งท่านธมฺมวิตกฺโก

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:08
แม้ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องพระมหาเถระที่ชื่อ พระโมคคัลลาน์ว่าเป็นผู้เลิศกว่าพระสงฆ์รูปอื่นในทางแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์

เพราะท่านสามารถน้อมนำบุคคลในศาสนาอื่นจำนวนมาก เข้ามาเป็นพุทธศาสนิกชน จนถึงขนาดเจ้าลัทธิอื่น ๆ เคียดแค้น ชิงชัง ริษยา ได้ว่าจ้างให้โจรไปดักปลงชีวิตท่านเสีย

เรื่องปาฏิหาริย์ไม่ว่าจะเป็น การดักใจเป็นอัศจรรย์ การสั่ง สอนเป็นอัศจรรย์ หรือการแสดงฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ ล้วนได้รับการรับรองว่ามีจริง แต่การสั่งสอน (คำสั่งสอน) เป็นอัศจรรย์ถือกัน ว่าเป็นปาฏิหาริย์ที่ดีที่สุด

พระพุทธศาสนานี้ ถึงจะไม่มีเรื่องปาฏิหาริย์เลย ก็สามารถเผยแพร่และมั่นคงอยู่ได้ เพราะเรื่องปาฏิหาริย์เป็นเพียงเปลือกนอกหรือกระพี้ของพระพุทธศาสนา

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีเหตุผลที่ผู้รู้อาจตรองตามให้ เห็นจริงได้ เป็นนิยยานิกธรรม นำผู้ปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ เป็นสุขได้

ผู้ฉลาดเมื่อปรารถนาแก่นไม้ ย่อมไม่เข้าใจผิดคิดว่าเปลือกนอกและกระพี้เป็นแก่น ย่อมผ่า กระเทาะเปลือกและกระพี้ออกจนถึงแก่น ฉันใด

ผู้ปรารถนาพุทธธรรมแท้ก็ เช่นเดียวกัน เมื่อมีพระปฏิบัติ มาคือรูปเปรียบของพระพุทธเจ้า แล้วไม่ควรติดอยู่แต่ความศักดิ์สิทธิ์

ต้องปฏิบัติธรรมบำเพ็ญความดีตามที่พระพุทธรูปองค์ทรงสั่งสอน จึงจะพบสัจจธรรมแท้

หรือเมื่อมีรูปเปรียบพระสงฆ์ ให้นึกถึงคุณของพระสงฆ์ ปฏิบัติตามแนวทางของท่านเว้น ทุจริตทั้งหลายจึงจะชื่อว่า มีพระเป็นที่พึ่งคุ้มครองป้องกันภัย

แม้พวกเราจะเลื่อมใสในปาฏิหาริย์ของท่านธมฺมวิตกฺโก เราก็ไม่ควรปลื้มจนลืมจริยธรรมของท่าน และถึงแม้ว่าท่านจะไม่มีปาฏิหาริย์ ปรากฏเป็นอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ

แต่ท่านก็คงเป็นอภิปูชนีย์ที่ควรเคารพนับถืออย่างแท้จริง สำหรับเราทั้งปวงอยู่นั่นเอง เพราะปฏิปทาของท่านย่อมสำคัญกว่าสิ่งอื่น

http://www.dharma-gateway.com/mo ... -nor-hist-08-02.htm

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:08
กายทิพย์

วันหนึ่งได้มีคุณหญิงผู้หนึ่งมาพบท่าน คุณหญิงผู้นี้เป็นนักวิปัสสนา ได้ไปนั่งวิปัสสนาอยู่ที่อยุธยา ขณะที่นั่งวิปัสสนานี้ไม่ก้าวหน้าทางวิปัสสนา การนั่งไปติดอยู่ ซึ่งเกิดจากอะไรผมก็ไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้ศึกษามาทางด้านนี้เลย

และปรากฏว่าคืนวันหนึ่ง ขณะที่ท่านนั่งทำสมาธิได้พบท่านธมฺมวิตกฺโก และท่านธมฺมวิตกฺโก ได้แนะนำเกี่ยวกับเรื่องการนั่งวิปัสสนา ทำให้คุณหญิงผู้นี้นั่งวิปัสสนาก้าวหน้าต่อไปได้

จึงมาหาท่านและมาขอบคุณที่กรุณาแนะนำ เรื่องนี้ท่านธมฺมวิตกฺโกไม่ตอบรับหรือปฏิเสธเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร ได้แต่รับฟัง และบอกว่าดีแล้วที่ก้าวหน้า และ สั่งว่าไม่ต้องมาหาอีก เพราะฝึกได้ก้าวหน้าและให้พรไป

วันหนึ่งขณะที่กำลังจะลงโบสถ์ตอนเย็น ได้มีชายคนหนึ่ง เข้าไปกราบท่านธมฺมวิตกฺโก ท่านได้หยุดทักทายแล้วก็ไปลงโบสถ์

เมื่อออกจากโบสถ์แล้ว ท่านได้เล่าว่าชายคนนั้นเคยบวชที่วัดเทพศิรินทร์ และได้รู้จักกับท่าน

หลังจากลาสิกขาไปแล้ว ได้ไปกับเพื่อนนายตำรวจไปตรวจดู ตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ถูกทำร้าย และถูกเชือดคอ ชายคนนั้นได้นึกถึงท่านธมฺมวิตกฺโก

เมื่อสิ้นสติก็มองเห็นท่านธมฺมวิตกฺโกมาประคองช่วยพยาบาลบาดแผลนั้น และไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด ท่านบอกว่า อาตมาไม่ได้ไปไหน อาตมาอยู่ที่วัด แต่เขามองเห็นธมฺมวิตกฺโกด้วยจิตของเขาเอง

มีนักเรียนที่จะไปศึกษาต่างประเทศมาหาท่านเพื่อขอพรมากมาย ซึ่งท่านก็ให้โอวาทให้พยายามเล่าเรียนแล้วรีบกลับมารับใช้ประเทศชาติ มีนักเรียนไทยคนหนึ่งลาไปเรียนที่อังกฤษ ท่านก็ให้พรไปเช่นทุกครั้ง

ภายหลังนักเรียนคนนี้ได้ไปเรียนต่อที่อเมริกาโดยเดินทางต่อไปจากอังกฤษเพียงคนเดียว

เมื่อไปถึงอเมริกาแล้วหาที่พักไม่ได้ เพราะไม่มีใครชอบคนผิวดำ แม้จะดำอย่างคนไทยก็ตาม ขณะที่เคว้งคว้างไม่ทราบจะทำอย่างไรนั้น นักเรียนไทยคนนั้น ได้นึกถึงท่านธมฺมวิตกฺโก ให้ช่วยหาที่พักให้ด้วยเพราะหมดสิ้นหนทางแล้ว

เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้วก็ เห็นท่านธมฺมวิตกฺโกมาหา และแนะนำให้ไปพักโดยบอกสถานที่ให้ เมื่อนักเรียนไทยไปตามนั้นแล้ว ก็ได้ที่พักอย่างสะดวกสบาย

ผมไม่ทราบว่าการเห็นของนักเรียนไทยคนนี้เห็นท่านด้วยตาของเขาเอง หรือเห็นท่านด้วยความรู้สึกนึกคิด แต่ที่น่าประหลาดคือเมื่อทำตามคำแนะนำ แล้วก็สำเร็จประโยชน์เป็นจริงทุกประการ

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:09
อรหันต์

ปัญหาที่มีคนถามด้วยความสงสัยเสมอ ๆ ก็คือ ปัญหาว่า ท่านธมฺมวิตกฺโก เป็นพระอรหันต์จริงหรือ และว่าท่านเป็นพระ อริยบุคคลชนไหนแน่ บางคนเชื่อว่าท่านต้องได้บรรลุธรรมขั้นสูงไม่น้อยกว่าขั้นอนาคามี เพราะท่านเคยปรารภว่า พระอนาคามีไม่มีน้ำอสุจิ

ตามหลักพระพุทธศาสนาถือว่า การที่บุคคลบรรลุธรรมอันเหนือโลก (โลกุตตรธรรม) ขั้นไหน ย่อมวัดกันด้วยการละกิเลส ๆ ในที่นี้ ท่านใช้ศัพท์ว่า สังโยชน์ ๆ มีอยู่ 10 อย่าง คือ

1. สักกายทิฏฐิ ความเห็นแก่ตัว ถือว่าร่างกายเป็นของของตน ด้วยอำนาจอุปทาน

2. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยไม่มั่นใจในการกระทำความดีและเว้นความชั่ว

3. ลีลัพพตปรามาส การถือผิดคิดว่าการรักษาศีลบำเพ็ญพรต ไม่ใช่เพื่อกำจัดกิเลส

4. กามราคะ ความติดอยู่ในกาม คือรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (กามคุณ 5)

5. ปฏิฆะ ความรู้สึกไม่พอใจ ขุ่นเคืองต่าง ๆ

6. รูปราคะ ความรักใคร่ ความพอใจ ในสุขอันเกิดจากรูปสมาบัติ

7. อรูปราคะ ความพอใจ ติดใจในสุขอันเกิดจากอรูปสมาบัติ

8. มานะ ความรู้สึกสำคัญตัวว่าเป็นต่าง ๆ เช่นรู้สึกว่าตนเลวกว่า แล้วเกิดความน้อยใจ รู้สึกว่าตนดีกว่า แล้วทะนงหยิ่ง หวั่นไหว อยู่เสมอ

9. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ไม่สงบนิ่ง ยังอยากมี อยากเป็น อยากพ้น เมื่อประสบเหตุการณ์ ต่าง ๆ ยังมีวิตกกังวลระแวงอยู่

10. อวิชชา ความไม่รู้ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อ ปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ผู้ได้ชื่อว่า พระโสดาบัน เพราะละกิเลส (สังโยชน์) 3 ข้อแรกเสียได้ ท่านเป็นผู้เข้าถึงกระแสพระนิพพาน

ผู้ได้ชื่อว่า พระสกิทาคามี เพราะละกิเลส 3 ข้อแรก และ บรรเทา โลภะ โทสะ โมหะเสีย

ผู้ได้ชื่อว่า พระอนาคามี เพราะละกิเลส 5 ข้อแรกเสียได้ ท่านจะไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก

ผู้ได้ชื่อว่า พระอรหันต์ เพราะละกิเลสทั้ง 10 ข้อเสียได้ ท่านจะไม่เกิดอีกชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายสำหรับท่าน

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:09
ท่านธมฺมวิตกฺโก ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ เพื่อดับกิเลส เพื่อขจัดทุกข์ด้วยน้ำใจที่เด็ดเดี่ยวหาผู้เสมอเหมือนได้ยากในยุคนี้.

ท่านไม่ติดอยู่ในโลกวิสัย ไม่ปรารถนาอามิสลาภผลใด ๆ นอกจากปัจจัย 4 ซึ่งท่านได้พิจารณาแล้วบริโภคใช้สอย เพียงเพื่อให้ร่างกายเป็นอยู่ สามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้เท่านั้น

เข้าในลักษณะพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเครื่องออกจากทุกข์ ปฏิบัติสมควรแล้ว เป็นเนื้อนาบุญของโลก

เมื่อความจริงปรากฏอยู่เช่นนี้ ไม่ควรให้มีปัญหาว่าท่านธมฺมวิตกฺโก บรรลุธรรมขั้นไหน หรือเท็จจริงอย่างใด เพราะท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ยิ่งตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว

เราจะรู้สึกซึ้งยิ่งไปกว่านี้ทำไม และจะรู้ได้อย่างไร ในเมื่อ เราอยู่คนละโลก ความจริง ท่านอยู่ในโลกที่เหนือโลก คือโลกุตตรธรรม ส่วนปุถุชนธรรมดา อยู่ในชั้นโลกียวิสัย ซึ่งห่างไกลกันเหลือเกินเมื่อเทียบกันด้วยระดับจิตใจ

ความจริง การที่เราจะรู้ซึ้งถึงจิตใจของท่านผู้บรรลุธรรมชั้นสูงได้นั้น เราจะต้องยกระดับจิตใจของเราให้เท่าถึงท่านเสียก่อน มิเช่นนั้นจะรู้ไม่ถูกต้อง มีพระภิกษุบวชใหม่รูปหนึ่ง เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจขวนขวาย ศึกษาธรรม และพยายามจะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

ท่านธมฺมวิตกฺโกเห็นอุปนิสัย เช่นนี้จึงได้ชักชวนให้พระภิกษุรูปนั้นบวชต่อไป การชักชวนของ ท่านธมฺมวิตกฺโกนี้เป็นการชักชวนอย่างจริงจัง พร้อมทั้งแนะนำปฏิบัติให้อีกด้วย แต่พระภิกษุรูปนั้นก็ยังไม่รับคำ

จนกระทั่งออกพรรษา ท่านธมฺมวิตกฺโก ได้บอกกับพระภิกษุ รูปนั้นว่า “คุณมีอุปนิสัย เพราะคุณเรียฉธรรมได้ง่าย นี่แสดงว่าคุณบวชแล้วหลายชาติ และคุณก็สึกทุกที ชาตินี้คุณไม่สึกไม่ได้หรือ”

พระภิกษุรูปนั้นได้ตอบว่า “ผมนังมีวิจิกิจฉา ยังสงสัยทุกเรื่อง ยังไม่มั่นใจว่าอะไรคืออะไรเป็นที่แน่นอน คิดเอาเองว่าจะสิ้นสงสัยได้ต้องอธิษฐานขอเป็นพระพุทธเจ้าเอง เพราะเท่าที่ทราบมา พระอรหันต์ระลึกชาติได้เพียงกัปป์เดียวคงไม่สิ้นสงสัย”

ท่านธมฺมวิตกฺโกบอกว่า “คุณคิดเหมือนคุณเสถียร โพธินันทะ คุณเสถียรบอกกับอาตมาว่า อยากจะเป็นพระพุทธเจ้า

อาตมาเห็นเป็นเรื่องเหลว ไหล เกิดมาพบพระพุทธเจ้าแล้ว ได้เรียนธรรมชองท่านแล้ว จะอยากไปเป็นพระพุทธเจ้าอีก ต้องทรมานต่อไปอีกด้วยเหตุผลอะไรกัน

แล้วที่คุณว่าเป็นพระอรหันต์ไม่สิ้นสงสัยนั้น คุณทราบแล้วหรือว่าพระอรหันต์เป็นอย่าง ไร เป็นเรื่องรู้ก่อนเกิด เหลวไหล”

แล้วท่านธมฺมวิตกฺโกได้ กล่าวต่อไปว่า “สำหรับอาตมานั้น ต้องการให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย อาตมาไม่อยากจะเกิดอีก อาตมามั่นใจว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย”

ไม่ทราบว่าความหวังของ ท่านบรรลุผลหรือไม่ และท่านเป็นพระอรหันต์จริงหรือไม่ ใครเล่าจะมีคุณธรรมพอจะไปหยั่งรู้ได้ เพราะผู้นั้นจะต้องเป็นพระอรหันต์เช่นกัน

และที่ท่านธมฺมวิตกฺโก บอกว่าต้องการให้เป็นชาติสุดท้ายนั้น ก็มีความหมายได้สองนัย กล่าวคือเป็นชาติสุดท้ายจริง ๆ เพราะต้องนิพพานแน่

หรืออีกนัยหนึ่งเป็นชาติสุดท้ายของการเป็นมนุษย์ แล้วไปบังเกิดในภพอื่น ไปนิพพานในภพอื่น ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงการเดาเท่านั้น

ถ้าพวกเราเข้าใจว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลจริง ๆ จะเป็น พระอริยบุคคลชั้นใดก็ตาม เราท่านทั้งหลายก็ไม่อาจจะหยั่งถึงความเป็นไปหรือความคิดของพระอริยบุคคลได้ คงได้แต่ตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้ท่านได้สมปรารถนาในเจตนาของท่านอย่างบริบูรณ์

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:09
ปริยัติคู่ปฏิบัติ

[attach]3303[/attach]

ในพระพุทธศาสนาของเรานั้น มีพระสงฆ์อยู่สองฝ่าย คือ

1. ฝ่ายบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ คือผู้หลีกเร้นบำเพ็ญเพียรทางใจ

2. ฝ่ายบำเพ็ญคันถธุระ คือ ผู้ศึกษาเล่าเรียนและสร้างสรรค์ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างต้องอาศัยกันเสมอ มิเช่นนั้น พระพุทธศาสนาจะอยู่ไม่ได้นาน ถ้าจะเปรียบพระพุทธศาสนาเป็นนกอินทรีมีปีก 2 ข้าง

พระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ เป็นปีกขวา พระสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ ก็เป็นปีกซ้าย นกอินทรี คือพระพุทธศาสนา จะบินไปได้ไกลและนานก็เพราะมีปีก 2 ข้าง

ท่านธมฺมวิตกฺโก คงจะเห็นการณ์ไกลเช่นนี้ เมื่อท่านเป็นปีก ขวาของพระพุทธศาสนา ท่านก็ต้องอาศัยปีกซ้ายคือฝ่ายคันถธุระ หากมิเป็นเช่นนั้น ท่านจะอยู่ที่ไหน ท่านจะเรียนรู้ปริยัติธรรมจากใครได้

ในประวัติชีวิตของท่าน ผู้ใกล้ชิดจริง ๆ จึงจะรู้ว่าท่านไม่เคยยกตนข่มใคร มองแง่นี้ ย่อมเห็นศีลธรรมอันประเสริฐในท่านธมฺมวิตกฺโก

เฉพาะในวัดเทพศิรินทร์ ถ้าจะหาพระสงฆ์ผู้เป็นปีกซ้ายแห่งพระพุทธศาสนาในทางศึกษาเล่าเรียน รู้สึกจะมีมากท่าน แต่ถ้าจะว่าในทางการสร้างสรรค์ถาวรวัตถุต่าง ๆ กันแล้ว ไม่พ้นต้องยกให้ท่านเจ้าคุณพระอุดมสารโสภณเป็นแน่ ทั้งนี้เพราะผลงานเป็นที่ปรากฏ

ท่านธมฺมวิตกฺโก คงจะเห็นความสำคัญในการสร้างสถาบัน ทั้งของชาติและศาสนาอยู่ไม่น้อย แต่ก็ต้องมาย่อมทำเมื่อเห็นประโยชน์อย่างกว้างขวางและเห็นความตั้งใจจริงของท่านเจ้าคุณพระอุดมสารโสภณ ในการสร้างโบสถ์ สร้างโรงเรียนและอื่น ๆ

ที่เขียนข้อนี้ ก็เพื่อจะฝากข้อ คิดว่าปริยัติธรรม มีอยู่คู่ ปฏิบิต ธรรม จึงจะเกิดผลเป็น ปฏิเวธธรรม คือ ความดับทุกข์

ผู้ที่ยกย่องปฏิบัติธรรมหรือ เรื่องการบำเพ็ญเพียรทางจิต (สมถวิปัสสนา) ไม่ควรยกไปข่ม ปริยัติธรรมหรือเรื่องการบำเพ็ญ คันถธุระ เพราะถ้าไม่มีการศึกษาเล่าเรียนเผยแพร่ให้กว้างขวาง เราก็คงไม่ได้เห็นพระพุทธศาสนา พร้อมทั้ง พระสงฆ์

ตั้งแต่ท่านธมฺมวิตกฺโก อุปสมบทมา ไม่เคยปรากฏว่าท่าน เทศน์ที่ไหน แม้ข้อเตือนใจของ ท่านก็มีสั้น ๆ แต่ท่านฟังเทศน์ที่พระเถรรูปอื่นเทศน์ในพระอุโบสถ์โดยความเคารพอย่างสูงยิ่งทุกครั้ง นี้เป็นข้อคิดที่ดี

เพื่อให้เราเคารพธรรมอย่างสูง ไม่ควรเลือกว่าใครพูด ใครแสดง ถ้าเป็นธรรมประกอบด้วยเหตุผลของท่านผู้รู้ (พระพุทธเจ้า) แล้ว ประเสริฐทั้งนั้น

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:10
ยอดพหูสูต

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ท่านธมฺมวิตกฺโกนั้นทรงไว้ซึ่ง ความเป็นพหูสูตอย่างแท้จริง ด้วยท่านขยันศึกษาเล่าเรียน เพียรค้นคว้าหาความรู้ในวิทยาการสาขาต่าง ๆ อย่างไม่มีวันหยุดยั้ง ตั้งแต่ยังเป็นฆราวาสวัยหนุ่มมาแล้ว

นิสัยที่ทำอะไรทำจริงไม่ เหลาะแหละหยิบโหย่ง จะศึกษา เรื่องอะไรก็ทุ่มเทจนสุดกำลังจน ดูจะเป็นคนเก่งรอบด้านไปหมด

เช่นเก่งทางหมอนวด ชำนาญการหมอดู ไม่ว่าดูลายมือ หรือดูสักษณะบุคคล เก่งทางกายกรรม แม้กระทั่งวิชาหมัดมวย วิชาการแพทย์ขั้นต้น ฯลฯ ดูท่านรอบรู้สารพัดไปหมด

ท่านใส่ใจศึกษาทั้งจากตำราและจากภาคปฏิบัติ จากท่านผู้ทรงคุณความรู้อย่างแท้จริง และศึกษาจากของจริงเป็นอันมากอีกด้วย เช่นเรียนการผ่าตัดศพกับพระยาดำรงแพทยาคุณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในอดีต เพื่อศึกษาเส้นสายในร่างกายมนุษย์แล้วนำไปใช้เพื่อถวายการนวดแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

ท่านได้สั่งซื้อตำรับตำรามาจากต่างประเทศเพื่อใช้ศึกษา ค้นคว้าเป็นอันมาก แม้เมื่อบวชแล้วก็ยังสั่งเข้ามาอีกหลายสิบเล่ม บางเล่มท่านยังได้อุตสาหะแปลออกเป็นภาษาไทยไว้ด้วย

เช่นเรื่อง “วิทยาศาสตร์แห่งการหายใจ” หนาหลายสิบหน้ากระดาษอยู่เหมือนกัน ค้นพบต้นฉบับเมื่อท่านได้มรณภาพไปแล้วยังไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน

บางคนที่คุยกับท่านแล้วจะ รู้สึกพิศวงงงงวยในความรอบรู้ของท่าน แม้ในเหตุการณ์บ้านเมืองทั้งภายในภายนอกประเทศ รู้อย่างละเอียดลออจนน่าประหลาดใจ รู้กระทั่งสรีระร่างกายมนุษย์ เช่นลำไส้ยาวเท่าใด ฯลฯ ทำให้ผู้ที่ได้พบได้ฟังอัศจรรย์ใจไปตาม ๆ กัน

ท่านชอบอ่านหนังสือพิมพ์ที่เป็นสาระเป็นอันมากและอ่านอยู่เสมอ ผู้ที่ทำงานหรืออยู่ใกล้ชิด บริเวณกุฏิท่านจะเคยเห็นท่านยืน อ่านหนังสือพิมพ์ที่ริมหน้าต่าง โดยหันหลังออกอยู่เสมอ เป็นเวลาครั้งละนาน ๆ โดยให้ทางบ้านจัดส่งไปให้เป็นประจำ เมื่ออ่านจบแล้วท่านก็ส่งคืน

หนังสือพิมพ์ที่ท่านอ่านเป็นประจำในสมัยก่อนก็คือ “ศรีกรุง” ซึ่งเป็น น.ส.พ.ชั้นนำสมัย เมื่อ 40 ที่มาแล้ว ระยะหลัง ๆ นี้ น.ส.พ. ที่ท่านอ่านอยู่เสมอก็คือ “สยามรัฐ”

ชายคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า พอรู้ข่าวเกิดปฏิวัติเจ้าสีหนุในเขมร โดยจอมพลลอนนอลเมื่อปี 2513 ก็เอาไปเล่าให้ท่านฟัง

กลับปรากฏว่าท่านรู้ดีกว่า และเล่าให้ฟังมากกว่าเสียอีก ทั้ง ท่านยังได้วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเจ้าสีหนุให้ฟังเป็นคุ้งเป็นแควอีกด้วย

บุคคลสำคัญในบ้านเมืองเรานี้ ใครดีใครชั่ว ใครโกงใครกิน บ้าง ก็ดูท่านรู้ไปหมด และท่านบอกไว้ว่า ผ้ทุจริตคิดมิชอบเหล่านี้จะไม่มีอายุยืนยาวเลย

“ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองมีศีลธรรม บ้านเมืองก็จะมีความสงบ สุข ประชาชนจะไม่เดือดร้อน” ท่านเคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่ง

ความรอบรู้ใด ๆ ก็ตามจะดูไม่เป็นที่ประหลาดใจเลยถ้าหากแต่ละคนจะตั้งหน้าศึกษาด้วยความเพียรและเอาใจใส่อย่างแท้จริง บ้าง

แต่ความรอบรู้อีกทางหนึ่ง ที่ท่านธมฺมวิตกฺโกมีอยู่อย่างน่ามหัศจรรย์ยิ่งก็คือ

เหตุการณ์ต่าง ๆ ในสมัยพุทธกาล ย้อนหลังไปกว่า 2,500 ปี ซึ่งไม่มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ใดๆ แต่ท่านสามารถล่วงรู้และเล่ารายละเอียดปลีกย่อยให้ฟังได้ราวกับตาเห็น

จนมีผู้กล่าวกันว่า ท่านล่วง รู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนกระทั่งถึงเหตุการณ์ปัจจุบัน

จะว่าท่านปั้นเรื่องราวขึ้นมาเอง ก็ไม่มีทางเป็นไปได้โดยเด็ดขาด เพราะท่านเคร่งครัดต่อการปฏิบัติอย่างยิ่งยวดซึ่งใคร ๆ ก็ย่อมรู้อยู่

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:10
ตัวอย่างเช่น คราวหนึ่งท่าน ได้เล่าเรื่องราวตอนพระพุทธองค์ ทรงบำเพ็ญเพียรก่อนตรัสรู้ให้ พ.อ.จิตต์ ธนะโชติ อดีตรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีฟัง เมื่อปลายปี พ.ศ. 2513 ปรากฏตามข้อเขียนที่ พ.อ.จิตได้บันทึกไว้เองตอนหนึ่งดังนี้

“.....แล้วท่านก็เล่าอย่างกับให้เห็นภาพอยู่ตรงหน้าในขณะ นั้น สมัยสมเด็จพระสัมมาพุทธ เจ้าทรงกระทำความเพียร เพื่อตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐยิ่งนั้น ที่บำเพ็ญธรรมก็เป็นป่าเขาและเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ร้าย นานาชนิด”

“แต่พระองค์ท่านก็ทรงดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการแผ่เมตตา อันเปรียบเหมือนพระมหามงคลที่คุ้มภัยได้ทุกประการ บางครั้งฝนตกปรอย ๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเอาจีวรมาคลุมพระเศียรไว้”

“เสือสิงห์เดินผ่านเข้ามาใกล้ มายืนดมที่พระเศียร ร้อง โฮกปี้บ ๆ แล้ว......”

เป็นที่น่าเสียดายที่ พ.อ.จิตต์ ธนะโชติ บันทึกไว้ได้เพียงนี้ก็ ต้องเจ็บหนักจนถึงแก่กรรมไปก่อน แต่ก็พอเป็นพยานยืนยันถึงความสามารถล่วงรู้เหตุการณ์ในอดีตแต่ครั้งสมัยพุทธกาล ของท่านธมฺมวิตกฺโกได้เป็นอย่างดีพอสมควร

อีกคราวหนึ่งราวปี 2512- 2513 นายแพทย์สุพจน์ ศิริรัตน์ พร้อมด้วยคุณลุงแก้ว ศิริรัตน์ บิดาได้นำน้ำผึ้งไปถวายท่าน ท่านได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ พุทธประวัติ ตอนกำเนิดพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ อันเป็นเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองโกสัมพี แล้วบรรดาพระภิกษุสงฆ์สาวกเกิดแตกสามัคคี ก่อการวิวาทกัน

แม้สมเด็จพระบรมศาสดาจะพร่ำสอนสักเท่าใด ๆ พระสงฆ์เหล่านั้นก็ยังไม่ยอมปรองดองกันได้ พระพุทธองค์จึงทรงปลีกพระองค์เสด็จออกไปอยู่ในป่าตามลำพัง

จนได้มีพญาช้างเชือกหนึ่ง และพญาลิงตัวหนึ่งเข้าไปตั้งหน้า ปรนนิบัติรับใช้พระพุทธองค์เป็นอันดี โดยพญาวานรได้คิดอ่านไปจัดหารวงผึ้งมาถวายให้เสวย ฯลฯ   

เรื่องราวต่าง ๆ อันปรากฏตามที่ท่านเล่าในวันนั้นผิดแปลก แตกต่างไปจากที่เคยได้ยินได้ฟังมา หรือที่ได้เคยอ่านผ่านสายตามา โดยมีรายละเอียดปลีกย่อย พิสดารน่าฟังยิ่ง

โดยเฉพาะคุณลุงแก้วนั้น ในอดีตเคยเป็นพระครู เคยเป็นเจ้าอาวาสมาแล้ว อายุอานามก็น้องๆ ท่านธมฺมวิตกฺโก

ได้เล่าเรียนได้รับฟังจากที่ต่าง ๆ มาเป็นอันมาก ทั้งอ่านมาก ฟังมากและคิดว่าก็รู้มากมาพอควร ทั้งจากพุทธประวัติและอนุพุทธประวัติ

ก็ไม่เคยได้พบได้ฟังเรื่องราวรายละเอียดอย่างน่าพิศวงอย่างนี้ จึงเฝ้าตั้งหน้าซักถามเรื่องราวต่าง ๆ จากท่านเพิ่มเติมอยู่นาน ก็ปรากฏว่าไม่อาจที่ จะ “ไล่” ท่านให้ “จน” ได้สักที

นับเป็นเรื่องที่น่าประหลาดมากจริง ๆ

จึงเชื่อกันว่าเรื่องอย่างนี้จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นการหยั่งรู้ด้วยญาณของท่านธมฺมวิตกฺโกนั่นเอง

สมแล้วที่กล่าวกันว่าท่าน ธมฺมวิตกฺโกเป็นยอดพหูสูตในยุคนี้

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:10
ตาทิพย์

ในพรรษาหนึ่ง มีพระภิกษุใหม่มาบวชจำพรรษาอยู่ที่กุฏิติดกับกุฏิท่าน กุฏิดังกล่าวนี้มีข้างฝาเป็นคอนกรีตไม่สามารถจะมองเห็น กันได้

วันหนึ่งได้มีเพื่อนมาเยี่ยม พระภิกษุใหม่นี้จะด้วยเหตุใดไม่ทราบ พระภิกษุใหม่ได้หยิบไวโอลินขึ้นมาทำท่าจะสี

ท่านธมฺมวิตกฺโก ซึ่งปกติปิดกุฏิของท่านเสมอได้เปิดหน้าต่างออกมา และได้บอกกับเพื่อนของพระภิกษุใหม่ที่นั่งอยู่หน้ากุฏิว่า “ไปบอกเพื่อนคุณว่า ที่ถืออยู่ในมือให้วางลงเสีย เดี๋ยวจะผิดศีล”

การที่ท่านบอกเช่นนี้ ทำให้ทุกคนในที่นั้นอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ทราบว่าท่านเห็นได้อย่างไร โดยปกติแล้วจะไม่มีทางมองทะลุฝามาได้ เว้นแต่จะมีทิพยจักษุมองผ่านมาได้เท่านั้น

อีกประการหนึ่งพระภิกษุใหม่รูปนั้นก็ยังไม่ได้สี จะว่าท่านทราบเพราะได้ยินเสียงก็ไม่ได้ เป็นเรื่องอัศจรรย์โดยแท้

อีกเรื่องหนึ่ง เหตุเกิดเมื่อ ระหว่างปี 2503-2504 นายพิทักษ์ พยุงธรรม หลานชายท่านเจ้าคุณธรรมธัชมุนี เลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้นยังมีสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี นายพิทักษ์ พยุงธรรม เวลานั้นกำลังเรียนหนังสืออยู่ชั้น ม.ศ.3 ของโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ โดยปกติเป็นเด็กแก่นเอาการอยู่

ค่ำวันหนึ่งในระหว่างเวลาดังกล่าว ที่หน้ากุฏิท่านเจ้าคุณธรรมธัชมุนี ซึ่งอยู่ห่างจากท่านธมฺมวิตกฺโกไกลโขพอดู ไม่มีทางที่จะได้ยินการสนทนาใด ๆ ถึงกันอย่างปกติธรรมดาได้เลย

วันนั้นนายพิทักษ์ได้ตั้งวงนินทาท่านธมฺมวิตกฺโกกับหมู่บรรดาเพื่อนฝูงศิษย์วัดด้วยกัน ซึ่งเป็นคำกล่าวหานินทาที่ออกจะฉกรรจ์อยู่

“กูว่าพระองค์นี้บ้าแน่ ๆ ว่ะ......” เขาเอ่ยขึ้น

แล้วเขาก็เล่าต่อไปว่า ท่านธมฺมวิตกฺโกได้ถ่ายปัสสาวะใส่ตุ่มไว้ แล้วท่านก็เอามาอาบเพื่อใช้เป็นยารักษาโรค หรือแก้ “เคล็ด” ทางไสยศาสตร์บางอย่าง ซึ่งตัวเขาไม่อาจจะทราบได้แน่

สภาพการณ์ความเป็นไปในวัดเทพศิรินทร์ขณะนั้นก็ชวนให้น่าเชื่อตามคำกล่าวหาของนายพิทักษ์อยู่ เพราะขณะนั้นน้ำประปาในวัดขัดข้อง เกิดขาดแคลน ไม่มีน้ำใช้อาบกินอย่างปกติธรรมดาได้ แต่ท่านธมวิตกโกกลับมีน้ำสรงอาบได้เช่นปกติ

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:11
บรรดาเพื่อนฝูงของนายพิทักษ์จึงเชื่อตามคำบอกเล่ากล่าวหาโดยสนิทใจว่า ท่านธมฺมวิตกฺโกจะต้องมีจริตไม่ปกติเป็นแน่ ถึงกับปัสสาวะของท่านเองมาสรงต่างน้ำ

พอวันรุ่งขึ้น เข้าใจว่าตอนสาย นายพิทักษ์มีเหตจะต้องเดินผ่านไปทางกฏิท่าน เพื่อไปโรงเรียนตามปกติ

ทันทีที่ท่านเห็นหน้านายพิทักษ์ ท่านก็กวักมือเรียกให้เข้าไปหาท่าน ท่านพาเข้าไปในกุฏิ ให้นั่งลง แล้วท่านก็กล่าวขึ้นว่า

“ที่เธอนินทาฉันเมื่อคืนนี้น่ะ ไม่จริงหรอกนะ เธอเข้าใจฉันผิด ฉันไม่ได้ทำอย่างนั้น.....”

ทำเอานายพิทักษ์ พยุงธรรมถึงกับสะดุ้ง และงุนงงอย่างที่สุด จนด้วยเกล้าจริง ๆ ไม่รู้ว่าท่านทราบเรื่องได้อย่างไร

จากนั้นท่านก็สั่งสอนหลักธรรมที่มีคติเตือนใจหลายประการ เสร็จแล้วจึงให้เขากลับออกมา

นับแต่วันนั้นมานายพิทักษ์ พยุงธรรม ก็บังเกิดความกลัวเกรงในท่านธมฺมวิตกฺโกเป็นที่สุด เพราะตั้งแต่เกิดมาก็เพิ่งเจออภินิหารพระดี แสดงทีเด็ดให้เขาต้องเข็ดขยาดหลาบจำเป็นครั้งแรกนี่แหละ ทำให้เขาไม่กล้าจาบจ้วงล่วงเกินใด ๆ ต่อท่านธมฺมวิตกฺโกตลอดไปจนชั่วชีวิตเลยทีเดียว

“พระองค์นี้เอ็งอย่าไปทำเล่น ๆ กับท่านนะ....”

เขาเตือนเพื่อนฝูงเช่นนี้อยู่เสมอ และทุกครั้งที่เล่าเรื่องนี้ นายพิทักษ์จะมีอาการขนลุกขนพองอย่างเห็นได้ชัด

เขาเชื่อตลอดมาว่าท่านธมฺมวิตกฺโกนี้ ต้องมีหูทิพย์หรือตาทิพย์อย่างเด็ดขาด จึงสามารถล่วงรู้คำนินทากล่าวหาของเขาในครั้ง นั้นได้

จากพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว และประสบการณ์ต่าง ๆ จากที่อื่นอีกหลายครั้งหลายบุคคล จึงทำให้เชื่อแน่ว่าท่านธมฺมวิตกฺโกนี้จะต้องมีญาณวิเศษ มีทิพยจักขุญาณหรือทิพยโสต สามารถหยั่งรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ หมดสิ้น

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:11
รู้ปัจจุบัน

วันหนึ่งมีพระภิกษุรูปหนึ่ง ได้มาเคาะประตูห้องท่านธมฺมวิตกฺโก ทางประตูหลังและตะโกนเรียกท่านว่า“ ท่านครับ ท่านครับ” ขณะนั้นเป็นเวลาเกือบจะเพลแล้ว

พระภิกษุที่อยู่ใกล้กันได้ออกมาดูและบอกพระรูปนั้นว่า “นี่เป็นประตูหลังถ้าอยากจะพบ ต้องไปประตูด้านหน้า

แต่พระภิกษุรูปนั้นไม่ฟัง พอดีมีชายหญิงมีอายุสองคนเดิน ตามพระภิกษุรูปนั้นมาด้วย ท่านจึงได้บอกว่า ให้นำพระรูปนั้นไปด้านหน้า ชายมีอายุนั้นจึงเข้าจับแขนพระภิกษุรูปนั้นดึงออกมา เพื่อไปด้านหน้า

พอเดินมาถึง ปรากฏว่า ท่านธมฺมวิตกฺโกซึ่งปกติไม่รับแขก ไม่เปิดกุฏิ ได้เปิดประตูหน้า และยืนคอยอยู่ พอพระภิกษุรูปนั้นเห็นก็เข้าไปกราบและพูดจาฟังไม่ได้ศัพท์เสียงอย่างคนจะร้องไห้

ชายหญิงที่มาด้วยจึงได้เล่าให้พระภิกษุที่อยู่กุฏิใกล้กับท่านธมฺมวิตกฺโกฟังว่า พระภิกษุรูปนั้นเป็นพระลูกชายอยู่กาญจนบุรี เมื่อบวชแล้วก็ฝึกกรรมฐาน จะด้วยเหตุใดไม่ทราบ เกิดเสียสติจนคลุ้มคลั่งบางวันต้องล่ามเอาไว้

มาสองวันนี้รบเร้าจะไปหาพระที่วัดเทพศิรินทร์ ทั้งที่พระลูกชายไม่เคยมากรุงเทพฯ และไม่รู้จักพระที่วัดเทพศิรินทร์เลย เมื่อถูกรบเร้าก็เลยพามา

พอมาถึงลงจากรถก็เดินมา ที่กุฏิท่านธมฺมวิตกฺโก โดยไม่มี ใครบอกและไม่เคยมา เมื่อพระ ภิกษุรูปนั้นมากราบท่านธมฺมวิตกฺโก ท่านก็บอกว่าไม่เป็น อะไรให้กลับไปวัดแล้วจะหาย สักครู่พระองค์นั้นก็สงบลงและยอมกลับ

ประมาณครึ่งเดือน พระภิกษุรูปนั้นได้กลับมาหาท่านอีกครั้ง คราวนี้สงบเสงี่ยมเรียบร้อย ได้มาเรียนท่านว่าหายเป็นปกติดีแล้ว

ท่านธมฺมวิตกฺโกได้ถามว่า แล้วจะสึกหรือไม่ พระภิกษุรูปนั้นตอบว่า ถ้าสบายดีก็ไม่สึก ท่านจึงให้พระกลับไปและบอกว่า สบายดีแล้ว ไม่ต้องมาหาอีก

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:11
รู้อนาคต

ก่อนที่ประเทศเขมรจะมีการปฏิวัติขับไล่เจ้านโรดมสีหนุนั้น ผมได้พบท่านธมฺมวิตกฺโก หลังจากได้สนทนากันในเรื่องอื่น ๆ แล้ว ท่านได้ปรารภถึงบ้าน เมืองว่าต่อไปนี้คนจนจะยิ่งลำบากมากขึ้น

และได้ถามผมว่า รู้ไหมที่เขมรน่ะเขาจะปฏิวัติกันวันสองวันนี้แล้วนะ ผมได้เรียนท่านว่า ผมไม่เคยทราบเรื่องนี้เลย เพราะไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านี้

หลังจากนั้นประมาณ 2-3 วัน หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวว่า ประเทศเขมรเกิดการปฏิวัติขึ้น จริง ๆ

นอกจากนี้แล้วท่านธมฺมวิตกฺโกบอกว่าสงครามโลกเกิดขึ้นทางยุโรปก่อนมา 2 ครั้งแล้ว แต่สงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดทางเอเชีย ท่านบอกว่าตอนที่สงครามเกิด สังขารของธมฺมวิตกฺโกคงไม่มีแล้ว

ก็เป็นเรื่องที่เราจะคอยดูกันต่อไป ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ ที่ว่าเอเชียจะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 3 ส่วนสังขารของท่าน ธมฺมวิตกฺโกก็ไม่มีแล้ว

น้ำมนต์

การรดน้ำมนต์ของท่านธมฺมวิตกฺโก เท่าที่เคยทราบมา ปรากฏว่าไม่เหมือนใคร ไม่มีใครเหมือน ไม่เคยได้ยินได้ฟังว่า เคยมีพระอาจารย์องค์ใดปฏิบัติดังที่ท่านเคยได้กระทำมา

ปกติการรดน้ำมนต์โดยทั่วๆ ไปนั้น จะต้องมีการตักน้ำใส่บาตร ใส่ขันใหญ่หรือบางแห่งก็ใช้ถัง เอาไปตั้งหน้าพระอาจารย์ มีการจุดเทียนบริกรรมหยดน้ำตาเทียนลงไปในน้ำด้วย พอเสร็จจะมีการรด

ผู้ที่จะรดต้องผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า เช่นผู้ชายก็นิยมนุ่งผ้าขาวม้า ผู้หญิงนุ่งผ้ากระโจมอก ออกไปนั่งพ้นชายคา ให้พระอาจารย์ท่านรดน้ำมนต์ให้จนร่างกายเปียกโชกไปหมด จึงจะเรียกกันว่า รดน้ำมนต์

แต่วิธีการรดน้ำมนต์ของ ท่านธมฺมวิตกฺโก ไม่ซ้ำแบบใคร

โดยผู้ที่ประสงค์จะให้ท่านรดน้ำมนต์ต้องเอาแก้วหรือปกติเคยมีถ้วยพลาสติกใบหนึ่ง ประจำอยู่ที่ตุ่มน้ำมนต์ ไปตักน้ำมนต์จากตุ่มลายมังกรที่ตั้งอยู่หน้ารูปหล่อของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของพระประธานในพระอุโบสถแล้วเอามาประเคนถวายท่าน ท่านจะบริกรรมอธิษฐานจิตด้วยพระคาถาต่อไปนี้ 1 จบ

“สิทฺธมตฺถุ สิทฺธิมตฺถุ สิทฺธิมตฺถุ อิทํพลํเอตสฺมึ รตนตฺตยสฺมึ สมฺปสาทนเจตโส”

เสร็จแล้ว ท่านจะเรียกให้เข้าไปนั่งคุกเข่าพนมมือ อ้าปากอยู่ตรงหน้าท่าน จากนั้นท่านก็จะเทน้ำมนต์กรอกใส่ปากเลย ซึ่งปรากฏว่าท่านกรอกได้แม่นยำมาก ไม่เคยมีน้ำมนต์หกเรี่ยราด พลาดจากปากใครได้เลย

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:12
หากมีคนเข้าไปขอรดน้ำมนต์จากท่านเป็นหมู่จำนวนหลายคนด้วยกันแล้ว ท่านจะ เรียกผู้ที่มีอาวุโสสูงสุด เข้าไปรดก่อน แล้วคนอื่นจึงค่อยตามกันเข้าไปเป็นลำดับ เมื่อน้ำมนต์หมดก็ไปตักแก้วใหม่ มาถวายให้ท่านอธิษฐานจิตใหม่ ใช้รดคนต่อ ๆ ไป จนหมด

พ.อ.จิตต์ ธนะโชติ อดีตรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ระหว่างที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ได้เคยเข้าไปขอให้ท่านช่วยรดน้ำมนต์ให้ เมื่อปลายปี 2513 รวม 4 ครั้งนี้ได้บรรยายถึงการเข้ารับน้ำมนต์จากท่านครั้งแรกไว้ดังนี้

“.....คล้าย ๆ กับว่าท่านเจ้าคุณนรฯ จะรู้ใจข้าพเจ้าจึงหยิบแก้วน้ำเปล่าใบหนึ่ง สั่งให้ไปตักน้ำมนต์ในโอ่งลายมังกรที่ตั้งอยู่หน้ารูปหล่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณวรเถระ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของพระประธานในโบสถ์

แล้วก็นำแก้วน้ำมนต์มาถวายท่านเจ้าคุณนรฯ ท่านรับแล้วก็ตั้งบริกรรมสักครู่นานเท่าใด ข้าพเจ้าก็ลืมไปเสียแล้ว จำได้แต่ว่านั่งพนมมือหลับตาภาวนาตามไปกับท่าน

โดยขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย คุณบิดามารดา ปู่ย่าตายายและทวด ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย พร้อมกับขอให้บารมีของท่านเจ้าคุณนรฯ ช่วยคุ้มครองรักษาด้วย

เมื่อท่านเรียกก็ลืมตาขึ้น แล้วก็คลานเข้าไปหา ท่านสั่งให้นั่งตัวตรง อ้าปากเงยหน้าขึ้นดูเพดานโบสถ์ ท่านก็กรอกน้ำมนต์ในแก้วด้วยมือของท่านเอง โดยไม่ให้ข้าพเจ้าจับแก้วน้ำมนต์นั้นเลย ”

ผู้ที่เคยเข้าขอรดน้ำมนต์ครั้งแรก ๆ จากท่านนั้น มักได้รับคำแนะนำวิธีการปฏิบัติดังกล่าวนี้ จากท่านพระครูปัญญาภรณโสภณ (พระมหาอำพัน บุญหลง) ช่วยชี้ทางให้

นอกจากการเข้ารับการรดน้ำมนต์จากท่านโดยตรง ด้วยวิธีการดังกล่าว ซึ่งน้อยคนจะมีโอกาสได้รับแล้ว

ยังมีการรดน้ำมนต์อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งทุกคนสามารถปฏิบัติได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ซึ่งท่านบอกว่ามีผลเท่ากับท่านรดน้ำมนต์ให้เองเหมือนกัน

วิธีที่ว่านี้ก็คือ เมื่อเวลามีฝนตกพรำ ๆ ผู้ที่ประสงค์จะรับการรดน้ำมนต์ ให้ออกไปเดินกรำฝน แล้วบริกรรมภาวนาด้วยพระคาถาสั้น ๆ แบบหัวใจคาถาโบราณทั้งหลาย จากนามฉายาของท่านที่ว่า

“ธมฺมวิตกฺโก ๆ ๆ ๆ”

ให้บริกรรมเช่นนี้เรื่อยไป ก็จะมีผลเท่ากับท่านรดน้ำมนต์ให้เหมือนกัน

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:12
ท่านได้อรรถาธิบายว่า “ธมฺมวิตกฺโก” นั้น แปลว่าผู้ตรึกธรรม หรือผู้พิจารณาธรรม ผู้คิดถึงธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครองผู้นั้น

ก่อนนี้ท่านธมฺมวิตกฺโกมีตุ่มเล็กใบหนึ่งแต่งไว้ตรงประตูจะ เข้ากุฏิด้านข้าง ท่านใช้สำหรับใส่น้ำไว้ข้างเท้าก่อนเข้ากุฏิ

วันหนึ่งมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาพบท่าน และบอกว่าสะใภ้ได้ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล นอนฝันร้ายมาตลอด เห็นผีปีศาจมารบกวนตลอดเวลา ฉะนั้นจึงมาขอน้ำมนต์จากท่านเพื่อไปให้สะใภ้

ท่านได้ปฏิเสธว่าท่านไม่มีน้ำมนต์ และท่านก็ไม่ใช่อาจารย์ไล่ผี ท่านไม่สามารถจะให้ได้ ขอให้ไปหาผู้อื่นที่เขาทำได้

นายตำรวจผู้นั้นก็ยังยืนกรานจะขอให้ได้ โดยบอกว่านับถือแต่ท่านธมฺมวิตกฺโกเท่านั้น ไม่ได้นับถืออาจารย์อื่นใดอีก ท่านธมฺมวิตกฺโกก็ปฏิเสธเช่นเดิม และเข้ากุฏิไป

นายตำรวจผู้นั้นจึงตกเอาน้ำล้างเท้าของท่านไปให้สะใภ้ โดยบอกว่าเป็นน้ำมนต์ของท่านธมฺมวิตกฺโก

เป็นเรื่องน่าประหลาดที่คืนนั้นสะใภ้ของนายตำรวจได้เห็นท่านธมฺมวิตกฺโก ไปยืนที่หัวเตียง และไม่นอนฝันร้ายหรือผีปีศาจ ใด ๆ อีก

พอข่าวนี้แพร่ออกไป ก็มีคนมาตักน้ำล้างเท้าท่านเสมอ จนภายหลังท่านต้องเอาตุ่มน้ำนี้ไว้ในกุฏิ ท่านบอกว่ามีคนเอาน้ำไป กลัวเขาจะเอาไปกินแล้วเป็นอหิวาตกโรคตาย

http://www.dharma-gateway.com/mo ... -nor-hist-08-03.htm

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:12
ผู้อดทน

ท่านธมฺมวิตกฺโก เป็นผู้อดทน มีความเพียร เมื่อทำสิ่งใดก็ทำสม่ำเสมอ อย่างการทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น ท่านก็ทำโดยตลอดไม่เคยขาด

มีงดอยู่วันเดียว วันนั้นท่านอาพาธเพราะถูกงูกัด สมเด็จอุปัชฌาย์ได้มาบอกว่า ให้งดสักวันเถิด ท่านก็งดวันนั้นหนึ่งวัน ตลอดเวลา 40 ปีกว่า ท่านงดทำวัตรเพียงหนึ่งวัน

ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าท่านมีความอดทนและความเพียรเพียงใด คนที่ทำอะไรได้ทุกวัน โดยสม่ำเสมอเป็นเวลา 40 กว่าปีนี้ เป็นเรื่องน่าคิดและน่าสรรเสริญ เพราะยากนักจะทำได้

และตลอดเวลา 40 กว่าปี มิใช่ว่าท่านจะแข็งแรงมีสุขภาพดีมาโดยตลอดก็หาไม่ ท่านก็ป่วยเจ็บเช่นคนทั้งหลาย แต่ด้วยความอดทน ท่านก็พยายามทำไม่ยอมขาด

และการป่วยเจ็บของท่านนี้ ท่านบอกว่าเมื่อตัดสินใจจะปฏิบัติทางจิตแล้ว ก็ต้องทำให้ได้ โดยอาศัยอำนาจจิตมารักษา เมื่อรักษาไม่ได้ก็ตายไป ไม่ขออาศัยยาแก้เจ็บแก้ไข้

ท่านบอกว่าคนที่ปฏิบัติทางจิตนี้ ต้องการสังขารเพียงเพื่อจะได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมวินัยต่อไปเท่านั้น ไม่ต้องการสังขารที่สุกใสเปล่งปลั่ง

ท่านพูดเสมอว่า ช้างพี ฤๅษีผอม หมายถึงช้างที่ดีควรจะ อ้วน ส่วนฤๅษีอันหมายถึงผู้ปฏิบัติธรรมควรจะผอม.

ต่อมาท่านได้ถูกคางคกไฟกัดอีก แต่ครั้งหลังนี้ท่านไม่ได้ขาดทำวัตร

เรื่องคางคกไฟนี้เป็นเรื่องแปลก ท่านเองก็บอกว่าไม่เคยมีใครพบในกรุงเทพฯ ทราบแต่ว่ามีทางปักษ์ใต้ ทำไมจึงมากัดท่านได้ ท่านชี้ตำแหน่งให้ดูที่หลังเท้าว่า กัดจนจมสองเขี้ยว และท่านเห็นตัวด้วยว่าตัวใหญ่กว่าคางคกธรรมดาและสีแดง

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:13
ท่านบอกว่าคืนนั้นบวมมาก และค่อย ๆ ปวดขึ้นมาจนเข้าหัวใจ ท่านพยายามอดทน และขับไล่ความเจ็บปวดนั้น

จนรุ่งเช้าบวมเฉพาะขาทั้งท่อนล่างและท่อนบน แม้อย่างนั้น ท่านก็ยังไม่ยอมขาดทำวัตร

นอกจากนี้ท่านยังป่วยเป็นโรคมะเร็งกรามช้าง ฉันอาหาร ไม่ได้เกือบเดือน นอนก็ไม่ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ท่านต้องนั่งก้มหน้าเอากระโถนมารองไว้ ให้น้ำหนองไหล และพอฟันซี่ใดหลุด ท่านก็จดวันที่และเวลาที่ฟันหลุดไว้ จนกระทั่งฟันหลุดหมดปาก

นอกจากนี้ท่านยังเป็นอมพาตอีก โดยเป็นที่ขาของท่านเป็นข้างขวามากกว่าข้างซ้าย ทำให้เดินไม่ไหว

เวลาไปลงโบสถ์ท่าวัตรต้องใช้มือช่วยยกเท้าเดินไป ต่อมา เป็นมากท่านใช้ไม้ผูกเชือกตอนปลายแล้วไปผูกกับนิ้วหัวแม่เท้า แล้วใช้มือช่วยยกเท้าไปลงทำวัตรจนได้ ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า ท่านอดทนเพียงไร เพื่อที่จะไม่ขาดทำวัตร

ต่อมาภายหลัง ท่านก็หายจากอัมพาต แต่เวลาเดินเท้าข้างขวายกสูงไม่ได้ จนกระทั่งมรณภาพ ทำให้ท่านเดินหกล้มบ่อย หากเดินไปสะดุดอะไรเข้า เพราะยกเท้าไม่พ้น

และการที่ท่านหายนี้ด้วยบุญบารมีของท่านเอง ไม่เคยฉันยาเลย ดังที่ท่านบอกว่าตั้งแต่บวชมาไม่เคยฉันยาแม้สักครึ่งเม็ด

นอกจากการลงโบสถ์เพื่อทำวัตรเช้าและเย็นแล้ว ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเช่น วันมาฆบูชาและวิสาขบูชา เป็นต้นนี้ ทางวัดจะมีเทศน์ตลอดคืน ให้พระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาฟัง

ท่านธมฺมวิตกฺโกก็จะมาฟังเทศน์ด้วย และท่านจะฟังตลอดคืนจนรุ่งเช้า โดยนั่งพับเพียบพนมมือตลอดจะพลิกเปลี่ยนข้างก็เพียงหนึ่งครั้ง

ผมเคยถามท่านถึงเรื่องนี้ ท่านบอกว่าไม่ยาก อยู่ที่การฝึก นี่เป็นเครื่องแสดงว่าท่านได้ฝึกตนเองมาอย่างดีแล้ว

และท่านยังบอกอีกว่า ท่านนั่งฝึกสมาธิ ถ้าจะเริ่มหัดท่านั่งพับเพียบนี้เป็นท่านั่งที่ดีที่สุด เหมาะแก่ผู้ที่จะเริ่มนั่ง แม้ท่านเองก็หัดนั่งสมาธิจากท่านั่งพับเพียบ ต่อมาจึงค่อยเปลี่ยนเป็นท่านั่งขัดสมาธิ

นอกจากนั่งฟังเทศน์โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถแล้ว ท่านผู้อ่านก็ทราบแล้วว่า นครหลวงของเรายุงชุมเพียงไร

ครั้งแรกผมคิดว่ายุงคงไม่กัดท่าน ท่านจึงนั่งอยู่ได้โดยไม่ต้องไล่ยุง ผมเลยเข้าไปดูท่านใกล้ ๆ ปรากฏว่ายุงก็กัดท่านแล้วตกอยู่รอบตัวท่านเต็มไปหมด คงจะบินไม่ไหวเพราะกินอิ่มก็เป็นได้

แต่ไม่เห็นท่านจะรู้สึกเจ็บ หรือคันแต่อย่างใด ท่านเป็นผู้มีความอดทนอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นผู้ที่ฝึกตัวเองไว้แล้วอย่างดีเลิศ

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:13
สติสัมปชัญญะ

ที่จะทำอะไรไม่ผิดนั้น ข้อ สำคัญอยู่ที่สติถ้ามีสติคุ้มครองกายวาจาใจอยู่ทุกขณะ จะทำอะไรไม่ผิดพลาดเลย ที่ผิดพลาดเพราะขาดสติ

คือ เผลอ เหม่อ เลินเล่อ ประมาท ระเริง หลงลืม จึงผิด พลาด จนนึกถึงคติพจน์ว่า “กุมสติต่างโล่ป้อง อาจแกล้ว กลางสนาม”

ธรรมดาชีวิตทุกชนิด ทั้ง มนุษย์และสัตว์ตลอดทั้งพืชพันธุ์พฤกษาชาติ เป็นอยู่ได้ด้วยการต่อสู้ ตรงกับคำว่า “ชีวิตคือการต่อสู้”

เมื่อต่อสู้ไม่ไหวขณะใด ก็ต้องถึงที่สุดแห่งชีวิต คือ ความตาย เพราะฉะนั้นยังมีสติอยู่ตราบใด ถึงตายก็ตายแต่กาย

เช่นกับชีวิตของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ท่านมีสติไพบูลย์อยู่ทุกขณะจิต ท่านจึงทำอะไรไม่ผิดและถึงซึ่งอมตธรรม คือธรรมที่ไม่ตาย จึงเรียกว่า พระนิพพาน คือนามรูปสังขารร่างกายที่เรียกว่า เบญจขันธ์ ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แตกดับไปเท่านั้น

กฎแห่งกรรม

ในสมัยพุทธกาล พระที่ใกล้จะสำเร็จอรหันต์มักจะได้รับเคราะห์กรรมแปลก ๆ อย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะท่านก็ได้บำเพ็ญแต่ความดีมา ไม่น่าจะได้เคราะห์กรรมอีก

ในเรื่องนี้ได้มีอธิบายไว้ว่า เพราะใกล้จะสำเร็จพระอรหันต์ จึงต้องได้รับกรรมให้หมดไป เรียกว่าสิ้นกรรมกัน

ท่านธมฺมวิตกฺโกก็เช่นกัน ท่านจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ หรือไม่ผมไม่ทราบ เพราะผมไม่มีคุณธรรมใดจะไปหยั่งรู้ได้

แต่ท่านไม่น่าจะถูกคางคกไฟกัด ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีในนครหลวง มีแต่ทางปักษ์ได้ แต่ท่านก็บอกว่า

ลักษณะเป็นคางคกไฟและมากัดท่านจนบวมไปทั้งขา ทั้งที่ท่านก็ไม่ได้ไปไหน เดินจากกฏิไปทำวัตรแล้วก็กลับ ตอนขากลับก็ปรากฏว่าคางคกรอท่านอยู่แล้ว และกัดท่านพอดี

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:13
[attach]3304[/attach]

ในบั้นปลายของชีวิต ท่านธมฺมวิตกฺโก อาพาธด้วยมะเร็งที่ลำคอ การอาพาธของท่านนี้พูดตามที่บุคคลธรรมดาพึงเห็น

แต่สำหรับท่านธมฺมวิตกฺโกแล้ว ท่านเป็นปกติธรรมดาไม่เคยแสดงอาการใดว่าท่านได้อาพาธ ท่านปกติธรรมดาจนทุกคนที่พบเห็นท่าน คล้ายจะลืมว่าท่านอาพาธ ถ้ามีใครถามถึง ท่านจะเล่าให้ฟังว่า

ตั้งแต่เริ่มเป็น เมื่อปี พ.ศ. 2509 มีขนาดเท่าไข่จิ้งจก และโต ต่อมาเรื่อย ๆ จนมีขนาดเท่าลูกพุทรา เท่าไข่เต่า และท่านจะบอกว่าตอนนี้เท่าไข่เป็ดแล้ว

เมื่อถามถึงความเจ็บปวด ท่านจะบอกว่าไม่เจ็บปวดมากนัก จะมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผมคิดว่าถ้าเป็นอย่างเราก็คงจะลุกเดินไม่ไหวเพราะความเจ็บปวดแล้ว แต่ท่านธมฺมวิตกฺโกท่านกลับเป็นปกติทุกอย่าง สมมติว่าแผลมะเร็งนี้เกิดขึ้นกับอวัยวะภายใน ไม่มีใครมองเห็นแล้ว ก็จะไม่มีใครรู้ว่าท่านอาพาธเลย

ท่านเล่าว่า เมื่อก่อนจะเป็น ท่านมีความรู้สึกว่าจะเป็นที่ตับ เพราะมีอาการบางอย่างที่นั่น ท่านเล่าว่าเหมือนกับมีอะไรวิ่งกันอยู่เป็นริ้ว ๆ ที่บริเวณนั้น ท่านได้อธิษฐานว่าหากจะป่วยเป็นโรคใดแล้วขอให้ปรากฏออกมา ขอให้เป็นภายนอกเถิดจะได้มองเห็นและเป็นตัวอย่างให้ศึกษา

หลังจากท่านอธิษฐานแล้ว ท่านรู้สึกว่าสิ่งที่วิ่งกันอยู่นั้นได้ย้ายวิ่งมาที่ลำคอและปรากฏเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ที่แรงอธิษฐานของท่านเป็นไปตามที่ท่านอธิษฐาน เห็นจะเป็นด้วยบุญบารมีที่ท่านบำเพ็ญมา

และท่านจะยกเอาอาการอาพาธของท่านเป็นตัวอย่างสอนคนที่ไปพบท่านว่า ร่างกายเป็นรังของโรค ต้องป่วยเจ็บอยู่เสมอเป็นธรรมดา เป็นเรื่องของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่าเศร้าหมองตามการป่วยเจ็บนั้น ทำใจให้ปลอดโปร่ง

และให้นึกเสมอว่า การเจ็บ การตายไม่แน่นอน จะมาถึงเมื่อใดก็ได้ อย่าประมาท อย่ารั้งรอต่อการทำความดี ในขณะที่ยังมีโอกาสทำความดี จะได้ไม่ต้องเสียใจ แม้ความตายจะมาถึงในวินาทีใดก็ตาม


โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:14
มหากรุณาธิคุณ

[attach]3305[/attach]

เมื่อท่านธมฺมวิตกฺโกอาพาธ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยี่ยมอาการของท่านที่พระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาสถึงสองครั้ง เป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อท่านธมฺมวิตกฺโก

การเสด็จไปของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแต่ละครั้ง ทรงรับสั่งถามปัญหาธรรมต่าง ๆ กะท่านธมฺมวิตกฺโก ทุกครั้ง ท่านธมฺมวิตกฺโก ได้วิสัชนาถวายในปัญหาธรรมต่าง ๆ อย่างชัดเจนหมดจดทุกปัญหา

จากการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงสนพระทัยในธรรมนี้ ท่านธมฺมวิตกฺโกได้เคยบอกว่า ขอให้ประชาชนทุกคนยึดถือเป็นตัวอย่างที่ควรสนใจ และศึกษาธรรมเช่นเดียวกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

เพราะธรรมจะทำให้ประเทศอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ทำให้ชนในชาติสามัคคีกลมเกลียวกัน มีความขยันหมั่นเพียรในทางที่ถูกต้อง ไม่แก่งแย่งชิงดี เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน

และในชั้นสูงขึ้นไปของการปฏิบัติธรรม ก็จะทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติไปสู่พระนิพพาน ซึ่งควรจะเป็นความหวังของทุกคน ขอให้ทุกคนอย่าลืมหน้าที่อันนี้ คือหน้าที่ที่จะทำให้ตนเองพ้นทุกข์

การทำให้ตนเองพ้นทุกข์ เป็นหน้าที่ของทุกคนที่เกิดมา แต่พากันลืมเสีย ไปไขว่คว้าแต่หน้าที่อื่นกันเสียหมด จะทำให้เสียแรงที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่สอนให้ทุกคนพ้นทุกข์ด้วยตนเอง

พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่มีต่อท่านธมฺมวิตกฺโกนี้ แม้เมื่อท่านมรณภาพแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าชาย ก็ได้เสด็จบำเพ็ญอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด่ท่านธมฺมวิตกฺโกที่วัดเทพศิรินทราวาส ขณะตั้งศพบำเพ็ญกุศล

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:14
สันติสุข

พระพุทธเจ้าสอนว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ”

“สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี

หมายความว่า ความสุขอื่นมี

เช่นกับความสุขในการดู ละคร ดูหนัง

ในการเข้าสังคม

ในการมีคู่รักคู่ครอง

หรือ ในการมีลาภยศ

ได้รับความสุข สรรเสริญ และได้รับความสุขจากสิ่งเหล่านี้ ก็สุขจริง

แต่ว่าสุขเหล่านี้มีทุกข์ซ้อนอยู่ทุกอย่าง ต้องคอยแก้ไขปรับปรุงกันอยู่เสมอ

ไฝเหมือนกับความสุขที่เกิดจากสันติ ความสงบ ซึ่งเป็นความสุขที่เยือกเย็น

และไม่ซ้อนด้วยความทุกข์ และไม่ต้องแก้ไขปรับปรุงตกแต่งมาก

เป็นความสุขที่ทำได้ง่าย ๆ

เกิดกับกายใจของเรานี่เอง

อยู่ในที่เงียบ ๆ คนเดียวก็ทำได้

หรือ อยู่ในสิ่งแวดล้อมสังคมก็ทำได้

ถ้าเรารู้จักแยกใจหาสันติสุข กายนี้ก็เพียงสักแต่ว่าอยู่ในที่ระคนด้วยความยุ่ง

สิ่งแวดล้อมเหล่านั้นไม่ยุ่งมาถึงใจ

แม้เวลาเจ็บหนัก มีทุกขเวทนาปวดร้าวไปทั่วกาย

แต่เรารู้จักทำใจให้เป็นสันติสุขได้

ความเจ็บนั้นก็ไม่สามารถจะทำให้ใจเดือดร้อนตามไปด้วย

เมื่อใจสงบแล้ว

กลับจะทำให้กายนั้นสงบ หายทุกขเวทนาได้ด้วย

และประสบสันติสุข ซึ่งไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่าสันติสุขนั้น

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:15
พระพุทธเจ้าสอนให้ฝึกเป็น 3 ทาง คือ

1. สอนให้สงบกาย วาจา ด้วย ศีล

ไม่ทำโทษทุจริตอย่างหยาบ ที่เกิดทางกาย วาจา เป็นเหตุให เกิดสันติสุข ทางกาย วาจา เป็นประการต้น

2. สอนให้ฝึกหัดให้เกิดสันติสุขทางใจด้วยสมาธิ หัดใจไม่ให้คิดถึงเรื่อง

ความกำหนัด

ความโกรธ

ความโลภ

ความหลง

ความกลัว

ความฟุ้งซ่านรำคาญ

ความลังเลใจ ทำให้ใจไม่เด็ดเดี่ยว ไม่เด็ดขาด เมื่อละสิ่ง เหล่านี้ได้ เป็นเหตุให้ใจสงบ เป็น สันติสุขทางจิตใจอีกประการหนึ่ง

3. ทรงสอนให้ฝึกหัดให้เกิดสันติสุขทางทิฏฐิ ความเห็นด้วยปัญญาพิจารณาให้เห็นว่า

สรรพสิ่งทั้งหลายไม่แน่นอน เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง

คงทนอยู่ไม่ได้ ต้องเสื่อมสิ้น แปรปรวน ดับไป เรียกว่าเป็นทุกข์

ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา อ้อนวอนขอร้องเร่งรัดให้เป็นไป ตามความประสงค์ท่านเรียกว่า อนัตตา

เมื่อเรารู้เห็นความเป็นจริงเช่นนี้ จะทำให้จิตใจของเราเข้มแข็งมั่นคงเด็ดเดี่ยว ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ทั้งหลาย

เพราะรู้เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาว่า สิ่งเหล่านั้นมันไม่แน่นอน

มันคงอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลง เสื่อมสิ้นดับไป

ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาฝ่าฝืนของเรา

อย่าไปเร่งรัดให้เสียกำลังใจ

คงรักษาใจให้เป็นอิสระมั่นคงอยู่เสมอ

ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์เหล่านั้น

เป็นเหตุให้ใจตั้งอยู่ในสันติสุข

เป็นอิสระเกิดอำนาจทางจิต ที่จะใช้ทำกิจกรณียะ อันเป็นหน้าที่ของตนได้สำเร็จสมประสงค์

“นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ - สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี”

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:15
ดับขันธ์

[attach]3306[/attach]

บัดนี้ท่านธมฺมวิตกฺโก ได้ละจากโลกไปแล้ว แต่วันที่ 8 มกราคม 2514 เวลาประมาณ 11.00 น. เหลือเพียงประวัตชีวิตอันบริสุทธิ์ มีแต่ความดีงามไว้ให้ทุกคนได้ดำเนิน ตาม

ท่านเป็นตัวอย่างยืนยันถึงความสุขอันเกิดแต่ความสงบโดยแท้ คนที่ไม่ต้องการอะไรเลยในชีวิต เป็นผู้ประสบความสุขอย่างแท้จริงยิ่งกว่าคนที่ต้องการทุกอย่างในชีวิต

ท่านเป็นตัวอย่างของสงฆ์ ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ไม่มีความอยากใด ๆ ไม่ปรารถนาจะเป็นอาจารย์ของผู้ใด ไม่ใฝ่หาลาภสักการะ ไม่ใฝ่หาชื่อเสียงเกียรติคุณ

เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด มีความกตัญญูเป็นเลิศยากจะหาใครมาทัดเทียม

นับแต่นี้ต่อไป แม้จะไม่มีสังขารของท่านธมฺมวิตกฺโก แต่คุณงามความดีของท่านก็จะยังคงอยู่ตลอดไปไม่เสื่อมสลาย

ท่านเคยบอกว่านามฉายาของท่านคือ ธมฺมวิตกฺโก นั้นมี ความหมายถึง การระลึกถึงธรรม หรือ การตรึกถึงธรรม อันเป็นนามเดิมของท่าน

เมื่อครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่ ท่านเคยบอกเสมอว่า “ถ้าคิดถึง อาตมาก็ให้คิดถึง ธมฺมวิตกฺโก เพราะ ธมฺมวิตกฺโก คือ การระลึกถึงธรรม เมื่อคิดถึงเช่นนี้แล้ว ธมฺมวิตกฺโก ก็จะอยู่ข้าง ๆ เสมอ”

ไม่จำเป็นจะต้องมาหาอาตมา เพราะเมื่อมาหาก็มาเห็นแต่สังขาร ซึ่งวันหนึ่งก็จะเน่าเปื่อย และเสื่อมสิ้นไป

จงระลึกถึงธรรมดีกว่า จะมีคุณค่าต่อชีวิตยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ศีลและธรรมเป็นหลักของมนุษย์ มนุษย์จะอยู่ได้สงบเยือกเย็นเป็นสุขก็โดยศีลและธรรม หากขาดสิ่งเหล่านี้แล้วมนุษย์ก็จะมีค่าเสมอกันกับสัตว์

พวกเราทั้งหลายที่มีจิตศรัทธาต่อท่านธมฺมวิตกฺโก จงมาระลึกถึงท่านด้วยการระลึกถึงธรรม ดังที่ท่านปรารถนาเถิด เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อท่าน

และเมื่อพวกเขาทั้งหลายได้ระลึกถึงธรรมและปฏิบัติธรรมกันแล้ว ด้วยอานุภาพแห่งธรรมนั้น จะช่วยคุ้มครองให้ถึงซึ่งความสุขอย่างยิ่ง คือพระนิพพาน อย่างมิต้องสงสัยเลย

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:15
ประวัติราชการ

25 กุมภาพันธ์ 2457 โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในกรมมหาดเล็ก แผนกตั้งเครื่อง ยศมหาดเล็กวิเศษ

1 เมษายน 2458 เงินเดือน เดือนละ 40 บาท

10 พฤศจิกายน 2458 ยศ บรรดาศักดิ์ รองหุ้มแพร นายรองเสนองานประภาษ เงินเดือนเพิ่ม 20 บาท รวม 60 บาท

1 เมษายน 2459 ย้ายไปอยู่ กองห้องที่พระบรรทม

30 สิงหาคม 2459 บรรดาศักดิ์ หุ้มแพร นายเสนองานประภาษ

1 กันยายน 2459 เงินเดือนเพิ่ม 40 บาท รวม 100 บาท

31 ธันวาคม 2460 ยศ บรรดาศักดิ์ จ่า นายจ่ายง

1 มกราคม 2460 เงินเดือน เพิ่ม 100 บาท รวม 200 บาท

31 ธันวาคม 2461 ยศ บรรดาศักดิ์ รองหัวหมื่น หลวงศักดิ์นายเวร

1 มกราคม 2461 เงินเดือนเพิ่ม 100 บาท รวม 300 บาท

1 เมษายน 2463 เงินเดือนเพิ่ม 40 บาท รวม 340 บาท

10 พฤศจิกายน 2465 ยศ บรรดาศักดิ์ หัวหมื่น เจ้าหมื่นสรรเพชภักดี.

1 เมษายน 2465 เงินเดือนเพิ่ม 160 บาท รวม 500 บาท

1 ธันวาคม 2465 เจ้ากรมห้องที่พระบรรทม

30 ธันวาคม 2465 บรรดาศักดิ์ พระยานรรัตนราชมานิต

1 กรกฎาคม 2467 องคมนตรี ร.6

1 มกราคม 2467 ยศ จางวางตรี

24 มีนาคม 2468 วันถวายพระเพลิงพระบรมศพล้นเกล้า ล้นกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส

1 เมษายน 2468 เงินเดือน เพิ่ม 200 บาท รวม 700 บาท

1 เมษายน 2469 โปรด เกล้าฯ ให้ยุบเลิกตำแหน่งหน้าที่ ราชการกรมมหาดเล็กหลวง ได้รับพระราชทานบำนาญเดือนละ 84 บาท 66.2/3 สตางค์

4 เมษายน 2469 องคมนตรี ร.7

8 มกราคม 2514 ถึงมรณภาพ ด้วยความชรา (บันทึก ส.น.ว. ที่ 314 ล.ว. 11 ม.ค. 2514)

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:16
อิสริยาภรณ์

21 มกราคม 2457 เหรียญราชรุจิทอง

2 มกราคม 2458 เหรียญรัตนาภรณ์ชั้น 5

31 ธันวาคม 2459 ตรามงกุฎสยามชั้น 5

18 เมษายน 2460 ตราวชิรมาลา

31 ธันวาคม 2460 เบญจมาภรณ์ช้างเผือก

31 ธันวาคม 2461 ตรามงกุฎสยามชั้น 4

10 พฤศจิกายน 2464 เหรียญรัตนาภรณ์ชั้น 3

11 พฤศจิกายน 2465 ตราตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

11 พฤศจิกายน 2466 ตราทุติยจลจอมเกล้า

10 พฤศจิกายน 2468 ตรามงกุฎสยามชั้น 1 (ปถมาภรณ์มงกุฎสยาม)

25 กุมภาพันธ์ 2468 เหรียญบรมราชาภิเษกทอง (รัชกาลที่ 7)

4 เมษายน 2475 เหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี เงินกะไหล่ทอง

http://www.dharma-gateway.com/mo ... -nor-hist-08-04.htm

โดย: kit007    เวลา: 2013-6-4 18:16
AUD

"จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีๆ นะ" เป็นคำแทนคำอวยพรอย่างสูงสุด ประกอบด้วยเหตุผล เมื่อทำกรรมดีแล้ว ไม่ให้พรก็ต้องดี เมื่อทำชั่วแล้ว จะมาเสกสรรปั้นแต่งอวยพรอย่างไร ก็ดีไม่ได้ ทำชั่วเหมือนก้อนหินจะต้องจมทันที ไม่มีผู้วิเศษใดๆ จะเสกเป่าอวยพร ขอร้องให้หินลอยขึ้นมาได้ ทำกรรมชั่วต้องล่นจมป่นปี้เสียราศีเกียรติคุณชื่อเสียง เหมือนก้อนหินหนักจมลงไปอยู่กับโคลนใต้น้ำ

— ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต


โดย: Metha    เวลา: 2013-12-11 18:29

กราบนมัสการครับ

ขอบพระคุณข้อมูลครับ

โดย: Sornpraram    เวลา: 2014-11-17 21:40

โดย: En130    เวลา: 2014-11-18 00:15

โดย: sritoy    เวลา: 2015-8-13 15:24
สาธุครับ
โดย: oustayutt    เวลา: 2015-8-13 16:52

โดย: Sornpraram    เวลา: 2015-9-11 07:34





ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2