Baan Jompra
ชื่อกระทู้:
พรหมวิหาร๔ หลวงปู่ฤาษีลิงดำ
[สั่งพิมพ์]
โดย:
oustayutt
เวลา:
2014-12-13 20:33
ชื่อกระทู้:
พรหมวิหาร๔ หลวงปู่ฤาษีลิงดำ
พรหมวิหาร ๔
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน หลวงปู่ฤาษี วัดท่าซุง
สำหรับวันนี้ ความจริงคิดว่าจะจบสมถะภาวนา เว้นไว้แต่อรูป ๔ ประการ ยังมีพระท้วงว่าขาดพรหมวิหาร ๔ ไปอาจจะพลั้งเผลอไป วันนี้ก็จะขอพูดเรื่องพรหมวิหาร ๔ ในด้านสมถภาวนา ความจริงพรหมวิหาร ๔ นี้เป็นกรรมฐานเลี้ยงทั้งศีล เลี้ยงทั้งสมาธิ เลี้ยงทั้งปัญญา เพราะว่ามีพรหมวิหารสี่เสียอย่างเดียว อารมณ์จิตก็สบาย มีความเยือกเย็น เราจะเห็นว่าเมตตาความรัก กรุณาความสงสาร สองอย่างนี้ก็สามารถจะคุ้มศีลให้บริบูรณ์ทุกอย่าง เพราะศีลทุกข้อคำจะทรงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยเมตตาและกรุณาทั้งสองอย่าง
เมตตาแปลว่าความรัก กรุณาแปลว่าความสงสาร ถ้าเรามีความรักเรามีความสงสารเสียแล้ว เราก็ทำลายชีวิตสัตว์ไม่ได้ ลักขโมยของเขาไม่ได้ ยื้อแย่งความรักเขาไม่ได้ พูดโกหกมดเท็จไม่ได้ ดื่มสุราเมรัยไม่ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อดื่มสุราเมรัย ถ้าเรามีความรักความสงสารคนทางบ้าน เพื่อน บิดามารดา เราก็ไม่สามารถจะทำความชั่วโดยขาดสติสัมปชัญญะ
เป็นอันว่าในพรหมวิหาร ๔ โดยเฉพาะสองประการ คือ เมตตา กรุณาทั้งสองประการนี้ สร้างความเยือกเย็นให้เกิดกับจิตสามารถทำศีลให้บริสุทธิ์ เมื่อศีลบริสุทธิ์สมาธิก็ตั้งมั่น ความเร่าร้อนของจิตไม่มี จิตไม่มีความกระวนกระวายก็เป็นสมาธิ มีข้อหนึ่งสำหรับด้านสมาธิจะใช้เฉพาะเมตตากรุณาทั้งสองประการก็ไม่พอ ต้องมีมุทิตา อุเบกขา อารมณ์จิตจึงจะทรงสมาธิได้มั่นคง
มุทิตาความมีจิตอ่อนโยน ตัดความอิจฉาริษยาออกจากจิต พลอยยินดีเมื่อบุคคลอื่นได้ดีแล้ว อารมณ์อิจฉาริษยาตัวนี้เป็นอารมณ์ที่มีความร้ายแรงมาก เมื่อเห็นใครเขาได้ดีก็ทนไม่ได้เกรงเขาจะเกินหน้าเกินตาตัวไป หากมีมุทิตาคือตัดอิจฉาริษยาออก มันพ้นไปจากจิต ความเร่าร้อนมันก็ไม่มี เห็นใครเขาได้ดีแทนที่เราจะคิดว่าเขาเกินหน้าเกินตาไป กลับพลอยยินดีกับความดีที่เขาจะพึงได้ เพราะอาศัยความสามารถและบุญวาสนาบารมีของเขาเป็นสำคัญ อารมณ์มุทิตาจิตนี้สร้างความดีให้เกิด ในเมื่อใครเขาทำความดีได้ เราพลอยยินดีกับเขาด้วยเป็นอันช่วยให้เราดีขึ้น แทนที่จะทำลายเราให้เสื่อมไป คนที่เขาได้ดีมีความชอบก็เกิดมีความรักในเรามีความเมตตาในเรา แทนที่เขาจะเหยียดหยามกลับจะคบเป็นมิตรที่ดี เราก็มีความสุข
สำหรับอุเบกขาในด้านสมถภาวนามีอารมณ์วางเฉยคือ เฉยแต่เฉพาะอารมณ์ที่เข้ามายุ่งกับจิตที่ไม่เนื่องกับอารมณ์ที่เราต้องการ อย่างเรากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก จิตมันหยุดอยู่เฉพาะลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว ไม่ไปยุ่งกับอารมณ์ภายนอกทั้งหมด คือไม่สนใจกับแสงสีใดๆ อย่างนี้เป็นต้น จะเห็นผลว่าอุเบกขาคือความวางเฉยในด้านสมถภาวนา มีอารมณ์ทำจิตให้ทรงตัว มีอารมณ์จิตเป็นฌาน
รวมความว่าพรหมวิหาร ๔ มีประโยชน์ทั้งในด้านศีลและด้านสมาธิทั้งสองประการ ขอให้ท่านนักปฏิบัติผู้มีความปรารถนาในการทรงฌานให้เป็นปกติ ถ้าเราสามารถทรงพรหมวิหาร ๔ จิตก็ประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔ ตลอดเวลา คืออารมณ์เบาตลอดวัน ทั้งวันมีความรู้สึกรักในคนและสัตว์เสมอด้วยเรา ไม่คิดประทุษร้ายสัตว์ ไม่คิดจะทำลายสัตว์ เพราะมีความรักและมีความสงสาร จิตใจก็จะมีแต่ความเยือกเย็นเพราะอารมณ์ไม่เกิดเป็นศัตรูกับใคร อย่างนี้ใจสบาย ศีลไม่ขาด สมาธิก็ทรงตัว
โดย:
oustayutt
เวลา:
2014-12-13 20:34
ต่อมาข้อมุทิตาเราก็ไม่มีความอิจฉาริษยา เมื่อบุคคลอื่นได้ดีกลับมีจิตปรานีพลอยยินดีกับบุคคลที่เขามีความดี แสดงความยินดีร่วมกับเขา อันนี้ก็มีความสบายใจ
ถ้ามีอุเบกขาเข้ามาควบคุมใจเข้าไว้ไม่ยอมให้อารมณ์อื่นใดเข้ามายุ่งกับจิตไม่ทำอารมณ์ให้กระสับกระส่าย อุเบกขาแปลว่าความวางเฉย ในเมื่อจับกรรมฐานกองใดกองหนึ่งขึ้นพิจารณาหรือภาวนา ก็ให้จิตทรงอยู่ในอารมณ์นั้น แสดงว่าจิตของเราจิตของบุคคลใดที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ จิตของบุคคลนั้นก็จะเป็นผู้ทรงฌานตลอดเวลาจำไว้ให้ดีนะ
การที่เราทำอะไรไม่ได้ดีในด้านสมาธิจิตหรือวิปัสสนาญาณ เริ่มแต่การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไม่ได้ก็แสดงว่าเราขาดพรหมวิหาร ๔ ถ้าอารมณ์จิตของเราตั้งอยู่ในพรหมวิหาร ๔ ตลอดเวลา เรื่องฌานสมาบัติเป็นเรื่องเล็กจริงๆ เพราะฌานสมาบัติจะทรงขึ้นมาได้และศีลบริสุทธิ์ได้เพราะความเยือกเย็นของจิต ไม่มีความเร่าร้อนของจิต เมื่อจิตมีความเยือกเย็นไม่กระวนกระวายไม่กระสับกระส่าย ไม่มีความโหดร้าย ไม่คิดอิจฉาริษยา ทำร้ายใคร ใจก็เป็นสุข อารมณ์ก็เป็นกุศล เราจะทรงจิตในพระกรรมฐาน ๔๐ กอง แยกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ทรงไว้ได้ดี นี่เป็นอารมณ์ของฌาน
มาว่ากันถึงวิปัสสนาญาณพรหมวิหาร ๔ เลี้ยงวิปัสสนาญาณให้มีการทรงตัวด้วย การที่มีพรหมวิหาร ๔ ครบถ้วนบริบูรณ์จึงเป็นพระอริยะเจ้าได้ง่าย เราจะเห็นว่าการเป็นพระอริยะเจ้าอย่างพระโสดาบันจะต้องทรงศีลห้าบริสุทธิ์ แล้วเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่เรียกว่าสรณาคมน์ครบถ้วนบริบูรณ์ คนที่มีพรหมวิหาร ๔ มีอารมณ์เมตตากรุณาทั้ง ๒ ประการแสดงว่าศีลไม่ขาดสักตัว เป็นอันว่าข้อที่เรียกว่า สีลัพพตปรามาส ย่อมไม่ปรากฏขึ้นกับจิต ถ้าทำลายสีลัพพตปรามาสเสียได้ มีศีลบริสุทธิ์ เข้าเป็นจุดพระโสดาบันข้อที่หนึ่ง
สำหรับการเคารพในไตรสรณาคมน์ การที่เราทรงศีลบริสุทธิ์ก็แสดงว่าเรามีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อเราสมาทานว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เมื่อพระสงฆ์ให้ที่พึ่งคือ ศีลห้าประการและศีลแปดประการศีลอุโบสถก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศีลห้าประการให้ปฏิบัติเป็นปกติ ให้เป็นประจำทุกวัน ในเมื่อเรามีพรหมวิหาร ๔ ศีลไม่ขาดทรงได้ ก็เป็นอันว่าเราเป็นพระโสดาบันได้อย่างง่ายดาย มีพรหมวิหาร ๔ เป็นของดีแบบนี้
และประการที่ ๒ นอกจากความเป็นพระโสดาบัน เราจะเป็นพระอนาคามีเห็นว่าไม่ยากอีกเพราะเหตุว่าพรหมวิหาร ๔ เป็นเหตุทำลายความโกรธความพยาบาท ที่นี้มาเหลือแต่กามฉันทะ ในเมื่ออาศัยอารมณ์จิตทรงฌาน พิจารณาอสุภกรรมฐานประกอบอีกเพียงเล็กน้อยจิตก็จะเข้าถึงความเป็นพระอนาคามี
พูดถึงความเป็นพระอรหันต์ ถ้าจิตเที่ยงจริงถึงขนาดนี้แล้วก็เป็นของไม่ยาก เพราะพระอรหันต์ตัดเหตุที่เป็นอนุสัย คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา นี้เป็นของไม่ยาก แต่เป็นของละเอียด ความจริงก้าวเข้าสู่การเป็นพระอนาคามีนั้นก็มีความสุข เพราะว่าการจากชาตินี้ไปแล้วจะไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมก็ตาม เราก็ไม่กลับลงมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เราก้าวเข้าไปสู่พระนิพพานเลยโดยไม่ถอยหลังลงมา
ฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงแนะนำให้บรรดาพุทธบริษัทผู้ปรารถนาจะเข้าถึงฌานสมาบัติและทรงมรรคผล ให้บรรดาพุทธศาสนิกชนทุกคนแผ่เมตตาจิตไปในทิศทั้งปวงเสียก่อน ในอันดับแรกก่อนที่เราจะทรงจิตเป็นสมาธิ ก็ตั้งใจแผ่เมตตาจิตและกรุณาความสงสารไปในทิศที่ครอบจักรวาลทั้งหมด โดยกำหนดจิตไว้เสมอว่าเราจะไม่เป็นศัตรูกับใคร เราจะเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั้งหมด เราจะสงเคราะห์คนและสัตว์ที่ได้รับความทุกข์ยากให้มีความสุขตามฐานะของกำลังที่เราพอจะช่วยได้ เราเปล่งวาจาและคิดออกไปแบบนี้ด้วยความจริงใจเป็นปกติทุกวัน ต่อไปก็จะเกิดอาการชิน อารมณ์จิตของเราจะไม่มีความโกรธไม่มีความพยาบาท ไม่มีความเคียดแค้นมุ่งประทุษร้ายใคร
โดย:
oustayutt
เวลา:
2014-12-13 20:35
ขึ้นชื่อว่าศีล ๕ ประการที่จะละเมิดมันจะขาดไปได้ก็เพราะอาศัยความชั่ว ความเลวทรามของจิต ความโหดร้ายของจิต เมื่อจิตมีความโหดร้าย เราก็ฆ่าสัตว์ได้ ฆ่าคนได้ ลักขโมยเขาได้ ยื้อแย่งความรักเขาได้ พูดโกหกมดเท็จได้ ทั้งนี้จิตประกอบไปด้วยความรักความสงสารมันก็ทำอะไรไม่ได้ทุกอย่างที่ชื่อว่าความชั่ว อารมณ์แบบนี้ถ้าเรานึกอยู่ตลอดวันว่าเราจะเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั้งหมด เราจะมีความรักและเกื้อกูลให้ทุกคนมีความสุข ใหม่ๆมันก็ลืมบ้างเหมือนกัน อาจจะมีอาการเผลอ เมื่อทำนานๆจะเกิดอาการเคยชินมันก็เป็นปกติของจิต เรียกว่าไม่ต้องระมัดระวังเรื่องความโกรธจริงๆ ความคิดประทุษร้ายพยาบาทจองล้างจองผลาญบุคคลอื่นก็ไม่มี ถ้าเราจะสงสัยว่ามันจะชินได้อย่างไร ก็ดูตัวอย่างบทสวดมนต์ที่พวกเราท่องกัน ท่องกันเกือบล้มเกือบตายกว่าจะได้แต่ละบท และต่อมาก็ได้ตั้งหลายๆ บททั้ง ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน เราก็ได้กัน ปาฏิโมกข์เราก็สามารถจะสวดได้ภายหลังที่สวดได้คล่องแคล่วโดยมากเราสวดอย่างชนิดไม่ต้องนึก ใครเขาขึ้นต้นบทมาเราก็ว่าไปได้โดยไม่ต้องคิด เพราะว่าอาการชินของจิตที่มีความจดจำเป็นปกติ พอขึ้นนะโมก็ว่าไปได้เรื่อยๆทุกบท ใครเขาขึ้นบทไหนก็ว่าบทนั้นได้โดยไม่ต้องนึกถึงตัวหนังสือ ข้อนี้เป็นข้อเปรียบเทียบให้เห็นว่า
แม้แต่การใช้พรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ ใหม่ๆเราก็มีการอดลืมไม่ได้อาการเคยชินจิตที่เป็นพรหมวิหาร ๔ ก็เกิดเป็นสภาวะปกติ
มีความรักเป็นปกติ
มีความสงสารเป็นปกติ
มีจิตใจอ่อนโยนไม่อิจฉาริษยาใคร พลอยยินดีกับบุคคลอื่นที่ได้ดีเป็นปกติ
สำหรับอุเบกขาความวางเฉยในด้านวิปัสสนาญาณไม่ช้ามันก็ปกติคือ วางเฉยในสังขารที่เรียกว่า สังขารุเบกขาญาณ ร่างกายมันจะแก่มันจะเสื่อม มันจะป่วยไข้ไม่สบาย จะมีอาการพลัดพรากจากของรักของชอบใจหรือความตายจะเข้ามาถึงตัว อารมณ์มันก็เฉย อุเบกขานี่เฉย เฉยตอนไหน เฉยตอนคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่เกิดมาและสัตว์ที่เกิดมา มันมีสภาพความไม่เที่ยงเป็นปกติ เมื่อไม่เที่ยงแล้วมีความเปลี่ยนแปลงไปเราก็กลับไม่ทุกข์ เพราะถือว่าปกติของมันเป็นอย่างนั้น เมื่อความตายจะเข้ามาถึงจริงๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
เมื่อจิตยอมรับนับถือว่ามันเป็นธรรมดา ความหวั่นไหวก็ไม่เกิดขึ้น จิตมีความวางเฉยมีอารมณ์สบาย ทางด้านวิปัสสนาญาณถ้าวางเฉยต่ออารมณ์ทั้งหลายได้มี โลภะความโลภ ราคะความรัก โทสะความโกรธ โมหะความหลง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันยั่วยวนจิตให้เกิดอารมณ์เยือกเย็นและความเร่าร้อน แปลว่าจิตของเรา ถ้าวางเฉยจากอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ได้ถือว่ามันไม่เป็นสาระไม่เป็นแก่นสาร ไม่มีความสำคัญก็ชื่อว่าเราใช้พรหมวิหาร ๔ โดยเฉพาะอุเบกขาได้ครบถ้วน อยู่ในขั้นที่เรียกว่าสังขารุเบกขาญาณ คือวางเฉยในขันธ์ห้า โดยยึดถือว่า ขันธ์ห้า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ห้า ขันธ์ห้าไม่มีในเราเพีนงแค่นี้ก็จะเห็นว่าความเยือกเย็นของจิตเมื่อเกิดขึ้นเต็มที่ โดยเฉพาะวิปัสสนาญาณที่เราเจริญมาก็ไม่เสื่อมคลาย ในเมื่อการทรงวิปัสสนาญาณ คือสังขารุเบกขาญาณได้ เพราะอาศัยอุเบกขาจิตเป็นสำคัญ นี่ความเป็นพระอริยะเจ้าก็เข้ามาใกล้ เรียกว่าถึงความเป็นพระอริยะเจ้าได้ทันทีทันใด เพราะอะไรล่ะ เพราะเราปลดร่างกายเสียได้แล้ว ปลดสักกายทิฏฐิ คือความเห็นว่าสภาพร่างกายเป็นเราเป็นของเรา ยึดถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา จิตสบายเป็นสังขารุเบกขาญาณ ในเมื่อวางขันธ์ห้าเสียได้แล้วอย่างนี้ก็ชื่อว่าการปฏิบัติจิตของเราเข้าขั้นถึงความเป็นอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลสูงสุดในพระพุทธศาสนา
ต่อนี้ ไปกาลเวลาที่จะพูดก็หมดแล้ว ขอทุกท่านตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
จากหนังสือ กรรมฐาน ๔๐
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/)
Powered by Discuz! X3.2