Baan Jompra

ชื่อกระทู้: หลวงปู่บุญมี โชติปาโล พระดีศรีอุบล [สั่งพิมพ์]

โดย: majoy    เวลา: 2014-12-3 23:07
ชื่อกระทู้: หลวงปู่บุญมี โชติปาโล พระดีศรีอุบล
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย majoy เมื่อ 2014-12-3 23:08

หลวงปู่บุญมี โชติปาโล พระดีศรีอุบล

เครดิตภาพและประวัติจาก www.dhammajak.net

โดย: majoy    เวลา: 2014-12-3 23:12
ประวัติและปฏิปทา
พระภาวนาวิศาลเถร
(หลวงปู่บุญมี โชติปาโล)


วัดสระประสานสุข (วัดบ้านนาเมือง)
บ้านนาเมือง ต.ไร่น้อย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี


• ชาติภูมิ

“พระภาวนาวิศาลเถร” หรือ “หลวงปู่บุญมี โชติปาโล” มีนามเดิมว่า บุญมี นามสกุล กุศลคุณ เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๒ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีระกา ซึ่งตรงกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา ณ บ้านเลขที่ ๑๓๖ หมู่ที่ ๒ บ้านนาเมือง ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โยมบิดาชื่อ นายกุ กุศลคุณ โยมมารดาชื่อ นางเลื่อน กุศลคุณ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๑๐ คน เป็นชาย ๔ คน หญิง ๖ คน ท่านเป็นบุตรคนโต มีรายชื่อตามลำดับดังนี้

(๑) พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล)
(๒) นางสมบูรณ์ มูลมั่ง
(๓) นายเผ่า กุศลคุณ
(๔) นางสอน เนื่องเฉลิม
(๕) นายเลิศ กุศลคุณ
(๖) นางก้าน กุศลคุณ
(๗) นายเผย กุศลคุณ
(๘) นางอูบแก้ว ยอดกุล
(๙) นางคําหล้า ทัศนาลักษณ์
(๑๐) นางคํามั่น แก้วตา

หลวงปู่บุญมีท่านเล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่ชื่อว่า บุญมี นั้น มีอยู่ว่า ก่อนที่โยมมารดาของท่านจะตั้งครรภ์ ได้ฝันว่า หลวงปู่สีทา ชยเสโน ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของหลวงปู่ได้เอาพร้ามาให้ แต่พร้าด้ามนั้นเป็นสนิมไปหมด ในนิมิตนั้นโยมมารดาท่านได้ถามหลวงปู่สีทาว่า “เอาพร้าขี้เมี่ยง (เป็นสนิม) นี้มาให้ทำไม ใช้ประโยชน์อะไรก็ไม่ได้”

หลวงปู่สีทาได้บอกว่า “ให้เอาไปฝน (ลับมีด) เสียก่อนจึงจะใช้การได้”

เมื่อโยมมารดาจะคลอด ก็เกิดอาการเจ็บท้อง (เจ็บครรภ์) อยู่นานเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ความทราบถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สีทา ชยเสโน พระองค์จึงได้เสด็จพร้อมกับหลวงปู่สีทา ชยเสโน มาเยี่ยมดูอาการโยมมารดาว่าเป็นเพราะอะไรจึงคลอดยากเย็นหนักหนา ครั้นถึงเวลาเที่ยงตรง ในสมัยนั้นไม่มีเครื่องบอกเวลาเหมือนในปัจจุบัน มีการบอกเวลาโดยการยิงปืนใหญ่เป็นสัญญาณ พอสิ้นเสียงปืนใหญ่ โยมมารดาก็คลอดทารกเพศชายออกมาเป็นเวลาเที่ยงพอดี และเสด็จในกรมทรงมีรับสั่งว่า “เด็กชายคนนี้ชะรอยจะเป็นผู้มีบารมีมาเกิด จะดีจะชั่วเพียงใดก็ไม่อาจรู้ได้ ขอให้ชื่อว่า บุญมี นะ” และมีรับสั่งให้โยมบิดาของหลวงปู่ห่อพันตัวแล้วนำไปลอดใต้ท้องช้าง กลับไปกลับมา ๓ ครั้งเพื่อเป็นสิริมงคล หลวงปู่จึงได้ชื่อว่า “บุญมี” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

หลวงปู่บุญมีในวัยเด็กนั้นมีสุขภาพร่างกายบอบบาง ไม่แข็งแรง เป็นเด็กที่เลี้ยงยาก เจ็บไข้อยู่บ่อยๆ สามวันดีสี่วันไข้ตลอดเวลา จนชาวบ้านที่ผ่านไปมาที่เป็นหญิงจะแวะเวียนเอานมมาให้กินเพราะสงสาร รวมทั้งเอาด้ายมาผูกคอและแขนให้เป็นจำนวนมากมาย เพื่อหวังให้สุขภาพร่างกายของเด็กชายบุญมีแข็งแรงยิ่งขึ้น ผีจะได้ไม่มารบกวน แต่ก็ไม่ค่อยได้ผลมากนัก จากคําบอกเล่าของ นางคํามั่น แก้วตา ผู้เป็นน้องสาวคนสุดท้อง เล่าว่า “หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ตอนเมื่อเกิดมานั้น มีผิวที่บอบบางมาก มองเห็นฮอดใส้ในท้อง ตัวกะน้อย”

แม้โยมมารดาได้ประคับประคองเลี้ยงดูเป็นอย่างดี แต่ก็ยังเป็นห่วงลูกอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นคนไม่ค่อยแข็งแรง ไม่อยากให้ไปทำมาหาเลี้ยงชีพที่เป็นงานหนักและอยู่ห่างไกล จึงบอกหลวงปู่ว่า “ลูกเอ๋ยบวชแล้วอย่าสึกนะ” จากคำพูดนี่เอง ทำให้หลวงปู่บุญมีรำลึกอยู่เสมอว่า จะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่


• การศึกษา

หลวงปู่บุญมี ได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งทางโลกและทางธรรม ตลอดจนการศึกษาพิเศษ ดังนี้

ปีพุทธศักราช ๒๔๖๕ จบชั้นประโยคประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนประชาบาลบ้านนาเมือง ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๐ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก (น.ธ.เอก) จากสำนักเรียนวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
โดย: majoy    เวลา: 2014-12-3 23:14
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย majoy เมื่อ 2014-12-3 23:45

การบรรพชาและการอุปสมบท
      
ในขณะเรียนชั้นประถมศึกษา โยมมารดาได้พาหลวงปู่บุญมีไปฝากเป็นลูกศิษย์วัดกับ หลวงปู่สีทา ชยเสโน (ซึ่งเป็นหลวงลุง) ณ วัดบูรพา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ท่านได้มีโอกาสกราบนมัสการรับใช้ใกล้ชิด พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งท่านอาจารย์ทั้งสองได้แวะเวียนมากราบนมัสการเยี่ยมหลวงปู่สีทา ชยเสโน พระอุปัชฌาย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระในสมัยนั้น อยู่เสมอ

เมื่อสิ้นหลวงปู่สีทา ชยเสโน ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๘ โยมมารดาจึงนำไปบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) จังหวัดอุบลราชธานี และในระหว่างบรรพชาเป็นสามเณรนั้น พระอาจารย์มั่นได้เมตตานำสามเณรบุญมีติดตามไปจำพรรษาที่จังหวัดสกลนครด้วย สามเณรบุญมีจึงมีโอกาสได้เรียนรู้ ซึมซับปฏิปทาจริยาวัตรของพระวิปัสสนาจารย์อย่างใกล้ชิดตั้งแต่เยาว์วัย ถือได้ว่าท่านเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่นอีกองค์หนึ่ง

เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี หลวงปู่บุญมีได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๔ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม จุลศักราช ๑๒๙๓ และตรงกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันวิสาขบูชา โดยมี พระเดชพระคุณพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาสว่าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เพ็ง เป็นพระอนุศาสนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “โชติปาโล” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้มีแสงสว่างในธรรม”


• ช่วงชีวิตสมณเพศ

หลังจากอุปสมบท หลวงปู่บุญมีได้มีโอกาสกราบนมัสการ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ผู้มีคุณูปการต่อกิจการคณะสงฆ์ภาคอีสาน และท่านเจ้าคุณฯ ก็ได้เมตตาต่อหลวงปู่บุญมี โดยอนุญาตให้ติดตามท่านไปอยู่จำพรรษา ณ วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร และวัดเขาพระงาม (วัดสิริจันทรนิมิต วรวิหาร) ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี อีกด้วย

ในช่วงชีวิตสมณเพศของหลวงปู่บุญมี ท่านได้ออกจาริกธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ ครั้งหนึ่งท่านได้ออกจาริกไปพร้อมกับ พระอาจารย์มหาสว่าง ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน โดยจาริกไปประเทศพม่า ลาว เวียดนาม และเลยไปถึงประเทศจีน เมื่อกลับจากประเทศจีน หลวงปู่บุญมีท่านได้ช่วย พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม สร้างวัดป่าสาลวัน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา อีกวัดหนึ่ง

นอกจากนี้หลวงปู่บุญมียังได้มีศรัทธาร่วมสร้างวัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับ ท่านพ่อลี ธัมมธโร เพื่อเป็นศูนย์วิปัสสนากรรมฐานแก่พุทธศาสนิกชน และยังได้ร่วมกับ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร สร้างวัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ รวมทั้งได้ร่วมกับ พระอาจารย์ดี ฉันโน สร้างวัดภูเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี อีกวัดหนึ่งด้วย

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๐ หลวงปู่บุญมีเดินทางกลับมายังจังหวัดอุบลราชธานี และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระประสานสุข โดยท่านได้ทำการพัฒนาก่อสร้างวัดสืบต่อจากพระเดชพระคุณพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) เจ้าอาวาสวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) ซึ่งเป็นผู้นำพาในการสร้างวัดสระประสานสุขและเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน หลวงปู่บุญมีได้พัฒนาวัดสระประสานสุขซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่านให้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงทั่วไปเรื่อยมาตามลำดับ



โดย: majoy    เวลา: 2014-12-3 23:23
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย majoy เมื่อ 2014-12-3 23:45

คำสอนหลวงปู่
เครดิต http://www.thanachaisupply.com

พระแก้ว 2 องค์ ตามความหมายของหลวงปู่บุญมี สอนให้ลูกมีความกตัญญููกับคุณพ่อ คุณแม่  ท่านสอนมาโดยตลอด ตราบจนท่านละสังขาร  วัตถุมงคลบ้างรุ่น ท่านตั้งชื่อ “พระแก้วรักษา”  เข้าใจว่าฝากไว้เป็นปริศนาธรรมให้กับผู้ที่ศรัทธาท่าน  เหรียญพระแก้วรักษา  ก็ยังพอมีให้เช่าบูชาที่วัดสระประสานสุข (บ้านนาเมือง) ราคา 120 บาท  เหรียญนี้มีบ้างคนเช่าไป มีประสบการณ์  ปัจจัยที่ได้นำไปสร้างเจดีย์ธาตุหลวงปู่บุญมี

อ้างอิงจากเว็ป พลังจิต…..อีกหนึ่งคำสอนของหลวงปู่บุญมี โชติปาโล

“ดีชั่วก็ตัวเรา จงเอาอยู่ที่ใจ
สวรรค์อยู่ที่ใจ อย่าสงสัย เอาใจเถิด
เดินทางเดียวกัน อย่าเหยียบรอยกัน
ทำสมาธิให้ภาวนา ตาย ตาย ตาย ทุกลมหายใจ”

“ละชั่วประพฤติดี ละทิฐิไม่เป็นพาล หวังเพื่อพระนิพพาน บำเพ็ญญาณสนองคุณ”

หลวงปู่จะสอนเสมอว่า พระแก้วสององค์ คือ บิดามารดา ให้ละลึกถึงบุญคุณอยู่เสมอ ๆ ความกตัญญูคือสิ่งที่ ล้ำค่า
“ให้เชื่อความดีที่เราทำ ให้เชื่อกรรมที่เราสร้าง”  
“คนยากจน เพราะความตระหนี่ คนเป็นเศรษฐี เพราะบริจาคทาน”



โดย: majoy    เวลา: 2014-12-3 23:40
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย majoy เมื่อ 2014-12-3 23:45

อ้างอิงจากเว็ปพลังจิต : อำพล เจน ……

มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่ง  
“หมอตำแย ทำงานส่งสัปเหร่อ”   นั่นหมายถึง เกิดแล้วต้องตาย ถ้าไม่อยากตาย ต้องไม่อยากเกิด

ในทางโลก การเกิดเป็นเรื่องน่ายินดี การตายเป็นเรื่องเศร้า ในทางธรรม การเกิดเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ การตายเป็นการสิ้นทุกข์ไปคราวหนึ่ง เว้นแต่ผู้ถึงซึ่งพระนิพพาน การตายครั้งสุดท้ายจะปรากฏ แต่ใครจะรู้ นอกจากตัวเอง

หลวงพ่อบุญมี โชติปาโล วัดสระประสานสุข อุบลราชธานี ได้ถึงกาลมรณภาพแล้ว เมื่อเวลา 11.45 น. ของวันที่ 4 มิ.ย. 2547 มีอายุรวม 95 ปี 3 เดือน 4 วัน  เพิ่งรู้ว่าตัวเองยังไปไม่ถึงไหน ยังอยู่ในโลกอันตระการดุจราชรถที่คนเขลามัวข้องอยู่ เพราะว่าเศร้าเหลือพรรณนา

ในรอบ50 ปีหลังนี้เมืองอุบลฯมีครูบาอาจารย์ 2 องค์ เป็นหลักคือหลวงพ่อชา สุภัทโท กับหลวงพ่อบุญมี โชติปาโล ที่อาจกล่าวได้ว่า มีคุณธรรมเสมอกัน เป็นหลักยึด 2 หลัก ให้คนกำลังค้นหาแสงสว่างในธรรมได้ยึด แต่แล้วธรรมชาติก็ทำงานของมันไปอย่างไม่ปรานี มันทำลายอายุขัย และสังขารของหลักยึดทั้งสองให้สิ้นไปในที่สุด ธรรมชาติอีกเหมือนกันที่ยังให้คุณแก่ผู้ยังอยู่ได้มีความทรงจำที่ดีต่อไป  

ความทรงจำแจ่มชัดในวัยเด็กอันเกี่ยวข้องกับหลวงพ่อบุญมี โชติปาโล มีแม่ของผมรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง แม่ผู้ซึ่งมีหลวงพ่อเป็นพระในใจอยู่ตลอดเวลากับการแสดงออกด้วยการเดินทางไป กราบนมัสการถวายอาหาร และข้าวของทุกวันหยุดประจำสัปดาห์ นั่นจึงเป็นเหตุให้มีผมได้ร่วมเดินทางทุกครั้ง  วันเสาร์เมื่อไหร่จะบอกตนเองเตรียมพร้อมไว้ ถ้าวันนี้แม่ไม่ไปก็จะเป็นพรุ่งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย  

สมัยนั้น (ราว ๆปี 2505) สนามบินนานาชาติทุกวันนี้ยังมีสภาพไปทุ่งโล่ง มีลานบินคอนกรีตอยู่แค่ให้เครื่องบินขนาดเล็กขึ้นลงได้ เราใช้สนามบินเป็นทางเดินเท้าที่ลัดที่สุดเพื่อไปวัดหลวงพ่อ โดยการเดินตัดผ่านสนามบินทุกสัปดาห์ และมีเพื่อนร่วมทางบ่อยที่สุดของแม่คือ น้าชัยฮวดซิ้ม กับอีกคนที่ไม่ถึงกับบ่อยนักคือ อาเหรียญห้ากู๊ ซึ่งมีลูกสาวรุ่นราวคราวเดียวกับผมคือ ปอเตียง ทั้งยังเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน ห้องเดียวกันอีกด้วย ปอเตียง เป็นเด็กเรียนเก่ง สอบได้ที่ 1 ทุกครั้ง ส่วนผมที่เป็นทั้งเพื่อนสนิทในตอนนั้น ทั้งเป็นญาติกันอีกต่างหากได้ลำดับประมาณ 10 จะอ่อนแก่ก็แล้วแต่จังหวะของข้อสอบครั้งหนึ่งผมสอบได้ที่ 2 ส่วนปอเตียงยังคงได้ที่ 1 เหมือนเดิม เกิดเหตุอัศจรรย์ไปทั้งวงศ์สกุล แต่เบื้องหลังไม่มีใครทราบข้อเท็จจริง นอกจากปอเตียงกับผม 2 คน ปอเตียงให้ผมลอกข้อสอบ ไม่ใช่ย่อย รู้จักทุจริตข้อสอบตั้งแต่อายุแค่ 7 ขวบ นั่นแหละครับ ผมจึงมีเพื่อนคนเดียวที่ได้ร่วมเดินทางไปวัดหลวงพ่อ ในขณะที่แม่มีเพื่อน 2 คน  ระหว่างเดินลัดสนามบิน หน้าฝน มีน้ำเจิ่ง และทุ่งดอกหญ้าสารพัดชนิด เด็ก ๆ 2 คนไม่เบื่อเลยที่จะวิ่งเก็บดอกไม้ และเอาเท้าทั้ง 2 ข้าง วิ่งลุยน้ำ กลิ่นอายของต้นหญ้า ดอกไม้ และน้ำฝนยังคงจำได้ทุกวันนี้  หลวงพ่อในสมัยนั้นกับสมัยปลายชีวิตของท่านยังอยู่ในอิริยาบถ และบรรยากาศเก่าๆ ยังนั่งอยู่บนศาลาพื้นเตี้ย ทำด้วยไม้ มุงสังกะสี คล้าย ๆ เพิงหมาแหงน แม้ว่าวัดจะใหญ่โตมโหฬารแค่ไหน ศาลาไม้เก่า ๆ ยังอยู่   จำไม่ลืมคือ การเหยียบหัว  ผมถูกเหยียบหัวทุกครั้งที่พบท่านในวัยเด็ก ทั้งชอบและเกลียดสถานการณ์แบบนี้ คือ ชอบเพราะรู้สึกอบอุ่น ใกล้ชิด เกลียดเพราะท่านรู้ความลับที่ผมมีอยู่ในใจคนเดียวได้อย่างไร

คำสอนพรั่งพรูออกจากปาก คำเดียวที่จำแม่นคือ ให้ปรนนิบัติกราบไหว้พระแก้ว 2 องค์ที่บ้าน คือ พ่อ กับ แม่ สอนอยู่เช่นนี้จนแม้ปลายชีวิตของท่านก็ยังสอนไม่เสร็จ ใช่แต่ผม ท่านสอนทุกคน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ให้รู้จักกตัญญูกตเวทิตาแก่พระแก้วที่บ้าน เหมือนว่าเป็นคุณธรรมแห่งอนาคต ที่ทำนายว่าวันหนึ่งพระจะลงนรกกันหมด ทำบุญกับพ่อแม่ในตอนนั้นจะมีอานิสงส์มากที่สุด ไม่มีทางรู้ว่าสมัยอันนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่ท่านสอนให้ระลึกถึงพระแก้ว 2 องค์ อยู่เป็นนิตย์ เป็นเหตุให้การกราบพระก่อนเข้านอนของผม มี 6 ครั้ง  จนถึงวันที่กลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว พระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, หลวงพ่อบุญมี, พ่อ, แม่  แปลกที่ความทรงจำของผมจะมีอยู่แค่ช่วงสั้น ๆ แต่เพียงครั้งยังเด็ก นึกถึงหลวงพ่อเมื่อใด วัยเด็กแจ่มชัดทุกคราว แม้เห็นผ้าเช็ดหน้าที่ท่านลงอักขระด้วยปลายนิ้วชี้ที่ทำให้ผมแต่คราวโน้น ความทรงจำก็มีอยู่แค่คราวนั้น  ผ้าเช็ดหน้าสีขาวกลายเป็นเหลืองหม่น เป็นของมงคลอันเดียวที่ผมมีไว้ระลึกถึงท่าน วันที่แม่ใกล้จะสิ้นอายุขัย หลวงพ่อบุญมีอุ้มบาตรมาเยี่ยมไข้ที่แสนหนักถึงบ้าน เพื่อให้แม่ได้ใส่บาตร ก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่ไม่ลืม

ยังพอมีความทรงจำที่แจ่มใสอีกอันหนึ่งเกิดขึ้นในคราวที่ทุกสิ่งทุกอย่างหาย ไปจากชีวิต หรือว่าชีวิตของผมหายไปจากทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ทราบ พ่อแม่ตาย อาเหรียญฟ้าตาย ปอเตียงหายสาบสูญไปไหนไม่รู้ผมกลับมาหาหลวงพ่ออีกครั้ง หลังจากไม่พบท่านเกือบ 30 ปีเดินเข้าไปในวัดอย่างคุ้นเคยเช่นเดิม ไม่พบหลวงพ่อ แต่คนวัดบอกว่าท่านอยู่อีกด้านหนึ่งของวัด ผมมุ่งหน้าไปเห็นพระแก่ ๆนั่งยองเอาผ้าคลุมหัวอยู่ใต้ร่มไม้ เข้าไปกราบด้วยแน่ใจว่าเป็นท่าน “มาหาใคร”“มาหาหลวงพ่อ”“นี่ไม่ใช่หลวงพ่อ หลวงพ่ออยู่โน่น” ท่านชี้ไปทางศาลาการเปรียญ  ผมถอยกลับมาพอดีพี่สาวตามมาถึง ผมบอกว่า หลวงพ่ออยู่ที่ศาลา “ใครบอก” “หลวงพ่อองค์ที่นั่งอยู่นั่นแหละบอก”  “นั่นแหละหลวงพ่อ”  กลับเข้าไปใหม่กราบท่านพร้อมๆกับพี่สาว ท่านไม่พูดอะไร จนกระทั่งพี่สาวกราบเรียนท่านว่า  “น้องชายหล่า (สุดท้อง) มาแต่กรุงเทพฯ พามากราบหลวงพ่อ หลวงพ่อจำได้ไหมเจ้าคะ”  “นี่ไม่ใช่น้องชายหล่า” ท่านตอบ  ผมไม่รู้ปริศนาธรรมอันนี้ แต่ผมจำได้แม่นไม่เคยลืม  ไม่มีอะไรใช่ทุกอย่าง  ไม่ใช่ไปหมดทุกอย่าง    จนถึงวันนี้ วันที่หลวงพ่อจากไปแล้ว และขณะที่กำลังรำลึกถึงท่านตามแบบของผม ก็ยังไม่รู้ว่าใช่หรือไม่ บางที่จะค้นพบแสงสว่างแห่งธรรม แล้วเข้าใจว่านั่นไม่ใช่แสงสว่างแห่งธรรม จึงจะเป็นวันที่เข้าใจปริศนาของคำว่าไม่ใช่ก็ได้ใครจะรู้

โดย: majoy    เวลา: 2014-12-5 10:35
อาจารย์บอกว่า แนวทางคำสอนเหมืออนหลวงปู่ ดันมาให้อ่านครับ
โดย: padiphatbeer    เวลา: 2014-12-8 20:36
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย padiphatbeer เมื่อ 2016-9-1 09:27

https://www.youtube.com/watch?v=6ypvw-RDQ28.  หลานหลวงปู่บุญมี โชติปาโล หลวงปู่หนูวัดหนองหว้า ต.ขามใหญ่อ.เมือง จ.อุบล
โดย: Nujeab    เวลา: 2014-12-9 14:53
กราบสักการะหลวงปู่บุญมีครับ สาธุ
โดย: padiphatbeer    เวลา: 2014-12-26 20:49
วันนี้ไปกราบสังขาร หลวงปู่บุญมี โชติปาโล ในโลงแก้วที่วัดสระประสานสุข ใจผมนีสั่นไปหมดเลยครับ
โดย: padiphatbeer    เวลา: 2015-1-6 18:04
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย padiphatbeer เมื่อ 2015-1-6 18:06


(๖) พากล่าวถวายทาน และคํากล่าวต่างๆ

พากล่าวทานสิ่งของ เมื่อมีชาวบ้านญาติโยมนําของ หรือสังฆทานมาถวายที่วัด หลวงปู่บุญมีท่านจะพานํากล่าวทานโดยให้ผู้ที่นําสังฆทานมาถวาย หรือภัตตาหารมาถวายกล่าวตาม ดังนี้

“สาธุ ทานได้ทานดี ทานฮั่งทานมี เกิดมาบ่อดบ่อยาก ปู่ย่าตายาย พระแก้ว ๒ องค์ได้รับส่วนบุญ รับแล้วให้ลูกให้หลานมีอายุมั่นขวัญยืน มีเงินหมื่นเงินแสน มืนตาขึ้น พ้อแต่เงินหมื่นเงินแสน บ่อดบ่อยาก ทานได้ ทานเป็นเศรษฐี ทานหนีจากทุกข์ พ้อแต่ความสุข สาธุ”

“สาธุ ลูกๆ หลานๆ เกิดมาบ่อดบ่อยาก ทานเอาดิบเอาดี ทานเอาฮั่งเอามี ใช้หนี้ใช้สิน ปู่ย่าตายาย พระแก้ว ๒ องค์ ผู้รักษาชีวิต อุทิศเลี้ยงมา ได้ไก่เป็นทาน ไก่นี้เป็นพระเจ้าองค์ที่ ๑ เป็นผู้พาเดิน ปูทาง เป็นผู้พาหนีจากทุกข์ เป็นผู้พาหาความสุข ขันตามเวลา ตามนาฬิกา ไก่นี้เกิดมาเป็นพระเจ้าองค์ที่ ๑ ผู้ข้าเกิดมา ชาติใดๆ ขอได้พบพระเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ พระเจ้าไก่ พระเจ้าเหน พระเจ้าเต่า พระเจ้าโค พระเจ้าคน ทั้ง ๕ พระองค์นี้ เกิดชาติใดๆ ได้พบได้เห็น ด้วยอํานาจวาสนา สาธุ”

พากล่าวให้ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และไหว้คุณบิดามารดา หลวงปู่บุญมีท่านจะให้ชาวบ้านญาติโยมนั่งพนมมือ หันหน้าไปหาพระพุทธรูปแล้วกล่าวตามว่า

“สาธุ ข้าขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระพุทธ เชื่อแล้ว เป็นแก้วศักดิ์สิทธิ์ประจําชีวิต ของลูกของหลานตลอดชีวิต กราบ...สาธุ ข้าขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระธรรม คําสอนของพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติตรัสไว้ดีแล้ว เป็นแก้วศักดิ์สิทธิ์ประจําชีวิต มาแต่มื้อเกิด กราบ...สาธุ ข้าขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระสงฆ์องค์ปฏิบัติ ตามธรรมมะวินัย เชื่อแล้ว เป็นแก้วศักดิ์สิทธิ์ประจําชีวิต ของลูกของหลานตลอดชีวิต กราบ...สาธุ ข้าขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระแก้วองค์ที่ ๑ ผู้ให้กําเนิดเกิดเป็นคนมา มาแต่วันก่อเกิด เชื่อแล้ว เป็นแก้วศักดิ์สิทธิ์ประจําชีวิต มาแต่มื้อเกิด กราบ...สาธุ ข้าขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระแก้วองค์ที่ ๒ ผู้ให้กําเนิดเกิดเป็นคนมา ให้น้ำนมและข้าวป้อน รักษาชีวิตมาแต่วันก่อเกิด เชื่อแล้ว เป็นแก้วศักดิ์สิทธิ์ประจําชีวิตมาแต่มื้อเกิด กราบ”

พากล่าวระหว่างที่ประพรมน้ำมนต์ เมื่อหลวงปู่บุญมีท่านประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ท่านมักจะพาชาวบ้านญาติโยมกล่าวตาม ซึ่งเป็นการสอนอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนี้

“ฝนห่าแก้วตกแล้วชุ่มเย็น ล้างโรคล้างภัย ล้างไข้ล้างหนาว ล้างเจ็บล้างป่วย ล้างซวยออกให้เบิด เกลี้ยงดีพลีงาม ฝนห่าแก้วตกแล้วชุ่มเย็น ฝนห่าแก้วล้างโรคล้างภัย ล้างหวัดล้างไอ ล้างไข้ล้างหนาว ล้างเจ็บล้างป่วย ล้างซวยให้เบิด เกลี้ยงดีพลีงาม สดใส บ่มีโรคบ่มีภัย บ่มีไข้บ่มีหนาว บ่มีเจ็บบ่มีป่วย ความซวยหายเบิด ความรวยเกิดขึ้น มีอายุหมั่นยืน ลืมตาขึ้นพ้อแต่เงินแต่คํา พ้อแต่สิ่งอยากได้ รวยอํานาจวาสนา เกิดมาบ่อดบ่อยาก สาธุ”

พากล่าวปฏิบัติตน หลวงปู่บุญมีท่านใช้คําว่า “เอาบุญทางใจ” เมื่อมีชาวบ้านญาติโยมมาปฏิบัติตน ทั้งการนั่งสมาธิ การให้ทาน การเจริญภาวนาต่างๆ ท่านจะพากล่าวตาม ดังนี้

“สาธุ ลูกๆ หลานๆ มาละลดความวุ่นวาย ความเสียหาย ละลดปดถิ่ม มาละลดโรคภัยไข้เจ็บ ทํามาด้วยความมืดความหลง สิ่งที่ไม่ดีมาละลดปดถิ่ม มาละลดเคราะห์เข็ญกรรมเวร เจ้ากรรมนํามาสิ่งที่ไม่ดี มาละลดปดถิ่ม เอากรรมดี ทํามั่งทํามี สร้างเงินสร้างคํา สร้างข้าวสร้างน้ำ มาต่อชีวิต มาต่อเอาดี มาต่อเอาฮั่งเอามี ต่อเอาเงินเอาคํา ต่อชีวิตจิตใจ เกิดมาเป็นคนบริสุทธิ์ เป็นคนดีมีราคา มีปัญญา รักษาตัวได้ สาธุ”
โดย: padiphatbeer    เวลา: 2015-1-6 18:15
พากล่าวทานไถ่ชีวิตสัตว์ หรือการต่ออายุ เมื่อหลวงปู่บุญมีท่านประกอบพิธีกรรมต่ออายุ ท่านจะพาชาวบ้านญาติโยมกล่าวทานไถ่ชีวิตสัตว์ ดังนี้

“สาธุ อะหังวันทามิ สัตว์ตัวน้อยตัวใหญ่ เป็ดไก่ปูปลา ได้ฆ่ากินมาแต่มื้อเกิด เป็นอาหาร มื้อนี้ให้ชีวิตสัตว์เป็นทาน ให้พ้นจากความตาย พ้นจากความเสียหาย ชีวิตของข้าเป็นเนื้อเป็นหนัง เกิดเป็นสัตว์จําพวกนี้ ในวันนี้ละลดปลดกรรม อย่ามีกรรมมีเวร มาผูกมาพัน มาเกี่ยวมาข้อง เวรอันใดให้แล้วให้หาย หายแต่วันนี้ต่อไป มีอายุหมั่นยืน สาธุ เบิดเคราะห์เบิดเข็ญ หวิดโรคหวิดภัย ไชโยข้าชนะแล้ว พ้นแล้ว ถึงแล้ว รู้แล้ว พระแก้วรักษา ไชโย เบิดกรรมเบิดเวร เบิดเคราะห์เบิดเข็ญ”

พากล่าวเป็นแนวทางในการดําเนินชีวิต หลวงปู่บุญมีท่านจะพานํากล่าวหลักในการดําเนินชีวิตเป็นประจํา เพื่อกระตุ้นให้คิดพิจารณาและนําไปปฏิบัติตาม ดังนี้

“สาธุละชั่ว ประพฤติดี ละทิฐิ ไม่เป็นพาล หวังเพื่อพระนิพพาน บําเพ็ญญานสนองคุณ สนองแล้วคุณพระแก้ว ๒ องค์ประจําชีวิต ทุกก้าวเดินไปมา สาธุ”


• หลักคําสอน  

หลวงปู่บุญมีท่านได้นําหลักธรรมในพระไตรปิฎกมาประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานตามวาระโอกาส และความจําเป็น หรือความต้องการให้ประชาชนชาวอีสานและผู้ฟังได้นําไปประยุกต์และปฏิบัติเป็นพื้นฐาน และพัฒนาต่อไปจนถึงขั้นโลกุตรธรรม สามารถจําแนกหลักคําสอนของท่านได้ดังนี้


โดย: padiphatbeer    เวลา: 2015-1-6 18:16
หลักคําสอน  

หลวงปู่บุญมีท่านได้นําหลักธรรมในพระไตรปิฎกมาประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานตามวาระโอกาส และความจําเป็น หรือความต้องการให้ประชาชนชาวอีสานและผู้ฟังได้นําไปประยุกต์และปฏิบัติเป็นพื้นฐาน และพัฒนาต่อไปจนถึงขั้นโลกุตรธรรม สามารถจําแนกหลักคําสอนของท่านได้ดังนี้

หลักคําสอนการดําเนินชีวิต หลวงปู่บุญมีท่านมีหลักในการดําเนินชีวิตเพื่อให้ชีวิตที่เป็นสุข โดยใช้คําพูดที่กะทัดรัดเป็นประโยคซึ่งถือว่าเป็นความคิดรวบยอดในการดําเนินชีวิต เช่น “ละชั่ว ประพฤติดี ละทิฐิ ไม่เป็นพาล หวังเพื่อพระนิพพาน บําเพ็ญญาณสนองคุณ” ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิธีการที่ง่ายต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและง่ายต่อการจดจํา แล้วนําไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง จากประโยคดังกล่าวหลวงปู่บุญมีท่านได้อธิบายว่า

“ละชั่ว ประพฤติดี” ซึ่งมีความหมายชัดเจนในตัวของประโยค สอดคล้องกับหลักทั่วไปทางพระพุทธศาสนาคือ เว้นจากความชั่ว ประพฤติความดี และการทําจิตใจให้บริสุทธิ์ “ละทิฐิ ไม่เป็นพาล” ทิฐิ ได้แก่ คนไม่เชื่อไม่ฟังคนอื่น ไม่เชื่อแม้แต่ตัวเอง การไม่เชื่อตัวเองนี้ก็คือการไม่ทําความดีให้กับตัวเอง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคนมีทิฐิมานะ มานะถือว่าตนดีเลิศประเสริฐ ทําผิดก็ไม่ยอมรับผิด ละก็คือไม่ให้บังเกิดขึ้นเลย ให้หมดสิ้นไป ละทิฐิ ไม่เป็นพาล ก็คือลดทิฐิและไม่เป็นพาล เป็นพาลก็เกิดจากทิฐินั้นเอง “หวังเพื่อพระนิพพาน” นิพพานถือได้ว่าเป็นจุดหมายสูงสุดของการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เป็นหนทางดับทุกข์ “บําเพ็ญญาณสนองคุณ” การบําเพ็ญญาณนั้นมีหลายลักษณะ ได้แก่ การให้ทานเพื่อชดใช้หนี้สิน หนี้สินที่ติดตัวของเรามาจากพระแก้ว พระแก้วก็คือพ่อและแม่ ซึ่งถือว่าพ่อและแม่เป็นบุคคลที่เราควรกตัญญูรู้คุณ เปรียบเทียบได้ว่าพระพุทธเจ้าท่านยังทําเป็นตัวอย่างในการกตัญญูรู้คุณบิดามารดาคือ การบวช การบําเพ็ญญาณเพื่อสนองคุณนั้น คือ การปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา หมั่นให้ศีลให้ทาน รักษาศีล หรือการบวช ซึ่งท่านจะเน้นการบวชเพื่อทดแทนคุณบิดามารดา หลวงปู่บุญมีท่านจะสอนให้สนองคุณบิดามารดา รวมทั้งสอนให้มีความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ พระมหากษัตริย์ และประเทศ


โดย: padiphatbeer    เวลา: 2015-1-6 18:17
หลักคําสอนความกตัญญูต่อบิดามารดา หลวงปู่บุญมีท่านเน้นย้ำเรื่องความเคารพและความกตัญญูต่อบิดามารดามาก ซึ่งท่านใช้คําว่า “พระแก้ว” แทน บิดามารดา คําว่า พระแก้วคือเป็นแก้วที่ดีกว่าทุกอย่าง แก้วสารพัดนึกเป็นแก้วที่คนเราทุกคนต้องระลึกถึงเสมอ บางครั้งท่านก็สะกิดใจให้รู้คุณของพระแก้ว และตําหนิผู้ที่ไม่รู้จักตอบแทนคุณพระแก้ว ถ้าเป็นเจ้านายก็ไม่ก้าวหน้า เป็นพ่อค้าพ่อขายก็ร่อยหรอล่มจม ความกตัญญูต่อบิดามารดานี้ หลวงปู่บุญมีท่านจะมีวิธีการสอนที่หลากหลายเพื่อให้เข้าใจและระลึก คําว่า “ระลึก” แสดงให้เห็นถึงเมื่อรับรู้และเข้าใจแล้วนําไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจําวัน โดยหลวงปู่บุญมีท่านมักใช้คําผญาอีสานซึ่งเป็นภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของอีสาน เช่น “ทางเส้นเค้าอย่ากวดหนามปก อย่าไปเทียวทางฮกป่าดงเสือฮ้าย เสือบายเจ้าบ่มีผู้ซ่อย บัดห่าจ่อย บ่มีผู้ซ้ำบ่แล” จากประโยคดังกล่าวท่านได้อธิบายว่า

“ทางเส้นเค้าอย่ากวดหนามปก” ทางเส้นเค้าก็คือพ่อกับแม่ อย่ากวดหนามปกก็คืออย่าทําไม่ดีกับพ่อแม่ ให้เชื่อฟังกตัญญูรู้คุณ และหมั่นทําบุญ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อจะได้ส่งผลบุญนี้ไปใช้หนี้สินบิดามารดา “อย่าไปเทียวทางฮกป่าดงเสือฮ้าย” คือเป็นการเตือนเรื่องการคบมิตร คนไม่ดีนั้นเปรียบได้เหมือนกับเสือ “เสือบายเจ้าบ่มีผู้ซ่อย บัดห่าจ่อย บ่มีผู้ซ้ำบ่แล” เมื่อคบคนไม่ดีแล้วก็จะนําพาเราไปในทางที่ไม่ดีด้วย ไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากตัวเอง ซึ่งทั้งหมดเป็นการสอนให้เชื่อฟังบิดามารดา การคบมิตร และโทษของการคบมิตร

นอกจากนั้น หลวงปู่บุญมีท่านได้ใช้วิธีการเล่านิทาน เรื่องความกตัญญูของพระพุทธเจ้า เพื่อให้ผู้ฟังตระหนักถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นแบบอย่างในความกตัญญู ดังนี้ “พระพุทธเจ้าท่านให้พรพระแก้วของท่านตอนอยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท่านบรรยายธรรมอันประเสริฐ ทดแทนหนี้สินพระแก้ว พวกรุกขเทวดาบริวารของนางสิริมหามายาเป็นหมื่นเป็นแสนมาฟัง พากันร้องไห้สนั่นหวั่นไหว เสียใจว่าไม่ได้ลูกดีเหมือนนางสิริมหามายา” พระพุทธเจ้าได้เอ่ยขึ้นว่า “เจ้าจะพากันมาร้องอย่างนี้ไม่มีประโยชน์อะไร ตั้งใจปฏิบัติตน สร้างตนให้ดี หาทานให้ดีแล้วจึงมาสํานึกระลึกปรารถนาเอาลูกที่ดี เราจะได้ด้วย ความร้องไห้อย่างนี้มันจะได้หรือ” พวกนั้นเลยหยุดการร้องไห้ เวลาเป็นเทวดาก็ไม่รู้จักทดแทนพระแก้ว บูชาพระแก้ว เป็นหนี้ทับตัวอยู่ไม่รู้ แล้วจะไปร้องไห้มีประโยชน์อะไร” จะเห็นได้ว่าเป็นความสามารถที่หลวงปู่บุญมีท่านใช้สั่งสอน

โดย: padiphatbeer    เวลา: 2015-1-6 18:17
วิธีการอีกอย่างหนึ่งที่ถือว่าได้ผลเป็นที่ประจักษ์ คือหลวงปู่บุญมีท่านให้กล่าวตาม ดังนี้ “สาธุ ข้าขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระแก้วองค์ที่หนึ่ง ผู้ให้กําเนิดเกิดเป็นคนมา มาแต่วันก่อเกิด เชื่อแล้ว เป็นแก้วศักดิ์สิทธิ์ประจําชีวิตมาแต่มื้อเกิด” กราบ (คําสั่ง) ต่อจากนั้นท่านจะสอนโดยที่ชาวบ้านญาติโยมกําลังหมอบกราบอยู่ว่า “พระแก้วองค์ที่หนึ่งผู้ให้กําเนิดเขาเรียกว่า พ่อ พูดภาษาหยาบๆ ว่าอีพ่ออีแม่...” เอาขึ้น (คําสั่ง) พอลุกขึ้นแล้วท่านพานํากล่าวต่อว่า “สาธุ ข้าขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระแก้วองค์ที่ ๒ ผู้ให้กําเนิดเกิดเป็นคนมา ให้น้ำนมและข้าวป้อน รักษาชีวิต มาแต่วันก่อเกิด เชื่อแล้ว เป็นแก้วศักดิ์สิทธิ์ประจําชีวิตมาแต่มื้อเกิด” กราบ (คําสั่ง) ขณะที่ชาวบ้านญาติโยมกําลังหมอบกราบอยู่นั้น ท่านจะสอนว่า “พระแก้วองค์ที่ ๒ เราใหญ่มาแล้วเลยเห็นพระแก้วเป็นผ้าเช็ดมือเช็ดเท้า พระแก้วเว้าพระแก้วสอนกะว่า เฮ้ยเจ้าคนล้าสมัยอยู่อย่าสิเว้าผัดว่า เลยถือว่าพระแก้วนี้เป็นคนล้าสมัย โตมาลืมพระแก้วนี้หละเพิ่นว่าลืมชีวิตเจ้าของ คั่นลืมพระแก้วแปลว่าบ่มีความรู้รักษาโต พระพุทธเจ้าเพิ่นสร้างบารมีมาท่อใด กะหยังเป็นหนี้อยู่ หนี้พระแก้ว จนได้ฮอดพระแก้วไปเกิดอยู่ชั้นดาวดึงส์ ท่านกะนําไปใช้ค่าน้ำนมและข้าวป้อน” เอาขึ้น (คําสั่ง) ในขณะหมอบกราบนั้น ทุกๆ ครั้งท่านจะบอกให้ผู้ที่หมอบกราบอยู่นั้นระลึกให้เห็นหน้าบิดามารดาของตนเองทุกครั้งไป เป็นเทคนิควิธีในการย้ำเตือนอย่างหนึ่ง

หลักคําสอนให้พิจารณาตนเอง หลวงปู่บุญมีท่านให้พิจารณาที่ตนเป็นที่ตั้ง คือให้ระลึกถึงว่าตัวเป็นคน อย่าให้ความวุ่นวายเสียหายมาครอบงําประจําใจ คน หมายความว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในทางดีมีปัญญา หาทางดีให้แก่ตัวได้ ดีกายก็เรียกว่ากายเรียบร้อย ดีวาจาก็เรียกว่าวาจาเรียบร้อย ดีใจก็เรียกว่าใจเรียบร้อย ๓ อย่างนี้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณงามความดี และท่านมักกล่าวด้วยคําพูดที่สะกิดใจว่า ไอ้คนวุ่นวายเสียหายนั่น มันเป็นบ้าไปในทางเสียหาย มันบ่ฮู้เมื่อว่ามันเป็นคน...บ่มีความฉลาด ฮู้เมื่อตัวแล้วกะบ่กลัวความเสียหายอีกด้วย นั้นยังเรียกว่าไม่ใช่คนหนา “เกิดมาให้เป็นคน แล้วเป็นหยังคือจังบ่เฮ็ดความดีให้แก่ตน เกิดมาเสียเปล่า เกิดมาเน่าอยู่ในโลกสงสาร บ่ได้ไปนิพพานนําพระพุทธเจ้า ฟ้าวแต่นําลูกนําหลานบ่อนสิพาคลานเข้าหม้อนรก ละความทุกข์บ่ได้วุ่นวายทําลายตัว พูดซ่ำนี้กะฮู้เมื่อบ่เล่า” การใช้ผญาอีสานสอนเรื่องให้พิจารณาตัวเอง ไม่ให้พูดเรื่องของคนอื่น เช่น “อย่าไปโสดาด้วยความดีของผู้อื่น มันบ่ลื่นค่าขนดัง ใผได้ยินได้ฟัง เขาด่าโคตรพ่อโคตรแม่” หลวงปู่บุญมีท่านได้อธิบายว่า ความดีของคนอื่นหรือเรื่องของคนอื่นเราอย่าได้ไปสนใจ ขนาดเรื่องขนจมูกของตัวเองเรายังไม่เห็น ซึ่งหมายถึงเรื่องของตัวเองยังไม่เข้าใจ

โดย: padiphatbeer    เวลา: 2015-1-6 18:18
หลักคําสอนให้สํารวมวาจา หลวงปู่บุญมีท่านสอนในเรื่องการพูด ท่านให้ความหมายของคําพูดว่า คําพูดเป็นคําที่ศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ ถ้าพูดให้เสียหายก็เสียหายที่สุด ท่านเรียกคําพูดที่มีคุณค่าว่า คําพูดเป็นเอก คําว่าเอกเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นคําเลิศประเสริฐ พูดออกไปแล้วมีค่า เป็นสิ่งที่หาเปรียบเทียบไม่ได้ ไม่ใช่คําพูดที่เสียหาย พูดเสียหายถือว่าเป็นคําเหลวไหล คําเป็นโทษเหลือที่สุด คําพูดเสียหายที่เกิดโทษก็คือการพูดในเรื่องของคนอื่น ดังที่ท่านชี้ให้เห็นโทษของการพูดเรื่องของคนอื่น เป็นผญาอีสานว่า “อย่างมงัวก้างกินกลอยท้องอึ่งหลึ่ง”

หลวงปู่บุญมีท่านได้อธิบายว่า “ก้าง” หมายถึง สิ่งที่ไม่มีประโยชน์นํามาพูดกัน สิ่งที่เป็นโทษนํามาพูดกัน สิ่งรักษาชีวิตไม่ได้นํามาคุยกัน มีแต่จะทําลายตัวเอง เหมือนกับ “กินกลอยท้องอึ่งหลึ่ง” ซึ่งกลอยนั้นเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ชาวอีสานนํามานึ่งกิน ถ้ากินมากไม่ดีเพราะว่ามันจะไปขยายตัวในท้อง คําว่า ท้องอึ่งหลึ่ง คือ กินกลอยมากจนทําให้แน่นท้อง เป็นอยู่ไม่สบาย

บางครั้งหลวงปู่บุญมีท่านจะย้ำโดยการตั้งคําถาม “แม่นบ่ล่ะ” เพื่อเป็นการย้ำหรือสะกิดใจให้เกิดความระลึก ซึ่งคําว่า ระลึก คือ การรู้และเข้าใจ แล้วนําไปปฏิบัติจริงในชีวิต และจะกล่าวถึงผู้ที่ระลึกได้แล้วว่า ผู้ใดฮู้เมื่อตัวแล้ว คําเหล่านี้ดีแล้ว พยายามเอามาใช้ให้มีราคามีคุณค่าแก่ตัว มีคุณค่าไปตลอดฮอดลูกฮอดหลาน

หลักคําสอนให้มีสติ หลวงปู่บุญมีท่านมีหลักคําสอนเรื่องสติ ความระลึกได้ให้กับตนเองเสมอ ซึ่งคําว่า ระลึกได้ คือให้ระลึกถึงว่าตัวเป็นคน คน หมายถึง การตั้งอยู่ในความดี รวมความว่า สติ ในที่นี้ก็คือ มีสติที่ระลึกถึงความดี แล้วนําไปปฏิบัติจริงในชีวิต หลวงปู่บุญมีท่านให้ความสําคัญกับสติเป็นอันดับแรกในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ซึ่งท่านมักใช้คําถามกับผู้ฟังว่า ระลึกได้หรือยัง ? มั่นใจหยัง ? เป็นต้น ย่อมเป็นที่รู้ดีทั่วกันว่า ถ้าคนลงเสียสติก็เท่ากับเป็นคนบ้า เท่าที่สติธรรมที่มีกันอยู่ทั่วๆ ไป เป็นสติที่พอป้องกันไม่ให้เป็นบ้ากันเท่านั้น เพราะฉะนั้นสติจึงเป็นตัวเอกสําหรับแก้ความบ้าที่ไม่รู้ตัว โดยการพยายามปลูกฝังสติให้มีขึ้นในตัวให้มากที่สุด

วิธีการตรวจสอบความมีสติด้วยการโยนของ เป็นการตรวจสอบว่าระลึกได้แล้วหรือไม่ เป็นการประเมินผลในสิ่งที่ได้สอนมา กล่าวคือ เมื่อถึงเวลาหลวงปู่บุญมีท่านกำลังสั่งสอนชาวบ้านญาติโยมผู้ฟังอยู่นั้น หากผู้ฟังคนไหนเผลอเรอ หรือสนใจสิ่งอื่นอยู่นอกเหนือจากคําสอนที่กําลังดําเนินไป ท่านจะโยนก้อนขนม ถุงน้ำ เต้าหู้ ผลไม้ ให้กับผู้ฟัง หากผู้ฟังรับได้ ท่านมักกล่าวว่า “มีปัญญารักษาตัว” หากผู้ฟังรับไม่ได้ ท่านมักกล่าวว่า “ของรักษาชีวิต จิตใจ รับไม่ได้” “ของใส่ปากรับเอาบ่ได้ บัดรับเอาผู้บ่าวผู้สาวรับดีแท้ๆ”

โดย: padiphatbeer    เวลา: 2015-1-6 18:18
หลักคําสอนการครองเรือน ฆราวาสธรรม ๔ คือ ธรรมแก่การครองเรือน หลวงปู่บุญมีท่านเน้นย้ำในการครองเรือนของชาวบ้านญาติโยมผู้ฟังอย่างยิ่ง สําหรับผู้ที่ต้องการหลักธรรมในการปฏิบัติในระดับการดําเนินชีวิต ซึ่งท่านกล่าวถึงหลักฆราวาสธรรม ๔ ว่า ผู้ครองบ้านครองเรือนต้องมีธรรม ๔ ประการ คือ

ข้อ ๑ รักษาสัตย์ สัตย์คือความจริง ปฏิบัติตัวให้เป็นธรรม ตัวไม่เป็นธรรม มันสิมีประโยชน์หยัง

ข้อ ๒ รักษาธรรม ธรรมคือความดีความสงบเรียบร้อย

ข้อ ๓ ขันติคือความอดทน ไม่ทําตนวุ่นวาย

ข้อ ๔ จาคะคือไม่ถือตน ได้แก่ ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น

หลักคําสอนการปฏิบัติของพระสงฆ์ หลักคําสอนการปฏิบัติของพระสงฆ์นี้ หลวงปู่บุญมีท่านมักยกการเล่นคําเป็นการสะกิดใจให้คิดตาม ในลักษณะที่ไม่พึงปฏิบัติของพระสงฆ์ ดังนี้

“...พระกะตัวพระเหลืองซือๆ ติ ตัวธรรมตัววินัยบ่มี พระผ้าเหลืองเปลืองเข้าสุก พระไปหลบเล่น นอนเวนกะแม่นพระ พระเล่นพระเที่ยว พระบ่เหลียวเบิ่งฮีตเบิ่งคอง บ่แม่นพระ พระเหงานอน เบิ่งผู้สาว พระเหงานอนวากๆ พระคาบยอซองเลาะวัด นี้กะพระ จักพระล่ะเว้าให้ฟัง...” “...พระเล่น พระเที่ยว พระบ่เหลียวเบิ่งฮีตเบิ่งคอง พระหามองแต่ผู้สาว ผัดเข้าบ้านใด๋ หากินแต่น้ำชากาแฟ บ่ฮู้จักเจ้าของ จักอันใดเป็นพระ...โกนผม ห่มเหลือง นั่นตี้เรียกว่า พระ...” การผูกคําว่า “พระ” ซึ่งข้างต้นก็จะนําเสนอสิ่งที่พระสงฆ์ ไม่พึงปฏิบัติ ไม่ควรกระทํา

จากคําสอนนี้ หลวงปู่บุญมีท่านจะไม่ให้พระสงฆ์ภายในวัดสระประสานสุข ฉันน้ำชากาแฟโดยเด็ดขาด จะมีแต่น้ำร้อนที่ต้มยาฉันเท่านั้น นี้เป็นสิ่งยืนยันอย่างหนึ่งในการสอนโดยการปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้กับพระภิกษุสงฆ์รุ่นหลัง ที่ได้รับฟังพระธรรมเทศนาของท่าน

และต่อไปหลวงปู่บุญมีท่านจะสั่งสอนในเรื่องที่ควรปฏิบัติของพระสงฆ์ โดยใช้การผูกคําว่า “พระ” ดังนี้ “...พระคือคนที่สละตนจากความเสียหาย สละตน...” คําว่า พระ แปลว่า ผู้ชนะ ชนะเปรต ชนะผี ชนะแม้กระทั่งของทานของชาวบ้าน...เราเป็นผู้ชนะจนชาวบ้านญาติโยมเขามีศรัทธา สิ่งที่ท่านปฏิบัติเป็นตัวอย่างและให้พระสงฆ์องค์อื่นๆ ปฏิบัติตาม คือ ถืออัฐบริขาร ๘ ธุดงค์วัตร ๑๓ กิจวัตร ๑๐ อันเป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานของพระธรรมยุติกนิกาย หากพระสงฆ์ที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ครบ ท่านมักจะตําหนิว่าบวชอะไร บวชแล้วไม่รู้ประเพณีทํานองครองธรรม โบราณถึงได้ว่าขาดทุนเหมือนพระได้หวี...” เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่าบวชมาแล้วก็หาประโยชน์ไม่ได้


โดย: padiphatbeer    เวลา: 2015-1-6 18:19
หลักคําสอนเรื่องมรณานุสติ การสอนเรื่องมรณานุสตินี้ เป็นการย้ำเตือนให้ตระหนักถึงชีวิตที่มีคุณค่า ไม่ควรปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ และไม่ให้เกิดความกลัวตายเพราะว่าไม่มีใครหนีรอดได้ ดังผญาอีสานดังนี้

“ความตายนี้แขวนคอทุกบาดหย่าง ไผซิถางแหกฟ้าหนีได้บ่ฮ่อนมี ทําดีไว้ตายไปซิได้เพิ่ง ทําชั่วไว้ตายแล้วก็ซ่อยเวร บ่ฮู้จักท่อนี้อย่าเกิดเป็นคน ผู้ใดจําได้แล้วพ้นทุกข์ไปสู่ความสุข”

หลวงปู่บุญมีท่านได้ย้ำเป็นประจำว่า ชีวิตมนุษย์นี้สั้นนัก เมื่อมีเวลาให้กระทําแต่ความดี ความตายนี้อยู่กับเราทุกย่างก้าว ไม่มีใครที่จะหนีความตายได้ มีแต่คุณงามความดีเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของเราเมื่อตายไป ดังผญาอีสานที่ท่านสอนประจําว่า “หาเรือไว้หลายลำแฮท่า หม่าข่าวไว้หลายมื้อแขกสิโฮม”

หลวงปู่บุญมีท่านได้อธิบายว่า เปรียบเหมือนการประพฤติปฏิบัติอันเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลัง หาเรือไว้หลายลำแฮท่า หม่าข่าวไว้ ก็คือการกระทําคุณงามความดี สะสมคุณงามความดีอยู่ในศีลธรรม หลายมื้อแขกสิโฮม แขกก็คือลูกหลาน คนรุ่นหลัง คือในอนาคตเราจะได้พึ่งพาสิ่งที่เราได้ทําไว้ ก็คุณงามความดีที่ติดตัวของเรา

โดย: sritoy    เวลา: 2015-1-7 12:33
กราบหลวงปู่ครับ...
ได้ผ้ายันต์หลวงปู่หลงไปชัยนาท
มาผืนนึงหลายปีแล้ว
โดย: Nujeab    เวลา: 2015-1-7 12:54
sritoy ตอบกลับเมื่อ 2015-1-7 12:33
กราบหลวงปู่ครับ...
ได้ผ้ายันต์หลวงปู่หลงไปชัยนาท
มาผ ...

โชว์หน่อยครับพี่หมอ
โดย: sritoy    เวลา: 2015-1-7 12:56
เก็บไว้ที่ปลอดภัยแล้วครับ...
โดย: Sornpraram    เวลา: 2016-2-12 07:03
“ดีชั่วก็ตัวเรา จงเอาอยู่ที่ใจ
สวรรค์อยู่ที่ใจ อย่าสงสัย เอาใจเถิด
เดินทางเดียวกัน อย่าเหยียบรอยกัน


ทำสมาธิให้ภาวนา ตาย ตาย ตาย ทุกลมหายใจ”



โดย: padiphatbeer    เวลา: 2017-11-20 17:23
สาธุครับ




ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2