เปิดตำนาน : ลูกอม ลูกอมจัดเป็นเครื่องรางประเภทหนึ่งที่โบราณอาจารย์เจ้าท่านได้สร้างสรรค์ปลุกเสกบรรจุพุทธาคมลงไป เพื่อไว้ให้ญาติโยมมีของดีไว้ป้องกันภัยและอันตรายต่าง ๆ ลักษณะของลูกอมนั้นจะมีสัณฐานกลมขนาดจะไม่แน่นอน ส่วนวัสดุมวลสารต่าง ๆ นั้นขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้สร้างเป็นผู้กำหนดขึ้น ประวัติการกำเนิดของลูกอมนั้นไม่มีหลักฐานที่สามารถชี้ชัดได้แน่นอนว่าเกิดขึ้นในสมัยใด แต่เป็นที่คาดกันว่าลูกอมน่าจะเริ่มสร้างหลังจากมีการสร้างวัตถุมงคลขึ้นช่วงหนึ่ง เหตุผลจากประวัติและหลักฐานที่สืบค้นได้นั้นส่วนใหญ่การสร้างลูกอมนั้นจะเป็นผลพลอยได้จากการสร้างพระเครื่อง เพราะการสร้างพระเครื่องในแต่ละคราวนั้นจะต้องมีการเตรียมผง น้ำประสาน ฯลฯ ซึ่งเป็นวัตถุดิบไว้ล่วงหน้า แล้วจึงนำแม่พิมพ์ (พิมพ์พระ) มากดเป็นองค์พระ แต่การกดพิมพ์ในแต่ละคราวนั้นส่วนใหญ่จะมีวัตถุดิบเหลือมากบ้างน้อยบ้าง ดังนั้นครูบาอาจารย์ท่านจึงนำมาปั้นเป็นลูกกลม ๆ ขนาดเล็ก เพื่อให้วัตถุดิบนั้นหมดในแต่ละคราว ซึ่งจะว่าไปแล้วหากได้การปลุกเสกเหมือนพระเครื่อง พุทธคุณในองค์พระกับในลูกอมนั้นจะไม่มีความแตกต่างกัน เหตุที่เรียกว่า “ลูกอม” นั้นมีบางตำนานกล่าวว่า สมัยก่อนผู้คนนั้นจะนิยมใช้เครื่องรางมากกว่าพระเครื่อง โดยเฉพาะบรรดาแม่ทัพนายกองและเหล่านักรบ ครูบาอาจารย์ท่านจึงนิยมเขียนลบผงวิเศษผสมตัวประสานต่าง ๆ เช่น น้ำมันตังอิ๊ว กล้วยน้ำว้า น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และวัสดุอาถรรพณ์ เช่น ผงใบลาน งากำจัด ไคลเสมา ชันยาเรือ เพื่อให้มีพุทธคุณดังประสงค์ แล้วจึงปั้น (บางตำราเรียกว่า “นวด”) เป็นลูกกลม ๆ ขนาดเล็ก เพื่อไว้ใช้อมในปากยามที่ต้องอาราธนาและระลึกถึงบารมีของครูบาอาจารย์ เพื่อให้พุทธคุณบังเกิดขึ้นกับตนเอง ดังนั้นจึงนิยมเรียกว่า “ลูกอม” ตั้งแต่นั้นมา พอมาถึงอีกยุคจะไม่นิยมนำลูกกลม ๆ เอาไปอมไว้ในปาก แต่นิยมอารธนาติดตัว เช่น แขวนคอ แขวนเอว แต่ก็ยังนิยมเรียกว่า “ลูกอม” เช่นเดิม หากจะแบ่งหมวดหมู่ของลูกอมตามเนื้อหาที่จัดสร้างนั้นสามารถแบ่งออกเป็นหมวดใหญ่ ๆ ได้ดังนี้ เนื้อผง ส่วนผสมหลักจะเป็นผงวิเศษซึ่งได้จากการเขียนและลบผงตามตำราบังคับ อาทิ ปถมัง อิถิเจ มหาราช ตรีนิสิงเห พุทธคุณ ผสมกับส่วนผสมอื่น ๆ คละเคล้าพร้อมทั้งนวดให้เนื้อผสมกันดี แล้วจึงปั้นเป็นลูกอมขนาดเล็ก อาทิ หลวงดิ่ง วัดบางวัว หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก แต่ก็มีของครูบาอาจารย์บางรูปที่ท่านได้นำโลหะ เช่น ทองแดง สัมฤทธิ์ ทองเหลือง มาบิดขมวดเป็นปมเกลียวแทงลงไปในเนื้อลูกอม เพื่อให้ลูกอมนั้นมีหูไว้ใช้คล้องคอได้ด้วย อาทิ หลวงพ่อร้าย วัดเขายี่สาร หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ (ยุคต้น) เนื้อดินเผา ส่วนผสมหลักจะเป็นดินอาถรรพณ์ เช่น ดินรูปู ดินจอมปลวก ฯลฯ นำมากรองคัดแยกจนได้เป็นเนื้อดินที่มีความละเอียดมาก แล้วจึงนำมาผสมกับผงวิเศษและวัสดุอาถรรพณ์ที่เตรียมไว้ จากนั้นจึงนวดให้เคล้ากันปั้นเป็นลูกกลมขนาดเล็กแล้วนำไปเผาให้สุก อย่างของหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นั้นท่านจะเขียนกระดาษสาลงอักขระม้วนเป็นแท่งกลม ๆ ขนาดเล็กสอดไว้ภายในลูกอม แม้ว่าลูกอมจะเผาจนสุกแล้วแต่กระดาษสาภายในกลับอยู่ในภาพปกติเป็นที่น่าอัศจรรย์ เนื้อโลหะ เท่าที่มีการบันทึกจะมีอยู่หลายเนื้อ อาทิ ตะกั่ว เมฆสิทธิ์ เมฆพัด แต่วิธีการสร้างนั้นมีความแตกต่างกัน ลูกอมที่เป็นเนื้อตะกั่วนั้นเกิดจากการลบถม หมายถึงหล่อตะกั่วให้ละลายแล้วเทลงในภาชนะเรียบแบบ เช่น ถาดขนม แล้วปาดหน้าให้เรียบ พอเย็นและแข็งตัวแล้วจึงนำมาลงอักขระยันต์ ปลุกเสกภาวนาจนได้แล้วนำลูกสะบ้าขัดทับไปให้เรียบแล้วจึงลงใหม่ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมั่นใจแล้วนำไปทดสอบหลอมในเบ้าที่เตรียมไว้ ว่ากันว่าหากการลบถมนั้นทำได้จนถึงที่สุดแล้วแม้นำเข้าเตาหลอมแผ่นยันต์นั้นก็จะไม่ละลายแต่อย่างใด หลังจากนั้นจะนำมากล่อมเป็นลูกกลม ๆ นับได้ว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์เช่นกัน ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็จะเป็นของหลวงพ่อเนียม วัดน้อย เนื้อและวรรณะของลูกอมของท่านจะเหมือนพระเครื่องของท่าน เพราะสร้างจากสูตรเดียวกัน ส่วนเนื้อเมฆสิทธิ์และเมฆพัตนั้นสร้างขึ้นจากการเล่นแร่แปรธาตุ โดยมีปรอทเป็นมวลสารหลัก จากนั้นจะเสกซัดแร่ต่าง ๆ ที่กำกับด้วยคาถาอาคมให้แร่ทั้งหลายแปรเปลี่ยนวรรณะและทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ ลูกอมเนื้อเมฆพัตที่มีชื่อเสียงมากที่สุดจะเป็นของหลวงพ่อเนียม วัดน้อย หากเป็นเนื้อเมฆสิทธิ์ ก็จะเป็นของหลวงทับ วัดอนงค์ (ท่านเป็นหนึ่งในครูบาอาจารย์ไม่กี่รูปที่สามารถสร้างได้) ว่ากันว่าลูกอมที่เป็นเนื้อโลหะนี้มีพุทธคุณในตัว (สำเร็จ) ตั้งแต่การจัดสร้าง เนื้อชานหมาก จะเป็นเนื้อชานหมากที่ครูบาอาจารย์ท่านฉันแล้วคายออกมา ก็สามารถใช้ได้เลยไม่ต้องปลุกเสกเพิ่มแต่อย่างใด เพราะพุทธคุณนั้นเพียบพร้อมในตัว อาทิ หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา หลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค เหตุเพราะบารมีธรรมของครูบาอาจารย์เหล่านี้ว่ากันว่าท่านสำเร็จพระอรหันต์ตั้งแต่ยังไม่ละสังขาร เนื้อน้ำตาเทียนชัย ซึ่งครูบาอาจารย์ท่านจะนำน้ำตาเทียนชัยในงานพิธีพุทธาภิเษกสำคัญ ๆ มาปั้นเป็นลูกอม เพราะถือว่าเป็นของดีในตัวอยู่แล้ว เท่าที่พบส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์ท่านจะมวลสารเพิ่มเติมเข้าไปในก่อนปั้นเป็นลูกอม เช่น เกศา ผงวิเศษ เกสรดอกไม้ ที่มีชื่อเสียงและหายากจะเป็นของหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค เนื้อสีผึ้ง ขั้นตอนการจัดทำจะคล้าย ๆ เนื้อน้ำตาเทียนชัย แต่ต่างกันที่ตัวสีผึ้งที่จะนำมาจัดสร้างนั้น ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์ท่านจะหุงขึ้นใหม่ตามตำรา พอเย็นตัวลงจึงนำมาผสมกับมวลสารที่เตรียมไว้ก่อนปั้นเป็นลูกอม ที่หายากและโด่งดังก็จะเป็นของหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จากตำนานของลูกอมข้างต้นนี้ ยังมีความสัมพันธ์โดยตรงกับเครื่องรางอีกหลายชนิด เช่น ลูกสะกด ตะกรุดลูกอม ลูกอมกลอง ดังต่อไปนี้ ลูกสะกด เนื่องด้วยลูกอมจะมีลักษณะสัณฐานกลมกลึง แต่เนื่องด้วยครูบาอาจารย์ท่านต้องการให้เกิดความสะดวกกับลูกศิษย์ลูกหาในการอาราธนา จึงสร้างลูกอมโดยเจาะช่องตรงกลางไว้ให้เป็นรูสำหรับร้อยเชือกเพื่อแขวนคอหรือแขวนเอว ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เสาะแสวงหากันมากคือ ลูกสะกดวัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) จัดสร้างไว้หลายเนื้อเช่น ชิน เงิน เมฆสิทธิ์ ตะกรุดลูกอม ขั้นตอนการจัดสร้างครูบาอาจารย์จะเตรียมแผ่นโลหะเช่น เงิน นาค ทองคำ ทองแดง ซึ่งมีหน้ากว้างไม่มาก (ประมาณใบมะขาม) แต่มีความยาวพอประมาณ มาลงอักขระยันต์ตามตำรา แล้วกลึงเข้าหากันเป็นตะกรุดจากนั้นจะร้อยด้วยเชือกหรือไหมเจ็ดสีเข้าที่แกนกลาง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดก็เป็นของหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว แต่ท่านก็สืบทอดตำราการสร้างให้กับศิษย์หลายรูปอาทิ หลวงพ่อดี วัดเหนือ หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ วิชานี้ตกทอดมาถึงหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ก็เป็นอันสิ้นสุด ลูกอมกลอง จะมีความแตกต่างจากลูกอมประเภทอื่น เพราะวัสดุการสร้างนั้นจะเป็นการนำเอาใบลานหรือใบตาลที่มีลักษณะถูกต้องตามตำรา นำมาลงอักขระยันต์ หัวใจพุทธมนต์ต่าง ๆ แล้วกลึงเป็นลูกกลม ๆ เว้นช่องว่างไว้ตรงกลางเพื่อถักเชือกร้อยเข้าไปแล้วลงรักปิดทอง แต่เนื่องจากมีครูบาอาจารย์สร้างไว้น้อย จึงไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลาย และอีกเหตุหนึ่งน่าจะเป็นที่วัสดุที่จัดสร้างนั้นชำรุดเสียหายได้ง่ายทำให้พบน้อยลงเรื่อย ๆ เท่าที่เคยพบก็จะมีของหลวงพ่อเทียม วัดลาดหลุมแก้ว ส่วนวิธีการเลือกใช้ลูกอมแต่ละประเภทนั้น ก็ให้เลือกที่เราศรัทธาหรือทราบเกียรติคุณของครูบาอาจารย์ท่านเป็นอย่างดี จะช่วยให้เราเข้าถึงพลังพุทธคุณที่อยู่ภายในลูกอมได้รวดเร็วขึ้น อีกประการหนึ่งที่ขอฝากกันไว้ก็คือและควรจะกระทำอย่างเคร่งครัดก็คือ ลูกอมแต่ละชนิดแต่ละสำนัก จะมีเคล็ดการใช้ หมายถึง การอาราธนา พระคาถา ข้อห้าม ข้อพึงระวัง ฯลฯ ที่เราควรศึกษาให้กระจ่าง ชัดเจน ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นการอาราธนานั้นจะไม่ประสิทธิเมตามที่ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวไว้ บางอย่างบางกรณีหากประมาทพลั้งเผลอนั้นลูกอมอาจะเสื่อมได้เช่นกัน ซึ่งคงไม่สามารถจะนำกลับไปให้ครูบาอาจารย์ท่านปลุกเสกใหม่ให้ได้ เพราะส่วนใหญ่ท่านจะมรณภาพไปนานแล้วครับ.. http://www.amulet.in.th/forums/view_topic.php?t=261 | |
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) | Powered by Discuz! X3.2 |