Baan Jompra

ชื่อกระทู้: วัดพระพุทธฉาย สระบุรี [สั่งพิมพ์]

โดย: oustayutt    เวลา: 2013-5-28 20:39
ชื่อกระทู้: วัดพระพุทธฉาย สระบุรี
วัดพระพุทธฉาย สระบุรี
วัดพระพุทธฉาย ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี อยู่ภายในมณฑปสองยอดบนไหล่ภูเขา  เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธฉาย(เงาพระพุทธเจ้า)คือเงาเลือนลางที่เป็นรอยประทับอยู่ที่หน้าผา เชิงเขา บริเวณวัดพระพุทธฉาย มีลักษณะคล้าย พระพุทธรูปยืน สันนิษฐานว่าค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา ตำนานพระพุทธฉายโดยย่อ พระพุทธเจ้าเสด็จมา ที่เขาฆาฏกะ(เขาพระพุทธฉาย)เพื่อโปรดนายพรานฆาฏกะจนสำเร็จพระอรหันต์ ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จกลับ พระฆาฏกะได้ทูลขอให้ ประทานสิ่งอันเป็นอนุสรณ์ เพื่อสักการะกราบไหว้ พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพุทธปาฏิหาริย์ให้เงาของพระองค์ติดอยู่ในเนื้อหิน ที่เงื้อมเขาพระพุทธฉายบรรพต ในบริเวณใกล้เคียงมีมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา มณฑปหลังนี้สร้างขึ้นในสมัย สมเด็จพระเจ้าเสือ และมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่อัญเชิญมาจากลังกา ทุกปีจะมีงานนมัสการพระพุทธฉาย พร้อมกับงานนมัสการรอย พระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี

ประวัติพระพุทธฉาย
ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารบุพพารามในนครสาวัตถี ได้ประทานอุปสมบท (บวช) พระบิณโฑละฯ ให้เป็น พระภิกษุในพระพุทธศาสนา แล้วได้มอบให้พระโมคคัลลานะ พาไปปฏิบัติสมณธรรมจนกว่าจะได้สำเร็จมรรคผล พระโมคคัลลานะ ได้นำพาไปปฏิบัติสมณธรรมในชมพูทวีป&(อินเดีย) หลายแห่งก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผล จึงได้มาปฏิบัติสมณธรรมใน ปัจจันตชนบทโดยกำหนดเอาประเทศสุวรรณภูมิ (ประเทศไทย) ณ ภูเขาฆาฏกะอันเป็นที่อาศัยของนายพรานฆาฏกะกับบริวาร จึงได้สำเร็จมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา ในระหว่างที่มาปฏิบัติสมณธรรมอยู่ ณ สถานที่พระโมคคัลลานะได้ ทราบพฤติกรรมของนายพรานฆาฏกะกับบริวารว่าเป็นผู้มีสันดาน หยาบช้า โหดร้าย ทารุณ มีอาชีพทางล่าสัตว์ พระโมคคัลลานะ ได้แสดงปาฏิหาริย์หลายประการเพื่อจะยังสันดานของนายพรานฆาฏกะให้เลื่อมใสแต่ไม่สำเร็จ ต่อเมื่อได้กลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าจึงเสด็จมาโปรด และได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์หลายอย่างหลายประการด้วยกัน เพื่อให้นายพรานฆาฏกะได้ละทิฏฐิมานะสันดานหยาบช้า จนในที่สุดได้มีศรัทธาเลื่อมใสถึงกับทูลอุปสมบท พระบรมศาสดาได้ทรง ประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา (บวชให้ด้วยพระองค์เอง) แล้วตรัสสั่งสอนให้ปฏิบัติสมณธรรมได้สำเร็จพระอรหันต์เป็น พระอริยบุคคล ในพระพุทธศาสนา เมื่อพระบรมศาสดาจะเสด็จกลับบุพพาราม ภิกษุฆาฏกะได้ทูลขอติดตามพระองค์ๆ ได้ทรงห้ามไว้เพื่อให้ช่วย ประกาศพระศาสนา พระฆาฏกะได้ทูลขอสิ่งที่เคารพสักการะ พระองค์จึงได้ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้เงาของพระองค์ติดไว้ ณ เงื้อมภูเขาแห่งนี้ และได้ประทับ "รอยพระบาท" ติดไว้ ณ บนยอดภูเขาแห่งนี้ด้วย ซึ่งจะได้เป็นที่สักการะเคารพกราบไหว้บูชาของ พระฆาฏกะและบริวาร ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไป



โดย: oustayutt    เวลา: 2013-5-28 20:40
วัดพระพุทธฉาย
รอยพระพุทธฉาย
ประวัติการค้นพบ
สันนิษฐานว่าพระพุทธฉายนี้ ถูกค้นพบในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี หลังจากพบรอยพระพุทธบาท ตรงกับรัชสมัยของ พระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2163-2171) ซึ่งทรงรับสั่งให้ค้นหารอยพระพุทธบาทตามภูเขาทุกแห่ง จึงพบพระพุทธฉาย ณ ภูเขาแห่งนี้ สมัยที่ค้นพบพระพุทธฉายได้สร้างพระมณฑปครอบพระบรมฉายาลักษณ์ไว้เป็นสถานที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน ตลอดจนพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมา และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง เป็นต้น พระพุทธฉายได้บูรณะซ่อมสร้างมา เป็นเวลาช้านานชำรุด ทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก จนทางข้าราชการร่วมกับคณะสงฆ์เห็นว่าจะปล่อยทิ้งรกร้างไว้อีกต่อไปไม่ได้ ปูชนียสถานที่สำคัญ จะถูกทำลายลง จึงได้ส่ง พระครูพุทธฉายภิบาล (นาค ปานรัตน์) มาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2491 เพื่อบูรณะซ่อมสร้าง สถานที่ พระพุทธฉายให้เจริญต่อไป เจ้าอาวาสได้ซ่อมแซมใหญ่ โดยซ่อมที่มณฑปที่ชำรุดซึ่งสร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงเทพฯ บนยอดภูเขาตามเดิม ส่วนมณฑปเก่าครอบพระบาทจำลองบนยอดเขายังคงไว้เป็นอนุสรณ์ ในลำดับต่อมาได้สร้างบันไดจาก พื้นล่างด้านตะวันออกพระพุทธฉายขึ้นไปจนถึงยอดภูเขายาวประมาณ ๒๗๐ ขั้น เพื่อให้ความสะดวกแก่ประชาชน จะได้ขึ้นไป นมัสการพระพุทธรูปปางต่างๆ ข้างบนและภายในอุโบสถ โดยบูชารอยพระพุทธบาทจำลองและชมวิวทิวทัศน์อันสวยสดงดงาม พร้อมด้วยบูชาสักการะพระรูปพระโมคคัลลานะ ที่ได้สร้างขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2526 ประดิษฐานอยู่ ณ ลานพระโมคคัลลานะ ในวิหารพระปฏิมากรเป็นประหนึ่งสังเวชนียสถานอันจะเกิดเป็นกุศลผลบุญต่อไป


โดย: oustayutt    เวลา: 2013-5-28 20:40
[attach]3147[/attach]

โดย: oustayutt    เวลา: 2013-5-28 20:52

BUDDHA IMAGE LINE ON WALL CAVE
ลายเส้นรูปพระพุทธเจ้าบนฝาผนังถ้ำ


โดย: AUD    เวลา: 2013-5-28 20:56
ไม่เอารูปที่ถ่ายเองมาดูมั่งอะ
โดย: oustayutt    เวลา: 2013-5-28 20:57
   ระหว่างทางที่เราจะเดินขึ้นไปชมพระพุทธฉายนั้น ใกล้ๆ กันมีถ้ำพระฤาษี ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล อยู่บนเทือกเขาพระพุทธฉาย เยื้องไปทางขวามือประมาณ 30 เมตร เป็นถ้ำหินปูน ปากถ้ำประดิษฐานรูปฤาษีไว้เป็นที่สักการะ เทวรูปฤาษี มีอายุประมาณพันกว่าปี มีชื่อเสียงด้านรักษาโรค ให้โชคลาภและค้าขายดี ของที่คนส่วนใหญ่ นำมาบนคือ หมาก พลู บุหรี่ และกล้วยน้ำว้า

เทวรูปฤาษี


โดย: oustayutt    เวลา: 2013-5-28 20:58
AUD ตอบกลับเมื่อ 2013-5-28 20:56
ไม่เอารูปที่ถ่ายเองมาดูมั่งอะ

มีรูปเดียวนั่นแหละ ที่มีแบ็งค์
โดย: oustayutt    เวลา: 2013-5-28 21:03
     ก่อนที่เราจะไปชมพระพุทธฉาย ทาง KHAOYAIZONE ขอกล่าวถึงประวัติ ความเป็นมาของพระพุทธฉายแห่งนี้ เพื่อให้เป็นความรู้แก่ผู้ที่ต้องการจะมาเที่ยวชมกันหน่อยนะครับ จากประวัติศาสตร์การค้นพบพระพุทธฉาย สันนิษฐานว่า ได้ค้นพบในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2163 - 2171)  

พระเจ้าทรงธรรม

          เนื่องด้วยในครั้งนั้นมีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งออกไปถึงลังกาทวีปเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่ เขาสุมณกูฏ ถูกพระสงฆ์ลังกาถามว่า “รอยพระพุทธบาทที่มีอยู่ทั้งหมดนั้น เขาสุวรรณบรรพตก็อยู่ในประเทศไทยคนไทยไม่ไปบูชารอยพระพุทธบาทที่นั่นดอกหรือ จึงต้องออกมาบูชาถึงลังกาทวีป” พระภิกษุสงฆ์จำนวนนั้นกลับมานำความขึ้นบังคมทูลพระเจ้าทรงธรรม พระองค์จึงโปรดให้มีตราสั่งไปยังหัวเมืองต่างๆ ให้เที่ยวตรวจค้นดูตามภูเขาว่าจะมีรอย พระพุทธบาทอยู่ ณ ที่แห่งใด จนมาพบพระพุทธฉาย ณ ภูเขาลม แห่งนี้

เขาลม


สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงธนบุรี ซึ่ง แสดงให้เห็นการเดินทาง ของบรรพชนแต่โบราณ ไปลังกาทวีป โดยเรือสำเภา


          ตามตำนานของพระพุทธฉาย มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ได้มีชาดกในสมัยพุทธกาลว่า
          ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์จะเสด็จออกจากพระวิหารเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ไปจำพรรษา ณ พระวิหารบุพพาราม กรุงสาวัตถี ซึ่งพระนางวิสาขามหาอุปาสิกาสร้างอุทิศถวาย ยังมีพราหมณ์องค์หนึ่งชื่อ "ปีณโฑล" ได้สดับพระธรรมเทศนาแล้วเกิดความศรัทธาเลื่อมใสทูลขอบรรพชาในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานพุทธานุญาต ให้ตามความประสงค์และมอบให้พระมหาโมคคัลลานะ ก็ตั้งใจฝึกสอนอบรมอย่างเต็มความสามารถตลอดมา แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จตามพระวิหารเวฬุวันปุพพารามต่อไป
          ฝ่ายพระมหาโมคคัลลานะได้รับสนองพระพุทธฎีกาเช่นนั้นแล้ว จึงยับยั้งอยู่พระวิหารเวฬุวันแขวงกรุงราชคฤห์มิได้ตามเสด็จ พระพุทธองค์ไปยังพระวิหารบุพพาราม ตั้งใจฝึกสอนอบรมพระภิกษุปีณโฑละ ตั้งแต่การเก็บ ปัด กวาดเสนาสนะ เครื่องใช้ ตลอดจนกุฏิวิหารอันเป็นการปฏิบัติระหว่างศิษย์กับอาจารย์และเพื่ออ่านนิสัย ใจคอของพระภิกษุปีณโฑละว่าจะสมควรแก่การฝึกพระกัมมัฏฐานหรือไม่
          ครั้นแล้วก็แน่ใจว่าพระรูปนี้สมควรแก่การฝึกฌาณเบื้องต้นได้ เมื่อสำเร็จแล้วก็บรรลุพระอรหันต์เหาะเหินเดินอากาศได้ แต่ในการนี้จำต้องพาภิกษุรูปนี้เที่ยวหาสถานวิเวกต่างๆหลายแห่งเมื่อได้พาไป ฝึกในที่ต่างๆ นานแล้ว  ภิกษุรูปนี้ก็หาสำเร็จธรรมวิเศษนั้นไม่ครึ่งหนึ่งพระมหาโมคคัลลานะจะ พาภิกษุปีณโฑละมายังสุวรรณภูมิประเทศ อันอยู่ทางทิศตะวันออกห่างชมพูทวีปมาก คิดดังนั้นแล้วพระมหาโมคคัลลานะ จึงนิรมิตกายพระปีณโฑละให้เล็กลงเท่าผลมะขามส่วนท่านเองเข้าสู่จตุตฌาณ สามารถเดินโดยอากาศเอาพระปีณโฑละขอดชายจีวรพาเหาะข้ามผ่านบ้านผ่านเมือง ผ่านแม่น้ำและภูเขาลูกหนึ่งเรียกว่า "ฆาฏกะบรรพต" (แปล ว่าเทือกเขาแห่งผู้ฆ่าเหนือเทือกเขานี้เป็นที่อยู่ของพรานล่าเนื้อ)
          เขาลูกนี้มีลักษณะแหลมสูง ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ออกไปมีน้ำตกไหลผ่านป่าเลี้ยงภูมิภาคให้ชุ่มชื่นสรรพ พฤกษาดาวัลย์เขียวขจีอยู่ตลอดเวลา สถานที่นี้สมควรแก่การบำเพ็ญกัมมัฏฐานอย่างยิ่งจึงลงจากอากาศสู่พื้นดิน และเห็นหมู่บ้านของพรานและบริวารทางทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของเขา นี้ ทรงคิดว่าถ้าจะหยุดเจริญพระกัมมัฏฐานที่นั่นคงจะสะดวกสบาย แต่คิดว่าจะไม่ได้ประโยชน์ในการโปรดคนเหล่านี้ตกลงใจลงจากภูเขา คลายเวทนิรมิตกายพระปีณโฑละให้เป็นดั่งเดิม และพากันเดินไปสู่ลานบ้านของชาวบ้านฆาตะกะทันที ณ หมู่บ้านนี้มีหัวหน้าชื่อ "พรานฆาฏกะ" กำลังจัดแจงเก็บเนื้อที่ล่าได้มายังร้านพิงคันธนูไว้ที่ข้างร้าน และแขวนลูกไว้ที่หัวเต้า แล้วก็ไปอาบน้ำชำระร่างกาย เพราะเป็นเวลาเย็นแล้ว เมื่อเสร็จกิจจึงออกมานั่งเล่นอยู่หน้าบ้านพักผ่อนให้สบาย

           ฝ่าย พระมหาโมคคัลลานะกับพระปีณโฑละ ครั้งได้โอกาสก็พากันสู่บ้านพรานฆาฏกะ ทำทีประดุจคนหลงทาง มาหยุดยืนต่อหน้าพรานผู้นี้ พระมหาโมคคัลลานะกล่าวแก่พรานว่า "ดูก่อนท่านเจ้าของบ้าน เราหลงทางมาเวลาก็พลอยค่ำแล้ว จะเดินทางต่อไปก็กลัวอันตราย ถ้าท่านไม่รังเกียจก็ขออนุญาตอาตมภาพพักนอน ณ ที่นี้ สักหนึ่งราตรี "
           ฆาฏกะพรานป่าได้ฟัง รู้สึกประหลาดใจและนึกโกรธอยู่ในใจเพราะนิสัยใจคอไม่เคยได้รับการฝึกอบรมมา ในทางเมตตากรุณาแต่อย่างใด เขาเกิดมาจากตระกูลพราน ได้รับแต่การฝึกให้มีใจเหี้ยมโหดประดุจสัตว์ป่า สิ่งที่แสดงว่าเป็นมนุษย์ในตัวเขาก็แค่ร่างกายเท่านั้น ไม่เคยรู้เรื่องของพระพุทธเจ้าแม้แต่น้อย เขาไม่รู้สึกเวทนาแต่ประการใดเลยมิหนำซ้ำเมื่อได้เห็นพระภิกษุทั้งสองที่ยืน อยู่เฉพาะหน้าของเขา ก็ไม่ทราบว่าเป็นมนุษย์หรืออะไรเพราะในถิ่นแคว้นฆาฏกะบรรพตไม่เคยมีบุคคล อื่นใดเข้ามายืนสง่าอยู่ได้ ดั่งที่เขาเห็นอยู่เวลานั้นอย่าว่าแต่เข้ามาถึงหน้าบ้านนี้เลยแม้เพียงเขต ประตูหน้าบ้านก็ยังหาเคยมีไม่ การเข้ามาโดยมิได้รับอนุญาตจากเราเช่นนี้เป็นการบังอาจยิ่ง จำเราจะฆ่าเสียด้วยธนูอันทรงฤทธิ์มหาศาลนี้เขาคิดในใจไปมาครั้นแล้วจึงมี วาจาไต่ถามออกไปว่า "ดูก่อนคนร้ายทั้งสองในบ้านของเราไม่เคยมีใครเข้ามาได้เพราะแม้แต่ที่หน้า ประตูบ้านก็มีคนเฝ้าอยู่หลายคน การเข้ามาเช่นนี้ได้รับอนุญาตจากใคร หรือเป็นภูตผีปีศาจอันใดจึงสามารถเล็ดลอดเข้ามาได้ถึงที่นี่ ความผิดของท่านไม่ควรแก่การจะยกโทษให้ มิหนำซ้ำยังจะมาขอที่นอนอีก ก็ลองถามคันธนูอันมีฤทธิ์เดชมหาศาลที่พิงร้านนั้นดูซิว่ามันจะยอมให้ท่านนอน หรือไม่"
      


โดย: oustayutt    เวลา: 2013-5-28 21:04
   พระมหาโมคคัลลานะได้ยินพรานป่าตอบด้วยถ้อยคำอันดุร้ายเช่นนั้น ก็นิ่งอยู่ในใจพลางกล่าวแก่พรานว่า "ดูก่อนนายพราน เรานี้คือผู้สงบกาย วาจาใจ ไม่เป็นพิษภัยแก่ผู้อื่นแม้แต่ดวงจิต การที่เราล่วงเข้ามาถึงที่นี้ หาใช้เจตนาร้ายแก่ท่านไม่ เรามีแต่น้ำใจซื่อตรง มุ่งหวังจะช่วยชี้แจงแสดงให้ทุกคนรู้ทุกข์และสุขว่าเป็นเช่นไร ที่ท่านขอให้เราถามคันธนูของท่าน นับเป็นเมตตากรุณาแก่เราเป็นอย่างยิ่งแล้ว เราจะขอถามคันธนูของท่าน ณ บัดนี้"  ว่าแล้วพระมหาโมคัลลานะหันหน้าไปทางคันธนูที่พิงอยู่ข้างร้าน แล้วกล่าวว่า "ข้าแต่คันธนูผู้ซื่อสัตย์ เมื่อท่านเป็นสมบัติของใคร ท่านก็รับใช้ในกิจการได้ทุกครั้ง นับเป็นผลอยู่คราวนี้เราจะขอนอนพักที่นี่สักหนึ่งราตรี ขอท่านได้แสดงเมตตาอารีให้เห็น ท่านจะกลายเป็นแท่นไสยาสน์ มีเครื่องปูลาดและหลังคา พอที่อาตมา ทั้งสองจะจำวัดได้ จะได้หรือมิได้ฉันใด"
          ณ บัดนั้นก็เกิดมหัศจรรย์ด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระมหาโมคคัลลานะคันธนูเกิดกลาย เป็นพื้นเตียงไสยาสน์ใหญ่ปานดังปีกนก มียี่ภู่ปูลาดสะอาดตาน่าชื่นชมยิ่งนัก ฝ่ายนายพรานฆาฏกะ ได้เห็นประจักษ์แก่ตาตนเองเช่นนี้ ก็ได้แต่อ้าปากค้าง ไม่รู้จะพูดอย่างไร หมดหนทางที่จะกล่าวคำใดๆ เพียงแต่นึกอยู่ในใจว่าเห็นจะเป็นภูตผีปีศาจอันสำคัญเสียแล้ว จึงมีอภินิหารถึงเพียงนี้
          ทันใดความหวาดระแวงก็เกิดขึ้นแก่ฆาฏกะพราน เขาแลดูไปทางพระมหาโมคคัลลานะ แล้วก็แลมาทางคันธนูนั้น ฝ่ายพระมหาโมคคัลลานะ ก็พาพระปีณโฑละเจริญพระกัมมัฏฐานไปจนล่วงเวลาปัจฉิมยาม ก็บังเกิดอาการง่วงจึงกำหนดว่าจะหลับพักผ่อน โดยที่พักนอนมีจำกัดจึงเผลอพลัดตกลงมาจากเตียง พระมหาโมคคัลลานะเห็นเช่นนั้นก็กล่าวตักเตือนและชี้ให้เห็นว่าก่อนจะนอนต้อง กำหนดสติทุกครั้งไป
  ฝ่าย นายพรานฆาฏกะและบริวาร พากันนอนไม่หลับสนิทเมื่อได้ยินเช่นนั้นก็พากันมาดู และเห็นพระปีณโฑละ พลัดตกจากเตียงลงมาเช่นนั้นก็โกรธ ว่ากล่าวขึ้นทันที พร้อมกับขับไล่ให้ไปให้พ้นเพื่อเขาจะได้มีโอกาสใช้คันธนูของเขาต่อไปเป็น ปกติพระมหาโมคคัลลานะก็กล่าวให้คันธนูคืนสภาพเดิมและตั้งพิงไว้แล้วกล่าวขอบ คุณพรานฆาฏกะและอำลาจากที่นั่นไปตามเชิงเขาอันมีหมู่ไม้เขียวชอุ่ม การเจริญพระกัมมัฏฐานของพระปีณโฑละ ได้อาศัยยอดเขานี้เองเป็นที่พำนัก ซึ่งขณะปัจจุบันนี้ก็มีเนินประดู่เนินพระมหาโมคคัลลานะเนินพระปีณโฑละ ปรากฏอยู่และไม่นานนักก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ณ ยอดเขาฆาฏกะนี้เอง

          เมื่อ พระมหาโมคคัลลานะเห็นว่า พระปีณโฑละ สำเร็จเป็นพระอรหันต์จึงรำลึกถึงฆาฏกะพรานและบริวารว่าสมควรที่จะได้รับการ ฝึกฝนให้เลื่อมใสในพุทธศาสนาได้ จึงพาพระปีณโฑละกลับไปโดยนภากาศเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พระวิหารปุพพาราม กรุงสาวัตถี กราบทูลถึงภารกิจที่ได้พาพระภิกษุปีณโฑละไปฝึกฝนจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และกราบทูลถึงพฤติการณ์ของพรานฆาฏกะที่ได้พบเห็นว่ามีอุปนิสัย ควรที่พระพุทธองค์จะทรงพระกรุณาเสด็จไปโปรดฯ ให้ได้สำเร็จมรรคผล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสแก่พระมหาโมคคัลลานะว่า "ตถาคตเล็งเห็นอุปนิสัยของพรานฆาฏกะด้วยญาณแล้วแต่ต้องการจะให้พระมหาโมคคัล ลานะได้ไปโปรดก่อนและวันพรุ่งนี้ตถาคตก็จะเสด็จไป ณ ฆาฏกะบรรพต เพื่อโปรดฆาฏกะพราน และบริวารต่อไป"
          ครั้นวันรุ่งขึ้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จมา ณ ฆาฏกะบรรพตโดยลำพัง แล้วเสด็จลงจากเวหาใกล้กับฆาฏกะบรรพตนั้น เพื่อจะทรงเสด็จโดยพุทธลีลาให้เห็นประจักษ์ ครั้นนั้นบรรดาสรรพสัตว์ต่างๆ ได้แลเห็นพระรัศมีมีโชติช่วงสว่างไสวทั่วไป ก็พากันยืนตะลึงงันอยู่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จโดยพุทธลีลามายังลานบ้านของฆาฏกะพราน เมื่อพรานฆาฏกะแลเห็นพระบรมศาสดาเช่นนั้นก็ให้นึกโกรธอยู่ในใจ รำพึงว่า เมื่อวานนี้มีคนสองคนมาแล้ว กลับไป วันนี้ยังจะมาอีกคนหนึ่ง ชะรอยคนเหล่านี้จะมีกลอุบายสักอย่างหนึ่ง ที่จะมาทำลายให้เราพินาศ จึงกล่าวขึ้นว่า "ดูก่อนท่านผู้เป็นคนร้าย เมื่อวานนี้ก็มีคนอย่างท่านมาขอพัก ทำให้เราเดือดร้อน จนต้องขับไล่ไป วันนี้ท่านกลับมาอีกเราจะไม่ยอมให้ท่านพักอีกเป็นอันขาด" สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงฟังเช่นนั้นก็ตรัสแก่พรานฆาฏกะว่า "ถ้าท่านไม่กรุณาให้อาตมาพัก ณ ที่ลานบ้านแล้วก็ขอได้กรุณาให้เราได้พัก ณ ที่เชิงเขาใกล้บ้านนี้จะได้หรือไม่" พรานเห็นว่า จะไม่เดือดร้อนก็ยินยอมให้พักได้




โดย: oustayutt    เวลา: 2013-5-28 21:05

          เมื่อ พรานฆาฏกะเปิดโอกาสให้เช่นนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จมายังเชิงเขา ประทับอยู่ทางด้านทิศบูรพา พระองค์ใคร่จะช่วยพรานให้รู้สึกตัวและเพลาความร้ายลงบ้าง จึงทรงบันดาลให้เกิดเมฆหมอกมืดครึ้มมีฝนตกลงมาตลอดสามวันสามคืน น้ำฝนไหลท่วมท้นบริเวณ และทรงบันดาลให้ภูเขาฆาฏกะเป็นเพิงมายืนเงื้อมงั้มออกมาบังน้ำฝนไว้มิให้ ต้องพระพุทธองค์ ประหนึ่งพังพานพระยานาค เมื่อฝนขาดเม็ดลงแล้วนายพรานกับบริวารก็พากันมาขับไล่พระพุทธองค์ เมื่อเห็นภูเขายื่นออกมาผิดสังเกตเช่นนั้นก็ประหลาดใจนัก ด้วยแต่ก่อนแต่ไรไม่เคยเห็นเป็นเช่นนั้น จึงพากันไปดู และเห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่ปกติ จึงพากันหยั่งรู้ว่าคงเป็นเพราะอภินิหารของบุคคลที่มาขอพักนี้เป็นแน่ เพราะสองคืนก่อนก็มาบันดาลให้คันธนูกลายเป็นที่นอนไปครั้งหนึ่งแล้ว คนนี้ก็คงจะมีฤทธิ์มากเช่นกัน จึงมามีอันเป็นไปอย่างนี้ บางคนก็ว่าพระพุทธองค์กับสองภิกษุนั้นจะต้องเป็นคนร้ายอย่างแน่นอน จึงมีอันเป็นทำให้เกิดเหตุร้ายเช่นนี้ พรานจึงเข้าไปซักถามเขากล่าวด้วยความโกรธว่า "ท่านผู้เป็นคนร้าย เพราะการมาพักของท่านคนเดียวแท้ๆ จึงทำให้ฝนตกใหญ่ พวกเราทั้งหลายไม่มีโอกาสออกไปหาเนื้อตลอดเวลาสามวัน มิหนำซ้ำท่านยังมาดัดแปลงภูเขานี้ให้วิปริตไป ท่านขอพักเพียงราตรีเดียว บัดนี้เวลาก็ล่วงไปสามราตรีแล้ว ท่านไม่ควรจะอยู่ต่อไป" พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "ดูก่อนท่านนายพราน จริงอยู่ เราขอพักเพียงราตรีเดียว แต่เมื่อเรามาพักนี้เกิดฝนตกลงมามากมายเช่นนี้น้ำก็ท่วมขังทั่วไปหมด เราจะเดินทางไปอย่างไรได้ ท่านผู้เจริญ เราพักอีกเพียงหนึ่งราตรีเถิดพอให้น้ำลงสักหน่อยแล้วเราจะอำลาท่านไป”
          พระพุทธเจ้าก็ทรงอธิษฐานให้เทวดาและหมู่พรหมเข้ามาเฝ้าและแผ่พระรัศมีโชติ ช่วงทั่วบริเวณเขาอันกว้างใหญ่นี้ เมื่อนายพรานฆาฏกะและบริวารเห็นประหลาดเช่นนั้น ก็เกิดความสะดุ้งกลัวภัยบ้างก็ว่าไฟจะไหม้ป่า ต่างเตรียมการอพยพหลบหนีภัยกันว้าวุ่น ไม่มีใครกล้าขึ้นไปทูลถามหรือไล่พระพุทธเจ้าอีกครั้นใกล้รุ่ง พรานก็พาบริวารขึ้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เชิงเขานั้น เมื่อเห็นเช่นนั้นก็ทรงแถลงถึงเรื่องหมู่เทพยดามาเฝ้าพระองค์นายพรานและ บริวารก็พากันเข้าไปหมอบกราบอยู่ตรงนั้น ครั้นแล้วก็ทูลถามถึงเพศและภาวะของพระพุทธองค์เมื่อทราบความแล้วก็ขอบรรพชา เป็นภิกษุอยู่ที่นั้น แล้วต่อมาก็ได้สำเร็จอรหันต์อยู่ที่เขาฆาฏกะบรรพตนั่นเอง
          ต่อมาพระพุทธองค์จำต้องเสด็จกลับยังพระวิหารปุพพารามจึงเรียกภิกษุฆาฏกะและตรัสอำลา อดีตนายพรานขอตามไปด้วยแต่ไม่ทรงอนุญาต จึงได้ให้พระฉายาลักษณ์ของพระองค์ปรากฏอยู่ ณ เงื้อมผาฆาฏกะบรรพตนั้น จึงปรากฏเป็น "พระพุทธฉาย" บนไหล่เขาสระบุรีตราบเท่าทุกวันนี้และได้ประทับ "รอยพระบาท" ติดไว้ ณ บนยอดภูเขาแห่งนี้ด้วย ซึ่งจะได้เป็นที่สักการะเคารพกราบไหว้บูชาของพระฆาฏกะและบริวาร ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไป................
          โดย สมัยที่ค้นพบพระพุทธฉาย พระองค์สั่งให้สร้างมณฑปสองยอดบนไหล่ภูเขา ครอบพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ เพื่อให้เป็นเป็นสถานที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน ชนชั้นสูง ตลอดจนพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆมา

มณฑปสองยอดบนไหล่ภูเขา ที่สร้างครอบพระบรมฉายาลักษณ์ไว้


โดย: oustayutt    เวลา: 2013-5-28 21:08



บันไดทางขึ้น มณฑป สองยอด
พระพุทธฉาย จากลานวัดเชิงภูเขา มีบันไดคอนกรีต ขึ้นไปยังระเบียงคต ซึ่งล้อมหน้าผา ตอนที่ปรากฏพระพุทธฉาย

ภายในมณฑปสองยอดที่สร้างครอบพระพุทธฉายเอาไว้ ตรงเชิงหน้าผาประดิษฐานพระพุทธรูปข้างละ ๕ องค์


ภาพพระพุทธฉาย เมื่อมองจากด้านตรง องค์พระพุทธฉายเป็นเส้นเงาสีแดงช้ำ แม้ไม่คมชัดก็พอให้เห็นขอบนอก

   
(ซ้าย)  ภาพพระพุทธฉาย  (ขวา)  ภาพโครงร่างแสดงวิธีดูเงาพระพุทธฉาย ซึ่งสูงประมาณ 5 เมตร

          ในส่วนของ รอยพระบาท นั้นเมื่อค้นพบจึงโปรดให้สร้างเป็นมหาเจดียสถานมีพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท และโปรดให้สร้างสังฆารามแล้วทรงพระราชอุทิศที่ส่วนหนึ่งโดยรอบพระพุทธบาทและ พระพุทธฉายถวายเป็นพุทธบูชา
          ต่อมาถึงรัชสมัยพระเสือ ราว พ.ศ.2246 - 2251 ปรากฏว่า ทรงปฏิสังขรณ์พระมณฑปโปรดให้เปลี่ยนแปลงเป็นพระมณฑป 5 ยอด จากพงศาวดารตำนานที่ปรากฏชัดว่า “สมเด็จพระเจ้าเสือพร้อมด้วยเชื้อพระวงศ์และข้าราชบริพาร ได้เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธบาท เป็นต้น จนถึงกษัตริย์พระองค์สุดท้ายสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ พระองค์ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธฉาย ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรงุศรีอยุธยาฉบับพันจันทนมาศ (เจิม หน้า 484 ได้ กล่าวไว้ในบท “สมโภชพระพุทธบาท” เกี่ยวกับพระพุทธฉายว่า ในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ว่า “ครั้นเดือนอ้ายเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธฉาย แรมอยู่ 3 วัน ฯลฯ แล้วเสด็จกลับมาสมโภชพระพุทธบาท 7 วัน”)
          จากประวัติและพระ ราชพงศาวดารดังกล่าวมาแสดงให้เห็นว่า พระพุทธฉายได้เจริญมาสมัยหนึ่งแล้ว ปรากฏจากหลักฐานและวัตถุโบราณนานับประการ ที่ยังปรากฏเป็นหลักฐานจนถึงปัจจุบันนี้ เช่น มณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธบาทบนยอดเขาลม รวมอายุของพระมณฑปนับจากสมัยพระเจ้าเสือได้ประมาณเกือบ 400 ปี
          เหตุ ที่พระมณฑปซึ่งมีอายุเกือบ 400 ปี คงสภาพอยู่ได้ก็คงด้วยอำนาจความศักดิ์สิทธิ์แห่งรอยพระพุทธบาทเป็นแน่แท้ ไม่เช่นนั้นแล้วคงตั้งอยู่ไม่ได้แน่เพราะเหตุมีพายุฝนหลายครั้งหลายหนด้วย กันจนสิ่งปลูกสร้างขึ้นภายหลังยังถูกพายุฝนพัดพังพินาศจนหมดสิ้นคงเหลืออยู่ แต่พระมณฑปหลังนี้เท่านั้นเป็นที่อัศจรรย์
พระมณฑป ๕ ยอด บนยอดเขาลม
           กาลเวลาได้ผ่านมา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการบูรณะฟื้นฟูพระพุทธฉายอีกครั้งหนึ่ง ตามศิลาจารึกที่ค้นพบเป็นหลักฐานว่า “พระพุทธศาสนาล่วงมาได้ 2374 ปีมะโรง นักษัตรจัตวาศก มีพระคุณเจ้าสมภาร 4 วัด คือพระปลัด วัดปากเพรียว 1 สมภารวัดบางระกำ 1 สมภารดวงวัดเกาะเลิ่ง 1 และสมภารวัดบางเดื่อ 1 สมภารทั้ง 4 พร้อมทั้งญาติโยมได้มีอุตสาหะพากันมาบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธฉาย เป็นเวลาถึง 7 ปี และในปีที่ 8 จึงพระมหายิ้ม ได้มาร่วมกับสมภารทั้ง 4 พร้อมด้วยญาติโยม ได้บูรณะปริสังขรณ์พระพุทธปฏิมากร ระเบียงมณฑป ลงลักปิดทอง บ้างจำลองลายสุวรรณอันบวร ปฏิสังขรณ์พระสถูปเจดีย์ สร้างหอระฆัง สร้างศาลา เป็นต้น ด้านบนยอดเขาได้บูรณะพระมณฑปและลานพระโมคคัลลานะ ขุดบ่อน้ำ บูรณะพระอุโบสถ และตบแต่งสถานที่เป็นเวลาอีก 3 ปี จนถึงปีฉลูจึงเสร็จตามความประสงค์ ได้จัดมหกรรมฉลององค์พระพุทธฉาย เมื่อปีเถาะ เบญจศก” จากศิลาจารึกที่นำมาโดยสังเขปนี้ จะเห็นได้ว่าพระพุทธฉายได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาในระยะหนึ่ง



โดย: oustayutt    เวลา: 2013-5-28 21:08
  กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราช และสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จมาฟื้นฟูบูรณะพระพุทธฉาย ทรงสร้างมณฑปขึ้นใหม่เป็นมณฑปสองยอดแทนมณฑปเดิม และทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุอื่น ๆ มีเสนาสนะสงฆ์ เช่น ศาลา พระอุโบสถบนยอดเขาลม   ปฏิสังขรณ์มณฑปยอดเดี่ยวบนยอดภูเขาด้านตะวันออก  ซึ่งยังเหลือเป็นอนุสรณ์อยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ นอกจากนั้นพระองค์พร้อมด้วย พระราชวงศ์และข้าราชบริพาร ยังได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธฉายอีกหลายครั้ง ดังปรากฏในประวัติศาสตร์การประพาสต้นและจดหมายเหตุ การบำเพ็ญพระราชกุศลนับเนื่องเกี่ยวกับพระพุทธฉาย เกี่ยวกับพระอุปัชณาย์รัน และพระอธิการรูปอื่น ๆ อีกมาก ให้ทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ติดอยู่ ณ เงื่อมผาด้านทิศตะวันตกของมณฑปพระพุทธฉายพร้อมด้วยนามาภิไธยพระบรมวงศานุ วงศ์ ซึ่งปรากฏชัดเจนจนถึงปัจจุบันนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช หรือ พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕
เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธฉาย 4 ครั้ง คือ ร.ศ. ๗๙  (พ.ศ.2403)  , ร.ศ. ๙๑ (พ.ศ.2428) ,ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ.2439)
          วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม เวลาเช้า หนึ่งโมงเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จทรงม้าพระที่นั่ง ออกพลับพลาไปตามทางหลวงข้ามทางรถไฟออกทุ่งนา และเข้าดงถึงพระพุทธฉาย เวลาเช้า 3 โมงเศษ ระยะทาง 223 เส้น มีพระสงฆ์สวดชยันโตรับเสด็จอยู่ที่เชิงเขา เสด็จพระราชดำเนินขึ้นนมัสการพระพุทธฉาย แล้วประทับเสวยเช้าที่ศาลา แล้วทรงจารึกอักษรพระนาม จ.ป.ร. ที่เพิงผา และมีปีที่เสด็จพระราชดำเนินมา ณ ที่นี้ ร.ศ.๗๙ และ ๙๑ และ ๑๐๔ และ ๑๐๕ แล้วโปรดให้อาราธนาเจ้าอธิการลัน เจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย มาถวายเทศนามหาชาติคำลาว เวลาบ่ายเสด็จพระราชดำเนินขึ้นเขาลม มีมณฑปพระบาทบนยอดเขา เสด็จลงจากเขาลมแล้วเสวยกลางวันที่ศาลานั้น แล้วทรงฉายพระรูป เวลาบ่าย 3 โมงครึ่ง เสด็จกลับจากพระฉาย
          พระพุทธฉายได้ บูรณะซ่อมสร้างมาเป็นเวลาช้านาน ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก จนทางข้าราชการร่วมกับคณะสงฆ์เห็นว่าจะปล่อยทิ้งรกร้างไว้อีกต่อไปไม่ได้ ปูชนียสถานที่สำคัญจะถูกทำลายลง จึงได้ส่งพระครูพุทธฉายาภิบาล (นาค ปานรัตน์) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน มาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ.2491 เพื่อบูรณะซ่อมสร้างสถานที่พระพุทธฉายให้เจริญต่อไป เจ้าอาวาสได้ซ่อมแซมใหญ่ โดยซ่อมมณฑปที่ชำรุดซึ่งสร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้คงสภาพถาวรตามรูปทรงเดิม แล้วก่อสร้างต่อเติมชานมณฑปด้านหลังเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขึ้นไป นมัสการ ในปี พ.ศ.2498  ได้ก่อสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่แทนหลังเดิมซึ่งสร้างครั้งรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงเทพฯ บนยอดภูเขาตามเดิม ส่วนมณฑปเก่าครอบพระบาทจำลองบนยอดเขายังคงไว้เป็นอนุสรณ์ ในลำดับต่อมาได้สร้างบันไดจากพื้นล่างด้านตะวันออกพระพุทธฉายขึ้นไปจนถึงยอด ภูเขายาวประมาณ 270 ขั้น เพื่อให้ความสะดวกแก่ประชาชน จะได้ขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ข้างบน    การก่อสร้างซ่อมแซมพระพุทธฉายได้รับการเอาใจใส่ตลอดเวลา ในปี พ.ศ. 2500 ได้จัดสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้น ณ ไหล่ภูเขาลมด้านทิศตะวันตกมณฑปพระพุทธฉายไว้อีก 1 องค์
          พระพุทธไสยาสน์ ที่จัดสร้างนี้มีขนาดองค์ใหญ่ยาว 15 วาเศษ อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ มณฑปพระพุทธฉาย ไสยาสน์ทอดองค์หันพระบาทมาทางมณฑปพระพุทธฉาย (พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ต่างกับองค์อื่น คือ พระบาทซ้ายไขว้ทับขวาซ้อนเหลื่อมกัน)
พระพุทธไสยาสน์ (สังเกตที่พระบาท)


โดย: Nujeab    เวลา: 2013-5-29 10:29
เมื่อก่อนตอนกลับบ้าน ตจว. ก็จะไปกราบสักการะบ่อยๆครับ _/\_

ขอบคุณครับ สาธุ




ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2