ในกระบวนเหรียญหล่อโบราณของเมืองไทยที่วงการนักสะสมพระเครื่องรุ่นเก่าๆ ให้การยอมรับมีมากมายหลายอาจารย์และหลายวัด ซึ่งการสร้างเหรียญหล่อโบราณจะมีมาแต่เมื่อใดและเหรียญไหนจะเป็นเหรียญแรก ผมเองก็จนปัญญาที่จะหาคำตอบ แต่ถ้าจะเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า...แล้วพระเกจิอาจารย์องค์ไหนที่สร้างเหรียญหล่อโบราณได้เด็ดขาด อันนี้ค่อนข้างแน่นอนว่ามีมากมายครับ ในบริบทของคำว่ามากมายแต่เน้นไปตรงที่หายาก หนึ่งในจำนวนนั้นต้องยกให้เหรียญนี้ครับ “เหรียญหล่อหลวงปู่รอด วัดสามไถ” "เหรียญหล่อโบราณที่นานๆ จะได้มีหลุดเข้ามาให้เป็นหัวข้อสนทนากันสักครั้ง..." สำหรับประวัติและเกียรติคุณของ”หลวงปู่รอด วัดสามไถ” อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชื่อมั่นครับว่าหลายคนคงเคยได้ยิน แต่ถ้าจะพูดในมุมของการนำออกมาเผยแพร่กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวก็คงไม่น่าจะเกินยี่สิบปี ซึ่งในส่วนนี้คงต้องยกประโยชน์และความดีอันนี้ให้กับนักเขียนชาวกรุงเก่าที่ชื่อ “คุณทนงทิพย์ ม่วงทอง” หรือนามปากกาว่า “ทม ภูธร” ที่ได้ออกสืบเสาะ ค้นหาและนำเรื่องราวของพระคณาจารย์รุ่นเก่าๆ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ออกมาให้วงการพระเครื่องจากส่วนกลางหรือแม้แต่ชาวอยุธยาเอง ได้รู้จักและเห็นคุณค่าในวัตถุมงคลของโบราณาจารย์หลายๆ ท่าน เช่นหลวงพ่อกรอง วัดเทพจันทร์ลอย หลวงพ่อนวม วัดกลาง และอีกหลายๆ หลวงพ่อ หลายๆ หลวงปู่ รวมไปถึงหลวงปู่รอด วัดสามไถ องค์นี้ด้วย อาจกล่าวได้ว่า ถ้าเราจะนับจำนวนพระเกจิอาจารย์ที่อาวุโสและมากด้วยพรรษา ในเขตอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็คงต้องนับหลวงปู่รอด เจ้าอาวาสองค์ที่สองของวัดสามไถเข้าไปด้วย หลวงปู่รอดได้ชื่อว่าเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและเชี่ยวชาญในเชิงเวทย์เป็นอย่างมาก อุปนิสัยโดดเด่นของท่านคือ ความไม่หลงติด ไม่ยินดียินร้ายในชื่อเสียง ดำเนินชีวิตตามอัตภาพที่ค่อนข้างหนักไปในทางบำเพ็ญกัมมัฏฐาน ย้อนหลังไปในเหตุการณ์ที่ตอกย้ำคำว่า “เก่ง” ของหลวงปู่รอดคือ ครั้งหนึ่งคณะศิษย์มีความต้องการให้หลวงปู่รอดได้เปิดสักยันต์ ซึ่งหลังจากอ้อนวอนอยู่หลายเพลาหลวงปู่จึงได้เมตตาอนุญาตให้เปิดการสักยันต์ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๔๖๖ เงื่อนไขสำคัญของการสักยันต์ในครั้งนี้คือ ก่อนที่จะมีการลงเหล็กสัก ทุกคนที่จะสักต้องมาให้หลวงปู่รอดเขียนอักขระยันต์ลงบนศรีษะหรือต้นคอเสียก่อน หลังจากที่ลงแล้วต้องมีการทดสอบโดยให้ไปลองฟันกันดูก่อน หลวงพ่อชิต พรหมโชโต ผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สักยันต์ได้เล่าว่า หลังจากที่หลวงปู่รอดได้ประกาศกฏเหล็กออกไป ก็ไม่เห็นว่ามีใครจะถอยหลังกลับ ต่างทยอยเข้าไปให้หลวงปู่รอดใช้ดินสอดำเขียนอักขระกันทุกคน ซึ่งเมื่อเริ่มทดลองฟันกัน คู่แรกก็จะฟันกันเบาๆ แต่เมื่อเห็นว่าไม่เข้าคราวนี้แหละจึงเริ่มฟันกันแบบไม่ยั้งมือ ครับ นัยยะของคำว่าเก่ง คือ การแสดงออกให้เห็นในเชิงประจักษ์ (รูปหล่อ หลวงปู่รอด วัดสามไถ) เล่ากันว่าสมัยที่หลวงปู่รอด วัดสามไถ ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ในกรุงเทพ ได้พบกับพระภิกษุรุ่นน้องร่วมสำนักและเป็นคนอยู่บ้านเดียวกันชื่อว่า “หลวงปู่กลั่น วัดพระญาติ” เมื่อทั้งสององค์ได้เรียนสำเร็จพระปริยัติธรรมแล้ว จึงได้เดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งการเดินทางกลับมาครั้งนี้ได้มีคหบดีท่านหนึ่งชื่อ “นายเทศ” ได้จัดงานเฉลิมฉลองเกียรติคุณให้แก่พระภิกษุทั้งสองรูปนี้ โดยจัดให้มีขบวนแห่ทางน้ำ ตั้งแต่อำเภอนครหลวง จนถึงอำเภอท่าเรือ ในขณะที่ประชาชนกำลังร้องรำกันอย่างสนุกสนานอยู่กลางลำน้ำป่าสักนั้น ก็ได้เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ กล่าวคือ ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ทั้งที่ท้องฟ้าแจ่มใสและยังมีแดดจัด เม็ดฝนที่ตกลงมาทำให้ประชาชนที่ร่วมขบวนแห่เปียกปอนไปตามๆกัน แต่กับพระภิกษุทั้งสองรูปนี้แล้ว ”สายฝนไม่สามารถสร้างความเปียกให้กับท่านได้” หลวงปู่รอด อินทปัญญา มีชื่อเดิมว่า รอด เกิดปีขาล พ.ศ.๒๓๘๔ ณ บ้านสามไถ โยมบิดาไม่ทราบนาม โยมมารดาชื่อแม่เฒ่ากา เป็นคนเชื้อสายลาว มีพี่น้อง ๓ คน คือ ๑.นางแพง ๒.หลวงปู่รอด อินทปัญญา ๓.นายยัง เมื่อท่านอายุได้ ๗ ขวบ โยมบิดาได้นำท่านไปฝากให้เรียนอักขระกับ “พระอธิการแดง” เจ้าอาวาสวัดสามไถ เด็กชายรอดได้บวชเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๑ ขวบ เล่ากันว่าสามเณรรอด มีอุปนิสัยชอบหาความสงบวิเวก บำเพ็ญสมณะธรรมตั้งแต่ยังเป็นสามเณร หลังจากได้ศึกษาข้อปฏิบัติตามพระธรรมวินัยจากพระอธิการแดงได้ ๔ พรรษา ท่านจึงได้กราบลาพระอธิการแดงไปศึกษาพุทธาคมและไสยเวทย์ ทางภาคอีสาน สามเณรรอดได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แต่จากประวัติที่ไม่ชัดเจนทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าท่านอุปสมบท ณ วัดใดและใครเป็นพระอุปัชฌาย์ คงพอทราบเพียงแต่ว่าหลังจากที่ท่านได้ศึกษาเวทย์มนต์คาถาจนเชียวชาญแล้ว ท่านจึงได้กลับมาศึกษาพระปริยัติธรรมในกรุงเทพและได้พบกับพระภิกษุรุ่นน้องที่ชื่อว่า “หลวงปู่กลั่น วัดพระญาติ” ต่อมาทางคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดสามไถ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ สืบต่อจากพระอธิการแดงที่ได้มรณภาพลงและได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๙ ขณะที่ท่านมีอายุได้ ๔๕ ปี พรรษา ๒๕ เล่ากันว่าหลวงปู่รอดท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างมาก ซึ่งท่านได้เข้มงวดกวดขันความประพฤติของพระภิกษุที่อยู่ในความปกครองให้ถือปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด เช่นการกำหนดให้พระภิกษุที่อยู่ในวัดสามไถต้องมาปลงอาบัติกับท่านเป็นการส่วนตัวในช่วงเวลาเช้า ห้ามปลงอาบัติกับเพื่อนพระภิกษุด้วยกัน ฯลฯ และหากพระภิกษุรูปใดทำผิดพลาดความประพฤติท่านก็จะลงโทษด้วย”ไม้เรียว”ทันที เพราะท่านถือว่า "ผู้ที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ เป็นผู้ที่ได้รับการอบรมวินัยมาแล้ว จึงสมควรที่จะต้องตั้งมั่นอยู่ในศีล" ด้วยเกียรติคุณของท่านที่แผ่ขยายออกไป ทำให้ญาติโยมที่เคารพเลื่อมใสในหลวงปู่รอดต่างพาบุตรหลานของตนที่มีอายุครบบวชมาอุปสมบทที่วัดสามไถ ด้วยจุดมุ่งหมายให้บุตรหลานของตนได้มีพระอุปัชฌาย์ที่ดี ซึ่งจากทัศนคติของท่านที่ว่า “การนำสาธุชนทั้งหลายเข้าสู่ผ้ากาสาวพัสตร์เป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์ในพระศาสนาทั้งสิ้น...” ดังนั้นไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นใครมาจากไหนจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะมาเป็นอุปสรรค์ต่อการที่ท่านจะอุปสมบทให้ “หลวงพ่อชิต พรหมโชติ” ได้เล่าว่า การที่หลวงปู่รอดท่านอุปสมบทให้โดยไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหมทำให้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา กล่าวคือมีผู้ร้องเรียนถึงคณะสงฆ์ฝ่ายปกครอง โดยได้กล่าวหาว่าหลวงปู่รอดท่านอุปสมบทให้กับพวกที่มีคดีติดตัวอยู่ ถึงกับ “พระญาณไตรโลกนาถ (ฉาย)” เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ขึ้นมายึดพัดอุปัชฌาย์และห้ามหลวงปู่รอดบวชนาคเป็นการชั่วคราว ว่ากันว่าหลังจากที่พระญาณไตรโลกนาถ (ฉาย) ได้ยึดพัดอุปัชฌาย์จากหลวงปู่รอดไปแล้วยังไม่ถึง ๗ วัด ก็ได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆอันนำความร้อนรุ่มมาสู่ตัวท่านไม่รู้จักจบจักสิ้น ทำให้ท่านต้องนำพัดอุปัชฌาย์มาคืนหลวงปู่รอดและได้ให้ความนับถือหลวงปู่รอดโดยพระญาณไตรโลกนาถ (ฉาย) จะเดินทางมากราบนมัสการหลวงปู่รอดเป็นประจำทุกปีตลอดมา ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ หลวงปู่รอดได้จัดงานยกช่อฟ้าพระอุโบสถ ท่านจึงได้จัดสร้างวัตถุมงคลเป็น “เหรียญรูปเหมือน” ไว้แจกเป็นที่ระลึกแก่ญาติโยมที่มาทำบุญในงานวันยกช่อฟ้า โดยท่านได้มอบหมายและจัดตั้งคณะกรรมการผู้เกี่ยวข้องในการสร้างเหรียญรูปเหมือนครั้งนี้ขึ้น ๑๒ คน คณะกรรมการได้จัดให้นายช่างที่สร้างเหรียญมาสร้างบล็อกพิมพ์ที่วัด โดยมีการประกอบศาสนพิธีอย่างยิ่งใหญ่ ฤกษ์ยามตามตำราโดยการกำหนดจากหลวงปู่รอด.. เล่ากันว่า... ”แม้แต่ทองเหลืองที่นำมาหล่อหลอมเป็นเหรียญ หลวงปู่รอดท่านก็จะนำมาลงอักขระปลุกเสกก่อน” ครั้นเมื่อฤกษ์เททอง นายช่างผู้สร้างเหรียญได้นำทองเหลืองเข้าเตาหลอมก็ได้เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์แก่ผู้ที่ร่วมอยู่ในพิธี เนื่องจากไฟที่ร้อนแรงไม่สามารถหลอมละลายทองเหลืองที่หลวงปู่รอดได้ลงอักขณะไว้ได้ คณะกรรมการจึงได้ขึ้นไปเรียนให้หลวงปู่รอดทราบ เมื่อหลวงปู่รอดได้รับฟังท่านจึงกล่าวขึ้นมา “ทองเหลืองละลายแล้ว ให้ลงไปช่วยนายช่างได้” ซึ่งเมื่อคณะกรรมการกลับลงมาในพิธีก็พบว่านายช่างกำลังเททองเข้าเบ้าได้ตามปกติ เมื่อนายช่างได้สร้างเหรียญครบตามกำหนดแล้ว จึงได้สร้าง “เหรียญสองหน้า” อีก ๑๒ เหรียญเพื่อไว้แจกกรรมการผู้เกี่ยวข้อง แต่มติคณะกรรมการเห็นว่าเหรียญสองหน้าที่จัดสร้างครั้งนี้มีจำนวนน้อยเกินไป จึงได้สั่งการให้นายช่างเทเพิ่มขึ้นอีก หากแต่การเทครั้งนี้ได้สร้างความผิดหวังปนความแปลกใจเมื่อนายช่างได้เทกี่ครั้งกี่หนก็เทไม่ติด จนสุดท้ายเบ้าพิมพ์ได้แตกชำรุดนั่นแหละจึงเป็นอันยุติการสร้างเหรียญครั้งนี้ ด้วยเหตุนี้เหรียญสองหน้าจึงสร้างได้เพียง ๑๒ เหรียญเท่านั้นและก็พอแจกกรรมการผู้เกี่ยวข้องทั้ง ๑๒ คนพอดี ในส่วนของพิธีการปลุกเสก ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่าหลวงปู่รอดท่านได้นำเหรียญทั้งหมดเข้าปลุกเสกในพระอุโบสถ โดยท่านได้ ”ปลุกเสกเดี่ยวตลอดคืนท่ามกลางเหล่าพระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์พิธีตลอดเวลา” สำหรับเหรียญที่จัดสร้างครั้งนี้รวมทั้งเหรียญกรรมการคาดว่าน่าจะมีประมาณ ๑,๕๑๒ เหรียญ ในเรื่องพุทธคุณของเหรียญหลวงปู่รอด วัดสามไถ จัดว่ามีปรากฏให้เห็นเด่นชัดกับบุคคลที่มีติดตัว ผมขอยกตัวอย่างสักหนึ่งเรื่องซึ่งประสบการณ์ตอนนี้ได้รับการถ่ายทอดมาจาก “หลวงพ่อชิต พรหมโชติ” ลูกศิษย์ของหลวงปู่รอดว่า ( หลวงพ่อชิต พรหมโชติ) ครั้งหนึ่งท่านเห็นทหารคนหนึ่งมาปิดทองรูปหล่อหลวงปู่รอดที่วัด สอบถามก็ได้ความว่าทหารท่านนั้นรอดตายจากสงครามเวียดนาม โดยในคืนที่ทหารท่านนั้นกำลังรบอยู่ในสมรภูมิ ข้าศึกได้ใช้อาวุธหนักยิงถล่มเข้ามาพร้อมกับบนอากาศก็มีการทิ้งระเบิดลงมาจากเครื่องบิน ทำให้ทหารทุกคนต้องวิ่งหลบหนีเพื่อหาที่กำบังก็บังเอิญได้วิ่งไปเหยียบกับระเบิดจนเกิดการระเบิดขึ้นเพื่อนทหารตายเป็นจำนวนมากแต่ตัวเขากลับไม่เป็นอะไรทั้งที่โดนเข้าไปเต็มๆ เขาว่า...เหตุการณ์ในคืนนั้นถ้าไม่มีเหรียญหลวงปู่รอดคล้องคอคงจะไม่ได้กลับมาปิดทองรูปหล่อของหลวงปู่ในวันนี้ หลวงปู่รอด อินทปัญญา ได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๐ ตรงกับวันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู รวมสิริอายุได้ ๙๖ ปี พรรษา ๗๕ ก่อนมรณภาพหนึ่งปี (๒๗๗๙) หลวงปู่รอดท่านได้อนุญาตให้หล่อรูปเหมือนของท่าน คณะกรรมการวัดจึงได้กำหนดวัน โดยถือเอาฤกษ์วัดครูขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง หลังเสร็จสิ้นพิธีการสร้างรูปหล่อแล้ว คณะกรรมการได้นำรูปหล่อหลวงปู่รอดขึ้นมาไว้บนหอสวดมนต์เป็นการชั่วคราวก่อน หลวงพ่อชิต ท่านได้เล่าว่า ใกล้ค่ำวันนั้น เมื่อปลอดคน หลวงปู่รอด ท่านได้ขึ้นมาลูบไล้ที่รูปหล่อของท่านอยู่เป็นเวลานาน แล้วจึงพูดขึ้นมา “คุณจงอยู่เป็นสุขเถิด ผมต้องขอลาคุณไปก่อน” ปัจจุบันถ้าจะเปรียบเทียบด้านราคาของเหรียญพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าแล้ว ต้องยกให้กับหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ แต่ถ้าว่ากันตรงความหายากแล้ว หลวงปู่รอด วัดสามไถ ชัดเจนกว่า ก็อย่างที่บอกตอนต้นเรื่องครับ “นานๆ จะได้มีหลุดเข้ามาให้เป็นหัวข้อสนทนากันสักครั้ง” สวัสดีครับ ขอขอบพระคุณ ครูทนงทิพย์ ม่วงทอง (ทม ภูธร-ปัจจุบันท่านได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว) คุณสุธิพร ลออจันทร์ เอกสารอ้างอิง นิตยสาร the Art of Siam ฉบับที่ 6 คุณพรชนก สุขพงษ์ไทย เพื่อนต่อกับคำแนะนำ คุณสมบูรณ์ ร้านนายฮ้อ สระบุรี สำหรับกำลังใจครับ |
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) | Powered by Discuz! X3.2 |