Baan Jompra
ชื่อกระทู้: พรรษา ๑๒ พ.ศ. ๒๔๗๙ อยู่ด้วยท่านพระอาจารย์เสาร์ [สั่งพิมพ์]
โดย: oustayutt เวลา: 2014-9-6 16:56
ชื่อกระทู้: พรรษา ๑๒ พ.ศ. ๒๔๗๙ อยู่ด้วยท่านพระอาจารย์เสาร์
จำพรรษา ณ วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
เสร็จธุระจากการอบรมชาวบ้านทางบ้านหนองผือแล้ว หลวงปู่ก็ลาจากญาติโยมที่นั่นมา ท่านรับว่า การลาจากพวกชาวบ้านบ้านหนองผือ ทำให้ท่านบังเกิดความอาลัยอาวรณ์ คล้ายกับจะต้องจากญาติมิตรสนิทไปแสนไกลเช่นนั้น เป็นความรู้สึกที่ท่านไม่เคยเกิดกับศรัทธาในหมู่ใด ถิ่นใดมาก่อน ทั้ง ๆ ที่ครูบาอาจารย์เคยสั่งสอนอบรมมาว่า พระธุดงคกัมมัฏฐานไม่ควรจะติดตระกูล ติดที่อยู่ ควรทำตนให้เหมือนนกที่เมื่อเกาะกิ่งไม้ใด ถึงคราจะต้องบินจากไป ก็จะโผไปจากกิ่งไม้นั้นได้โดยพลันไม่มีห่วงหาอาลัย หรือร่องรอยที่จะแสดงให้เห็นได้ว่า เท้าของเจ้านกน้อยนั้นเคยเกาะพำนักอยู่กับไม้ต้นนั้น กิ่งนั้น
แต่สำหรับชาวบ้านหนองผือนั้น ท่านมีความสนิทใจด้วยอย่างมาก ด้วยเป็นคนว่านอนสอนง่าย อบรมเช่นไรก็เชื่อฟัง พยายามปฏิบัติตาม ส่วนฝ่ายชาวบ้านก็เคารพท่าน รักบูชาท่านอย่างเทิดทูน เห็นท่านดุจเทวดามาโปรด ตั้งแต่การที่ได้ยา “วิเศษ” ของท่านมารักษาโรคกันทั้งหมู่บ้าน ดังกล่าวมาแล้ว และยังช่วยเมตตาสั่งสอนให้รู้จักทางสวรรค์ทางนิพพานอีก ดังนั้น พอทราบข่าวว่า ท่านจะลาจากไปจึงพากันร้องไห้อาลัย อันทำให้ท่านสารภาพในภายหลังว่า ทำให้ท่านใจคอไม่ค่อยปกติไปเหมือนกัน ท่านกล่าวว่า คงจะเป็นกุศลวาสนาที่เคยเกี่ยวข้อง อบรมทรมานกันมาในชาติก่อน ๆ ก็เป็นได้ ที่ทำให้เกิดความคุ้นเคยกันเช่นนี้
ต่อมา ในอนาคตอีกเกือบ ๑๐ ปีต่อมา ท่านก็ได้กลับมา ณ ที่ละแวกบ้านหนองผือนี้อีก ได้มาจำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ และแนะนำสั่งสอนให้อุบายชาวบ้านคณะนี้ให้ได้มีโอกาสอันยิ่งใหญ่ สามารถอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่น พระบิดาของพระธุดงคกัมมัฏฐานภาคอีสานได้มาอยู่จำพรรษาเป็นประทีปส่องทางธรรมอยู่ติดต่อกันถึง ๕ พรรษา นับเป็นสถานที่ซึ่งท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่นานที่สุด และเป็นเวลาช่วงสุดท้ายแห่งปัจฉิมสมัยของท่านด้วย ทำให้ “บ้านหนองผือ” เป็นนามที่โลกทางธรรมต้องรู้จักและจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ตลอดไป
ครั้งแรก ท่านคิดจะเดินทางกลับไปทางจังหวัดบ้านเกิด เพราะมีนิมิตถึงโยมมารดา และตัวท่านก็ธุดงค์จากบ้านเกิดมาช้านาน อย่างไรก็ดี พอดีได้ทราบว่าท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล อยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส ท่านจึงรีบไปกราบด้วยความเคารพ ทั้งนี้เพื่อจะรายงานเรื่องการที่ท่านสั่งให้ไปอยู่ถ้ำโพนงาม แต่เมื่อปีก่อนโน้นให้ทราบด้วย
การได้มาอยู่ปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่อีกวาระหนึ่ง ทำให้ท่านคิดว่าเป็นโอกาสอันประเสริฐ เหมือนจู่ ๆ ได้เห็นแก้ววิเศษลอยมาใกล้ตัว จะไม่เชิญแก้วดวงวิเศษไว้บูชาหรือ จะปล่อยให้ลอยผ่านพ้นไปได้อย่างไร...โอกาสเช่นนี้มีไม่ได้ง่าย ๆ สำหรับการกลับไปเยี่ยมบ้านนั้นน่าจะรอต่อไปได้ บ้านโยมมารดาก็คงอยู่ ณ ที่เก่า ไม่ได้ถอนเสาเรือนหายไปไหน อีกทั้งเราได้แผ่เมตตาให้มารดา ทำร่มมุ้งกลดแจกจ่ายพระเณร แม่ชี อุทิศกุศลให้มารดาตลอดมาอยู่แล้ว
ปี ๒๔๗๙ ท่านจึงได้อธิษฐานพรรษาอยู่ด้วยท่านพระอาจารย์เสาร์ ณ วัดป่าสุทธาวาส เนื่องจากท่านไม่มีนิสัยชอบเทศนาอบรมเอง หลวงปู่หลุยจึงรับหน้าที่เป็นผู้คอยดูแลอบรมพระเณรที่มาอยู่กับท่านพระอาจารย์เสาร์ ให้อยู่ในธรรมวินัยและอาจาริยวัตรข้อปฏิบัติอันดีงาม
อาจาริยวัตรที่ท่านฝึกปรือมาแต่สมัยอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญ ปฏิบัติรับใช้อาจารย์องค์แรกของท่านมาด้วยความเลื่อมใสศรัทธาเป็นเวลา ๖-๗ ปี มาครั้งนี้ท่านก็ใช้อย่างเต็มที่ แม้ท่านจะมีพรรษากว่าสิบแล้ว แต่ท่านก็คงนอบน้อมถ่อมองค์ให้พระเณรรุ่นหลังได้เห็นเป็นตัวอย่าง ให้ตระหนักในวัตรเหล่านั้น
- ต้องฉันทีหลังอาจารย์
- ฉันให้เสร็จก่อนอาจารย์
- นอนหลังอาจารย์ และ
- ตื่นก่อนอาจารย์ เป็นอาทิ
การอุปัฏฐากพิเศษที่พระเณรพยายามปฏิบัติเป็นกิจวัตร แต่ทำไม่ค่อยคล่องก็คือ การกดเอ็นท้องให้ท่านในเวลานวดเส้นตอนกลางคืน ท่านเป็นคนรูปร่างใหญ่ หนังท้องค่อนข้างหนา ด้วยท่านมีอายุมากแล้ว อีกประการหนึ่ง ท่านก็เคยชินต่อการนวดแรง ๆ มาแล้ว การกดคั้นเอ็นท้องของท่านจึงต้องใช้และกำลังแข็งแกร่งมากเป็นพิเศษ พระเณรผู้ปฏิบัติไม่ค่อยมีกำลังนิ้วมือแข็งแรงพอ จึงมาปรารภกัน หลวงปู่ได้เข้าไปขออนุญาตนวดเอ็นท่าน และสุดท้ายก็ได้อธิบายมาสอนกัน ค่อยให้พยายามกำหนดภาวนาไปด้วย เมื่อจิตเป็นสมาธิ กำลังมือก็จะหนักหน่วง แข็งแรง...ใจสู่ใจ ผู้รับนวดก็จะสบายกาย ผู้นวดก็จะไม่เปลืองแรง...ดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย
หลวงปู่บันทึกเรื่องเกี่ยวกับหลวงปู่เสาร์ไว้หลายแห่ง หลายวาระ คงจะเป็นความประทับใจของท่านอย่างมาก ที่ได้เคยเดินธุดงค์และจำพรรษากับหลวงปู่เสาร์
“ท่านเกิดที่บ้านข่าโคม อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๒ ท่านเป็นคณาจารย์ใหญ่ของพระกัมมัฎฐานทั้งหมด
ได้มรณภาพในท่านั่งสมาธิ ในอุโบสถวัดอำมาตย์ จำปาศักดิ์ ลาว เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ตรงกับ ๒ ฯ๊ ๓ (วันจันทร์ ขึ้นเจ็ดค่ำ เดือน ๓ -----ผู้เขียน) ปีมะโรง เชิญศพมาจุดศพ ณ วัดบูรพาราม อำเภอเมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖”
สำหรับเรื่องนิสัย หลวงปู่หลุยบันทึกไว้ว่า
“นิสัยท่านอาจารย์เสาร์ นิสัยชอบก่อสร้าง ชอบปลูกพริกหมากไม้ ลักษณะจิตเยือกเย็น มีพรหมวิหาร ทำจิตดุจแผ่นดิน มีเมตตาเป็นสาธารณะ เป็นคนพูดน้อย ยกจิตขึ้นสู่องค์เมตตาสุกใสรุ่งเรือง เป็นคนเอื้อเฟื้อในพระวินัย ทำความเพียรเป็นกลางไม่ยิ่งไม่หย่อน พิจารณาถึงขั้นภูมิธรรมละเอียดมาก ท่านบอกให้เราภาวนาเปลี่ยนอารมณ์แก้อาพาธได้ ฯ
อยู่ข้างนอกวุ่นวาย เข้าไปหาท่านจิตสงบดี ฯ เป็นอัศจรรย์ปาฏิหาริย์หลายอย่าง จิตของท่านชอบสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง หมากไม่กินบุหรี่ไม่สูบ ท่านแดดังเป็นอุปัชฌายะ ฯ เดินจงกรมภาวนาเสมอไม่ละกาล น้ำใจดี ไม่เคยโกรธเคยขึ้งให้พระเณรอุบาสกอุบาสิกา มักจะวางสังฆทานอุทิศในสงฆ์สันนิบาต แก้วิปัสนูแก่สานุศิษย์ได้ อำนาจวางจริตเฉย ๆ เรื่อย ๆ ชอบดูตำราเรื่องพุทธเจ้า รูปร่างใหญ่ สันทัด เป็นมหานิกาย ๑๐ พรรษา จึงมาญัตติเป็นธรรมยุต ฯ ชอบรักเด็ก เป็นคนภูมิใหญ่กว้างขวาง ยินดีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ลักษณะเป็นคนโบราณพร้อม ทั้งกาย วาจา ใจ เป็นโบราณทั้งสิ้น ไม่เห่อตามลาภยศสรรเสริญ อาหารชอบเห็ด ผลไม้ต่าง ๆ ชอบน้ำผึ้ง”
เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่านบันทึกไว้แม้แต่ว่า อาหารนั้น อาจารย์ของท่านจะชอบอะไร ทั้งนี้แสดงว่า สัทธิวิหาริก หรืออันเตวาสิก ต้องพยายามอุปัฏฐากปฏิบัติครูบาอาจารย์ โดยหาอาหารที่ถูกรสถวายให้ฉันได้ เพราะครูบาอาจารย์ผู้มีอายุนั้นธาตุขันธ์กำลังทรุดโทรม ควรจะต้องพยายามถวายอาหารที่จะช่วยบำรุงธาตุขันธ์ให้ยืนยาว
ต่อมาอีก ๑๙ ปี ระหว่างจำพรรษาที่สวนพ่อหนูจันทร์ ท่านบันทึกว่า
“พ.ศ. ๒๔๙๘ จำพรรษาสวนพ่อหนูจันทร์ ฝันได้นวดขาท่านอาจารย์เสาร์ คล้ายอยู่กุฎี ขอโอกาสท่านนวดขาเข้า จะได้ขึ้นรถและเกวียนไปที่อื่น”
และแม้ไนปี ๒๕๒๙ ท่านยังได้บันทึกไว้อีกว่า
“ลัทธิท่านอาจารย์เสาร์ พระครูวิเวกพุทธกิจ มีเมตตาแก่สัตว์เป็นมหากรุณาอย่างยิ่ง วางเป็นกลาง เยือกเย็นที่สุด เมตตาของท่านสดใสเห็นปาฏิหาริย์ของท่าน สมัยขุนบำรุงบริจาคที่ดินและไม้ทำสำนักแม่ขาวสาริกา วัดสุทธาวาส จ. สกลนคร แก้สัญญาวิปลาส ท่านอาจารย์มั่นกับท่านเจ้าคุณหนูวัดสระปทุมในสมัยนั้น จนสำเร็จเป็นอัศจรรย์ เรียกว่าเป็นพ่อพระกรรมฐานภาคอีสาน นี้ท่านอาจารย์เสาร์เล่าให้ฟัง สมัยที่เราอยู่กับท่าน เดินธุดงค์ไปด้วยท่าน ปรารถนาเป็นพระปัจเจก กับปรารถนาเป็นสาวกสำเร็จอรหันต์ในศาสนาสมณโคคมพุทธเจ้าของเรา แก้บ้าท่านอาจารย์ หนู ไม่สำเร็จเพราะเธอเชื้อบ้าติดแต่กำเนิด ท่านอาจารย์มั่นเคารพท่านอาจารย์เสาร์มากที่สุด เพราะเป็นเณรของท่านมา แต่ก่อนท่านเรียกท่านอาจารย์ว่า เจ้า ๆ ข้อย ๆ ”
(เจ้า ๆ แทนตัวหลวงปู่มั่น ข้อย ๆ แทนตัวหลวงปู่เสาร์ ผู้เขียน)
ในเรื่องการปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าของหลวงปู่เสาร์นั้นในภายหลังเมื่อหลวงปู่หลุยเล่าเรื่องนี้ให้ศิษย์ฟัง ท่านก็ได้สารภาพให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังเหมือนกันว่า
ตัวหลวงปู่หลุยเองก็เคยปรารถนาเป็น พระปัจเจกพุทธเจ้า เช่นเดียวกันกับหลวงปู่เสาร์เหมือนกัน ท่านเองก็มีนิสัยไม่อยากอยู่นำหมู่นำพวก ชอบอยู่คนเดียวไปคนเดียวเหมือนกัน พระปัจเจกพุทธเจ้าที่อยู่เขาคันธมาทน์นั้น แม้จะอยู่กันถึงห้าร้อยองค์ แต่ก็ไปบิณฑบาตองค์เดียวมาเลี้ยงกัน ท่านเห็นความสบาย และก็ไม่ค่อยห่วงพวกห่วงหมู่ด้วย จึงปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ต่อเมื่อพบพ่อแม่ครูบาอาจารย์เทศนาสั่งสอนอบรม เห็นโทษของการเวียนเกิดเวียนตาย หลวงปู่มั่นประเสริฐเลิศลอยกว่าท่านเป็นหมื่นเท่าแสนเท่า ท่านยังต้องไปเวียนวนเกิดเป็นสุนัขถึงอสงไขยชาติ หลวงปู่เสาร์ก็ยังยอมเลิกปรารถนาพุทธภูมิ ท่านอาจารย์บุญอาจารย์องค์แรกของท่านก็นิพพานไปแล้ว ท่านเองเป็นศิษย์ จะอวดเก่งกล้ากว่าพ่อแม่ครูจารย์ได้อย่างไร
ท่านชี้ให้ฟังว่า ผู้เคยปรารถนาพุทธภูมินั้น แม้จะละเลิกความปรารถนาแล้วก็ตาม แต่สายใยแห่งความปรารถนาเดิมจะยังคงแน่นเหนียวอยู่มาก การพิจารณาตัดขาด จึงทำไม่ค่อยได้ง่าย ๆ ปากว่า ล้มเลิกความปรารถนาแล้ว แต่ในก้นบึ้งของจิตมันยังซุกซ่อนตัวเกาะรากฝังแน่นอยู่ ต้องตัดให้ขาด การทำความเพียรเพื่อให้แจ้งซึ่งพระนิพพานจึงจะรุดหน้า ตัวท่านเองกว่าจะฟันฝ่ามาได้ก็ลำบากพอดู
อนึ่ง โดยที่หลวงปู่ท่านมักจะบันทึกเหตุการณ์ไว้มีข้อความสั้น ๆ ส่วนใหญ่คงเป็นเพียงบันทึกย่อเพื่อช่วยความจำ ในเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงปู่เสาร์ก็เช่นเดียวกัน
ดังเช่นบางตอนท่านบันทึกว่า
“ท่านอาจารย์เสาร์หนักอยู่ในสมาธิและพรหมวิหาร...ท่านชอบอนุโลมตามนิสัยของสัตว์.....”
และ
“ท่านอาจารย์เสาร์ทำจิตยกก้นพ้นฟากแล้ว ๑ ศอก พลิกจิตอย่างไรไม่รู้ ตกต่าง ไม่อย่างนั้นเหาะไปที่ไหนไม่รู้.....”
ดังนั้น เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้อรรถรสในเรื่องนี้อย่างเต็มเปี่ยม จึงขอกราบเท้านมัสการ พระคุณเจ้าท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ขออนุญาตนำข้อความตอนที่ท่านได้เขียนไว้เกี่ยวกับ พระคุณเจ้าหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ในหนังสือ “ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ” มาลงพิมพ์ด้วยความเคารพรัก และเทิดทูนอย่างสูงสุด ดังนี้
ความต่อไปนี้ ขอเชิญมาจากหนังสือ “ประวัติท่านพระอาจารย์มั่นภูริทัตตเถระ” โดยพระคุณเจ้าท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน...เป็นตอนที่ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าถึงท่านพระอาจารย์เสาร์
“ท่าน* เล่าว่า นิสัยของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบ ๆ และเยือกเย็นน่าเลื่อมใสมาก ที่มีแปลกอยู่บ้างก็เวลาท่านเข้าที่นั่งสมาธิตัวของท่านชอบลอยขึ้นเสมอ บางครั้งตัวท่านลอยขึ้นไปจนผิดสังเกตเวลาท่านนั่งสมาธิอยู่
ท่านเองเกิดความแปลกใจในขณะนั้นว่า ‘ตัวเราถ้าจะลอยขึ้นจากพื้นแน่ ๆ’ เลยลืมตาขึ้นดูตัวเอง ขณะนั้นจิตท่านถอนออกจากสมาธิพอดี เพราะพะวักพะวงกับเรื่องตัวลอย ท่านเลยตกลงมาก้นกระแทกกับพื้นอย่างแรง ต้องเจ็บเอวอยู่หลายวัน
ความจริงตัวท่านลอยขึ้นจากพื้นจริง ๆ สูงประมาณ ๑ เมตร ขณะที่ท่านลืมตาดูตัวเองนั้นจิตได้ถอนออกจากสมาธิ จึงไม่มีสติพอยับยั้งไว้บ้าง จึงทำให้ท่านตกลงสู่พื้นอย่างแรง เช่นเดียวกับสิ่งต่าง ๆ ตกลงจากที่สูง ในคราวต่อไปเวลาท่านนั่งสมาธิ พอรู้สึกว่าตัวท่านลอยขึ้นจากพื้น ท่านพยายามทำสติให้อยู่ในองค์ของสมาธิแล้วค่อย ๆ ลืมตาขึ้นดูตัวเอง ก็ประจักษ์ว่า ตัวท่านลอยขึ้นจริง ๆ แต่มิได้ตกลงสู่พื้นเหมือนคราวแรก เพราะท่านมิได้ปราศจากสติและคอยประคองใจให้อยู่ในองค์สมาธิ ท่านจึงรู้เรื่องของท่านได้ดี ท่านเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนอยู่มาก แม้จะเห็นด้วยตาแล้ว ท่านยังไม่แน่ใจ ต้องเอาวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ขึ้นไปเหน็บไว้บนหญ้าหลังกุฏิ แล้วกลับมาทำสมาธิอีก
พอจิตสงบและตัวเริ่มลอยขึ้นไปอีก ท่านพยายามประคองจิตให้มั่นอยู่ในสมาธิ เพื่อตัวจะได้ลอยขึ้นไปจนถึงวัตถุเครื่องหมายที่ท่านนำขึ้นไปเหน็บไว้แล้วค่อย ๆ เอื้อมมือจับด้วยความมีสติ แล้วนำวัตถุนั้นลงมาโดยทางสมาธิภาวนา คือพอหยิบได้วัตถุนั้นแล้วก็ค่อย ๆ ถอนจิตออกจากสมาธิ เพื่อกายจะได้ค่อย ๆ ลงมาจนถึงพื้นอย่างปลอดภัย แต่ไม่ถึงกับให้จิตถอนออกจากสมาธิจริงๆ
เมื่อได้ทดลองจนเป็นที่แน่ใจแล้ว ท่านจึงเชื่อตัวเองว่าตัวท่านลอยขึ้นได้จริงในเวลาเข้าสมาธิ ในบางครั้ง แต่มิได้ลอยขึ้นเสมอไป นี้เป็นจริง นิสัยแห่งจิตของท่านพระอาจารย์เสาร์ รู้สึกผิดกับนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นอยู่มากในปฏิปทาทางใจ”
“จิตของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบ ๆ สงบเย็นโดยสม่ำเสมอ นับแต่ขั้นเริ่มแรกจนถึงสุดท้ายปลายแดนแห่งปฏิปทาของท่านไม่ค่อยล่อแหลมต่ออันตราย และไม่ค่อยมีอุบายต่าง ๆ และความรู้แปลก ๆ เหมือนจิตท่านพระอาจารย์มั่น”
“ท่านเล่าว่า ท่านพระอาจารย์เสาร์ เดิมท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เวลาออกบำเพ็ญพอเริ่มความเพียรเข้ามาก ๆ ใจรู้สึกประหวัด ๆ ถึงความปรารถนาเดิม เพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แสดงออกเป็นเชิงอาลัยเสียดายยังไม่อยากไปนิพพาน"
ท่านเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อความเพียรเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ท่านเลยอธิษฐานของดจากความปรารถนานั้น และขอประมวลมาเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินี้ ไม่ขอเกิดมารับความทุกข์ทรมานในภพชาติต่างๆ อีกต่อไป
พอท่านปล่อยวางความปรารถนาเดิมแล้ว การบำเพ็ญเพียรรู้สึกสะดวก แลเห็นผลไปโดยลำดับ ไม่มีอารมณ์เครื่องเกาะเกี่ยวเหมือนแต่ก่อน สุดท้ายท่านก็บรรลุถึงแดนแห่งความเกษมดังใจหมาย แต่การแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ท่านไม่ค่อยมีความรู้แตกฉานกว้างขวางนัก ทั้งนี้อาจจะเป็นไปตามภูมินิสัยเดิมของท่านที่มุ่งเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งตรัสรู้เองชอบ แต่ไม่สนใจสั่งสอนใครก็ได้ อีกประการหนึ่ง ที่ท่านกลับความปรารถนาได้สำเร็จตามใจนั้น คงอยู่ในขั้นพอแก้ไขได้ ซึ่งยังไม่สมบูรณ์เต็มภูมิแท้”
“แม้ท่านพระอาจารย์มั่นเอง ตามท่านเล่า ว่าท่านก็เคยปรารถนาพุทธภูมิมาแล้วเช่นเดียวกัน ท่านเพิ่งมากลับความปรารถนาเมื่อออกบำเพ็ญธุดงคกรรมฐานนี่เอง โดยเห็นว่าเนิ่นนานเกินไปกว่าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาตามความปรารถนา จำต้องท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่ในวัฏสงสารหลายกัปหลายกัลป์ไม่ชนะ จะแบกขนทนความทุกข์ทรมานไม่มีวันจบสิ้นนี้ได้
"เวลาเริ่มความเพียรมาก ๆ จิตท่านมีประหวัด ประหวัดในความหลัง แสดงเป็นความอาลัยเสียดายความเป็นพระพุทธเจ้า ยังไม่อยากนิพพานในชาตินี้เหมือนท่านพระอาจารย์เสาร์ พออธิษฐานของดจากความปรารถนาเดิมเท่านั้น รู้สึกเบาใจหายห่วง และบำเพ็ญธรรมได้รับความสะดวกไปโดยลำดับ ไม่ขัดข้องเหมือนแต่ก่อน และปรากฏว่าท่านผ่านความปรารถนาเดิมไปได้อย่างราบรื่นชื่นใจ เข้าใจว่าภูมิแห่งความปรารถนาเดิมคงยังไม่แก่กล้าพอ จึงมีทางแยกตัวผ่านไปได้”
“เวลาท่านออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานทางภาคอีสาน ตามจังหวัดต่าง ๆ ในระยะต้นวัย ท่านมักจะไปกับท่านพระอาจารย์เสาร์เสมอ แม้ความรู้ทางภายในจะมีแตกต่างกันบ้างตามนิสัย แต่ก็ชอบไปด้วยกัน
"สำหรับท่านพระอาจารย์เสาร์ท่านเป็นคนไม่ชอบพูด ไม่ชอบเทศน์ ไม่ชอบมีความรู้แปลก ๆ ต่างๆ กวนใจเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น เวลาจำเป็นต้องเทศน์ท่านก็เทศน์เพียงประโยคหนึ่งหรือสองเท่านั้น แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปเสีย
"ประโยคธรรมที่ท่านเทศน์ซึ่งพอจับใจความได้ว่า ‘ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญ อย่าให้เสียชีวิตลมหายใจไปเปล่าที่ได้มีวาสนามาเกิดเป็นมนุษย์’ และ ‘เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย อย่าพากันทำ’ แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปกุฏิโดยไม่สนใจกับใครต่อไปอีก"
"ปกตินิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด พูดน้อยที่สุด ทั้งวันไม่พูดอะไรกับใครเกิน ๒-๓ ประโยค เวลานั่งก็ทนทานนั่งอยู่ได้เป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง เดินก็ทำนองเดียวกัน แต่ลักษณะท่าทางของท่านมีความสง่าผ่าเผย น่าเคารพเลื่อมใสมาก มองเห็นท่านแล้วเย็นตาเห็นใจไปหลายวัน ประชาชนและพระเณรเคารพเลื่อมใสท่านมาก ท่านมีลูกศิษย์มากมายเหมือนท่านอาจารย์มั่น….”
“ทราบว่า ท่านพระอาจารย์ทั้งสององค์นี้รักและเคารพกันมาก ในระยะวัยต้น ไปที่ไหนท่านชอบไปด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ทั้งในและนอกพรรษา พอมาถึงวัยกลางผ่านไป เวลาพักจำพรรษามักแยกกันอยู่แต่ไม่ห่างไกลกันนัก พอไปมาหาสู่กันได้สะดวก มีน้อยครั้งที่จำพรรษาร่วมกัน ทั้งนี้อาจเกี่ยวกับบรรดาศิษย์ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีมากด้วยกันและต่างก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที ถ้าจำพรรษาร่วมกันจะเป็นความลำบากในการจัดที่พักอาศัย จำต้องแยกกันอยู่เพื่อเบาภาระในการจัดที่พักอาศัยไปบ้าง"
"ทั้งสองพระอาจารย์ขณะที่แยกกันอยู่จำพรรษาหรือนอกพรรษารู้สึกคิดถึงกันมากและเป็นห่วงกันมาก เวลามีพระที่เป็นลูกศิษย์ของแต่ละฝ่ายมากราบนมัสการ จะมากราบนมัสการท่านพระอาจารย์เสาร์หรือมากราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ต่างจะต้องถามถึงความสุขทุกข์ของกันและกันก่อนเรื่องอื่น ๆ จากนั้นก็บอกกับพระที่มากราบว่า “คิดถึงท่านพระอาจารย์....” และฝากความเคารพคิดถึงไปกับพระลูกศิษย์ที่มากราบเยี่ยมตามสมควรแก่ “อาวุโส ภันเต” ทุก ๆ ครั้งที่พระมากราบพระอาจารย์ทั้งสองแต่ละองค์”
*ท่าน หมายถึง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) |
Powered by Discuz! X3.2 |