ปฏิบัติบูชา
ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต (ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ)
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “ปฏิบัติบูชาเป็นบูชาอย่างเลิศสูงสุด”
คือปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ เป็นการบูชาอย่างถูกพระทัย
และเป็นการสนองพระคุณพระพุทธเจ้าอย่างสูงสุด
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักหัวใจสำคัญที่สุด
ก็คือ ทางกาย วาจา ใจ ทิฏฐิ ความเห็นด้วยปัญญา
(๑) ศีล
คือ การฝึกกาย วาจา ให้สุภาพ อ่อนโยน
นิ่มนวล ละมุนละไม ไม่มีเวร ไม่มีภัยกับใครๆ
เป็นเหตุให้ผู้ประสบพบเห็นเกิดความรัก ความเอ็นดู
ความเมตตา กรุณาปรานี และเกรงใจ
ศีลเป็นเสน่ห์สำคัญ ให้เกิดความรัก ความเอ็นดู กรุณาปรานี
ช่วยอนุเคราห์-สงเคราะห์ ให้สำเร็จกิจที่ประสงค์ได้อย่างนี้
(๒) สมาธิ
คือ การฝึกหัดใจให้อ่อนโยน สุภาพ นิ่มนวล ละมุนละไม
ไม่อยู่ใต้อำนาจของความอาฆาต พยาบาท โลภ อิจฉาริษยา
ความลุ่มหลงมัวเมา ความหดหู่ ซบเซามึนซึม ท้อแท้อ่อนแอ
เกียจคร้าน สะดุ้งหวาดกลัว ตื่นเต้น ประหม่า ฟุ้งซ่านรำคาญใจ
และความสงสัยลังเลเงอะๆ งะๆ ไม่แน่ใจเหล่านี้
เมื่อจิตมีอำนาจอยู่เหนืออารมณ์ฝ่ายต่ำที่กล่าวมานี้แล้ว
เป็นเหตุให้จิตใจสดชื่น แจ่มใส ปลอดโปร่ง เข้มแข็ง กล้าหาญเด็ดขาด
เป็นเหตุให้เกิดอำนาจทางจิต
เป็นเสน่ห์ที่จะดึงดูดใจผู้ที่ได้ประสบพบเห็น
ให้เกิดความรัก ความเมตตาเอ็นดู กรุณาปรานี และเกรงใจ
ช่วยสงเคราะห์-อนุเคราะห์ เป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จกิจที่มุ่งหมาย
(๓) ปัญญา
คือ การพิจารณาให้เห็นคนทุกชั้นเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย
รักสุขเกลียดทุกข์ ร่วมสุขร่วมทุกข์ หัวอกอันเดียวกันทั้งนั้น
เป็นเหตุให้เกิดความรักความเอ็นดู ความเมตตา กรุณาปรานี
ซึ่งจะแสดงออกมาทางจิตใจ และกาย วาจา
เป็นเหตุให้ผู้ประสบพบเห็นทุกชั้นวรรณะที่่เกี่ยวข้องติดต่อในสังคม
เกิดความรัก ความเอ็นดู ความเมตตา กรุณาปรานี
ยินดีช่วยสงเคราะห์ให้สำเร็จกิจที่สมประสงค์