Baan Jompra

ชื่อกระทู้: พระองค์ที่ ๑๓ : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ [สั่งพิมพ์]

โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 08:25
ชื่อกระทู้: พระองค์ที่ ๑๓ : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์


พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)  
พุทธศักราช ๒๔๘๘-๒๕๐๑


วัดบวรนิเวศวิหาร
แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


หัวข้อ


•        พระประวัติในเบื้องต้น
•        เมื่อทรงพระเยาว์
•        ทรงบรรพชา
•        ทรงอุปสมบท
•        การศึกษาพิเศษ
•        พระภารกิจในการคณะสงฆ์
•        พระภารกิจทางการศึกษา
•        พระภารกิจในการคณะธรรมยุต
•        พระภารกิจด้านมหามกุฏราชวิทยาลัย
o        ในด้านการเผยแผ่
o        ในด้านต่างประเทศ
•        พระภารกิจด้านการวัด
o        ฝ่ายการศึกษาอบรม
o        การก่อสร้างภายในวัดในสมัยที่ทรงครองวัด
o        การก่อสร้างอันเกี่ยวเนื่องกับพระองค์
o        การอุปการะศิษย์วัด
o        ปกิณกะ
•        พระกรณียกิจพิเศษ
•        การหนังสือและผลงานพระนิพนธ์
•        การเลื่อนสมณศักดิ์
o        ในรัชกาลที่ ๕
o        ในรัชกาลที่ ๖
o        ในรัชกาลที่ ๗
o        ในรัชกาลที่ ๘
•        การสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
•        ประชวรใหญ่ครั้งแรก
•        ประชวรใหญ่ครั้งที่ ๒
•        พระราชอุปัธยาจารย์
•        การทรงกรม
•        อภิธชมหารัฏฐคุรุ
•        พระกรณียกิจพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน
•        ประชวรครั้งอวสาน
•        การพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ ชั้น ๑
•        พระอวสานกาล
•        การพระศพ

โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 08:26
พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
มีพระนามเดิมว่า “หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์” พระนามฉายาว่า “สุจิตฺโต”
เป็นพระโอรสใน หม่อมเจ้าถนอม และหม่อมเอม นภวงศ์
ประสูติเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช  ๒๔๑๕ ตรงกับวันศุกร์
แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๓๔ เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา

จึงทรงเป็นพระราชปนัดดาในรัชกาลที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฏพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และได้ทรงเนื่องในสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีมหาราชด้วย
เพราะกรมหมื่นมเหศวรวิลาสและพระอนุชา คือ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร

(พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ วรฤทธิราชมหามกุฏ บุรุษยรัตนราชวโรรส)
ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย ซึ่งเป็นธิดาของพระอินทรอไภย (เจ้าฟ้าทัศไภย)
โอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีมหาราช


(ราชพัสดุของสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีมหาราช
บางอย่างที่ทรงได้รับสืบต่อมา เช่น พระแท่นหินอ่อนยังอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร)


ส่วนหม่อมเอมเป็นธิดาพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย)
ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ)
บุตรเจ้าพระยามหาโยธา (พญาเจ่ง) ต้นสกุลคชเสนี

หม่อมเจ้าถนอม ทรงมีโอรสธิดากับหม่อมเอม คือ

๑.        ม.ร.ว.ชุบ (พระยานครภักดีศรีนครนุรักษ์)
๒.        ม.ร.ว.ชื่น (สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ)
๓.        ม.ร.ว.เณร
๔.        ม.ร.ว.หญิงหนู
๕.        ม.ร.ว.กมล (พระยาวิเศษภักดี)
๖.        ม.ร.ว.ถกล (หลวงประสานคดี)
๗.        ม.ร.ว.หญิงรอด

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ประสูติที่ตำหนักท่านบิดา
ซึ่งอยู่ในวังพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิวิลาส
(คือบริเวณตลาดนานา บางลำภู พระนคร ในเวลานี้)


เมื่อทรงพระเยาว์

เมื่อทรงพระเยาว์ก่อนบรรพชา ได้ทรงศึกษาอักขรสมัยที่วังพระบิดา  
ครูผู้สอนที่เคยรับสั่งเล่าชื่อครูชม (ส่วนพระยาวิเศษภักดีเล่าว่า ครูผู้สอนชื่อจำเริญ
เป็นการสมัครเรียนเอง และครูก็ได้สมัครสอนให้  
มิได้มีการบังคับให้เรียนหรือให้สอนจนอ่านหนังสืออก)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๔) พระองค์เจ้าประดิษฐาสารีได้ทรงเล่าพระประวัติตอนนี้
ตามที่พระสนตยากโร  (พลตรีพระยาเสนาสงคราม ม.ร.ว.อี๋ นภวงศ์) บันทึกมาว่า  

เมื่อมีพระชนมายุพอจะเป็นมหาดเล็กได้   ก็ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กราชวัลลภ  
ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ สยามกุฏราชกุมาร
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  
ได้เป็น “คะเด็ด” ทหารม้า  ในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภ
มีหน้าที่ตามเสด็จรักษาพระองค์  ทำนององครักษ์  

เวลาอยู่ประจำการตามหน้าที่ ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน  ได้พำนักอยู่
ณ ตำหนัก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๔)  พระองค์เจ้าศรีนาคสวาสดิ  
ซึ่งทรงเป็นผู้อุปการะและอบรมสั่งสอน  

(ส่วนพระยาวิเศษภักดีเล่าว่า  ทรงอยู่ที่ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๔)
พระองค์เจ้าโสมาวดีศรีรัตนราชธิดา   กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ)  
ซึ่งเป็นพระเชษฐภคนี ร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน  (เจ้าจอมมารดาเที่ยง)  
กับพระเจ้าบรมวงษ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวสดิ)
จึงทรงได้รับการศึกษาอบรมจากราชสำนักฝ่ายในมาแต่ทรงพระเยาว์


พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) วัดบรมนิวาส
พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงบรรพชา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๘


โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 08:27
ทรงบรรพชา

เมื่อมีพระชนมายุเจริญขึ้นแล้ว ได้ทรงออกจากวังและได้บรรพชาเป็นสามเณร
ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมี พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) วัดบรมนิวาส
เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๘ ในขณะที่ทรงบรรพชาเป็นสามเณรนั้น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ยังทรงพระชนม์อยู่

แต่ปรากฏในหนังสือตำนานวัดบวรนิเวศวิหารว่า
ในระยะหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ไม่ค่อยได้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ แม้ในวัดนี้ก็ไม่ทรงรับเป็นพระอุปัชฌาย์
แต่ก็ทรงโปรดฯ ให้บวชอยู่ในวัดได้ต้องถือพระอุปัชฌาย์อื่น

ในระหว่างที่ทรงเป็นสามเณร ได้ตามเสด็จ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ไปประทับอยู่ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม
ซึ่งในขณะนั้น ม.ร.ว.ชุบ นภวงศ์ (พระยานครภักดีศรีนครนุรักษ์)
ผู้เป็นพี่ชายได้อุปสมบทอยู่ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม

และต่อมาได้ตามเสด็จ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
กลับมาประทับยังวัดบวรนิเวศวิหาร

ในปลายสมัย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
และทรงศึกษาจากพระอาจารย์อื่นบ้าง เช่น หม่อมเจ้าพระปภากร,
พระสุทธสีลสังวร (สาย) ได้ทรงเข้าสอบไล่ครั้งแรกที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ สอบไล่ได้เปรียญ ๕ ประโยค เมื่อยังทรงเป็นสามเณร


พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม
พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕


โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 08:28
ทรงอุปสมบท

ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
โดยมี พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระอุปัชฌาย์
และ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เมื่อทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นพระกรรมวาจาจารย์
เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๕  มีพระนามฉายาว่า “สุจิตฺโต”

การอุปสมบทในครั้งนี้ และทั้งการบรรพชาในครั้งก่อน
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ได้ทรงจัดพระราชทาน  และได้พระราชทานพระอุปถัมภ์ตลอดมา  

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
เมื่อทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น  ได้ทรงครองวัดนี้ต่อมา  
และได้ทรงจัดการวางระเบียบการปกครองวัดขึ้นใหม่หลายอย่าง  
ดังที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร”
(พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ  พิมพ์เมื่อปี พ.ศ ๒๔๖๕  
โดยพระบรมราชโองการในงานถวายพระเพลิงสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ)

ในปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
และ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
ได้ทรงจัดตั้ง มหามกุฏราชวิทยาลัย ขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖
เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูง และเป็นที่ประชุมแปลสอบไล่
เรียกว่าเป็นส่วนวิทยาลัยแผนกหนึ่งจัดโรงเรียนขึ้นตามพระอาราม
เป็นสาขาของวิทยาลัยอีกแผนกหนึ่ง

ฉะนั้น การสอบไล่พระปริยัติธรรมจึงสอบได้ ๒ แห่ง คือ สนามหลวงแห่ง ๑
สนามมหามกุฏราชวิทยาลัยแห่ง ๑ (ต่อมาทรงเลิกสนามมหามกุฏฯ)

เปรียญผู้สอบได้ ทรงตั้งให้เป็นเปรียญหลวงเหมือนกัน
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ (เวลานั้นทรงเป็น ม.ร.ว.พระชื่น เปรียญ)
ได้ทรงเป็นครูรุ่นแรกของ โรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
ซึ่งเป็นสาขาที่ ๑ ของวิทยาลัย ที่เปิดพร้อมกันทุกโรงเรียน
และพร้อมกับเปิดมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ นั้น

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้เคยรับสั่งเล่าว่า
มีพระประสงค์จะสอบไล่เพียง ๕ ประโยคเท่านั้น จะไม่ทรงสอบต่อ
ทรงตามอย่างสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ซึ่งทรงสอบเพียงเท่านั้น
เพื่อมิให้เกินสมเด็จพระบรมชนกนาถ

แต่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สอบต่อไป
และทรงคัดเลือกส่งเข้าสอบสนามหลวง


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระกรรมวาจาจารย์ในคราวทรงอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕



หลังจากที่ทรงอุปสมบทแล้ว จึงทรงสอบต่อได้เป็นเปรียญ ๗ ประโยค
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗  กิจที่ทรงปฏิบัติ ร.ศ. ๑๑๔ ในระหว่างนี้
เป็นไปดังที่ปรากฏในลายพระหัตถ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
ในพระรูปที่ประทานในโอกาสพิเศษครั้งหนึ่งว่า

“ให้สุจิตต์ไว้เป็นที่ระลึก ในการที่ได้ช่วยเอาภารธุระ
เป็นครูสอนภิกษุสามเณรในโรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร  
ซึ่งนับว่าเป็นการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา
แลเป็นการช่วยในตัวเราผู้เป็นอาจารย์ของตัวเธอด้วย”  


ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ เมษายน ร.ศ. ๑๑๔
ซึ่งเป็นวันเกิดที่ครบ ๓๕  รอบบริบูรณ์ของเรา

กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส


อนึ่ง เมื่อทรงอุปสมบทได้ ๓ พรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระสุคุณคณาภรณ์

โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 08:29

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสุคุณคณาภรณ์


การศึกษาพิเศษ

ในส่วนการศึกษาพิเศษ ตามที่เคยมีรับสั่งเล่า
ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษจากครูฝรั่ง ชื่อ วิลส์
ซึ่งมาเป็นครูสอนที่วัดบวรนิเวศวิหาร  เมื่อทรงมีพรรษา ๖ หรือ ๗  
และโดยปกติโปรดอ่านหนังสือต่างๆ  มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์  
ทั้งที่เป็นร้อยแก้วทั้งที่เป็นร้อยกรอง  

ในระหว่างเวลานั้น  
เป็นสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้เกิดความเจริญขึ้นโดยทั่วไป
ในฝ่ายอาณาจักรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  
ในทรงจัดระบอบการปกครองการศึกษาเป็นต้น

ในฝ่ายศาสนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงเริ่มจัดการพระศาสนา  
ทั้งการศึกษาทั้งการปกครอง ทั้งการอื่นๆ ดังที่ปรากฏผลอยู่ในปัจจุบันนี้

ในเบื้องต้น เมื่อยังไม่ทรงมีอำนาจที่จะจัดในส่วนรวม
ก็ได้ทรงจัดในส่วนเฉพาะคือได้ทรงจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้น ดังกล่าวแล้ว  

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เคยมีรับสั่งเล่า มีผู้บันทึกไว้ว่า

“โรงเรียนมหามกุฏใช้หอสหจร และพระตำหนักทรงพรตชั้นล่างเรียนหนังสือไทย   
ชั้นบนเรียนภาษาบาลี  นักเรียนหนังสือไทยเมือมีมาก  ขยายไปใช้ศาลาฤาษี ๔
ศาลาไม่เก็บค่าเล่าเรียน สอนให้เปล่า  นักเรียนสอบได้แล้วออกไปรับราชการมีมาก  
สมเด็จพระพุทธเจ้หลวงเคยเสด็จทอดพระเนตรโรงเรียนของมหามกุฏ
มีพระราชดำรัสชม  ตรงกันข้ามกับคำพูดที่กล่าวกันว่า  

พระมี ๓ คือ พระเรียนคันถธุระ  พระเล่าสวดมนต์ พระเรียนวิปัสสนาธุระ  
พระเรียนคันถธุระเป็นเลซี พระเล่าสวดมนต์เป็นเลซีเออร์
พระเรียนวิปัสสนาธุระเป็นเลซีเอสต์”


สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงเริ่มจัดปรับปรุงพระให้บำเพ็ญประโยชน์
ทั้งแก่พระศาสนา  ทั้งแก่ชาติบ้านเมือง  ดังที่เป็นที่ประจักษ์แก่
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้ทรงมีส่วนร่วมกับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
มาตั้งแต่ต้นในการงานหลายอย่าง อาทิ ได้ทรงรับเลือกเข้าเถรสมาคม
และมีพระภารกิจในการคณะสงฆ์อีกหลายประการ ดังที่จะได้กล่าวต่อไป


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)


โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 08:30
พระภารกิจในการคณะสงฆ์

o ผู้อำนวยการศึกษามณฑลจันทบุรี

ต่อมาเมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีพระราชประสงค์บำรุงการศึกษามณฑลหัวเมือง
ทรงอาราธนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ให้ทรงเป็นผู้อำนวยการจัดการศึกษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้บังคับพระอารามในหัวเมือง ซึ่งเป็นส่วนการพระศาสนา และการศึกษา
ได้ทั้งในมณฑลกรุงเทพฯ ทั้งในมณฑลหัวเมือง ตลอดพระราชอาณาจักร

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
เป็นเจ้าหน้าที่จัดการอนุกูลในกิจที่ฝ่ายฆราวาสจะพึงทำ
มีจัดการพิมพ์แบบเรียนต่างๆ ที่จะพระราชทานแก่พระภิกษุสงฆ์ไปฝึกสอน เป็นต้น

ตลอดจนการที่จะเบิกพระราชทรัพย์จากพระคลังไปจ่าย
ในการที่จะจัดตามพระราชประสงค์นี้
และโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนพุทธศาสนิกชนในหัวเมืองทั้งปวง
มารวมขึ้นอยู่ใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เพื่อจะได้เป็นหมวดเดียวกัน

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงเลือก สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสุคุณคณาภรณ์
ให้เป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลจันทบุรีในศกนั้น   

ได้เคยรับสั่งเล่าตามที่มีผู้บันทึกไว้ว่า

“พระที่ไปอำนวยการศึกษามณฑลหัวเมืองมักไปเป็นครั้งคราว
ปีหนึ่งไม่เกิน ๔ เดือน การที่ให้พระช่วย คิดว่าให้เปลืองน้อย  

อีกอย่างหนึ่ง โรงเรียนต้องเลือกตั้งในวัดที่สมควร
เมื่อให้พระออกไปจัด เข้ากับพระด้วยกันได้
และไปหนุนเจ้าคณะเจ้าอาวาสให้ตั้งโรงเรียน เจ้าวัดต้องหาเลี้ยงนักเรียนด้วย  
เด็กเดินมาเรียนก็มี เป็นเด็กวัดก็มี ทางรัฐบาลเสียค่าเงินเดือนครูบ้างก็ไม่เป็นไร  
ผู้อำนวยการศึกษาต้องหาของไปรางวัลผู้จัดการศึกษาแต่ละแห่ง
เช่น นาฬิกา โคมลาน เป็นต้น ครั้งนั้นยังไม่มีเจ้าคณะมณฑล มีแต่เจ้าคณะเมือง  

เมื่อผู้อำนวยการศึกษาไปตรวจ เห็นอะไรสมควรจะจัด
เกี่ยวแก่การคณะและการพระศาสนา (ที่นอกจากการศึกษา) ก็แนะนำให้จัดการเอาเอง  
เมื่อกลับจากการตรวจ ก็ทำรายงานเสนอสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ  
เพื่อทรงพิจารณาร่วมกับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ แล้วถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง”


o เจ้าคณะมณฑลจันทบุรี


ต่อมาได้มีการออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕)
อันเป็นผลเนื่องมาจากการจัดการพระศาสนา และการศึกษาในหัวเมือง
พระองค์ก็ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะมณฑลจันทบุรีในศกนั้น
ได้ทรงออกไปตรวจการในศกนั้น จะไปเมืองปัจจันตคีรีเขตต์ (เกาะกง)  
ด้วยเรือในหน้ามรสุม กำหนดการไปมาหาแน่นอนมิได้  
จึงทูลลาเพื่อที่จะทรงจำพรรษาในเมืองที่ไปถึง  
แต่ไม่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต


พระภารกิจทางการศึกษา

ส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาทั้งแผนกธรรมและบาลี
ในสมัย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ได้ทรงเลือกพระเถระให้เป็นแม่กองสอบไล่ธรรม และบาลี
ตามวาระ ทั้งในมณฑลกรุงเทพฯ และมณฑลหัวเมือง
ก็ได้ทรงรับเลือกให้เป็นแม่กองสอบไล่พระปริยัติธรรมหลายคราว

เช่น ได้ทรงเป็นแม่กองสอบไล่มณฑลปัตตานี และมณฑลอยุธยา
ทั้งระหว่างที่ทรงเป็นเจ้าคณะมณฑลนั้น
และทรงได้รับเลือกเป็นแม่กองธรรมสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐
แม่กองบาลีสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗


สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เมื่อพระชนมายุ ๓๙ พรรษา


โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 08:31
พระภารกิจในการคณะธรรมยุต

เมื่อ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ทรงมีพระชราพาธเบียดเบียน ไม่เป็นการสะดวกที่จะทรงปฏิบัติพระภารกิจ
ในฐานะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ได้ทรงมอบหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
ให้ทรงบัญชาการแทน ด้วยลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๗๗

เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น สิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ. ๒๔๘๐
จึงได้ทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกา ตามแบบปกครองในคณะธรรมยุตสืบมา

เมื่อทรงรับหน้าที่ปกครองคณะธรรมยุตแล้ว
ได้ทรงจัดการปกครองคณะธรรมยุต ที่สำคัญหลายประการ คือ

๑.  วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๗๗ ประกาศใช้ระเบียบการชั่วคราวของคณะธรรมยุต
ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยฝ่ายบรรพชิต
โดยมีหลักการให้คณะกรรมการมหามกุฏฯ เลือกคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง
มีจำนวนไม่เกิน ๙ ประกอบด้วย ประธาน ๑ รองประธาน ๑ กรรมการ ๖ และเลขาธิการ ๑
เพื่อทรงตั้งเป็นกรรมการคณะธรรมยุต มีหน้าที่สอดส่อง แนะนำ
ชี้แจงแสดงความเห็น วางระเบียบแบบแผน ปรับปรุงกติกาอาณัติเป็นต้น
สำหรับคณะธรรมยุตทั่วไปให้ถือวันวิสาขบูชาเป็นวันแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละ ๑ ปี

๒. วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๑ เถรสมาคมคณะธรรมยุต
มีมติให้เพิ่มจำนวนกรรมการคณะธรรมยุต ๑๐ รูป ๕ รูป
จากสังฆมนตรีธรรมยุต อีก ๕ รูป จากเถรสมาคมคณะธรรมยุต
ตามลำดับคะแนนที่ได้รับเลือก และให้กรรมการเถรสมาคมธรรมยุตเป็นผู้เลือก

๓. วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๔๘๑ เพื่ออนุวัตรตามสมเด็จพระมหาสมณนิยม
จึงวางระเบียบกำหนดให้พระราชาคณะตั้งแต่ชั้นราชขึ้นไปอยู่ที่ในพระนคร-ธนบุรี
ดำรงตำแหน่งกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตประเภทประจำ
มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษา แสดงความเห็นการคณะทั่วๆ ไป
ในการนี้ถ้าเป็นการสมควรก็ทรงแต่งตั้งพระเถระที่เป็นพระราชาคณะสามัญ
เป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุต ประเภทชั่วคราวก็ได้

๔. กำหนดความนิยม ให้เจ้าอาวาสพระครูสัญญาบัตร
และพระราชาคณะขึ้นไปในพระนคร-ธนบุรี ที่จะเดินทางไปพักแรมคืนต่างจังหวัด
แจ้งการเดินทางไปนั้นให้เจ้าคณะใหญ่ทราบ

๕. กำหนดความนิยม ให้วัดที่มีภิกษุสามเณรมาก
ควรตั้งพระเถระในวัดนั้นๆ จำนวนตามแต่จะเห็นสมควร เป็นกรรมการวัด
มีหน้าที่ช่วยให้ความคิดเห็น เป็นที่ปรึกษาของเจ้าอาวาส

๖. วางระเบียบกำหนด ให้สามเณรต่อศีล ในวันขึ้นและแรม ๑๔ ค่ำของทุกเดือน

๗. ส่งพระเถระกรรมการคณะธรรมยุตออกไปตรวจการคณะสงฆ์
ในส่วนภูมิภาคจังหวัดต่างๆ ทางภาคพายัพ ภาคอิสาน และภาคใต้ ตามแต่กรณี

๘. ส่งนักเรียนปกครองและนักเรียนครูของมหามกุฏราชวิทยาลัยที่ได้รับการอบรมแล้ว
ไปยังวัดที่ส่งเข้ามาบ้าง ส่งไปยังสำนักที่ต้องการขอมาบ้าง ปีละหลายรูป

๙. ส่งพระผู้สมควรไปกำกับการวัดต่างๆ ในคณะธรรมยุต
เพื่อความเหมาะสมในขณะนั้น มีวัดศรีสุริยวงศ์ จังหวัดราชบุรี
วัดมัชฌินติการาม บางเขน พระนคร วัดตรีทศเทพ พระนคร
วัดหนองดู่ จังหวัดลำพูน วัดศรีมุงเมือง จังหวัดเชียงใหม่
วัดเกตการาม จังหวัดสมุทรสงคราม วัดจันทนาราม จังหวัดจันทบุรี วัดธาตุทอง พระนคร

๑๐. เปิดการประชุมคณะธรรมยุตจังหวัด
ให้เจ้าอาวาสวัดธรรมยุตมาประชุมที่วัดเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดเดือนละครั้ง
เพื่อพบปะปรึกษาหารือในข้อพระธรรมวินัย ปรับปรุงวัดและการปกครองเป็นต้น
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้มีการเปิดประชุมคณะธรรมยุต จังหวัดสมุทรสงคราม
จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดกาญจนบุรี

๑๑. ต่อมาเมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
การปกครองในคณะธรรมยุตก็คงเป็นไปตามเดิม

อนึ่ง เมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส
ถึงมรณภาพเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔
ได้ทรงรับเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ไปก่อน

ทรงมอบให้กรรมการวัดปฏิบัติกิจการของวัด อย่างที่เคยปฏิบัติ
(ทรงตั้งเจ้าอาวาสใน พ.ศ. ๒๔๙๗)

ต่อมา เมื่อสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก  
ได้มีพระบัญชาเรียกประชุมพระเถระทั้ง ๒ ฝ่าย
มาพิจารณาตกลงกันที่พระตำหนักเพชร เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฏคม พ.ศ. ๒๔๙๔
พระเถระทั้ง ๒ ฝ่ายได้ตกลงกัน ดังนี้

๑. การปกครองส่วนกลาง คณะสังฆมนตรีคงบริหารร่วมกัน
แต่การปกครองบังคับบัญชาให้เป็นไปตามนิกาย

๒. การปกครองส่วนภูมิภาค ให้แยกตามนิกาย

๓. ส่วนระเบียบปลีกย่อยอื่นๆ จะได้ปรึกษาในภายหลัง   
ได้ทรงสั่งให้พระธรรมยุตเจ้าคณะชั้นต่างๆ เป็นต้น ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้

(๓.๑) พ.ศ. ๒๔๙๕ ประชุมพระคณาธิการส่วนภูมิภาค
คือ เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดและผู้ช่วย
เจ้าคณะธรรมยุตอำเภอทั่วพระราชอาณาจักร ณ พระตำหนักเพชร

(๓.๒) กำหนดนโยบายบริหารคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๙๘

(๓.๓) ประกาศใช้ประมวลระเบียบบริหารวัดธรรมยุต พุทธศักราช ๒๕๐๐
เพื่อให้วัดธรรมยุตทั่วไป มีการบริหารเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๐๑

(๓.๔) จำนวนวัดธรรมยุต พ.ศ. ๒๔๘๒ มี ๓๒๐ วัด พ.ศ. ๒๕๐๑ มี ๘๓๔ วัด

(๓.๕) ในส่วนที่เกี่ยวกับธรรมยุตต่างประเทศ ได้รับพระภิกษุสามเณรธรรมยุต
จากประเทศเขมรให้อยู่ศึกษาอบรมสืบเนื่องมา ในสมัยที่รัฐบาลไทยให้ความอุดหนุน  
ด้วยให้ทุนการศึกษาแก้พระภิกษุสามเณรชาวต่างประเทศใกล้เคียง
เพื่อเข้ามาศึกษาอบรมในประเทศไทยจนสำเร็จ รูปละ ๘ ปี
คณะธรรมยุตได้รับพระภิกษุสามเณรชาวกัมพุชไว้ที่วัดบวรนิเวศฯ ถึง ๘ รูป


โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 10:53

ทรงฉายร่วมกับพระเถระกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยยุคแรก


พระภารกิจด้านมหามกุฏราชวิทยาลัย

ในทางมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ
ก็ได้ทรงมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง กล่าวคือ
ได้ทรงเป็นกรรมการ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานอาราธนาบัตรทรงตั้งมา
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๘ ขณะทรงเป็น หม่อมราชวงศ์พระชื่น เปรียญ พรรษา ๒

ต่อมาได้ทรงเป็น อุปนายกกรรมการ
ในสมัยที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
  ทรงเป็นนายกกรรมการ

พ.ศ. ๒๔๗๖ ทรงได้รับมอบหน้าที่การงานในตำแหน่ง นายกกรรมการ
จาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ (วัดราชบพิธ)
(ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖)
เมื่อ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ (วัดราชบพิธ) สิ้นพระชนม์แล้ว
ทรงได้รับเลือกเป็นนายกกรรมการตลอดมา

ในสมัยที่ทรงเป็นนายกกรรมการ ได้ทรงฟื้นฟู
และปรับปรุงกิจการของมหามกุฏฯ หลายประการเป็นต้นว่า

o ในด้านการบริหาร

ได้จัดตั้งเจ้าหน้าที่ ฝ่ายบรรพชิตเป็นผู้ปฏิบัติงานอำนวยการต่างๆ
เกี่ยวแก่ธุรการทั่วไปบ้าง เผยแผ่ปริยัติธรรมบ้าง ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
ปรับปรุงเจ้าหน้าที่ฝ่ายคฤหัสถ์ วางระเบียบต่างๆ ให้เหมาะสมและตราสารมูลนิธิ
ซึ่งได้จดทะเบียนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

ในสมัย สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ (วัดราชบพิธ) ทรงเป็นนายกกรรมการ
ได้จดทะเบียนแก้ไขอีกหลายคราว

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้บัญญัติประมวลระเบียบบริหารมูลนิธิ ตามความในตราสาร
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้ทรงแสดงพระประสงค์ให้คฤหัสถ์เป็นผู้จัดการ
ในเรื่องทรัพย์สินของมูลนิธิ ให้พระเป็นแต่ผู้ควบคุมเท่านั้น ตามควรแก่กรณี  

แต่จะแบ่งแยกกันโดยเด็ดขาด  จำต้องได้ผู้จัดการที่สามารถเป็นที่ไว้วางใจได้จริง
จึงจักไม่เกิดเรื่องยุ่งยากทางการเงิน  
เมื่อ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ทรงเข้ามาช่วยเป็นผู้จัดการ
จึงมีการแก้และบัญญัติประมวลระเบียบบริหารฯ ดังกล่าวนั้น

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๐  ได้บัญญัติ
ข้อบังคับการรักษาทุนและสินกุศลและระเบียบบริหาร พ.ศ. ๒๕๐๐  

นอกจากนี้ได้วางระเบียบอื่นๆ ขึ้นบ้าง ยกเลิก แก้ไข เปลี่ยนแปลงระเบียบเก่าบ้าง
ให้เหมาะสมแก่การงานที่ก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ

o ในด้านการบำรุงและอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม

ได้วางระเบียบบำรุงการศึกษา อบรม แก่สำนักเรียนต่างๆ
รับอบรมนักเรียน ครู นักเรียนปกครอง ที่ส่งเข้ามาจากจังหวัดนั้นๆ

ส่งครูออกไปสอนในสำนักเรียนที่ขาดครูบ้าง บำรุงสำนักเรียนต่างๆ
ด้วยทุนและหนังสือตามสมควร กำหนดให้มีรางวัล
เป็นการส่งเสริมสำนักเรียนที่จัดการศึกษาได้ผลดี

จัดตั้งหอสมุดมหามกุฏฯ
(ตามคำสั่ง วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘)

ตั้งสภาการศึกษามหามกุฏฯ เป็นรูปมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา
(ตามคำสั่ง วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘)

ทำการเปิดเรียนเป็นปฐม เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙

โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 10:54



o ในด้านการเผยแผ่

ฟื้นฟูการออกหนังสือ นิตยสารธรรมจักษุรายเดือน
ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดตั้งโรงพิมพ์มหามกุฏฯ
ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ จัดพิมพ์คัมภีร์พระธรรมเทศนา
โดยใช้กระดาษแทนใบลานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ บัดนี้เรียกว่า “มหามกุฏเทศนา”
จัดส่งพระไปทำการเผยแผ่ในส่วนภูมิภาคตามโอกาส

o ในด้านต่างประเทศ

ได้จัดส่งพระไปจำพรรษาที่ปีนัง ในความอุปถัมภ์ของ ญาโณทัย พุทธศาสนิกสมาคม
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๒ ได้ส่งพระไปร่วมสมโภชฉลองพระบรมสารีริกธาตุ
พระธาตุของพระสารีบุตรเถระ และพระโมคัลลานุเถระ ตามคำเชิญของเขมร
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้ให้อุปการะส่วนหนึ่งแก่พระที่เดินทรงไปสังเกตการพระศาสนา
และการศึกษาในประเทศอินเดีย และลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘


พระรูปทรงฉายร่วมกับพระนวกะวัดบวรนิเวศวิหาร หน้าพระอุโบสถ


พระภารกิจด้านการวัด

ในสมัย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้โปรดให้ทรงช่วยในการปกครองวัดมาโดยลำดับ  
รับสั่งเล่าว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวช
ในขณะที่ทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฏราชกุมาร

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ โปรดให้ทรงเป็นพี่เลี้ยงกับพระราชมุนี (ชม)
เพราะทรงผนวชกว่า ๓ เดือน  ในตอนหลังสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
เมื่อเสด็จหัวเมืองทุกครั้ง  ตลอดจนถึงเสด็จไปประทับพักรักษาพระองค์ในครั้งที่สุด
ที่จังหวัดสงชลา  ก็ได้โปรดให้ทรงรักษาการวัด  
และโปรดให้เป็นพระอุปัชฌาย์แทนพระองค์  เมื่อประชวรมากขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๓

และได้ทรงตั้งให้เป็นกรรมการรับมอบสมณบริกขารส่วนพระองค์
(ใบทรงตั้งลงวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓)

เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าสิ้นพระชนม์ในวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔  
ได้ทรงครองวัดต่อมานับเป็นปีที่ ๔
(เคยรับสั่งว่าไม่มีใครตั้งพระองค์ท่านเป็นเจ้าอาวาส รัชกาลที่  ๖ ก็มิได้ทรงตั้ง
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ (วัดราชบพิธ) ก็ไม่ได้ทรงตั้ง


การปกครองวัดได้ทรงปฏิบัติตามแบบที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  
และสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงวางไว้เป็นส่วนใหญ่  
มีพระกรรมการวัดเป็นผู้ช่วยพิจารณา   

โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 10:55
o ฝ่ายการศึกษาอบรม

ได้มีเปรียญและนักธรรมเพิ่มพูนมากขึ้น
การอบรมสั่งสอนนวกะภิกษุนั้น  
ได้ตั้งพระหฤทัยประทานพระโอวาทอบรมด้วยพระองค์เอง
โดยมากเคยมีรับสั่งว่า  เป็นอุปัชฌาย์พระบวชใหม่แล้วมิได้สอนเอง  
ก็เหมือนมารดามีบุตรแล้วไม่ได้เลี้ยงด้วยขีโรทกของตน  

ในตอนหลังได้มีพระใหม่เพิ่มมากขึ้น  
จนต้องจำกัดจำนวน  เพราะเสนาสนะไม่เพียงพอ  
ในวันธรรมะสวนะ ทรงแสดงธรรมกัณฑ์อุโบสถเวลาเช้าเสมอ
(เทศน์ต่างๆ ที่รวมพิมพ์เป็นเล่ม  
บันทึกจากแสดงที่ทรงเป็นมุขปาฐะในวันธรรมสวนะโดยมาก)



ตึกมนุษยนาคมานพวิทยาทาน


o การก่อสร้างภายในวัดในสมัยที่ทรงครองวัด

ได้มีขึ้นเป็นอันมาก ที่เป็นอาคารใหญ่ก็คือ ตึกมนุษยนาคมานพวิทยาทาน  
ตึกสภาการศึกษา ขนาดย่อมลงมาก็มี ตึกลออโรงเรียนสามัคคีธรรมทาน  
ตึกคอยท่า และกุฏีต่างๆ อีกจำนวนมากหลัง  

o การก่อสร้างอันเกี่ยวเนื่องกับพระองค์

ได้แก่ โรงเรียนสามัคคีธรรมทาน สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗
ด้วยทุนที่เหลือจากการบำเพ็ญกุศลฉลองชนมายุ ๕ รอบ ๖๐ ปี  บริบูรณ์

ตึกอุทิศนพวงศ์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ด้วยทุนไวยาวัจกรส่วนพระองค์

ส่วนที่ทรงสร้างในส่วนธรณีสงฆ์ของวัดคือ ทำถนนหลังวัดและสร้างห้องแถว ๖ ห้อง
ที่หลังวัด  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ด้วยทุนที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  
ทรงปวารณาเก็บไว้ที่พระคลังข้างที่  โปรดฯ ให้ไวยาวัจกรวัดเบิกมาทำ

โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 10:56

พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ประดิษฐาน ณ ตึกมนุษยนาคมานพวิทยาทาน วัดบวรนิเวศวิหาร



o การอุปการะศิษย์วัด

จัดปกครองและอบรมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
อุปการะให้ได้เข้าเล่าเรียนในโรงเรียนในวัด  โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน  
เพราะโรงเรียนในวัดสืบเนื่องมาจากโรงเรียนของมหามกุฏดังกล่าวข้างต้น  
ซึ่งไม่เก็บค่าเล่าเรียน  ต่อมาเมื่อเป็นโรงเรียนที่รัฐบาลรับช่วงไป
และที่เล่าเรียนก็ขยายออกไปเป็น ตึกอรพินท์, ตึกดำรงธัมมี  
และตึกมนุษยนาคมานพวิทยาทาน
เป็นตึกของวัดที่สร้างเป็นสถานศึกษา  
ทางโรงเรียนก็ไม่เก็บค่าเล่าเรียนจากศิษย์วัดเป็นการตอบแทน  

ทางวัดคุ้มครองป้องกันให้เป็นดังนี้ตลอดมา  
ก็ด้วยมุ่งอุปการะเด็กของชาตินั้นเอง   
และจัดอบรมพระพุทธศาสนาประกอบไปด้วย  

ในชั้นหลังรัฐบาลไม่เก็บค่าเล่าเรียนนักเรียนมัธยมทั่วไป  
ซึ่งก็มาตรงกับวัตถุประสงค์ที่ทางวัดอุปการะเด็กของวัดอยู่แล้ว


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)



o ปกิณกะ

การที่ทรงจัดอันเป็นส่วนปลีกย่อยนอกจากนี้  
เป็นต้นว่าในการทำวัตรเช้า  เพิ่มสวดบท อภิณหปัจจเวกขณะแปล
ในเวลาทำวัตรเย็น เพิ่มบท พรหมวิหารผรณปาฐะแปล
และปัตติทานคาถา (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔)  แปล


และในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒  
ต้องเปลี่ยนเวลาทำวัตรเย็นในเวลา ๒๐ นาฬิกา มาเป็นเวลา ๑๗ นาฬิกา
และเปลี่ยนเวลาทำปาติโมกข์ในเวลาเดียวกันนั้นมาเป็นเวลา ๑๓ นาฬิกา
(เวลาทำวัตรเย็นได้เปลี่ยนกลับไปเป็นเวลา ๒๐ นาฬิกา ตามเดิม  
ตั้งแต่วันหลังวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ )


อนึ่งได้เสด็จไปทรงเป็น พระอุปัชฌาย์ ที่วัดเขมาภิรตาราม
ตามที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงสั่งมอบไว้
และได้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ให้อุปสมบท  อุปสัมปทาเปกขะทั้งสิ้นรวม ๑๕๙๙ อีกด้วย

โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 15:23
พระกรณียกิจพิเศษ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้เสด็จไปบูชาปูชนียสถานและดูการพระศาสนา
ที่ประเทศลังกา อินเดีย และพม่า
ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘
กลับถึงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘


พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ๔๕ เล่มของมหามกุฏราชวิทยาลัย


การหนังสือและผลงานพระนิพนธ์

พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระ พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ

แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์
ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา
ทรงพระราชอุทิศพระกุศลถวายสนองพระเดชพระคุณ
สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้ทรงชำระ ๒ เล่ม คือ

เล่ม ๒๕ ขุทฺทกนิกาย ขุทฺทกปาฐ ธมฺมปท อุทานอิติวุตฺตก สุตฺตนิปาต
เล่ม ๒๖ ขุทฺทกนิกาย วิมานวตฺถุ เปตวตฺถุ เถรคาถา เถรีคาถา


ทรงชำระ อรรถกถาชาดก
ที่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
โปรดเกล้าฯ ให้ชำระพิมพ์ในโอกาสที่มีพระชนมายุ ๖๐ พรรษาบริบูรณ์ รวม ๑๐ ภาค  

เมื่อปี พศ. ๒๔๗๖  ได้ทรงชำระภาคที่ ๓

ส่วนหนังสือทรงรจนาหรือที่บันทึกจากพระดำรัสด้วยมุขปาฐะ เป็นต้นว่า

ศาสนาโดยประสงค์ (พิมพ์หลายครั้ง)
พระโอวาทธรรมบรรยาย ๒ เล่ม (พิมพ์หลายครั้ง)
ตายเกิดตายสูญ (พิมพ์หลายครั้ง)

ทศพิธราชธรรม
พร้อมทั้งเทวตาทิสนอนุโมทนากถา
และสังคหวัตถุ จักรวรรดิวัตร และขัตติยพละ


ถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลปัจจุบัน

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในงานฉลองพระสุพรรณบัฏ
ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. ๒๔๙๓

พุทธสาสนคติ
คณะธรรมยุต พิมพ์ในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๕๐๐

บทความต่างๆ รวมพิมพ์เป็นเล่มตั้งชื่อว่า
“ความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาตั้งแต่เบื้องต้น”
(พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา พ.ศ. ๒๕๐๑)


พระธรรมเทศนา ทศพิธราชธรรม ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลปัจจุบัน

พระธรรมเทศนาศราทธพรต ในคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระโอวาทในโอกาสต่างๆ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ครั้งนี้ด้วย

พระธรรมเทศนา “วชิรญาณวงศ์เทศนา” รวม ๕๕ กัณฑ์
คณะธรรมยุตพิมพ์เป็นเล่มและมหามกุฏฯ พิมพ์เป็นคัมภีร์

“มหามกุฏเทศนา”
ในคราวพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ครั้งนี้

ทีฆาวุคำฉันท์ (พิมพ์หลายครั้ง)

โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 15:24

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณวราภรณ์


การเลื่อนสมณศักดิ์

ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์โดยลำดับต่อไปนี้

o ในรัชกาลที่ ๕

พ.ศ. ๒๔๓๙ เป็น พระสุคุณคณาภรณ์ ที่พระราชาคณะ

พ.ศ. ๒๔๔๖ เป็น พระญาณวราภรณ์ มีสมณศักดิ์เสมอตำแหน่งเทพพิเศษ

ในการพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา
ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๔๔๙
ได้มีกำหนดให้ทรงอ่านพระอภิธรรมนำพระศพ ได้มีเรื่องเกิดขึ้นในครั้งนั้น
ตามที่ได้เคยมีรับสั่งเล่าแก่หลายท่านเลือกเก็บรวมใจความว่า  

เมื่อจะทรงออกจากวัด (บวรนิเวศฯ) เจ้าหน้าที่สังหการีได้มาตาม
เพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จไปทรงรออยู่แล้ว
จึงทรงตรวจดูฎีกานิมนต์ของสังฆการี ปรากฏว่ายังไม่ถึงเวลาตามกำหนดในฎีกา
จักต้องเสด็จถึงก่อนและทันเวลาเสด็จพระราชดำเนินถึง
ซึ่งเป็นเหตุก่อผลจนถึงได้ตกลงพระหฤทัยที่จะไม่เกี่ยวข้องกับราชการอีก

จึงทรงทูลลาและได้ทรงส่งพัดหลวงคืน แต่ไม่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต

ในพรรษากาล พ.ศ ๒๔๕๑ ได้เสด็จไปทรงจำพรรษาที่วัดท้ายยอ เมืองสงขลา
ในคราวนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ มีรับสั่งขอให้
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงสืบ ดังความในลายพระหัตถ์กราบทูล (พบในแฟ้มพระตำหนักจันทร์) ว่า

ศาลาว่าการมหาดไทย
วันที่ ๒๒ มกราคม ร.ศ. ๑๒๗

กราบทูลทราบฝ่าพระบาท

ตามที่มีพระประสงค์จะทราบว่า หม่อมราชวงศ์พระชื่นพักอยู่ที่ใดนั้น
เกล้าฯ ได้ทราบจากพระยาชลบุรารักษ์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช
ว่าหม่อมราชวงษ์พระชื่น
* พักอยู่ที่วัดกลาง เมืองสงขลา

แต่เมื่อพระยาชลบุรารักษ์ จะเข้ามากรุงเทพฯ
หม่อมราชวงษ์พระชื่น
* กำลังหาเรือจะไปเมืองพัทลุง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ดำรงราชานุภาพ


ครั้นวันที่ ๒๗ กรกฏาคม ศกนั้น กระทรวงมหาดไทย
จึงได้รับแจ้งมา (ตามเอกสารบนตำหนักจันทร์) ว่าดังนี้

สำเนาวันที่ ๘๑๘๒ กระทรวงมหาดไทย
รับวันที่ ๒๗ กรกฏาคม ศก ๑๒๗
ที่ ๓
กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพฯ

พระญาณวราภรณ์ ได้มาถึงเมืองพัทลุง ๑ วัน
แล้วกลับไปพักประจำพรรษาอยู่ที่วัดเกาะยอ เมืองสงขลา

ขุนอักขรา


การเสด็จกลับเข้ามา กล่าวกันว่า เพราะมีคำสั่งเรียกเป็นทางราชการ
ปรากฏว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้พระราชทานอภัย
(จะเป็นเพราะทรงทราบเหตุหรือเพราะทรงเมตตาไม่ปรากฏ)

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ได้รับสั่งเล่าว่า
ในคราวเสด็จฯ พระราชทานผ้าพระกฐินหลวงที่วัดบวรนิเวศวิหาร

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรับสั่งถาม สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่า

“ขรัวชื่นเดี๋ยวนี้อยู่ไหน”

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทูลว่า   “อยู่กุฏิ”

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
ทูลกระหม่อมอัษฏางค์ฯ เชิญไตรไปถวายแทนพระองค์
แสดงว่าได้ทรงพระราชทานอภัยแล้ว

ท่านผู้หนึ่งเคยเล่าว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
(ทรงพระราชปรารภเหตุอย่างหนึ่ง) รับสั่งถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ว่า

“พระอย่างนี้หายาก จะดีขึ้นไปถึงไหนๆ”

โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 15:25

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณวราภรณ์
เจ้าคณะมณฑลอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗



o ในรัชกาลที่ ๖

พ.ศ. ๒๔๕๔ พระราชทานพัดยศเดิม คงเข้ารับราชการตามตำแหน่งเดิม
(เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน)

พ.ศ. ๒๔๕๔ เลื่อนขึ้นสมณศักดิ์พิเศษเสมอตำแหน่งธรรม ในราชทินนามเดิม

พ.ศ. ๒๔๖๔ สถาปนาเลื่อนพระราชาคณะ มีสมณศักดิ์เสมอตำแหน่งธรรมพิเศษ
มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏขึ้นต้นเหมือนอย่างเดิม
(ได้มีพระราชประสงค์จะทรงยกย่องมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๓)

แต่ได้ทรงกราบทูลสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
ขอพระราชทานไม่รับยศที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนั้น
เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สิ้นพระชนม์แล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเลื่อนขึ้นดังกล่าว


ทรงฉายร่วมกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (แถวหน้า องค์ที่ ๓ จากซ้าย)
และสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (แถวหน้า องค์ที่ ๒ จากซ้าย)



ทรงฉายร่วมกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (แถวหน้า องค์ที่ ๔ จากซ้าย)
และสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (แถวหน้า องค์ที่ ๒ จากซ้าย)


โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 15:26
o ในรัชกาลที่ ๗

พ.ศ. ๒๔๗๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็น
สมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ฯ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต

(ปรากฏในเอกสารเรื่องสถาปนาว่า
ราชทินนามที่กราบบังคมทูลมีหลายนามคือ
วชิรญาณวงศ์ วชิรญาณวราภรณ์ วชิรญาณวรางกูร
และในการที่จะสถาปนาครั้งนี้
ได้มีพระราชประสงค์ทรงเห็นว่าควรเป็นสมเด็จพระราชาคณะ
ได้มีพระราชดำรัสแก่เสนาบดีกระทรวงธรรมการ
ให้ไปทูลสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ
ทรงเห็นว่าถึงไม่สมัคร แต่ถ้าทรงตั้งก็ไม่ขัดข้อง
ได้ทรงพระราชดำริถึงชื่อสมเด็จพระราชาคณะพิเศษ
ทรงเห็นว่า สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เหมาะดี)

o ในรัชกาลที่ ๘

พ.ศ. ๒๔๘๘ ประกาศสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามเดิม
(ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก ปธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร
เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๘) ดังความต่อไปนี้


พัดยศสำหรับพระสมณศักดิ์ที่
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์



โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 15:27
การสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๗ เวลา ๐๓.๐๐ น. นี้
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา
สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) ขึ้นเป็น
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปรินายก ในราชทินนามเดิม
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.  ๒๔๘๘ ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้

ประกาศสถาปนา
สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗)
ปรีดี พนมยงค์

โดยที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว เปรียญ ๕ ประโยค)
วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก ปธานาธิบดีสงฆ์
ได้สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปเสียแล้ว
เป็นการสมควรที่จะสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ดำรงตำแหน่งต่อไป

และโดยที่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร
มีคุณูปการในทางศาสนกิจ เจริญด้วยคุณวุฒิ ประกอบด้วยสมรรถภาพอันดียิ่ง
เป็นที่คารวะของพระภิกษุสงฆ์และพุทธมามกะทั่วไป
สมควรจะดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายกได้

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จึงให้ประกาศสถาปนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ขึ้นเป็น
สมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามเดิม ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก  
ปธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร สืบไป

ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ควง อภัยวงศ์
นายกรัฐมนตรี

(หมายเหตุ : จากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๒ ตอนที่ ๙ หน้า ๑๖๖ พ ศ ๒๔๘๘)



สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร



o ในรัชกาลที่ ๙
การเฉลิมพระนามสมเด็จพระสังฆราช


ถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
สถาปนาเฉลิมพระนามให้เต็มพระเกียรติยศตามราชประเพณี
เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓  
ตามจารึกในพระสุพรรณบัฏ ขึ้นต้นพระนามเหมือนอย่างเดิม
(พระปลัดขวาซ้าย เลื่อนขึ้นเป็นพระราชคณะ)

และในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาศกนั้น  
ทรงได้รับพระราชทานพัดแฉกงา
ซึ่งเป็นพัดที่เคยพระราชทานเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตสืบกันมาตั้งแต่ต้น

* หมายเหตุ : อักขรวิธีตามต้นฉบับ

โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 18:32

ในพระราชพิธีทรงผนวชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙
โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระราชอุปัธยาจารย์



ประชวรใหญ่ครั้งแรก

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ประชวรพระโรคนิ่วในถุงน้ำดี ต้องเสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
แพทย์ได้ถวายการผ่าตัด ๒ ครั้ง ตัดถุงน้ำดีออก

ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ คณะศิษยานุศิษย์ และผู้เคารพนับถือ
ได้ดำเนินการสร้างตึกสำหรับพระภิกษุสามเณรผู้อาพาธขึ้น ๑ หลัง
ให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นที่ระลึกในการหายประชวรครั้งนั้น
แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ
ได้ประทานนามว่า “ตึกสามัคคีพยาบาร”

โปรดใช้คำว่า “พยาบาร” ซึ่งเป็นศัพท์บาลีที่มีอยู่แล้ว
แทนคำว่า “พยาบาล” ซึ่งเป็นศัพท์ผูกใหม่
(พยาปารหรือวฺยาปาร แปลว่า ขวนขวาย, ช่วยธุระ, กิจกรรม)


พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ทรงประทับหน้าใบเสมาพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙



ประชวรใหญ่ครั้งที่ ๒


ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้เริ่มประชวรพระโรคบิด ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม
ต่อมากลายเป็นพระอันตะ (ลำไส้) อักเสบ มีพระโลหิตเวลาลงพระบังคนหนัก
ต้องเสด็จไปประทับที่ตึกสามัคคีพยาบาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

นายแพทย์ได้ถวายการผ่าตัดพระนาภี ๒ ครั้ง
ตามรายงานของแพทย์แสดงว่าครั้งแรกผ่าตัดแผลที่พระอันตะออก
เพราะทำให้พระโลหิตออกมากไม่มีทางจะทำให้หยุดได้ด้วยวิธีอื่น
ครั้นแล้วพระอันตะส่วนหนึ่งเกิดบิดพันกับพระกิโลมกะ (พังผืด)  ในพระนาภี
ต้องถวายการผ่าตัดพระกิโลมกะ (พังผืด) นั้นออกเป็นครั้งที่ ๒
พระชนม์ชีพได้ผ่านอันตรายมาได้


สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ-พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ณ พระตำหนักบัญจบเบญจมา เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙


โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 18:33
พระราชอุปัธยาจารย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ได้เสด็จฯ เยี่ยมพระอาการในคราวประชวรนี้หลายครั้ง
และได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์โดยตลอด

ทรงทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชปณิธานอย่างแน่นอนว่า
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ หายประชวร จะทรงผนวช

และสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ก็หายประชวรได้อย่างน่าประหลาด
จึงได้ตกลงพระราชหฤทัยจะทรงผนวช


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ถวายอนุศาสน์
เมื่อพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นทรงทำอุปัชฌายวัตร
ณ พระตำหนักบัญจบเบญจมา เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙



โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต ป.ธ. ๗)
วัดบวรนิเวศวิหาร
ที่ทรงถือว่าได้ทรงมีคุณูปการส่วนพระองค์มามาก เป็นพระราชอุปัธยาจารย์
สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ. ๙)
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระราชอนุศาสนาจารย์
และ พระสาสนโสภณ (จวน อุฏฐายี ป.ธ. ๙)
วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์

เพื่อสนองพระเดชพระคุณพระราชบุรพการีตามคตินิยมราชประเพณี
พระองค์ได้เสด็จฯ มาเฝ้าถวายเครื่องสักการะ
แสดงพระองค์เป็น อุปสัมปทาเปกข์ (ผู้ประสงค์อุปสมบท)
ในสำนักสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙

ครั้นเมื่อถึงวันจันทร์ที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ ได้เสด็จทรงผนวช
ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง


พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายสักการะทูลลาเพื่อทรงลาผนวช
ณ พระตำหนักบัญจบเบญจมา เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙



ในสังฆสมาคม มีพระสงฆ์นั่งหัตถบาส รวม ๓๐ รูป
โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เป็นประธานในการอุปสมบทกรรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับผ้าไตรจากสมเด็จพระราชชนนี
แล้วทรงอุ้มไตรคุกพระชานุอยู่ตรงหน้าพระราชอุปัธยาจารย์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ถวายโอวาท
แล้วถวายพระสมณฉายานามว่า “ภูมิพโล ภิกขุ”
หรือขานพระนามตามสำนักพระราชวังว่า
พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  
เสร็จเวลา ๑๖.๒๓ นาฬิกา

พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนผ้าไตรและย่าม
แด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ และพระสงฆ์ในสังฆสมาคมนั้นทั้งหมดรวม ๓๐ รูป
แล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระแท่นท้ายอาสน์สงฆ์
ทรงรับสมณบริขารและเครื่องสักการะจากพระบรมวงศานุวงศ์และผู้มีเกียรติทั้งปวง
เสร็จแล้วพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพร ถวายอนุโมทนา
ทรงกรวดน้ำกวายอดิเรก แล้วเสด็จฯ ออกจากพระอุโบสถ

โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 18:34

พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ประทับในพระตำหนักปั้นหยา เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙



ครั้นเมื่อเสร็จพระราชพิธีทรงพระผนวช
ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้ว
พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จฯ สู่พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม ในพระบรมมหาราชวัง
ทรงประกอบการทัฬหีกรรมตามขัตติยราชประเพณี
แต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงพระผนวช
ในสังฆสมาคม มีพระเถระฝ่ายธรรมยุตนั่งหัตถบาส รวม ๑๕ รูป
โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงเป็นประธาน
เสร็จเวลา ๑๗.๔๓ นาฬิกา

แล้วเสด็จฯ โดยรถพระที่นั่งพร้อมด้วยสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ สู่วัดบวรนิเวศวิหาร
ในท่ามกลางประชาชนที่มาเฝ้าพระบารมีอย่างแน่นขนัดสองฟากถนนตลอดถึงวัด
โดยเสด็จมาประทับ ณ  พระตำหนักปั้นหยา  หนึ่งคืนตามพระราชประเพณี
แล้วจึงเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักทรงพรต ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕

ในการนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ  พระราชอุปัธยาจารย์
ของ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ทรงเลือก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
เมื่อครั้งทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระโศภณคณาภรณ์
ให้เป็น “พระอภิบาล” (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร  


“ปัญจมหาราชา” ๕ พระบูรพกษัตราธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
คือรัชกาลที่ ๔-๗ และรัชกาลที่ ๙ ภายใต้ร่มเงาเศวตฉัตรแห่งพระบวรพุทธศาสนา



ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๒ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ที่เสด็จออกทรงพระผนวชขณะทรงครองราชย์อยู่
(พระองค์แรกคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕)
และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ที่ได้เสด็จออกทรงพระผนวชต่อจากพระบูรพกษัตราธิราชเจ้ารัชกาลที่ ๔-๗

ดังนั้น พระบูรพกษัตราธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ภายใต้ร่มเงาเศวตฉัตรแห่งพระบวรพุทธศาสนา ปัจจุบันมี ๕ พระองค์
เรียกว่า “ปัญจมหาราชา” ประกอบด้วยรัชกาลที่ ๔-๗ และรัชกาลที่ ๙

ในระหว่างทรงผนวช พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ได้ทรงดำรงสมณเพศ ประทับทรงปฏิบัติพระธรรมวินัย
อยู่ในสำนักสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ  ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอด ๑๕ ราตรี
ระหว่างวันจันทร์ที่  ๒๒ ตุลาคม ถึง วันจันทร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙

ทรงลาผนวชเมื่อวันจันทร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙

แม้เมื่อทรงลาผนวชแล้ว พระองค์ยังคงเสด็จมาประทับ
นั่งสมาธิกรรมฐานเป็นครั้งคราว ณ พระตำหนักทรงพรต


พระบรมสาทิสลักษณ์สีน้ำมันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เมื่อทรงผนวช
ทรงฉายกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ฝีมือระเด่น บูซากิ



โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 18:35

พัดตราประจำพระองค์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์



การทรงกรม

พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระสมณศักดิ์และฐานันดรศักดิ์
พระราชอุปัธยาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  
ประกอบพระราชพิธี ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวามคม ๒๔๙๙
ได้ถวายพัดมหาสมณุตมาภิเษกของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เสวตฉัตร ๓ ชั้น ได้เปลี่ยนเป็นฉัตรตาดเหลือง หรือฉัตรตาดสีทอง ๕ ชั้น
สำหรับฐานันดรศักดิ์กรมหลวงฯ  และมีสำเนาประกาศสถาปนา ดังนี้

ประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาสมณศักดิ์และฐานันดรศักดิ์
สมเด็จพระสังฆราช ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์


ภูมิพลอดุลยเดช ปร.

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี
จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า
โดยที่ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช
ได้ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ทรงมีพระคุณูปการอย่างยิ่งแด่พระองค์
เมื่อคราวทรงผนวช ได้ถวายโอวาทานุศาสน์
ให้ทรงเข้าพระราชหฤทัยในหลักพระพุทธศาสนาอย่างทราบซึ้ง

นับว่าทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคลแห่งองค์พระมหากษัตริย์
และประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ มีศักดิ์เป็นหม่อมราชวงศ์ราชประนัปดา
ในสมเด็จพระบรมไอยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฏ      
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับว่าทรงดำรงอยู่ในสถานะเป็นเชื้อสาย
ในราชตระกูลแห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ
เป็นอจลพรหมจริยาภิรัตยั่งยืนมาช้านานถึง ๖๔ พรรษา      
ดำรงมั่นอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญามิได้เสื่อมถอย มีพระจริยาวัตรเรียบร้อยบริสุทธิ์ บริบูรณ์         
มิได้หวั่นไหวต่อโลกามิส ทั้งพระฉันทจริต ก็เพียบพร้อมด้วยสมณคุณธรรม
ยากที่จะหาผู้เสมอได้    ทรงพระปรีชาญาณแจ่มใส รอบรู้พระไตรปิฎกสัทธรรม
ซึ่งนับว่าเป็นพหุลศรุตบัณฑิต อย่างยอดเยี่ยมพระองค์หนึ่งทรงพระสุตญาณอย่างลึกซึ้ง
สามารถในธรรมวิจารณธรรมวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องเด็ดขาดในโอกาสทุกเมื่อ

ส่วนในการพระศาสนา สมเด็จพระสังฆราช ก็ได้ทรงรับหน้าที่บริหาร จัดการทะนุบำรุง
ให้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ จนในที่สุด ได้ทรงดำรงตำแหน่ง สกลมหาสังฆปริณายก
มาเป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี ได้ทรงบำเพ็ญกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พุทธจักร
และอาณาจักรอย่างไพศาล ดั่งความพิสดารปรากฏอยู่ในประกาศสถาปนาเฉลิมพระนาม
เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ นั้นแล้ว

และบัดนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเจริญยิ่งด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ
รัตตัญญูมหาเถรธรรม เป็นที่เจริญศรัทธาปสาทะและเป็นคารวสถาน
ปูชนียเจดีย์แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
ตลอดถึงมวลพุทธบริษัทและอาณาประชาราษฎรทั่วสกลราชอาณาจักร
สมควรจะสถาปนาพระเกียรติยศฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง
เพื่อเป็นศรีศุภมงคล แด่พระบวรพุทธศาสนา
และเป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาคารวสถานสืบไป

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ให้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง
มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วิสุทธิสงฆคุณาลังการ
อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาส
ภูมิพลมหาราชหิโตปัธยาจารย์ สุจิตตาภิธานสังฆวิสุต มหามกุฏมหาราชประนัปดา
นภวงศราชกุลาภิวรรธน์ สุขุมอรรถธรรมวิจาร  ปรีชา กาพยรจนาฉันทพากยปฏิภาน
ปาวจนุตตมญาณวราภรณ์ สุนทรวิสุทธิพรหมจรรย์ วิมลศีลขันธสมาจารวัตร
พุทธศาสนิกบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภานพัฒนคุณ อดุลคัมภีรญาณบัณฑิต
สรรพคณิสสรมหาปธานาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร คชนาม

เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระอารามหลวงทรงศักดินา ๑๑๐๐๐
ตามกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมทั้งปวง
และดำรงพระอิสริยยศยิ่งใหญ่ในฝ่ายพุทธจักร
สมณศักดิ์ที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
เป็นประธานในสมณมณฑลทั่วราชอาณาจักร
ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน     
ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์สามเณรทั่วไป
โดยสมควรแก่พระอิสริยยศสมณศักดิ์
ทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาน คุณสารสมบัติ
สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบูลยศุภผลจิรัฏฐีติกาล ในพระพุทธศาสนา

ให้ทรงตั้งเจ้ากรม เป็น หลวงวชิรญาณวงศ์ ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้งปลัดกรม เป็น ขุนจำนงบวรกิจ ถือศักดินา ๔๐๐
ให้ทรงตั้งสมุห์บัญชี เป็น หมื่นวินิจวรภัณฑ์ ถือศักดินา ๓๐๐
ให้ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งบรรดาศักดิ์ทั้ง ๓ นี้ ทำราชการในหลวง
และในกรมตามอย่างธรรมเนียมเจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บัญชี
ในพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ทั้งปวงสืบไป ให้มีความสุขสวัสดิ์เจริญเทอญ

ในส่วนสมณศักดิ์นั้น ให้ทรงมีพระราชาคณะ
และพระครูฐานานุกรมประดับพระอิสริยยศ ๑๕ รูป

คือ พระมหานายก พุทธปาพจนดิลกโลกยปสาทาภิบาล
สกลสังฆประธานมหาเถรกิจการี คณาธิบดีศรีรัตนคมกาจารย์

พระราชาคณะปลัดขวา ๑ พระจุลนายก ธรรมนิติสาธกมหาเถราธิการ
คณกิจบรรหารธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์

พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑
พระครูวิสุทธิธรรมภาณ ๑
พระครูพิศาลวินยวาท ๑
พระครูประสาทพุทธปริตร พระครูพระปริตร ๑
พระครูประสิทธิ์พุทธมนต์ พระครูพระปริตร ๑
พระครูวินัยธร ๑
พระครูธรรมธร ๑
พระครูสรภัญญประกาศ พระครูคู่สวด ๑
พระครูสรนาทวิเศษ พระครูคู่สวด ๑
พระครูนิเทศธรรมจักร ๑
พระครูพิทักษ์ธุรกิจ ๑   
พระครูสังฆสิทธิกร ๑
พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑

ขอให้พระคุณผู้ได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้  มีความสุขสิริสวัสดิสถาพร
ในพระบวรพุทธศาสนา เทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี



โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 18:36

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
ทรงประทับหน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงฉายเมื่อพระชนมายุ ๗๔ พรรษา



อภิธชมหารัฏฐคุรุ

รัฐบาลแห่งสหภาพพม่า ได้ถวายเฉลิมพระสมณศักดิ์ “อภิธชมหารัฏฐคุรุ”
ซึ่งเป็นสมณศักดิ์สูงสุดของสหภาพพม่า แด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ

นายกรัฐมนตรีพม่าซึ่งได้รับเชิญมาร่วมในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษในประเทศไทย
ได้มาประกอบพิธีถวาย ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๐๐


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ทรงบาตรสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์


โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 18:37

ทรงถวายน้ำพระพุทธมนต์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓



พระกรณียกิจพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน

ถวายศาสโนวาทและเบญจศีล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในคราวแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ
ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

ทรงเป็นประธานพระสงฆ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ระหว่างวันที่ ๔-๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓
ในพระราชพิธีนี้ ได้ถวายพระครอบพระกริ่งกับพระครอบยันต์นพคุณ
ณ มณฑปพระกระยาสนาน ถวายพระธรรมเทศนาทศพิธราชธรรม

ถวายพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์
ซึ่งประสูติ ณ วันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕

ถวายพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา
ซึ่งประสูติ ณ วันเสาร์ที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘

ถวายพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์
ซึ่งประสูติ ณ วันพฤหัสบดีที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๐

ถวายพระนาม พระพุทธนาราวันตบพิตร
ที่ได้ทรงสถาปนาและโปรดเกล้าฯ ให้นำมา
เมื่อเสด็จฯ ถวายพุ่ม วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๐
เพื่อประดิษฐานไว้ ณ พระตำหนักปั้นหยา
อันเป็นที่เสด็จประทับบำเพ็ญสมณปฏิบัติในระหว่างทรงผนวช

ถวายพระนาม พระโพธิ์ใต้แม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑  ว่า
“พระโพธิมหัยยาเขตสุชาตภูมินาถ รัฐศาสนสถาวรางกูร”

(หมายเหตุ - พระโพธิ์ต้นนี้เกิดมาจากพระโพธิ์ที่อันเชิญมาจากศรีลังกา
มาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาได้ตายลง
แต่ก่อนจะตายได้มีพระโพธิ์ต้นใหม่เกิดขึ้นมา เรียกว่า พระโพธิ์ใต้แม่)


พระตำหนักบัญจบเบญจมา ที่ประทับสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ

โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 18:38
ประชวรครั้งอวสาน

หลังจากประชวรครั้งใหญ่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้ประชวรกระเสาะกระแสะ
พระวรกายทรุดโทรมเรื่อยมา แต่อาศัยที่ได้ถวายการรักษาพยาบาล
และประคับประคองเป็นอย่างดีอยู่ตลอดเวลา
ประกอบกับมีพระหฤทัยเข้มแข็งปล่อยวาง จึงทรงดำรงพระชนม์มาได้โดยลำดับ

จนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ จึงปรากฏพระอาการประชวรมาก
มีพระโลหิตออกกับบังคลหนัก ต้องรีบนำเสด็จสู่ตึกสามัคคีพยาบาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๐๑ เริ่มปรากฏพระอาการเป็นอัมพาต
แพทย์สันนิษฐานว่า เส้นพระโลหิตในสมองตีบตัน

แต่ต่อมาพระอาการค่อยดีขึ้นบ้าง แล้วก็กลับทรุด


การพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ ชั้น ๑

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถวายพัดรัตนาภรณ์ ชั้น ๑
เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๑

ส่วนในรัชกาลอดีต ในรัชกาลที่ ๕ ไม่ปรากฏหลักฐาน

ในรัชกาลที่ ๖ ได้พบหลักฐานเพียงว่าเตรียมพัดรัตนาภรณ์ ชั้น ๓ สำหรับพระราชทาน
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ และได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ ชั้น ๒ เมื่อไรยังไม่พบหลักฐาน

ในรัชกาลที่ ๗ ได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ ชั้น ๑
เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร


โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 18:39
พระอวสานกาล

ครั้นเวลาหลังเที่ยงคืนของวันที่ ๑๐ นับเป็นวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๐๑
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประทับหน้าพระแท่นบรรทมในห้องประชวร
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ก็ได้สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา ๐๑.๐๘ นาฬิกา
มีพระชนมายุ ๘๕ พรรษา ๑๑ เดือน และ ๑๙ วัน
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๑๓ ปี กับ ๙ เดือน ๑๑ วัน  


พระโกศพระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ในพระตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑



การพระศพ

เวลาเช้าวันนั้น เชิญพระศพกลับสู่วัดบวรนิเวศวิหาร เชิญขึ้นสู่พระตำหนักจันทร์ชั้นบน  
ครั้นเวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ถวายน้ำสรงพระศพ
แล้วเชิญพระศพลงสู่โกศเชิญขึ้นประดิษฐานเหนือชั้นแว่นฟ้า
ภายใต้ฉัตรตาดทอง ๕ ชั้น ณ พระตำหนักเพชร
ประกอบพระลองทองน้อย แวดล้อมด้วยเครื่องสูงตามพระเกียรติยศ พระสงฆ์สดับปกรณ์

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม กลางวันกลางคืน
กำหนด ๓๐ วัน ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก ๓๐ วัน

ในทางราชการ ได้มีประกาศให้สถนที่ราชการทุกแห่งลดธงครึ่งเสา ๓ วัน
แลให้ข้าราชการไว้ทุกข์มีกำหนด ๑๕ วัน

อนึ่ง ทางฝ่ายรัฐบาล มี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นประธาน
ได้มาเฝ้าถวายความเคารพพระศพในคืนวันสิ้นพระชนม์นั้นแต่เวลาก่อนสว่าง
ได้กราบบังคมทูลแสดงความเศร้าสลดใจ ได้รับสนองพระราชกรณีย์ในการต่างๆ
ตลอดถึงการพระเมรุ  โดยความเคารพเอิ้อเฟื้อ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย
ในสัตตมวารที่ ๑ ในวาระ ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน เป็นงานหลวงโดยลำดับ


พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ
สมาคมและองค์การต่างๆ และพระสงฆ์ได้มาทรงบำเพ็ญ และบำพ็ญกุศลถวาย

ประชาชน และนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ตลอดถึงฑูตานุทูตได้มาถวายสักการะพระศพ
ต่อเนื่องกันมาเป็นอันมาก และเมื่อพ้นกำหนดพระสวดอภิธรรมของหลวงแล้ว

วัดธรรมยุตในจังหวัดพระนคร-ธนบุรี ได้จัดพระมาสวดถวายจนถึงร้อยวัน

ต่อจากนั้น พระภิกษุสามเณรวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ผลัดเปลี่ยนกัน
เฝ้าพระศพทั้งกลางวันและกลางคืน จนถึงวาระพระราชทานเพลิงศพ


โดย: kit007    เวลา: 2014-8-30 18:40

พระเมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ ณ วัดเทพศิรินทราวาส
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อการพระราชทานเพลิงพระศพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นปฐม



คณะสงฆ์ก็ได้ประชุมกันสวดมนต์อุทิศถวายทั่วสังฆมณฑล
เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒
เมื่อครบรอบปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ได้เสด็จฯ มาประทับเป็นประธาน ในการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย
ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ทรงหนักแน่น เคร่งครัด ละเอียดถี่ถ้วนในพระธรรมวินัย
มีพระอัธยาศัยตรง มีพระวาจาและการปฏิบัติตรงไปตรงมา มีพระหฤทัยเข้มแข็ง
ประกอบด้วย ยุติธรรม แน่วแน่ เป็นหนึ่ง น้อมไปในความปล่อยวางไม่สะสม

ทรงบำเพ็ญการบริจาคเสมอ
โดยปกติได้ประทานฉลากแก่พระภิกษุสามเณรทั้งวัด
จับเลือกบริขารปีละ ๒ ครั้ง คือ
ในวันมหาปวาราณา ถวายกุศลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และในวันตรงกับวันประสูติ

พอพระราชหฤทัยในทาง ลูขัปปมาณิกา ปฏิบัติพระองค์อย่างพระธรรมดาสามัญ
รักษาสมณสารูป และระเบียบ ทรงเห็นกาลไกลตลอดจนถึงฐานะอฐานะ

สิ่งที่ทรงทักไว้ว่าอย่างไร ไม่ค่อยพลาด
ทรงศึกษาพระธรรมวินัยด้วยการใช้วิจารณ์เหตุผล
และด้วยการปฏิบัติอันพึงเห็นได้จากพระนิพนธ์ต่างๆ

ทรงมุ่งสามัคคีในสังฆมณฑล  ให้เป็นธรรมสามัคคี  วินัยสามัคคี
ดำรงพระองค์ในฐานะพระสังฆบิดรพระสังฆปริณายกตาม หลักอปริหานิยธรรม

ทรงประสาธน์กรณีย์อันเกี่ยวแก่คณะสงฆ์ แลพระพุทธศาสนาให้สำเร็จผลด้วยดี

ทรงเป็นที่พึ่งร่มเย็นของคณะสงฆ์ทุกฝ่าย
ทรงเป็นที่เกิดเจริญพระราชศรัทธาปสาทะอย่างยิ่ง
แห่งองค์พระประมุขของชาติ เอกอัครสานูปถัมภก
พร้อมทั้งพุทธศาสนิกชนทุกชั้น
ทรงประกอบด้วยพระคุณในลักษณะต่างๆ อันไม่อาจกล่าวให้ทั่วถึงได้


อาจกล่าวได้ว่า

ทรงเป็นผู้รักษาพระพุทธศาสนา เป็นที่เคารพบูชา
และอุ่นใจของพุทธศานิกชนทั่วไป


ในวาระขึ้นพุทธศักราช ๒๕๐๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก
ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสแก่ประชาชนชาวไทย
มีข้อความในพระราชกระแสตอนหนึ่งว่า

“ในขวบปีที่ผ่านมา.....สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลสังฆปริณายก
ก็ได้มาสิ้นพระชนม์ลงในเดือนพฤศจิกายน นับเป็นการศูนย์เสียอย่างใหญ่
แก่ประชาชาติของเรา และพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ความวิปโยคที่บังเกิดขึ้น ทำให้เราทุกคน รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย
รู้สึกเศร้าสลดใจ และอาลัยในพระองค์ท่านเป็นที่สุด.....”



พระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร


    

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

หมายเหตุ : โปรดติดตามอ่าน

๑. ประวัติและความสำคัญของวัดบวรนิเวศวิหาร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=26031

๒. ประวัติและความสำคัญของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=21082

๓. ประวัติมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=20842

๔. วัดประจำรัชกาลที่ ๖ : วัดบวรนิเวศวิหาร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19342

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ :
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์)
วัดบวรนิเวศวิหาร, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
http://www.dharma-gateway.com/
http://mahamakuta.inet.co.th/
http://www.mbu.ac.th/
http://www.watbowon.org/


กระทู้ในบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13779                                                                                       
.................................................................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=20236






ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2