Baan Jompra

ชื่อกระทู้: สมาธิเป็นเรือนพักของใจ (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) [สั่งพิมพ์]

โดย: kit007    เวลา: 2014-8-27 10:50
ชื่อกระทู้: สมาธิเป็นเรือนพักของใจ (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)



หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี


เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด


เมื่อค่ำวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙



   วันนี้เป็นวันเข้าพรรษาเริ่มแต่วันนี้ไป กรุณาทราบเขตของวัด กำแพงนอกนั้นเป็นเขตของวัดป่าบ้านตาด กำแพงในขยายออกไปเป็นกำแพงนอก เข้าพรรษาไม่มีการงานอะไร มีหน้าที่ประกอบความพากเพียรโดยถ่ายเดียว ในพรรษาเป็นโอกาสที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับพระเราและผู้มาปฏิบัติในวัด ให้ตั้งหน้าตั้งตาประกอบความพากเพียร เพียรดูใจนั้นละสำคัญมาก ใจเป็นตัวมหาเหตุ กระดิกพลิกแพลงจะออกจากใจทั้งนั้นไม่ออกจากทางอื่น ใจนี่สำคัญมาก ให้พากันดูหัวใจตัวเอง เรียกว่าภาวนา คืออบรมใจใจมีความคึกความคะนองตลอดเวลา ทั้งเด็กผู้ใหญ่เฒ่าแก่ชรา ใจนี้ไม่มีวัย มีความคึกคะนองอยู่ตลอดเวลา ไปตามนิสัยของใจที่มีกิเลสบีบบังคับให้เป็นไป เพราะฉะนั้นเวลาเข้าพรรษาให้พากันตั้งอกตั้งใจ การภาวนาถือสติเป็นสำคัญ อย่างอื่นไม่ได้สำคัญ ถ้าลงขาดสติแล้วจะอิริยาบถใดก็ตาม เดินจงกรมนั่งสมาธิก็ขาดความเพียรไปในขณะที่สติขาดไป สตินี้เป็นของสำคัญมากทีเดียว ถ้าลงขาดสติแล้วความเพียรก็ไม่ก้าวหน้า


   การตั้งสตินี้ส่วนที่มาเกี่ยวข้องมีอยู่ประเภทหนึ่ง คือร่างกายถ้ามีความสมบูรณ์พูนผลจริงๆ เช่น การขบการฉันอิ่มหนำเต็มที่แล้ว การภาวนาสติจะไม่ติดต่อกัน ผิดพลาดๆ  ถ้าผ่อนอาหารลงไปสติจะดีขึ้นๆ ยิ่งอดอาหารด้วยแล้วสติแน่วเลย อันนี้เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติจะนำไปพิจารณาตัวเอง เช่นอย่างฉันทุกวัน หรือกินทุกวันแต่ไม่ให้มาก ถ้ามากแล้วมันท่วมทับ สติตั้งไม่ค่อยอยู่ ตั้งล้มผล็อยๆ พลังของร่างกายนี้มันเสริมกิเลสได้เป็นอย่างดี จึงต้องระมัดระวัง


   ส่วนมากสติจะไม่พ้นจากเรื่องของอาหารนี่ละเป็นข้าศึก นี่ได้พิจารณาปฏิบัติมาแล้ว ได้ผ่อนสั้นผ่อนยาวอดบ้างอิ่มบ้าง อิ่มก็เพียงอิ่มเบาะๆ ไม่ให้อิ่มเต็มที่ คือพอทรงตัวอยู่ได้เท่านั้น จากนั้นก็ผ่อนลงหรืออด สติจะดีโดยลำดับลำดา สตินี้สำคัญอยู่ที่ร่างกาย ถ้าร่างกายมีกำลังมากสติจะตั้งผิดพลาดๆ อยู่เสมอ ถ้าร่างกายมีกำลังน้อยสติค่อยดีขึ้นๆ เพราะฉะนั้นพระนักปฏิบัติจึงชอบผ่อนอาหารอดอาหารกันเป็นจำนวนมาก เพราะอันนี้ช่วยการตั้งสติความเพียรได้ดี


   แต่อันนี้เป็นเรื่องของอัธยาศัยของแต่ละราย จะว่าไม่ใช่คำสั่งไม่ใช่คำสอนก็ไม่ผิด เป็นคำบอกเล่าให้ไปพินิจพิจารณาตัวเองเท่านั้น การผ่อนอาหารนี้ดี ร่างกายก็เบา แล้วการประกอบความเพียรตั้งสติดี สตินี้เป็นความจำเป็นทุกขั้นนะ ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นจนกระทั่งมหาสติมหาปัญญา ใครตั้งสติดีผู้นั้นจะตั้งรากตั้งฐานได้เร็ว สติเป็นของสำคัญ ถ้ามีสติติดแนบอยู่กับใจกิเลสจะไม่เกิด มันจะมีมากมีน้อยเท่าไรดันขึ้นมาจนหัวอกจะแตกก็ตาม แต่สติบังคับไว้ สังขาร(ความนึกคิดปรุงแต่ง)เป็นสังขารของกิเลส สังขารของสมุทัยมันจะขึ้นไม่ได้ อวิชชา(ความไม่รู้ความจริง)ละตัวดันให้อยากคิดอยากปรุงอยากรู้อยากเห็น อยากๆ ตลอด เรียกว่าสมุทัย(เหตุให้เกิดทุกข์) สังขารปรุง พอปรุงพับเป็นกิเลสแล้วกลับมาเผาตัวเอง


   ทีนี้เมื่อสังขารปรุงไม่ได้ เพราะสติทับหัวมันไว้นี้กิเลสไม่เกิด มันจะหนาแน่นขนาดไหนก็อยู่ภายในนี้ออกไม่ได้ นี่ได้พิจารณาทุกอย่าง ได้ดำเนินมาแล้วจึงได้มาสอนหมู่เพื่อน เอาจนกระทั่งถึงว่าตั้งสตินี้... คือลงใจแล้วว่าการตั้งสติติดอยู่กับคำบริกรรมในขั้นเริ่มต้นเพื่อรากฐานของใจต้องอาศัยสติ ลงใจแล้วว่าตั้งสติให้ติดแนบอยู่กับคำบริกรรม คำบริกรรมจะบริกรรมคำใดก็ตามตามแต่จริตนิสัย แต่สติให้ติดแนบอยู่นั้นแล้วกิเลสจะไม่เกิด มันจะมีมากขนาดไหนไม่เกิดกิเลส พอเผลอสติแพล็บออกแล้วๆ นั่นละกิเลสเกิด ออกจากสังขารกับสัญญา สัญญาก็ออกไม่ได้ถ้าสังขารออกไม่ได้ ที่นี่พอสังขารออกได้แล้วจะออกทุกอย่างๆ ไปพร้อมๆ กันเลย ให้พากันสังเกตนะ


   เรื่องกิเลสมีอยู่ภายในใจ ทางออกของมันคือสังขารเป็นสำคัญ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั่นละดันออกมา พอมันปรุงแพล็บนี้เป็นไฟกองหนึ่งขึ้นมาแล้ว ปรุงต่อไปๆ เป็นสร้างกองฟืนกองไฟเผาหัวอกตัวเองหาความสงบไม่ได้ ถ้าสังขารเกิดขึ้นไม่ได้ สติติดแนบอยู่จิตใจจะค่อยสงบเย็นๆ เพราะการปรุงไม่ให้ปรุง ให้ปรุงแต่งานของธรรม เช่นพุทโธ เป็นต้น คำชอบคำใดก็ให้เอาคำนั้นมาเป็นงานของธรรม บังคับจิตให้อยู่กับงานอันนั้น สติให้ดีไม่ให้ละแล้วจิตจะค่อยสงบลงไปๆ จนเย็นไปหมดในจิตใจของเรา เพราะกิเลสเกิดไม่ได้


   สติยิ่งแน่นหนามั่นคง ความดันของกิเลสคือสังขาร มันดันขึ้นมาอยากคิดอยากปรุงค่อยเบาลงๆ ความสงบเย็นใจนี้ค่อยเย็นขึ้นๆ มีความแน่นหนามั่นคงมากขึ้นๆ ต่อไปก็ตั้งรากฐานคือความสงบเย็นใจได้ จากนั้นไปก็เป็นสมาธิ สมาธิคือความแน่นหนามั่นคงของใจ เมื่อเป็นสมาธิแล้วความคิดความปรุงก็จางไปๆ จนกระทั่งว่าคิดปรุงขึ้นมารำคาญ มีแต่ความรู้เด่นอยู่อันเดียวด้วยสมาธิเท่านั้น อยู่ที่ไหนอยู่ได้สบายๆ นี่จิตเป็นสมาธิ สังขารปรุงรำคาญไม่อยากปรุง เพราะฉะนั้นจึงติดสมาธิ


   ผู้มีจิตแน่นหนามั่นคงในสมาธินี้ติด เพราะมันทำให้เพลิน นั่งอยู่กี่ชั่วโมงก็ตามเหมือนหัวตอ คือจิตมันแน่วอยู่อย่างนั้นตลอดไป คิดปรุงอะไรขึ้นมารำคาญ ไม่อยากคิดอยากปรุง หนักเข้าๆ ก็ติดสมาธิ ไม่ออกทางด้านปัญญา การพิจารณาทางด้านปัญญาเห็นว่าเป็นการรบกวนใจ  ปัญญาคือออกทำงาน สมาธิทำให้ขี้เกียจไม่อยากออกทำงานทางด้านปัญญา ทีนี้ปัญญาก็ไม่เกิด ติดอยู่สมาธิ ติดจนวันตายถ้าไม่ลากจิตจากสมาธินี้ออกทางด้านปัญญา ทางด้านปัญญานี้ต้องพาคิด เพราะจิตมีความแน่นหนามั่นคงแล้วไม่อยากคิดอยากปรุงอันเป็นงานว่างั้นเถอะ ขี้เกียจ คิดปรุงเรื่องธาตุเรื่องขันธ์เรื่องอะไรมันขี้เกียจ อยู่เฉยๆ รู้แน่วอยู่ภายในใจมันสบาย นี่ละนักภาวนาสติสมาธิก้าวไม่ออก ถ้าติดสมาธิแล้วไม่มีทางก้าวออก


   ต้องดึงออก เมื่อจิตมีสงบในขั้นใดพอเป็นไปแล้วให้ออกทางด้านปัญญา ตามกาลเวลาที่จะควรออกปัญญา ตามกาลเวลาที่จะเข้าสู่สมาธิพักจิตใจ คำว่าปัญญานี้เอากรรมฐานที่พระพุทธเจ้าประทานให้ ขึ้น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ครอบหมดในสกลกายเรา พิจารณานี้แล้วแต่เราชอบกรรมฐานใด เกสา โลมา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เราชอบอะไรก็พิจารณา มันจะลุกลามเข้าไปหมดนั่นละ ท่านสอนไว้เพียงเท่านั้น พอถึงหนังแล้วท่านหยุด เพราะหนังเป็นสำคัญ หุ้มห่อสัตว์บุคคลไว้ให้ลืมเนื้อลืมตัว ลืมเขาลืมเรา กลายเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นหญิงเป็นชาย เป็นสิ่งที่มีคุณค่าไปหมดเพราะหนังนี้หุ้มห่อ
พอพิจารณาไปถึงหนัง ถลกหนังออกแล้วเป็นยังไงคนเรา ทั้งหญิงทั้งชายทั้งสัตว์อะไรก็ตาม มีความน่าดูหรือสวยงามที่ตรงไหน ไม่มี นั่นละท่านให้พิจารณาทางด้านปัญญา พิจารณาแยกออกตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน ไล่ไป หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ภายในทุกสิ่งทุกอย่างด้วยปัญญา คลี่คลายดูให้ดี นี่เรียกว่าปัญญา


   พิจารณา ปัญญาออกแล้วจะสว่างไสวกว้างขวางออกไปมาก เพียงสมาธิไม่กว้าง มีแต่ความสงบใจเท่านั้น อยู่ไปๆ วันหนึ่งๆ หาความแยบคายกว่านั้นไม่มี แต่พอออกทางด้านปัญญาแล้วความแยบคายออกเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด


   ทีแรกก็พิจารณาร่างกายก่อน พิจารณาร่างกายจนมีความชำนิชำนาญ กำหนดให้เป็นอย่างไรเป็นไปตามต้องการ ให้แตกกระจัดกระจายต่อหน้าต่อตา กำหนดเมื่อไรได้ทั้งนั้นๆ นี่เรียกว่าปัญญามีความคล่องแคล่ว พิจารณาส่วนนี้ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภัง ค้นอยู่ในร่างกายของเขาของเราภายนอกภายในเป็นกรรมฐานด้วยกัน นั่นละปัญญาให้พิจารณาอย่างนั้น เมื่อปัญญาออกแล้วจะเป็นการถอนกิเลส ลำพังสมาธิไม่ได้ถอนกิเลส เพียงตีกิเลสให้สงบตัวเข้ามาเท่านั้น ปัญญาต่างหากที่คลี่คลายออกไปฆ่ากิเลสโดยลำดับลำดา ตั้งแต่ส่วนหยาบจนกระทั่งกิเลสสุดยอด ไม่เหนืออำนาจของปัญญาไปได้เลย จึงต้องพิจารณาทางด้านปัญญา

โดย: kit007    เวลา: 2014-8-27 10:51
เมื่อจิตใจเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เพราะการพิจารณาไม่หยุดไม่ถอยแล้วให้พักในสมาธิ ถึงไม่อยากพักก็ต้องพัก จะเห็นแต่ผลรายได้ๆ เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจะเป็นจะตายไม่คำนึงไม่ได้นะ ถึงได้ก็ได้แต่กำลังวังชาหมดไปสิ้นไปอ่อนเพลียลง ต้องเข้าพักสมาธิ สมาธิเป็นที่พักจิต พักนอนก็ได้ พักสมาธิก็ได้ พักสมาธินี่เรียกว่าพักจิตโดยตรง ไม่ให้คิดให้ปรุงกับเรื่องอะไร เข้าสมาธิแล้วจิตแน่วเหมือนถอดเสี้ยนถอดหนาม ทีนี้พอสมาธิมีกำลังแล้ว ถอยออกทางด้านปัญญามันจะพุ่งๆ ของมันเลย ให้พากันจำเอานะ วันนี้ผมเทศน์ยากมากนะ เดี๋ยวนี้พูดนี้ออกทางหูทั้งสองข้าง ผมฝืนพูดเฉยๆ เหมือนว่าปากจะไม่มี มันดังอยู่ในนี้ ให้พากันพิจารณา






การปฏิบัติพอมีความสงบ เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์ อารมณ์คิดนู้นคิดนี้ เมื่อจิตสงบจิตเป็นสมาธิแล้วจากนั้นให้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา เมื่อพิจารณาทางด้านปัญญาพอมันเข้าใจเหตุผลทุกอย่างแล้วมันจะเพลิน เพลินจนลืมเนื้อลืมตัวลืมกลางวันกลางคืน ลืมหลับลืมนอน ปัญญาเพลิน ให้หักเข้ามาเวลามันเพลิน เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าทางหัวอกนี่แหละเหน็ดเหนื่อยมาก แต่จิตมันไม่ถอย มันหมุนติ้วๆ กับการพิจารณาเพื่อฆ่ากิเลส ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม เราเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าให้พักเข้ามาสู่สมาธิเสียก่อน พักไม่ให้คิดให้ปรุงทางด้านปัญญา ให้เข้าสู่สมาธิมีอารมณ์อันเดียว พอสมาธิมีกำลังแล้วถอยออกมาก็พุ่งทางด้านปัญญาเลย


   ยิ่งเป็นปัญญาขั้นสูงด้วยแล้วเห็นสมาธิเป็นภัยไปหมดเลย ปัญญาต่างหากฆ่ากิเลส สมาธิไม่แก้ นั่นเอาละนะ สมาธิตีตะล่อมเพื่อเอากำลังทางด้านปัญญา พอถอนออกจากนี้แล้วก็ออกทางด้านปัญญาพิจารณา เอาธาตุเอาขันธ์นี่ละ อสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา เหล่านี้เป็นทางเดินพิจารณา ตลบทบทวนไม่รู้กี่ครั้งกี่หน เอาความชำนิชำนาญความคล่องแคล่วเป็นประมาณ ร่างกายนี้เวลาพิจารณาพอตัวแล้วมันก็อิ่มเหมือนกัน ไม่ใช่จะพิจารณาคล่องแคล่วเท่าไรจะพิจารณาไปตลอด ไม่ใช่นะ จิตนอกจากคล่องแคล่วไปแล้วมันพอตัวมันปล่อยทางเรื่องร่างกาย รูปธรรมมันปล่อย อิ่มตัวปล่อย ไม่เอาละที่นี่


   จากนั้นมันจะก้าวเข้าสู่นามธรรม พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อาศัยทางรูปธรรมนี้บ้างเพียงเล็กน้อยๆ นี่เรียกว่าจิตปล่อยร่างกาย พอตัวแล้วปล่อยเองหากรู้ทุกคน พอพิจารณาถึงขั้นมันอิ่มแล้วมันก็ปล่อย ปล่อยแล้วก็เดินทางนามธรรม พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตคิดปรุงจากใจของเรานี้ละ เกิดดับๆ สัญญาอารมณ์จะเกิดจากใจ ให้พากันพิจารณาอย่างนี้ เมื่อเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วให้พักจิต พักเข้าสู่สมาธิ สมาธิเป็นเรือนพักของใจ ที่ทำงานทางด้านปัญญาอ่อนเพลียลงแล้วต้องเข้าพักทางสมาธิ อย่าปล่อยนะ อันนี้เป็นงานสม่ำเสมอ ทางด้านปัญญาเวลามันออกมากๆ แล้วจะไม่สนใจพัก มันเพลินทั้งวันทั้งคืน บางคืนนอนไม่หลับ มันเพลินตลอด เพลินในการฆ่ากิเลส เรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติเป็นไปเอง หมุนติ้วๆ ตลอด...





คัดลอกบางส่วนจาก ;
http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=4010&CatID=3
                                                                                       
...................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=43144






ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2