แก้งขี้พระร่วง ULMACEAECeltis timorensis Span.
ชื่ออื่น กล้วย (จันทบุรี) ขี้พระร่วง มันปลาไหล (นครราชสีมา) เช็ดก้นพระเจ้า (น่าน) เช็ดขี้พระเจ้า (เชียงใหม่) ตะคาย มะหาดน้ำ เยื้อง หม่อนดง ตายไม่ทันเฒ่า (ภาคใต้)
แก้งขี้พระร่วงเป็นไม้ต้น สูง 5–20 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มทรงสูงถึงค่อนข้างกลม เปลือกสีเทา เรียบ เปลือกชั้นในสีน้ำตาลคล้ำ กิ่งอ่อน ก้านใบ และช่อดอกมีขนนุ่มสั้นคลุม ใบ เดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง 5–8 ซม. ยาว 8–15 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเบี้ยว มน ถึงสอบกว้าง ขอบใบเรียบถึงหยัก ผิวใบเกลี้ยงถึงมีขนเล็กน้อยตามเส้นใบ มีเส้นใบหลัก 3 เส้นจากโคนใบ ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ดอก เล็ก ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบ ผล รูปไข่ กว้างประมาณ 0.5 ซม. ยาวประมาณ 0.7 ซม. ปลายผลเป็นติ่งคล้ายง่ามหนังสติ๊ก ซึ่งเจริญมาจากปลายก้านเกสรเพศเมีย เมื่อสุกสีแดง
แก้งขี้พระร่วงมีการกระจายพันธุ์ในป่าเบญจพรรณและป่าดิบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 150–600 ม. ในต่างประเทศพบที่ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
เนื้อไม้ของแก้งขี้พระร่วงมีกลิ่นเหม็น ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง แต่มักนำมาปรุงเป็นยาขับพยาธิไส้เดือนในเด็ก
แก้งขี้พระร่วงไม้แปลกกลิ่นเหม็นเหมือนอุจจาระ