Baan Jompra

ชื่อกระทู้: สิ่งที่ควรระวัง [สั่งพิมพ์]

โดย: รามเทพ    เวลา: 2014-7-8 08:45
ชื่อกระทู้: สิ่งที่ควรระวัง
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2014-7-8 08:46

สิ่งที่ควรระวัง

การทำสมาธินี้อาจให้โทษแก่ผู้ปฏิบัติได้ ถ้าผู้ปฏิบัติไม่ใช้ปัญญาและก็ย่อมให้คุณแก่ผู้ปฏิบัติได้มาก ถ้าผู้ปฏิบัติเป็นผู้มีปัญญาสมาธิก็จะส่งจิตไปสู่วิปัสนา

สิ่งที่จะเป็นโทษแก่ผู้ปฏิบัตินั้นก็คือ

การที่ผู้ปฏิบัติหลงติดอยู่ในอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นความสงบลึกและมีกำลังอยู่นานที่สุด เมื่อจิตสงบก็เป็นสุขเมื่อเป็นสุขแล้วก็เกิดอุปาทานยึดสุขนั้นเป็นอารมณ์ ไม่อยากจะพิจารณาอย่างอื่นอยากมีสุขอยู่อย่างนั้น เมื่อเรานั่งสมาธินานๆ จิตมันจะถลำเข้าไปง่าย พอเริ่มกำหนดมันก็สงบแล้วก็ไม่อยากจะทำอะไร ไม่อยากออกไปไหน ไม่อยากพิจารณาอะไร อาศัยความสุขนั้นเป็นอยู่อันนี้จึงเป็นอันตรายแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้
จิตต้องอาศัยอุปจารสมาธิ คือกำหนดเข้าไปสู่ความสงบแล้วพอสมควรก็ถอนออกมา รู้อาการภายนอกดูอาการภายนอกให้เกิดปัญญา


อันนี้ดูยากสักหน่อยหนึ่งเพราะมันคล้ายๆ จะเป็นสังขารความปรุงแต่ง เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นมาเราอาจเห็นว่าอันนี้มันไม่สงบ ความเป็นจริงความรู้สึกนึกคิดในเวลานั้นมันรู้สึกอยู่ในความสงบ พิจารณาอยู่ในความสงบแล้วก็ไม่รำคาญ บางทีก็ยกสังขารขึ้นมาพิจารณา ที่ยกขึ้นมาพิจารณานั้นไม่ใช่ว่าคิดเอาหรือเดาเอา มันเป็นเรื่องของจิตที่เป็นขึ้นมาเองของมัน อันนี้เรียกว่าความรู้อยู่ในความสงบ ความสงบอยู่ในความรู้ ถ้าเป็นสังขารความปรุงแต่งจิตมันก็ไม่สงบมันก็รำคาญ แต่อันนี้ไม่ใช่เรื่องปรุงแต่งมันเป็นความรู้สึกของจิตที่เกิดขึ้นจากความสงบ เรียกว่าการพิจารณานี่ปัญญาเกิดตรงนี้

สมาธิทั้งหลายเหล่านี้แบ่งเป็นมิจฉาสมาธิอย่างหนึ่ง คือเป็นสมาธิในทางที่ผิด เป็นสัมมาสมาธิอย่างหนึ่งคือสมาธิในทางที่ถูกต้อง นี้ก็ให้สังเกตให้ดี มิจฉาสมาธิคือความที่จิตเข้าสู่สมาธิเงียบ..หมด...ไม่รู้อะไรเลยปราศจากความรู้ นั่งอยู่สองชั่วโมงก็ได้กระทั่งวันก็ได้แต่จิตไม่รู้ว่ามันไปถึงไหนมันเป็นอย่างไร ไม่รู้เรื่องนี่สมาธิอันนี้เป็นมิจฉาสมาธิ มันก็เหมือนมีดที่เราลับให้คมดีแล้วแต่เก็บไว้เฉยๆ ไม่เอาไปใช้มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรอย่างนั้น ความสงบอันนั้นเป็นความสงบที่หลง คือว่าไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัว เห็นว่าถึงที่สุดแล้วก็ไม่ค้นคว้าอะไรอีกต่อไปจึงเป็นอันตรายเป็นข้าศึก ในขั้นนั้นอันนี้เป็นอันตรายห้ามปัญญาไม่ให้เกิด ปัญญาเกิดไม่ได้เพราะขาดความรู้สึกรับผิดชอบ


ส่วนสัมมาสมาธิที่ถูกต้อง ถึงแม้จะมีความสงบไปถึงแค่ไหนก็มีความรู้อยู่ตลอดเวลาตลอดเวลา มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์บริบูรณ์..รู้ตลอดกาลนี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่ไม่ให้หลงไปในทางอื่นได้ นี้ก็ให้นักปฏิบัติเข้าใจไว้ให้ดี จะทิ้งความรู้นั้นไม่ได้จะต้องรู้แต่ต้นจนปลายทีเดียวจึงจะเป็นสมาธิที่ถูกต้อง ขอให้สังเกตให้มาก สมาธิชนิดนี้ไม่อันตราย เมื่อเราเจริญสมาธิที่ถูกต้องแล้วอาจจะสงสัยว่ามันจะได้ผลที่ตรงไหน มันจะเกิดปัญญาที่ตรงไหน เพราะท่านตรัสว่าสมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญาวิปัสสนา สมาธิที่ถูกต้องเมื่อเจริญแล้วมันจะมีกำลังให้เกิดปัญญาทุกขณะ ในเมื่อตาเห็นรูปก็ดี หูฟังเสียงก็ดี จมูกดมกลิ่นก็ดี ลิ้นลิ้มรสก็ดี กายถูกต้องโผฏฐัพพะก็ดี ธรรมารมณ์เกิดกับจิตก็ดี อิริยาบถยืนก็ดีนั่งก็ดีนอนก็ดี จิตก็จะไม่เป็นไปตามอารมณ์แต่จะเป็นไปด้วยความรู้ตามเป็นจริงของธรรมะ

ฉะนั้น การปฏิบัตินี้เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ไม่เลือกสถานที่จะยืนจะเดินจะนั่งจะนอนก็ตาม จิตมันเกิดปัญญาแล้วเมื่อมีสุขเกิดขึ้นมาก็รู้เท่า มีทุกข์เกิดขึ้นมาก็รู้เท่า สุขก็สักว่าสุข ทุกข์ก็สักว่าทุกข์เท่านั้น แล้วก็ปล่อยทั้งสุขและทุกข์ไม่ยึดมั่นถือมั่น




เมื่อสมาธิถูกต้องแล้ว มันทำจิตให้เกิดปัญญาอย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนา มันก็เกิดความรู้เห็นตามเป็นจริง
นี้เรียกว่าสัมมาปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง มีอิริยาบถสม่ำเสมอกัน คำว่าอิริยาบถสม่ำเสมอกันนี้ท่านไม่หมายเอาอิริยาบถภายนอกที่ยืนเดินนั่งนอน แต่ท่านหมายเอาทางจิตที่มีสติสัมปชัญญะอยู่นั่นเอง แล้วก็รู้เห็นตามเป็นจริงทุกขณะคือมันไม่หลง

ความสงบนี้มีสองประการคือ ความสงบอย่างหยาบอย่างหนึ่งและความสงบอย่างละเอียดอีกอย่างหนึ่ง อย่างหยาบนั่นคือเกิดจากสมาธิที่เมื่อสงบแล้วก็มีความสุข แล้วถือเอาความสุขเป็นความสงบ อีกอย่างหนึ่งคือความสงบที่เกิดจากปัญญานี้ ไม่ได้ถือเอาความสุขเป็นความสงบ แต่ถือเอาจิตที่รู้จักพิจารณาสุขทุกข์เป็นความสงบ เพราะว่าความสุขทุกข์นี้เป็นภพเป็นชาติเป็นอุปาทาน จะไม่พ้นจากวัฏฏสงสารเพราะติดสุขติดทุกข์ ความสุขจึงไม่ใช่ความสงบ ความสงบจึงไม่ใช่ความสุข ฉะนั้นความสงบที่เกิดจากปัญญานั้นจึงไม่ใช่ความสุข แต่เป็นความรู้เห็นตามความเป็นจริงของความสุขความทุกข์ แล้วไม่มีอุปาทานมั่นหมายในสุขทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมา ทำจิตให้เหนือสุขเหนือทุกข์นั้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นเป้าหมายของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

....คนที่ไม่รู้จักสุขไม่รู้จักทุกข์นั้นก็จะเห็นว่าสุขกับทุกข์นั้นมันคนละระดับ มันคนละราคากัน ถ้าผู้รู้ทั้งหลายแล้วท่านจะเห็นว่าสุขเวทนากับทุกขเวทนามันมีราคาเท่าๆ กัน

โดย: wind    เวลา: 2014-7-8 09:08
สาธุ

โดย: toywater    เวลา: 2014-7-10 19:41
สาธุครับ

โดย: oustayutt    เวลา: 2014-7-10 20:27
มิจฉาสมาธิ เอาไว้พักจิตคลายเครียดไ้มั๊ยครับ
โดย: รามเทพ    เวลา: 2014-7-10 23:18
oustayutt ตอบกลับเมื่อ 2014-7-10 20:27
มิจฉาสมาธิ เอาไว้พักจิตคลายเครียดไ้มั๊ยครับ ...

เป็นการพักผ่อนที่ดีมากนะ
โดย: oustayutt    เวลา: 2014-7-11 21:08
รามเทพ ตอบกลับเมื่อ 2014-7-10 23:18
เป็นการพักผ่อนที่ดีมากนะ

ขอบคุณครับ
วันนี้ลองแล้วแทบไม่อยากลุก จนเจ๊นกเรียกไปทำงาน
โดย: Ninprakarn    เวลา: 2014-8-11 08:43
รับทราบ ขอรับ
โดย: Sornpraram    เวลา: 2014-8-27 09:17
สิ่งที่ควรระวัง
โดย: Sornpraram    เวลา: 2015-1-19 07:58
จิตต้องอาศัยอุปจารสมาธิ

คือกำหนดเข้าไปสู่ความสงบแล้วพอสมควรก็ถอนออกมา

รู้อาการภายนอกดูอาการภายนอกให้เกิดปัญญา





โดย: Sornpraram    เวลา: 2015-1-22 07:14
เพราะท่านตรัสว่าสมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญาวิปัสสนา

สมาธิที่ถูกต้องเมื่อเจริญแล้วมันจะมีกำลังให้เกิดปัญญาทุกขณะ

ในเมื่อตาเห็นรูปก็ดี หูฟังเสียงก็ดี จมูกดมกลิ่นก็ดี ลิ้นลิ้มรสก็ดี

กายถูกต้องโผฏฐัพพะก็ดี ธรรมารมณ์เกิดกับจิตก็ดี อิริยาบถยืนก็ดีนั่งก็ดีนอนก็ดี

จิตก็จะไม่เป็นไปตามอารมณ์แต่จะเป็นไปด้วยความรู้ตามเป็นจริงของธรรมะ





โดย: ธี    เวลา: 2015-1-22 10:07
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ธี เมื่อ 2015-1-22 10:41

สาธุครับ
มีพระองค์หนึ่งพูดกับลูกศิษย์ว่า "นิพานไม่ใกล้ไม่ไกล หายใจสองที่ถึง" และพูดว่า "ผู้ที่นั่งสมาธิ และปฏิบัติวิปัสนา ได้แต่เพียงณาญ " ซึ่งผมก็แปลกใจอยู่ครับ ประโยคแรกพอเข้าใจว่า เกี่ยวข้องกับลมหายใจเข้าออกตามแนวทางสมธิที่พระพุทธองค์สอน แต่ท่อนหลังกลับแปลกใจอยู่ ...
ปล.พระองค์นี้ท่านมรณะขณะอายุ 80 ปี (ประมาณปี 2514) เมื่อท่านป่วย พระในวัดมาสวดบังกุลเป็นให้ท่าน ท่านก็พูดว่า "ดี มันมาร้องเพลงให้ฟัง" และท่านให้ลูกศิษย์พยุงท่านนั่งในท่านั่งสมาธิ หลังจากพระสวดจบ ท่านก็มรณะภาพในท่านั่งสมาธิ ลูกศิษย์เล่าว่า เขาได้ยิ่นเสียงมโหรีดัง ซึ่งบริเวณวัดเป็นป่าไม่มีคนขับร้องเพลง พระองค์นี้ ยายผมท่านนับถือมาก ยายเล่าว่า ท่านไปบิณฑบาตกลับมาก่อนพระองค์อื่น วันหนึ่งคนที่ต่างจังหวัดมาทำบุญที่วัด จำท่านได้ว่าท่านไปบิณฑบาตที่บ้านเขาซึ่งอยู่คนละจังหวัดและไกลมาก ท่านก็รับว่าใช่ ยายเล่าว่า หลังจากนั้นท่านก็ไม่ไปบิณฑบาตที่นั้นอีกเลย ยายผมมักบอกผมว่า ท่านบรรลุอรหันต์แล้ว  
...อีกองค์หนึ่งที่ยายผมรู้จัก...และบอกว่าท่านบรรลุอรหันต์...พระองค์นี้มีครอบครัวมาก่อนและมีลูกชาย หลังจากที่ท่านจัดการเรื่องในครอบครัวเสร็จแล้ว ท่านก็มาบวช แต่การบวชของท่านที่แปลกคือ ท่านจะไม่ฉันเนื้อสัตว์ ถ้าบิณฑบาตได้มาก็ให้พระอื่นฉัน หลังฉันอาหารเสร็จ ท่านก็รวบรวมอาหารที่เหลือของพระเอาไปให้หมาแมวและสัตว์ในวัด เวลาท่านไปที่ใหน หมาแมวก็เดินตาม ท่านใช้วิธีภาวนา "พุธโธ" ถ้ารับกิจนิมนต์ได้เงินมา ท่านก็เรียกเด็กๆ ตัวเล็กๆ มารับเงินไปกินขนม ท่านไม่เก็บเงินไว้ในกุฏิ บางที่ก็ใส่กล่องไว้หน้ากุฎี ใครจะเอาก็ได้ไม่ห่วงห้าม ยายเล่าให้ผมฟังว่า ครั้งหนึ่ง พ่อยาย(ทวด) นิมนต์ท่านมา ก็ตั้งใจเอาเนื้อสัตว์วางไว้ให้ฉัน ไม่มีผลไม้ ท่านรับแต่ไม่ฉันเนื้อ ท่านฉันแต่ข้าวเปล่า ทวดจึงให้ลูกหลานไปเอาผลไม้มาถวายท่านเพราะเห็นว่าท่านตั้งใจจริงที่จะไม่ฉันเนื้อ ต่อมาท่านมีปัญหาอะไรไม่ทราบ เจ้าอาวาสจับท่านสึก ท่านก็นุ่งห่มขาวเป็นชีปะขาว บิณฑบาตและฉันเฉพาะผักผลไม้ ยายเล่าว่ามีวันหนึ่ง ท่านเดินบิณฑบาต ยายกำลังไปทำนา  มีวัวตัวหนึ่งเห็นท่านเดินบิฑบาต มันวิ่งมาแต่ไกล จะทำร้าย พอใกล้ถึง ยายซึ่งก็ตกใจและเห็นท่านยกมือขึ้นและพูดว่า "โคนันทวิสาร ท่านจะทำร้ายอาตมาไม่ได้ จะเป็นบาปเป็นกรรม พิจารณาอาตมาให้ดีก่อน ยายบอกว่า วัวที่วิ่งมาแต่ไกลหยุดและเอาจมูกไปใกล้ หันหลังไม่ทำร้ายท่านอีก ยายเห็นและได้ยิน ยายบอกว่า เล่าให้ฟี่ชายฟังว่าท่านสำเร็จแล้ว ฟี่ชายก็ไม่เชื่อ ยายบอกผมว่า ท่านชรามาก ลูกชายมารับไป และได้ยินว่า หลังจากท่านสิ้น กระดูกกลายเป็นหิน ยายผมท่านเล่่าว่าเคยได้ยินโบราณว่า ถ้าหากพระหรือผู้ใดปฏิบัติและบรรลุอรหันต์แล้วจะอยู่วัดไม่ได้ ภายใน 7 วันต้องออกไปอยู่ป่า แล้วจึงจะกลับมาอยู่วัดได้อีก หากไม่เข้าป่า จะมีผลให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมที่คนทั่วไปมักไม่เข้าใจและเห็นว่าเป็นพระบ้า....ผมเคยคุยกัยตาของเพื่อนซึ่งอยู่ใกล้วัดเกี่ยวกับพระองค์นี้ ตาของเพื่อนผมรู้จักและรู้สึกผิดมาจนปัจจุบัน ตาของเพื่อเล่าว่า หลังจากถูกเกณฑ์เป็นทหาร ท่านก็ได้มาบวชที่วัด เห็นพระองค์นี้ไม่ฉันเนื้อแต่กลับให้เนื้อที่เหลือเป็นอาหารสัตว์ ไม่เก็บเงิน ให้เงินแก่เด็ก ก็คิดแกล้ง จับท่านไปใส่โองน้ำ ปิดโองไว้และเอาก่อนหินทับ ถ้าดันก็สามารถออกมาได้ กลางดึงเห็นกุฏิไม่มีคนก็แปลกใจ จึงไปที่โองน้ำ เปิดดูเห็นท่านนั่งอยู่ก็นำท่านขึ้นจากโองน้ำและถามว่าทำไม่ไม่ดันฝาโองขึ้น ท่านก็บอกว่า ก็จับท่านมาจะให้อยู่ในโอง ท่านก็ไม่ไปจากโอง ตาของเพื่อผมก็ขอโทษท่าน ตาของเพื่อนผมบอกว่า ถ้าเป็นคนทั่วไปคงอยู่ไม่ได้เพราะมีอากาศน้อย แต่ท่านกลับอยู่ได้ทั้งวัน ทำให้ตาของเพื่อนยังนึกถึงกรรมที่ได้ทำกับท่านจนปัจจุบันนี้ .....ปล.ความเชื่อครับพิจารณา
โดย: รามเทพ    เวลา: 2015-1-25 06:15
ธี ตอบกลับเมื่อ 2015-1-22 10:07
สาธุครับ
มีพระองค์หนึ่งพูดกับลูกศิษย์ว่า "นิพา ...

ขอบคุณครับ




ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2