Baan Jompra

ชื่อกระทู้: พระองค์ที่ ๑๑ : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ [สั่งพิมพ์]

โดย: kit007    เวลา: 2014-6-13 09:55
ชื่อกระทู้: พระองค์ที่ ๑๑ : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์


พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)
พุทธศักราช ๒๔๖๔-๒๔๘๐


วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


หัวข้อ

• พระประวัติในเบื้องต้น
• ทรงบรรพชาและอุปสมบท
• ทรงเป็นกรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัย
• ทรงครองวัดราชบพิธ
• คำประกาศ
• การสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
• ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
• คำเรียกตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมี ๓ อย่าง
• การจัดพิมพ์พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ
• สำเนาจากราชกิจจานุเบกษา
• มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
(Mahamakuta Rajavidyalaya Foundation Under Royal Patronage)
• มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ในปัจจุบัน
• งานนิพนธ์
• พระอวสานกาล
• ประวัติและความสำคัญของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
                                       

โดย: kit007    เวลา: 2014-6-13 09:56
พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
มีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท” พระนามฉายาว่า “สิริวฑฺฒโน”
เป็นพระโอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้นหนึ่ง กรมขุนเจริญผลภูลสวัสดิ์
กับ หม่อมปุ่น ชมพูนุท ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ
ปีมะแม จุลศักราช ๑๒๒๑ ตรงกับวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๐๒
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนอักขรสมัย
ในสำนักเจ้าจอมมารดาสัมฤทธิ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นย่า ในขั้นเริ่มต้นพอเขียนและอ่านได้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
หลังจากพิธีโสกันต์ (โกนจุก) แล้วพระองค์ก็เสด็จเข้าไปประทับอยู่ในวัง
และได้เรียนภาษาอังกฤษกับฝรั่งเพื่อเตรียมตัวเสด็จออกไปศึกษาในต่างประเทศ
ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงบรรพชา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖



พ.ศ. ๒๔๑๔ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตามเสด็จไปในเรือพระที่นั่งบางกอก คราวเสด็จประพาสอินเดีย   
เรือพระที่นั่งแวะพักแรมที่เมืองสิงคโปร์ ให้อยู่เล่าเรียนในโรงเรียนแรพฟัล
พร้อมกับหม่อมเจ้าองค์อื่นๆ อีกราว ๒๐ องค์ที่เสด็จไปในคราวเดียวกัน
ทรงศึกษาอยู่ที่เมืองสิงคโปร์เป็นเวลา ๙ เดือน จึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ

ขณะนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษสำหรับเจ้านายขึ้น
ในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ แล้วจึงมีรับสั่งให้พระองค์เข้าเรียน
ในโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษนั้น โดยไม่ต้องกลับไปเรียนต่อที่สิงคโปร์อีก
จึงนับได้ว่า พระองค์มีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ
ขนาดเขียนได้ อ่านได้ และพูดได้ เป็นบางคำ


พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
พระกรรมวาจาจารย์ในคราวทรงบรรพชาและอุปสมบท


โดย: kit007    เวลา: 2014-6-13 09:57

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร
พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๒  


ทรงบรรพชาและอุปสมบท

ก่อนครบกำหนดผนวชเป็นสามเณรตามพระราชประเพณี
ได้ทรงเล่าเรียนหนังสือขอมจากพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ครั้นถึงปีระกา ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๔ พรรษา
ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
โดยมี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
แต่ยังทรงเป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

เมื่อทรงผนวชแล้วได้เสด็จไปประทับอยู่ที่วัดราชบพิธ
ทรงเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อมา จนถึงพระชนมายุครบอุปสมบท
จึงทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
โดยมี สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์
และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ เอกศก จุลศักราช ๑๒๔๑
(พ.ศ. ๒๔๒๒) เวลาบ่าย ๒ โมง ๕๐ นาที มีพระนามฉายาว่า “สิริวฑฺฒโน”

เมื่อทรงอุปสมบทแล้วก็เสด็จประทับ ณ วัดราชบพิธ ตามเดิม
ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรม ๒ ครั้ง ได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๓๐ เมื่อทรงอุปสมบทได้ ๘ พรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระสถาพรพิริยพรต


ทรงฉายร่วมกับพระเถระกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ชุดแรก พ.ศ. ๒๔๓๖

โดย: kit007    เวลา: 2014-6-13 09:58
ทรงเป็นกรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๔๓๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ขณะทรงดำรงพระยศ กรมหมื่น ได้ทรงพระดำริจัดตั้งสถาบันการศึกษาแบบใหม่
สำหรับภิกษุสามเณร ตลอดถึงจัดตั้งโรงเรียนสำหรับกุลบุตรขึ้น
เรียกว่า มหามกุฎราชวิทยาลัย
เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระนามาภิไธย
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อจัดการศึกษาสำหรับ
ภิกษุสามเณรและกุลบุตรให้ทันสมัย และเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ขณะทรงดำรงพระสมณศักดิ์ที่ พระสถาพรพิริยพรต
ก็ทรงเป็นกรรมการพระองค์หนึ่งในกรรมการชุดแรกของมหามกุฎราชวิทยาลัย
นับว่าทรงเป็นผู้ร่วมบุกเบิกกิจการของมหามกุฎราชวิทยาลัยมาแต่เริ่มต้น
และได้ทรงเริ่มมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการของมหามกุฎราชวิทยาลัย
ให้เจริญก้าวหน้ามาจนตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์

พ.ศ. ๒๔๓๘ ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่เสมอชั้นเทพ
พ.ศ. ๒๔๔๒ ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม
ที่ พระธรรมปาโมกข์ ในราชทินนามเดิม


วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร


ทรงครองวัดราชบพิธ

พ.ศ. ๒๔๔๔ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ
สิ้นพระชนม์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงครองวัดราชบพิธสืบต่อมา
นับเป็นเจ้าอาวาสพระองค์ที่ ๒

พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้ารองที่ พระพรหมมุนี
เจ้าคณะรองในคณะกลาง ในราชทินนามเดิม
พร้อมทั้งทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

พ.ศ. ๒๔๕๓ ในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
สถาปนาพระอิสริยยศเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
ทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ
ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง

โดย: kit007    เวลา: 2014-6-13 09:58

เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์


คำประกาศ *

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาค ๒๔๕๔ พรรษา
กาลปัตยุบันจันทรโคจร โสณสัมพัตสรกาฬปักษ์ อัฐมีดิถีรวิวาร สุริยคติกาล
รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ มกราคมมาศ พาวีสติมสุรทิน โดยกาลนิยม

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ ฯลฯ
พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต
ได้ทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนามาล่วงแล้วได้หลายพรรษกาล
ประกอบด้วยพระวิริยภาพ แลทรงสติปัญญาสามารถ
ทรงชำนาญในพระปริยัติธรรม ได้ทรงเป็นอาจารย์สั่งสอนบริษัท
ให้รอบรู้จนได้เป็นเปรียญแล้วเป็นอันมาก
ทั้งได้ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นหลักฐานมั่นคงสมควรแก่ตำแหน่ง
น่าที่พระบรมวงศานุวงศ์แลบรรพชิตผู้ใหญ่
ทำให้เปนที่น่าเสื่อมใสแห่งบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต
ทรงปกครองสมณบริษัทแลศิษย์ของพระองค์ด้วยน้ำพระไทยอันโอบอ้อมอารี
มีเมตตาเผื่อแผ่ทั่วถึงกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงสังเกตเห็นพระคุณสมบัติแน่ชัดแล้ว
จึงได้ทรงพระกรุณายกย่องให้ได้เลื่อนอิศริยศักดิ์ขึ้นเปนลำดับ
ดังปรากฏอยู่ในคำประกาศพระบรมราชโองการ
เมื่อทรงสถาปนาพระอิศริยยศเป็นพระองค์เจ้าพระนั้นแล้ว

ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนา
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต
ได้ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ แลได้ถวายโอวาทตามตำแหน่งอาจารย์ทุกประการ
ไม่เฉภาะแต่ในขณะเมื่อทรงพระผนวช
ถึงต่อมาก็ยังได้ทรงตามเป็นธุระตามกาลอันควร
ทั้งได้ทรงเป็นพระอุปัธยาจารย์ กุลบุตรที่ได้บรรพชาอุปสมบท
นับว่าพระองค์เปนสุนทรพรตอันประเสริฐ
พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา
แลดำรงคุณธรรมสม่ำเสมอเช่นนี้ ในเวลานี้มีน้อยพระองค์
จึงนับว่าทรงเปนอัจฉริยบุรุษพระองค์หนึ่ง
สมควรที่จะได้เพิ่มภูลพระอิศริยยศให้ปรากฏในราชตระกูล
แลในสมณศักดิให้ใหญ่ยิ่งขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา
พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต
ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัตรว่า

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ขัติยพงศ์พรหมจารี
ประสาทนียคุณากร สถาพรพิริยพรต อังคีรสศาสนธำรง ราชวงศ์วิสุต
วชิราวุธมหาราชอภินิษกรมณาจารย์ สุขุมญาณวิบุล สุนทรอรรคปริยัติโกศล
โศภนศีลสมาจารวัตร มัชฌิมคณิศรมหาสังฆนายก
พุทธศาสนดิลกสถาวีรบพิตร สิงหนาม



โดย: kit007    เวลา: 2014-6-13 09:59
ทรงศักดินา ๑๑๐๐๐ อย่างพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าต่างกรม
ตามพระราชกำหนดกฎหมาย ทรงสมณศักดิที่สมเด็จพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะใหญ่
บัญชาการคณะกลาง พระราชทานนิตยภัตรเปนยศบูชาราคาเดือนละ ๔๐ บาท

ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เปนภาระสั่งสอนช่วยระงับอธิกรณ์
แลอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์สามเณรในพระอารามทั้งปวง
ซึ่งขึ้นในคณะโดยสมควรแก่พระกำลัง แลอิศริยยศซึ่งพระราชทานมานี้
จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ ศุข พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ
สรรพศิริสวัสดิพิพัฒมงคล จิรฐิติกาลในพระพุทธศาสนาเทอญฯ

เมื่อทรงกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เลื่อนพระอิศริยยศดังนี้แล้ว
จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทรงตั้ง
เจ้ากรมเป็นหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ถือศักดิ์นา ๕๐๐ ปลัดกรมเปนพันพยาพัฎสรรพกิจ
ถือศักดินา ๓๐๐ สมุห์บาญชีเป็นพันลิขิตพลขันธ์ ถือศักดินา ๒๐๐
ให้ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งทั้ง ๓ นี้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป
ให้มีความสุขสวัสดิเจริญเทอญฯ

ฝ่ายสมณศักดิ์นั้น ให้ทรงมีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ ๑๐ รูป คือ

พระครูปลัดสัมพิพัฒพรหมจรรยาจารย์ สรรพกิจวิธานโกศล
โสภณวัตรจรรยาภิรัต มัชฌิมคณิศรสถาวีรธุรธารี มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓๒ บาท ๑
พระครูธรรมาธิการ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๖ บาท ๑
พระครูวิจารณ์ธุรกิจ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๖ บาท ๑
พระครูวินัยธร ๑
พระครูวินัยธรรม ๑
พระครูโฆษิตสุทธสร ๑
พระครูอมรสรนาท ๑
พระครูสังฆวิธาน ๑
พระครูสมุห์ ๑
พระครูใบฎีกา ๑ รวม ๑๐ รูป

ขอให้พระครูผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้
มีความศุขศิริสวัสดิ์สถาพร ในพระพุทธศาสนาเทอญฯ


* หมายเหตุ : อักขรวิธีตามต้นฉบับ


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)



โดย: kit007    เวลา: 2014-6-13 11:06

พัดยศสำหรับพระสมณศักดิ์ที่
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์



การสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๔ เวลา  ๑๐.๓๕ นาฬิกา นี้
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์
ครั้นถึงวันที่ ๒๐ สิงหาคม  พุทธศักราช ๒๔๖๔
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
ขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ และทรงสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น  
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปรินายก
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ครั้นถึงปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น กรมหลวง


ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ
พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศทราบทั่วกัน

ด้วยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายกปธานาธิบดีสงฆ์
สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปเสียแล้ว ทรงพระราชดำริห์ว่า
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลาง
ทรงมีคุณูปการในทางพุทธสาสนกิจ สมควรจะดำรงตำแหน่ง
สนองพระองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสสืบไปได้
จึงทรงพระกรุณาโปรดให้สถาปนา คำนำ พระนาม แล ฐานันดรศักดิ์
ขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
ดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักรสืบไป

พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศไว้
ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน


โดย: kit007    เวลา: 2014-6-13 11:41
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2014-6-13 11:42


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)



คำเรียกตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมี ๓ อย่าง

เมื่อทรงสถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
เป็นสมเด็จสกลสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักรนั้น
โปรดเกล้าฯ สถาปนาคำสำหรับเรียกตำแหน่งนี้ว่า “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า”
ซึ่งปรากฏพระนามนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในคราวนี้
ฉะนั้น จึงได้มีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่ง สมเด็จสกลสังฆปริณายก
หรือ สมเด็จสกลมหาสังฆปริณายก เป็น ๓ อย่างเป็นธรรมเนียมสืบมา คือ

๑. เจ้านายชั้นสูงผู้ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น
สมเด็จสกลสังฆปริณายก หรือสมเด็จพระสังฆราช
มีคำนำพระนามว่า “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” ซึ่งมีอยู่  ๓ พระองค์ คือ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส


พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า มีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า
“มหาสมณุตมาภิเษก” เจ้านายผู้ทรงได้รับถวายมหาสมณุตมาภิเษก
เท่าที่ปรากฏมาเป็นชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงพระยศสูงกว่าสมเด็จพระสังฆราชทั่วไป
ทรงเบญจปฏลเศวตฉัตร (ฉัตรขาว) ๕ ชั้น
เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษก
แด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

๒. พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น
สมเด็จสกลสังฆปริณายก หรือสมเด็จพระสังฆราช
มีคำนำพระนามว่า “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” ซึ่งมีอยู่ ๒ พระองค์ คือ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(พระนามเดิม หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท)
และ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(พระนามเดิม หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์)


สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงพระยศสูงกว่าสมเด็จพระสังฆราชทั่วไป
ทรงฉัตรตาดเหลือง ๕ ชั้น พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงโปรดเกล้าฯ
สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เท่าที่ปรากฏมาเป็นชั้นหม่อมเจ้าลงมา
เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๖ เช่นกัน โดยทรงสถาปนา
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
ในตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

๓. ท่านผู้ได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จสกลสังฆปริณายก
ที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ เรียกว่า “สมเด็จพระสังฆราช”
ซึ่งมีมาแต่โบราณจวบจนปัจจุบัน ทรงเศวตฉัตร ๓ ชั้น

สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงได้รับสถาปนาเป็น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า หรือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า นั้น
จะมีพระนามเฉพาะสำหรับแต่ละพระองค์ไป
เช่น กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เป็นต้น

แต่สำหรับผู้ที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น
มีพระนามสำหรับตำแหน่งเหมือนกันทุกพระองค์มาแต่โบราณ คือ
“สมเด็จพระอริยวงษญาณ”
ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงแก้ไขเป็น “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”

ดังที่ปรากฏสืบมาจนปัจจุบัน

อนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชผู้มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์
แต่มีพระนามสำหรับตำแหน่งเป็นพิเศษ
ไม่ใช้พระนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”
มีเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น คือ
“สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก”
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ปัจจุบัน ซึ่งเสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

โดย: kit007    เวลา: 2014-6-13 11:44

แถวหน้า องค์ที่ ๓ จากซ้าย : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  
ทรงฉายร่วมกับสมเด็จพระราชาคณะ



แถวหน้า องค์ที่ ๔ จากซ้าย : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ทรงฉายร่วมกับสมเด็จพระราชาคณะ



โดย: kit007    เวลา: 2014-6-13 11:47

พระไตรปิฎกฉบับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ ปีพุทธศักราช ๒๔๓๖



การจัดพิมพ์พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ


พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ  ให้มีการจัดสร้างพระไตรปิฎก  
เพื่อถวายเป็นพระอนุสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖  
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการชำระและจัดพิมพ์ขึ้นใหม่  
เรียกว่า “พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ”   

ต้นฉบับสำหรับตรวจชำระ และจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ครั้งนี้
ใช้พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕  ซึ่งทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖
จำนวน ๓๙ เล่มเป็นพื้น  พร้อมทั้งตรวจชำระเพิ่มคัมภีร์
ที่ยังมิได้จัดพิมพ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕  ให้ครบบริบูรณ์ด้วย  
รวบเป็นพระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ครั้งนี้  จำนวน ๔๕ เล่มจบบริบูรณ์  

ในการตรวจชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้  
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กราบทูล
อาราธนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ทรงเป็นประธานในการตรวจชำระ  
พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาราธนา
พระเถระผู้ชำนาญพระไตรปิฎกอีก ๘ รูป  เป็นกรรมการตรวจชำระ  
การตรวจชำระและจัดพิมพ์ระไตรปิฎกครั้งนี้  
เริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘  พิมพ์เสร็จบริบูรณ์เมื่อ พ .ศ. ๒๔๗๓  
นับเป็นพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ที่สมบูรณ์ฉบับแรก
ของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท


ในการตรวจชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ดังกล่าวนี้  
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ นอกจากจะทรงเป็นประธานในการตรวจชำระแล้ว  
พระองค์ยังได้ทรงตรวจชำระคัมภีร์อังคุตรนิกาย  แห่งพระสุตตันปิฎก
ตลอดพระคัมภีร์ด้วยพระองค์เอง  รวมเป็นหนังสือ ๕ เล่มอีกด้วย
นับเป็นพระเกียรติคุณในทางพระปริยัติธรรมอีกประการหนึ่ง  
ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ พระองค์นั้น

อนึ่ง พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ดังกล่าวนี้  
เมื่อได้ตรวจชำระและจัดพิมพ์ขึ้นเรียบร้อยแล้ว  
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  
พระราชทานกรรมสิทธิ์ในหนังสือพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐนี้
แก่ “มหามกุฏราชวิทยาลัย  ในพระบรมราชูปถัมภ์”   
ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา
เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยในขณะนั้น  
เพื่อประโยชน์แก่ความเจริญก้าวหน้าของการศึกษาทางพระพุทธศาสนา
เพื่อพระปริยัติธรรมสืบไป

โดย: kit007    เวลา: 2014-6-13 11:48

พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ๔๕ เล่มของมหามกุฏราชวิทยาลัย


สำเนาจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๔ ตอนที่ ๓ วันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๐

ประกาศพระราชทานกรรมสิทธิหนังสือพระไตรปิฏก
ฉบับสยามรัฏฐแก่มหามกุฏราชวิทยาลัย
  *

มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรมนทรมหาประชาธิปก
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ดำรัสเหนือเกล้าว่า  
พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
ผู้จัดการพิมพ์พระไตรกิฎกฉบับพระสยามรัฎฐ
ได้ทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้มหามกุฏราชวิทยาลัย  
มีกรรมสิทธิในหนังสือพระไตรปิฏกที่กล่าวนามมาแล้ว

ทรงพระราชดำริเห็นว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย
เปนสำนักการแห่งการศึกษาพระปริยัติธรรม
และเปนผู้รักษาพระบาลีมิให้วิปัลลาศ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต
ให้มหามกุฏราชวิทยาลัยมีกรรมสิทธิในหนังสือพระไตรปิฎกฉบับพระสยามรัฏฐ
และได้สิทธิต่างๆ ตามพระราชบัญญัติกรรมสิทธิหนังสือจงทุกประการ

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๐ เปนปีที่ ๓ ในรัชกาลปัตยุบัน


* หมายเหตุ : อักขรวิธีตามต้นฉบับ


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)


โดย: kit007    เวลา: 2014-6-13 11:51

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)



มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
(Mahamakuta Rajavidyalaya Foundation
Under Royal Patronage)


มหามกุฏราชวิทยาลัย (Mahamakuta Rajavidyalaya)
ซึ่ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ทรงพระดำริจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖
เพื่อเป็นสถานศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนานั้น
ได้ดำเนินการกิจการมาเป็นลำดับโดยต่อเนื่อง
โดยระยะแรก พระเถรานุเถระในคณะธรรมยุตผู้เป็นกรรมการ
ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นนายกกรรมการระยะ ๑ ปี
การบริหารกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ดำเนินมาในลักษณะนี้
จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของมหามกุฏฯ
การผลัดเปลี่ยนกันเป็นนายกกรรมการระหว่างการไม่เป็นการสะดวก
จึงตกเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
ต้องได้รับภาระเป็นนายกกรรมการโดยตำแหน่ง
ซึ่งได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบมาจนปัจจุบัน

และหลังจากที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สิ้นพระชนม์แล้ว
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ในฐานะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
ได้ทรงเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยสืบต่อมา
และได้ทรงดำริจัดตั้ง “มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์” ขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ นำดอกผลอัน เกิดจากทรัพย์สินของมหามกุฏฯ
มาช่วยอุดหนุนบำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร
และส่งเสริม การเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

โดยเริ่มต้นด้วยทุนของมหามกุฏราชวิทยาลัยจำนวน ๕๖๙,๖๘๙.๙๗ บาท
ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงเป็นนายกกรรมการผู้จัดการ
เจ้าพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษาธิบดี (ม.ล.มูล ดารากร)
อธิบดีกรมพระคลังข้างที่ เป็นผู้จัดการฝ่ายคฤหัสถ์
ประกอบด้วยกรรมการฝ่ายบรรพชิต ชุดแรก ๑๓ ท่าน

กล่าวได้ว่า มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ได้รับการจัดตั้งขึ้น
หลังจากที่ได้จัดตั้ง มหามกุฏราชวิทยาลัย มาได้ ๔๐ ปี
นับเป็นพัฒนาการขั้นที่ ๒ ของ มหามกุฎราชวิทยาลัย
โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ทรงเป็นนายกกรรมการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นพระองค์แรก


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)


โดย: kit007    เวลา: 2014-6-13 11:52
มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ในปัจจุบัน

การจัดตั้ง มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ขึ้นนั้น
นับว่าเป็นผลดีต่อการที่จะดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของ
มหามกุฏราชวิทยาลัย ที่ได้วางไว้แต่เริ่มก่อตั้งเป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ได้บำเพ็ญประโยชน์
แก่พระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจกล่าวได้โดยสรุปดังต่อไปนี้

๑. นำผลประโยชน์ไปช่วยวัดต่างๆ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ทำให้วัดนั้นๆ มีทุนนอนที่มั่นคงและเกิดดอกผลที่แน่นอนตลอดไป

๒. ช่วยจัดหาตำราเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกบาลีและแผนกนักธรรม
ให้แก่พระภิกษุสามเณรตามวัดต่างๆ ที่ขาดแคลน

๓. การผลิตตำราทางพระพุทธศาสนา
นับว่าเป็นงานหลักอย่างหนึ่งของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ

มาจนกระทั่งบัดนี้ เมื่อตั้ง มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ แล้ว
ก็ได้จัดให้มีแผนกตำราเพื่อเรียบเรียงและชำระตำรับตำราต่างๆ
ซึ่ง กิจการแผนกนี้ นับเป็นการดำเนินรอยตามพระยุคลบาทแห่ง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ผู้ทรงริเริ่มไว้เป็นปฐมด้วยการทรงรจนาตำราทางพระพุทธศาสนาไว้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังได้แปลเป็นภาษาต่างประเทศเพื่อใช้เป็นคู่มือศึกษา
พระพุทธศาสนาของชาวต่างประเทศอีกด้วย เป็นการเผยแพร่เกียรติคุณ
ของพระสงฆ์ไทย ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวต่างประเทศ

๔. จัดสรรทุนจำนวนหนึ่งสำหรับบำรุงการศึกษาของสำนักเรียนต่างๆ ในคณะธรรมยุต
พร้อมทั้งช่วยจัดส่งพระภิกษุจากส่วนกลาง ออกไปเป็นครูช่วยสอนนักธรรมและบาลี
ในวัดตามจังหวัดต่างๆ  ด้วยงบประมาณที่จัดสรรไว้สำหรับการนี้

๕. จัดสรรงบประมาณปีละเป็นจำนวนมากอุดหนุนสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
อันเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์แห่งหนึ่ง
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

จึงกล่าวได้ว่า มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ
ได้ช่วยส่งเสริมการศึกษาของคณะสงฆ์
มาโดยตลอดทั้งทางตรงคือ ด้วยทุนทรัพย์ และทางอ้อม
คือ ช่วยผลิตตำราออกเผยแพร่และจำหน่ายในราคาถูก

๖. ส่งเสริมการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ
คือได้มีส่วนอย่างสำคัญในการอุดหนุนช่วยเหลือกิจการพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
เช่น ช่วยอุดหนุนการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศของพระธรรมทูต
ช่วยจัดหาวัตถุอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่การเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ
เช่น ตำราและบริขารบริวารต่างๆ เป็นต้น
ช่วยอุปการะพระภิกษุสามเณรจากต่างประเทศ
ที่เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
จนจบการศึกษาแล้วกลับไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศของตน
ช่วยจัดสร้างวัดไทยขึ้นในต่างประเทศ
เพื่อเป็นศูนย์เผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศนั้นๆ
พร้อมจัดส่งพระภิกษุออกไปอยู่ประจำเพื่อช่วยสั่งสอน
เช่น วัดพุทธรังษี นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และวัดไทยในอินโดนีเซีย เป็นต้น

๗. ส่งเสริมการศึกษาวิชาการชั้นสูงของพระภิกษุในต่างประเทศ
โดยจัดทุนการศึกษาแก่พระภิกษุผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง
ที่ไปศึกษาต่อวิชาการชั้นสูงในสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ
เพื่อจะได้กลับมาช่วยพัฒนาการศึกษาระดับสูงของคณะสงฆ์ไทย
ตลอดถึงทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองต่อไป

๘. ดำเนินการจัดแปลและจัดพิมพ์หนังสือที่จำเป็นแก่การศึกษา
พระพุทธศาสนาเป็นภาษาต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่แก่ชาวต่างประเทศ
พร้อมทั้งได้จัดให้มีแผนกจำหน่ายหนังสือพระพุทธศาสนาภาษาต่างประเทศ
ขึ้นเป็นพิเศษอีกแผนกหนึ่ง

มีการจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือพระพุทธศาสนาภาษาต่างประเทศ
แก่ประชาชนทั่วไปในราคาถูก ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้
พุทธศาสนิกชนหรือผู้สนใจในพระพุทธศาสนาทั่วไป
ได้มีโอกาสศึกษาและรู้ความเป็นไปของพระพุทธศาสนาได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

โดย: kit007    เวลา: 2014-6-13 11:53


งานนิพนธ์

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงมีพระปรีชาสามารถในทางรจนา นับได้ว่า
ทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
พระองค์ได้ทรงพระนิพนธ์ตำรับตำรา และหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มาก
อาทิเช่น พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา
หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย
มหานิบาตชาดก ต้นบัญญัติ สามเณรสิกขา
เป็นต้น

ซึ่งพระนิพนธ์เหล่านี้ยังได้ใช้เป็นคู่มือในการศึกษาภาษาบาลีและศึกษา
พระพุทธศาสนาของภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไปอย่างแพร่หลายอยู่จนบัดนี้


พระโกศพระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ประดิษฐาน ณ พระตำหนักอรุณ  วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม



พระอวสานกาล

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ทรงประชวรด้วยพระโรคเส้นพระโลหิตในกระเพาะพระบังคลเบาพิการ
ทำให้พระบังคลเบาเป็นโลหิต สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
เวลา ๑๐.๐๕ นาฬิกา ในรัชกาลที่ ๘ สิริรวมพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา
โดยทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๑๖ ปี กับ ๕ วัน

.....................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=20842





ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2