Baan Jompra
ชื่อกระทู้:
พระองค์ที่ ๗ : สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
[สั่งพิมพ์]
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:03
ชื่อกระทู้:
พระองค์ที่ ๗ : สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
(พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี)
พุทธศักราช ๒๓๙๔-๒๓๙๖
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
หัวข้อ
• พระประวัติในเบื้องต้น
• ทรงบรรพชาและอุปสมบท
• อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน รูปที่ ๒
• เจ้านายพระองค์แรกที่ทรงดำรงสมณศักดิ์
• ทรงเป็นเจ้าคณะกลาง
• การพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก
• พระอัจฉริยภาพในทางพระศาสนาและวรรณกรรม
• รัตนกวีศรีรัตนโกสินทร์
• พระอวสานกาล
• การสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
• ประกาศสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
• พระเกียรติคุณประกาศ
• ประวัติและความสำคัญของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:04
พระประวัติในเบื้องต้น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ทรงได้รับสถาปนาให้ดำรงตำแหน่ง
สมเด็จพระสังฆราช องค์พระประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย
นับเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ในการปกครองของคณะสงฆ์ไทย
เพราะแต่ก่อนมานับแต่ยุคต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ย้อนไปจนถึงยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
ไม่ปรากฏว่ามีเจ้านายพระองค์ใด แม้ทรงผนวชอยู่จนตลอดพระชนมชีพ
ได้รับการสถาปนาในตำแหน่งที่
สมเด็จพระสังฆราช
เพราะฉะนั้น พระประวัติและพระเกียรติคุณของ
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ทรงเป็นพระราชโอรส องค์ที่ ๒๘
ใน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
และ
เจ้าจอมมารดาจุ้ย
(ธิดาพระราชาเศรษฐี เป็น ‘พระสนมโท’
ต่อมาได้เลื่อนเป็น
“ท้าวทรงกันดาล”
ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้รักษาการคลังใน
เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓)
ประสูติเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๓๓
ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนอ้าย ปีจอ ทศก จุลศักราช ๑๑๕๒
ได้รับพระราชทานนามว่า
“พระองค์เจ้าวาสุกรี”
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงบรรพชาและอุปสมบท
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:04
ทรงบรรพชาและอุปสมบท
พ.ศ. ๒๓๔๕ ทรงผนวชเป็นสามเณร แต่เมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา
โดยทรงผนวชเป็นหางนาค กับพระองค์เจ้าชายฉัตร (กรมหมื่นสุรินทรรักษ์)
ในคราวที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
(กรมพระวังหลัง) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
เมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๒๓๔๕ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
โดยมี
สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) วัดมหาธาตุ
เป็นพระอุปัชฌาย์
เมื่อทรงผนวชแล้วก็ได้เสด็จไปประทับ ณ
วัดพระเชตุพน
ทรงศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยและภาษาบาลี ตลอดทั้งวิธีลงยันต์เลขไสย
อยู่ใน
สำนักสมเด็จพระพนรัตน
ผู้เป็นอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนในขณะนั้น
ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางอักษรสมัยและเวทย์มนต์ยิ่งนัก
โดยเฉพาะภาษาบาลีนั้น สมเด็จพระพนรัตนรอบรู้แตกฉานมาก
ได้รจนาหนังสือเป็นภาษาบาลีหรือภาษามคธไว้ ๓ เรื่องคือ
สังคีติยวงศ์ พงศาวดารการสังคายนา ๑
จุลยุทธการวงศ์ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ๑
มหายุทธการวงศ์ พงศาวดารมอญเรื่องราชาธิราช ๑
กล่าวกันว่า ตำรับตำราพิชัยสงครามและพระคัมภีร์ต่างๆ
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งอยู่กับสมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว
ก็ตกมาอยู่ที่วัดพระเชตุพนแห่งนี้ด้วย
ฉะนั้น
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
คงจักได้ทรงศึกษาเล่าเรียนตำรับตำราต่างๆ ดังกล่าวเหล่านี้
จึงได้ทรงมีพระปรีชาสามารถทั้งทางด้านคดีโลกและคดีธรรม
ดังเป็นที่ประจักษ์จากผลงานอันเป็นบทพระนิพนธ์เรื่องต่างๆ มากมาย
สามเณรพระองค์เจ้าวาสุกรี ประทับจำพรรษาและศึกษาอยู่ในวัดพระเชตุพน
จนสิ้นสมัยรัชกาลที่ ๑ ขณะนั้นพระชนม์ได้ ๑๙ พรรษา ก็ไม่ทรงสึก
เนื่องจากอายุยังไม่ครบผนวชเป็นพระภิกษุ จึงทรงเป็นสามเณรต่อไป
จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
จึงได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๕๔
โดยมี
สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) วัดมหาธาตุ
เป็นพระอุปัชฌาย์
และ
สมเด็จพระพนรัตน วัดพระเชตุพน
เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ทรงได้รับพระนามฉายาว่า
“สุวณฺณรํสี”
เป็นพระราชาคณะและอธิบดีสงฆ์
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:05
พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ
อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน รูปที่ ๒
เมื่อทรงผนวชเป็นภิกษุได้ ๓ พรรษา ในระหว่างพรรษาที่ ๓ นั้น
สมเด็จพระพนรัตน
เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ผู้เป็นพระอาจารย์ถึงแก่มรณภาพ
ครั้นออกพรรษาแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
เสด็จฯ ไปพระราชทานผ้าพระกฐิน จึงทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะ
และให้ครองพระกฐิน และโปรดเกล้าฯ ให้ครองวัดพระเชตุพนในวันนั้น
จึงทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ตั้งแต่ทรงผนวชได้เพียง ๓ พรรษา
นับเป็นอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน รูปที่ ๒
และต่อมาก็ทรงสถาปนาเป็น
กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์
ทรงสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะสามัญ
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:05
เจ้านายพระองค์แรกที่ทรงดำรงสมณศักดิ์
การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนา
พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าวาสุกรี เป็นพระราชาคณะครองวัดพระเชตุพนนั้น
เป็นการเริ่มธรรมเนียมอย่างใหม่ขึ้นในทางการปกครองคณะสงฆ์
คือเจ้านายทรงรับสมณศักดิ์
นับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในคณะสงฆ์ไทย
เพราะก่อให้เกิดผลดีตามมาในภายหลัง
แก่คณะสงฆ์และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ
ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๒ ย้อนไปจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา
ไม่เคยปรากฏว่ามีเจ้านายที่ทรงผนวชได้รับพระราชทานสมณศักดิ์
หรือมีตำแหน่งหน้าที่ทางการคณะสงฆ์เลย
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงริเริ่มประเพณีนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก
และ
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรก
ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงสมณศักดิ์และดำรงตำแหน่งทางการคณะสงฆ์
นับแต่นั้นมา เจ้านายที่ทรงผนวชอยู่ก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์
และดำรงตำแหน่งหน้าที่ทางการคณะสงฆ์ที่สำคัญๆ ต่อเนื่องกันมาเป็นจำนวนมาก
จะเห็นได้ว่า การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ทรงพระราชดำริเริ่มประเพณีตั้งเจ้านายให้ดำรงสมณศักดิ์ขึ้นในคณะสงฆ์นั้น
ก่อให้เกิดผลดีแก่พระศาสนาและชาติบ้านเมืองหลายประการ กล่าวคือ
- เป็นทางให้เจ้านายทรงนิยมในการทรงผนวชอยู่นานๆ มากขึ้น
เพราะเห็นทางที่จะเจริญในทางพระศาสนา
และมีโอกาสที่จะทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่พระศาสนาและชาติบ้านเมือง
ในทางที่ทรงพระปรีชาสามารถได้อย่างกว้างขวาง
- เป็นทางนำบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาสู่วงการพระศาสนาและคณะสงฆ์
ทำให้วงการพระศาสนาและคณะสงฆ์มีโอกาสพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้รวดเร็ว
และกว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะเจ้านายย่อมทรงไว้ซึ่งพระชาติวุฒิและ
พระคุณวุฒิที่ทรงได้รับการฝึกฝนอบรมมาเป็นอย่างดีจากราชสกุล
เมื่อเข้ามาทรงผนวชอยู่ในพระพุทธศาสนา
ย่อมเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของพระพุทธศาสนา
เลยก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งอันเป็นคุณประโยชน์แก่พระศาสนา
และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ
- เอื้ออำนวยต่อความสำเร็จในการดำเนินกิจการทางพระศาสนาและคณะสงฆ์
เพราะเจ้านายย่อมเป็นที่เคารพและศรัทธาของประชาชน
ฉะนั้นกิจการในทางพระศาสนาและคณะสงฆ์ที่ดำริและดำเนินการ
โดยมีเจ้านายย่อมเป็นที่ทรงพร้อมด้วย พระชาติวุฒิ พระคุณวุฒิ และพระอิสริยยศ
เป็นผู้นำย่อมเป็นที่ศรัทธาและไว้วางใจของคนทั่วไป
จึงไม่เป็นการยากที่จะกระทำการนั้นๆ ให้บรรลุเป้าหมายหรือประสบความสำเร็จ
ดังเป็นที่ปรากฏในประวัติการณ์ของพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ของไทยตลอดมา
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:06
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
ทรงเป็นเจ้าคณะกลาง
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้รวมวัดในแขวงกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกลาง
แล้วโปรดเกล้าฯ สถาปนา
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส
ให้ดำรงสมณศักดิ์เสมอเจ้าคณะรอง และทรงตั้งเป็นเจ้าคณะกลาง
ทรงดำรงตำแหน่ง
เจ้าคณะกลาง
บังคับบัญชาวัดทั้งปวงในกรุงเทพฯ จนตลอดสิ้นรัชกาลที่ ๓
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:06
พัดยศสำหรับพระสมณศักดิ์ที่
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
การพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๙๔
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์
ซึ่งทรงผนวชอยู่ และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร
ก็ได้รับการอันเชิญเสด็จเถลิงถวัลย์ราชย์ มไหสวริยสืบมหันตมหิศรราชวงศ์
ดำรงสิริราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
มีพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในปลายรัชกาลที่ ๓ ปีระกา พุทธศักราช ๒๓๙๒ นั้น
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริ
ที่จะทรงตั้ง
พระพิมลธรรม (อู่) วัดสุทัศน์
เป็นสมเด็จพระสังฆราช
จนโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ร่างนามที่จะทรงตั้ง และลงวัน เดือน ปี
ที่จะทรงตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว ก็พอทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต
หลังวันที่กำหนดจะทรงตั้งไว้นั้นเพียงวันเดียว
ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส
ขึ้นเป็น
กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
และทรงสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น
สมเด็จพระมหาสังฆปริณายกทั่วพระราชอาณาเขต
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษกที่วัดพระเชตุพน
มีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ คล้ายกับพระราชพิธีบวรราชาภิเษก
เมื่อวันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ นั้นเป็น
พระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษกที่เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ของคณะสงฆ์ไทย
และ
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ก็ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรก
ที่ทรงได้รับมหาสมณุตมาภิเษกเป็นที่สมเด็จพระสังฆราช ดังความที่ปรากฏนี้
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:08
พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
(พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี)
“ศรีศยุภมัสดุ อดีตกาลพระพุทธศักราช
ชไมยสหัสสสังวัจฉรไตรสตาธฤกจตุนวุติสังวัจฉร
ปัตยุบันกาลสุกรสังวัจฉรสาวนมาศ สุกกปักษ์จตุรสติดฤศถี สุกรวารปริเฉทกำหนด
พระยาทสมเด็จพระปรมนทร มหามกุฏสุทธสมมตเทพยพงศ์ วงศาดิศวรกระษัตริย์
วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติ
สังสุทธเคราหณี จักรีบรมนารถ อดิศวรราชรามวรางกูร สุจริตมูลสุสาธิต
อุกฤษฐวิบูลย์ บูรพาดูลย์กฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิธัญญลักษณวิจิตร
โสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคล ประสิทธิผลสรรพศุภผลอุดม
บรมสุขุมาลมหาบุรุษยรัตน์ ศึกษาพิพัฒน์สรรพโกศล สุวิสุทธวิมลศุภศีลสมาจาร
เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุคุณ วิบุลยสันดาน ทิพยเทพาวตาร
ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยพิเศษ สรรพเทเวศศรานุรักษ์ เอกอรรคมหาบุรุษ
สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฏกาทิโกศล วิมลปรีชา มหาอุดมบัณฑิตย์ สุนทรวิจิตรปฏิภาณ
บริบรูณ์คุณสารสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช
สรรพวิเศษศิรินทร มหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ
นพปฏลเสวตรฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต
สรรพทศทิศวิชิตไชยสกลมไหสวริย มหาสวามินทร์
มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวไศรย
พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์อุกฤษฐศักดิอรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย
อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร์
ปรเมทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานคร
อมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์
อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน ได้ประดิษฐดำรงมาเป็นมหานครอันใหญ่
เปนที่ศุขเกษมสมบรูณ์ด้วยสรรพโภคัยมไหยสุริยสมบัติ
เพียบพูลด้วยชนคณานิกรบรรสัษย์ คือบุรุษยรัตนราชวงศานุวงศ์ เสนามาตยามนตรี
กระวีชาติราชปโรหิต เป็นที่ไปมานานาค้าขายแห่งประเทศพานิช
วิจิตรด้วยวิกัยภัณฑ์สรรพพัสดุล้วนวิเศษ เป็นที่รื่นเริงบันเทิงจิตร
แห่งชาวนานาประเทศนิคมชนบท ปรากฏด้วยมหาชน อันเจริญขึ้น
ด้วยความฉลาดในหัตถกรรมต่างๆ แลชำนาญในการช่างสรรพกิจทุกประการ
เจริญขึ้นด้วยหมู่นิกรโยธาทวยหาญ เป็นประเทศที่ประดิษฐานพระบวรพุทธศาสนา
ประดับด้วยเรือนพระปฏิมาอุโบสถาคาระเสนาศน์ วิจิตรด้วยสุวรรณหิรัญมาศ
เปนที่เจริญความเลื่อมใสแห่งมหาชน ซึ่งเป็นมาได้ดังนี้ สำเร็จได้ด้วยอำนาจบารมี
พระเดชานุภาพ วิริยะปรีชาวิจารณกิจ แห่งสมเด็จพระบรมนารถบพิตร
ซึ่งทรงสถิตย์เป็นปฐม คือองค์สมเด็จพระบรมไอยกาธิราช ที่ได้ทรงพระนามตามประกาศ
ด้วยพระนามแห่งพระมโหทิฐปฏิมาว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นเดิมมา
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:08
ส่วนกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเล่า ก็เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระองค์นั้น แลได้ทรงพระผนวชรับพระธุระฝ่ายพระบวรพระพุทธศาสนามาช้านาน
ทรงพระปรีชาญาณฉลาดรอบรู้ในพุทธศาสน์ราชสาตร
แบบอย่างโบราณราชประเพณีต่างๆ แลในทางปฏิสันฐารปราไส
แล้วมีพระหฤทัยโอบอ้อมอารี เป็นที่สนิทเสน่หาแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ทั่วไป
แลได้เปนครูอาจารย์ครุถานิยบุทคลแห่งราชสกุลวงษ์มหาชนเป็นอันมาก
ควรที่จะเปนประธานาธิบดี มีอิศริยยศยิ่งกว่าบรรดาคณะนิกรสงฆ์
คามวาสีอรัญวาสีปักษ์ใต้ฝ่ายหนือทั้งปวง เมื่อบุรุษย์รัตนอันล้ำเลิศประเสริฐดังนี้มีอยู่
ก็มิได้ควรที่จะยกย่องพระราชาคณะองค์ใดองค์หนึ่ง แม้ถึงจะมีสติปัญญาวิทยาคุณ
ที่มีตระกูลเป็นอย่างอื่น ให้มีอิศริยยศถานานุศักดิ์ยิ่งกว่า
จึงมีพระบรมราชโองการมาร พระบัณฑูรสุรสิงหนารทดำรังสั่งให้สถาปนา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เปน
กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์
บรมพงศาธิบดีจักรีบรมนารถปฐมพันธุมหาราชวรังกูร
ปรเมทรนเรนทรสูรสัมมาภาธิสักกาโรดมสถาน อริยสมศีลจารพิเศษมหาวิมล
มงคลธรรมเจดียุตมุตวาทีสุวิรมนุญ อดุลยคุณคณาธาร
มโหฬารเมตตาภิธยาไศรย ไตรปิฏกกลาโกศล เบญจปฎลเสวตรฉัตร
ศิริรัตโนปลักษณะมหาสมณุตมาภิเศกาภิสิต ปรมุกฤษฐสมณศักดิธำรง
มหาสงฆปรินายก พุทธศาสนดิลกโลกุตมมหาบัณฑิตย์
สุนทรวิจิตรปฏิภาณ ไวยัติญาณมหากระวี พุทธาทิศรีรัตนไตรยคุณารักษ์
เอกอรรคมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาทิโลกยปดิพัทธพุทธบริสัษยเนตร
สมณคณินทราธิเบศร์สกลพุทธจักโรปการกิจ
สฤษดิศุภการมหาปาโมกขประธานวโรดม บรมนารถบพิตร
เสด็จสถิตย์ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
พระอารามหลวง กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ
นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน ทฤฆายุสมศิริสวัสดิฯ”
*
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:08
กล่าวกันว่า เหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มิได้ทรงตั้ง
พระพิมลธรรม (อู่)
เป็นสมเด็จพระสังฆราช
ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
ก็คงเนื่องมาจากพระราชประเพณีนิยมที่มีมาแต่โบราณกาล
ดังที่
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้ทรงอธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไว้ ความว่า
พระเถระที่จะทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระราชาคณะนั้น
ก็เฉพาะผู้ทรงคุณสมบัติพิเศษ คือ เป็นพระอุปัชฌายะ เป็นพระอาจารย์
เป็นที่ทรงนับถือเหมือนอย่างพระอุปัชฌายะ หรือพระอาจารย์
หรือเป็นผู้ใหญ่ผู้เฒ่ามีอายุแก่กว่าพระชนมพรรษาจึงถึงต่างปูนกัน
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ทรงมีความเกี่ยวข้องกับ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายประการ กล่าวคือ
ในทางพระราชวงศ์ก็ทรงเป็นพระเจ้าอา ในทางวัยวุฒิก็ทรงเจริญพระชนมายุกว่า
๑๔ พรรษา ในทางความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ ก็ทรงเป็นพระอาจารย์ กล่าวคือ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาอักขรวิธีและพระพุทธวจนะ
ตลอดถึงวิชาการคดีโลกอื่นๆ ในสำนักสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ฉะนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงเคารพนับถือมากมา
แต่ครั้งยังทรงผนวชอยู่ เป็นที่ทรงปรึกษาในเหตุการณ์สำคัญๆ เสมอ
เช่นเมื่อครั้งทรงผนวชใหม่ๆ ในปลายรัชกาลที่ ๒ หลังจากผนวชได้เพียง ๑๕ วัน
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมชนกนาถก็เสด็จสวรรคต
ตามราชนีติประเพณี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ควรจะได้เสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เพราะทรงอยู่ในฐานะองค์รัชทายาทแต่ขณะนั้นยังทรงพระเยาว์
และทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ เสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ส่วนมาก
จึงเห็นว่าควรถวายราชสมบัติแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งเป็นพระโอรสผู้ใหญ่และทรงเจริญพระชนมายุกว่า
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง ๑๗ พรรษา
ฉะนั้น หลังจากสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตเมื่อถูกกราบทูลถามว่า
จะทรงปรารถนาราชสมบัติหรือจะทรงผนวชอยู่ต่อไป
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงไปทูลปรึกษา
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งขณะนั้นทรงเป็น
กรมหมื่นนุชิตชิโนรส
(พระชนมายุ ๓๔ พรรษา)
กับทั้งสมเด็จพระกรมพระยาเดชาดิศร ขณะนั้นทรงเป็นกรมหมื่นเดชอดิศร
ซึ่งเป็นที่ทรงคารพนับถือมากทั้งสองพระองค์
และทั้งสองพระองค์ได้ตรัสแนะนำว่า
ไม่ใช่เวลาควรปรารถนาราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงได้ทรงผนวชอยู่ต่อมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ พระราชดำรัสแนะนำของ
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ครั้งนี้นับว่าก่อให้เกิดผลดีแก่
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและชาติบ้านเมืองเป็นอเนกอนันต์
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:09
พระอุโบสถวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ
นอกจาก
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
จะทรงเป็นที่เคารพนับถือของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าทั้งสองพระองค์
ทรงเป็นที่สนิทสนมกันมากด้วย ดังที่เล่ากันมาว่า
ในปลายรัชกาลที่ ๓ ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระดำริร่วมกันว่า
น่าจักได้สร้างวัดส่วนพระองค์ไว้นอกพระนคร
สำหรับเป็นที่เสด็จไปประทับในบางโอกาสหรือในคราวจำเป็นพระองค์ละวัด
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จึงได้ทรงสร้างวัดไว้ในคลองมอญวัดหนึ่ง
ซึ่งเรียกกันในครั้งนั้นว่า
วัดใหม่วาสุกรี
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง
เรียกกันในขณะนั้นว่า
วัดนอก
มาภายหลังจึงได้พระราชทานนามว่า
วัดบรมนิวาส
ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๔
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จึงได้ถวายวัดใหม่วาสุกรี เป็นพระอารามหลวง
และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ได้พระราชทานนามใหม่ว่า
วัดชิโนรสาราม
* หมายเหตุ : อักขรวิธีตามต้นฉบับ
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:09
พระอัจฉริยภาพในทางพระศาสนาและวรรณกรรม
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ทรงมีพระอัจฉริยภาพในหลายด้าน
สาเหตุหนึ่งคงเนื่องมาจาก ทรงได้รับการศึกษาเล่าเรียนมาเป็นอย่างดี
จากพระอาจารย์ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์แห่งยุค ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม
คือ สมเด็จพระพนรัต วัดพระเชตุพน ประกอบกับพระปรีชาสามารถส่วนพระองค์
จึงทำให้พระองค์ทรงเป็นที่ปรากฏโดดเด่น ทั้งในด้านการพระศาสนา
และด้านวิทยาการของบ้านเมืองมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
กล่าวเฉพาะในด้านการพระศาสนา แม้ว่าในทางการปกครองจะไม่มีเหตุการณ์พิเศษ
ให้กล่าวขวัญถึงพระองค์มากนัก เพราะทรงรับภาระธุระทางการปกครอง
ว่ากล่าวเฉพาะวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ มาจนเกือบตลอดพระชนม์ชีพ
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระมหาสังฆปริณายก ที่สมเด็จพระสังฆราช
อยู่เพียงปีเศษในช่วงสุดท้ายแห่งพระชนมายุเท่านั้น
แต่การที่ทรงมีพระภาระกิจทางการปกครองไม่มากนั้น กลับเป็นผลดียิ่งนัก
เพราะเป็นโอกาสให้พระองค์ได้ทรงศึกษาพิเคราะห์พระธรรมวินัย
และใช้พระปรีชาสามารถสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าแก่การพระศาสนา
และชาติบ้านเมืองเป็นจำนวนมาก กล่าวคือ ในทางพระสัทธรรม
ปรากฏว่าทรงพระปรีชาเชี่ยวชาญ ทรงเป็นที่ปรึกษา
และถวายวิสัชนาพระราชปุจฉาต่างๆ ในรัชกาลที่ ๓ มาโดยตลอด
ในทางรจนา นับว่าทรงพระปรีชาเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องพระปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
หรือร่ายยาวมหาชาติ เป็นต้น ที่ถือกันว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นเอก
ทางพระพุทธศาสนา ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:10
ในทางพุทธศิลป์ ได้ทรงคิดแบบพระพุทธรูปปางต่างๆ
ถวายพระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
ให้เหมือนอย่างโบราณกษัตริย์ครั้งกรุงศรีอยุธยาได้เคยทรงบำเพ็ญ
โดยทรงคิดเลือกพุทธอิริยาบถต่างๆ จากเรื่องพุทธประวัติ
เป็นจำนวน
๓๗ ปาง
ได้เป็นต้นแบบพระปางสมัยรัตนโกสินทร์สืบมา ดังนี้
๑. ปางพระบำเพ็ญทุกรกิริยา
๒. ปางพระรับมธุปายาส
๓. ปางพระลอยถาด
๔. ปางพระรับกำหญ้าคา
๕. ปางพระมารวิชัย
๖. ปางพระสมาธิ
๗. ปางพระถวายเนตร
๘. ปางพระจงกรมแก้ว
๙. ปางพระเจ้าประสานบาตร
๑๐. ปางพระฉันสมอ
๑๑. ปางพระลีลา
๑๒. ปางพระเอหิภิกขุ
๑๓. ปางพระปลงกรรมฐาน
๑๔. ปางพระห้ามสมุทร
๑๕. ปางพระอุ้มบาตร
๑๖. ปางพระภัตตกิจ
๑๗. ปางพระเกษธาตุ
๑๘. ปางพระลงเรือขนาน
๑๙. ปางพระห้ามญาติ
๒๐. ปางพระป่าเลไลย
๒๑. ปางพระห้ามพระแก่นจันทร์
๒๒. ปางพระนาคาวโลกย์
๒๓. ปางพระปลงพระชนมายุสังขาร
๒๔. ปางพระรับอุทกัง
๒๕. ปางพระสรงน้ำ
๒๖. ปางพระยืน
๒๗. ปางพระคัพธานุราช
๒๘. ปางพระยืน
๒๙. ปางพระสมาธิเพชร
๓๐. ปางพระสำแดงชราธรรม์
๓๑. ปางพระเหยียบรอยพระพุทธบาท
๓๒. ปางพระสำแดงโอฬาริกนิมิต
๓๓. ปางพระทรงรับผลมะม่วง
๓๔. ปางพระขับพระวักกลิ
๓๕. ปางพระไสยาสน์
๓๖. ปางพระฉันมธุปายาส
๓๗. ปางพระห้ามมาร
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:10
รัตนกวีศรีรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
ทรงศึกษาในสำนักสมเด็จพระพนรัตน วัดพระเชตุพน
ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาต่างๆ โดยเฉพาะภาษาบาลี และพระปริยัติธรรมอย่างยิ่ง
อีกทั้งตำราพิชัยสงครามและคัมภีร์ต่างๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ตกมาอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ พระองค์จึงทรงรอบรู้ทางด้านภาษาอย่างดีเยี่ยม
ทรงแตกฉานทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม ดังปรากฏในงานพระนิพนธ์ของพระองค์
หลากรูปแบบและหลายรส ความที่ทรงรจนาอย่างแสดงถึงพระอัจฉริยภาพ
สมกับที่ทรงได้รับยกย่องเป็นรัตนกวีในสมัยรัตนโกสินทร์
งานพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สามารถจำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
๑. งานพระนิพนธ์ร้อยกรอง
๑.๑ ประเภทโคลง มี ๕ เรื่อง
๑.๑.๒ โคลงกลบท
๑.๑.๒ โคลงจารึกศาลาราย และโคลงจารึกหน้าศาลาพระมหาเจดีย์
๑.๑.๓ โคลงภาพคนต่างภาษา
๑.๑.๔ โคลงภาพฤาษีดัดตน
๑.๑.๕ โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน
๑.๒ ประเภทร่าย มี ๒ เรื่อง
๑.๒.๑ ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
๑.๒.๒ ร่ายทำขวัญนาคหลวง
๑.๓ ประเภทลิลิต มี ๒ เรื่อง
๑.๓.๑ ลิลิตตะเลงพ่าย
๑.๓.๒ ลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารค
๑.๔ ประเภทฉันท์ มี ๘ เรื่อง
๑.๔.๑ สรรพสิทธิ์คำฉันท์
๑.๔.๒ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์
๑.๔.๓ ฉันท์กล่อมช้างพัง และกาพย์ขับไม้กล่อมช้างพัง
๑.๔.๔ ตำราฉันท์มาตราพฤติ
๑.๔.๕ ตำราฉันท์วรรณพฤติ
๑.๔.๖ สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย
๑.๔.๗ จักรทีปนีตำราโหราศาสตร์
๑.๔.๘ ฉันท์สังเวยกลองวินิจฉัยเภรี
๑.๕ ประเภทกลอน มี ๑ เรื่อง คือ กลอนเพลงยาวเจ้าพระ
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:10
๒. งานพระนิพนธ์ร้อยแก้ว
๒.๑ ปฐมสมโพธิกถา ฉบับภาษาบาลี
มีต้นฉบับอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ เป็นพระคัมภีร์ใบลานจำนวน ๓๐ ผูก
ผูกละประมาณ ๒๔ หน้า เมื่อปริวรรตเป็นอักษรไทยและแปลออกมาแล้ว
จะเป็นหนังสือหนาประมาณ ๒,๑๖๐ หน้า หรือประมาณ ๒๗๐ ยก
ซึ่งเป็นหนังสือพระพุทธประวัติฉบับที่มีขนาดหนาที่สุดในโลก
๒.๒ คำประกาศบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๔
๒.๓ พระราชพงศาวดารสังเขป และพระราชพงศาวดารย่อ
๒.๔ คำฤษฏี
๒.๕ พระธรรมเทศนาพระราชพงศาวดารสังเขป
พระโกศทรงฝรั่ง บรรจุพระอัฐิของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ประดิษฐาน ณ พระตำหนักวาสุกรี วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:11
พระอวสานกาล
เมื่อ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ทรงได้รับมหาสมณุตมาภิเษกเป็นที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น
ทรงมีพระชนมายุ ๖๑ พรรษา ทรงประชวรพระโรคชรา
พระสุขภาพจึงไม่สู้แข็งแรงนัก ทรงประชวรหนักคราวหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้มีพิธีสเดาะพระเคราะห์ตามพิธีไสยศาสตร์ถวาย
ทรงเจริญพระชนมายุอยู่ในรัชกาลที่ ๔ เพียง ๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์
เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๙ ค่ำ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕
เวลาบ่าย ๓ โมง ตรงกับวันที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๙๖
สิริรวมพระชนมายุได้ ๖๓ พรรษา กับ ๔ วัน
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๑ ปี ๔ เดือน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
พระราชทานพระโกศทองใหญ่ ทรงพระศพเป็นพระเกียรติยศยิ่ง
ครั้นปีขาลเบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๖ (พุทธศักราช ๒๓๙๗)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ
ให้ทำเมรุผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง แล้วเชิญพระโกศพระศพ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ตั้งกระบวนแห่แต่วัดพระเชตุพนไปเข้าพระเมรุท้องสนามหลวง
มีการมหรสพ ๓ วัน ๓ คืน ครั้นเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ
ตรงกับวันเสาร์ที่ ๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๙๗
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวงแล้ว
นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้มีตำแหน่งพระครูฐานานุกรม ประจำสำหรับรักษาพระอัฐิ
ถึงเวลาเข้าพรรษาก็เสด็จพระราชดำเนินไปถวายพุ่มบูชาพระอัฐิทุกปี
และถึงวันเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินวัดพระเชตุพน ก็โปรดเกล้าฯ
ให้อัญเชิญพระอัฐิไปประดิษฐานในพระอุโบสถ ทรงสักการบูชาแล้วทอดผ้าไตร
ให้พระฐานานุกรมสดับปกรณ์พระอัฐิเป็นประเพณีตลอดมา
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน
หลังจาก
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สิ้นพระชนม์แล้ว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้โปรดสถาปนาพระเถระรูปใด
เป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกจนตลอดรัชกาล
ในรัชกาลที่ ๔ จึงมีสมเด็จพระสังฆราชเพียงพระองค์เดียว
คือ
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สิ้นพระชนม์แล้ว
ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็ว่างอยู่ตลอดจนรัชกาลที่ ๔ เป็นเวลา ๑๕ ปี
เหตุที่ไม่ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น
คงเป็นเพราะไม่มีพระเถระรูปใดอยู่ในฐานะที่จะทรงสถาปนา
ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:11
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
อาจมีผู้สงสัยว่า
การที่ว่างสมเด็จพระสังฆราช
หรือไม่มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นเวลานานนั้น
การปกครองคณะสงฆ์จะดำเนินการกันอย่างไร
จึงขออธิบายไว้ตรงนี้สั้นๆ ว่า แต่ครั้งโบราณกาลมา
องค์พระมหากษัตริย์ทรงถือเป็นพระราชภาระในการปกครองดูแลคณะสงฆ์
โดยทรงโปรดฯ ให้เจ้านายผู้ใหญ่หรือขุนนางผู้ใหญ่ในตำแหน่งเจ้ากรมสังฆการี
(บางยุคเรียกว่ากรมสังฆการีธรรมการ ซึ่งภายหลังเป็นกระทรวงธรรมการ)
เป็นผู้กำกับดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ เมื่อมีกิจอันใดเกิดขึ้นในคณะสงฆ์
เจ้ากรมสังฆการีก็จะเป็นผู้รับสั่งการไปทางเจ้าคณะต่างๆ เพื่อดำเนินการต่อไป
สมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยตรง
ด้วยพระองค์เองทรงดำรงอยู่ในฐานะปูชนียบุคคลของปวงพุทธบริษัทเท่านั้น
การปกครองคณะสงฆ์ได้ดำเนินมาในลักษณะนี้
จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับคณะกลางซึ่งสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นเจ้าคณะอยู่เดิมนั้น
แม้
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สิ้นพระชนม์แล้ว
ก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นอยู่ใน
พระอัฐิสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
มีถานานุกรมพระอัฐิบังคับบัญชาว่ากล่าวตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ ๕
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:12
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
(พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี)
การสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า
ตำแหน่ง พระมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่ง สังฆมณฑล ซึ่งมีสมณศักดิ์ว่า
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณนั้นมีนามอย่างสังเขปว่า
“สมเด็จพระสังฆราช”
เป็นประเพณีสืบมา ส่วนพระบรมราชวงศ์ผู้ได้รับมหาสมณุตมาภิเษก
ดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งพระสังฆปริณายกหาได้เรียกว่า สมเด็จพระสังฆราชไม่
ย่อมเรียกพระนามไปตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์
ไม่ปรากฏพระเกียรติยศในทางสมณศักดิ์
จึงได้ทรงพระราชดำริพระนามสำหรับเรียกพระบรมราชวงศ์ผู้ดำรงสมณศักดิ์
ในตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช ขึ้นใหม่ว่า
“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า”
และได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยน
คำนำพระนาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระมหาสมณะ ซึ่งทรงดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
อยู่ในขณะนั้น เป็น
“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส”
เป็นพระองค์แรก พระนามว่า
“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า”
จึงได้เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยนี้
และพร้อมกันนี้ ก็ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนาม
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ซึ่งทรงดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชในอดีต
เป็น
“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า”
เช่นเดียวกันด้วย จึงเรียกกันว่า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
และ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
สืบมาแต่บัดนั้น
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:13
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ประกาศสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสิรินทร
มหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศใทราบโดยทั่วกัน
ด้วยทรงพระราชดำริว่า พระมหาสังฆปรินายก
ปธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร
ซึ่งมีสมณศักดิ์ว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณนั้น ได้มีนามอย่างสังเขปว่า
สมเด็จพระสังฆราชเป็นประเพณีสืบมา
แต่ส่วนพระบรมราชวงศ์ผู้ได้รับมหาสมณุตมาภิเษกดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์เช่นนี้
หาได้เรียกว่า สมเด็จพระสังฆราชไม่
ย่อมเรียกพระนามไปตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์
ไม่ปรากฏพระเกียรติยศในส่วนทรงดำรงสมณศักดิ์นั้นเลย
จึงทรงพระราชดำริว่า
สมด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระอุปัธยาจารย์ ได้ทรงรับพระมหาสมณุตาภิเษกเป็น
มหาสังฆปริยนายกปธานาธิบดีสงฆ์ มาจนกาลบัดนี้ถึง ๑๐ พรรษาล่วงแล้ว
ทรงมีคุณูปการในทางพระศาสนกิจยิ่งนัก
พระองค์มีพระชนมายุเจริญยิ่งล่วง ๖๐ พรรษา
ประจวบอภิลักขิตสมัยครบรอบวันประสูติ
ทรงบำเพ็ญพระกุศลเฉลิมพระชันษา
สมควรจะสถาปนาพระนามในส่วนสมณศักดิ์
ให้ปรากฏพระเกียรติยศยิ่งขึ้น จึงควรพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(มีสร้อยพระนามคงตามเดิม) เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศสืบไปชั่วกาลนาน
อนึ่ง เมื่อได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์ปัจจุบันฉะนี้แล้ว
จึงทรงพระราชดำริถึง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
กับ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ผู้ได้ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษกเป็นมหาสังฆปริณายก
ประธานาธิบดีสงฆ์มาแต่อดีตกาล ก็มีคุณูปการในทางพุทธศาสนากิจสมัย
นั้นมาเป็นอย่างยิ่ง สมควรจะสถาปนาพระสมณศักดิ์ขึ้นไว้เช่นเดียวกัน
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนาม
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอทั้งสองพระองค์นั้นเป็น
“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า”
ตั้งแต่บัดนี้สืบไปด้วย
พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศไว้ ณ วันที่ ๑๒ เมษายน
พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
(หมายเหตุ : รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖)
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:14
พระรูปหล่อของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ประดิษฐาน ณ พระตำหนักวาสุกรี วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
พระเกียรติคุณประกาศ
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
(UNESCO) ได้มีมติรับข้อเสนอของคณะผู้แทนไทยในการประชุมสมัยสามัญ
ครั้งที่ ๒๕ ที่สำนักงานใหญ่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประกาศยกย่อง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๓
นับเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ได้รับการถวายเกียรตินี้
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
ได้ประกาศรายชื่อบุคคลสำคัญผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก
ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๓-๒๕๓๔ และถวายพระเกียรติคุณ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ในฐานะปูชนียบุคคลสำคัญ
ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๓
ตามมติที่ประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ ๒๕ ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก
กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๑๗ ตุลาคม-๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๒
และชักชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมจัดกิจกรรมฉลอง
เนื่องในวันคล้ายวันประสูติครบ ๒๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓
พระมหาสมณเจ้าฯ........................จอมกวี โลกเฮย
ยูเนสโกสดุดี.................................ปราชญ์เจ้า
ผู้นำศาสนจักรศรี...........................สังฆราช
พระอัจฉริยะประจักษ์กล้า................ประดุจแก้วมณี
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:14
พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล เจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑-๔
ประวัติและความสำคัญของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
“วัดโพธิ์”
หรือนามทางราชการว่า
“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร”
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร
และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาวัดโพธารามวัดเก่าที่เมืองบางกอกครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดหลวง
ข้างพระบรมมหาราชวัง และที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร
พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย
พระอารามหลวงแห่งนี้มีเนื้อที่ ๕๐ ไร่ ๓๘ ตารางวา
อยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ทิศเหนือจดถนนท้ายวัง
ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ ทิศตะวันตกจดถนนมหาราช
มีถนนเชตุพน ขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาว แบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสชัดเจน
มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกไว้ว่า
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงพระราชดำริว่า
มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง ๒ วัด
ด้านเหนือ คือ
วัดสลัก (วัดมหาธาตุฯ)
ด้านใต้คือ
วัดโพธาราม
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรม
ช่างสิบหมู่อำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์ เริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑
ใช้เวลา ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงแล้วเสร็จ
และโปรดฯ ให้มีการฉลองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๔
พระราชทานนามใหม่ว่า
“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ”
ต่อมารัชกาลที่ ๔ ได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น
“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม”
ดังปรากฏในศิลาจารึก
ซึ่งติดไว้ที่ผนังด้านในพระวิหารทิศพระพุทธโลกนาถมุขหลัง
เรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ ๑ ความว่า
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:15
ลายจำหลักมุกภาพมงคล ๑๐๘ ประการที่พระบาทพระพุทธไสยาสน์
“ศุภมัศดุพระพุทธศักราชล่วงแล้วสองพันสามร้อยสามสิบเบดพระวะษา
ณ วันจันทร์เดือนสิบเบดแรมแปดค่ำปีระกานักสัตว์เอกศก
สมเดจ์พระบรมธรรมมฤกมหาราชาธิราชพระเจ้ารามาธิบดี
บรมนารถบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวผู้ผ่านพิภพไอศวรรยาธิปัดถวัลราช
กรุงเทพทวาราวะดีศรีอยุทธยามหาดิหลดภพนพรัตนราชธานี
บุรีรมย์อุดมพระราชมหาสถาน เสดจ์ทอดพระเนตร์เหนวัดโพธารามเก่า
ชำรุดปรักหักพังเปนอันมากทรงพระราชศัรทธาจะปติสังขรณ์ส้างให้บริบูรรณงามขึ้น
กว่าเก่าซึ่งที่เปนลุ่มดอนห้วยคลองสระบ่อร่องคูอยู่นั้น
ทรงพระกรุณาให้เอาคนสองหมื่นเศศฃนดินมาถมเตมแล้ว
รุ่งขึ้นปีหนึ่งสองปีกลับยุบลุ่มไปจึงให้ซื้อมูลดินถมสิ้นพระราชทรัพย์
สองร้อยห้าชั่งสิบห้าตำลึงจึ่งให้ปราบที่พูนมูล ดินเสมอดีแล้ว
ครั้นณะวันพฤหัศบดีเดือนสิบสองแรมสิบเบดค่ำปีฉลูนักสัตว์เบญจะศก
ให้จับการปัติสังขรณะส้างพระอุโบสถมีกำแพงแก้วกระเบื้องปรุะ
ล้อมรอบพื้นในกำแพงแก้ว แลหว่างพระระเบียงชั้นในชั้นนอกก่ออิฐห้าชั้นแล้วดาดปูน
กระทำพระระเบียงล้อมสองชั้นผนังพระระเบียงข้างในประดับกระเบื้องปรุะ
ผนังหลังพระระเบียงเขียนเปนลายแย่งมุมพระระเบียงนั้นเปนจัตุระมุข
ทุกชั้นมีพระวิหารสี่ทิศบันดาหลังคาพระอุโบสถพระวิหารพระระเบียงนั้น
มุงกระเบื้องเคลือบศรีเขียวเหลืองสิ้น
ตรงพระวิหารทิศตวันตกออกไปให้ขุดรากพระเจดีย์ใหญ่
กว้างสิบวาลึกห้าศอกตอกเขมเอาอิฐหักใส่กะทุ้งให้แน่นแล้วเอาไม้ตะเคียนยาวเก้าวา
น่าศอกจัตุรัศเรียงระดับประกับกันเป็นตะรางสองชั้น
แล้วจึงเอาเหล็กดอกเห็ดใหญ่ยาวสองศอกตรึงตะหลอดไม้แกงแนงทังสองชั้น
หว่างช่องแกงแนงนั้นเอาอิฐหักทรายถมกะทุ้งให้แน่นดีแล้วรุ่งขึ้นณะวันศุกร์
เดือนสามขึ้นสิบค่ำปีฃาลฉ้อศกเพลาเช้าสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวเสดจ์พระราชดำเนิร
พร้อมด้วยพระราชวงษานุวงษ์เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตโหราจารย์
มายังที่ลานพระมหาเจดีย์ จึงให้ชักชะลอพระพุทธปติมากรศรีสรรเพชญ์อันชำรุด
รับมาแต่กรุงเก่า เข้าวางบนราก
ได้ศุภฤกษประโคมฆ้องกลองแตรสังข์ดุริยางคดนตรีปี่พาทย์
เสดจ์ทรงวางอิฐทองอิฐนากอิฐเงินก่อรากข้าทูลลอองทุลีพระบาททังปวงระดมกันก่อถาน
กว้างแปดวาถึงที่บันจุจึงเชิญพระบรมธาตุ์แลฉลองพระเขี้ยวแก้วองค์หนึ่ง
พระเขี้ยวทององค์หนึ่งพระเขี้ยวนากองค์หนึ่ง บันจุในห้องพระมหาเจดีย์
แล้วก่อสืบต่อไปจนสำเรจ์ยกยอดสูงแปดสิบสองศอกกระทำพระระเบียงล้อมสามด้าน
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:16
ผนังนั้นเขียนนิยายรามเกรียรดิ์จึงถวายนามพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ
แลในวงพระระเบียงชั้นในมีพระมหาธาตุ์สี่ทิศนอกพระระเบียงชั้นนอก
หว่างพระวิหารคตนั้น มีพระเจดีย์ถานเดียวห้าพระองค์สี่ทิศญี่สิบพระองค์
เข้ากันทังพระมหาเจดีย์ใหญ่พระมหาธาตุ์เปนญี่สิบห้าพระองค์บันจุพระบรมธาตุสิ้น
แลมีพระวิหารคตสี่ทิศกำแพงแก้วคั่นประตูซุ้มประดับกระเบื้องเคลือบสองประตู
มีรูปสัตว์ประตูละคู่ ทำหอไตรย์มุงกระเบื้องหุ้มดิบุก
ฝาแลเสาปิดทองลายรดน้ำแลตู้รูปปราสาทใส่คำภีร์พระปะริยัติไตรย์ปิฎก
ทำการบุเรียนหอระฆัง พระวิหารน้อยซ้ายขวาสำหรับทายกไว้พระพุทธรูป
ขุดสระน้ำปลูกพรรณไม้ทำศาลารายห้าห้องเจ็ดห้องเก้าห้องเปนสิบเจ็ดศาลา
เขียนเรื่องพระชาฎกห้าร้อยห้าสิบพระชาติ์ทังตำรายาแลฤาษีดัดตนไว้
เปนทานทำกำแพงแก้วล้อมรอบนอก มีประตูซุ้มประดับกระเบื้องถ้วยสี่ประตู
มีรูปอสูรประจำประตูละคู่ มีประตูซุ้มประดับกระเบื้องเคลือบเก้าประตู
ทังประตูกำแพงคั่นสองเปนสิบเบ็ดประตูมีรูปสัตว์ประตูละคู่เปนรูปสัตว์ญี่สิบสองตัว
แล้วทำตึกแลกุฎีสงฆ์หลังละสองห้องสามห้องสี่ห้องห้าห้องหกห้องเจ็ดห้อง
ฝากะดานพื้นกะดานมุงกระเบื้องเปนกุฎีร้อยญี่สิบเก้าทำหอฉัน
หอสวดมนต์ศาลาต้มกรักตากผ้า สระน้ำ ทำกำแพงล้อมกุฎีอีกวงหนึ่ง
แลรีมฝั่งน้ำนั้นมีศาลาสามหน้าต้นตะพานพระสงฆ์สรงน้ำทำเวจกุฎีสี่หลัง
แลในพระอุโบสถพระวิหารพระระเบียงนั้นเชิญพระพุทธปติมากร
อันหล่อด้วยทองเหลืองทองสำฤท ชำรุดปรักหักพัง
อยู่ณะเมืองพระพิศณุโลกเมืองสวรรคโลกเมืองศุกโขไทเมืองลพบุรี
เมืองกรุงเก่าวัดศาลาสี่หน้าใหญ่น้อยพันสองร้อยสี่สิบแปด พระองค์ลงมา
ให้ช่างหล่อต่อพระสอพระเศียรพระหัตถ์พระบาทแปลงพระภักตร์พระองค์ให้งามแล้ว
พระพุทธรูปพระประธานวัดศาลาสี่หน้าน่าตักห้าศอกคืบสี่นิ้วเชิญมาบุณะ
ปติสังขรณเสรจ์แล้ว ประดิษถานเปนพระประธานในพระอุโบสถ
บันจุพระบรมธาตุ์ถวายพระนามว่าพระพุทธเทวะปติมากร
แลผนังอุโบสถเขียนเรื่องทศชาติ์ทระมานท้าวมหาชมภูแลเทพชุมนุม
พระพุทธรูปยืนสูงญี่สิบศอก ทรงพระนามว่าพระโลกนาถสาศดาจารย์
ปรักหักพังเชิญมาแต่วัดศรีสรรเพชญ์ กรุงเก่า
ปติสังขรณ์เสรจ์แล้วเชิญประดิษถานในพระวิหารทิศตะวันออกมุกหลัง
บันจุพระบรมธาตุ์ด้วย ผนังเขียรพระโยคาวจรพิจาระณาอาศภสิบ
และอุประมาญาณสิบพระพุทธรูปวัดเขาอินเมืองสวรรคโลก
หล่อด้วยนากน่าตักสามศอกคืบหาพระกรมิได้
เชิญลงมาบุณะปติสังขรณด้วยนากเสรจ์ แล้วประดิษถานไว้เปนพระประธาน
ในพระวิหารทิศตวันออกบันจุพระบรมธาตุ์
ถวายพระนามว่าพระเจ้าตรัสในควงไม้พระมหาโพธิ์มีต้นพระมหาโพธิ์ด้วย
แลผนังนั้นเขียนเรื่องมารพะจล พระพุทธรูปน่าตักสี่ศอกห้านิ้ว
เชิญมาแต่กรุงเก่าปติสังขรณ์เสรจ์แล้วประดิษถานไว้ในพระวิหารทิศไต้
ถวายพระนามว่าพระพุทธิเจ้าเทศนาพระธรรมจักรมีพระปัญจะวักคีทังห้า
นั่งฟังพระธรรมเทศนาด้วย แลผนังนั้นเขียนเรื่องเทศนาพระธรรมจักร
แลเทศนาดาวดึงษ์พระพุทธรูปน่าตักสามศอกคืบสิบนิ้ว
เชิญมาแต่ลพบูรีปติสังขรณ์เสรจ์แล้วประดิษถานไว้ในพระวิหารทิศตะวันตก
บันจุพระบรมธาตุ์ถวายพระนามว่าพระนาคปรก
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:16
มีพญานาคแผลงฤทธิ์เลิกพั้งพานมีต้นจิกด้วยแลผนังนั้นเขียนเรื่องพระเกษธาตุ์
พระพุทธรูปหล่อใหม่สูงแปดศอกคืบห้านิ้ว ประดิษฐานไว้ในพระวิหารทิศเหนือ
บันจุพระบรมธาตุ์ ถวายพระนามว่าพระป่าเลไลย
มีช้างถวายคนทีน้ำมีวานรถวายรวงผึ้งแลผนังนั้นเขียนไตรย์ภูมมีเฃาพระสุเมรุราช
แลเขาสัตตะพันท์ทวีปใหญ่ทังสี่แลเฃาพระหิมพานต์อะโนดาตสระแลปัญจะมหานัที
พระพุทธรูปในพระอุโบสถอารามเก่าน่าตักสี่ศอกเชิญเข้าประดิษฐานไว้
เปนพระประธานในการบุเรียร แล้วจัดพระพุทธรูปใส่ในพระระเบียงชั้นในชั้นนอก
แลพระวิหารคต เปนพระพุทธรูปมาแต่หัวเมือง ชำรุดปติสังขรณ์ขึ้นใหม่
หกร้อยแปดสิบเก้าพระองค์พระพุทธรูปทำด้วยอิฐปูน
สำหรับอารามชำรุดอยู่ร้อยแปดสิบสามพระองค์เข้ากันเปนพระพุทธรูป
แลพระอรหรรต์แปดร้อยเจดสิบสองพระองค์ลงรักปิดทองสำเรจ์เหลือนั้น
ข้าทูลลอองทุลีพระบาทสัปรุษทายกรับไปบุณะไว้ในพระอารามอื่น
แลการถาปะนาพระอารามเจ็ดปีห้าเดือนญี่สิบแปดวันจึงสำเรจ์
สิ้นพระราชทรัพย์แต่ที่จำได้คิดค่าดินถมอิฐปูนไม้ทรุงสักขอนสักไม้แก่น
เหล็กกระเบื้องฟืนไม้จากทำโรงงานร่างร้านเรือนฃ้าพระเสากระดานกุฎี
น้ำอ้อนน้ำมันยางชันดีบุก ทองเหลืองทองแดงศรี ผึ้ง
หล่อถ่านกระจกน้ำรักทองคำกระดาดชาดเสนเครื่องเขียนรงดินแดง
พระราชทานช่างแลเลี้ยงพระสงฆ์เลี้ยงช่างแล้วช่วยคนชายสกันหกสิบหกคน
สมโนครัวสองร้อยญี่สิบสี่คนเปนเงินเก้าสิบห้าชั่งสิบเบดตำลึง
สักแขนขวาถวายเปนข้าพระขาดไว้ในพระอาราม
ตั้งหลวงพิทักษ์ชินศรีเจ้ากรมขุนภักดีรศธรรม
ปลัดกรมควบคุมข้าพระรักษาพระอารามเข้ากันสิ้นพระราชทรัพย์ส้างและช่วยคน
เปนเงินสามพันเจ็ดร้อยแปดสิบห้าชั่งหกตำลึง
แล้วทรงพระกรรุณาให้เอาแพรลายย้อมครั่งทรงพระพุทธรูป
ในพระวิหารทิศพระระเบียง พระวิหารคตการบุเรียนพระมหาธาตุ์เจดีย์ใหญ่น้อย
สิ้นแพรร้อยพับแต่พระพุทธเทวะปติมากรในพระอุโบสถ
ทรงผ้าศรีทับทิมชั้นในตาดชั้นนอก
ครั้นณะวันศุกร์เดือนห้าแรมสิบสองค่ำปีระกาตรีนิศก
ให้ตั้งการฉลองอาราธนา พระราชาคณะถานานุกรมอะธิการ
อันดับฝ่ายคันธะธุระวิปัศนาธุระพันรูปพร้อมกันณะพระอุโบสถ
เพลาบ่ายแล้วสี่โมงห้าบาตสมเดจ์พระบรมนารถบรมบพิตร์พระพุทธิเจ้าอยู่หัว
เสดจ์พระราชดำเนิรพร้อมด้วยสมเดจ์พระอนุชาธิราชวงษานุวงษ์
เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตาจารย์มายังพระอุโบสถทรงสมาทานพระอุโบสถศีล
แล้วหลั่งน้ำอุทิโสทกบลงเหนือพระหัตถ์พระพุทธปติมากร ถวายพระอาราม
ตามพระบาฬีแก่พระสงฆ์มีองค์พระพุทธปติมากรเปนประธานมีนามปรากฏ
ชื่อวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศมอบถวายพระวัณะรัตนพิพัฒญาณอดุล
สุนธรวรนายกปิฎกะธรามหาคะนิศรบวร ทักขิณาคณะสังฆารามคามวาสี
สถิตย์ในวัดพระเชตุพน แลัวถวายแก่พระพุทธปติมากร แพรยกไตรย์
หนึ่งบาตร์เหล็กเครื่องอัฐะบริฃารพร้อมย่ามกำมะหยี่
เครื่องย่ามพร้อมพัชแพรร่มแพรเสื่ออ่อนโอเถาโอคณะกาน้ำช้อนมุกขวดแก้ว
ใส่น้ำผึ้งน้ำมันพร้าวน้ำมันยา กลักใส่เทียนธูปสิ่งละร้อย
ไม้เท้ารองเท้าสายสะเดียงพระสงฆ์พันหนึ่งก็ได้เหมือนกันทุกองค์
ครั้นจบพระบาฬีที่ทรงถวายพระสงฆ์รับสาธุพร้อมกันประโคมดุริยางค์ดนตรี
แตรสังข์ฆ้องกลองสนั่นไปด้วยสรัทสำเนียงกึกก้องโกลาหล
พระสงฆ์รับพระราชทานแล้วไปสรงน้ำครองไตรย์มาสวดพระพุทธมนต์
เพลาเยนวันละพันรูปปรนิบัดิพระสงฆ์ฉันเช้าเพนสามวันพันรูปถวายกระจาดทุกองค์
ให้มีพระธรรมเทศนาบอกอานิสงษ์ทุกวันแล้วปรนิบัดิพระสงฆ์
ซึ่งศรัทธาทำดอกไม้เพลิงบูชาพระรัตนไตรย์ฉันเช้าทั้งเจดวัน
เปนพระสงฆ์หกร้อยญี่สิบสี่รูป ถวายผ้าสบงทุกองค์ถวายบาตร์เหล็ก
ซึ่งพระสงฆ์ไม่มีครองแล้วถวายกระจาดเสื่อร่มรองเท้าธูปเทียนไม้เท้าด้วย
แล้วให้ตั้งโรงฉ้อทานเลี้ยงสมณะชีพราหมณะ
อนาประชาราษฎรทังปวงแลมีโฃนอุโมงโรงใหญ่
หุ่นละคอนมอญรำระบำมงครุ่มคุลาตีไม้ปรบไก่งิ้วจีนญวนหกขะเมน
ไต่ลวดลอดบ่วงรำแพนนอนหอกดาบโตฬ่อแก้วแลมวย
เพลากลางคืนประดับไปด้วยประทีปแก้วระย้าแก้วโคมพวงโคมราย
แลดอกไม้รุ่งสว่างไปทั้งพระอาราม แล้วให้มีหนังคืนละเก้าโรง
มีดอกไม้เพลิงคืนละสองร้อยพุ่มระทาใหญ่แปดระทาพลุะประทัดพะเนียง
ดอกไม้ม้าดอกไม้กะถางดอกไม้กลต่างต่างแลมังกรฬ่อแก้ว
ญวนรำโคมเปนที่โสรมนัศบูชาโอฬาริกวิเศศ
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:16
เปนพระราชทรัพย์ทิ้งทานต้นกรรมพฤกษ์ฉลากพิกัดค่าพระราชบุตรบุตรี
พระภาคีไนยราชแลนางพระสนม ราชกุญชรอัศดรนาวาฉลากละห้าชั่งสี่ชั่งสองชั่ง
เป็นเงินสามร้อยสามสิบแปดชั่ง เงินใส่ผลมะนาวร้อยหกสิบแปดชั่งเข้ากัน
ทิ้งทานห้าร้อยหกชั่งคิดทังเงินค่าผ้าทรงพระ ดอกไม้สดบูชา
เลี้ยงพระสงฆ์กระจาดและโรงฉ้อทานเครื่องไทยทาน
ทำเครื่องโขนโรงโขนเครื่องเล่นเบ็ดเสร็จ
พระราชทานการมะโหระสพแลถวายระย้าแก้วโคมแก้วบูชาไว้ในพระอาราม
เปนเงินในการฉลองพันเก้าร้อยสามสิบชั่งสี่ตำลึงเข้ากัน
ทั้งสร้างเปนพระราชทรัพย์ห้าพันแปดร้อยสิบเบดชั่ง
ครั้นเสรจ์การฉลองพระอารามแล้วพายหลังทรงพระกรรุณา
ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรทังสอง ซึ่งสถิตย์ในพระวิหารฝ่ายทักขิณทิศ
แลทิศประจิมนั้นขึ้นไปประดิษถานไว้ ณพระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรทังสองพระองค์
ซึ่งเชิญมาแต่เมืองศุกโขไทน่าตักห้าศอกคืบกับนิ้วหนึ่งเท่ากัน
พระองค์หนึ่งทรงพระนามพระพุทธชินราชเข้าประดิษฐานไว้แทนที่ในพระวิหาร
ฝ่ายทักขิณทิศ พระองค์หนึ่งทรงพระนามพระพุทธชินศรีเข้าประดิษถาน
ไว้แทนที่ในพระวิหารฝ่ายปัจจิมทิศคงดังเก่าซึ่งทรงพระราชศรัทธาบำเพ็ญพระราชกุศล
ทั้งนี้ ใช่พระไทยจะปรารถนาสมบัติบรมจักรจุลจักรท้าวพญาสามลราช
แลสมบัติอินท์พรหมหามิได้ ตั้งพระไทยหมายมั่น
พระบรมโพธิญานในอนาคตกาลจะรื้อสัตว์ให้พ้นจากสงสารทุกข์ แลการพระราชกุศล
ทั้งนี้ ฃออุทิศให้แก่เทพยุเจ้าในอนันตะจักรวาฬแลเทพยุเจ้าในฉกามาพจรแล
โสฬศมหาพรหม อากาศเทวดาพฤกษเทวดาภูมเทวดาอารักษเทวดาแลกษัตราธิราช
พระราชวงษานุวงษ์เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตสมณชีพราหมณ์อนาประชาราษฎร
ทั่วสกลราชอาณาจักรในมงคลทวีป จงอนุโมทนาเอาส่วนพระราชกุศลนี้
ให้เปนบุญลาภศิริสวัสดิทีฆายุศมฯ”
*
พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
นับเป็นหนึ่งในพระอุโบสถที่งดงามมากของวัดในเมืองไทย
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-6 12:18
ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่นานถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน
ขยายเขตพระอารามด้านใต้และตะวันตกคือ
ส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสสวนมิสกวัน สถาปนาขึ้นใหม่
พระมณฑป ศาลาการเปรียญ และสระจระเข้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่
เป็นโบราณสถานในพระอารามหลวงที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้
แม้การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเมื่อฉลองกรุงเทพฯ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕
เป็นเพียงซ่อมสร้างของเก่าให้ดีขึ้น มิได้สร้างเสริมสิ่งใดๆ
เกร็ดประวัติศาสตร์ของการสถาปนาและการบูรณะปฏิสังขรณ์
วัดโพธิ์
แห่งนี้
บันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ ๑ และที่ ๓ ขุนนาง เจ้าทรงกรมช่างสิบหมู่
ได้ระดมช่างในราชสำนัก ช่างวังหลวง ช่างวังหน้า
และช่างพระสงฆ์ที่อยู่ในวัดต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมสาขาต่างๆ
ได้ทุ่มเทผลงานสร้างสรรค์พุทธสถานและสรรพสิ่งที่ประดับอยู่ในวัดพระอารามหลวง
ด้วยพลังศรัทธาตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านที่ให้เป็นแหล่งรวมสรรพศิลป์
สรรพศาสตร์ เปรียบเป็นมหาวิทยาลัยแห่งสรรพวิชาไทย (มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก)
ที่รวบรวมเอาภูมิปัญญาไทยไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้กันอย่างไม่รู้จบสิ้น
จักรพันธุ์ โปษยกฤต จิตรกรชื่อดังของไทยกล่าวไว้ในหนังสือ
“โบสถ์วัดโพธิ์”
เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า
“ศิลปศาสตร์ในวัดโพธิ์ จึงเสมือนโอฆะแห่งวิชา
ที่สามารถตักตวงได้ ยังประโยชน์แก่กุลบุตร กุลธิดา
ให้อุดมสมบูรณ์อลังการด้วยปัญญาอยู่มิรู้เหือดแห้ง”
* หมายเหตุ : อักขรวิธีตามต้นฉบับ
พระพุทธรูปเก่าแก่ที่พระระเบียงรอบพระอุโบสถ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ :
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี)
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
http://www.dharma-gateway.com/
http://mahamakuta.inet.co.th/
http://www.mbu.ac.th/
http://www.watpho.com/
กระทู้ในบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13344
...........................................................................................
ที่มา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=29889
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/)
Powered by Discuz! X3.2