Baan Jompra

ชื่อกระทู้: อุบายชำระจิตให้เป็นธรรม (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) [สั่งพิมพ์]

โดย: kit007    เวลา: 2014-6-6 09:51
ชื่อกระทู้: อุบายชำระจิตให้เป็นธรรม (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)


หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๑๘


อุบายชำระจิตให้เป็นธรรม


จิตที่ได้ชำระด้วยดีมีความผ่องใสเป็นประจำ ขณะที่เราอยู่ในสถานที่ที่เงียบๆ ไม่มีเสียงต่างๆ ปรากฏเลย เช่นเวลากลางคืนดึกสงัด จิตทั้งๆ ที่ไม่รวมไม่สงบลงเป็นสมาธิก็ตาม เมื่อกำหนดดูที่จุดแห่งความรู้นั้น จะเห็นว่าเป็นความละเอียดอ่อนมากที่สุดจนพูดอะไรไม่ถูก ความละเอียดนั้นเลยกลายเป็นเหมือนกับรัศมีแผ่กระจายไปรอบตัวและรอบทิศ สิ่งที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย  ก็ไม่ปรากฏในขณะนั้น ทั้งๆ ที่จิตไม่ได้รวม ไม่ได้เป็นองค์แห่งสมาธิ แต่เป็นฐานมั่นคงของจิตที่ชำระกันด้วยดีมาแล้ว แสดงความรู้ความสง่างามอ้อยอิ่งให้เด่นชัดอยู่ภายในตัวเอง

ความรู้ชนิดนี้เหมือนไม่มีร่างมีกายเป็นที่อาศัยอยู่เลย เป็นความรู้ที่ละเอียดมาก เด่นอยู่เฉพาะตัว แม้จิตไม่รวมเป็นสมาธิก็ตาม เพราะความละเอียดของจิต เพราะความเด่นของจิต เลยกลายเป็นความรู้เด่นที่ไม่มีภาพนิมิตใดๆ มาปรากฏ รู้เด่นอยู่โดยลำพังตนเอง นี่เป็นระยะหนึ่งของจิต

อีกระยะหนึ่งจิตที่ได้ชำระด้วยดีแล้วนี้หยั่งเข้าสู่ความสงบ ไม่คิดไม่ปรุงอะไร พักกิริยาคือความกระเพื่อมความคิดความปรุงต่างๆ ภายในจิต พักโดยสิ้นเชิง เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ที่เรียกว่า “จิตเข้าสู่ความสงบ” ยิ่งไม่มีอะไรๆ ปรากฏเลย จะปรากฏเฉพาะความรู้นั้นอย่างเดียว เหมือนครอบโลกธาตุไปหมด เพราะกระแสของจิตไม่เหมือนกระแสของไฟ กระแสของไฟมีที่สิ้นสุด มีระยะใกล้หรือไกลตามกำลังของไฟ เช่น แสงสว่างของไฟฟ้า ถ้าแรงเทียนสูงก็สว่างไปไกล แรงเทียนต่ำก็สว่างใกล้

แต่กระแสจิตนี้ไม่เป็นเช่นนั้น คำว่า “ใกล้ ไกล”ไม่มี ที่พูดได้ชัดๆ ก็ว่าไม่มีกาลสถานที่นั่นแหละ จิตครอบไปได้หมด ไกลก็เหมือนใกล้ ใกล้หรือไกลพูดไม่ถูก เห็นแต่ความรู้นั้นครอบไปหมดสุดขอบจักรวาล โลกทั้งโลกเลยปรากฏมีแต่ความรู้อันเดียวเท่านั้น เหมือนไม่มีอะไรเลยในความรู้สึก ทั้งที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมีก็มีอยู่ตามปกติของตน นี่แหละอำนาจของจิต กระแสของจิตที่ชำระสิ่งปิดบังมัวหมองออกไปแล้ว เป็นอย่างนั้น

ยิ่งจิตมีความบริสุทธิ์หมดจดด้วยแล้ว อันนี้ยิ่งพูดไม่ถูกเลย ไม่ทราบจะพูดจะคาดว่าอย่างไร เพราะไม่ใช่สิ่งที่คาดไม่ใช่สิ่งที่หมาย ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาพูดได้เช่นสมมุติทั่วๆ ไป เนื่องจากสิ่งนั้นไม่ใช่สมมุติแล้ว เป็นวิสัยของผู้มิใช่สมมุติ รู้เรื่องความไม่ใช่สมมุติของตนเท่านั้น จึงนำมาพูดอะไรไม่ได้

โดย: kit007    เวลา: 2014-6-6 09:52
ทีนี้โลกเต็มไปด้วยสมมุติ พูดอะไรก็ต้องมีภาพสมมุติขึ้นมาเปรียบเทียบทุกๆ เรื่องไป เช่นเห็นจะเป็นอย่างนั้น เห็นจะเป็นอย่างนี้ หรือเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ คล้ายกับสิ่งนั้น เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ยกคำว่า “นิพพาน” ขึ้นมาพูด เรื่องของกิเลสสามัญ คือจิตสามัญธรรมดาเรา จะต้องคาดว่านิพพานจะต้องกว้างขวางเวิ้งว้างไปหมด ไม่มีอะไรปรากฏอยู่ในนั้นเลย แต่ไม่ได้คิดในคำว่า ‘นิพพาน” ที่เป็นคำสมมุติที่ยังมีหลงเหลืออยู่ ดีไม่ดีก็อาจคิดไปว่า มีแต่ผู้คนที่บริสุทธิ์เดินขวักไขว่กันอยู่ในพระนิพพานนั้นเท่านั้น ซึ่งมีทั้งหญิงทั้งชายเพราะถึงความบริสุทธิ์ด้วยกัน มีแต่พวกที่บริสุทธิ์เท่านั้นเดินขวักไขว่กันไปมา หรือนั่งอยู่อย่างสะดวกสบายผาสุกเจริญ ไม่มีความโศกเศร้าเหงาหงอยเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันเหมือนโลกสมมุติเรา ที่เต็มไปด้วยความทุกข์วุ่นวาย

ความจริงหาได้ทราบไม่ว่า ความที่ว่ามีผู้หญิงผู้ชายที่บริสุทธิ์เดินขวักไขว่ หรือนั่งอยู่ตามธรรมชาติตามธรรมดาของตน ด้วยความสุขความเกษม ไม่มีอะไรเข้าไปยุ่งกวนนั้น ก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง ซึ่งเข้ากับ “วิมุตติ” นิพพานแท้ๆ ไม่ได้การที่นำมากล่าวในสิ่งที่สุดวิสัยของสมมุติ แม้ผู้นั้นไม่สุดวิสัยแห่งความรู้ก็ตาม เป็นวิสัยแห่งความรู้ของตนด้วยดีก็ตาม แต่ไม่สามารถที่จะนำออกมาพูดได้ในทางสมมุติ พูดออกมาก็ตีความหมายไปผิดๆ ถูกๆ เพราะตามธรรมดาจิตก็คอยแต่จะผิดอยู่แล้ว หรือยังมีความผิดภายในตัวอยู่ พอแย็บอะไรออกมาก็ต้องคาด และด้นเดาไปตามความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องไม่แน่นอนเสมอไป

อย่างพระยมกพูดกับพระสารีบุตรว่า “พระอรหันต์ตายแล้วสูญ” เพราะพระยมกเป็นปุถุชนอยู่ พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ และเป็นผู้ชี้แจงให้ฟังยังไม่ยอมเข้าใจ จนพระพุทธเจ้าเสด็จมาชี้แจงให้ฟังเสียเอง แม้เช่นนั้นถ้าจำไม่ผิดก็ปรากฏว่าพระยมกยังไม่เข้าใจตามความจริงที่ทรงชี้แจงนั้น ตามคัมภีร์ว่า พระยมกก็ดูเหมือนไม่ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานอะไร แต่ต้องมีเหตุผลพระพุทธเจ้าจึงจะทรงแสดง หากไม่มีความหมายในการแสดงนั้นพระองค์จะไม่แสดงเลย เพราะธรรมบางอย่างแม้ผู้ฟังนั้นจะไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร แต่ผู้อื่นที่เกี่ยวข้องย่อมได้รับ วิสัยของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น จะรับสั่งเรื่องอะไรออกมาต้องมีเหตุมีผล คือมีสิ่งที่จะได้รับประโยชน์สำหรับผู้ฟัง จึงจะทรงแสดงออกมา หากไม่มีอะไรเลยก็ไม่ทรงแสดง

นี่เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้าที่พร้อมด้วยเหตุด้วยผล รู้รอบขอบชิดทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่พูดไปแบบปาวๆ เปล่าๆ เหมือนโลกทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้นในเวลารับสั่งอะไรกับพระยมกนั้น เราชักลืมเสียแล้ว เพราะผ่านเรื่องนี้มานานแล้ว จนลืมว่ามีใครได้ผลบ้างในเวลานั้น หรือว่าพระยมกก็ได้ นี่สงสัยไม่แน่ใจแล้ว เรามาถือเอาตอนที่ว่า “พระอรหันต์ตายแล้วสูญ” เป็นธรรมอันสำคัญก็แล้วกัน

พระองค์ทรงแสดงว่า “พระอรหันต์เป็นรูปหรือถึงตายแล้วสูญจากรูป พระอรหันต์เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ” หรือ พระอรหันต์เป็น ดิน น้ำ ลม ไฟหรือ เมื่อตายแล้วจึงได้สูญจากสิ่งนั้นๆ” รับสั่งถามไปเรื่อย สรุปความแล้วว่า รูปไม่เที่ยง รูปก็สลายไป,เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง ก็มีความสลายไป เมื่อเรื่องของสมมุติ เป็นไปตามสมมุติอย่างนั้น

ส่วนเรื่องของ “วิมุตติ” คือเรื่องของความบริสุทธิ์ จะให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้เพราะไม่ใช่อันเดียวกัน จะนำเรื่อง “วิมุตติธรรม” หรือ “วิมุตติจิต” เข้ามาคละเคล้า หรือมาบวกกับขันธ์ห้าซึ่งเป็นเรื่องของสมมุติย่อมไม่ถูก ไม่ใช่ฐานะจะเป็นไปได้ ขันธ์ห้าเป็นสมมุติขั้นหนึ่ง จิตแบบเป็น “สามัญจิต” ก็เป็นสมมุติขั้นหนึ่ง

ความละเอียดของจิต ละเอียดจนอัศจรรย์ แม้ขณะที่ยังมีสิ่งพัวพันอยู่ ก็ออกแสดงความอัศจรรย์ตามขั้นภูมิของตนให้เห็นได้อย่างชัดเจน ยิ่งสิ่งที่พัวพันทั้งหลายหมดไปแล้ว ก็จิตนั้นแลเป็นดวงธรรม หรือธรรมนั้นแลคือจิต หรือจิตนั้นแลคือธรรม ธรรมทั้งแท่งก็คือจิตทั้งดวง จิตทั้งดวงก็คือธรรมทั้งแท่งอยู่โดยดี ทีนี้ก็สมมุติอะไรไม่ได้ เพราะเป็นธรรมล้วนๆ แล้ว แม้ท่านจะครองขันธ์อยู่ ธรรมชาตินั้นก็เป็นอย่างนั้นโดยสมบูรณ์

ขันธ์ก็เป็นขันธ์อยู่อย่างพวกเราๆ ท่านๆ นี้เอง ใครมีรูปลักษณะมีกิริยามารยาทมีจริตนิสัยอย่างใด ก็แสดงออกตามจริตนิสัยของตน ตามเรื่องของสมมุติที่มีการแสดงตัวอย่างนั้น จึงนำมาคละเคล้าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ได้ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ธรรมชาติของ “วิมุตติ” นั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ขันธ์โลกก็เป็นอีกโลกหนึ่ง แม้ใจที่บริสุทธิ์จะอยู่ในโลกแห่งขันธ์ ก็เป็น “จิตวิมุตติ” อยู่ตลอดเวลา จะเรียกว่า “โลกุตรจิต” ก็ไม่ผิด เพราะอยู่เหนือสมมุติคือธาตุขันธ์แล้ว

“โลกุตรธรรม” คือธรรมเหนือโลก ท่านถึงทราบได้ในเรื่องความสืบต่อของจิต เมื่อชำระเข้ามาโดยลำดับๆ ย่อมเห็นเงื่อนต้นเงื่อนปลาย เห็นความแสดงออกของจิตว่าหนักไปทางใด ยังมีอะไรเป็นเครื่องให้สืบต่อหรือเกี่ยวข้องกันอยู่ ท่านก็ทราบ ท่านทราบชัด เมื่อทราบชัดท่านก็หาวิธีตัดวิธีปลดเปลื้องสิ่งที่สืบต่อนั้นออกจากจิตโดยลำดับ

โดย: kit007    เวลา: 2014-6-6 09:53
เวลากิเลสมันหนาแน่น ภายในจิตมืดดำไปหมด ระยะนี้ไม่ทราบว่าจิตเป็นอะไร และสิ่งที่มาเกี่ยวข้องพัวพันคืออะไร เลยถือเป็นอันเดียวกันหมด ทั้งสิ่งที่มาข้องทั้งตัวจิตเองคละเคล้าเป็นอันเดียวกัน ไม่มีทางทราบได้ ต่อเมื่อได้ชำระสะสางไปโดยลำดับๆ จึงมีทางทราบได้เป็นระยะๆ ไป จนทราบได้อย่างชัดเจนว่า เวลานี้จิตยังมีอะไรอยู่ภายในตัวมากน้อย แม้ยังมีอยู่นิดก็ทราบว่ามีอยู่นิด เพราะความสืบต่อให้เห็นชัดเจนว่า นี่คือเชื้อที่จะทำให้ไปเกิดในสถานที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งบอกอยู่ภายในจิต เมื่อได้ทราบชัดอย่างนี้ก็ต้องพยายามแก้ไข ด้วยวิธีการต่างๆ ของสติปัญญา จนกระทั่งสิ่งนั้นขาดไปจากจิตไม่มีอะไรติดต่อกันแล้ว จิตก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ หมดทางติดต่อ เห็นได้อย่างชัดเจนแล้ว นี่คือ “ผู้หลุดพ้นแล้ว” นี่คือผู้ไม่ได้ตาย

เพราะการปฏิบัติจริง เป็นผู้รู้จริงๆ ตามหลักความจริง เห็นได้ชัดเจนประจักษ์ใจ ท่านพูดจริงทำจริงและรู้จริง แล้วนำสิ่งที่รู้จริงเห็นจริงออกมาพูด จะผิดไปได้อย่างไร! พระพุทธเจ้าของเราแต่ก่อนพระองค์ก็ไม่ทรงทราบว่าเคยเกิดมากี่ภพกี่ชาติ เกิดเป็นอะไรบ้าง แม้ปัจจุบันจิตมีความติดต่อเกี่ยวเนื่องกับอะไรบ้าง เพราะกิเลสมีมากต่อมาก ในระยะนั้นพระองค์ก็ยังไม่ทราบได้เหมือนกัน

ต่อเมื่อทรงบำเพ็ญ จนกระทั่งตรัสรู้เป็นธรรมทั้งดวงขึ้นมาในพระทัยแล้ว จึงทราบได้ชัด เมื่อทรงทราบอย่างชัดเจนแล้ว จึงทรงนำความจริงอันนั้นออกมาประกาศธรรมสอนโลก และใครผู้ที่จะสามารถรู้ธรรมประเภทนี้ได้อย่างรวดเร็ว ก็ทรงเล็งญาณทราบ ดังท่านทราบว่าดาบสทั้งสองและปัญจวัคคีย์ทั้งห้า มีอุปนิสัยพร้อมจะบรรลุธรรมอยู่แล้ว เป็นต้น แล้วเสด็จมาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ก็สมพระประสงค์ที่ทรงกำหนดทราบด้วยพระญาณไว้แล้ว

ท่านเหล่านี้ก็ได้บรรลุธรรมเป็นขั้นๆ โดยลำดับ จนกระทั่งบรรลุธรรมเป็น“พระขีณาสพ” ด้วยกันทั้ง ๕ องค์ เพราะเอาของจริงออกมาแสดงต่อผู้มุ่งความจริงอยู่ด้วยกันอย่างเต็มใจอยู่แล้ว จึงรับกันได้ง่าย ผู้ต้องการหาความจริงกับผู้แสดงความจริงสมดุลกันแล้ว เมื่อแสดงออกตามหลักความจริง ผู้นั้นจึงรับได้อย่างรวดเร็ว และรู้ตามพระองค์เป็นลำดับจนรู้แจ้งแทงตลอด บรรดากิเลสที่มีอยู่มากน้อยสลายตัวไปหมด คว่ำ “วัฏจักร” ลงได้อย่างหายห่วง นี้แลผู้รู้จริงเห็นจริงแสดงธรรม ไม่ว่าจะเป็นแง่ธรรมเกี่ยวกับทางโลกหรือทางธรรม ย่อมเป็นที่แน่ใจได้ เพราะเห็นมาด้วยตา ได้ยินมาด้วยหู ได้สัมผัสด้วยใจตัวเอง แล้วจำนำมาพูดจะผิดไปไหน ผิดไม่ได้ เช่นรสเค็ม ได้ทราบที่ลิ้นแล้วว่าเค็ม พูดออกมาจากความเค็มของเกลือนั้นจะผิดไปไหน รสเผ็ด พริกมันเผ็ด มาสัมผัสลิ้นก็ทราบแล้วว่าพริกนี้เผ็ด แล้วพูดออกด้วยความจริงว่าพริกนี้เผ็ด จะผิดไปที่ตรงไหน

การรู้ธรรมก็เหมือนกัน ปฏิบัติถึงขั้นที่ควรรู้ต้องรู้เป็นลำดับลำดา รู้ธรรมหรือการละกิเลสย่อมเป็นไปในขณะเดียวกันนั้น กิเลสสลายตัวลงไป ความสว่างที่ถูกปิดบังอยู่นั้น ก็แสดงขึ้นมาในขณะเดียวกันกับกิเลสสลายตัวไป ความจริงได้ปรากฏอย่างชัดเจน กิเลสซึ่งเป็นความจริงอันหนึ่งก็ทราบอย่างชัดเจน แล้วตัดขาดได้ด้วย “มรรค” อันเป็นหลักความจริง คือสติปัญญา แล้วนำมาพูดมาแสดงเพื่อผู้ฟังด้วยความตั้งใจต้องเข้าใจ

ธรรมเหล่านี้พระองค์แสดงไว้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ไม่ได้นอกเหนือไปจาก “เบญจขันธ์ของเรา” มีใจเป็นประธานสำหรับรับผิดชอบชั่วดีทุกสิ่งที่มาเกี่ยวข้องสัมผัส ธรรมแม้จะมากถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็ตาม ท่านแสดงไปตามอาการของจิต อาการของกิเลส อาการของธรรม เพื่อบรรดาสัตว์ที่มีนิสัยต่างๆ กัน จึงต้องแสดงออกอย่างกว้างขวางถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อให้เหมาะสมกับจริตนิสัยนั้นๆ จะได้นำไปประพฤติปฏิบัติและแก้ไขตนเองในวาระต่อไป และควรจะทราบไว้ว่า ผู้ฟังธรรมจากผู้รู้จริงเห็นจริง ควรจะแก้กิเลสอาสวะได้ ในขณะสดับธรรมจากพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ หรือครูอาจารย์ทั้งหลาย โดยไม่เลือกกาลสถานที่

ธรรมทั้งหลายรวมลงที่จิต จิตเป็นภาชนะที่เหมาะสมอย่างยิ่งในธรรมทุกขั้น การแสดงธรรมมีอะไรเป็นเครื่องเกี่ยวเนื่องพัวพันกันอยู่ ที่จำต้องพูดถึงสิ่งนั้นๆ เพื่อความเข้าใจและปล่อยวาง สำหรับผู้ฟังทั้งหลายก็มีธาตุขันธ์ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสภายนอกอันหาประมาณมิได้ เข้ามาเกี่ยวข้องกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ซึ่งเป็นภายในตัวเรา จึงต้องแสดงทั้งภายนอกแสดงทั้งภายใน เพราะจิตหลงและติดได้ทั้งภายนอกและภายใน รักได้ชังได้ทั้งภายนอกภายใน

เมื่อแสดงให้ทราบตามเหตุผลทั้งข้างนอกข้างในตามหลักความจริง จิตที่ใคร่ครวญหรือพิจารณาตามหลักความจริงอยู่โดยเฉพาะแล้ว ต้องทราบได้โดยลำดับและปล่อยวางได้ เมื่อทราบสิ่งใดแล้วก็ย่อมปล่อยวางสิ่งนั้น และหมดปัญหาในการที่จะพิสูจน์พิจารณาอีกต่อไป คือสิ่งใดที่เข้าใจแล้ว สิ่งนั้นก็หมดปัญหา เพราะเมื่อเข้าใจแล้วก็ปล่อยวางสิ่งนั้นๆ ปลดปล่อยไปเรื่อยๆ เพราะความเข้าใจถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ โดยสมบูรณ์แล้ว

การพิจารณาธรรมในขั้นที่ควรแคบก็แคบ ในขั้นที่ควรกว้างก็ต้องกว้างขวางเต็มภูมิจิตภูมิธรรม ดังนั้นใจของนักปฏิบัติธรรมที่ควรให้อยู่ในวงแคบ ก็ต้องจำกัดให้อยู่ในวงนั้น เช่น การอบรมในเบื้องต้น จิตมีแต่ความว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่ตลอดเวลาหาความสงบสุขไม่ได้ จึงต้องบังคับให้จิตอยู่ในวงแคบ เช่น ให้อยู่กับคำบริกรรม“พุทโธ” หรือลมหายใจเข้าออก เป็นต้น เพื่อจะตั้งตัวได้ด้วยบทบริกรรม เพื่อความสงบนั้นเป็นบาทเป็นฐานหรือเป็นรากฐานของใจพอตั้งตัวได้ในการปฏิบัติต่อไป จึงต้องสอนให้จิตมีความสงบจากอารมณ์ต่างๆ ด้วยธรรมบทใดบทหนึ่งตามจริตชอบไปก่อน พอเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจทางความสงบ

โดย: kit007    เวลา: 2014-6-6 09:53
เมื่อจิตได้รับความสงบเพราะธรรมบทนั้นๆ พอเป็นปากเป็นทางแล้ว ก็เริ่มพินิจพิจารณาปัญญา ความรู้ก็ค่อยแตกแขนงออกไปโดยลำดับ หรือตีวงกว้างออกไปจนไม่มีประมาณ เมื่อถึงกาลอันควรที่จะพักจิตด้วยสมาธิภาวนา ก็กำหนดทาง“สมถะ” ด้วยบทธรรมดังที่เคยทำมาแล้ว โดยไม่ต้องสนใจทางด้านปัญญาแต่อย่างใด ในขณะนั้นตั้งหน้าตั้งตาทำความสงบด้วยธรรม บทที่เคยเป็นคู่เคียงของใจ หรือที่เคยได้ปฏิบัติเพื่อความสงบมาแล้ว กำหนดธรรมบทนั้นเข้าไปโดยลำดับ ด้วยความมีสติควบคุม จนปรากฏเป็นความสงบขึ้นมา แล้วมีความสุขความเย็นใจ เรียกว่า “การพักผ่อนหย่อนจิตด้วยสมาธิภาวนา”

เมื่อจิตถอนออกจากการพักสงบนั้นแล้ว ปัญญาก็ต้องคลี่คลายพิจารณาดูสิ่งต่างๆ อันใดที่ควรจะพิจารณาในระยะใดเวลาใด ก็พิจารณาในเวลานั้นๆ จนเป็นที่เข้าใจเมื่อปัญญาได้เริ่มไหวตัวเพราะพลังคือสมาธิเป็นเครื่องหนุนแล้ว ปัญญาจะต้องทำการพิจารณาอย่างกว้างขวางโดยลำดับๆ ตอนนี้ปัญญาจะว่ากว้างก็กว้าง ธรรมจะว่ากว้างก็กว้างตอนนี้ ปัญญามีความเฉลียวฉลาดมากน้อยเพียงใด ก็ยิ่งพิจารณากระจายออกไปจนรู้เหตุรู้ผลในสภาวธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง แล้วหายสงสัยและปล่อยวางไปโดยลำดับ ตามขั้นของสติปัญญาที่ควรแก่การถอดถอนกิเลสประเภทนั้นๆ ออกจากใจเป็นลำดับๆ ไป

จิตค่อยถอนตัวเข้ามาสู่วงแคบเท่าที่เห็นจำเป็นโดยลำพัง ไม่ต้องถูกบังคับเหมือนแต่ก่อน ก็เมื่อพิจารณารู้ตามความเป็นจริงแล้ว จะไปพัวพันไปกังวลกับสิ่งใดอีกเล่า เท่าที่กังวลวุ่นวายนั้น ก็เพราะความไม่เข้าใจจึงได้เป็นเช่นนั้น เมื่อเข้าใจด้วยปัญญาที่ได้พิจารณาคลี่คลายเห็นความจริงของสิ่งนั้นๆ แล้ว จิตก็ถอยและปล่อยกังวลเข้ามาเรื่อยๆ จนกลายเป็นวงแคบเข้ามา ๆ จนถึงธาตุถึงขันธ์ถึงจิตตัวเองโดยเฉพาะ ระยะนี้จิตทำงานในวงแคบ เพราะตัดภาระเข้ามาโดยลำดับแล้ว

ธาตุขันธ์มีอะไรบ้าง? แจงลงไป ทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พิจารณาจนหายสงสัยในเงื่อนหนึ่งเงื่อนใดก็ตาม เช่น พิจารณาในรูป เรื่องเวทนานั้นก็เป็นอันเข้าใจไปตามๆ กัน หรือพิจารณาเวทนา ก็วิ่งมาถึงรูป ถึงสัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีลักษณะเช่นเดียวกัน เพราะออกจากกระแสจิตอันเดียวกัน สรุปความแล้วขันธ์ทั้งห้าท่านก็บอกว่า “เป็นคลังแห่งไตรลักษณ์ หรือเป็นกองแห่งไตรลักษณ์” ทั้งสิ้นอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว

มีสิ่งใดที่ควรจะถือเอา รูปธาตุรูปขันธ์ รูปทั้งปวง ก็เป็นกองแห่งธาตุอยู่แล้ว เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ก็เป็นเพียงนามธรรม ปรากฏ “ยิบแย็บๆๆ”แล้วหายไปในขณะๆ จะถือเป็นสาระแก่นสารอะไรจากสิ่งเหล่านี้เล่า ปัญญาหยั่งทราบเข้าไปโดยลำดับคือทราบความจริง และซึ้งถึงจิตจริงๆ แล้วก็ปล่อยวางด้วยความรู้ซึ้งนั้น คือปล่อยวางอย่างถึงใจ เพราะรู้อย่างถึงใจก็ปล่อยอย่างถึงใจ งานก็แคบเข้าไป ๆ ตามความจำเป็นของการทำงานทางด้านปัญญา
นี่แหละการพิจารณาและรู้วิถีทางเดินของจิต ที่ไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ต่างๆย่อมทราบเข้ามาและปล่อยวางเข้ามาโดยลำดับ ตัดทางเสือโคร่งที่เคยออกเที่ยวหากิน

ดังท่านว่าไว้ในหนังสือธรรมบทหนึ่ง “ตัดทางเสือโคร่งออกเที่ยวหากิน” คือออกจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไปเที่ยวเกี่ยวข้องกับทางรูป ทางเสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส แล้วกว้านเอาอาหารที่เป็นพิษเข้ามาเผาใจ ปัญญาจึงต้องเที่ยวพิจารณาตามรูป ตามเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพื่อตัดทางเสือโคร่งที่เคยหากิน โดยการคิดค้นเข้าไป ๆ ตามสายทางเสือโคร่งเสือดาวที่ชอบเที่ยวทางนี้ ท่านว่า ค้นเข้ามาตัดทางของมันเข้ามา จนกระทั่งเอาเสือโคร่งเข้าใส่กรงได้ คือ“อวิชชา” ที่เปรียบเหมือนเสือโคร่งเข้ารวมตัวในจิตดวงเดียว กิเลสอาสวะทั้งมวลรวมลงในจิตดวงเดียว กิ่งก้านสาขาตัดขาดไปหมด เหลือแต่จิต กิเลสอยู่ในจิตดวงเดียว ไม่มีที่ออกเที่ยวเพ่นพ่านหาอาหารกินได้ดังแต่ก่อน

“จิตอวิชชา” นี้จะว่าเป็นเหมือนลูกฟุตบอลก็ได้ เพราะปัญญาคลี่คลายถีบเตะไปเตะมาจนแตกแหลกละเอียด คือกิเลสอวิชชาแตกกระจายภายในนั้น จิตขั้นนี้เป็นขั้นรวมตัวของกิเลส ขณะที่ถูกปัญญาคลี่คลายไปมา จึงเหมือนลูกฟุตบอลถูกถีบถูกเตะนั่นแหละ ถูกเตะไปเตะมาอยู่ในวงขันธ์เสียจนแตกกระจายด้วยปัญญา เมื่อจิตที่เป็น “สมมุติ” แตกกระจายไป จิตที่เป็น “วิมุตติ” ก็แสดงตัวขึ้นมาอย่างเต็มที่

ทำไมจึงเรียกว่า “จิตเป็นสมมุติ” กับ “จิตเป็นวิมุตติ” เล่า? มันกลายเป็นจิตสองดวงอย่างนั้นเหรอ? ไม่ใช่อย่างนั้น! จิตดวงเดียวนั้นแหละที่มี “สมมุติ คือกิเลสอาสวะครอบอยู่นั้น” เป็นจิตลักษณะหนึ่ง แต่เมื่อได้ถูกชำระขยี้ขยำด้วยปัญญาจนจิตลักษณะนั้นแตกกระจายไปหมดแล้ว ส่วนจิตแท้ธรรมแท้ที่ทนต่อการพิสูจน์ไม่ได้สลายไปด้วย สลายไปแต่สิ่งที่เป็น “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” ที่แทรกอยู่ในจิตเท่านั้น เพราะกิเลสอาสวะแม้จะละเอียดเพียงใดก็ตาม มันก็เป็น “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา”และเป็น “สมมุติ” อยู่โดยดีนั่นแล

เมื่อสิ่งนี้สลายไป จิตแท้เหนือสมมุติจึงปรากฏตัวอย่างเต็มที่ ที่เรียกว่า “วิมุตติจิต”สิ่งนี้แลท่านเรียกว่า “จิตบริสุทธิ์” ขาดจากความสืบต่อเกี่ยวเนื่องใดๆ ทั้งสิ้นเหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ที่บริสุทธิ์สุดส่วนอย่างเดียว


โดย: kit007    เวลา: 2014-6-6 09:53
ความรู้ล้วนๆ นี้ เราพูดไม่ได้ว่าเป็นจุดอยู่ ณ ที่ใดในร่างกายเรา แต่ก่อนเป็นจุดเด่นรู้เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น สมาธิ เราก็ทราบว่าอยู่ในท่ามกลางอก ความรู้เด่นอยู่ตรงนั้น ความสงบเด่นอยู่ที่ตรงนั้น ความสว่างความผ่องใสของจิตเด่นอยู่ที่ตรงนั้นอย่างชัดเจนโดยไม่ต้องไปถามใคร บรรดาท่านผู้มีจิตสงบเป็นฐานแห่งสมาธิแล้ว จะปรากฏชัดเจนว่า จุดผู้รู้เด่นอยู่ในท่ามกลางอกนี้จริงๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการถกเถียงกันว่าอยู่มันสมอง เป็นต้น ดังที่ผู้ไม่เคยรู้เห็นทางด้านสมาธิภาวนาพูดกัน หรือถกเถียงกันเสมอในที่ทั่วไป

ทีนี้เวลาจิตนี้กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์แล้ว จุดนั้นหายไป จึงพูดไม่ได้ว่าจิตอยู่เบื้องบน เบื้องล่าง หรืออยู่สถานที่ใด เพราะเป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ด้วย เป็นความรู้ที่ละเอียดสุขุมเหนือสมมุติใดๆ ด้วย แม้เช่นนั้นก็ยังแยกเป็นสมมุติมาพูดว่า“ละเอียดสุด” ซึ่งไม่ตรงต่อความจริงนั่นนักเลย คำว่า “ละเอียดสุด” นี่มันต้องเป็นสมมุติอันหนึ่งน่ะซิ พูดไม่ได้ว่าอยู่สูงอยู่ต่ำ มีจุดมีต่อมอยู่ที่ไหน ไม่มีเลย! มีแต่ความรู้เท่านั้นไม่มีอะไรเข้าไปแทรกซึม แม้จะอยู่ในธาตุในขันธ์ซึ่งเคยคละเคล้ากันมาก่อน ก็ไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว กลับเป็นคนละโลกไปแล้ว!

ทราบได้อย่างชัดเจน ขันธ์ก็เป็นขันธ์ จิตก็เป็นจิต กายก็เป็นกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มีอยู่ภายในร่างกายนี้ ก็เป็นขันธ์แต่ละอย่างๆ ส่วนเวทนาในจิตนั้นไม่มี นับแต่จิตได้หลุดพ้นกิเลสทั้งมวลไปแล้ว เพราะฉะนั้นคำว่า“ไตรลักษณ์” ใดก็ตามซึ่งเป็นตัวสมมุติ จึงไม่มีในจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นไม่มีการเสวยเวทนา นอกจาก “ปรมํ สุขํ” อันเป็นธรรมชาติของตัวเอง และคำว่า “ปรมํ สุขํ”ไม่ใช่สุขเวทนา

ที่ท่านว่า “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ’ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง คำว่า “สุขอย่างยิ่ง” นั้นไม่ใช่สุขเวทนา เหมือนเวทนาของจิตที่ยังมีกิเลส และเวทนาของกายซึ่งเป็นสุขเป็นทุกข์แสดงอยู่เสมอๆ “ปรมํ สุขํ” นั้นไม่ใช่เวทนาเหล่านี้ ท่านนักปฏิบัติพึงทราบอย่างถึงใจ และปฏิบัติให้รู้ด้วยตัวเองนั่นแลจะหมดปัญหา สมดังธรรมท่านว่า “สนฺทิฏฺฐิโก” ซึ่งไม่ทรงผูกขาดไว้โดยเฉพาะพระองค์ผู้เดียว

จิตที่ “บริสุทธิ์ล้วนๆแล้ว” เราจะเรียกว่า “จิตมีเวทนา” จึงเรียกไม่ได้ จิตนี้ไม่มีเวทนา คำว่า “ปรมํ สุขํ” นั้น เป็นสุขในหลักธรรมชาติแห่งความบริสุทธิ์  จึงหา อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เข้าไปแทรกใน “ปรมํ สุขํ” นั้นไม่ได้

นิพพานเที่ยง ปรมํ สุขํ เที่ยง อันเดียวกัน ท่านว่า “นิพพานเที่ยง ปรมํ สุขํ ก็เที่ยงปรมํ สุญฺญํ ก็เที่ยง เป็นอันเดียวกัน” แต่สูญแบบพระนิพพานที่นอกสมมุติ ไม่ได้สูญแบบโลกสมมุติกัน
จะพูดอะไรแยกอะไรก็ได้ถ้ารู้ประจักษ์ใจแล้ว ถ้าไม่เข้าใจพูดวันยังค่ำก็ผิดวันยังค่ำไม่มีทางถูก เพราะจิตไม่ถูก พูดออกมาด้วยความเข้าใจว่าถูกตามอรรถตามธรรมเพียงใดก็ตาม แต่จิตผู้แสดงตัวออกมานั้นไม่ถูกอยู่แล้ว จะถูกได้อย่างไร เหมือนอย่างเราเรียกคำว่า “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ” เรียกจนติดปากติดใจก็ตาม จิตก็คือจิตที่มีกิเลสอยู่นั่นแล มันถูกไปไม่ได้ เมื่อจิตไม่พาถูกเสียอย่างเดียวอะไรก็ถูกไปไม่ได้!

พอจิตถูกเสียอย่างเดียว ไม่พูดก็ถูก เพราะธรรมชาตินั้นถูกอยู่แล้ว พูดหรือไม่พูดก็ถูก เมื่อถึงขั้นที่ถูกแล้วไม่มีผิด  นี่แหละความอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติศาสนธรรม
พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนถึงภูมินี้เท่านั้น ไม่ทรงสอนอะไรต่อไปอีก หมดสมมุติ หมดบัญญัติ หมดกิเลส หมดทุกข์ ด้วยประการทั้งปวง! จึงไม่ทรงแสดงอะไรต่อไปอีก เพราะถึงจุดที่มุ่งหมายอย่างเต็มที่แล้ว หรือเต็มภูมิของจิตของธรรมแล้ว

ในเวลาจะปรินิพพานทรงแสดงพระโอวาท เรียกว่า “ปัจฉิมโอวาท”ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเตือนท่านทั้งหลาย สังขารมีความเกิดขึ้นและดับไปตลอดเวลา ท่านทั้งหลายจงพิจารณาสังขารที่เจริญขึ้นแล้วเสื่อมไป หรือเกิดแล้วดับไป ด้วยความไม่ประมาทเถิด!”

เท่านั้น แล้วปิดพระโอษฐ์ไม่รับสั่งอะไรอีกต่อไปเลย

ในพระโอวาทที่เป็นขนาดนั้น “ปัจฉิมโอวาท” แล้ว เราจะถือหรือเข้าใจคำว่า“สังขาร” นี้เป็นสังขารประเภทใด โดยแยกออกเป็น สังขารภายนอกหรือสังขารภายในก็ได้ไม่ผิด
แต่ในขณะนั้นส่วนมากแน่ใจว่า มีแต่พระสงฆ์ผู้เป็นนักปฏิบัติที่มีภูมิจิตภูมิธรรมสูงทั้งนั้น นับแต่พระอรหันต์ลงมา ที่เข้าเฝ้าพระองค์ในขณะที่ประทาน “ปัจฉิมโอวาท” ในปัจฉิมยามนั้น
หลักใหญ่จึงคิดว่า พระองค์ประทานเพื่อสังขารภายในที่คิดปรุงอยู่ภายในจิต รบกวนจิตอยู่ตลอดเวลา ให้พิจารณาถึงความเกิดความดับแห่งสังขารอันนั้น ด้วยความไม่ประมาท คือพิจารณาด้วยสติปัญญาอยู่ตลอดเวลานั่นเอง สังขารอันนี้ครอบโลกธาตุ!

ถ้าเราจะแยกไปเป็น “สังขารภายนอก” ก็ได้ เช่น ต้นไม้ ภูเขา สัตว์ บุคคล ก็ได้ แต่ไม่เหมาะกับภูมิพระสงฆ์ที่สันนิบาตอยู่ในที่นั่น และไม่เหมาะกับกาลเวลาที่เป็นเวลาสุดท้ายของพระพุทธเจ้าที่จะปรินิพพาน แล้วประทานพระโอวาทอันเป็นยอดคำสอนในวาระสุดท้ายให้แก่พระสงฆ์ในขณะนั้น

โดย: kit007    เวลา: 2014-6-6 09:54
การแสดงปัจฉิมโอวาทเกี่ยวกับเรื่องสังขารในขณะที่จะปรินิพพานนั้น จึงควรหมายถึงสังขารที่ละเอียดที่สุดที่มีอยู่ภายในใจโดยเฉพาะ เมื่อทราบ “สังขารภายใน” นี้ชัดเจนแล้ว ทำไมจะไม่ทราบรากฐานของสังขารนี้ว่ามันเกิดขึ้นมาจากอะไร ก็ต้องหยั่งเข้าไปถึง ‘บ่อแห่งวัฏจักร” คือ “จิตอวิชชา” อันเป็นทางที่จะหยั่งเข้าในจุดสำคัญนั้น ผู้ที่อยู่ในภูมินั้นจะต้องทราบ ผู้ที่กำลังก้าวเข้าไปโดยลำดับลำดาที่ยังไม่ถึงภูมินั้นสนิท ก็ทราบชัดเจน เพราะกำลังพิจารณาอยู่แล้ว ซึ่งเป็นพระโอวาทในท่ามกลางเหตุการณ์อันสำคัญอย่างยิ่งด้วย

นี่คิดว่าเหมาะกับโอกาสและเวล่ำเวลาที่พระองค์ประทานพระโอวาท เพราะเหตุใด เพราะปกติของจิตที่ได้พิจารณา มีภูมิธรรมสูงขึ้นไปโดยลำดับแล้ว สังขารภายในคือความคิดปรุงต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการพิจารณา เพราะอันนี้แสดงอยู่ทั้งวันทั้งคืน และเป็นไปอยู่ทุกระยะภายในจิต จิตที่มีภูมิควรพิจารณาธรรมขั้นภายในแล้ว ก็ต้องถือเอาสังขารนั้นเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกันกับปัจฉิมโอวาทอย่างยิ่งทีเดียว

การที่จะ ‘คว่ำอวิชชา” ให้ล่มจมลงไปได้ ก็ต้องสืบทอดไปจากการพิจารณา“สังขารภายใน” เป็นสำคัญ พอกำหนดตามลงไป ๆ เข้าไปถึงรากเหง้าเค้ามูลของกิเลส และทำลายสังหารกันลงได้ หลังจากนั้นสังขารนี้ก็ไม่มีความหมายที่จะยังกิเลสให้เกิดอีก นอกจากนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในด้านอรรถธรรม ใช้คิดปรุงแต่งอรรถธรรมเพื่อประโยชน์แก่โลก การแสดงธรรมก็ต้องใช้สังขาร สังขารประเภทนี้ก็เลยกลายเป็นเครื่องมือของธรรมไป

สังขารที่เป็นเครื่องมือของ “อวิชชา” บังคับให้ใช้นั้น เป็นอันว่าเปลี่ยนตัวผู้ปกครองขันธ์ไปแล้ว กลายมาเป็นสังขารซึ่งเป็นเครื่องมือของธรรมไป คือเครื่องมือของใจที่บริสุทธิ์ ท่านนำสังขารนี้ออกแสดงธรรมแก่โลก ด้วยการปรุงอรรถปรุงธรรมต่างๆ ธรรมที่กล่าวมาทั้งนี้ไม่ได้มีอยู่ในครั้งพุทธกาล หรืออดีตที่ผ่านมาแล้ว ไม่ได้มีอยู่อนาคตที่ยังไม่มาถึงโดยถ่ายเดียว พอที่จะให้ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหมดหวัง แต่มีอยู่ในระหว่างขันธ์กับจิตของเราเอง หรืออยู่ในธาตุในขันธ์ในจิตใจของเรานี้ ไม่มีอยู่ที่อื่นใด นอกจากกายกับจิตของมนุษย์หญิงชาย ทั้งฝ่ายกิเลสทั้งฝ่ายมรรค ทั้งความบริสุทธิ์มีอยู่ที่ใจนี้ ไม่อยู่ที่กาลโน้นสมัยโน้น กับคนโน้นคนนี้ แต่อยู่กับผู้ปฏิบัติ ผู้มีสติปัญญาพิจารณาอยู่เวลานี้

เพราะเหตุไร เพราะว่าเราต่างคนต่างมุ่งต่ออรรถต่อธรรม มุ่งต่อความจริง เช่นเดียวกับธรรมของจริงที่ท่านแสดงไว้แล้วในสมัยนั้นๆ และเข้ากับหลักว่า “มัชฌิมา” เป็นศูนย์กลางเสมอ ไม่เอียงไปสมัยโน้น ไม่เอียงมาสมัยนี้ ไม่เอียงไปกาลโน้น สถานที่นี้ เป็นธรรมคงเส้นคงวา เพราะอยู่ในท่ามกลางแห่งธาตุแห่งขันธ์ของเรานี้ มัชฌิมา ท่ามกลางหรือเหมาะกับการแก้กิเลสอยู่ตลอดเวลา ขอจงปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรมนี้เถิด จะเห็นผลแห่ง “มัชฌิมา” อันเป็นธรรมเหมาะสมตลอดกาลสถานที่แสดงออก ดังกล่าวมาว่า ‘นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” จะไม่พ้นไปจากจิตดวงรู้ๆ นี้เลย จึงขอยุติเพียงเท่านี้  

http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1528&CatID=1

.....................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=45083






ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2