Baan Jompra
ชื่อกระทู้:
พระองค์ที่ ๕ : สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
[สั่งพิมพ์]
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:01
ชื่อกระทู้:
พระองค์ที่ ๕ : สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
พุทธศักราช ๒๓๖๕-๒๓๘๕
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร
แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
หัวข้อ
• พระประวัติในเบื้องต้น
• ประวัติและความสำคัญของวัดหงส์รัตนาราม
• ทรงย้ายจากวัดหงส์มาครองวัดสระเกศ
• ประวัติและความสำคัญของวัดสระเกศ
• สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
• พระกรณียกิจพิเศษ
• การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาครั้งสำคัญ
• จัดสมณทูตไทยไปลังกา
• ชำระความพระสงฆ์ครั้งใหญ่
• พระอวสานกาล
• ประวัติและความสำคัญของวัดราชาธิวาส
• วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
สถิตย์สถานของสมเด็จพระสังฆราช ๔ พระองค์
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:02
พระประวัติในเบื้องต้น
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
พระประวัติในเบื้องต้นมีความเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
ทราบแต่เพียงว่า ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๐๔
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ รัชกาลสุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา
เดิมจะได้เปรียญและเป็นพระราชาคณะตำแหน่งใดมาก่อนหรือไม่ ไม่ปรากฏหลักฐาน
กระทั่งมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงปรากฏหลักฐานว่าเป็นที่
พระเทพโมลี
อยู่วัดหงษ์
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่
พระพรหมมุนี
แล้วต่อมา ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นที่
พระพิมลธรรม
เมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๕๙
ในคราวเดียวกับที่ทรงตั้งสมเด็จพระพนรัตน (มี) เป็น
สมเด็จพระสังฆราช
ในราชทินนามว่า
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)
วัดหงส์รัตนาราม
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:03
ประวัติและความสำคัญของวัดหงส์รัตนาราม
“วัดหงษ์”
แต่เดิมมานั้นเรียกขานกันว่า วัดเจ๊สัวหงบ้าง วัดเจ้าสัวหงบ้าง
วัดเจ้าขรัวหงบ้าง ตามชื่อของคหบดีจีนที่เป็นผู้สร้างวัด
มาในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าฯ
ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม เนื่องจากเป็นพระอารามที่อยู่ติดกับพระราชวัง
และพระราชทานชื่อว่า
“วัดหงษ์อาวาสวิหาร”
จึงได้เป็นพระอารามหลวงและพระอารามสำคัญมาแต่ครั้งนั้น
จนมาในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
แต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ทรงปฏิสังขรณ์ จึงพระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า
“วัดหงษ์อาวาสบวรวิหาร”
เพราะเป็นพระอารามที่อยู่ใกล้กับพระราชวังเดิม
อันเป็นที่ประทับของสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ จึงได้พระราชทานเปลี่ยนนามอีกครั้งหนึ่งว่า
“วัดหงสาราม”
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง
เมื่อทรงปฏิสังขรณ์เสร็จบริบูรณ์แล้ว จึงพระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า
“วัดหงส์รัตนาราม”
ดังที่เรียกกันสืบมาจนปัจจุบัน
ปัจจุบัน วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่
กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ ๔๖ ไร่เศษ และมีที่ธรณีสงฆ์คือ
ที่จัดประโยชน์ให้ประชาชนเช่าปลูกที่อยู่อาศัย ติดกับวัดอีกประมาณ ๒๐ ไร่
ภายในวัดหงส์รัตนารามฯ มีโบราณสถานสำคัญภายในวัดที่น่าสนใจ
อาทิ พระอุโบสถในสมัยอยุธยา ภายในมีเสาอยู่ด้านข้างพระอุโบสถ ๒ ข้างสวยงามมาก
พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยอู่ทอง ปูนปั้นลงรักปิดทอง
ไม่มีพระนามสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยอยุธยา พระพุทธรูปหลวงพ่อแสน
เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์นวโลหะสวยงามเป็นพิเศษ
ตามประวัติ ได้มีการอัญเชิญมาจากเมืองเชียงแตง เมื่อพ.ศ.๒๔๐๑
นอกจากนี้แล้วยังมีสระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลึกประมาณ ๑.๕๐ เมตร
อยู่ทางทิศตะวันตกท้ายวัด ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หอพระไตรปิฎก
ตู้พระไตรปิฎก กุฏิไม้สักเก่า เป็นต้น นับเป็นวัดที่เก่าแก่
และเป็นที่พำนักจำพรรษาของสมเด็จพระสังฆราชถึง ๒ พระองค์
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:03
พระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม
ทรงย้ายจากวัดหงส์มาครองวัดสระเกศ
ต่อมา พ.ศ. ๒๓๖๒
สมเด็จพระสังฆราช (มี)
สิ้นพระชนม์
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชดำริจะทรงตั้ง
สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) วัดสระเกศ
เป็นสมเด็จพระสังฆราช
จึงโปรดเกล้าฯ ให้แห่ไปอยู่วัดมหาธาตุ เพื่อเตรียมการทรงตั้งต่อไป
และโปรดเกล้าฯ ให้
พระพิมลธรรม (ด่อน)
ย้ายจากวัดหงส์มาครองวัดสระเกศ
สืบต่อจาก
สมเด็จพระพนรัตน (อาจ
) ในปี พ.ศ. ๒๓๖๒ นั้น
สมเด็จพระพนรัตน (อาจ)
นั้นเมื่อแห่ไปอยู่วัดมหาธาตุได้ ๘ เดือน
ยังมิทันได้ทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็เกิดอธิกรณ์ขึ้นเสียก่อน
จึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอดเสียจากสมณฐานันดร แล้วให้ออกไปเสียจากวัดมหาธาตุฯ
จึงไปอยู่ที่วัดไทรทอง (บางที่เรียกว่า วัดแหลม)
ซึ่งเป็นวัดเบญจมบพิตรในบัดนี้ จนถึงมรณภาพ
ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๓๖๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อน
พระพิมลธรรม (ด่อน)
เป็น
สมเด็จพระพนรัตน
ในคราวเดียวกันกับที่ทรงตั้ง
สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม
เป็น
สมเด็จพระสังฆราช
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:04
พระรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:05
ประวัติและความสำคัญของวัดสระเกศ
วัดสระเกศ
หรือ
วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
เป็นวัดโบราณ เดิมเรียกชื่อว่า
“วัดสะแก”
มามีตำนานเนื่องในพงศาวดาร
เมื่อปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ พุทธศักราช ๒๓๒๕
ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร
ตั้งอยู่แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
ดังมีข้อความปรากฏตามตำนานว่าเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแต่สมัยโบราณ
สันนิษฐานว่าจะได้สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
เดิมมีชื่อว่า
“วัดสะแก”
เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นวัดสระเกศเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๑
เมื่อครั้งที่ได้สร้างกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก
ดังมีปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่า
พระประธานในพระอุโบสถวัดสระเกศ
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:06
เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๕ เบญจศก ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๖ นั้น
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดเกล้าฯ ให้
ลงมือก่อสร้างพระนคร รวมทั้งพระบรมมหาราชวัง และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ได้รวมผู้คนให้ขุดคลองรอบเมือง ตั้งแต่บางลำพูเรื่อยไปจนจดแม่น้ำ
ด้านใต้ตอนเหนือวัดจักรวรรดิราชาวาส
แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองหลอด และขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแกอีกคลองหนึ่ง
พระราชทานนามว่า คลองมหานาค เพื่อให้เป็นที่สำหรับชาวพระนคร
ได้ลงประชุมเล่นเพลง และสักวา ในเทศกาลฤดูน้ำเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา
และวัดสะแกนั้น เมื่อขุดคลองมหานาคแล้ว
จึงพระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า
“วัดสระเกศ”
และทรงปฏิสังขรณ์วัดสระเกศทั้งพระอาราม
ตั้งต้นแต่พระอุโบสถตลอดถึงเสนาสนะสงฆ์ และขุดคลองรอบวัดอีกด้วย
คำว่า
“สระเกศ”
นี้ตามรูปคำก็แปลว่าชำระหรือทำความสะอาดพระเกศานั่นเอง
เจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศ
มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงพระราชทาน เปลี่ยนชื่อ
วัดสะแก
เป็น
วัดสระเกศ
นี้
มีหลักฐานที่ควรอ้างถึงคือพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ข้อ ๑๑ ว่า
“รับสั่งพระโองการตรัสวัดสะแกเรียกวัดสระเกศ
แล้วบูรณะปฏิสังขรณ์ เห็นควรที่ต้นทางเสด็จพระนคร”
ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า
“ปฏิสังขรณ์วัดสะแก และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสระเกศ
เอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์ เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนคร”
มีคำเล่าๆ กันว่า เสด็จเข้าโขลนทวาร สรงพระมรุธาภิเษกตามประเพณี
กลับจากทางไกลที่ วัดสะแก จึงเปลี่ยนนามว่า
“วัดสระเกศ”
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:07
เจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในภูเขาทอง
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๖๕
ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย นี้
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา
สมเด็จพระพนรัตน (ด่อน)
ขึ้นเป็น
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช
เมื่อเดือน ๔ เดือนมีนาคม ปีมะแม ในศกนั้น แต่ไม่พบสำเนาประกาศสำเนาทรงตั้ง
เมื่อทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว
จึงโปรดเกล้าฯ ให้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
เช่นเดียวกับสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนๆ
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
และเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ สุดท้ายที่สถิต ณ วัดมหาธาตุ
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๒
และทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้ ๒ ปีเศษ ก็สิ้นรัชกาลที่ ๒
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:08
พระกรณียกิจพิเศษ
ในปลายรัชกาลที่ ๒
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจสำคัญคือทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์
ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์
ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมื่อวันอังคาร เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ตรงกับกับวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗
เมื่อทรงผนวชแล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดมหาธาตุ ๓ วัน
แล้วเสด็จไปประทับศึกษาวิปัสสนาธุระ ณ
วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส)
หลังจากทรงผนวชได้เพียง ๑๕ วัน
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็เสด็จสวรรคต
เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้เสด็จกลับมาประทับ ณ วัดมหาธาตุ
เพื่อทรงศึกษาภาษาบาลีต่อไป พระตำหนักอันเป็นที่ประทับของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชครั้งนั้น
คือตรงที่ปัจจุบันสร้างเป็นวิหารโพธิลังกา ซึ่งอยู่ทางมุมวัดมหาธาตุด้านทิศตะวันออก
หลังพระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทในบัดนี้
ภาพทรงศีล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
(หรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเถระ)
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:09
การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาครั้งสำคัญ
เนื่องมาจากการทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในสมัยของ
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
ครั้งนั้น
ได้ก่อให้เกิดการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ที่นับว่าสำคัญครั้งหนึ่ง
ในประวัติการณ์ของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยในเวลาต่อมา
กล่าวคือ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จกลับมาประทับทรงศึกษาพระปริยัติธรรม ณ
วัดมหาธาตุ
จนทรงรอบรู้ในภาษาบาลีและเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกแล้ว
ก็ทรงพิจารณาเห็นความบกพร่องในวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในยุคนั้น
ดังพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า
“ผลแห่งการที่ทรงศึกษาและพิจารณาทั่วถึงละเอียดเข้า
ก็ให้เกิดความสลดพระราชหฤทัยไปว่าวัตรปฏิบัติแลอาจาริยสมัย
ซึ่งได้นำสั่งสอนกันสืบๆ มานี้ เคลื่อนคลาดห่างเหิน แลหยาบหย่อนไปเป็นอันมาก
ดูประหนึ่งว่าจะมีรากเง่าเค้ามูลอันเน่าผุไปเสียแล้ว”
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:09
ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระราชดำริปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
ดังที่ได้ทรงศึกษาจากท่าน ผู้รู้และพิจารณาสอบสวนกับพระไตรปิฏก
ที่ได้ทรงศึกษาจนเชี่ยวชาญแตกฉาน โดยพระองค์เองทรงประพฤตินำขึ้นก่อน
แล้วภิกษุสามเณรอื่นๆ ที่นิยมเลื่อมใสก็ประพฤติตาม
ในระยะแรกที่ทรงพระราชดำริปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ดังกล่าวนั้น
ยังเสด็จประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ จึงทรงรู้สึกไม่สะดวกพระราชหฤทัย
เพราะวัดพระมหาธาตุเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช
ทั้งทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระองค์ด้วย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงย้ายไปประทับ
ณ
วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส)
อันเป็นวัดที่อยู่นอกกำแพงพระนคร
ทั้งนี้ก็คงเพราะความที่ทรงเคารพในสมเด็จพระสังฆราช
และเพื่อจะได้ไม่เป็นที่ขัดข้องพระทัยของสมเด็จพระสังฆราช
เกี่ยวกับการปฏิบัติของพระองค์นั่นเอง
เมื่อเสด็จไปประทับ
ณ วัดสมอราย
แล้ว ก็ทรงปรับปรุงแก้ไข
วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ตามแนวแห่งพระราชดำริได้สะดวกนั้น
กระทั่งมีผู้ปฏิบัติตามเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับจนกลายเป็นพระสงฆ์หมู่ใหญ่
ซึ่งได้รับการขนานนามในเวลาภายหลังต่อมาว่า
คณะธรรมยุติกนิกาย
หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า
พระสงฆ์ธรรมยุต
พระราชดำริในการปรับปรุงแก้ไขพระศาสนาของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มิได้จำกัดอยู่เฉพาะ
เรื่องวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการศึกษาพระปริยัติธรรม
และการเทศนาสั่งสอนพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัทด้วย
จึงนับเป็นช่วงแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญช่วงหนึ่งของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทะนุบำรุงพระศาสนา
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:10
จัดสมณทูตไทยไปลังกา
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
ทรงพระชนม์สืบมาถึงรัชกาลที่ ๓
และในปีสุดท้ายแห่งพระชนมชีพของ
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริเห็นพร้อมกันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งทรงผนวชอยู่และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร อยู่ในขณะนั้นว่า
การพระศาสนาในลังกาจะเป็นอย่างไร
ไม่ได้ไปสืบสวนให้ทราบความช้านานหลายปีมาแล้ว
อีกประการหนึ่ง หนังสือพระไตรปิฏกที่ฉบับของไทยยังบกพร่อง
ควรจะสอบสวนกับฉบับลังกามีอยู่หลายคัมภีร์
ถ้าแต่งพระภิกษุสงฆ์ไทยเป็นสมณทูตไปลังกาอีกสักครั้งหนึ่ง เห็นจะเป็นการดี
ทรงพระราชดำริเห็นพร้อมกันเช่นนี้
จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเลือกสรรพระภิกษุที่จะส่งไปลังกา
และมีสมณลิขิตไปถึงสังฆนายกตามพระราชประสงค์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกได้พระภิกษุสงฆ์ธรรมยุติกา ๕ รูป
พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรชาวลังกาอีก ๕ รูป
ซึ่งเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อ ๒ ปีก่อน
และเดินทางกลับบ้านเมืองของตนในคราวนี้ด้วยได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ
โดยเรือหลวง ชื่อจินดาดวงแก้ว เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๒ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีขาล
ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๘๕ สมณทูตชุดนี้เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ
ในเดือน ๖ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๘๖ พร้อมทั้งได้ยืมคัมภีร์พระไตรปิฎกมาด้วย ๔๐ คัมภีร์
ตามเรื่องราวที่ปรากฏแสดงว่า
การสมณทูตไทยไปลังกาครั้งนี้ยังประโยชน์แก่
พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นอย่างมาก
เพราะทำให้คณะสงฆ์ไทยมีโอกาสได้คัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกา
มาสอบสวนกับพระไตรปิฏกของไทยในส่วนที่บกพร่องสงสัย
ให้สมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนชาวไทย
ได้คัมภีร์พระไตรปิฎกที่เป็นหลักฐานสำคัญ
ของพระพุทธศาสนาครบถ้วนสมบูรณ์สืบมาดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:10
ชำระความพระสงฆ์ครั้งใหญ่
ในตอนปลายสมัยของ
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
นี้
ได้มีการชำระความพระสงฆ์ที่ประพฤติอนาจารครั้งใหญ่
ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้
“เมื่อ ณ เดือน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ เกิด
ชำระความพระสงฆ์ที่ประพฤติอนาจารมิควร
ได้ตัวชำระสึกเสียก็มาก ประมาณ ๕๐๐ เศษ ที่หนีไปก็มาก
พระราชาคณะเป็นปาราชิกก็หลายรูป”
นับเป็นการชำระสะสางอลัชชีในคณะสงฆ์ครั้งใหญ่ที่สุด
เท่าที่ปรากฏในประวัติการณ์ของคณะสงฆ์ ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
ทั้งเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของคณะสงฆ์ในยุคนั้น
ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึง
ความเอาพระทัยในการคณะสงฆ์ของ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอย่างจริงจัง
ที่ทรงอุตสาหะชำระสะสางการพระศาสนา
และการคณะสงฆ์ให้บริสุทธิบริบูรณ์อย่างเต็มพระกำลังสติปัญญาอยู่เสมอ
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:10
พระอวสานกาล
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลานานถึง ๑๙ ปี ๖ เดือน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๕ ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๘๕
ตรงกับวันศุกร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล ในรัชกาลที่ ๓
มีพระชนม์มายุได้ ๘๑ พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดเกล้าฯ ให้ทำเมรุผ้าขาวแล้วพระราชทานเพลิงพระศพ
เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ ตรงกับวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๖
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:11
ศาลาการเปรียญ วัดราชาธิวาส สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง
ประวัติและความสำคัญของวัดราชาธิวาส
วัดราชาธิวาส
หรือ
วัดราชาธิวาส ราชวรวิหาร
เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
เป็นวัดที่สร้างมานานแล้ว สันนิษฐานว่าสร้างสมัยกรุงละโว้
เดิมชื่อว่า
วัดสมอราย
รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชวิจารณ์ว่า
คำว่า
“สมอ”
นี้ มาจากภาษาเขมร ว่า
“ถมอ”
ที่แปลว่า
“หินถมอราย”
ซึ่งหมายถึง
“หินเรียงราย”
เมื่อรัชกาลที่ ๕ ขึ้นครองราชย์ ทรงปรารภว่า
วัดสมอรายเป็นที่ประทับระหว่างทรงผนวช
ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒)
และของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
จึงพระราชทานนามเสียใหม่ว่า วัดราชาธิวาสวิหาร ในจุลศักราช ๑๒๑๓
แต่ในนามเอกสารต่างๆ เรียกวัดนี้ว่า
วัดราชาธิวาส
ตลอดรัชกาลที่ ๔ และ ๕ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงอุปสมบท
แล้วเสด็จมาประทับที่วัดนี้ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
เมื่อทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์
ทรงผนวชแล้วก็เสด็จมาประทับด้วยพระองค์เอง
ซึ่งต่อมาภายหลังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี
พระเจ้ากรุงกัมพูชา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
และเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์
ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ หลังจากประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ
ทรงปฎิบัติอุปัชฌายวัตรตามพระวินัยแล้วก็เสด็จมาจำพรรษาที่วัดสมอราย
จนถึงสิ้นราชกาลที่ ๒ และยังประทับที่วัดนี้จนตลอดพรรษา
แล้วเสด็จประทับวัดมหาธาตุบ้าง วัดสมอรายบ้าง
จนถึง พ.ศ. ๒๓๗๒ จึงประทับที่วัดสมอรายเป็นการถาวร
โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ
ทรงทราบแล้วจึงรับสั่งให้ปลูกพระตำหนักถวาย
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:12
พระอุโบสถวัดราชาธิวาส
ออกแบบโดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ในรัชกาลที่ ๓ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ที่วัดนี้ด้วย
ได้มีการปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม เมื่อรัชกาลที่ ๔ ขึ้นครองราชย์ก็มีการปฏิสังขรณ์ต่อ
ครั้นต้นรัชกาลที่ ๕ ก็มีการปฏิสังขรณ์อีกใน ร.ศ. ๑๒๓
โปรดเกล้าๆ ให้รื้อและสร้างเสนาสนะขึ้นใหม่หลายสิ่ง คือ
พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ พระตำหนักพระจอมเกล้า หอสวดมนต์
ศาลาคู่หน้าพระอุโบสถ ปัจจุบันรื้อแล้ว
หมู่กุฏิจัดเป็น ๓ คณะ เขื่อนก่อด้วยอิฐ พระเจดีย์ดัดแปลงจากของ รั้วเสาหิน
เรียกว่าเสาอินทขีล ภูเขา และสระน้ำซึ่งถมระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๔๖๘
หลังจากนั้นก็มีการปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:12
พระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
สถิตย์สถานของสมเด็จพระสังฆราช ๔ พระองค์
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร
ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกชื่อว่า
“วัดมหาธาตุ”
เป็นวัดโบราณสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ
“วัดสลัก”
หรือ
“วัดฉลัก”
ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี
ได้สร้างพระนครขึ้นทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
วัดสลักอยู่ในพระนครด้านฝั่งตะวันออก
จึงเป็นพระอารามหลวงและเป็นที่พำนัก
ของพระราชาคณะมาตลอดสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ได้ย้ายพระนครข้ามฟากมาตั้งฝั่งตะวันออกฝ่ายเดียว
พระราชวังที่สร้างใหม่มีวัดอยู่ใกล้ชิด ๒ วัด คือ วัดโพธาราม
หรือวัดพระเชตุพนในปัจจุบัน อยู่ชิดพระบรมมหาราชวัง
ทางทิศใต้ของพระราชวังบวรสถานมงคล
(ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และโรงละครแห่งชาติ)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ได้สถาปนาวัดสลักขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๖ และได้ขนานนามว่า
“วัดนิพพานาราม”
ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงปรารภพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช
ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดนิพพานาราม
เพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่ระหว่างพระราชวังหลวงกับวังหน้า
สะดวกในการเสด็จทั้ง ๒ พระองค์ แต่ก่อนจะถึงกำหนดการทำสังคายนา
ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามวัดใหม่ว่า
“วัดพระศรีสรรเพชญดาราม”
อนึ่ง การทำสังคายนาพระไตรปิฎก ที่วัดพระศรีสรรเพชญาดารามครั้งนั้น
นับว่าเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ได้ปรารภเหตุที่คัมภีร์พระไตรปิฎกที่สร้างขึ้นเป็นฉบับหลวง
ยังวิปลาสคลาดเคลื่อนเป็นอันมาก
เนื่องจากหนังสือที่หามาเป็นต้นฉบับ เป็นหนังสือที่สร้างขึ้นตามหัวเมืองไม่ได้ฉบับดี
สมควรประชุมสงฆ์ตรวจชำระพระไตรปิฎกฉบับหลวงที่ได้สร้างไว้แล้วนั้นถูกต้อง
การสังคายนา เริ่มเมื่อเดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๓๑ ถึงกลางเดือน ๕ พ.ศ. ๒๓๓๒
เป็นเวลา ๕ เดือน จึงสำเร็จ
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆัง
ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นประธาน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเป็นองค์บรมราชูปถัมภก
ครั้นสังคายนาเสร็จแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกจำลองไว้เป็น
พระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้นใหม่ เรียกว่า
“ฉบับทองทึบ”
หรือ
“ฉบับทองใหญ่”
เก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานในหอพระพระมนเฑียรธรรม
วัดพระศรีรัตนศาสดารามจนถึงปัจจุบัน
โดย:
kit007
เวลา:
2014-6-4 08:14
พระประธาน ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๖ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ได้สวรรคต
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ
ให้ประชุมพระราชาคณะสอบไล่พระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร
ที่วัดพระศรีสรรเพชรญดาราม
ในโอกาสนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามวัดใหม่ขึ้นอีกครั้งเป็น
“วัดมหาธาตุ”
ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๓๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ทรงบริจาคพระราชทานทรัพย์อันเป็นส่วนของ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
ซึ่งสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๗ อุทิศพระราชทานให้ปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ
ให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นแล้ว แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มสร้อยต่อนามวัด
เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชนั้นว่า
“วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์”
ซึ่งใช้มาตราบจนทุกวันนี้
วัดมหาธาตุฯ นั้นเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช
ตั้งแต่องค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ถัดมาจากสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆัง ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๗
เป็นลำดับมาถึงรัชกาลที่ ๔ จำนวน ๔ พระองค์ คือ
สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๒
สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๓
สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) พระองค์ที่ ๔
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๕
พระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุ
ณ พระมณฑป วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
นอกจากนี้ วัดมหาธาตุยังเคยเป็นที่ประทับและศึกษาพระธรรมวินัย
ของสมเด็จบูรพมหากษัตริยาธิราชในอดีต เมื่อทรงผนวช
คือ ครั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
แล้วเสด็จมาประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ ๗ เดือน จึงทรงลาผนวช
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระชันษาครบอุปสมบท
จึงได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุสงฆ์
โดยมี
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากประทับแรมอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๑ คืนแล้ว
จึงได้เสด็จมาประทับอยู่ ณ
วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส)
เป็นเวลา ๑ ปี
แล้วเสด็จกลับมาประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุอีก ๕ ปี พ.ศ. ๒๔๓๗-๒๓๗๒
รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ :
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
http://www.dharma-gateway.com/
http://mahamakuta.inet.co.th/
http://www.watsrakesa.com/
กระทู้ในบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13297
...................................................................................
ที่มา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=44308
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/)
Powered by Discuz! X3.2