Baan Jompra

ชื่อกระทู้: หลวงพ่อทองคำ.. กฤดาภินิหารแห่งพระมหาธรรมราชา 'ภูมิพล' [สั่งพิมพ์]

โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 09:58
ชื่อกระทู้: หลวงพ่อทองคำ.. กฤดาภินิหารแห่งพระมหาธรรมราชา 'ภูมิพล'
หลวงพ่อทองคำ.. กฤดาภินิหารแห่งพระมหาธรรมราชา 'ภูมิพล'


พระสุโขทัยไตรมิตร หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า "หลวงพ่อทองคำ" มีนามพระราชทานว่า "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย สร้างด้วยทองคำ เป็นทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา  น้ำหนักประมาณห้าตันครึ่ง ปัจจุบัน ประดิษฐานอยู่ในพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา วัดไตรมิตรวิทยาราม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

ที่มา http://thaprajan.blogspot.com/2013/06/blog-post.html

โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 09:58
วัดมหาธาตุ สุโขทัย
สันนิษฐานว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัยโปรดให้ประชุมช่างหล่อขึ้น เมื่อสร้างเสร็จก็โปรดให้สร้างพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุขึ้นกลางกรุงสุโขทัย เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทอง ดังศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า"กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม"

โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 09:59
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นช่วงเวลาของการสร้างราชธานีใหม่  พระมหากษัตริย์ทรงฟื้นฟูบ้านเมืองและการพระศาสนา  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดในกรุงเทพมหานครมากมายหลายแห่ง  และอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณที่ถูกทิ้งร้างอยู่ตามหัวเมืองทางเหนือลงมาประดิษฐานตามวัดต่าง ๆ ในพระนครเป็นจำนวนมากนับพันองค์ เพื่อเป็นการรักษาพระพุทธรูปโบราณไม่ให้สูญหาย  และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ถือปฏิบัติด้วย  ซึ่งพระสุโขทัยไตรมิตร ก็คงได้รับการอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดพระยาไกรในครั้งที่พระยาไกรโกษาสร้างวัดนี้ขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (ครองราชย์ พ.ศ. 2367 - 2394)




พระยาไกรโกษาผู้สร้างวัดพระยาไกรนี้ สันนิษฐานว่าคือ เจ้าสัวบุญมา ข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ 3 ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐี  เมื่อสร้างวัดแล้วได้ถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า "วัดโชตนาราม" แต่ผู้คนนิยมเรียกว่า "วัดพระยาไกร" เนื่องจากต่อมาท่่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาไกรโกษา รับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 09:59
ส่วนของพระเศียร พระสุโขทัยไตรมิตร
ขณะที่ยังเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ไม่ได้สกัดปูนออก

พระสุโขทัยไตรมิตรที่อัญเชิญมาในครั้งนั้น มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ดูจากภายนอกไม่มีผู้ใดทราบว่าภายในได้ซ่อนพระพุทธรูปทองคำเอาไว้  สันนิษฐานว่า ปูนหุ้มองค์พระไว้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา (ขุนหลวงพ่องั่ว) ยกทัพขึ้นไปทำสงครามกับกรุงสุโขทัย ก่อนที่กรุงสุโขทัยจะตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ได้มีการปั้นปูนพอกพรางเอาไว้ ด้วยเกรงว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 จะอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำลงมากรุงศรีอยุธยา

โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:05


วัดพระยาไกร เมื่อครั้งเป็นที่ตั้งโรงเลื่อยจักรของบริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก

สำนักงานโรงเลื่อย ภายในพระวิหารวัดพระยาไกร

ท่าเรือขนส่งสินค้า บริเวณหน้าวัดพระยาไกร
เห็นหลังคาพระอุโบสถและพระวิหาร อยู่ด้านหลัง


โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:06
ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  (ครองราชย์ พ.ศ. 2411 - 2453) วัดพระยาไกรกลายเป็นวัดร้าง  บริษัทอีสต์เอเชียติ๊กของประเทศเดนมาร์ก ได้เช่าพื้นที่วัดจากทางราชการ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งโรงเลื่อยจักร

หลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดไผ่เงินโชตนาราม
เดิมประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระยาไกร
พระมงคลสุธี (สี ยโสธโร) ได้เลือก "หลวงพ่อสัมฤทธิ์"
มาประดิษฐาน ณ วัดไผ่เงินโชตนาราม ด้วยเหตุผลว่า ไม่ชำรุด
ในขณะที่องค์พระสุโขทัยไตรมิตรที่มีปูนหุ้มทับอยู่นั้น
มีรอยร้าวจากไหล่ถึงเอวไปถึงฐานราก
ต่อมาภายหลัง สิ่งก่อสร้างของวัดชำรุดทรุดโทรมลงมาก สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ เจ้าคณะแขวงล่าง จึงบัญชาให้วัดไผ่เงินโชตนารามกับวัดไตรมิตรวิทยาราม (ขณะนั้นชื่อวัดสามจีนใต้) ซึ่งเป็นวัดในการปกครองของท่าน ไปอัญเชิญพระพุทธรูปขนาดใหญ่ของวัดพระยาไกรซึ่งเหลืออยู่ 2 องค์มารักษา วัดไผ่เงินโชตนารามได้อัญเชิญพระพุทธรูปในพระอุโบสถซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริดไปก่อน วัดไตรมิตรวิทยารามจึงอัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารไปเมื่อ พ.ศ. 2478

โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:14
ภาพจำลองเหตุการณ์ การเคลื่อนย้ายพระพุทธรูป
จากวัดพระยาไกรมาวัดไตรมิตรวิทยาราม ใน พ.ศ. 2478
กระบวนอัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่เป็นไปด้วยความสะดวกเรียบร้อย บริษัทอีสต์เอเชียติ๊กจัดรถบรรทุกใหญ่ให้หนึ่งคัน ช่วยอัญเชิญพระขึ้นแล่นไปตามถนน ผ่านสายไฟฟ้ารถรางหรือสายโทรศัพท์ ก็ช่วยกันเอาไม้ค้ำให้สูงพ้นพระเกตุมาลาเป็นครั้งคราว

โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:14
วัดไตรมิตรวิทยาราม (วัดสามจีนใต้) ราวปี พ.ศ. 2489
วัดไตรมิตรวิทยาราม เดิมมีชื่อว่าวัดสามจีนใต้ สร้างขึ้นตั้งแต่ราว พ.ศ. 2374 มีตำนานเล่าว่าชาวจีน 3 คนร่วมกันสร้างขึ้น จีนสามคนนี้จะเป็นญาติกันหรือไม่ มิอาจทราบได้ แต่คงต้องเป็นมิตรรักใคร่กันสนิทสนม จึงร่วมใจกันสร้างวัดอันเป็นวิหารทานที่ยิ่งใหญ่นี้ได้

โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:15
พระพุทธทศพลญาณ
พระประธานในพระอุโบสถ วัดไตรมิตรวิทยาราม
เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง

มีพระพุทธลักษณะงดงามจนเป็นที่ร่ำลือ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
เคยเสด็จฯ ทอดพระเนตร เพื่อให้ประจักษ์แก่พระเนตร

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
ก็ได้เสด็จมาชมพระประธานองค์นี้เสมอ ๆ เมื่อทรงว่างจากพระภารกิจ
กาลเวลาผ่านไป สภาพภายในวัดชำรุดทรุดโทรมลงมาก จึงเริ่มดำเนินการบูรณะปรับปรุง ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 เมื่อครั้งพระมหากิ๊ม สุวรรณชาติ เป็นผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาส ในระยะแรกพบอุปสรรคหลายประการ ต่อมา ใน พ.ศ. 2480 จึงได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมทั้งหมดแล้วสร้างขึ้นใหม่  สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ ได้เมตตาคิดค้นนามที่เป็นมงคลมาเฉลิมเพิ่มความสง่าให้กับวัดสามจีนใต้ โดยเปลี่ยนเป็น "วัดไตรมิตรวิทยาราม" และกรมสามัญศึกษา ได้เปลี่ยนนามโรงเรียนมัธยมวัดสามจีนใต้ เป็น "โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย" ตามนามวัดที่ได้เปลี่ยนใหม่ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482

โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:15
พระกรุ วัดสามจีน เนื้อชิน
หลวงพ่อโม อดีตเจ้าอาวาส วัดไตรมิตรวิทยาราม ได้เคยสร้างแจก
โดยทำเป็นรูปพระพุทธทศพลญาณ พระประธานในพระอุโบสถวัดไตรมิตร

พระกรุวัดสามจีน มีลักษณะคล้ายพระกรุวัดเสาธงทอง
ต่างกันที่พระกรุวัดเสาธงทอง เป็นพระเนื้อดินเผา
แต่พระกรุวัดสามจีน เป็นพระเนื้อชินและเนื้อสำริด
พระกรุ วัดเสาธงทอง เนื้อดินเผา


โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:16
สภาพวัดไตรมิตรวิทยาราม เมื่อครั้งมีนามว่าวัดสามจีนใต้นั้น ในบริเวณวัดเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกโสโครก กุฏิหลายหลังเอียงกระเท่เร่ หอระฆัง ศาลา หอสวดมนต์ หอฉัน หอไตร ปลูกสลับซับซ้อน สูง ๆ ต่ำ ๆ ไม่เป็นระเบียบ ทั้งยังชำรุดทรุดโทรม เก่าคร่ำคร่า ยากที่จะซ่อมแซมแก้ไขให้ดีได้

ที่ของวัดมีผู้เช่าตัดตอนไปปลูกเป็นห้องแถวชั้นเดียวเตี้ย ๆ หลายแถวให้ผู้คนเช่าอาศัยอยู่ ห้องแถวเหล่านี้หลังคาและพื้นชำรุดทรุดโทรม มีน้ำโสโครกขังเฉอะแฉะ มีฝูงเป็ดและสุกรเที่ยวหาอาหารอยู่ระเกะระกะ มีอุจจาระและกลิ่นปัสสาวะตลบอบอวล ผู้เช่าที่มีอาชีพในการทำเส้นหมี่ ก็ตากเส้นหมี่ไว้หน้าห้องแถวเลอะเทอะ ที่มีอาชีพทำขนมก็ทิ้งเศษอาหารไว้เกลื่อน แมลงวันตอมเป็นหมู่ใหญ่  หญิงที่เ่ช่าห้องรวมกันอยู่หลาย ๆ คน มีท่าทางอันน่าสงสัยว่าซ่อนเร้นการกระทำอันผิดศีลธรรม ฯลฯ

ภาพถ่าย ย่านวงเวียนโอเดียนในอดีต
เมื่อแรกอัญเชิญพระสุโขทัยไตรมิตรมาอยู่ที่วัดสามจีนใต้หรือวัดไตรมิตรนั้น วัดยังอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ยังไม่ได้เริ่มการบูรณะปรับปรุง โบสถ์และวิหารก็เก่าแก่ ไม่เหมาะกับการประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่  จึงอัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นมาประดิษฐานอยู่ข้างพระเจดีย์ โดยปลูกเพิงสังกะีสีไว้พอกันแดดกันฝน


โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:20
พระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร)
อดีตเจ้าอาวาส วัดไตรมิตรวิทยาราม


พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) เล่าว่า ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธาธิบดี
เป็นพระเถระอีกรูปหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้วัดท่าซุงได้พัฒนาเจริญรุ่งเรืองมาถึงทุกวันนี้
ท่านเจ้าคุณมรณภาพ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2531
จากนั้นไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ระหว่างนี้ มีผู้มาขอพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้หลายราย รายหนึ่งมาเจรจาขอท่านไปเป็นพระประธานวัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ พระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระวีรธรรมมุนี เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรในขณะนั้นเห็นว่า พระประธานในวัดไตรมิตรก็มีแล้ว หากให้ท่านไปเป็นพระประธานวัดอื่น จะเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ก็อนุญาตให้ไป แต่สุดท้าย มีเหตุติดขัด ไม่สามารถอัญเชิญไปได้

บางรายมาขอ แต่ขาดแคลนค่าพาหนะ บางรายวางแผนที่จะอัญเชิญท่านไปทางรถไฟ แต่เมื่อวัดขนาดความกว้างความสูงขององค์พระพุทธรูปซึ่งเป็นปูนปั้น ก็พบว่าส่วนพระเกตุมาลาสูงกว่าสะพานรถไฟ อัญเชิญไปไม่ได้

รายสุดท้าย มีผู้มาติดต่อขอไปเป็นพระประธานวัดบ้านบึง (วัดบึงบวรสถิตย์) อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรีพระวีรธรรมมุนีก็อนุญาต แต่เมื่อตัวแทนของวัดบ้านบึงมาสำรวจดูองค์พระอีกครั้ง ก็ติว่าท่านไม่งาม ไม่สมที่จะเป็นพระประธาน จึงเปลี่ยนใจไม่รับไป


โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:21
วิหารทรงไทยจตุรมุข
สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร
ระหว่างปี พ.ศ. 2498 - 2551
พระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ จึงต้องกรำแดดกรำฝนอยู่ในเพิงสังกะสี ข้างพระเจดีย์วัดไตรมิตร ต่อไปอีกเป็นเวลาเกือบ 20 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2497 ทางวัดจึงเริ่มก่อสร้างพระวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปที่อัญเชิญมา เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นปูชนียวัตถุอันควรแก่การสักการบูชาของพุทธศาสนิกชน พระวิหารที่สร้างขึ้นนี้มี 2 ชั้น ชั้นบนตรงกลางเป็นอาคารทรงไทยจตุรมุข เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป

โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:21
พระเศียรของพระสุโขทัยไตรมิตรที่ยังมิได้สกัดปูนออก
วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 พระวีรธรรมมุนี พร้อมด้วยคณะกรรมการวัดไตรมิตรวิทยาราม ได้ทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ จากเพิงสังกะสีขึ้นประดิษฐานบนพระวิหารทรงไทยจตุรมุขที่สร้างขึ้นใหม่ ช่างได้ใช้เชือกโอบรอบองค์พระและสอดใต้ฐานทับเกษตร (ทับเกษตร หมายถึงส่วนบนของฐานที่รองรับพระพุทธรูปปางประทับนั่ง) รวบเืชือกเป็นสาแหรกขึ้นไปเบื้องพระเศียร ติดรอกและขอสำหรับกว้าน ดำเนินการตั้งแต่ฉันเพลแล้วจนกระทั่งพลบค่ำ ได้พยายามยกองค์พระพุทธรูปเพื่อขึ้นไปประดิษฐานบนพระวิหารอยู่หลายหน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ด้วยองค์พระมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการเคลื่อนย้ายก็ยังไม่ทันสมัย สุดท้าย ยกได้สูงเพียงฝ่ามือ เชือกก็ขาดสะบั้นลง องค์พระกระแทกกับพื้นอย่างแรงเสียงดังสนั่น ขณะนั้นเป็นเวลามืดค่ำแล้ว อีกทั้งฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก มีฟ้าคะนอง พระวีรธรรมมุนีเห็นว่าไม่สะดวก จึงให้ยุติไว้แต่เพียงนั้น ทำได้แค่เพียงเคลื่อนย้ายองค์พระมาใกล้พระวิหารเท่านั้น


โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:25




คืนวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 ฝนตกตลอดทั้งคืน ครั้นถึงเวลาใกล้รุ่ง ฝนเริ่มขาดเม็ด ท่านเจ้าคุณมีความเป็นห่วงเรื่องงานเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปปูนปั้นที่คั่งค้างอยู่ จึงเดินฝ่าละอองฝนมาสำรวจหน้างานเพื่อหาทางอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานให้สะดวกเรียบร้อย  เมื่อมาถึงก็พบว่า ปูนตรงพระอุระแตกกะเทาะลงมา เห็นรักปิดทองอยู่ชั้นหนึ่ง จึงให้พระภิกษุสามเณรช่วยกันกะเทาะปูนที่ิหุ้มองค์พระนั้นออก จึงเห็นเป็นทองตลอดทั้งองค์


โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:52




ในที่สุด พระพุทธรูปทองในศิลาจารึก ที่หายสาปสูญไปจากวัดมหาธาตุกลางกรุงสุโขทัย ด้วยถูกบดบังอยู่ใต้ปูนปั้นเป็นเวลานานหลายร้อยปี ผ่านราชธานีนับแต่สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี มาจนถึงรัตนโกสินทร์ ก็ได้ปรากฏโฉมอีกครั้ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พระมหาธรรมราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐยิ่ง  



โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:52
พระสุโขทัยไตรมิตร
เมื่อครั้งประดิษฐานบนวิหารทรงไทยจตุรมุข
เมื่อจะอัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานบนพระวิหารและเพื่อให้น้ำหนักในการยกน้อยลง จึงได้คุ้ยเอาดินใต้ฐานทับเกษตรออก ก็พบกุญแจกลสำหรับถอดองค์พระออกเป็นตอน ๆ ได้ 9 แห่ง เพื่อสะดวกในการถอดอัญเชิญขึ้นไปประิดิษฐาน จึงได้ถอดออกเพียง 4 ส่วนคือ พระศอ พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้าง พระนาภี สำหรับอีก 5 ส่วนนั้นไม่ได้ถอดออก คงรักษาไว้ให้อนุชนทั้งหลายได้ชมฝีมือช่างสมัยโบราณ กุญแจกลเหล่านี้ ผู้หล่อดั้งเดิมได้ใส่ทองคำสำรองมาให้ครบถ้วน รวมทั้งมุกที่ใส่พระเนตรด้วย


วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2498 นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้มาชมพระพุทธรูปทองคำที่วัดไตรมิตรวิทยาราม เมื่อพิจารณาแล้วจึงระบุว่า เนื้อทองคำที่สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ เป็น"ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา" ซึ่งมีค่าสูงยิ่ง

โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:52


คำเรียกเืนื้อทองดังกล่าว เรียกตามมาตรฐานของทองคำแบบไทยเดิม ที่กำหนดเรียกชนิดทองคำเป็นเนื้อต่าง ๆ เทียบกับมูลค่าของเงิน  ทองคำชนิดที่มีความบริสุทธิ์สูงสุด คือ ทองเนื้อเก้า หนัก 1 บาท มีค่าเท่ากับเงิน 9 บาท ส่วน "ขา" หมายถึงหนึ่งสลึง  ดังนั้น "ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา"  จึงหมายถึงทองคำชนิดที่หนัก 1 บาท มีค่าเท่ากับเงิน 7 บาท 2 สลึง  แต่ค่าของเงินเมื่อเทียบกับทองย่อมผันแปรไปตามยุคสมัย  ต่อมาคำเรียกทองคำเนื้อต่าง ๆ นี้ จึงไม่ได้แสดงถึงราคาเมื่อเทียบกับเงิน เป็นแต่เพียงแสดงค่าความบริสุทธิ์ของเนื้อทองคำเท่านั้น

ทั้งนี้ ทองคำบริสุทธิ์อย่างทองเนื้อเก้าจะมีความอ่อนตัวมาก ไม่สามารถหล่อเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ได้ โดยทั่วไปการหล่อพระพุทธรูปทองต้องใช้ทองเนื้อรองลงมา จึงจะมีความแข็งแกร่งเพียงพอ ซึ่งทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขาที่ใช้สร้างพระสุโขทัยไตรมิตรก็จัดเป็นทองคำที่มีความบริสุทธิ์สูง จึงเปล่งประกายความสุกปลั่งออกมาอย่างงดงาม


โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:53
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ยอดพระเกตุมาลา
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
เป็นประธานในพิธีสวมพระเกตุมาลา และสมโภชฉลองพระพุทธรูปทองคำ
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499
เมื่ออัญเชิญพระสุโขทัยไตรมิตรขึ้นไปประดิษฐานบนพระวิหารแล้ว วัดไตรมิตรวิทยารามได้จัดงานฉลองสมโภชในวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 ต่อมา พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามพระสุโขทัยไตรมิตรว่า "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร"


โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:53

พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือหลวงพ่อทองคำ ประดิษฐาน ณ วิหารทรงไทยจตุรมุขเป็นเวลายาวนานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498  สภาพอาคารได้ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา กอปรกับมีนักท่องเที่ยวมาสักการบูชาและชื่นชมความงดงามยิ่งใหญ่ของพระพุทธรูปทองคำเป็นจำนวนมาก สถานที่ประดิษฐานจึงคับแคบ

โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:53
พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปี พ.ศ. 2549 อันเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติ 60 ปี และทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาในปี พ.ศ. 2550 วัดไตรมิตรวิทยาราม ด้วยความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนและพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ได้จัดสร้างพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร

โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:54
พระบูชา หนึ่งในวัตถุมงคล
ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธา
ร่วมสมทบทุนโครงการจัดสร้างพระมหามณฑป
ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร
วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงประกอบพิธีถอดพระเกตุมาลาพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ซึ่งถือเป็นมหามงคลอุดมปฐมฤกษ์แห่งการเคลื่อนย้ายองค์พระจากพระวิหารหลังเดิม สู่พระมหามณฑป ที่ประดิษฐานแห่งใหม่

โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:54


วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เวลา 09:09 น. ได้จัดพิธีเคลื่อนย้ายองค์พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร จากพระวิหารหลังเดิม สู่พระมหามณฑป ที่ประดิษฐานแห่งใหม่ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เป็นประธานในพิธี



โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:55



วันที่ 24 ธันวาคม  พ.ศ. 2552 เวลา 14:09 น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงประกอบพิธีสวมพระเกตุมาลาพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ในพิธีสมโภชพระมหามณฑปฯ ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม

พิธีสมโภชพระมหามณฑป จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ถึงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 รวม 9 วัน



โดย: Metha    เวลา: 2014-5-31 10:55


วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงยกฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ที่ประดิษฐาน ณ พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติฯ วัดไตรมิตรวิทยาราม  เป็นฉัตร 5 ชั้น มีความสูงจากกำพูถึงยอดฉัตร 3 เมตร 31 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางระบายฉัตร 2 เมตร

เป็นฉัตรเหนือพระพุทธปฏิมากรที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพื่อเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554


อ้างอิง        -  พระพุทธรูปสำคัญ กรมศิลปากร
                  -  ประวัติและผลงานของพระวิสุทธาธิบดี
                  -  ประวัติพระพุทธรูปทอง โดย ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์
                  -  ส่วนนิทรรศการพระพุทธรูปทองคำ วัดไตรมิตรวิทยาราม


โดย: oustayutt    เวลา: 2014-5-31 21:22
ขอบคุณครับ




ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2