Baan Jompra

ชื่อกระทู้: ประเพณีทานข้าวจี่-ข้าวหลาม ทางภาคเหนือ [สั่งพิมพ์]

โดย: kit007    เวลา: 2014-5-15 16:15
ชื่อกระทู้: ประเพณีทานข้าวจี่-ข้าวหลาม ทางภาคเหนือ
ประเพณีทานข้าวจี่-ข้าวหลาม







วันเพ็ญเดือน 4 เหนือ เดือน ยี่ ใต้ คือ เดือนมกราคม เป็นเดือนที่ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้วนำไปใส่ยุ้งฉาง ชาวล้านนาไทยนิยมทำบุญทำทานก่อนที่ตัวเองจะบริโภค เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่เทพยดา มีแม่โพสพ เป็นต้น ให้ช่วยคุ้มครองดูแลข้าวเปลือกในยุ้งฉางหลองข้าวของตน มิให้สิ่งอื่นใดมารบกวน ทำให้การกินข้างเปลือกหมดเร็ว การทำบุญทานข้าวจี่เข้าหลาม มีการทำดังนี้ การเตรียมข้าวจี่ ในสมัยโบราณชาวล้านนาไทยนิยมการทำอาหารให้สุกด้วยการจี่ การเผา การปิ้ง การย่าง เป็นส่วนมาก ไม่ใช่การทอดอย่างในปัจจุบัน ดังนั้นคนในสมัยโบราณจึงมีอายุยืนเพราะไม่มีไขมันอุดตันเส้นเลือดอย่างคน สมัยปัจจุบัน การทำบุญข้าวจี่-ข้าวหลามมีการเตรียม คือ

โดย: kit007    เวลา: 2014-5-15 16:16
ผู้ที่จะถวายเข้าจี่ต้องเตรียมนึ่งข้าวเหนียวให้สุก แล้วเตรียมถ่านไฟจากเตา พัดวีจนลุกโชนแล้ว ข้าวสุกปั้นเป็นกลม ๆ ใช้ไม้ไผ่เหลาให้เป็นแผ่นบางเสียบเข้าไป แล้วนำเข้าจี่ที่ถ่านไฟแดง ๆ พลิกไปพลิกมาให้มีผิวเหลืองกรอบน่ากิน บางรายต้องการให้ไหม้เสียบ้าง ชอบรับประทาน ถือว่าอร่อยกว่าการจี่แบบสุกเหลืองกรอบ เพราะมีกลิ่นหอมกว่า สิ่งนี้แล้วแต่ความพอใจของบุคคล
    บางรายเวลาจี่จะบี้เข้าปั้นให้มี รูปบ้านหรือแบน ๆ เพื่อสะดวกในการจี่ และนิยมทาน้ำผึ้ง น้ำอ้อย บางรายทาน้ำกะทิข้นให้ซึมเข้าไปในข้าวจี่ เมื่อจี่จนกรอบตามต้องการแล้ว นำมาใส่จานหรือภาชนะพื่อนำไปถวายพระในวันเดือน 4 เพ็ญ
    การจี่ข้าว เย็น คือข้าวที่นึ่งนานแล้ว จะรับประทานอย่างธรรมดาก็จืดชืดแข็งไม่อร่อย ชาวบ้านจึงนิยมเอาข้าวมาปั้นเสียบด้วยไม้จี่ไฟ แจกกันกินอร่อยกว่ารับประทานข้าวเย็นธรรมดา การจี่ข้าวแบบนี้หากจะพิจารณากันในแง่การกินแล้ว ได้ 2 ลักษณะ คือเป็นอาหารคาวใช้รับประทานกับแกง และใช้เป็นอาหารหวาน เพราะข้าวจี่มีรสหวาน มันกรอบ เพราะทาน้ำผึ้ง น้ำอ้อย อร่อยนัก ชาวบ้านในชนบทของไทยไม่พิถีพิถันเรื่องอาหาร การได้กินข้าวจี่จึงเป็นเครื่องแทนขนมหวานได้เป็นอย่างดี เพราะทำง่ายและวัสดุก็มีอยู่แล้วการทำบุญข้าวจี่นี้ นิยมทำกันกลุ่มประชาชนที่รับประทาานข้าวนึ่งเป็นอาหารหลัก คือไทยในล้านนา ไทยภาคอีสาน และประเทศลาว สำหรับไทยภาคกลางปัจจุบันนิยมรับประทานข้าวตัง คือ ข้าวติดก้นกะทะ หรือก้นหม้อหุงข้าวนำมาทอดให้กรอบ การรับประทานข้าวจี่และข้าวตัง จึงเป็นการสงวนอาหารไว้เป็นอย่างดี จึงนิยมกันสืบมาจนทุกวันนี้
    การทำข้าวหลาม คือ การนำข้าวสารเหนียวใส่กระบอกไม้ไผ่ ใส่น้ำแช่ไว้นานประมาณ 1 คืน หรือประมาณ 6 ชั่วโมงแล้วนำมาเผาไฟจนสุก

การทำบุญข้าวจี่-ข้าวหลาม 2 วิธี

    การเตรียมข้าวจี่ ข้าวหลาม และอาหารคาวหวานไปถวายพระสงฆ์ในตอนเช้า ขอท่านให้พรหรือล้านนาเรียกว่า “ปันพร” นั้น ชาวล้านนาจะนิยมถวายทุกบ้านเรือน เมื่อทำบุญข้าวใหม่เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่บุพการีของตน
    การ ขึ้นวัดหรือขึ้นวิหาร หลังจากการนำเอาขันข้าวไปถวายพระภิกษุเพื่ออุทิศบุญกุศลแด่บรรพชนแล้ว ศรัทธาประชาชนประจำวัดจะนำเอาข้าวจี่ข้าวหลาม อาหารอีกส่วนหนึ่งนำขึ้นไปรวมกันบนวิหาร ซึ่งจะมีพิธีกรรมต่อไปนี้
        นำดอกไม้ใส่พานไปใส่ขันแก้วทั้ง 3
        เอาข้าวใส่บาตร พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
        เอาอาหารใส่ในถาดที่เตรียมไว้
        เอาน้ำหยาดหรือน้ำทักขิณา ใส่รวมกันในน้ำต้นหรือคนโทของวัด สำหรับกรวดน้ำร่วมกัน
        ใส่ดอกไม้ในพานขอศีล เรียก “ขันขอศีล”
        ใส่พานดอกไม้ในพานถวายไทยทาน (ขันนำทาน)

    เมื่อพระสงฆ์ขึ้นพร้อมกันบนวิหาร ปู่อาจารย์หรือมัคนายกจะขอศีลกล่าวคำถวายแล้วนำอาหารบิณฑบาต ข้าวจี่ข้าวหลามถวาย พระสงฆ์อนุโมทนา หลังจากพระสงฆ์ให้พระแล้ว ศรัทธาประชาชนจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพชนและขอขมาพระรัตนตรัยแล้วก็ กลับบ้าน

คุณของการถวายข้าวจี่ ข้าวหลาม

    ทำให้มีความสุข เบิกบานใจที่ได้ทำบุญด้วยน้ำพักน้ำแรงตน
    ทำให้มีโอกาสแสดงกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนและเทพยดา
    ทำให้มีการปฏิบัติตามจารีตประเพณี
    เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานเยาวชน
    เป็นโอกาสที่ได้สังสรรค์กับเพื่อนบ้าน
    ทำให้เกิดความรักความผูกพันกับเพื่อนบ้าน
    เป็นการบำรุงพระศาสนาอันเป็นที่เคารพสักการะของตน


ที่มา : http://www.lanna-arch.net/?p=226                                                                                       

.............................................................................

ที่มา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=46045






ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2