Baan Jompra

ชื่อกระทู้: ความหมายของ ธูป เทียน ดอกไม้ [สั่งพิมพ์]

โดย: kit007    เวลา: 2014-5-14 07:34
ชื่อกระทู้: ความหมายของ ธูป เทียน ดอกไม้


ความหมายของ  ธูป  เทียน  ดอกไม้   

เครื่องบูชาสักการะพระรัตนตรัยที่ชาวพุทธทั้งหลายได้เอามาบูชานั้น  ล้วนแต่มีความหมายและแฝงไว้ซึ่งปรัชญา  แต่ชาวพุทธอีกจำนวนมากไม่ทราบเลยว่า  ทำไมจึงต้องมีสิ่งเหล่านี้  และมีไว้เพื่ออะไร  ดังนั้น  ผู้เขียนจึงขอเข้าเรื่อง  “ความหมายเครื่องบูชาบนโต๊ะหมู่”  เพื่อความเข้าใจอันดีและถูกต้องตามความหมาย  จึงใคร่ขอนำมาเสนอแนะดังต่อไปนี้

       ธูป   สำหรับบูชาพระพุทธเจ้า  นิยมจุดครั้งละ  ๓  ดอก  หมายความว่า  พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนั้น  พระองค์มีพระคุณมากมายสุดที่พรรณนาได้  แต่เมื่อจะย่อลงให้น้อยที่สุดก็เหลือเพียง  ๓  ประการ  คือ  

๑.  พระปัญญาคุณ  
๒.  พระบริสุทธิคุณ  
๓.  พระมหากรุณาธิคุณ

      ธูปที่บูชาบนโต๊ะหมู่  จึงหมายถึงพระคุณทั้ง  ๓  ประการนี้  บรรดากลิ่นหอมทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก  ส่วนใหญ่เป็นกลิ่นที่ยั่วยุกามารมณ์ให้กำเริบ  กลิ่นธูปเป็นกลิ่นที่น่าอัศจรรย์  คือเป็นกลิ่นหอมและกลิ่นอันสามารถทำจิตใจให้สงบได้  แต่กลิ่นของศีลนั้น  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า  เป็นกลิ่นที่ทวนลมและเป็นกลิ่นตามลม  ที่เหล่าเทพยดาทั้งหลายทรงสรรเสริญและยกย่อง  แม้พระองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานกว่า ๒,๕๐๐ ปีเศษ  กลิ่นแห่งศีลของพระองค์ก็ยังตรึงใจของเหล่าชาวพุทธอยู่ตลอดเวลา


โดย: kit007    เวลา: 2014-5-14 07:35

เทียน   เทียนที่นิยมใช้จุดบูชานั้น  มี  ๒  เล่ม  เป็นอย่างน้อย  หมายความว่า  บรรดาคำสอนที่เป็น  “สัตถุศาสน์”  คือ  คำสอนของพระพุทธเจ้า  เมื่อแยกประเภทออกแล้วมีอยู่  ๒  ประเภทด้วยกัน  คือ

๑.   พระวินัย   สำหรับฝึกหัดกาย  วาจา  ให้เรียบร้อย
๒.  พระธรรม  สำหรับฝึกใจให้สงบเพื่อจะได้พบความสุข

      ดังนั้น  เทียน  ๒ เล่ม  จึงเป็นเครื่องหมายถึงพระธรรมวินัย  หรือที่เราเข้าใจกันว่า  ศีลธรรมนั่นเอง  จะเป็นศีล  ๕,  ศีล  ๘,  ศีล  ๑๐,  ศีล  ๒๒๗,  ศีล  ๓๑๑  ก็ตาม  ล้วนแต่อยู่ในความหมายนี้  และอีกอย่างหนึ่ง เทียนนี้ท่านผู้รู้ได้เปรียบเหมือนมารดาและบิดาผู้ให้กำเนิดแก่บุตรธิดา  เพราะเทียนนั้นเมื่อจุดแล้วให้แสงสว่างแก่ผู้จุด  แต่เทียนนั้นก็ค่อย ๆ  หมดไปเหมือนมารดาและบิดาผู้เลี้ยงดูบุตรธิดาให้เติบโต  และให้ได้รับการศึกษาวิชาความต่าง ๆ  ส่วนสภาพ ร่างกายนั้นก็เหี่ยวแห้งลงตามลำดับ  ฉันใด  เทียนที่จุดแล้วให้ความแสงสว่าง  และตัวเองก็ค่อย ๆ  หมดไปฉันนั้น
        
พระธรรมไม่ว่าจะเป็นธรรมขั้นพื้นฐาน  ขั้นกลาง  หรือขั้นสูงสุด  ก็รวมอยู่ในความหมายนี้เช่นกัน  ผู้ที่จุดเทียนในที่มืดไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม  ย่อมจะทำที่นั้นให้สว่าง  สามารถมองเห็นทางเดินได้อย่างชัดเจน  ฉันใด  พระธรรมและพระวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ฉันนั้น  ผู้ใดทำให้เกิดมีขึ้นในใจมากเท่าใด  ก็จะเป็นแสงประทีปนำทางของผู้นั้นให้ได้พบความสว่างและความสงบ  มีปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างที่ไม่เคยมีปัญญาใด ๆ  ในโลกจะมาเทียบได้

       ดังนั้น  การบูชาทุกครั้งจึงต้องจุดเทียนก่อนเสมอ  เพื่อแสดงให้เห็นว่าศีลทุกคนจะต้องรักษาเพื่อดัด กาย  วาจา  ของตนให้ละเอียดประณีตขึ้น  และธรรมทุกคนจะต้องประพฤติเพื่อความอยู่เป็นสุขใจสังคมมนุษย์  อย่างน้อยที่สุดต้องมีความรักความเอ็นดู  ความสงสาร  และการไม่เบียดเบียนกันและกัน  โลกจึงจะสงบสุข  พบกับสันติภาพ



โดย: kit007    เวลา: 2014-5-14 07:37
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2014-5-14 07:38


ดอกไม้  การนำดอกไม้มาบูชานั้นมีความหมายว่า  อันธรรมดาว่าดอกไม้นานาพันธุ์ที่เกิดอยู่ตามธรรมชาติ  ย่อมมีความสวยงามตามสมควรแก่สภาพของมัน  แต่พอบุคคลนำมากองไว้ปะปนกัน  โดยมิได้จัดให้มีระเบียบ  ย่อมไม่สวยงามไม่น่าดูไม่น่าชม  แต่ถ้านายมาลาการคือช่างดอกไม้  นำมาร้อยจัดสรรให้เป็นระเบียบเสียบไว้ในแจกัน  หรือใส่พานประดับแต่งให้มีระเบียบแล้ว  ย่อมจะแลดูสวยงาม  น่าดู  น่าชม  ข้อนี้ฉันใด  เหล่าพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์  คราวที่ท่านอยู่ครองฆราวาส  มีกิริยามารยาท  ทางกาย  วาจาและใจงามเหมาะสมตามควรแก่ตระกูลของตน  หยาบบ้าง  ประณีตบ้าง  ละเอียดบ้างอันไม่เท่ากัน  แบ่งชั้นวรรณะกันไปตามตระกูลวงศ์  มีอัธยาศัยต่าง ๆ  กันไป  เมื่อมีศรัทธาเลื่อมใสเข้ามาบวชรวมกันอยู่  ถ้าไม่มีระเบียบข้อวัตรปฏิบัติให้เป็นอันเดียวกันก็ไม่ต่างอะไรกับดอกไม้ที่ นำมากองไว้  ไม่มีระเบียบ  ไม่น่าเลื่อมใส  ไม่น่าเคารพบูชาแก่ผู้ที่พบเห็น  ครั้นพระพุทธเจ้าผู้เป็นเสมือนนายช่างดอกไม้ผู้ฉลาด  พระองค์ได้ทรงวางระเบียบปฏิบัติคือ  พระธรรมและพระวินัยไว้เป็นแบบแผนปฏิบัติ  จัดสรรพระสงฆ์สาวกเหล่านั้น ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในระเบียบเดียวกัน จึงเกิดมีระเบียบเรียบร้อย น่าเคารพ  น่าเลื่อมใสศรัทธาแก่บรรดาผู้ที่ได้พบเห็นฉันนั้น

          ดอกไม้ที่เลือกสรรมาบูชานั้น  ชาวพุทธส่วนมากนิยมนำดอกไม้ที่มีคุณลักษณะที่ดีงามมาบูชา  คือ  เป็นดอกไม้ที่กำลังแรกแย้ม  มีกลิ่นหอม  และมีสีสวยสด  ไม่นิยมนำดอกไม้เหี่ยวแห้งมาบูชาหรือดอกไม้  ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์  เช่นดอกไม้ที่ทำด้วยพลาสติกเป็นต้น  เพราะเชื่อกันว่าผู้บูชาด้วยดอกไม้ที่มีสีสวยมีกลิ่นหอม  และเป็นดอกไม้แรกแย้มแล้ว  เมื่อคราวจะได้อะไร  ก็จะได้แต่ของที่ใหม่สดเสมอ  ไม่เป็นมือสองรองจากใคร  ดุจตาชูชกผู้มีอายุแก่คราวปู่ได้นางอมิตตา  ซึ่งเป็นสาวแรกรุ่นมาเป็นเมีย  ส่วนผู้ที่บูชาด้วยดอกไม้ ที่เหี่ยวแห้ง  เช่นดอกไม้ที่ทำด้วยสิ่งประดิษฐ์ด้วยพลาสติก  อาจมีสีสวยแต่ไม่มีกลิ่นหอม  เข้าทำนองที่ว่าสวยแต่รูปจูบไม่หอม  ผู้นั้นเวลาจะได้อะไรก็มักจะได้ของที่ไม่ดี  ไม่สวยเป็นที่พอใจ  ตัวอย่างนางอมิตตาได้ตาชูชก  ซึ่งแก่คราวปู่มาเป็นสามี

         อย่างไรก็ตาม  การบูชาด้วยดอกไม้นั้นนิยมนำดอกบัวตูมมาถวายพระหรือบูชาพระ  เพราะลักษณะคล้ายรูปหัวใจ  มีความหมายว่า  ดอกบัวนั้น  มีถิ่นกำเนิดในเปลือกตมไม่สะอาดแต่พอพ้นน้ำแล้วบาน สะพรั่งสวยงามเปรียบได้กับพระสงฆ์สาวกที่ออกจากเปลือกตม  คือ  กิเลส เบ่งบานด้วยรสพระธรรม  ตัดความอาลัยคือ  กามคุณห้าได้แล้ว เป็นพระอริยบุคคล  (การบูชาด้วยดอกบัวนั้น  จะให้มีความหมายที่ถูกต้องแล้วต้องบูชาให้ครบ  ๘  ดอก  ซึ่งหมายถึง  พระอริยบุคคล  ๘  จำพวก  มีพระโสดาบันเป็นต้น)

สรุปได้ความว่า  ธูป  ๓  ดอกที่จุดบูชานั้น  หมายถึง พระพุทธคุณทั้ง  ๓  ประการ คือ

๑.   พระปัญญาคุณ  (ปัญญารู้แจ้งเห็นจริงด้วยพระองค์เองโดยไม่มีใครสอน)
๒.  พระบริสุทธิคุณ  (ความบริสุทธิ์หมดจด สิ้นราคะ  โทสะ  และโมหะ)
๓.  พระมหากรุณาธิคุณ  (มีเมตตาสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามความเป็นจริง)

เทียน  ๒  เล่ม  หมายถึง จุดเพื่อบูชาคุณของศีลและธรรม  ซึ่งเป็นคำสอนของพระบรมศาสดาที่พระองค์ทรงค้นพบด้วยปัญญาของพระองค์เอง

๑.   เทียนเล่มซ้ายมือผู้จุด  หมายถึง พระวินัยคือศีลทั้งหมด
๒.  เทียนเล่มขวามือผู้จุด  หมายถึง พระธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบแล้ว
ทรงสั่งสอนหมู่มนุษย์และเทวดาให้มีจิตใจอ่อนโยน

       เวลาจุดเทียนต้องจุดเล่มซ้ายมือของเราก่อน  เพราะหมายถึงศีลซึ่งกำจัดกิเลสอย่างหยาบ  ปรกติเมื่อจะทำบุญใด ๆ  (ทำความดี)  ก็ตามจะต้องรับศีล

       การจุดเทียนเล่มขวามือของเรานั้น  หมายถึง พระธรรมอันเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด  และรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมมิให้ตกไปทางที่ชั่ว

       ดอกไม้ที่นำมาบูชาพระบนโต๊ะหมู่นั้น  หมายถึง  พระสงฆ์ที่ท่านออกจากบ้านเรือนมาบวชแล้วตั้งอยู่ในศีลธรรม  ทั้งที่เป็นพระอริยสงฆ์  และพระกัลยาณะ  สมมติสงฆ์  เมื่อเราทราบความหมายดังนี้แล้ว  จึงควรที่เราทั้งหลายมาช่วยกันรักษาและกราบไหว้ให้ถูกต้อง  และสั่งสอนบุตรหลานทั้งหลายให้เขาเข้าใจในความหมายเหล่านี้  เมื่อเขาเข้าใจดีแล้วก็จะได้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยาวนานสืบต่อไป


    


กราบขอบพระคุณที่มา  ::  http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=12412

ขอบคุณที่มา  ::
http://www.cosmicnirvana.com/home/modul ... php?id=360
http://www.watgiessen.com/index.php?lay ... 93&Ntype=6


                                                                                        ...........................................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewforum.php?f=23






ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2