Baan Jompra

ชื่อกระทู้: หลวงพ่อโต หรือ “พระพุทธมหามุนี” วัดมหาพุทธาราม จ.ศรีสะเกษ [สั่งพิมพ์]

โดย: kit007    เวลา: 2014-4-27 07:15
ชื่อกระทู้: หลวงพ่อโต หรือ “พระพุทธมหามุนี” วัดมหาพุทธาราม จ.ศรีสะเกษ



หลวงพ่อโต หรือ “พระพุทธมหามุนี”
พระประธานในพระวิหารหลวงพ่อโต วัดมหาพุทธาราม (วัดพระโต)
พระอารามหลวง บ้านเมืองเหนือ ต.เมืองเหนือ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ


หลวงพ่อโต หรือ “พระพุทธมหามุนี” ปัจจุบันได้ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวงพ่อโต วัดมหาพุทธาราม (วัดพระโต) พระอารามหลวง บ้านเมืองเหนือ ต.เมืองเหนือ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ในตำนานเมืองศรีสะเกษเล่าว่า มีการค้นพบหลวงพ่อโตในสมัยสร้างเมืองใหม่ที่ “ดงไฮสามขา” หลวงพ่อโตที่พบมีสภาพเป็นตุ๊กตาหิน ขนาดเท่าแทน แต่พอไปวัดโดยการโอบด้วยแขนกลับขยายใหญ่ขึ้นจนโอบไม่หุ้ม ดังตำนานเล่าว่า ที่ตั้งวัดพระโต มีป่าเครือมะยางร่มครื้มหนาแน่น ในขณะที่ถางป่านั้นได้พบตุ๊กตาหินรูปหนึ่ง มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูป เล่ากันว่า ตุ๊กตาหินองค์นี้มีอภินิหารเป็นพิเศษ คือเมื่อมองดูจะเห็นเป็นรูปเล็กๆ เท่าแขนคนธรรมดา แต่พอเข้าไปกอดเข้ากลับโอบไม่รอบ พวกราษฎรพากันฉงนยิ่งนัก จึงพากันไปบอกอาจารย์ศรีธรรมา ผู้เป็นใหญ่ เมื่อรู้ว่าเป็นจริงก็เลยทำพิธีสมโภชกันขนานใหญ่ และขนานนามตุ๊กตาหินองค์นี้ว่า “พระโต” ซึ่งต่อมาได้นำอิฐหรือปูนสร้างเสริมให้ใหญ่จริงๆ ดังที่เห็นกันในปัจจุบัน (จากวัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ หน้า ๑๕๖)

แต่ตำนานที่ค่อนข้างสอดคล้องกับประวัติศาสตร์เมืองศรีสะเกษ จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางเล่ากันว่า หลวงพ่อโตองค์จริงนั้น ถูกหุ้มอยู่ข้างใน เป็นพระพุทธรูปหินดำเกลี้ยง (บางแห่งว่าหินเขียว บางแห่งว่าหินแดง) ปางมารวิชัย (ปางสะดุ้งมาร) เดิมมีหน้าตักกว้างยาว ๒.๕๐ เมตร ต่อมากลัวว่าพวกมิจฉาชีพจะทำให้เสียหาย จึงมีผู้ศรัทธาหุ้มเสริมองค์จริงเข้าไปหลายครั้ง จนถึงปัจจุบันนี้ มีขนาดหน้าตัก ๓.๕๐ เมตร ความสูงตั้งแต่พระเกศาลงมา ๖.๘๕ เมตร เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๙ ได้มีการสร้างวิหารใหญ่ครอบซึ่งมีความกว้าง ๑๔.๐๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

สรุปได้ว่า มีการค้นพบหลวงพ่อโต เมื่อพระยาวิเศษภักดี (ชม) ย้ายเมืองมาตั้งใหม่ในสถานที่ที่เป็นจังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบัน และได้สร้างวัดมหาพุทธาราม (วัดพระโต) เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองศรีสะเกษขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๒๘ และนับถึงปัจจุบันนี้ (พ.ศ.๒๕๕๖) วัดมหาพุทธาราม (วัดพระโต) มีอายุ ๒๒๖ ปี


โดย: kit007    เวลา: 2014-4-27 07:16
วัดมหาพุทธาราม (วัดพระโต) เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ที่มีอาณาเขตกว้างขวาง เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยเมืองศรีนครเขต ปัจจุบันมหาเถรสมาคม ประกาศให้วัดมหาพุทธาราม เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดศรีสะเกษ แห่งที่ ๑/๒๕๔๙ อันแสดงว่าวัดมหาพุทธาราม เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวพุทธทั้งหลาย เป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การศึกษาสงเคราะห์ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์ ตั้งแต่อดีตสืบทอดมาจนปัจจุบัน นอกจากนั้น วัดมหาพุทธาราม ยังเป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีสำคัญของคณะสงฆ์ และพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของเจ้าเมืองและข้าหลวงในอดีต และข้าราชการทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ตลอดมากระทั่งบัดนี้

เนื่องจากวัดมหาพุทธาราม เป็นวัดเก่าแก่มีประวัติความเป็นมาหลากหลายทั้งที่เป็นตำนาน เป็นคำบอกเล่าสืบๆ กันมา เป็นข้อสันนิษฐานของท่านผู้รู้ และประวัติที่เชื่อถือได้ ประการสำคัญ วัดมหาพุทธาราม เป็นวัดใหญ่มีอาณาบริเวณกว้างขวาง เป็นศูนย์รวมกิจการคณะสงฆ์จังหวัดตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน บทบาทหน้าที่ของวัดจึงมีส่วนสำคัญต่อความเจริญงอกงามของคณะสงฆ์ และความมั่งคงสถาพรของพระพุทธศาสนา ตลอดถึงเป็นบุญสถานอันยั่งยืนของประชาชนพุทธบริษัททั้งหลาย ดังนั้นในการเขียนประวัติของวัด จึงแบ่งเป็น ๓ ตอน คือ ๑. วัดป่าแดง ๒. วัดพระโต และ ๓. วัดมหาพุทธาราม ดังนี้


ประวัติวัดป่าแดง
               
วัดมหาพุทธาราม เป็นวัดโบราณมีอายุเก่าแก่ เดิมทีเดียวชาวบ้านเรียกชื่อว่า วัดป่าแดง ซึ่งจะสร้างขึ้นในสมัยใด ใครเป็นผู้สร้าง ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด แต่จากการสันนิษฐานตามลักษณะการตั้งชุมชนพื้นที่และการแผ่ขยายอำนาจมายังดินแดนอีสานใต้ของนครจำปาสัก วัดป่าแดง น่าจะสร้างในสมัยเมืองศรีนครเขต และตรงกับสมัยเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งในสมัยนั้น เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก พระมหาสมณะยอดแก้ว (เทียบพระสังฆราช) แห่งนครจำปาศักดิ์ เป็นพระสงฆ์ที่ได้รับความเคารพศรัทธาอย่างยิ่งของเจ้าผู้ครองนครจำปาสัก พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ตลอดจนประชาชนชาวนครจำปาศักดิ์และเมืองเวียงจันทน์ จนได้รับการตั้งสมญานามว่า “ญาครูขี้หอม”

สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองทำให้อาณาจักรลาวแบ่งออกเป็น ๓ อาณาจักร คือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาสัก ทางลาวใต้ มีนครจำปาศักดิ์ เป็นเมืองหลวง มีแม่หญิงชื่อเจ้านางแพง บุตรีนางเภากับเจ้าปางคำ เจ้าลาวฝ่ายเหนือ (นครเชียงรุ้ง) เป็นผู้ปกครอง แต่เนื่องจากแม่หญิงแพงเป็นสตรีจึงมอบอำนาจการปกครองให้เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก เป็นผู้สำเร็จราชการแทน เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กพิจารณาเห็นว่า การบ้านการเมือง เป็นเรื่องของฆราวาส ไม่เหมาะสมแก่สมณวิสัย จึงให้บริวารไปอัญเชิญเจ้าองค์หล่อจากเมืองเวียงจันทน์มาเป็นเจ้าปกครองนครจำปาศักดิ์ มีพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ส่วนเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (หรือญาครูขี้หอม) เมื่อส่งมอบหน้าที่ปกครองบ้านเมืองแก่เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรแล้ว จึงจัดส่งศิษย์ที่มีความรู้ความสามารถอกไปครองและตั้งเมืองต่างๆ โดยให้ขึ้นตรงต่ออำนาจการปกครองของเมืองจำปาศักดิ์มาตั้งแต่บัดนั้น อาณาเขตจำปาศักดิ์จึงแผ่ครอบคลุมบริเวณพื้นที่อีสานตอนใต้ ได้แก่บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ในปัจจุบัน

สำหรับลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นศิษย์เอก ที่ “เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก” พระมหาสมณะยอดแก้ว แห่งนครจำปาศักดิ์ ส่งออกไปหาที่สร้างบ้านแปลงเมืองที่ปรากฏตามหลักฐานมีหลายท่าน อาทิเช่น (๑) ให้ จารย์ฮวด ไปครองเมืองสี่พันดอน (สี่ทันดร หรือสี่พันดร ก็เรียก) (๒) ให้ ท้าวมั่น ไปครองเมืองสาละวัน (๓) ให้ จารย์แก้ว ไปครองเมืองท่ง (กุลา) หรือเมืองสุวรรณภูมิ (๔) ให้ จารย์เชียง ไปครองเมืองศรีนครเขต (ศรีสะเกษ)

ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์ทางตำนานและหลักฐานประกอบ เช่น ตำนานพระอุรังคธาตุ ประวัติพระธาตุพนม ประวัติเมืองเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู) ยุคพระตา พระวอ ประวัติการตั้งเมืองอุบลราชธานี และตำนานบ้านละทาย เมืองอินทเกษ และเมืองชีทวน เพื่อค้นหาร่องรอยบรรพบุรุษผู้สร้างวัดป่าแดง (วัดมหาพุทธาราม) จึงอนุมานได้ว่า “เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก” พระมหาสมณะยอดแก้ว แห่งนครจำปาศักดิ์ เป็นพระมหาเถระผู้ทรงวิทยาคุณ เป็นหลักชัยแห่งพระพุทธศาสนา และประชาชนในยุคนั้นต่างให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง หลังจากส่งศิษย์ที่มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะศิษย์ทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแต่ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว ไปตั้งบ้านแปลงเมืองในที่ต่างๆ อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อศิษย์เหล่านั้นมีอำนาจวาสนาบารมี สร้างบ้านสร้างเมืองเป็นปึกแผ่นดีแล้ว ก็ได้สร้างวัดประจำเมืองหรือประจำตระกูลขึ้น เช่น จารย์เชียง แห่งบ้านโนนสามขา ผู้ตั้งเมืองศรีนครเขต สร้างวัดป่าแดง (วัดมหาพุทธาราม) ตามคำบัญชาของเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก ในระหว่างปี พ.ศ.๒๒๔๕-๒๒๖๓ แต่การสร้างวัดในยุคนั้นอาจเป็นวัดเล็กๆ ตั้งอยู่ท้ายเมือง ข้อที่น่าสังเกตได้แก่บริเวณที่สร้างวัดเป็นป่าไม้แดง หรือไม่ก็สร้างให้เป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี เน้นการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเป็นหลัก จึงได้ตั้งชื่อว่า “วัดป่าแดง”

โดย: kit007    เวลา: 2014-4-27 07:17
หลังจาก “เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก” ย่างเข้าสู่วัยชราภาพ ได้กลับไปตั้งหลักแหล่งในบั้นปลายชีวิต ณ นครจำปาศักดิ์ และได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ พ.ศ.๒๒๖๓ สิริอายุรวมได้ ๙๐ ปี ๗๐ พรรษา อัฐิบางส่วนของท่านบรรจุอยู่ที่อูบโมงค์หรืออูบเจดีย์ นอกกำแพงแก้วองค์พระธาตุพนม ณ วัดพระธาตุพนม มาตราบเท่าทุกวันนี้ หลังการมรณภาพของเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กแล้ว บรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายขาดพระอาจารย์ผู้เป็นเสาหลัก ประกอบกับนครจำปาศักดิ์ได้เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองขึ้น วัดป่าแดงจึงขาดการอุปถัมภ์บำรุง พระสงฆ์ผู้มีความชำนาญด้านพระกัมมัฏฐานก็หายาก ในที่สุดวัดป่าแดง (วัดมหาพุทธาราม) ก็กลายเป็นวัดร้างภายในเวลาไม่ถึง ๑๐๐ ปี (ในระหว่างปี พ.ศ.๒๒๕๓-๒๓๒๘)




หลวงพ่อโต หรือ “พระพุทธมหามุนี” วัดมหาพุทธาราม (วัดพระโต)


โดย: kit007    เวลา: 2014-4-27 07:17

พระวิหารหลวงพ่อโต และพระอุโบสถ วัดมหาพุทธาราม (วัดพระโต)


ประวัติวัดพระโต

วัดพระโต เป็นวัดที่สืบนามมาจากวัดป่าแดง เพราะอาศัยพระนามของพระพุทธรูปประธานองค์ใหญ่ คือ “หลวงพ่อโต” จึงมีนามว่า “วัดพระโต” สร้างขึ้นในสมัยพระยาวิเศษภักดี (ชม) เจ้าเมืองศรีสะเกษ คนที่ ๒ โดยนายช่างนครจำปาสัก ชื่อว่า อาจารย์ศรีธรรมา ผู้สืบเชื้อสายมาจากจารย์เชียง เจ้าเมืองศรีนครเขต เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘ หลังการสถาปนากรุงเทพมหานคร ๓ ปี มีความเป็นมาสังเขปดังนี้
            
วัดพระโต นามเดิมคือ วัดป่าแดง เป็นวัดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติเมืองศรีสะเกษอย่างแนบแน่น ถือว่าเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองศรีสะเกษมาตั้งแต่ยุคเมืองศรีนครเขต จากหลักฐานต่างๆ พอประมวลสรุปได้ว่า บริเวณพื้นที่ที่ตั้งเมืองศรีสะเกษปัจจุบัน แต่เดิมอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของนครจำปาศักดิ์น่าจะมีการปกครองแบบหัวเมือง โดยอาศัยหลักจารีต ขนบธรรมเนียม ประเพณี เช่น พิธีฮดสรงน้ำ เปลี่ยนผ้าไตรแก่พระสงฆ์ผู้ใหญ่ จะมีชื่อชั้นสมณศักดิ์ว่า สำเร็จ ญาชา ญาคู จ่างหว่าง หลักคำ เป็นต้น  และประเพณีสิบสองเดือน เช่น ฮีตสิบสอง ครองสิบสี่ ส่วนการปกครองบ้านเมือง ใช้ระบบอาญาสี่ หรืออาชญาสี่ ซึ่งเป็นระบบปกครองสูงสุด  คือ ๑. เจ้าเมือง  ๒. อุปฮาด ผู้ช่วยเจ้าเมือง ๓. ราชวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าเมืองและอุปฮาด ๔. ราชบุตร มีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกับราชวงศ์ และตำแหน่งสำหรับหมู่บ้าน ๔ ตำแหน่ง คือ ๑. ท้าวฝ่าย เทียบตำแหน่งนายอำเภอ ๒. ตาแสง เทียบตำแหน่งกำนัน ๓. พ่อบ้าน/นายบ้าน เทียบตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และ ๔. จ่าบ้าน เทียบตำแหน่งสารวัตรหมู่บ้าน/ตำบล ซึ่งถือเป็นหลักจารีตนิยมเป็นฮีตครองในภาคอีสานเรื่อยมากระทั่งมีการเปลี่ยนชื่อมณฑลลาวกาว เป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ แม้เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ ในการสร้างบ้านแปลงเมือง ก็มักจะมีเรื่องจารีตของชื่อบุคคลเสมอ เช่น เชียงขัน เชียงปุ่ม เชียงฆะ เชียงสี และเชียงไชย ถือว่าเป็นบัณฑิตทางธรรม (คำว่า เชียง เทียบกับฑิตของไทย หรือเซียง ในภาษาอีสาน หมายถึงคนที่สึกจาก สามเณร) เป็นต้น
            
ประวัติวัดพระโต จึงเกี่ยวข้องกับประวัติการสร้างเมืองศรีสะเกษอย่างแยกกันไม่ออก ถ้าต้องการทราบประวัติวัดพระโต ก็ควรจะทราบประวัติของเมืองขุขันธ์และเมืองศรีสะเกษเสียก่อน เพราะจังหวัดศรีสะเกษ แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองขุขันธ์ ซึ่งก่อนโน้นเรียกว่า บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน (นัยว่า คือบ้านดวนใหญ่ อำเภอวังหิน ในปัจจุบัน) ต่อมาได้ย้ายบ้านไปตั้งทางทิศใต้ได้แก่อำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน แต่ก็ยังคงชื่อดงลำดวนไว้ จึงมีชื่อว่า บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน
            
ลุ พ.ศ.๒๓๒๕ พระภูธรภักดีสงคราม (อุ่น) ปลัดเมืองขุขันธ์ กราบบังทูลขอแยกตัวจากเมืองขุขันธ์ไปตั้งเมืองใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงโปรดเกล้าฯให้ยกบ้านโนนสามขา สระกำแพง (เคยเป็นเมืองเก่า ชื่อ สดุกอำพิล สมัยขอมเรืองอำนาจ อยู่ในเขตอำเภออุทุมพรพิสัย) ขึ้นเป็นเมือง เรียกว่า “เมืองศรีสะเกศ” แล้วโปรดเกล้าฯให้พระภูธรภักดีสงคราม (อุ่น) ปลัดเมืองขุขันธ์ เป็นพระยารัตนวงศา เจ้าเมืองศรีสะเกศ คนแรก ให้ขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา

โดย: kit007    เวลา: 2014-4-27 07:18
อันพระยารัตนวงศา (อุ่น) สืบเชื้อสายมาจากจารย์แก้ว (ขุนบูฮม,ขุนบุรม) แห่งเมืองท่ง (กุลา) หรือ เมืองสุวรรณภูมิ โดยบุตรีคนหนึ่งของจารย์แก้ว เป็นภรรยาคนที่สองของ ตากจะ แห่งหมู่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน (เมืองขุขันธ์) มีบุตรธิดา ๒ คน คือ นางวันนา ต่อมาเป็นภรรยาของจารย์ศรีธรรมา นายช่างหลวง นครจำปาสัก และพระยารัตนวงศา (อุ่น) ตามข้อสันนิษฐาน เมื่อพระยารัตนวงศา เป็นเจ้าเมืองศรีสะเกศ ต้องมีการเร่งปรับปรุงบ้านเมือง และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การสร้างวัดประจำเมือง หรือ ประจำตระกูล อาจเป็นไปได้ว่า เจ้าเมืองศรีสะเกศ น่าจะทราบอยู่ก่อนแล้วถึงวัดป่าแดง และวัดอื่น ๆ ที่ร้างไปก่อนสร้างเมืองศรีสะเกศ จึงตกลงใจเลือกที่จะฟื้นฟูสภาพวัดที่บรรพบุรุษสร้างไว้ คือวัดป่าแดง แต่ยังไม่ทันดำเนินการสร้างวัดใหม่ ก็ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนในปี พ.ศ.๒๓๒๘ พระยารัตนวงศา (อุ่น) เป็นเจ้าเมืองศรีสะเกศ ๓ ปี (ระหว่าง พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๒๘)
            
พ.ศ.๒๓๒๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงกระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระยาวิเศษภักดี (ชม) บุตรพระยารัตนวงศา (อุ่น) เป็นเจ้าเมืองศรีสะเกษ คนที่ ๒ ในสมัยนี้ ได้กราบบังคมทูลขอย้ายเมืองจากบ้านโนนสามขา สระกำแพง มาตั้งที่ฝั่งลำห้วยสำราญ บริเวณที่ตั้งศาลากลางจังหวัด และศาลหลักเมืองศรีสะเกษทุกวันนี้
            
ในยุคเมืองศรีนครเขตและระยะแรกแห่งการสร้างเมืองศรีสะเกษ ได้มีการสร้างวัดมาก่อนแล้วหลายวัด ซึ่งแต่ละวัดได้ตั้งรายล้อมวัดพระโตทั้งสี่ทิศ เหมือนจะน้อมถวายสักการะแด่องค์หลวงพ่อโต บางวัดกลายเป็นวัดร้างแบบยั่งยืน ส่วนอีกบางวัด ได้รับการฟื้นฟูพัฒนาขึ้นมาใหม่ จนกลายเป็นวัดที่มีบทบาทสำคัญต่อการคณะสงฆ์และการพระศาสนาในปัจจุบัน อาทิ

๑. ทิศตะวันออก มีวัดศรีสุมังคล์ หรือ วัดหลวงสุมังคลาราม (ธ) พระอารามหลวง และวัดเลียบบูรพาราม ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมืองศรีสะเกษ

๒. ทิศตะวันตก มีวัดท่าเหนือ หรือวัดท่าสำราญ ตั้งอยู่บนฝั่งห้วยสำราญ บริเวณที่ตั้งศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษปัจจุบัน หลักฐานสำคัญ คือ ต้นโพธิ์ ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่

๓. ทิศเหนือ มีวัดท่าโรงช้าง หรือ วัดท่าวิเศษกุญชร ปัจจุบัน คือวัดศรีมิ่งเมือง ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ

๔. ทิศใต้ มีวัดโนนสามขา หรือ วัดเจียงอี ปัจจุบัน คือ วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม พระอารามหลวง

เมื่อพระยาวิเศษภักดี (ชม) ได้สร้างวัด สร้างเสนาสนะ และถาวรวัตถุต่างๆ แล้ว ได้นิมนต์พระสงฆ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือเข้ามาพำนักอาศัย แต่พระสงฆ์ที่นิมนต์เข้ามาพำนักอาศัยในครั้งนั้น ไม่สามารถระบุได้ว่า ชื่ออะไร มาจากไหน หากพิจารณาตามเหตุผลและหลักฐานประกอบหลายๆ อย่าง พอจะอนุมานได้ว่า วัดพระโต เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองศรีสะเกษ เป็นวัดที่เจ้าเมืองสร้างให้เป็นศูนย์รวมจิตใจและความสามัคคีของผู้คนในบ้านเมือง เป็นได้ว่าพระสงฆ์ที่จะได้รับนิมนต์เข้ามาพำนักอาศัย จะต้องเป็นพระสงฆ์ที่ทรงภูมิรู้และภูมิธรรมและมีปฏิปทาเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาของประชาชน หรือไม่ก็เป็นพระสงฆ์ที่นิมนต์มาจากถิ่นอื่น เช่น เมืองขุขันธ์ หรือ นครจำปาสัก เป็นต้น ต่อมาในช่วงปลายชีวิตของพระยาวิเศษภักดี (ชม) ได้ปรากฏชื่อพระสงฆ์ที่เป็นเจ้าอาวาสวัดพระโตอยู่หลายรูป แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่า มีชาติภูมิอยู่ที่ไหน เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่เมืองไร เช่น พระหลักคำหงส์ พระครูจันดา พระครูเพ็ง พระครูสงฆ์ เป็นต้น

พระยาวิเศษภักดี (ชม) ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๗ ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองศรีสะเกษ ๓๕ ปี (พ.ศ.๒๓๒๘-๒๓๖๗) ในยุคนี้ถือว่าเป็นยุคทองของวัดพระโต ที่มีความเจริญรุ่งเรืองทุกด้าน ได้แก่ การปกครองคณะสงฆ์ การศึกษา การเผยแผ่ และการสาธารณูปการ จึงถือได้ว่าท่านพระยาวิเศษภักดี (ชม) เป็นพหุการกบุคคล ผู้มีอุปการคุณยิ่งยวดต่อวัดพระโต และเป็นปูชนียบุคคลของปัจฉิมตาชน ผู้อุปถัมภ์ และทะนุบำรุงวัดพระโต และพระพุทธศาสนาสืบมาจนปัจจุบัน
            
พ.ศ.๒๓๖๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยาวิเศษภักดี (บุญจันทร์) ปลัดเมืองศรีสะเกษ เป็นเจ้าเมืองศรีสะเกษ ในระยะเวลานี้ได้มีการก่อสร้างเสนาสนะ เช่น กุฎีสงฆ์ ประมาณ ๒ หลัง โครงสร้างทำด้วยไม้ ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัด ซึ่งก็คือ ที่ตั้งโรงเรียนวัดมหาพุทธารามทุกวันนี้ พระยาวิเศษภักดี (บุญจันทร์) ถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔ ด้วยสาเหตุคือลงอาบน้ำที่ลำห้วยสำราญ (ท่าสะพานขาว) เป็นตะคริวจมน้ำหายไป (พ.ศ.๒๓๖๘-๒๔๒๔ รวม ๕๖ ปี)
            
พ.ศ.๒๔๒๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระพรหมภักดี (โท) ยกระบัตรเมืองศรีสะเกษ บุตรหลวงวิเศษ เป็นพระยาวิเศษภักดี เป็นเจ้าเมืองศรีสะเกษ คนที่ ๔ ในระยะเวลานี้  ทางการบ้านเมือง ได้มีการประกอบพิธีสำคัญที่วัดพระโต เช่นพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พิธีถวายเครื่องสักการะเนื่องในงานเทศกาลไหว้หลวงพ่อโต ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนทุกปี และพิธีกราบถวายเครื่องสักการะ ของเจ้าเมือง ข้าหลวง และผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ หรือคำสั่งให้มาดำรงตำแหน่งปกครองเมืองศรีสะเกษ  พระยาวิเศษภักดี (โท) เป็นเจ้าเมืองศรีสะเกษ คนสุดท้ายก่อนจะมีการปฏิรูปการปกครองบ้านเมือง (พ.ศ.๒๔๒๔-๒๔๗๕)
            
พ.ศ.๒๔๗๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตย หรือระบอบสมบูรญาณาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม แบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคเป็น จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จนถึง พ.ศ.๒๔๘๑ จึงเปลี่ยนชื่อจากจังหวัดขุขันธ์มาเป็นจังหวัดศรีสะเกษจนถึงปัจจุบัน


โดย: kit007    เวลา: 2014-4-27 07:19
ประวัติวัดมหาพุทธาราม

วัดมหาพุทธาราม ในปัจจุบัน  เดิมชื่อ วัดป่าแดง และวัดพระโต ก่อน พ.ศ.๒๓๒๕ ชื่อว่า “วัดป่าแดง” พ.ศ.๒๓๒๕-๒๔๙๐ ยุคเมืองศรีนครเขต-ศรีสะเกษ ชื่อว่า “วัดพระโต” เป็นวัดฝ่ายคามวาสี และอรัญวาสี ความหมายปัจจุบัน คามวาสี  เป็นวัดฝ่ายคันถธุระ ที่จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรม-แผนกบาลี และจัดการศึกษาสงเคราะห์แก่กุลบุตร กุลธิดา ส่วนอรัญวาสี เป็นวัดฝ่ายวิปัสสนาธุระ เน้นและส่งเสริมการปฏิบัติกัมมัฎฐาน หรือเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดที่มหาเถรสมาคมประกาศขึ้นทะเบียน

ก่อนจะมาเป็นวัดมหาพุทธาราม มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในการคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ (เฉพาะบางส่วน) อันเนื่องมาจากการยกเลิกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) แล้วประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ เพื่ออนุวัตรตามการปกครองฝ่ายบ้านเมือง ตามระบอบประชาธิปไตย โดยการจัดการบริหารราชการแผ่นดินแบบอธิปไตย ๓ คือ อำนาจนิติบัญญัติ ๑ อำนาจบริหาร ๑ อำนาจตุลาการ ๑ แต่ละฝ่ายต่างเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนคณะสงฆ์ ได้จัดระบบบริหารคณะสงฆ์คล้อยตามฝ่ายบ้านเมืองเป็น ๓ อำนาจ คือ อำนาจสังฆาณัติ (นิติบัญญัติ) ผ่านสังฆสภา ๑ อำนาจบริหาร ผ่านคณะสังฆมนตรี ๑ อำนาจตุลาการ ผ่านคณะวินัยธร ๑

ในส่วนการปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง แบ่งออกเป็น ๔  องค์การ แต่ละองค์การ ให้มีสังฆมนตรีว่าการองค์การๆ ละ ๑ รูป ถ้าเห็นสมควรจะกำหนดให้มีสังฆมนตรีช่วยก็ได้ ดังนี้
๑. องค์การปกครอง                  
๒. องค์การศึกษา
๓. องค์การเผยแผ่
๔. องค์การสาธารณูปการ

ส่วนการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ในสังฆาณัติ เช่นให้ผู้ตรวจการภาค มีคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดโดยมีเจ้าคณะจังหวัดเป็นประธาน และคณะกรรมการสงฆ์อำเภอโดยมีเจ้าคณะอำเภอเป็นประธานอนุวัตรตามการปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง ยกเว้นระดับแขวง ระดับตำบล และวัด คงให้เป็นไปตามหลักจารีตนิยม
            
จนกระทั่งประมาณ พ.ศ.๒๔๘๔ หลังจากพระครูธรรมจินดามหามุนี (เดช มหาปุญฺญเถร) เจ้าอาวาสวัดพระโต ได้ถึงแก่มรณภาพ ได้มีการเคลื่อนไหวของคณะบุคคลบางฝ่าย ซึ่งมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองวัดพระโต ให้เป็นไปตามความประสงค์จะให้เป็น โดยอ้างว่า เพื่อเป็นการยกฐานะของวัดให้สูงขึ้น (อันที่จริง ความพยายามจะเปลี่ยนแปลงได้มีมาตั้งแต่สมัยที่พระครูธรรมจินดามหามุนี ยังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองศรีสะเกษแล้ว)กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
           
ครั้นลุ พ.ศ.๒๔๘๔ พระมหาอิ่ม (สายชมภู) เปรียญธรรม ๕ ประโยค น.ธ.เอก วัดหลวงสุมังคลาราม (ธ) ได้รับโปรดแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะเมืองศรีสะเกษ พ.ศ.๒๔๘๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรตำแหน่งเจ้าคณะเมือง ในราชทินนนามที่ “พระครูชินวงศ์ปฏิภาณ” พ.ศ.๒๔๙๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญในราชทินนนามที่ “พระชินวงศาจารย์” ซึ่งถือว่าเป็นพระราชาคณะรูปแรกของจังหวัดศรีสะเกษ ปกครองคณะสงฆ์ทั้งสองนิกายคือ ธรรมยุตและมหานิกาย ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๙๔ คณะสงฆ์ไทย ได้แยกการปกครองออกเป็นคณะธรรมยุต กับ คณะมหานิกาย ตำแหน่งเจ้าคณะเมืองศรีสะเกษได้เปลี่ยนเป็นเจ้าคณะจังหวัด พระชินวงศาจารย์ปกครองเฉพาะคณะธรรมยุต เปลี่ยนชื่อตำแหน่งว่า “เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดศรีสะเกษ” ส่วนตำแหน่งผู้ปกครองคณะมหานิกาย เรียกว่า “เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ” สืบมาจนทุกวันนี้ (พระราชเมธี (วรวิทย์) ประวัติเมืองในเขตภาค ๑๐ ตอนประวัติศรีสะเกษ)      

ในการเปลี่ยนแปลงชื่อตำแหน่งการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษครั้งนั้น ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษฝ่ายมหานิกาย ได้มีการแสดงสังฆมติ (สมัยพระวินัยธรทองพูล เป็นเจ้าอาวาส) เพื่อเปลี่ยนชื่อวัดพระโตใหม่ นัยว่าเพื่อให้ทันสมัยกว่าเดิม ครั้งนั้นได้แบ่งแนวคิดออกเป็น ๒ แนวคิด คือ แนวคิดที่ ๑ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระชินวงศาจารย์ (อิ่ม) ในฐานะเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษทั้งสองนิกาย (ขณะนั้น) เห็นว่า ควรจะเปลี่ยนชื่อวัดพระโตเป็น “วัดมหาพุทธวิสุทธาราม” และแนวคิดที่ ๒ เห็นว่า ชื่อดังกล่าว เรียกยาก จำยาก ควรจะหาชื่อที่เหมาะสมและเรียกง่ายกว่าชื่อนี้ ในที่สุด กรรมการสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ จึงเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังสังฆมนตรีว่าการองค์การสาธารณูปการๆ ได้มีบัญชาให้เปลี่ยนชื่อวัดพระโตเป็น “วัดมหาพุทธาราม” เมื่อวันที่ ๑๖  พฤษภาคม ๒๔๙๐ (อ้างบันทึก พระมหาประยูร วัดมหาพุทธาราม) และก็ใช้ชื่อ “วัดมหาพุทธาราม” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนปัจจุบัน

ที่มาและความหมายของนาม วัดมหาพุทธาราม เป็นการนำเอานามวัดพระโต ที่แปลว่า วัด พระ ใหญ่ ไปแปลกลับเป็นคำภาษาบาลี ซึ่งแยกคำดังนี้ มหา แปลว่า โต, พุทธ แปลว่า พระ, อาราม แปลว่า วัด เมื่อนำคำทั้งหมดมารวมกัน ก็จะเป็น วัดมหาพุทธารามแปลว่า วัดพระโต หรือ วัดพระใหญ่ ซึ่งก็คือนามเดิมของวัดนั่นเอง จะแตกต่างเพียงพยัญชนะ คือ ลีลาทางภาษาเท่านั้น อย่างไรก็ดี ไม่ว่า วัดมหาพุทธาราม จะมีต้นกำเนิดมาจากวัดพระโต และหรือวัดป่าแดงก็ตาม ย่อมมีทั้งตำนาน คำบอกเล่า และประวัติความเป็นมาและความสำคัญ ให้อนุชนรุ่นหลังได้ติดตาม ศึกษา ค้นคว้า เพื่อแสวงหาความจริงมาเปิดเผยต่อสาธารณชน และเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ผู้สร้างบ้านแปลงเมืองและรักษาแผ่นดินไว้ให้ลูกหลานได้อยู่อาศัย และที่สำคัญได้สร้าง “วัดมหาพุทธาราม”  ให้เป็นสถาบันแห่งภูมิปัญญาธรรม และปุญญสถานของมวลมนุษยชาติสืบไปชั่วกาลนาน

ปัจจุบัน วัดมหาพุทธาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เนื่องด้วยในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะวัดมหาพุทธาราม จ.ศรีสะเกษ จากวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา พร้อมกับวัดราษฎร์อื่นๆ ทั่วประเทศรวมจำนวน ๒๐ วัด


   ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูลและรูปภาพ
เว็บไซต์สำนักศาสนศึกษาวัดมหาพุทธาราม

http://ssk.onab.go.th/index.php?option= ... Itemid=123
http://www.atubon.com/topic/288                                                                                       

..............................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=46282






ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2