Baan Jompra
ชื่อกระทู้:
พระพุทธรูปศิลาขาว วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม
[สั่งพิมพ์]
โดย:
kit007
เวลา:
2014-4-24 02:14
ชื่อกระทู้:
พระพุทธรูปศิลาขาว วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม
พระพุทธรูปศิลาขาว
หรือ “หลวงพ่อประทานพร”
พระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
ถนนขวาพระ ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม
“พระพุทธรูปศิลาขาว” หรือ “หลวงพ่อประทานพร”
เป็นพระพุทธรูปปางประทานปฐมเทศนา หรือปางประทานเอหิภิกขุ
(วิตรรก-มุทรา) โดยประดิษฐานเป็น พระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม
สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี (ระหว่างปีพุทธศักราช ๑๑๐๐-๑๖๐๐)
ชาวบ้านมักจะเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อประทานพร”
พระพุทธรูปศิลาขาว ทำจากศิลาสีขาวขนาดใหญ่
มีพุทธลักษณะทั่วไปเป็นพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี
ประทับนั่งบนบัลลังก์ห้อยพระบาททั้งสอง (ปรลัมพปาทาสนะ)
ลงบนฐานทำเป็นกลีบบัวบานรองรับ
ซึ่งมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “ภัทรอาสน์” หรือ “ภัทราสนะ”
พระหัตถ์ซ้ายของพระพุทธรูปวางหงายอยู่เหนือพระเพลาซ้าย
ส่วนพระหัตถ์ขวายกอยู่ในระดับพระอุระ หันฝ่าพระหัตถ์ออกปลาย
พระอังคุฐ (นิ้วหัวแม่มือ) กับพระดัชนี (นิ้วชี้) งอโค้งจรดกันเป็นวงกลม
ส่วนอีกสามนิ้วพระหัตถ์กางออก พระพุทธรูปในรูปท่าแบบนี้
เรียกว่า “ปางประทานปฐมเทศนา” หรือ “ปางประทานเอหิภิกขุ”
(วิตรรก-มุทรา) ขนาดความสูงจากพระเกตุถึงพระบาท ๓.๓๖ เมตร
พระพุทธรูปศิลาขาว องค์ที่ประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ
เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกันกับ
พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร
หรือพระพุทธนรเชษฐ์ฯ หรือ “หลวงพ่อขาว”
องค์ที่ประดิษฐาน ณ ลานชั้นลด (กะเปาะ) ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์
ประวัติจากบันทึกของ
พระธรรมวโรดม (โชติ ธมฺมปฺปโชติกเถระ)
อดีตเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร กล่าวเอาไว้ว่า
“...ท่านพระปลัดทอง พระอธิการวัดกลางบางแก้ว (วัดคงคา)
ได้มาเห็นวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ซึ่งเวลานั้นว่างจากเจ้าอาวาส
กุฏิเสนาสนะชำรุดมาก ท่านจึงพร้อมกันกับ “สามเณรบุญ”
(ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระพุทธวิถีนายก
ตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสามัญ เจ้าอาวาสวัดบางแก้ว) ผู้เป็นศิษย์
ได้มาช่วยบอกบุญขอแรงพระเณรและชาวบ้าน ต.พระปฐมเจดีย์
ไปช่วยกันขนอิฐจากวัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง
(ครั้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ได้ทรงพระราชทานนามวัดทุ่งพระเมรุ จ.นครปฐม ใหม่ว่า สวนนันทอุทยาน)
เพื่อนำมาใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์บริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
ปรากฏว่าพบเห็นจอมปลวกขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณสถานที่นั้น
โดยมีพระเกตุมาลา (ยอดเศียร) ขององค์พระพุทธรูปโผล่พ้นยอดจอมปลวกขึ้นมา
คณะของท่านพระปลัดทองจึงได้ช่วยกันทำลายจอมปลวกนั้นออก
ก็พบ พระพุทธรูปศิลาขาวขนาดใหญ่ องค์นี้ มีรอยต่อเป็นท่อนๆ
จึงถอดรอยตามรอยต่อนั้นออก แล้วนำมาประดิษฐานเป็นพระประธาน
ในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๔
(ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)
ก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ครองราชสมบัติ ๗ ปี...”
โดย:
kit007
เวลา:
2014-4-24 02:16
สำหรับประวัติความเป็นมาของ
พระพุทธรูปศิลาขาวทั้ง ๔ องค์
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะและขนาดอย่างเดียวกันนั้น
นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร
ได้กล่าวไว้ในหนังสือ
“พระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี” ว่าพระพุทธรูปศิลาเนื้อหินขาว ๔ องค์
แต่เดิมเคยประดิษฐานอยู่ ณ
วัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ จ.นครปฐม
โดยพบสถูปโบราณ สมัยทวารวดีองค์ใหญ่ มีร่องรอยว่ามีมุขประจำ ๔ ทิศ
และในแต่ละมุขทิศเคยมีีพระพุทธรูปขนาดใหญ่นั่งห้อยพระบาทประจำอยู่นั้น
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑
หรือรัชกาลสมเด็จพระราเมศวร ได้ขนย้ายพระพุทธรูปศิลาขาวมาประดิษฐาน
ไว้ใน
วัดพระยากง
ต.สำเภาล่ม จ.พระนครศรีอยุธยา เกือบครบ ๓ องค์
คงทิ้งไว้ที่เดิม (วัดทุ่งพระเมรุ) ๑ องค์ กับชิ้นส่วนขององค์พระบางท่อน
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ได้นำองค์พระพุทธรูปศิลาขาวที่คงอยู่ ณ ที่เดิม (วัดทุ่งพระเมรุ) นั้น
ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
กับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ได้นำชิ้นส่วนที่เหลือไปจัดตั้งไว้ ณ พระระเบียงคด ด้านนอกองค์พระปฐมเจดีย์
ส่วนที่นำไปไว้ที่
วัดพระยากง
เกือบครบ ๓ องค์นั้น ต่อมาราวกว่า ๒๐ ปีมานี้
ได้มีผู้ศรัทธานำบางส่วนมาประกอบเป็นองค์ไว้ที่
วัดขุนพรหม
จ.พระนครศรีอยุธยา
ส่วนที่ยังคงอยู่ที่
วัดพระยากง
ก็มีคนใจร้ายทุบทำลายพระเศียร ๒ พระเศียร
ให้แตกแยกจากกันเพื่อสะดวกแก่การขนย้าย แล้วนำมาขายไว้ ณ
ร้านค้าของเก่าในเวิ้งนครเกษม ๒ ร้า่น ซึ่งกรมศิลปากรก็ได้ติดตามคืนมาได้
ครั้นต่อมา กรมศิลปากรด้วยความร่วมมือของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ได้นำพระพุทธรูปองค์ที่อยู่
วัดขุนพรหม
กับชิ้นส่วนที่มีอยู่ทั้งหมดที่
วัดพระยากง
และชิ้นส่วนขององค์พระที่มีอยู่ ณ พระระเบียงคด ด้านนอกองค์พระปฐมเจดีย์
รวมทั้งพระเศียรองค์พระ ๒ พระเศียรที่ติดตามคืนมาได้จากร้านค้าของเก่าดังกล่าว
แล้วจึงนำมาประกอบกันขึ้นเต็มองค์และปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม
โดยถูกลดส่วนสัดได้ ๓ องค์
ประดิษฐานไว้ใน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
หนึ่งองค์
ประดิษฐานไว้ใน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา
หนึ่งองค์
และได้นำมาประดิษฐานไว้เป็นที่บูชาสักการะของสาธุชน ณ
ลานชั้นลด (กะเปาะ)
ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
อีกหนึ่งองค์
ซึ่งได้รับขนานนามโดยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๕๑๐)
ว่า
“พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร”
เมื่อรวมกับพระพุทธรูปศิลาขาวองค์ที่รัชกาลที่ ๔ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็น
พระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
ด้วยกันก็เป็นครบ
๔ องค์
ทั้งนี้ พระพุทธรูปศิลาขาวองค์ที่พบอยู่ในจอมปลวกที่วัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ
แล้วนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหารนั้น
เป็นองค์ที่สมบูรณ์ที่สุดในกระบวนพระพุทธรูปศิลาขาวทั้งหมด ๔ องค์
โดย:
kit007
เวลา:
2014-4-24 02:18
พระพุทธรูปศิลาขาว หรือหลวงพ่อประทานพร พระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม
รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลมาจาก
http://www.reocities.com/TheTropics/sho ... buddha.htm
http://www.mcu.ac.th/site/bud07.php
http://www.devboxs.com/data/indonesia-art/
ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ
น้ายักษ์
http://www.naryak.com/forum/
พระคันธารราฐ วัดหน้าพระเมรุราชิการาม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=46471
.....................................................
ที่มา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=39910
โดย:
kit007
เวลา:
2014-4-24 02:18
ที่มาของรูปภาพ : facebook สุรีย์ ฉิมรุ่งเรือง
ที่มาของรูปภาพ : คุณเปรม นครปฐม
“พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร”
หรือ “หลวงพ่อขาว”
ประดิษฐาน ณ ลานชั้นลด (กะเปาะ)
ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม
โดย:
kit007
เวลา:
2014-4-24 02:19
พระพุทธรูปศิลาขาว
ประดิษฐาน ณ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
โดย:
kit007
เวลา:
2014-4-24 02:20
พระพุทธรูปศิลาขาว
ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
โดย:
kit007
เวลา:
2014-4-24 02:21
พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี
พระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ประทับนั่งห้อยพระบาท
ศิลปะแบบทวารวดี ปางปฐมเทศนา ปรากฏในโลกเพียง ๖ องค์เท่านั้น
(ในประเทศไทยพบ ๕ องค์) ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนน้อยอย่างยิ่ง ดังนี้
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม มี ๒ องค์
คือ พระพุทธรูปศิลาขาว หรือ “หลวงพ่อประทานพร” พระประธานในพระอุโบสถ
และพระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร หรือ “หลวงพ่อขาว”
ประดิษฐาน ณ ลานชั้นลด (กะเปาะ) ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
ประดิษฐาน ณ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ มี ๑ องค์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา มี ๑ องค์
วัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือวัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา
มี ๑ องค์ คือ พระคันธารราฐ พระพุทธรูปศิลาเขียว
พระประธานในพระวิหารสรรเพชญ์หรือพระวิหารน้อย
ประเทศอินโดนีเซีย มี ๑ องค์ คือ พระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ประทับนั่งห้อยพระบาท
วางฝ่าพระบาทบนดอกบัว ปางประทานปฐมเทศนา ภายในพระวิหารเมนดุต
ณ จันทิเมนดุต (Candi Mendut) หรือวัดเมนดุต พุทธสถานขนาดเล็กที่เก่าแก่ที่สุด
ในเมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) ประเทศอินโดนีเซีย
ซึ่งเป็นอาคารทรงปราสาทยอดสถูปที่สร้างครอบศาสนสถานเดิมที่ก่อด้วยอิฐ
มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำจากหินภูเขาไฟเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓
ตั้งอยู่ห่างจากบุโรพุทโธ (borobodur) ไปประมาณ ๓ กิโลเมตร
พระพุทธรูปศิลาในประเทศอินโดนีเซียองค์นี้ มีขนาดใหญ่กว่าตัวคนจริง
คือ มีขนาดสูง ๓ เมตร แกะสลักจากหินลาวาจากภูเขาไฟ อายุ ๑,๒๐๐ กว่าปี
หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก นับว่าแปลกกว่าพระพุทธรูปในจันทิ (วัด) อื่นๆ
ที่ล้วนหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
และเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๓
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ได้เสด็จฯ ทรงทอดพระเนตรพระวิหารบุโรพุทโธ และพระวิหารเมนดุต
โดยสมาคมพุทธศาสนาแห่งอินโดนีเซียได้น้อมเกล้าฯ
ถวายพระพุทธรูปองค์หนึ่งพร้อมด้วยธงฉัพพรรณรังสี
ซึ่งเป็นธงสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา
ในจำนวนพระพุทธรูปศิลา ๖ องค์นี้ มีเพียงองค์เดียวที่สร้างขึ้นจาก
ศิลาเขียว
อยู่ที่วัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือวัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา
ส่วนที่เหลือทั้งหมดสร้างขึ้นจาก
ศิลาขาว
ทั้งสิ้น ถึงกระนั้นก็ยังก่อให้เกิดความสับสนกันอยู่เนืองๆ
โดย:
kit007
เวลา:
2014-4-24 02:22
๏ พระคันธารราฐ พระพุทธรูปศิลาเขียว ๏
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=46471
พระพุทธรูปศิลาประทับนั่งห้อยพระบาท ปางประทานปฐมเทศนา
ภายในพระวิหารเมนดุต ณ จันทิเมนดุต (Candi Mendut)
เมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) ประเทศอินโดนีเซีย
.....................................................
ที่มา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=39910
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/)
Powered by Discuz! X3.2