Baan Jompra

ชื่อกระทู้: คาถาพระอรหันต์แปดทิศ [สั่งพิมพ์]

โดย: Metha    เวลา: 2014-4-21 13:59
ชื่อกระทู้: คาถาพระอรหันต์แปดทิศ
คาถาพระอรหันต์แปดทิศ

สัมพุทโธ ทิปะทัง เสฏโฐ นิสินโน เจวะ มัชฌิเม
โกณฑัญโญ ปุพพะภาเค จะ อาคะเณยเย จะ กัสสะโป
สารีปุตโต จะ ทักขิเณ หะระติเย อุปาลี จะ
ปัจฉิเมปิ จะ อานันโท พายัพเพ จะ ควัมปะติ
โมคคัลลาโน จะ อุตตะเร อิสาเณปิ จะ ราหุโล
อิเม โข มังคลาพุทธา สัพเพ อิธะ ปะติฏฐิตา
วันทิตา เต จะ อัมเหหิ สักกาเรหิ จะ ปูชิตา
เอเตสัง อานุภาเวนะ สัพพะโสตถี ภะวันตุ โน

อิจเจวะมัจจัน ตะนะมัสสะเนยยัง
นะมัสสะมาโน ระตะนัตตะยัง ยัง
ปุญญาภิสันทัง วิปุลัง อะลัตถัง
ตัสสานุภาเวนะ หะตันตะราโย ฯ


โดย: Sornpraram    เวลา: 2019-3-28 09:54


โดย: Nujeab    เวลา: 2019-3-28 11:48

โดย: Nujeab    เวลา: 2019-3-28 12:02
บทสวดนมัสการพระอรหันต์ ๘ ทิศ

คำนมัสการบูชาพระอรหันต์แปดทิศ  เรียกอีกอย่างว่า  พุทธมงคลคาถา
    นอก จากพระคาถาชินบัญชรอันลือชื่อของท่านแล้ว พุทธมังคลคาถาถือเป็นอีกหนึ่งบทคาถาของท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์  ที่ถือว่ามีอิทธิฤทธิ์ด้านลาภผลและมงคลทั้งปวง  เพราะคำว่าพุทธมังคลคาถานี้ คือการนมัสการบูชาพระอรหันต์แปดทิศ ซึ่งล้วนแต่เป็นพระมหาเถระที่ยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น

.....................................................................

คำบาลี
สัมพุทโธ ทิปะทัง เสฏโฐ
นิสินโน เจวะ มัชฌิเม
โกณฑัญโญ ปุพพะภาเค จะ
อาคเณยเย จะ กัสสะโป
สารีปุตโต จะ ทักขิเณ
หะระติเย อุปาลิ จะ
ปัจฉิเมปิ จะ อานันโท
พายัพเพ จะ ควัมปะติ
โมคคัลลาโน จะ อุตตะเร
อีสาเนปิ จะ ราหุโล
อิเม โข มังคะลา พุทธา
สัพเพ อิธะ ปะติฏฐิตา
วันทิตา เต จะ อัมเหหิ
สักกาเรหิ จะ ปูชิตา
เอเตสัง อานุภาเวนะ
สัพพะโสตถี ภะวันตุโน

อิจเจวะมัจจันตะนะมัสสะเนยยัง
นะมัสสะมาโน ระตะนัตตะยังยัง
ปุญญาภิสันทัง วิปุลัง อะลัตถัง
ตัสสานุภาเวนะ หะตันตะราโย


คำแปล
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐกว่าสัตว์สองเท้า ทรงประทับนั่งอยู่ท่ามกลาง มี
ท่านอัญญาโกญฑัญญะ อยู่ทางทิศบูรพา (ตะวันออก)
ท่านพระมหากัสสปะ อยู่ทางทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้)
ท่านพระสารีบุตร อยู่ทางทิศทักษิณ (ใต้)
ท่านพระอุบาลี อยู่ทางทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้)
ท่านพระอานนท์ อยู่ทางทิศปัจฉิม (ตะวันตก)
ท่านพระภควัมปติ อยู่ทางทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ)
ท่านพระโมคคัลลานะ อยู่ทางทิศอุดร (เหนือ)
ท่านพระราหุล อยู่ทางทิศอิสาณ (ตะวันออกเฉียงเหนือ)

ด้วยสรรพมงคลอันพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้ประดิษฐานอยู่ ณ ทิศทั้งหลายเหล่านี้ ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ทำการกราบไหว้สักการบูชาซึ่งท่านผู้ประเสริฐทั้งหลาย เหล่านั้น ขอความสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมนมัสการซึ่งพระรัตนตรัย และด้วยการนมัสการพระอริยสาวกเจ้าทั้งหลายนี้

ข้าพเจ้าได้รับแล้วซึ่งความหลั่งไหลของบุญอย่างไพบูลย์ (บุญอันเกิดจากการระลึกถึงพระอรหันต์ทั้งแปดทิศ) ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยนั้น ขออันตรายทั้งหลายจงถึงความพินาศสิ้นไปเทอญ
........................................................................


ทิศบูรพา
พระ อรหันต์ประจำทิศ ได้แก่ พระอัญญาโกณทัญญะ ซึ่งเป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา และเป็นพระสงฆ์ผู้สำเร็จพระอรหันต์องค์แรก ถ้าท่านใดอยากเป็นผู้ชนะก่อนใคร โบราณถือว่าต้องบูชาพระจันทร์ก่อน เพื่อเสริมส่งให้มีเมตตามหานิยม ให้มีความสำเร็จก่อนผู้ใด ตามคติของพระพุทธศาสนา จัดให้พระพุทธรูปปางห้ามญาติ เป็นพระประจำวันจันทร์ (พระพุทธรูปยืน ปางห้ามญาติ ยกพระหัตถ์ขวาแบอยู่ระดับหน้าอก พระหัตถ์ซ้ายห้อยอยู่ข้างตัว หรือพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ยกพระหัตถ์ทั้งสองแบอยู่ระดับอก) แล้วได้จัดให้พระปริตบทยันทุน เป็นคาถาสวดสำหรับวันจันทร์ โดยสวด 15 จบ เพื่อช่วยให้เกิดโชคลาภคุ้มภัยอันตรายได้ และจะมีความเจริญปราศจากโรคาพยาธิทั้งปวง และยังจัดให้คาถาพระอิติปิโส 8 ทิศ บทกระทู้ 7 แบก สำหรับสวดภาวนาประจำวันจันทร์ คือ คาถา " อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา "

ทิศอาคเนย์
พระอรหันต์ประจำทิศได้แก่ พระมหากัสสป เป็นพระสาวกที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าพระอื่น ถือธุดงควัตร เป็นพระสงฆ์ที่มีร่างกายเสมอเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ มีร่างกายใหญ่โตมาก พระองค์จึงได้ประทานผ้าสังฆาฎิให้กับพระมหากัสสป ถ้าท่านใดอยากได้ความเป็นใหญ่ มีผู้คนยอมรับนับหน้าถือตาก็ควรบูชาพระอังคาร ซึ่งอยู่ประจำทิศอาคเนย์ตามคติทางพระพุทธศาสนา จัดให้พระพุทธรูปปางไสยยาสน์ (นอน) เป็นพระประจำวันอังคาร และพระปริตบทขัดกรณียเมตตาสูตร เป็นคาถาสวดสำหรับพระอังคาร โดยสวด 8 จบบูชา พระปางไสยาสน์ เพื่อช่วยให้เกิดโชคลาภ และคุ้มภัยอันตรายได้ และจะมีความสุขสวัสดีตลอดกาลนาน และยังจัดให้คาถาพระอิติปิโส 8 ทิศ บทเรียกฝนแสนห่า เป็นคาถาภาวนาประจำพระอังคาร คือคาถา " ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง "

ทิศทักษิณ
พระอรหันต์ประจำทิศ ได้แก่ พระสารีบุตร ซึ่งเป็นเอตทัคคะ ผู้เลิศทางปัญญา แม้นกำเม็ดทราย 1 กำมือ ก็สามารถนับได้ ถ้าผู้ใดอยากมีปัญญาเฉลียวฉลาด มีวาจาอ่อนหวานไพเราะ บริสุทธิ์ ก็ให้บูชาพระพุธ ซึ่งชุบมาจากคชสารตามคติทางพระพุทธศาสนา จัดให้พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เป็นพระประจำวันพุธ (กลางวัน) และจัดให้สวดบทขัดพระปริตบทสัพพาสี เป็นคาถาสวดประจำสำหรับวันพุธ โดยสวด 17 จบ เพื่อบูชาพระปางอุ้มบาตร เพื่อช่วยให้เกิดโชคลาภคุ้มภัยอันตรายได้ และจะมีความสุขสวัสดียิ่งๆ ขึ้นไป และยังจัดให้คาถาพระอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์เกลื่อนสมุทร เป็นคาถาประจำพระพุธด้วย คือ " ปิ สัม ระ โล ปุ สัต พุท "

ทิศหรดี
พระอรหันต์ประจำทิศ คือ พระอุบาลี ซึ่งเป็นเอตทัคคะในด้านการทรงพระวินัย เปรียบอยู่ในกฏระเบียบ ซึ่งถ้าผู้ใดต้องการให้บุตรหลานอยู่ในระเบียบวินัยไม่หลงมัวเมาในอบายมุข ก็ควรบูชาพระเสาร์ตามคติของพระพุทธศาสนา จัดให้พระพุทธรูปนั่งปางนาคปรก และจัดคาถายะโตหัง เป็นคาถาบทสวดสำหรับพระเสาร์ โดยสวด 10 จบ ตามกำลังวัน บูชาพระนาคปรกเพื่อจะได้ช่วยคุ้มกันอันตรายต่างๆ ช่วยให้เกิดโชคลาภ จะมีความสุขความเจริญ และเกิดความสวัสดี มีมงคลตลอดกาลนานและยังให้บทสวดพระคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์คลายจักร เป็นคาถาประจำพระเสาร์อีกด้วยคือ " โส มา ณะ กะ ริ ถา โธ "

ทิศปัจจิม
พระ อรหันต์ประจำทิศ คือพระอานนท์ ซึ่งเป็นพุทธอุปัฐาก เลขาส่วนตัวของพระพุทธเจ้า ดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่ก่อนตื่นนอนและหลังจำวัด แม้ว่าพระพุทธองค์ไปแสดงธรรมเทศนาที่ใด ถ้าพระอานนท์ไม่ได้ไป จะต้องกลับมาแสดงธรรมให้พระอานนท์ฟังโดยเฉพาะอีกครั้ง ผู้ใดอยากให้บุตรหลาน ฉลาด รอบรู้ หูตากว้างไกลก็ควรบูชาพระพฤหัส พระพฤหัสชุบมาจากฤาษี 19 ตน ซึ่งมีความฉลาด หลักแหลม ปัญญา ดี รอบรู้ตามคติของพระพุทธศาสนา จัดให้พระพุทธรูปปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปประจำวันพฤหัส และจัดให้สวดคาถา
บทขัดพระปริตบทปุเรนตัมโพ โดยสวด 19 จบ ตามกำลังวันบูชาพระปางสมาธิ เพื่อจะช่วยคุ้มอันตรายต่างๆ และช่วยให้เกิดโชคลาภด้วย มีความสุขความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป และยังให้พระสวดพระคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์ขว้างจักรตรึงไตรภพ เป็นคาถาประจำวันพฤหัสบดีด้วยคือ " ภะ สัม มัม วิ สะ เท ภะ "

ทิศพายัพ
พระ อรหันต์ประจำทิศ คือ พระควัมปติ หรือพระสิวลี ซึ่งเป็นเอตทัคคะเลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายในเรื่องโชคลาภ ซึ่งตรงกับนพเคราะห์คือ พระราหูซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งขุมทรัพย์ทั้งหลายทั้งปวง มีอำนาจบารมีเป็นที่เกรงกลัว ผู้ใดอยากให้บุตรหลานมีโชคลาภ บารมีต้องบูชาพระราหู ให้คอยปกปักรักษาตามคติทางพระพุทธศาสนา ได้จัดให้พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ เป็นพระปางประจำราหู และกำหนดบทสวด บทกินนุ สัน ตะ ระมาโน วะ เป็นบทสวดประจำวันพุธกลางคืน ควรสวด 12 จบ ตามกำลังวัน เพื่อบูชาพระปางป่าเลไลยก์ เพื่อคุ้มภัยให้สิ่งร้ายกลายเป็นดีและจะมีความสุขสวัสดี และได้จัดพระคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์พลิกแผ่นดินเป็นคาถาประจำราหู คือ " คะ พุท ปัน ทู ทัม วะ คะ "


ทิศอุดร
ตรงกับพระอรหันต์ประจำ ทิศ คือ พระโมคคัลลา ซึ่งเป็นเอตทัคคะในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ตรงกับนพเคราะห์คือพระศุกร์ ผู้ใดอยากให้มีกิจการการค้ารุ่งเรือง ซื้อง่ายขายคล่อง พูดเป็นเงินเป็นทอง มีความสุขสบายในครอบครัวก็ควรบูชาพระศุกร์ตามคติทางพระพุทธศาสนา ได้จัดให้พระพุทธรูปยืนปางทรงรำพึง พระหัตถ์ทั้งสองวางทับกันที่หน้าอก เป็นพระประจำวันศุกร์และได้จัดคาถาบทขัดธชัคคสูตร เป็นบทสวดประจำพระศุกร์ โดยสวด 21 จบ ตามกำลังวันเพื่อช่วยให้เกิดโชคลาภ คุ้มกันภัยอันตรายใดๆ จะมีความสุขสวัสดีตลอดกาลนาน และยังได้จัดพระคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทตวาดฟ้าป่าหิมพานต์เป็นคาถาประจำวันศุกร์ คือ " วา โธ โน อะ มะ มะ วา "

ทิศอีสาน
ตรง กับพระอรหันต์ คือ พระราหุล ซึ่งเป็นเอตทัคคะในเรื่องของการศึกษา ใคร่ต่อการศึกษาเรียนรู้ ตรงกับนพเคราะห์คือพระอาทิตย์ ซึ่งชุบมาจากราชสีห์ผู้ใดอยากให้บุตรหลานมีปัญญาเฉียบแหลม สติปัญญาเป็นเลิศ มีฤทธิ์ มียศ ชื่อเสียงก็ควรจะบูชาพระอาทิตย์ และจัดให้พระปริตบทโมรปริต เป็นคาถาสวดสำหรับพระอาทิตย์ ควรสวด 6 จบ ตามกำลังวัน เพื่อให้เกิดโชคลาภ คุ้มภัยอันตราย จะมีความเจริญรุ่งเรืองและความสุขสวัสดีตลอดกาล และยังได้จัดเอาคาถาพระอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์แปลงรูปเป็นคาถาภาวนาสำหรับพระอาทิตย์ด้วยคือ " อะ วิ สุ นุต สา นุ ติ "

ตรงกลาง
มีพระเกตุอยู่ท่ามกลางจักรวาล ตรงกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นประธานของ พระอรหันต์ทั้ง 8 ทิศ เมื่อบูชาพระเกตุเท่ากับเสริมเดช เดชานุภาพผู้ที่ไม่ทราบวันเดือนปีเกิดของตนเองควรบูชาพระเกตุ ซึ่งมีกำลังดี และจัดให้พระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นปางของพระเกตุ และให้สวดคาถาบท พุทโธ จ มัชฌิโม เสฏิโฐ เป็นคาถาประจำพระเกตุโดยสวด 9 จบ เพื่อคุ้มกันเสนียดจัญไร ให้แคล้วคลาดปลอดภัยและได้จัดพระคาถานวหรคุณเป็นคาถาภาวนาประจำพระเกตุ คือ " อะ ระ หัง สุ คะ โต ภะ คะ วา "

ซึ่งจะเห็นได้ว่าคาถาบูชาพระประจำต่างๆ นั้น ก็ถอดออกมาจากบทสวดพระพุทธคุณ 56 นั่นเอง กล่าวคือ

อิ ติ ปิ โส ภะ คะ วา อะ
ระ หัง สัม มา สัม พุท โธ วิ
ชา จะ ระ ณะ สัม ปัน โน สุ
คะ โต โล กะ วิ ทู อะ นุต
ตะ โร ปุ ริ สะ ทัม มะ สา
ระ ถิ สัต ถา เท วะ มะ นุ
สา นัง พุท โธ ภะ คะ วา ติ
๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘


แถวตั้งที่ 1 บทคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทกระทู้ 7 แบก เป็นคาถาสวดพระจันทร์ 15 จบ
แถวตั้งที่ 2 บทคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทเรียกฝนแสนห่าเป็นคาถาสวดพระอังคาร 8 จบ
แถวตั้งที่ 3 บทคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์เกลื่อนสมุทรเป็นคาถาพระพุธ 17 จบ
แถวตั้งที่ 4 บทคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์คลายจักรเป็นคาถาสวดพระเสาร์ 10 จบ
แถวตั้งที่ 5 บทคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์ขว้างจักรตรึงไตรภพเป็นคาถาสวดพระพฤหัส 19 จบ
แถวตั้งที่ 6 บทคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์พลิกแผ่นดิน เป็นคาถาสวดพระราหู 12 จบ
แถวตั้งที่ 7 บทคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทตวาดฟ้าป่าหิมพานต์ เป็นคาถาสวดพระศุกร์ 21 จบ
แถวตั้งที่ 8 บทคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์แปลงรูป เป็นคาถาสวดพระอาทิตย์ 6 จบ

ที่มา https://www.ubmthai.com/leksoundsmf3/index.php?topic=32287.0



โดย: Nujeab    เวลา: 2019-3-28 12:05
๑. พระอัญญาโกณฑัญญะ เอตทัคคะในทางรัตตัญญู – ประจำทิศบูรพา (ตะวันออก)

        พระอัญญาโกณฑัญญะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ในหมู่บ้านโทณวัตถุ อันไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ “โกณฑัญญะ” เมื่อ เจริญเติบโตขึ้นได้ศึกษาศิลปะวิทยาจบไตรเพท และวิชาการทำนายลักษณะอย่างเชี่ยวชาญ ท่านเป็นหนึ่งในพราหมณ์ ๘ คน ที่ถูกคัดจาก ๑๐๘ คน เพื่อทำพิธีทำนายพระลักษณะตามราชประเพณี ให้แก่เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อประสูติได้ ๕ วัน เนื่องจากท่านมีอายุน้อยที่สุดจึงทำนายเป็นคนสุดท้าย และเป็นเพราะท่านได้สั่งสมบารมีมาครบถ้วนตั้งแต่อดีตชาติ และการเกิดในภพนี้ก็จะเป็นภพสุดท้าย จึงมีปัญญามากกว่าพราหมณ์ทั้ง ๗ คนแรก

       เมื่อได้พิจารณาตรวจดูพระลักษณะของพระกุมาร โดยละเอียดแล้ว ได้ยกนิ้วขึ้นเพียงนิ้วเดียวเป็นการยืนยันการพยากรณ์อย่างเด็ดเดี่ยวเป็นนัย เดียวเท่านั้นว่า “พระราชกุมาร ผู้บริบูรณ์ด้วยมหาบุรุษลักษณะอย่างนี้ จะไม่อยู่ครองเพศฆราวาสอย่างแน่นอน จักต้องเสด็จออกบรรพชา และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างมิต้องสงสัย”

            ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาถึง ๒๙ ปี เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา โกณฑัญญะพราหมณ์ทราบข่าวก็ดีใจ เพราะตรงกับคำทำนายของตน จึงรีบไปชวนบุตรของพราหมณ์ทั้ง ๗ คนที่ร่วมทำนายด้วยกันให้ออกบวชตามเสด็จพระมหาบุรุษ ซึ่งบุตรพราหมณ์เหล่านั้นยอมออกบวชเพียง ๔ คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และ อัสสชิ ท่านโกณฑัญญะ พร้อมด้วยมาณพทั้ง ๔ คน (รวมเป็น ๕ จึงได้นามว่า “ปัญจวัคคีย์”) จึงออกบวช สืบเสาะถามหาพระมหาบุรุษไปตามสถานที่ต่าง ๆ จนมาพบพระองค์กำลังบำเพ็ญความเพียรอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม

            ด้วยความมั่นใจว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอย่างแน่นอน จึงพากันเข้าไปทำกิจวัตรอุปัฏฐาก จัดน้ำใช้ น้ำฉัน และ ปัดกวาดเสนาสนะ เป็นต้น ด้วยหวังว่าเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดพวกตนให้รู้ตามบ้าง เมื่อพระมหาบุรุษ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างอุกฤษฏ์เป็นเวลาถึง ๖ ปี ก็ยังไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณ ทรงพระดำริว่า “วิธีนี้คงจะไม่ใช่ทางตรัสรู้” จึงทรงเลิกละความเพียรด้วยวิธีทรมานกาย หันมาบำเพ็ญเพียรทางจิต เลิกอดพระกระยาหาร กลับมาเสวยตามเดิม เพื่อบำรุงพระวรกายให้แข็งแรง ฝ่ายปัญจวัคคีย์ เห็นพระโพธิสัตว์ละความเพียรนั้นแล้ว ก็รู้สึกหมดหวัง จึงพากันเหลีกหนีทิ้งพระโพธิสัตว์ ให้ประทับอยู่ตามลำพังพระองค์เดียว

            ครั้นพระโพธิสัตว์ ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงดำริพิจารณาหาบุคคลผู้สมควรจะรับฟังพระปฐมเทศนา พระองค์ทรงระลึกถึงอาจารย์ทั้งสองที่พระองค์เคยเข้าไปศึกษา คือ อาฬารดาบสกาลามโคตร แต่ได้ทราบว่าท่านได้ถึงแก่กรรมไปได้ ๗ วัน แล้วและอีกท่านหนึ่ง คือ อุทกดาบสรามบุตร แต่ก็ได้ทราบด้วยพระญาณว่าท่านเพิ่งจะสิ้นชีพไปเมื่อวันวานนี้เอง ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ทรงระลึกถึง ปัญจวัคคีย์ ผู้ซึ่งเคยมีอุปการคุณแก่พระองค์เมื่อสมัยทำทุกรกิริยา และทรงทราบว่าขณะนี้ท่านทั้ง ๕ พักอาศัย อยู่ที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงดำริดังนี้แล้ว จึงได้เสด็จพุทธดำเนินไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันเพื่อโปรดปัญจวัคคีย์

            พระพุทธองค์ ทรงประกาศพระสัพพัญญุตญาณแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ โดยตรัสพระธรรมจักรกัปวัตนสูตร เป็นปฐมเทศนา เมื่อจบพระธรรมเทศนา ธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีมลทิน เกิดขึ้นแก่โกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา” เพราะความที่ท่านเป็นพระเถระ ผู้มีอายุพรรษากาลมาก มีประสบการณ์มาก จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าภิกษุ ทั้งหลายในทาง ผู้รัตตัญญู หมายถึง ผู้รู้ราตรีนาน


        ในบั้นปลายชีวิต พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพระเถระผู้เฒ่า ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบหลีกเร้นอยู่ในสถานที่อันสงบวิเวกตามลำพัง

        ในคัมภีร์มโนรถปูรณี และคัมภีร์ธุรัตวิลาสินี กล่าวไว้ตรงกันว่า เป็นเวลา ๑๒ ปี ก่อนที่ท่านจะนิพพาน ท่านได้กราบทูลลาพระบรมศาสดาไปจำพรรษา ณ ป่าหิมพานต์ บริเวณใกล้สระฉัททันต์ตามลำพัง เป็นเวลานาน ๑๒ ปี

            วันที่ท่านจะนิพพาน ท่านพิจารณาอายุสังขารแล้ว ได้มาเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อกราบทูลลานิพพาน ครั้นพระพุทธองค์ประทานอนุญาตแล้ว ท่านเดินทางกลับยังป่าหิมพานต์ และนิพพานในบรรณศาลาที่พักริมสระฉัททันต์นั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกจำนวนมาก ได้เสด็จไปทำฌาปนกิจศพให้ท่าน


โดย: Nujeab    เวลา: 2019-3-28 12:06
๒.พระมหากัสสปะเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์ – ประจำทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้)

        เดิมเป็นบุตรของกปิลพราหมณ์ ตระกูลกัสสปะในบ้านมหาติฏฐะ แคว้นมคธ ชื่อเดิมของท่านคือ “ปิปผลิ” แต่คนทั่วไปมักเรียกท่านตามวงศ์ตระกูลว่า “กัสสปะ” เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้เข้าพิธีอาวาหมงคลกับนาง “ภัททกาปิลานี” วัย ๑๖ ปี โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่เต็มใจ ภายหลังจากแต่งงานกันแล้ว การครองคู่ของคนทั้งสองจึงไม่เหมือนสามีภรรยาคู่อื่น ๆ เพราะสักแต่ว่าอยู่ร่วมห้องกันเท่านั้น แม้เวลาจะขึ้นเตียงนอนก็ขึ้นกันคนละข้าง มีแจกันดอกไม้ตั้งอยู่ตรงกลางเตียง ตลอดระยะเวลาที่ทั้งสองอยู่ร่วมกันนั้น มิได้สัมผัสถูกต้องกันเลยจึงไม่มีบุตรหรือธิดาสืบสกุล เมื่อบิดามารดาถึงแก่กรรม ทั้งสองสามีภรรยาซึ่งมีความเบื่อหน่ายเพศฆราวาสจึงพร้อมใจกันสละทรัพย์ สมบัติทั้งหมดให้ญาติและบริวาร แล้วพากันออกบวช จัดหาผ้ากาสาวพัสตร์และบริขารพากันปลงผม แล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์ อธิษฐานเพศบรรพชิตบวชอุทิศต่อพระอรหันต์ในโลกแล้วเดินร่วมทางกันไป

        พอถึงทางสองแพร่งจึงแยกทางกัน ปิปผลิไปทางขวา ส่วนนางภัททกาปิลานี ไปทางซ้าย นางเดินทางไปพบสำนักปริพาชกแล้วได้เข้าไปขอบวชในสำนักนั้น เนื่องด้วยขณะนั้น พระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงอนุญาตให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา ต่อเมื่อพระนางปชาบดีโคตรมีได้บวชแล้ว นางจึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระเถระ ศึกษาพระกรรมฐาน บำเพ็ญวิปัสสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล


        ฝ่ายปิปผลิมานพ เมื่อเดินทางไปได้พบพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับที่ภายใต้ร่มไทร ระหว่างกรุงราชคฤห์กับนาลันทา เห็นพุทธจริยาน่าเลื่อมใสแปลกกว่านักบวชอื่น ๆ ที่ตนเคยพบมา ปลงใจเชื่อว่าต้องเป็นพระอรหันต์แน่นอน จึงน้อมกายกราบถวายบังคมแทบพระบาท กราบทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ ประทานการอุปสมบทด้วยวิธีให้รับโอวาท ๓ ข้อ เรียกว่า “โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา”


    เมื่อท่านอุปสมบทแล้วทำความเพียรไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล หลังจากอุปสมบทได้ ๘ วัน พุทธบริษัทั้งหลายรู้จักท่านในนาม “พระมหากัสสะ” ท่านได้ช่วยรับภารธุระอบรมสั่งสอนพระภิกษุและพุทธบริษัทอื่น ๆ จนมีภิกษุเป็นบริวารจำนวนมาก ท่านมีปกติสมาทานธุดงค์ ๓ ประการ อย่างเคร่งครัด คือ:-

    ๑) ถือการนุ่งห่มบังสุกุลเป็นวัตร
    ๒) ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
    ๓) ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร

    เพราะการปฏิบัติในธุดงค์คุณทั้ง ๓ ประการนี้อย่างเคร่งครัด พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้ทรงธุดงค์ และเป็นผู้มักน้อยสันโดษ

        ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ยินดีในการ อยู่ป่า มักน้อย สันโดษ ประวัติของท่านจึงไม่ค่อยโดดเด่นเป็นที่รู้จักกันมากนัก จวบจนสมัยที่พระบรมศาสดาปรินิพพานได้ ๗ วัน ขณะที่ท่านกำลังเดินทางพร้อมด้วยภิกษุบริวารของท่านเพื่อไปเข้าเฝ้าประบรม ศาสดา ได้ทราบข่าวจากอาชีวกะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ทำให้ภิกษุทั้งหลายที่เป็นปุถุชนพากันร่ำไห้เสียใจ รำพึงรำพันถึงพระบรมศาสดา รำพึงรำพันถึงพระบรมศาสดา แต่มีภิกษุวัยชรานามว่า สุภัททะ พูดห้ามปรามภิกษุเหล่านั้นมิให้ร้องไห้โดยกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย อย่าร้องไห้เสียใจไปเลย พระพุทธองค์ปรินิพพานเสียได้ก็ดีแล้ว ต่อไปนี้พวกเราพ้นจากอำนาจของพระศาสดาแล้ว จะทำอะไรก็ย่อมได้ ไม่มีใครมาบังคับว่ากล่าวห้ามปรามพวกเราอีกแล้ว”

        พระมหากัสสปะเถระ ได้ฟังคำของพระสุภัททะแล้วเกิดความสังเวชสลดใจว่า “พระ พุทธองค์ปรินิพพานได้เพียง ๗ วัน ยังมีผู้กล่าวจ้วงจาบล่วงเกินพระธรรมวินัยถึงเพียงนี้ ต่อไปภายหน้าก็คงจะหาผู้เคารพในพระธรรมวินัยได้ยากยิ่ง” ด้วยคำพูดของพระสุภัททะเพียงเท่านี้ หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ท่านได้ชักชวนพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ ประชุมกันทำปฐมสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยตั้งไว้เป็นหมวดหมู่ เป็นตัวแทนองค์พระบรมศาสดาปกครองหมู่สงฆ์ต่อไป

        ในคัมภีร์พระสาวกนิพพานกล่าว่า พระมหากัสสปะเถระ เมื่อทำหน้าที่เป็นประธานในการทำปฐมสังคายนาแล้ว ได้พักอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ดำรงอยู่ถึง ๑๒๐ ปี ก่อนที่ท่านจะนิพพาน ๑ วัน ท่านได้ตรวจดูอายุสังขารของท่านแล้วทราบว่าจะอยู่ได้อีกเพียงวันเดียวเท่า นั้น ท่านจึงประชุมบรรดาภิกษุผู้เป็นศิษย์ของท่านแล้วให้โอวาทเป็นครั้งสุดท้าย สั่งสอนภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชนมิให้เสียใจกับการจากไปของท่าน ให้พยายามทำความเพียรและอย่าประมาท แล้วพระเถระก็เข้าไปถวายพระพรลาพระเจ้าอชาตศัตรู จากนั้นท่านได้พาหมู่ภิกษุไปยังภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต แสดงอิทธิปาฏิหาริยิ์ และให้โอวาทแก่พุทธบริษัทแล้ว อธิษฐานจิต ขอให้ภูเขาทั้ง ๓ ลูกมารวมเป็นลูกเดียวกัน ซึ่งในภูขาทั้ง ๓ ลูกนั้นมีภูเขาเวภารบรรพตสถานที่ทำปฐมสังคายนารวมอยู่ด้วย แล้วท่านก็ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน ณ ที่นั้น นอกจากนี้ท่านยังได้อธิษฐานว่า ขอให้สรีระของท่านยังคงสภาพเดิมไม่สูญ สลาย จนกระทั่งพระศาสนาพระศรีอริยเมตไตร ซึ่งพระองค์จะพาหมู่ภิกษุสงฆ์มายังภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพตแล้ว ยกสรีระของพระเถระวางบนพระหัตถ์ขวาชูขึ้นประกาศสรรเสริญคุณของพระเถระแล้ว เตโชธาตุก็จะเกิดขึ้นเผาสรีระของท่านบนฝ่าพระหัตถ์ของพระศรีอริยเมตไตร พุทธเจ้านั้น


โดย: Nujeab    เวลา: 2019-3-28 12:06
  ๓.พระสารีบุตรเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีปัญญา - ประจำทิศทักษิณ (ทิศใต้)

        เดิมชื่อว่า อุปติสสะ เป็นบุตรของวังคันตะ หัวหน้าหมู่บ้านอุปติสสคาม ตำบลนาลันทา เพราะมารดาชื่อว่า นางสารี จึงนิยมเรียกกันว่า สารีบุตร มีสหายสนิทชื่อว่า โกลิตะ ซึ่งเป็นบุตรของหัวหน้าหมู่บ้านโกลิตคาม แต่เพราะภรรยาชื่อว่า นางโมคคัลลี โกลิตะจึงถูกเรียกกันว่า โมคคัลลานะ ตามชื่อของมารดา ทั้งสองตระกูลนี้ มีความเกี่ยวข้องมานานถึง ๗ ชั่วอายุคนดัง นั้น มาณพทั้งสองได้ เข้าศึกษาศิลปะวิทยาในสำนักของอาจารย์คนเดียวกันเมื่อจบการศึกษาก็เป็น เพื่อนเที่ยวร่วมสุขร่วมทุกข์ หาความสนุกความสำราญ ดูการเล่นมหรสพตามประสาวัยรุ่น และให้รางวัลแก่ผู้แสดงบ้างตามโอกาสอันควร

        วันหนึ่งทั้งสองพร้อมด้วยบริวาร ไปดูมหรสพด้วยกันเช่นเคย แต่ครั้งนี้มิได้มีความสนุกยินดี เบิกบานใจเหมือนครั้งก่อน ๆ เลย ทั้งสองมีความคิดตรงกันว่า “ทั้งคนแสดงและทั้งคนดู ต่างก็มีอายุไม่ถึงร้อยปีก็จะตายกันหมด ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลยกับการหาความสุขความสำราญแบบนี้ เราควรแสวงหาโมกขธรรม จะประเสริฐกว่า” ทั้งสองเมื่อทราบความรู้สึกและความประสงค์ของกันและกันแล้ว จึงตกลงกันนำบริวารฝ่ายละครึ่ง รวมได้ ๕๐๐ คนออกบวชที่สำนักของ สญชัยปริพาชก ตั้งแต่มาณพทั้งสองมาบวชอยู่ด้วยแล้วก็เจริญรุ่งเรืองด้วยลาสักการะ และคนเคารพนับถือมากขึ้น มาณพทั้งสองศึกษาอยู่ในสำนักนี้ไม่นาน ก็สิ้นความรู้ของอาจารย์ เมื่อถามถึงวิทยาการที่สูงขึ้นไปอีก อาจารย์ก็ไม่สามารถจะสอนให้ได้ จึงปรึกษากันว่าควรพยายามแสวงหาอาจารย์ ผู้สามารถแสดงโมกขธรรมได้และสัญญาต่อกันว่า “ถ้าผู้ใดได้อมตธรรมก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่กันให้รู้ด้วย”


        วันหนึ่งอุปติสสะได้พบพระอัสสชิ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ ซึ่งจาริกมาถึงกรุงราชคฤห์ ได้เห็นท่านแสดงออกซึ่งปฏิปทาอันน่าเลื่อมใส ด้วยเรียบร้อยไปทุกอิริยาบถ แม้การทอดจักษุก็แต่พอประมาณ ซึ่งแปลกไปจากบรรพชิต ที่เคยเห็นมาแต่กาลก่อน จึงเดินตามไปห่าง ๆ เมื่อพระเถระได้รับอาหารพอสมควรแล้วออกไปสู่ที่แห่งหนึ่งเพื่อทำภัตตกิจ อุปติสสปริพาชก จึงคอยเฝ้าปฏิบัติอยู่ เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว จึงกราบเรียนถามว่า ใครเป็นศาสดาของท่าน พระเถระตอบว่า “ปริพาชกผู้มีอายุ เราบวชจำเพาะพระมหาสมณะศากยบุตรผู้เสด็จออกจากศากยสกุล พระองค์เป็นศาสดาของเรา”

        แล้วพระอัสสชิเถระ ก็กล่าวหัวข้อธรรมมีใจความว่า:-

        เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ? ตถาคโต
        เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณฯ

        “ธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด (เกิดแต่เหตุ) พระตถาคตเจ้า ทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นและความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะ ตรัสอย่างนี้”

        อุปติสสะ เพียงได้ฟังหัวข้อธรรมนี้จากพระเถระเท่านั้นก็สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เกิดธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา”

        ส่วน โกลิตะ ผู้เป็นสหาย เมื่อเห็นอุปติสสะเดินมาแต่ไกลด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ผิวพรรณมีสง่าราศีกว่าวันอื่น ๆ จึงคิดว่า “วันนี้ สหายของเรา คงได้พบอมตธรรมเป็นแน่” เมื่อสหายเข้ามาถึงจึงรีบสอบถาม ก็ได้ความตามที่คิดนั้น และเมื่ออุปติสสะแสดงหัวข้อธรรมให้ฟัง ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็น พระโสดาบันเช่นเดียวกัน สองสหายตกลงที่จะพาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดา


    ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัทสี่ ได้ทอดพระเนตรเห็นสองสหายพร้อมด้วยบริวาร เดินมาแต่ไกล จึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปริพาชกสองสหายที่กำลังเดินมานั้น คือ คู่อัครสาวก ของตถาคต”

    เมื่อปริพาชกทั้งสองพร้อมด้วยบริวารมา ถึงที่ประทับ กราบถวายบังคมแล้วนั่งในที่อันสมควร ได้สดับพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว บรรดาบริวารทั้งหมดได้บรรลุพระอรหัตผล เว้นอุปติสสะและโกลิตะ ผู้เป็นหัวหน้า ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ประทานการอุปสมบทแก่พวกเธอทั้งหมดด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” และทรงบัญญัตินามให้ท่านอุปติสสะว่า “พระสารีบุตร” และให้ท่านโกลิตะว่า “พระโมคคัลลานะ” ตามมงคลนามของมารดา

    พระสารีบุตร หลังจากอุปสมบทแล้วได้ ๑๕ วัน ได้ติดตามพระพุทธองค์ ซึ่งเสด็จไปประทับพักที่ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ วันหนึ่งขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา ที่ภูเขาคิชกูฏนั้น และได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด ทีฆนขะ (ซึ่งเป็นหลานชายของพระสารีบุตร เที่ยวติดตามหาลุงจนพบ) ขณะนั้นพระสารีบุตร ได้นั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องหลังพระศาสดา ได้ฟังพร้อม ส่งจิตพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนานั้น จิตก็หลุดพ้นจากอาสวกิเลส ที่บุคคลจัดให้คนอื่น ส่วน ทีฆนขะ หลายชายก็ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล แสดงตนเป็นอุบาสก ในพระพุทธศาสนา

    เมื่อพระสารีบุตร ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถแสดงพระธรรมจักรกัปวัตนสูตร และอริยสัจ ๔ ได้เหมือนพระพุทธองค์ และเป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดา ในการประกาศเผยแผ่พระศาสนา พระพุทธองค์ ได้ทรงประกาศยกย่อง พระสารีบุตร ในท่ามกลางสงฆ์และ ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้มีปัญญา และทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง พระอัครสาวกเบื้องขวา


    นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังทรงยกย่องพระสารีบุตรเถระ อีกหลายประการกล่าวคือ

       ๑. เป็นผู้มีปัญญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตด้วยกัน เช่น สมัยที่พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลลาไปปัจฉาภูมิชนบททรงรับสั่งให้ไปลาพระสารีบุตรก่อน เพื่อท่านจะได้แนะนำสั่งสอน มิให้เกิดความเสียหายในระหว่างการเดินทางและในสถานที่ที่ไปนั้นด้วย

        ๒. ยกย่องท่านเป็น “พระธรรมเสนาบดี” ซึ่งคู่กับ “พระธรรมราชา” คือ พระองค์เอง

        ๓. ยกย่องท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที เป็นเลิศ เช่น ท่านนับถือ พระอัสสชิเป็นอาจารย์ เพราะท่านเข้ามาสู่พระพุทธศาสนาด้วยการฟังธรรมจากพระอัสสชิ ทุกคืนก่อนที่ท่านจะนอน ท่านได้ทราบข่าวว่าพระอัสสชิอยู่ทางทิศใด ท่านจะนมัสการไปทางทิศนั้น ก่อนแล้วจึงนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น

        ในปัจฉิมโพธิกาล ขณะที่พระบรมศาสดาประทับ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี พระสารีบุตรถวายวัตปฏิบัติแด่พระบรมศาสดาแล้ว กราบทูลลาไปสู่ที่พักของตนนั่งสมาธิเข้าสมาบัติ เมื่อออกจากสมาบัติแล้วพิจารณาตรึกตรองว่า “ธรรมดาประเพณีแต่โบราณมา พระบรมศาสดาทรงนิพพานก่อน หรือพระอัครสาวกนิพพานก่อน” ก็ทราบแน่ชัดในใจว่า “พระอัครวสาวกนิพพานก่อน”

        จากนั้นได้พิจารณาอายุสังขารของตนเองก็ทราบว่า “จะมีอายุดำรงอยู่ได้ อีก ๗ วัน เท่านั้น” จึงพิจารณาต่อไปว่า “เราควรจะไปนิพพานที่ไหนดีหนอ และพระเถระ ก็นึกถึงพระราหุลว่า พระราหุล ไปนิพพานที่ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่ดาวดึงส์เทวโลก พระอัญญาโกณฑัญญะ ไปนิพพานที่สระฉัททันต์ ป่าหิมพานต์” ลำดับนั้น พระเถระได้ปรารภถึงมารดาของตนว่าได้เป็นมารดาของพระอรหันต์ถึง ๗ องค์ ถึงกระนั้นก็ยังไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ครั้นพระเถระพิจารณาไปก็ได้ทราบว่ามารดานั้นมีอุปนิสัยแห่งพระโสดาบัน จึงตกลงใจที่จะไปนิพพานที่บ้านของตน เพื่อโปรดมารดาเป็นวาระสุดท้าย


        ในราตรีสุดท้ายนั้น แม้พระเถระเกิดอาพาธอย่างแรงกล้า ถึงกับอาเจียนและถ่ายออกมาเป็นโลหิต แต่ก็อดกลั้นด้วยขันติธรรม ได้แสดงธรรมโปรดมารดา พรรณา พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ยังมารดาให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา ได้ชื่อว่ากระทำปฏิการะสนองคุณมารดาดังที่ตั้งใจมา ปิดประตูนรก เปิดประตูสวรรค์ ให้แก่มารดาได้สำเร็จ

        เมื่อแสงเงินแสงทอง อันเป็นสัญญาณแห่งรุ่งอรุณปรากฏขึ้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ก็ดับขันธปรินิพพาน ในวันปุรณมีขึ้น ๑๕ ค่ำ เพ็ญเดือน ๑๒ ครั้นเมื่อสว่างดีแล้ว พระจุนทะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์และหมู่ญาติ ประกอบพิธีคารวะศพพระเถระแล้วนำไปสู่เชิงตะกอนทำพิธีฌาปนกิจ

        เมื่อเพลิงดับแล้วพระจุนทะได้นำอัฐิธาตุ และบริขารคือบาตรและจีวรของพระสารีบุตร ไปถวายแด่พระพุทธองค์ ซึ่งก็รับสั่งให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิพระเถระที่ซุ้มประตู แห่งพระเชตวันมหาวิหารนั้น


โดย: Nujeab    เวลา: 2019-3-28 12:08
๔. พระอุบาลีเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย - ประจำทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้)

        พระอุบาลี เกิดในตระกูลช่างกัลบก ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นช่างกัลบก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ช่างภูษามาลา มีหน้าที่ตัดแต่งพระเกศาประจำราชสกุลศากยะ

       ในสมัยที่พระพุทธองค์ เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่นครกบิลพัสดุ์ แล้วเสด็จไปประทับที่อนุปิยอัมพวัน ซึ่งเป็นแว่นแคว้นของมัลลกษัตริย์ เจ้าชายศากยะทั้ง ๕ พระองค์ คือเจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายภัคคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายอานนท์ ได้ตัดสินพระทัยออกบวช โดยอุบาลีภูษามาลาก็ได้ตามเสด็จด้วย ครั้นเห็นว่าได้มาไกลพอสมควรแล้วเจ้าชายศากยะจึงส่งนายอุบาลีกลับ และทรงเปลื้องเครื่องประดับออก เอาภูษาห่อแล้วมอบให้กับนายอุบาลีเพื่อใช้เป็นทรัพย์ในการเลี้ยงชีพต่อไป

        ขณะที่เดินทางกลับนั้นอุบาลีคิดว่า ถ้ากลับไปแล้ว เจ้าศากยะอาจคิดว่าเราลวงเจ้าชายมาประหารแล้วชิงเอาเครื่องประดับตกแต่งมา เขาจึงแก้ห่อเครื่องประดับแล้วเอาเครื่องประดับนั้นแขวนไว้บนต้นไม้ แล้วหันหลังกลับเดินตามไปเฝ้าศากยกุมารเพื่อขอบวช เหล่าขัตติยกุมารก็เห็นด้วย จึงพาอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลขอบวช โดยทรงขอให้พระพุทธองค์ บวชให้นายอุบาลีนี้ก่อน ด้วยเหตุเพื่อลดมานะความถือตัวของตนเองที่เป็นวงศ์กษัตริย์ เพราะเมื่อบวชหลังนายอุบาลีก็ต้องทำความเคารพผู้ที่บวชมาก่อน แม้ผู้นั้นจะเคยเป็นมหาดเล็กรับใช้และเป็นช่างภูษามาลาก็ตาม


        พระอุบาลี เมื่อบวชแล้ว ได้ศึกษาพระกรรมฐานจากสมเด็จพระผู้มีพระภาค หลังจากนั้นท่านมีความประสงค์จะไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่า เพื่อหาความสงบตามลำพัง แต่เมื่อกราบทูลลาพระผู้มีพระภาคแล้ว พระองค์ไม่ทรงอนุญาต ได้มีรับสั่งว่า “อุบาลี ถ้าเธอไปอยู่ในป่าบำเพ็ญสมณธรรม ก็จะสำเร็จเพียงวิปัสสนาธุระ แต่ถ้าเธออยู่ในสำนักของตถาคต ก็จะสำเร็จธุระทั้งสอง คือ ทั้งวิปัสสนาธุระ และคันถธุระ (การเรียนคัมภีร์ต่าง ๆ )”

        ท่านปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสที่ตรัสแนะนำ ได้ศึกษาพระพุทธพจน์ไปพร้อมกับเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็บรรลุพระอรหัตผลในพรรษานั้น

        หลังจากนั้นท่านก็เป็นกำลังสำคัญ ในการเผยแผ่พระศาสนา เพราะความที่ท่านอยู่ใกล้ชิดพระบรมศาสดาโดยตรง ท่านจึงมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ในด้านพระวินัย ท่านช่วยอบรมสั่งสอนถ่ายทอดความรู้ด้านพระวินัยให้แก่ศิษย์ลัทธิวิหาริกของ ท่านเป็นจำนวนมาก ถ้ามีอธิกรณ์เกิดขึ้นแก่ภิกษุสงฆ์หรือเกี่ยวกับพระวินัยแล้ว พระพุทธองค์จะทรงมอบให้ท่านเป็นผู้วินิจฉัย และตัดสินความ เช่นกรณีภิกษุณีท้อง ซึ่งพระบรมศาสดาทรงอนุโมทนาสาธุการแก่พระเถระว่า “ชำระความได้ถูกต้องยุติธรรม”

        ในการทำปฐมสังคายนา มติของที่ประชุมสงฆ์ได้มอบให้ท่านรับหน้าที่วิสัชนาพระวินัย โดยรวบรวมพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ในที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ นำมาจัดรวบรวมเป็นหมวดหมู่จนเป็น พระวินัยปิฎก ที่เป็นหลักฐานให้ศึกษากันในปัจจุบันนี้ ด้วยท่านพระอุบาลีเถระ เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านพระวินัยนี้เอง จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดา ในแหน่งเอตทัคคะเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้ทรงพระวินัย ท่านพระอุบาลีเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

    ๕. พระอานนท์เถระ เอตทัคคะในทาง “ผู้เป็นพหูสูต” – ประจำทิศประจิม (ตะวันตก)

        พระอานนท์ เป็นพระราชโอรสของพระสุกโกทนะ และพระนางกีสาโคตรมี ออกบวชพร้อมกับเจ้าชายอนุรุทธะและอุบาลี เมื่อท่านบวชแล้ว ได้ฟังโอวาทจากพระปุณณมันตานี ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

        พระอานนท์ได้รับเลือกเป็นพุทธอุปัฎฐากใน ช่วงปฐมโพธิกาลหลังจากตรัสรู้แล้ว ๒๐ พรรษา ขณะนั้น ยังไม่มีพระภิกษุใดปฏิบัติรับใช้พระพุทธองค์เป็นประจำ มีแต่พระภิกษุผลัดเปลี่ยนวาระกันปฏิบัติ เช่น พระนาคสมาละ พระนาคิตะ พระอุปวาณะ พระสาคตะ และพระเมฆิยะ เป็นต้น บางคราวการผลัดเปลี่ยนบกพร่อง องค์ที่ปฏิบัติอยู่ออกไป แต่องค์ใหม่ยังไม่มาแทน ทำให้พระพุทธองค์ต้องประทับอยู่ตามลำพัง บางครั้งพระภิกษุผู้ปฏิบัติ ก็ดื้อดึงขัดรับสั่งของพระพุทธองค์

       เช่นครั้งหนึ่ง เป็นวาระของพระนาคสมาลเถระ ท่านได้ตามเสด็จพระพุทธองค์ไปทางไกล พอถึงทาง ๒ แพร่ง พระเถระทราบทูลให้เสด็จไปอีกทางหนึ่ง แต่พระองค์ทรงตรัสห้ามว่า

        “อย่าเลย นาคสมาละ ไปอีกทางหนึ่งจะดีกว่า”

        พระนาคสมาละ ไม่ยอมเชื่อฟังพระดำรัส ขอแยกทางกับพระพุทธองค์ ทำท่าจะวางบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคที่พื้นดิน พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

        “นาคสมาละ เธอจงส่งบาตรและจีวรมาให้ตถาคตเถิด”

        พระนาคสมาละ ถวายบาตรและจีวรแด่พระพุทธองค์แล้วแยกทางเดินไปตามที่ตนต้องการ ไปได้ไม่ไกลนักก็ถูกพวกโจรทำร้ายจนศีรษะแตกวิ่งกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลเล่าเรื่องให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

        “อย่าเสียใจไปเลย นาคสมาละ ตถาคตห้ามเธอก็เพราะเหตุนี้”

        พระ พุทธองค์ ได้รับความลำบากพระวรกายเพราะถูกปล่อยให้ประทับอยู่ตามลำพังหลายครั้ง ภิกษุสงฆ์จึงประชุมเลือกสรรผู้มาทำหน้าที่ปฏิบัติพระองค์เป็นประจำ และ มีฉันทามติมอบหมายให้พระอานนท์เถระรับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากตลอดไป ด้วยเห็นว่าท่านเป็นผู้มีสติปัญญา ขยัน อดทน รอบคอบ และเป็นพระญาติใกล้ชิด ย่อมจะทราบพระอัธยาศัยเป็นอย่างดี


        แต่ก่อนที่พระเถระจะตอบรับทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากนั้น ท่านได้กราบทูลขอพร ๘ ประการ ดังนี้:-

        ๑ ขออย่าประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระองค์
        ๒ ขออย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระองค์
        ๓ ขอได้โปรดอย่าให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
        ๔ ขอได้โปรดอย่าพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์
        ๕ ขอพระองค์จงเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ที่ข้าพระองค์รับไว้
        ๖ ขอให้ข้าพระองค์พาบริษัทที่มาจากแดนไกลเข้าเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่มาถึงแล้ว
        ๗ ถ้าข้าพระองค์เกิดความสงสัยขึ้นเมื่อใดขอให้ข้าพระองค์เข้าเฝ้าทูลถามความสงสัยได้เมื่อนั้น
        ๘ ถ้าพระองค์แสดงพระธรรมเทศนาเรื่องใด ในที่ลับหลังข้าพระองค์ขอได้โปรดตรัสพระธรรมเทศนาเรื่องนั้น แก่ข้าพระองค์อีกครั้ง


        พระบรมศาสดา ได้สดับคำกราบทูลขอพรของพระอานนท์เถระแล้ว ได้ตรัสถามถึงคุณและโทษของพร ๘ ประการ ซึ่งพระอานนท์ได้กราบทูลว่า:-

        “ข้า แต่พระผู้มีพระภาค ถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อที่ ๑-๔ ข้างต้น ก็จะมีคนพูดติฉินนินทา ได้ว่า พระอานนท์ ปฏิบัติบำรุงอุปัฏฐากพระบรมศาสดา จึงได้ลาภสักการะมากมายอย่างนี้ การปฏิบัติอุปัฏฐากมิได้หนักหนาอะไรเลย และถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อที่ ๕-๗ ก็จะมีคนพูดได้อีกว่าพระอานนท์ จะบำรุงอุปัฏฐากพระบรมศาสดาไปทำไม แม้กิจเพียงเท่านี้ พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงอนุเคราะห์ อนึ่ง โดยเฉพาะถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อสุดท้ายแล้ว หากมีผู้มาถามข้าพระองค์ว่า ธรรมข้อนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงที่ไหน ถ้าข้าพระองค์ไม่ทราบ เขาก็จะตำหนิได้ว่า พระอานนท์ ติดตามพระบรมศาสดาไปทุกหนแห่ง ดุจเงาตามพระองค์ แต่เหตุไฉนจึงไม่รู้แม้แต่เรื่องเพียงเท่านี้

        พระ บรมศาสดา เมื่อได้สดับคำชี้แจงของพระอานนท์แล้ว จึงประทานสาธุการ และพระราชทานอนุญาตให้ตามที่ขอทุกประการ ตั้งแต่นั้นมา ท่านพระเถระก็ปฏิบัติหน้าที่บำรุงอุปัฏฐากพระพุทธองค์ตลอดมา ตราบเท่าถึงเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน


    พระอานนท์เถระ ได้ปฏิบัติพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด มิได้ประมาทพลาดพลั้ง ได้ฟังพระธรรมเทศนาทั้งที่ทรงแสดงแก่ตนและผู้อื่น ทั้งที่แสดงต่อหน้าและลับหลัง อีกทั้งท่านเป็นผู้มีสติปัญญาทรงจำไว้ได้มาก จึงเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรม พระบรมศาสดาทรงยกย่องท่านในตำแหน่ง เอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งปวง ถึง ๕ ประการ คือ เป็นพหูสูต เป็นผู้มีสติ เป็นผู้มีคติ เป็นผู้มีความเพียร และเป็นพุทธอุปัฏฐาก

    ในกาลที่พระพุทธองค์ใกล้ปรินิพพาน พระอานนท์เถระมีความน้อยเนื้อต่ำใจที่ตนยัง เป็นพระโสดาบันอยู่ อีกทั้งพระบรมศาสดาบรมครูก็จะเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานในอีกไม่ช้า จึงหลีกออกไปยืนร้องไห้แต่เพียงผู้เดียวข้างนอก พระพุทธองค์รับสั่งให้ภิกษุไปเรียกมา แล้วตรัสเตือนให้คลายทุกข์โทมนัสพร้อมทั้งตรัสพยากรณ์ว่า....

    “อานนท์ เธอจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันทำปฐมสังคายนา” เมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระได้นัดประชุมพระอรหันต์ขีณาสพ จำนวน ๕๐๐ องค์ เพื่อทำปฐมสังคายนา โดยมอบให้พระอานนท์รับหน้าที่วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม

    แต่เนื่องจากพระอานนท์ยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ท่านจึงเร่งทำความเพียรอย่างหนักแต่ก็ยังไม่สำเร็จจนเกิดความอ่อนเพลีย ท่านจึงปรารภที่จะพักผ่อนอิริยาบถสักครู่ จึงเอนกายลงบนเตียง ในขณะที่เท้าพ้นจากพื้น ศีรษะกำลังจะถึงหมอน ท่านก็สำเร็จเป็นพะอรหันต์ ในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ไม่ได้อยู่ในอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งทั้ง ๔ อย่าง คือ อิริยาบถยืน เดิน นั่ง หรือนอน นับว่าท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แปลกกว่าพระเถระรูปอื่น ๆ


    พระอานนท์เถระ ดำรงอายุสังขารอยู่นานถึง ๑๒๐ ปี พิจารณาเห็นว่าสมควรที่จะปรินิพพานได้แล้ว ท่านจึงเชิญญาติทั้งฝ่ายศากยะและฝ่ายโกลิยะ ไปที่ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี ซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ

    ก่อนที่จะปรินิพพาน ท่านเหาะขึ้นไปบนอากาศได้แสดงธรรมสั่งสอนเทวดาและพระประยูรญาติทั้งสองฝ่าย ตลอดทั้งพุทธบริษัทอื่น ๆ เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้วท่านได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า....

    “เมื่ออาตมานิพพานแล้ว ขอให้อัฐิธาตุของอาตมานี้จงแยกออกเป็น ๒ ส่วน จงตกลงที่ฝั่งกรุงกบิลพัสดุ์ ของพระประยูรญาติฝ่ายศากยวงศ์ ส่วนหนึ่ง และจงตกที่ฝังกรุงเทวทหะของพระประยูรญาติฝ่ายโกลิยวงศ์ส่วนหนึ่ง เพื่อป้องกันมิให้พระประยูรญาติทั้งสองฝ่ายทะเลาะวิวาทกันเพราะแย่งอัฐิ ธาตุ”

    ครั้นอธิษฐานเสร็จแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ณ เบื้องบนอากาศ ในท่ามกลางแม่น้ำโรหิณี นั้น เตโชธาตุก็เกิดขึ้น เผาสรีระของท่านเหลือแต่กระดูกและแยกออกเป็น ๒ ส่วน แล้วตกลงบนพื้นดินของ ๒ ฝั่งแม่น้ำโรหิณีนั้นสมดังที่ท่านอธิษฐานไว้ทุกประการ ท่านได้ชื่อว่าเป็นพุทธสาวกที่ได้บรรลุกิเลสนิพพาน และขันธนิพพานแปลกกว่าพระสาวกรูปอื่น ๆ


โดย: Nujeab    เวลา: 2019-3-28 12:09
๖. พระควัมปติ - ประจำทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ)

        พระควัมปติ เป็นกลุ่มเพื่อนพระยสะ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นฆราวาส และได้ออกบวชตาม พระกลุ่มนี้มี ๕๔ รูป แต่ที่ปรากฏชื่อและได้รับจัดเข้าเป็นพระอสีติมหาสาวกมีเพียง ๔ รูป คือ พระวิมละ พระสุพาหุ พระปุณณชิ และพระควัมปติ

        พระควัมปติ เกิดในวรรณะไวศยะ ในตระกูลเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสี แคว้นกาสี เมื่อท่านทราบว่า ยสะ ออกบวช ท่านและสหาย จึงพร้อมใจกันเดินทางไปหาพระยสะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ด้วยความศรัทธา พระยสะได้พาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า หลังจากกราบทูลให้ทรงทราบถึงประวัติส่วนตัวของแต่ละท่านแล้วได้ทูลขอให้พระ พุทธเจ้าแสดงธรรมให้ฟัง พระพุทธเจ้าได้ตรวจดูอุปนิสัยแล้วก็ได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ให้ฟังตามลำดับ เมื่อจบพระธรรมเทศนา ทั้ง ๔ ท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรมสำเร็จเป็นพระโสดาบัน ครั้นแล้วได้ทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาอย่างที่ทรงประทานแก่ พระปัญจวัคคีย์

        หลังจากบวชแล้ว พระพุทธเจ้ายังคงแสดงธรรมโปรดอยู่เนือง ๆ ไม่ช้าก็ได้บรรลุอรหัตผล และอยู่ในคณะพระธรรมจาริกรุ่นแรกที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๖๐ รูป

        พระควัมปติ คราวหนึ่งได้จำพรรษาอยู่ ณ ป่าอัญชนวัน เมืองสาเกตกับพระพุทธเจ้าและ พระภิกษุสามเณรจำนวนมากปรากฏว่า เสนาสนะไม่พอ พระภิกษุและสามเณรที่ไม่ได้เสนาสนะต้องพากันไปจำวัดตามหาดทรายชายฝั่งแม่น้ำ สรภูซึ่งอยู่ใกล้ ๆ วิหาร ตกเที่ยงคืนเกิดฝนตกน้ำหลาก พระเณรต้องหนีน้ำกันจ้าละหวั่น ความทราบถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรง ใช้พระควัมปติให้ไปใช้ฤทธิ์กั้นสายน้ำช่วยพระและเณรที่กำลังเดือดร้อน ท่านไปตามพุทธบัญชาแล้วใช้พลังฤทธิ์กั้นสายน้ำไม่ให้ไหลมารบกวนพระและเณรอีก อยู่มาวันหนึ่งท่านกำลังนั่งแสดงธรรมให้เทวดาฟัง พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสสรรเสริญท่านว่า เทวดาและมนุษย์ต่างพากันนอบน้อมพระควัมปติ ผู้ใช้ฤทธิ์ห้ามแม่น้ำสรภูไม่ให้ไหล


    พระควัมปติมิได้มีตำแหน่งเอตทัคคะ ทั้งนี้เพราะท่านมิได้ตั้งความปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะใด ๆ ไว้แต่อดีตชาติเช่นเดียวกับพระยสะ เพียงแต่ได้ตั้งจิตปรารถนาเพื่อการเป็นพระมหาสาวกไว้เท่านั้น

    แต่ในหนังสือตำนานพระพุทธสาวก ภาค ๑ โดยพระธรรมโกศาจารย์ นั้นได้เขียนไว้ว่า..พระควัมปติ - ประจำทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) หมายถึง พระมหากัจจายนะ

    พระมหากัจจายนะ เป็นบุตรของพราหมณ์ปุโรหิตประจำราชสำนักพระเจ้าจัณฑปัชโชต กรุงอุชเชนี เมืองหลวงของแคว้นอวันตี พระ กัจจายนะเดิมเป็นคนมีรูปร่างงาม และเป็นคนใฝ่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลาคือ ได้ศึกษาพระเวทต่างๆ จนมีความรู้แตกฉาน ต่อมาเมื่อบิดาของท่านได้เสียชีวิตลง ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตในพระราชสำนักสืบแทนบิดาต่อไป

    พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงทราบว่าพระ พุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงมีพระราชประสงค์จะกราบทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์เสด็จมาโปรดชาวเมืองอุชเช นี จึงรับสั่งให้ท่านกัจจายนะไปกราบทูลเชิญเสด็จ ท่านกัจจายนะได้ทูลของพระบรมราชานุญาตต่อพระเจ้าจัณฑปัชโชตที่จะอุปสมบทด้วย เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ท่านกัจจายนะพร้อมด้วยบริวาร ๗ คน ก็ได้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้ฟังธรรมเทศนาจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และทูลของอุปสมบท

    หลังอุปสมบทแล้วไม่นาน ท่านพระกัจจายนะได้กราบทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองเมืองอุชเชนี พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า"เธอไปเองเถิด เมื่อเธอไปแล้ว พระเจ้าจัณฑปัชโชตจักทรงเลื่อมใส"


    พระมหากัจจายนะ พร้อมกับพระภิกษุ ๗ รูปนั้น จึงได้เดินกลับไปยังเมืองอุชเชนี และได้แสดงธรรมให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวเมืองอุชเชนีฟัง เมื่อพระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ฟังธรรมที่พระมหากัจจายนะแสดงนั้น ก็ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้วประกาศตนเป็นอุบาสกนับถือพระรัตนตรัยเป็น สรณะ พร้อมด้วยพสกนิกรเป็นจำนวนมาก
    ท่านพระมหากัจจายนะได้แสดง "ภัทเทกรัตตสูตร" จนได้รับคำชมเชยจากพระพุทธเจ้า และได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าในตำแหน่งเอตทัคคะ(เป็นเลิศกว่าผู้อื่น)ในทางขยายความแห่งภาษิตให้พิสดาร

    พระมหากัจจายนะ มีชื่ออีกชื่อว่า พระควัมปติ แต่มหาชนไม่นิยมเรียก เพราะชื่อไปซ้ำกับสาวกอีกองค์หนึ่งที่เป็นสหายของพระยสะ จึงคงเรียกชื่อท่านตามสกุลว่า “มหากัจจายนะ”แต่เติมคำว่า มหาเข้าไปด้วยท่านเป็นเถระชั้นมหาสาวกเช่นเดียวกับพระมหากัสสปะ

       และการที่ท่านพระมหากัจจายนะเป็นผู้ที่มีรูปงาม ทำให้พระภิกษุอื่นๆ เมื่อเห็นท่านแต่ไกลเข้าใจผิดว่าพระพุทธองค์กำลังเสด็จมา จึงพากันลุกขึ้นยืนต้อนรับบ่อยครั้ง ครั้นเข้ามาใกล้จึงประจักษ์ชัดว่าเป็นพระมหากัจจายนะ(พระควัมปติ) จึงได้พากันให้ชื่อใหม่ท่านว่า “ภควัมปติ” ซึ่งแปลว่า เหมือนพระผู้มีพระภาค เมื่อท่านทราบเรื่องนี้เข้า เกรงว่าจะเป็นโทษซึ่งพาให้คนทั้งหลายเข้าใจผิดเพราะร่างกายของท่านไปเหมือน พระพุทธเจ้าเข้า ท่านจึงได้อธิษฐานเปลี่ยนรูปเพื่อให้ไม่เหมือนพระศาสดา ด้วยอำนาจแห่งฌานอภิญญา รูปของท่านจึงอ้วนท้องยุ้ยไม่งามเหมือนเมื่อก่อน ใครเห็นก็จำได้ไม่เกิดความเข้าใจผิด

        บ้างก็กล่าวว่า เพราะมีเกิดเรื่องประหลาดขึ้น คือมีบุตรเศรษฐีคนหนึ่ง เห็นว่าท่านมีรูปงาม นึกอกุศลอยากได้ภรรยาที่มีลักษณะงามเหมือนท่าน ทันใดนั้นเขาก็กลายเป็นสตรีเพศทันที ด้วยความละอายเขาจึงได้ไปอาศัยอยู่ที่เมืองตักศิลาจนมีสามีและบุตร ต่อมาเมื่อได้ไปขอขมาท่านพระมหากัจจายนะ จึงได้กลับเพศเป็นชายดังเดิม ว่ากันว่าตั้งแต่นั้นมา ท่านพระมหากัจจายนะได้อธิษฐานให้ร่างกายของท่านอ้วนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จนชาวพุทธยุคหลังได้สร้างรูปพระอ้วนลงพุงเป็นอนุสรณ์ให้แก่ท่าน เรียกกันว่า "พระสังกัจจายน์"หรือ "พระสังกัจจาย"

        พระมหากัจจยานะได้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังแคว้นอวันตี และได้นำกุลบุตรออกบวชใน พระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ท่านได้นิพพานหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไม่นานนัก


โดย: Nujeab    เวลา: 2019-3-28 12:09
๗. พระมหาโมคคัลลานเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีฤทธิ์ – ประจำทิศอุดร (เหนือ)

        พระมหาโมคคัลลานะ เป็นบุตรพราหมณ์นายบ้านในหมู่บ้านโกลิตคาม ได้ชื่อว่า “โกลิตะ” ตามชื่อของหมู่บ้าน มารดาชื่อ โมคคัลลี คนทั่วไปจึงเรียกท่านว่า “โมคคัลลานะ” ตามชื่อของมารดา ท่านเป็นสหายกับอุปติสสมาณพ เที่ยวแสวงหาความสุขความสำราญ ตามประสาวัยรุ่น และพ่อแม่มีฐานะร่ำรวย นอกจากนี้ยังมีอุปนิสัยใจคอเหมือนกัน และยังได้ออกบวชพร้อมกันอีกด้วย

        พระมหาโมคคัลลานะ เมื่ออุปสมบทได้ ๗ วัน ได้ไปทำความเพียรอยู่ที่ป่าใกล้บ้านกัลป์ลาวาลมุตตาคาม แขวงมคธ ถูกถีนมิทธารมณ์ คือ ความง่วงเหงาเข้าครอบงำ ไม่สามารถจะทำความเพียรได้ ขณะนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ สวนเภสกลาวัน ใกล้เมืองสุงสุมารคิรี อันเป็นเมืองหลวงของแคว้นภัคคะ ทรงทราบด้วยพระญาณว่าพระโมคคัลลานะ โงกง่วงอยู่ จึงทรงทำปาฏิหาริย์ให้เห็นปรากฏประหนึ่งว่าเสด็จประทับอยู่ตรงหน้า ทรงแสดงอุบายสำหรับระงับความง่วงตามลำดับ ดังนี้:-

        ๑. โมคคัลลานะ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างใดแล้ว เกิดความง่วงขึ้น เธอจงทำไว้ในใจซึ่งสัญญาอย่างนั้นให้มาก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

        ๒. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรตรึกตรองถึงธรรมที่ได้เรียนมาแล้ว ได้ฟังมาแล้วให้มาก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

        ๓. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรสาธยายธรรมที่ได้เรียนได้ฟังมาแล้วให้มากจะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

        ๔. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรยอนช่วงหูทั้งสองข้าง และลูบตัวด้วยฝ่ายมือจะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

        ๕. ถ้ายังละไม่ได้ เธอจงลุกขึ้นแล้วลูบนัยน์ตา ลูบหน้าด้วยน้ำเหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาว จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

        ๖. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรทำไว้ในใจถึงอาโลกสัญญา ถือ กำหนดความสว่างไว้ในใจเหมือนกัน ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำใจให้เปิด ให้สว่าง จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

        ๗. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรเดินจงกรมสำรวมอินทรีย์ มีจิตใจไม่คิดไปภายนอก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

        ๘. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรสำเร็จสีหไสยาสน์ นอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าให้เลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ หมายใจว่าจะลุกขึ้นเป็นนิตย์ เมื่อตื่นแล้วควรรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจะไม่ประกอบความสุขในการนอนและการเคลิ้มหลับอีกจะเป็นเหตุให้ละความง่วง ได้


    แล้วได้ประทานพระโอวาทอีก ๓ ข้อ คือ:-

    ๑. โมคคัลลานะ เธอจงทำไว้ในใจว่า เราจะไม่ชูงวง คือ ความถือตัวว่าเราเป็นนั่น เป็นนี่ เข้าไปสู่สกุล เพราะถ้าภิกษุถือตัวเข้าไปสู่สกุลด้วยคิดว่าเขาจะต้องต้อนรับเราอย่างนั้น อย่างนี้ ถ้าคนในสกุลเขามีการงานมาก ก็จะเกิดอิดหนาระอาใจ ถ้าเขาไม่ใส่ใจต้องรับ เธอก็จะเก้อเขินคิดไปในทางต่าง ๆ เกิดความฟุ้งซ่านไม่สำรวม จิตก็จะห่างจากสมาธิ

    ๒. โมคคัลลานะ เธอจงทำไว้ในใจว่า เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุเถียงกันเพราะถ้าเถียงกันก็จะต้องพูดมาก และผิดใจกัน เป็นเหตุให้ฟุ้งซ่านไม่สำรวม และจิตก็จะห่างจากสมาธิ

    ๓. โมคคัลลานะ ตถาคตไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยประการทั้งปวง แต่ก็ไม่ตำหนิการคลุกคลีไปทุกอย่าง คือ เราไม่สรรเสริญการคลุกคลีกับหมู่ชน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่เราสรรเสริญการคลุกคลีด้วยเสนาสนะ อันสงบสงัดปราศจากเสียงอื้ออึง ควรแก่การหลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย

        ลำดับนั้น พระมหาโมคคัลลานะ ได้กราบทูลถามถึงข้อปฏิบัติอันเป็นธรรมชักนำไปสู่การสิ้นตัณหา เกษมจากโยคะคือกิเลสเครื่องประกอบให้จิตติดอยู่ พระพุทธองค์ ตรัสสอนในเรื่องธาตุกรรมฐาน โดยใจความว่า “ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อได้สดับว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ก็ควรกำหนดธรรมเหล่านั้น ในยามเมื่อเสวยเวทนา อันเป็นสุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง และให้พิจารณาด้วยปัญญา อันประกอบด้วยความหน่าย ความดับ และความไม่ยึดมั่น จิตก็จะพ้นจากอาสวกิเลส เป็นผู้รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว”


    พระ มหาโมคคัลลานะ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนา ช่วยแบ่งเบาภารกิจ และยังพุทธดำริต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยดี เพราะท่านมีฤทธิ์มีอานุภาพยิ่งกว่าพระสาวกรูปอื่น ๆ จนได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง พระอัครสาวกเบื้องซ้าย โดยทรงยกย่องให้เป็นอัครสาวกคู่กับพระสารีบุตรว่า:-

    “พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย เปรียบเสมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดมาแล้ว พระสารีบุตร ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระโมคคัลลานะ ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องสูงขึ้นไป”

        วันเวลาผ่านไปตามลำดับ เข้าสู่ปัจฉิมโพธิกาล ขณะที่ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระพักอยู่ที่กาฬศิลา ในมคธชนบทนั้น พวกเดียรถีย์ ทั้งหลาย มีความโกรธแค้นพระมหาโมคคัลลานเถระ เป็นอย่างมาก เพราะความที่ท่านมีฤทธานุภาพมาก สามารถกระทำอิทธิฤทธิ์ ไปเยี่ยมชมสวรรค์และนรกได้ แล้วนำข่าวสารมาบอกแก่ญาติมิตรของผู้ไปเกิดในสวรรค์และนรกให้ได้ทราบประชาชน ทั้งหลายจึงพากันเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาทำให้พวกเดียรถีย์ ต้องเสื่อมคลายความเคารพนับถือจากประชาชน ลาภสักการะก็เสื่อมลง ความเป็นอยู่ก็ลำบากฝืดเคือง จึงปรึกษากันแล้วมีความเห็นอันเดียวกันว่า “ต้องกำจัดพระมหาโมคคัลลานะ เพื่อตัดปัญหา”

        ตกลงกันแล้ว ได้ติดต่อจ้างโจรให้ฆ่าพระเถระ พวกโจรใจบาป ได้รับเงินสินบนแล้วพากันไปล้อมจับพระเถระถึงที่พัก แต่พระเถระรู้ตัวและหลบหนีไปได้ถึง ๒ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ พระเถระได้พิจารณาเห็นกรรมเก่า ที่ตนเคยทำไว้ในอดีตชาติติดตามมา และเห็นว่ากรรมเก่านั้นทำอย่างไรก็หนีไม่พ้น จึงยอมให้พวกโจรจับอย่างง่ายดาย และถูกพวกโจรทุบตีจนกระดูกแตกแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี พวกโจรแน่ใจว่าท่านตายแล้ว จึงนำร่างของท่านไปทิ้งในป่าแห่งหนึ่ง แล้วพากันหลบหนีไป


        กล่าว กันว่าในอดีตชาติ พระมหาโมคคัลลานเถระ เกิดเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ ต่อมาเมื่อเจริญเติบโตขึ้นพ่อแม่ทั้งสองประสบเคราะห์กรรมตาบอดด้วยกันทั้ง สองคนเป็นภาระที่ลูกชายคนเดียวต้องปรนนิบัติเลี้ยงดู การงานทุกอย่างทั้งนอกบ้านในบ้าน ต่อมาพ่อแม่เห็นลูกชายอยู่ในวัยที่สมควรจะมีครอบครัวได้แล้ว จึงจัดการสู่ขอหญิงสาวที่มีชาติตระกูลใกล้เคียงกัน ให้มาแต่งงาน

        เมื่อแต่งงานแล้วเวลาผ่านนาน ๆ ไป ลูกสะใภ้ก็เริ่มรังเกียจ จึงหาวิธีกำจัดท่านทั้งสองด้วยการยุแหย่สามีให้เกลียดชังพ่อแม่ “เอาท่านใส่เกวียนไปฆ่าทิ้งในป่า” ภรรยา เสนอความคิดเห็น สามีแม้จะไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะตนเป็นคนรักและกตัญญูต่อพ่อแม่มาตลอด แต่เมื่อภรรยารบเร้าไม่รู้จบสิ้น จึงใจอ่อนยอมทำตามที่ภรรยาแนะนำ รุ่งเช้า ได้จัดหาอาหารเลี้ยงดูพ่อแม่เป็นอย่างดี แล้วให้พ่อแม่นั่งบนเกวียนออกเดินทาง พอมาถึงกลางป่าส่งเชือกบังคับโคให้พ่อถือไว้แล้วพูดหลอกว่า:-

        “คุณพ่อจับปลายเชือกนี้ไว้ โคจะลากเกวียนไปตามทางนี้ ทราบว่าในป่านี้มีพวกโจรซุ่มอยู่ ลูกจะลงเดินตรวจดูโดยรอบ” เมื่อลงเดินได้สักครู่หนึ่ง ก็เปลี่ยนเสียงร้องตะโกนประหนึ่งว่าเสียงโจรดักซุ่มอยู่ แล้วเข้ามาทุบตีทำร้ายบิดามารดา ฝ่ายบิดามารดาเชื่อว่าเป็นโจรจริง ๆ แม้จะถูกทุบตีอยู่ก็ยังร้องบอกให้ลูกรีบหนีไป พ่อแม่แก่แล้วไม่ต้องเป็นห่วง ลูกจงรักษาชีวิตไว้เถิด ลูกชายพอได้ยินเสียงมารดาบิดาร้องบอกให้รีบหนีไปไม่ต้องเป็นห่วงพ่อแม่ ก็กลับคิดได้ว่าตนทำกรรมหนัก พ่อแม่แม้จะถูกเราทุบตีอยู่นี้ ก็ยังร้องคร่ำครวญด้วยความรักและห่างใยให้เรารีบหนีไปโดยมิได้คำนึงถึงชีวิต ของตนเอง จึงเข้ามาบีบนวดให้แล้วบอกกับพ่อแม่ว่า“บัดนี้พวกโจรหนีไปหมดแล้ว”

        จากนั้นก็นำท่านกลับมาปรนนิบัติดูแลที่บ้านเป็นอย่างดี ลูกชาย เมื่อตายแล้วต้องชดใช้กรรมในนรกเป็นเวลานาน เมื่อพ้นจากนรกแล้วมาเกิดใหม่ ต้องถูกทุบตีจนแหลกละเอียดอีกหลายร้อยชาติ

        ในชาติสุดท้ายนี้แม้จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ มีฤทธิ์ สามารถจะดำดินล่องหนหายตัวได้ เหาะเหินเดินอากาศได้ แต่ก็ไม่สามารถจะหนีผลกรรมได้ ท่านจึงยอมให้พวกโจรจับทุบจนร่างแหลกเหลวดังกล่าวมานั่นเอง

        พระมหาโมคคัลลานเถระ คิดว่า “เราควรไปกราบทูลลาพระผู้มีพระภาค ก่อนจึงปรินิพพาน” จึงประสานกระดูกด้วยกำลังฌาน เหาะมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้วกราบทูลลาปรินิพพาน พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “โมคคัลลานะ เธอจะปรินิพพาน ที่ไหน เมื่อไร ?”

        “ข้าพระองค์ จะนิพพานที่กาฬศิลาในวันนี้ พระเจ้าข้า”

        “โมคคัลลานะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงแสดงธรรมแก่ตถาคตก่อน ด้วยว่าการได้เห็นพระเถระเช่นเธอนี้ จะไม่มีอีกแล้ว”

        พระเถระได้รับพระพุทธบัญชาเช่นนั้นจึงทำปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปบนอากาศแสดงพระ ธรรมเทศนาแล้วลงมาถวายอภิวาทกราบทูลลาไปยังกาฬศิลา และปรินิพพาน ณ ที่นั้น ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ หลังจากพระสารีบุตรนิพพานได้ ๑๕ วัน


        พระผู้มีพระภาค เสด็จไปพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ทรงเป็นองค์ประธานจุดเพลิงฌาปนกิจศพให้ท่าน ขณะนั้น ฝนดอกไม้ทิพย์ตกลงมาโดยรอบบริเวณ มหาชนพากันประชุมทำสักการะอัฐิธาตุตลอด ๗ วัน พระพุทธองค์โปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ ที่ใกล้ซุ้มประตูแห่งพระเชตวัดมหาวิหารนั้น

โดย: Nujeab    เวลา: 2019-3-28 12:10
๘. พระราหุลเถระ เอตทัคคะในทางผู้ใคร่ในการศึกษา – ประจำทิศอิสาณ

    พระราหุล เป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ (พุทธโอรส) กับพระนางยโสธรา หรือพิมพา ประสูติวันเดียวกันกับที่พระบิดาเสด็จออกบวช ดังนั้น ท่านจึงเจริญพระชันษาเติบโตขึ้นมาโดยมิเคยเห็นพระพักตร์รู้จักพระบิดาเลย จวบจนครั้นเมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้ว เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธารามที่พระประยูรญาติสร้างถวาย

        ในวันรุ่งขึ้นเวลาเช้าทรงปฏิบัติ พุทธกิจ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนครกบิลพัสดุ์ ทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพระบิดาในระหว่างถนน ให้พระบิดาดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล ในวันที่ ๒ เสด็จเข้าไปรับบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ ทรงแสดงธรรมโปรดพระบิดาและพระนางมหาปชาบดีโคตรมี เมื่อจบพระธรรมเทศนาพระบิดาดำรงอยู่ในพระสกทาคามี ส่วนพระนางมหาปชาบดีโคตรมี ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล

        ครั้นล่วงถึงวันที่ ๗ แห่งการเสด็จเยือนพระนครกบิลพัสดุ์ พระนางพิมพาราชเทวี ประดับตกแต่งองค์ราหุลกุมารราชโอรสด้วยอาภรณ์อันวิจิตรแล้วตรัสสอนให้ไปทูล ขอทรัพย์สมบัตินั้นในฐานะเป็นทายาทสืบสันติวงศ์

        เมื่อราหุลกุมาร เสด็จเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบถวายบังคมแล้ว ทอดพระเนตรดูพระสัพพัญญู บังเกิดความรักในพระบิดา ทรงปราโมทย์โสมนัสตรัสเรื่องอื่น ๆ โดยมิได้กราบทูลขอทรัพย์สมบัติพระพุทธองค์ ทรงพระพุทธองค์กระทำภัตกิจเสร็จแล้ว เสด็จกลับสู่นิโครธาราม ส่วนราหุลกุมารก็เสด็จติดตามไปจนถึงอาวาส โดยไม่มีผู้ใดสามารถกราบทูลทัดทานได้ เมื่อสบโอกาสจึงกราบทูลขอทรัพย์สมบัติอันเป็นสิ่งที่รัชทายาทผู้สืบราชสันติ วงศ์สันติวงศ์จะพึงได้รับ

        พระบรมศาสดา ได้ทรงสดับดังนั้นแล้วทรงดำริว่า “ราหุลกุมารปรารถนาทรัพย์สมบัติอันเป็นของพระบิดา ถ้าตถาคตจะให้ขุมทองแก่เธอแล้ว ก็จะเป็นสิ่งชักนำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ด้วยเป็นสิ่งหาสาระแม้สักนิดหนึ่งก็หามีไม่ อย่ากระนั้นเลย เราจะมอบอริยทรัพย์อันเป็นสิ่งประเสริฐสุดในพระพุทธศาสนานี้แก่เธอ ซึ่งจะจำให้เธอเป็นโลกุตรทายาท สืบสกุลในพุทธวงศ์นี้สืบไป"

        ครั้นแล้วทรงมีพระดำรัสสั่งให้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร จัดการบรรพชาให้แก่ราหุลกุมารในวันนั้น ด้วยวิธีให้รับไตรสรณคมน์ และสามเณรราหุล ได้ชื่อว่าเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา

       ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะ เมื่อทราบว่าราหุลกุมารบรรพชาแล้ว ทรงโทมนัสเป็นอย่างยิ่งด้วยหวังไว้แต่เดิมว่า เมื่อพระราชโอรสสิทธัตถะออกบวชแล้วก็หวังจะได้นันทกุมารสืบราชสมบัติต่อ แต่พระบรมศาสนาก็ทรงพานันทะออกบวช ทำให้ผิดหวังเป็นคำรบสอง แต่ก็ยังมีหวังอยู่ว่าจะให้ราหุลกุมารหลานรัก เป็นทายาทสืบราชสมบัติต่อไป แต่แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงนำไปบวชเสียอีก จึงหมดสิ้นผู้สืบราชสมบัติต่อไป แต่แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงนำไปบวชเสียอีก จึงหมดสิ้นผู้จะสืบสายรัชทายาท ทรงดำริต่อไปอีกว่า หากเป็นเช่นนี้อีกไม่นาน บรรดากุมารในศากยสกุลก็จะถูกนำไปบวชจนหมดสิ้น อนึ่ง ความทุกข์โทมนัสอย่างนี้ก็จะเกิดแก่บิดามารดาในสกุลอื่น ๆ ด้วยเหตุสิ้นคนสืบสกุล จึงรีบเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่นิโครธาราม กราบทูลขอประทานพระพุทธอนุญาตว่า

        “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นับต่อแต่นี้ไป ถ้ากุลบุตรผู้ใดแม้ประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนา หากมารดาบิดายังมิยอมพร้อมใจกันอนุญาตให้บวชแล้วขอได้โปรดงดเสีย อย่าได้ให้บรรพชาแก่กุลบุตรผู้นั้นเลย” พระบรมศาสดา ได้ประทานพรตามที่พระพุทธบิดากราบทูลขอ แล้วถวายพระพรลา พาพระนันทะ และสามเณรราหุล พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์เสด็จกลับสู่มหานครราชคฤห์


        เมื่อ ราหุลกุมาร บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ตามเสด็จพระบรมศาสดา และพระสารีบุตร เถระอุปัชฌาย์ของตน ไปยังสถานที่ต่าง ๆ เมื่ออายุครบก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ วันหนึ่ง ขณะที่พระราหุลพักอยู่ที่สวนมะม่วง ในกรุงราชคฤห์ พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่น ทรงแสดงพระธรรมเทศนาราหุโลวาทสูตร ให้ท่านฟังหลังจากนั้นทรงสอนในทางวิปัสสนา ทรงยกอายตนะภายใน และภายนอกขึ้นแสดงพระราหุล ส่งจิตไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล


        พระราหุล เป็นผู้มีอัธยาศัยใคร่ต่อการศึกษาพระธรรมวินัย ทุกวันที่ท่านตื่นขึ้นมาเวลาเช้า ท่านจะกำทรายให้เต็มฝ่าพระหัตถ์แล้วตั้งความปรารถนาว่า “วันนี้ ข้าพเจ้าพึงได้รับคำสั่งสอนจากสำนักพระบรมศาสดา สำนักพระอุปัชฌาย์และสำนักพระอาจารย์ทั้งหลายให้ได้ประมาณเท่าเม็ดทรายใน กำมือของข้าพเจ้านี้” ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดา ให้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้ใคร่ในการศึกษา

        ในขณะเมื่อท่านยังเป็นสามเณรเล็ก ๆ อยู่นั้น ท่านเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายจน เป็นที่เลื่องลือในหมู่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยว่า ครั้งนั้นพุทธบริษัททั้งหลาย ฟังธรรมกันยามค่ำคืน โดยมีพระเถระผลัดเปลี่ยนกันแสดงธรรม เมื่อสิ้นสุดการแสดงธรรมแล้ว พระเถระผู้ใหญ่ต่างก็กลับที่พักของตน ส่วนพระภิกษุผู้บวชใหม่ และสามเณรรวมทั้งอุบาสก ที่ไม่สามารถจะกลับที่พักได้เพราะค่ำมือจึงอาศัยนอนกันในโรงธรรมนั้น เนื่องจากเป็นพระบวชใหม่ จึงไม่สำรวมในการนอน ทำให้เกิดภาพที่ไม่น่าดู รุ่งเช้า อุบาสกทั้งหลายพากันติเตียนและความทราบไปถึงพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์จึงรับสั่งประชุมสงฆ์แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท “ห้ามภิกษุนอนร่วมในที่มุงที่บังเดียวกันกับอนุปสัมบัน (อนุปสัมบัน คือ ผู้มิใช่พระภิกษุ) ถ้านอนร่วมต้องอาบัติปาจิตตีย์”

        ครั้นในคืนต่อมา สามเณรไม่สามารถจะนอนร่วมกับพระภิกษุได้ และเมื่อไม่มีที่จะนอน พระราหุลท่านจึงเข้าไปนอนในเว็จกุฏี (ส้วม) ของพระบรมศาสดา เมื่อเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธองค์เสด็จไปพบเธอนอนในที่นั้น และทรงทราบว่าเพราะเธอไม่มีที่นอนอันเนื่องมาจากพุทธบัญญัติทำให้พระองค์สลด พระทัยจึงดำริว่า “ต่อไปภายหน้า สามเณรน้อย ๆ จะได้รับความลำบาก เพราะขาดผู้ดูแลเอาใจใส่” จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติมว่า:-“ให้ภิกษุนอนร่วมกับอนุปสัมบันได้ ๓ คืน ถ้าเกิน ๓ คืน พระภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์”

        ท่านพระราหุลเถระ ดำรงอายุ สังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพานที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ดาวดึงส์เทวโลก ท่านมีอายุไม่มากนัก เพราะท่านนิพพานก่อนพระพุทธองค์ผู้เป็นพระบิดา ก่อนพระสารีบุตรผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ก่อนพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นพระอาจารย์

        ขอ ให้ผลของกุศลที่ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงเนื้อความมาทั้งหมดนี้ ด้วยความสักการะบูชายิ่ง จงเป็นตบะ เดชะ พลวะปัจจัย ให้ชีวิตของข้าพเจ้า มีความเจริญรุ่งเรื่องในธรรมยิ่งๆขึ้นไปด้วยเทอญ.

ที่มา http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=244.0


โดย: Metha    เวลา: 2019-3-28 18:09





ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2