Baan Jompra
ชื่อกระทู้:
“นาคานคร” หนองคาย-บึงกาฬ เปิดตำนานพญานาค
[สั่งพิมพ์]
โดย:
kit007
เวลา:
2014-4-5 09:51
ชื่อกระทู้:
“นาคานคร” หนองคาย-บึงกาฬ เปิดตำนานพญานาค
“นาคานคร” หนองคาย-บึงกาฬ เปิดตำนานพญานาค
[attach]7021[/attach]
เชื่อกันว่าลำน้ำโขงช่วง จ.หนองคาย-บึงกาฬ เป็นที่อยู่ของพญานาค
หนึ่งในเทศกาลท่องเที่ยวช่วงวันออกพรรษาที่น่าสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่ง คงต้องยกให้กับ “เทศกาลออกพรรษา บั้งไฟพญานาค” ที่จะมีลูกไฟสีส้มอมแดงพุ่งขึ้นมาจากแม่น้ำโขงในช่วงวันออกพรรษา
แม้จะยังไม่มีข้อสรุปว่าบั้งไฟดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยฝีมือพญานาคจริงหรือไม่ แต่ความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคนั้นอยู่คู่กับคนในแถบลุ่มแม่น้ำโขงมาเป็นเวลานาน บางคนอาจมีข้อสงสัยว่า ทำไมบั้งไฟพญานาคจึงขึ้นให้เห็นมากที่สุดเฉพาะใน
จังหวัดหนองคาย
และ
จังหวัดบึงกาฬ
(ซึ่งในอดีตเคยเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดหนองคาย) เหตุผลหนึ่งนั่นก็เพราะมีความเชื่อว่า บริเวณนี้เป็น
“นาคานคร”
หรือ
“เมืองพญานาค”
นั่นเอง
หนังสือ
“หนองคายคมเลนส์”
กล่าวถึงเรื่องของพญานาคไว้ว่า ตำนานศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูโบราณ มีความเชื่อสืบเนื่องกันมานานหลายพันปีว่า พญานาคเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์เบื้องบน เช่นที่ปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทหินพนมรุ้ง ที่สร้างเป็นบันไดพญานาคราช ซึ่งทอดตัวยาวเพื่อรับมวลมนุษย์ไปสู่โลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับลัทธิพราหมณ์ที่มีความเชื่อว่าพญานาคคือเทพเจ้าแห่งสายน้ำ
[attach]7022[/attach]
พญานาคมีความผูกพันแนบแน่นกับพระพุทธศาสนา
ชาวอินเดียเป็นชนชาติแรกที่ได้รวบรวมความเชื่อเรื่องพญานาคเข้ามาเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนา โดยแทรกอยู่ในทศชาติชาดกและพุทธประวัติหลายบทหลายตอน เช่น เชื่อว่าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเคยเสวยชาติเป็นพญานาคมาก่อน
เช่นเดียวกับชาวเอเชียในเกือบทุกประเทศ ที่เชื่อว่าพญานาคและมังกรถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีพลังและอำนาจสูงส่งเหนือมนุษย์ เช่นเดียวกับชาวอีสานบ้านเราที่เชื่อว่าพญานาคเป็นเจ้าแห่งบาดาล เป็นผู้ให้กำเนิดน้ำ โดยบั้งไฟของชาวอีสานที่สร้างขึ้นในงานประเพณีบุญเดือนหกทุกบั้ง มักจะถูกรังสรรค์เป็นรูปลักษณ์และลวดลายแห่งพญานาคทั้งสิ้น เพื่อจุดส่งขึ้นไปบอกกล่าวแก่พญาแถนบนสรวงสวรรค์ ให้ช่วยดลบันดาลประทานสายฝนและความช่ำชื่นชุ่มเย็นลงมาให้แก่มวลมนุษย์
เชื่อกันว่า พญานาคเป็นงูขนาดใหญ่ที่มีหงอนสีทองอยู่บนหัว มีดวงตาสีแดง ตลอดลำตัวมีเกล็ดเหมือนปลา เกล็ดจะมีหลากหลายสีแตกต่างกันไปตามบารมี เช่นสีเขียว สีดำ หรือบางตนมีเกล็ดถึง 7 สี เหมือนกันสีของสายรุ้ง นอกจากนั้น พญานาคยังมีพิษร้ายถึง 64 ชนิด และจะต้องคายพิษทุก 15 วัน สัตว์มีพิษอื่นๆ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง ฯลฯ ต่างได้รับอานิสงส์ความมีพิษมาจากพญานาคแทบทั้งสิ้น
โดย:
kit007
เวลา:
2014-4-5 09:54
[attach]7023[/attach]
บันไดนาคหัวช้างเผือกที่วัดราชโพนเงิน
ความเชื่อในเรื่องของพญานาคเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น ในพุทธประวัติกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วได้เสด็จไปประทับใต้ต้นจิกเสวยวิมุตติสุขอยู่ 7 วัน ในขณะนั้นมีฝนตกพรำตลอดทั้งวัน และได้มีพญานาคชื่อมุจลินทร์เข้ามาเฝ้าพระองค์ ขนดตัว 7 รอบพร้อมกับแผ่พังพานปกป้องพระองค์ไว้เพื่อกันฝนและลมมิให้มาถูกพระวรกายของพระองค์ เมื่อฝนหายแล้ว พญานาคมุจลินทร์ได้คลายลำตัวออก แปลงร่างเป็นชายหนุ่มยืนเฝ้าที่เบื้องพระพักตร์ด้วยความศรัทธา
จากตำนานดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกในเวลาต่อมา โดยสร้างเป็นรูปลักษณ์ที่พระพุทธองค์ประทับนั่งอยู่บนตัวพญานาคที่แผ่พังพานราวกับผู้คุ้มครองพระศาสดานั่นเอง
อีกหนึ่งพุทธประวัติที่เกี่ยวกับพญานาคเล่าว่า มีพญานาคตนหนึ่งได้ฟังธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้วเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงแปลงกายเป็นมนุษย์มาขอบวชเป็นพระภิกษุกับพระองค์จนสำเร็จ แต่วันหนึ่งเมื่อจำวัดแล้วได้กลายร่างคืนกลับเป็นพญานาค ภิกษุรูปอื่นไปเห็นเข้าจึงไปทูลแก่พระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงทราบจึงให้พระภิกษุนาครูปนั้นลาสิกขา และให้ลงไปบำเพ็ญเพียรรอบวชในยุคพระศรีอาริยเมตตรัย นาคตนนั้นผิดหวังมาก จึงขอถวายคำว่า
“นาค”
ไว้เพื่อเรียกผู้ที่เข้ามาขอบวชในพระพุทธศาสนาต่อไป เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความศรัทธาของตน
[attach]7024[/attach]
แก่งอาฮงบริเวณกลางแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามคือปากถ้ำฝั่งลาวที่มีการสร้างเจดีย์ครอบไว้
ความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคปรากฏอยู่มากมาย และสำหรับในประเทศไทยนั้น สถานที่ที่มีตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคผูกพันอย่างแน่นหนาที่สุด คงต้องยกให้
“จังหวัดหนองคาย”
และ
“จังหวัดบึงกาฬ”
ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นดัง
“นาคานคร”
จังหวัดหนองคายและบึงกาฬตั้งอยู่ทางภาคอีสานตอนบน สำหรับบึงกาฬนั้นเป็นจังหวัดใหม่ล่าสุดที่เพิ่งแยกตัวออกมาจากจังหวัดหนองคาย ทั้งสองจังหวัดมีชายแดนติดกับประเทศลาวเพียงแค่แม่น้ำโขงกั้น ว่ากันว่าแม่น้ำโขง เป็นที่อยู่อาศัยของพญานาคราช ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวหนองคายและชาวลาว
ด้วยระยะทางยาวไกลกว่า 210 กิโลเมตร ที่แม่น้ำโขงทอดตัวไหลผ่านจังหวัดหนองคาย เริ่มต้นจากอำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอโพนพิสัย อำเภอรัตนวาปี ก่อนจะไหลเข้าสู่เขตจังหวัดบึงกาฬ และเขตอำเภอปากคาด ตำนานและเรื่องราวพญานาค ของชาวหนองคายนั้นยิ่งใหญ่ กล่าวขานกันมาเนิ่นนาน ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์แห่งลำน้ำโขง
โดย:
kit007
เวลา:
2014-4-5 09:58
[attach]7025[/attach]
ภายในถ้ำดินเพียงที่มีซอกหลืบและโพรงมากมาย
ชาวอีสานในแถบลุ่มแม่น้ำโขงต่างมีความเชื่อว่าแม่น้ำโขงและแม่น้ำน่านเกิดขึ้นจากการเคลื่อนตัวของพญานาค รวมถึงเชื่อในตำนานอัศจรรย์แห่งบั้งไฟพญานาคในวันออกพรรษา ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ เหล่าพญานาคในแม่น้ำโขงต่างชื่นชมโสมนัส พร้อมใจกันจุดบั้งไฟถวายการเสด็จกลับของพระพุทธองค์
"บั้งไฟพญานาค"
จึงเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอันอัศจรรย์ ที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดหนองคายและจังหวัดบึงกาฬในทุกๆ ปี
ด้วยความเชื่อที่ว่าบริเวณนี้เป็นนครแห่งพญานาค จึงปรากฏตำนานและเรื่องราวเล่าขาน รวมไปถึงสถาปัตยกรรม โบราณสถาน วัดวาอารามที่เกี่ยวพันกับพญานาคอยู่มากมาย โดยชาวจังหวัดหนองคายเชื่อว่า มีเมืองบาดาลของพญานาคตั้งอยู่ในเขตอำเภอโพนพิสัย โดยตั้งอยู่ใต้แม่น้ำโขงที่ลึกลงไป 1 โยชน์ หรือ 16 กิโลเมตร มีปราสาทราชวังที่วิจิตรงดงามอยู่ถึง 7 ชั้น เรียงซ้อนกันอยู่ ด้วยเหตุของความเชื่อดังกล่าวนี้เองในวันออกพรรษาแต่ละปี จังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะที่อำเภอโพนพิสัย จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนจากทั่วสารทิศที่แห่แหนกันไปชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคกันอย่างล้นหลาม
ส่วนที่
“วัดราชโพนเงิน”
ในเขตอำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับ
“วัดโพนสัน”
ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามในแขวงบอลิคำไซ ริมแม่น้ำโขงฝั่งลาว ตามพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าเล่าว่า เมื่อครั้งพระองค์เสด็จโปรดสัตว์ถึงบริเวณนี้ ได้มีพญานาคสองตนอาราธนาให้ทรงพักฉันภัตตาหารเพลที่นี่ โดยสุขหัตถีนาคได้อธิษฐานตนให้มีลำตัวยาว 500 วา มีกำลังแรงดั่งช้างสารนับร้อย กวาดเอาดินทรายพูนขึ้นเป็นโพนหรือเนินดิน ถวายให้พระพุทธองค์ประทับนั่งฉันเพล และยังขดตัวล้อมเนินดินไว้พร้อมกับแผ่พังพานออกเป็นนาค 7 เศียร บังแดดบังลมให้พระพุทธองค์
[attach]7026[/attach]
ทางลงไปยังถ้ำดินเพียง
จากตำนานดังกล่าว ทำให้วัดราชโพนเงินที่ฝั่งไทยและวัดโพนสันที่ฝั่งลาวมีบันไดนาคหัวช้างเผือกอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความศรัทธาในตำนานของพญานาค ยังคงเป็นวัฒนธรรมร่วมของชาวไทยและลาวแห่งลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ที่
“ถ้ำดินเพียง”
ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดถ้ำศรีมงคล ในอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย เชื่อกันว่าเป็น
“ถ้ำพญานาค”
เป็นดังประตูมิติระหว่างโลกมนุษย์และเมืองบาดาล เป็นเส้นทางที่พญานาคใช้เดินทางกลับสู่ใต้บาดาล และยังเป็นเส้นทางที่พระธุดงด์ทรงศีลแก่กล้าจากลาวใช้ข้ามฝั่งลอดใต้แม่น้ำโขงเข้ามายังเมืองไทย แต่ถ้าหากได้เข้าไปภายในถ้ำแล้ว ด้านในจะมีทางแยกอีกนับไม่ถ้วน ภายในถ้ำจะมีทั้งส่วนที่เป็นแอ่งน้ำและส่วนพื้นดินที่แห้ง หากผู้ใดเข้าไปก็ควรมีผู้นำทางและเดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ มิฉะนั้นอาจพลัดหลงหาทางออกไม่เจอ
ส่วนที่จังหวัดบึงกาฬก็มีสถานที่สำคัญซึ่งเกี่ยวพันกับพญานาคอยู่ที่
“แก่งอาฮง”
ในอำเภอเมือง โดยเชื่อว่าแก่งอาฮงเป็นจุดที่แม่น้ำโขงมีความลึกที่สุด เคยวัดความลึกในหน้าแล้งได้ถึง 99 วา ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็น
“สะดือแม่น้ำโขง”
และยังเชื่อด้วยว่าจุดนี้เชื่อมต่อกับบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เมืองคำชะโนด ในจังหวัดอุดรธานี กระแสน้ำบริเวณแก่งอาฮงจะไหลเชี่ยวมากในฤดูน้ำหลากและมีกระแสน้ำไหลวนเป็นรูปกรวยขนาดใหญ่ อีกทั้งชาวบ้านยังเชื่อว่าบริเวณแก่งอาฮงนั้นเป็นถ้ำของพญานาค ซึ่งมีปากถ้ำอยู่ที่ฝั่งลาว ปัจจุบันถ้ำดังกล่าวมีการสร้างเจดีย์ครอบไว้เพื่อไม่ให้เกิดการบุกรุกเข้าไปภายในถ้ำอีกด้วย
แม้ว่าหลายอย่างจะเป็นเพียงความเชื่อที่สืบทอดกันมา แต่ตำนานพญานาคก็ยังคงเป็นเรื่องราวที่อยู่คู่กับชาวหนองคายและบึงกาฬ รวมถึงผู้คนในแถบลุ่มน้ำโขงเสมอมา
ที่มา
http://www.manager.co.th/travel/ ... ewsID=9550000132136
โดย:
Nujeab
เวลา:
2014-6-29 04:23
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/)
Powered by Discuz! X3.2