นกในวงศ์อีกา (Corvid) มีแพร่กระจายอยู่อย่างกว้างขวางเกือบทั่วทุกมุมโลก และอาจเรียกได้ว่าเป็นนกที่ฉลาดที่สุด เห็นได้จากการที่หลายชนิดมีการเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จาก“เครื่องมือ”ต่างๆในสภาพแวดล้อมเพื่อหาอาหาร ลูกนกใช้เวลาค่อนข้างนานในการเจริญเติบโตเมื่อเทียบกับนกตระกูลอื่น ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะต่างๆที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจากพ่อแม่และสมาชิกในฝูงมากกว่า มีการวิจัยพบว่าสัดส่วนน้ำหนักของสมองต่อร่างกายของนกตระกูลนี้เกือบจะเทียบเท่ากับลิงและโลมาเลยทีเดียว!
เราคุ้นหน้าคุ้นตากับอีกา (Crow) ตัวสีดำๆที่ดูไร้เสน่ห์ไม่น่าสนใจ กับเสียงแหบพร่าบอกยี่ห้อของมัน แต่ญาติในวงศ์เดียวกันของมันหลายชนิดมีสีสันที่สวยงามแปลกตามาก นกตระกูลนี้สามารถกินอาหารได้หลากหลาย ตั้งแต่ ผลไม้ แมลง สัตว์เลื้อยคลาน หนู ไปจนถึงซากสัตว์ นี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สมองของมันมีการพัฒนามากกว่านกอื่นๆ
สมาชิกวงศ์อีกาที่สีสันสวยสดที่สุดคงหนีไม่พ้นนกสาลิกาเขียว (Common Green Magpie) ที่มีสีลำตัวเขียวสดสมชื่อ มีจุดเด่นคือแถบคาดตาสีดำขลับสมกับที่เป็นหัวขโมยตัวยงในการเสาะหารังนกอื่นเพื่อกินไข่หรือลูกนกเป็นอาหาร มีปากหนาสีแดงสดที่งุ้มเล็กน้อยและค่อนข้างยาว วงรอบตาและขาก็เป็นสีแดงเช่นเดียวกัน ปีกเป็นสีส้มเข้ม ปลายขนหางแต่ละเส้นมีแถบสีดำขาวและมีความยาวลดหลั่นกันไปทำให้เห็นเป็นบั้ง ขนหางคู่กลางยาวและแคบที่สุด ไม่มีแถบสีดำ ขนปีกชั้นใน (tertials) ของมันก็มีแต้มสีขาวดำ ซึ่งไม่พบในญาติใกล้ชิดที่หน้าตาถอดแบบเดียวกันมาอย่างนกสาลิกาเขียวหางสั้น (Indochinese Green Magpie)อย่างไรก็ตาม ในเมืองไทยยังไม่พบว่านกสาลิกาเขียวและนกสาลิกาเขียวหางสั้นมีถิ่นแพร่กระจายที่ทับซ้อนกัน โดยชนิดหลังพบได้เฉพาะตามป่าดิบทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเท่านั้น
นกสาลิกาเขียวในชุดขนเก่าจะมีสีขนที่ค่อยๆเปลี่ยนจากเขียวสดเป็นสีฟ้าครามหมองๆ สีส้มเข้มที่ปีกก็กลายเป็นสีน้ำตาล นกชนิดนี้มีอุปนิสัยที่ต่างจากนกในวงศ์อีกาชนิดอื่นๆตรงที่ตามปกติแล้วมันจะเป็นนกที่ขี้อาย เรามักได้ยินเสียงร้องดังก้องของมันแทบทุกครั้งที่เข้าป่า แต่มีโอกาสเห็นตัวชัดๆได้ไม่ง่ายนัก สามารถส่งเสียงร้องได้หลายรูปแบบ บางครั้งก็เลียนเสียงนกชนิดอื่นๆด้วย
เช่นเดียวกับญาติร่วมวงศ์ของมัน นกสาลิกาเขียวมักหากินเป็นคู่หรือเป็นฝูงขนาดย่อม บ่อยครั้งที่มันจะบินตามนกกะราง (Laughingthrush) ฝูงใหญ่ที่ดึงดูดให้นกป่าขนาดกลางอื่นๆ เช่น นกบั้งรอก (Malkoha) นกขุนแผน (Trogon) นกหัวขวาน (Woodpecker) บางชนิด นกแซงแซว (Drongo) และนกระวังไพร (Scimitar Babbler) มาหากินร่วมกันหรือติดตามอยู่ห่างๆเพื่อจับสัตว์เล็กๆที่ตกใจจากฝูงนกกะราง อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากการมีนกกะรางและนกแซงแซวเป็นตัวคอยส่งเสียงร้องเตือนภัยเมื่อพบสัตว์นักล่าอีกด้วย
นกสาลิกาเขียวเป็นนกประจำถิ่นที่่พบได้บ่อยตามป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งในระดับความสูงไม่เกิน 2,075 เมตรจากน้ำทะเลภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนล่าง นอกจากนี้ยังพบได้ในประเทศเพื่อนบ้าน ทางเหนือของประเทศอินเดีย ทางตอนใต้ของจีน และอินโดนีเซีย
นกกางเขนบ้าน (Oriental Magpie Robin) ซึ่งเป็นนกประจำสัปดาห์ที่แล้วนั้นมีที่มาของชื่อสามัญจาก Common Magpie หรือนกสาลิกาปากดำ ซึ่งคำว่า Magpie (อ่านว่า “แม็ก-พาย”) นั้นโดยรวมๆใช้เรียกนกในกลุ่มอีกาที่ขนาดตัวย่อมลงมาหน่อย และมีหางยาว แต่“แม็กพาย”ไม่ได้มีแค่นกตัวสีขาว-ดำเหมือนเจ้าสาลิกาปากดำ หลายชนิดมีสีสันสะดุดตา โดยเฉพาะกลุ่มของนกสาลิกาเขียวและนกขุนแผน (Green and Blue Magpies) หากยังจำกันได้ คอลัมน์เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วก็ได้แนะนำให้ผู้อ่านรู้จัก“นกขุนแผน”ไปแล้วชื่อว่านกขุนแผนอกสีส้ม (Orange-breasted Trogon)
“นกขุนแผน”เป็นชื่อที่ใช้กับนกสองกลุ่มที่ไม่ได้เป็นญาติกันและหน้าตาก็ไม่ใกล้เคียงกันเลย เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน บางตำราก็ใช้ชื่อที่ยาวกว่าอย่าง“นกขุนช้างขุนแผน”สำหรับ Trogon ส่วนชื่อพระเอกวรรณคดีผู้รวยสเน่ห์ถูกผูกขาดกับ Red-billed Blue Magpie แม้จะมีอีกชื่อว่า “นกสาลิกาดง” แต่ชื่อนี้ก็ไม่เหมาะสมนัก เพราะมันอยู่ตามป่าโปร่ง ในขณะที่นกสาลิกาเขียวสองชนิดนั้นพบในป่าดงดิบ
นกขุนแผนมีลำตัวด้านบนสีฟ้าเข้มและปากแดงตามชื่ออังกฤษ หัวสีดำ ท้ายทอยมีแถบสีขาว ขาสีแดง มีหางยาวกว่าความยาวของลำตัว ปลายขนปีกและหางมีแต้มสีขาว-ดำ สีสันของมันอาจทำให้ยากที่จะเชื่อว่าอยู่ในวงศ์อีกา (จริงๆแล้วนอกจากกลุ่มของอีกา นกอื่นๆในวงศ์นี้ล้วนมีสีสันสวยงามกันแทบทั้งนั้น) แต่ลักษณะปากที่ค่อนข้างหนาและยาวคล้ายอีกาบ่งชี้ว่าสามารถกินอาหารได้หลายประเภท นอกจากนี้นกขุนแผนยังเป็นสัตว์สังคม ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดย่อม นกวัยเด็กมีสีสันโดยรวมตุ่นกว่า ปากและขามีสีไม่แดงสด และหางไม่ยาวมาก
วงศ์อีกาเป็นนกกลุ่มที่มีไหวพริบและการเรียนรู้เป็นเลิศที่สุด นกขุนแผนเองก็ขึ้นชื่อเรื่องการเป็น“จอมฉวยโอกาส” มักแอบไปที่รังนกอื่นเพื่อกินไข่และลูกนก ชอบป้วนเปี้ยนบริเวณห้องครัวตามแหล่งท่องเที่ยวในป่าเพื่อรอกินเศษอาหารเหลือทิ้ง ในบางท้องที่นกขุนแผนปรับตัวให้อยู่ร่วมกับสัตว์กีบ เช่น หมูป่า กวาง เนื้อทราย โดยสัตว์เหล่านี้จะปล่อยให้เจ้านกขุนแผนสำรวจร่างกายเพื่อจิกกินแมลงที่เป็นปรสิต
นกขุนแผนเป็นนกประจำถิ่นอาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และชายป่าที่ติดกับทุ่งหญ้า พบได้ไม่ยากในถิ่นอาศัยที่เหมาะสมทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้และที่ราบภาคกลาง ประชากรบางส่วนน่าจะมาจากนกปล่อยซึ่งภายหลังสามารถปรับตัวในแพร่พันธุ์ในธรรมชาติได้ เช่น ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Acridotheres tristis |
ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน ด้านบนลำตัวมีสีน้ำตาล หัวและคอสีดำ อกและท้องมีสีน้ำตาลยกเว้นตรงกลางท้องมีสีอ่อนกว่าบริเวณอื่น ขนคลุมใต้คางสีขาว ปีกสีน้ำตาลแซมดำและขาว ปากและเนื้อบริเวณตาสีเหลือง
พบในทวีปเอเซียแถบประเทศอัฟกานิสถาน จีน พม่า อินโดจีน ในประเทศไทยพบอยู่ทั่วทุกภาค สามารถปรับตัวอยู่ในที่ที่มีคนอยู่ หรือในเมืองได้ รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตร
อาหารของนกชนิดนี้ แมลง หนอน เมล็ดพืช
อาศัยอยู่ตามชายทุ่ง เรือกสวน ไร่นาใกล้หมู่บ้าน อาจอยู่เป็นคู่หรือรวมฝูง ชอบลงมาหากินอยู่ตามพื้นดิน ขณะหาอาหารมักส่งเสียงร้องไปด้วย
นกเอี้ยงสาลิกาเริ่มผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ทำรังตามชายคาบ้านเรือนหรือตามต้นไม้ด้วยกิ่งไม้ ใบหญ้าแห้ง วางไข่ ครั้งละ 2-4 ฟอง
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
ที่มาhttp://602-thosaporn.site90.com/8.html
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) | Powered by Discuz! X3.2 |